คุณฉัตรชัย คงเจริญสุข อดีตชาวสวนส้มทุ่งรังสิต ที่ต้องเผชิญปัญหาหนี้สินติดตัวมาหลังทำสวนส้มเจ๊งไม่เป็นท่า ต้องดิ้นรนหาเงินมาใช้หนี้ จนกระทั่งสามารถปลดแอกและเป็นไทได้ในวันหนึ่ง พร้อมกับการพลิกผืนดินมา ปลูกปาล์ม น้ำมันระบบร่องเดี่ยวนานกว่า 4 ปี ที่กลายเป็นอาชีพหลักที่มั่นคง
คุณฉัตรชัยกล่าวว่า เดิมทีตนเองจบอิเล็กทรอนิคไฟฟ้า ที่หันมาทำเกษตรเพราะต้องดูแลสวนส้มแทนพ่อ แต่หลังจากทำสวนส้มเจ๊งมาก็แทบจะลืมตาอ้าปากกันไม่ได้ เพราะเป็นหนี้ธนาคารร่วม 11 ล้านบาท ไม่รู้จะไปหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ จึงต้องขายที่ดินเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ธนาคาร จากนั้นก็ค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อย
โดยการนำดินไปตรวจวิเคราะห์หาค่าความเป็นกรด เป็นด่าง (pH) และทำการปรับปรุงดินเรื่อยมา จนกระทั่งสภาพดินอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 4.5 ที่ยังมีธาตุอาหารหลัก และอาหารรอง สมบูรณ์พอสมควร ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการทำสวนส้ม ก่อนจะนำพื้นที่ไปปลูกผักจำพวกมะระ ถั่วฝักยาว และบวบ เพื่อให้มีรายได้มาจุนเจือครอบครัวบ้าง
สภาพพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน
ต่อมาในหลวงได้รณรงค์และมีโครงการ ปลูกปาล์ม น้ำมันในพื้นที่สวนส้มร้างเพื่อฟื้นฟูเกษตรกร จึงเข้าร่วมโครงการที่จะได้รับแจกพันธุ์ปาล์มบางส่วนจากราชการ ซึ่งมีทั้งหมด 2 สายพันธุ์ ก็คือ พันธุ์ยังกัมบิ และเทเนอร่า “อยู่มาวันหนึ่งในหลวงบอกว่าให้รณรงค์ ปลูกปาล์ม ในพื้นที่สวนส้มร้างเพื่อฟื้นฟูเกษตรกร พ่อผมอยู่ในโครงการเรียบร้อย ป้ายวันเปิดยังแปะอยู่ที่บ้านผมเลย
ปาล์มในร่องเดียวกันอาจจะมีทั้ง 2 พันธุ์ คือ ยังกัมบิ ที่หลวงแจกมาก็เอามาปลูกมันไม่สุดร่อง ก็ไปซื้อเทเนอร่าจากสุขสมบูรณ์มาปลูกต่อให้สุดร่อง แล้วหลวงแจกเทเนอร่ามาอีกก็เอามาปลูก พอแจกยังกัมบิมาก็เอามาปลูกให้สุดร่อง มันมั่วกันหมด สวนปาล์มผมเป็นแบบร่องเดี่ยวและเป็นร่องส้มเดิม
ดังนั้นภายในหนึ่งร่องมันมีทั้ง 2 สายพันธุ์ สวนปาล์มในเนื้อที่ 50 ไร่ มีปาล์มอยู่ 910 ต้น ตอนนี้อายุต้นปาล์มประมาณ 4 ปี มันจะดูไม่ออกว่าต้นไหนพันธุ์ยังกัมบิ หรือพันธุ์เทเนอร่า เพราะมันปลูกสลับกันไปหมด เพราะผลผลิตที่ออกมามันก็พอๆ กัน” เจ้าของสวนอธิบาย
แต่ถ้าหากจะเปรียบเทียบระหว่างการทำสวนปาล์มกับสวนส้ม ก็ตอบได้อย่างเต็มปากว่าการดูแลสวนส้มมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ จุกจิก เพราะต้องตัดแต่งกิ่ง ค้ำกิ่งส้ม การใช้ปุ๋ย ใช้ยา หรือสารเคมี และแรงงานมากมาย แม้ว่าส้มได้ผลผลิตเป็นจำนวนมาก แต่ต้นทุนในการดูแลก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัวไปตลอด
การปลูกส้มบนคันล้อมสวนปาล์ม
แต่กระนั้นคุณฉัตรชัยก็ไม่วายที่จะทดลองปลูกส้มไว้บนคันล้อมสวนปาล์มราว 200 ต้น จนกระทั่งต้นส้มอายุ 3 ปี เริ่มจะให้ผลผลิตก็โดนน้ำท่วมในปีที่แล้วจนเสียหายและตายไป จึงเหลือต้นส้มที่รอดจากน้ำท่วมประมาณ 30-40 ต้น แต่ผลที่ได้ก็คือ เพียงแค่ผลส้มมีขนาดจะเข้าเบอร์ 3 และ 2 ขั้วก็เหลืองจนร่วง เป็นอาการของโรคเดิมที่กลับมา
แต่ถ้าหากวันข้างหน้าคิดจะกลับมาทำสวนส้มอีกคงต้องยอมเป็นหนี้อีกครั้งหนึ่ง เพราะกระบวนการจัดการส้มจะจุกจิกและวุ่นวายมาก ในขณะที่การจัดการสวนปาล์มน้ำมันจะง่ายกว่า ใช้ทุนน้อย และการดูแลรักษาเป็นระบบดีกว่า โดยเฉพาะในช่วงที่ปาล์มเล็กได้ปลูกกล้วยหอม และข้าวโพด เป็นพืชแซมเพื่อให้มีรายได้เข้ามา
อีกทั้งการดูแลรักษาต้นไม้ไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว ซึ่งปาล์มน้ำมันก็เช่นเดียวกัน เพราะสวนปาล์มแห่งนี้มีการดูแลแบบผสมผสาน หากต้นปาล์มได้รับธาตุอาหารที่สมบูรณ์ มันจะแสดงความสมบูรณ์ออกมาทางใบ ในทางกลับกันหากต้นปาล์มขาดหรือต้องการธาตุอาหารตัวไหนมันจะฟ้องมาให้เห็นทางใบเช่นเดียวกัน
การนำน้ำขี้หมูใส่โคนต้นปาล์มน้ำมัน
แน่นอนว่าปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตตลอดปี ย่อมต้องการธาตุอาหาร ทั้งเคมีและอินทรีย์ที่สมบูรณ์ จนกระทั่งคุณฉัตรชัยมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานทางใต้ จนได้รับคำแนะนำจากชาวสวนปาล์มคนหนึ่งถึงการใช้น้ำขี้หมูกับสวนปาล์มที่ให้ผลลัพธ์ค่อนข้างดี หลังจากวันนั้นเป็นต้นมาเขาจึงได้นำน้ำขี้หมูมาใช้ในสวนปาล์มระบบร่อง ซึ่งเป็นปาล์มเล็กอายุเพียงปีเศษเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันที่ต้นปาล์มมีอายุราว 4 ปี
โดยการสั่งซื้อน้ำขี้หมู 1 คันรถ หรือประมาณ 12 ถังเล็ก/บ่อซีเมนต์ ขนาด 6×6 เมตร ก่อบ่อให้สูงราว 1.70 เมตร ก่อนจะเทน้ำขี้หมูลงในบ่อแล้วเติมน้ำให้สูงประมาณ 50 ซม. หมักทิ้งไว้นาน 3 เดือน เพื่อลดความเค็มและแรงของน้ำขี้หมู ก่อนจะเปิดวาล์วที่ก้นบ่อซีเมนต์ต่อท่อพลาสติกลงเรือสแตนเลสไปสาดใส่โคนต้นปาล์มให้ทั่วจนหมด และต้องงดให้น้ำกับต้นปาล์มน้ำมัน ซึ่งทางสวนได้ทำบ่อซีเมนต์หมักน้ำขี้หมูเอาไว้ทั้งหมด 2 บ่อ ที่สำคัญต้องให้น้ำขี้หมูก่อนใส่ปุ๋ยคอมปาวด์ หรือปุ๋ยบาวท์ ประมาณ 1 เดือน
การให้ปุ๋ยและน้ำต้นปาล์มน้ำมัน
โดยเฉพาะการให้น้ำช่วงหน้าแล้ง ภายในสวนปาล์มเนื้อที่กว่า 50 ไร่ โดยการขับเรือประมาณ 2 ครั้ง/สัปดาห์ ที่มีการปรับเขาด้านข้างที่ฉีดน้ำออกไปข้างละ 2 เขา รวมเป็น 4 เขา ให้ต่ำลง เพื่อให้การรดน้ำอยู่ในระดับโคนต้นเท่านั้น
เพราะรากปาล์มจะดูดน้ำและหากินบริเวณหน้าดินอยู่แล้ว ป้องกันยอดปาล์มอายุ 3-4 ปี เน่าเสียหายที่อาจเกิดจากเชื้อราได้ ใส่ปุ๋ยสูตร 16-8-20, 13-6-27 ตราสองพี่น้อง คราวละ 1-1 ตันครึ่ง/50 ไร่ ผลที่ออกมาค่อนข้างดีมาก แต่ก็ต้องใส่เพียง 2 ครั้ง เท่านั้น เพราะปุ๋ยคอมปาวด์นี้มีราคาค่อนข้างสูง และราคาขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จึงต้องหันกลับมาใช้ปุ๋ยบาวท์ตามเดิม คาดว่าในอนาคตจะพยายามลดการใช้ปุ๋ยเคมีเหล่านี้ให้น้อยลง แต่ขณะนี้ยังต้องเติมปุ๋ยสูตร 46-0-0, 0-0-60 หรือตัวกลางบ้างในบางครั้ง ซึ่งใบปาล์มจะแสดงออกมาให้เห็น รวมทั้งการให้กลีเซอร์ไรด์ในอัตรา 2 ขีด/ต้น/ครั้ง โบรอนครึ่งขีด/ต้น/ครั้ง เป็นการให้ทางดินโรยลงไปรอบๆ ทรงพุ่ม ซึ่งการให้ปุ๋ยลักษณะนี้จะใส่ทุก 3 เดือน หรือ 4 ครั้ง/ปี
ในขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์ก็มีความจำเป็นต่อต้นปาล์มไม่แพ้กัน นอกเหนือจากน้ำขี้หมูหมักแล้วยังมีขี้ไก่โรยรอบทรงพุ่ม 2 ตะกร้าส้ม/ต้น/ครั้ง ทุก 4 เดือน หรือ 3 ครั้ง/ปี ขี้หมูตากแห้งใส่บริเวณที่ใบตกกระทบหรือระหว่างต้น ในอัตรา 1 กระสอบ (25 กก.)/ครั้ง พร้อมกับการหันมาใช้น้ำหมัก พด.ของโครงการหลวงเพื่อใช้ในการรดต้นไม้โดยไม่ต้องฉีดพ่น เพราะปาล์มเป็นไม้ใหญ่สามารถสาดรอบทรงพุ่มได้ ลดต้นทุน ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้ เพราะน้ำหมัก พด.เปรียบเสมือนอาหารเสริมของต้นไม้
“เมื่อก่อนผมใช้แม่ปุ๋ยคู่กับปุ๋ยคอก มาตอนหลังก็ใช้ปุ๋ยสองพี่น้องตามสูตรนี้เลย ใช้มา 2 ครั้ง แล้วผลผลิตออกมาดีมาก แต่ติดที่ว่าราคาแพง เพราะขึ้นราคามาเรื่อย ผมจึงกลับมาเติม 46-0-0, 0-0-60 หรือตัวกลาง แล้วแต่จังหวะ บางทีก็ดูที่ลูกมัน เพราะลำต้นมันโอเค ปุ๋ยที่เราต้องเพิ่มจริงๆ มี 2 ตัว คือ กลีเซอร์ไรด์ และโบรอน ให้มันกินทางดินได้เลย มันจะต้องการเมื่อแสดงออกทางใบ ส่วนปุ๋ยเคมีตอนนี้ผมตั้งใจจะลดการใช้ให้น้อยที่สุด แล้วจะเริ่มหันมาใช้น้ำหมัก พด.ของโครงการหลวง ที่ในหลวงทรงให้เกษตรกรทำน้ำหมักเพื่อใช้ในการรดน้ำต้นไม้
ตอนนี้ผมเพิ่งจะสั่งจองเขียงไก่และเขียงหมูเพื่อนำเศษเหลือทิ้งมาทำน้ำหมัก พด.2 เพื่อเป็นหัวเชื้อนำไปผสมน้ำสาดกับต้นปาล์มกินได้ เพราะต้นปาล์มไม่ต้องฉีดแบบส้ม ต้นมันใหญ่ สาดให้กินได้ คือ เราพยายามจะลดการใช้ปุ๋ยเคมีให้มากที่สุด และลดต้นทุน แต่ผมยังให้ขี้ไก่ตามปกติ ต้องโรยไว้บนหน้าดินตลอด เพราะผมลงไปดูสวนทุกวัน จะรู้ว่าเมื่อขี้ไก่มันเริ่มย่อยสลาย มองไม่เห็นแล้ว ก็จะสั่งเพิ่ม 6,000-6,500 บาท/คันรถสิบล้อ จะใส่รอบโคนต้นครึ่งหนึ่งของทางใบ ขี้ไก่แกลบมันเหมือนกับการฟื้นฟูดินให้ดีอยู่ตลอดเวลา
ตามความเข้าใจของผมนะน้ำขี้หมูหมักผมก็ใช้มาประมาณ 3 ปี แล้ว ตอนนี้ปาล์มก็อายุ 4 ปี ขี้หมูตากแห้งผมก็ใช้ ผมซื้อกระสอบละ 7 บาท (25 กก.) ผมใส่ระหว่างต้นที่ 1 และ 2 คราวละ 1 กระสอบ เมื่อใบมันฟ้องว่าขาดอะไร เราต้องเติมให้มันกิน เราจะเน้นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก เสียส่วนใหญ่ เพราะว่าผมลดต้นทุนเยอะ ผมไม่ได้ทำสวนแบบเศรษฐี เราใช้และพึ่งพาวัสดุตามธรรมชาติ ขี้หมู ขี้ไก่ น้ำหมัก พด. ของในหลวง เพราะปุ๋ยเคมีราคาแพง ใช้ต้นทุนสูง ผมมีตังค์ก็ได้ใส่ปุ๋ยเคมี ถ้าไม่มีตังค์ก็ไปเล่นของถูก เราทำงานแบบคนจน ต้องอยู่แบบพอเพียง
แต่สิ่งที่ได้กลับมา คือ ปาล์มทะลายใหญ่ ลูกใหญ่ ลักษณะใบดีมาก ทรงต้นดี เอวจะใหญ่ ตั้งตรง ไม่คอด หรือแหลม ทางใบไม่ชี้ แต่มันจะแบะและย้อยโค้งลงมาเพื่อให้ลูกเต่ง เบ่งขยายให้ทะลายใหญ่ ยิ่งตอนใส่น้ำขี้หมูยิ่งเห็นชัดเลย ใส่ปุ๋ยสองพี่น้องก็ลักษณะเหมือนกัน ลักษณะช่อดอกและทำลายก็ใช้ได้ การตอบสนองต่อปุ๋ยของปาล์มทั้ง 2 พันธุ์ ก็พอๆ กัน ใกล้เคียงกันมาก แทบจะไม่รู้ว่าพันธุ์ไหนให้มากน้อยกว่ากัน ลักษณะลูกก็พอๆ กัน ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก”
เขาเปรียบเทียบปาล์มทั้ง 2 สายพันธุ์ ที่ไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ขึ้นอยู่กับการดูแล หากใครไม่ดูแล ปล่อยปละละเลย ต้นไม้ก็จะหิว เหมือนกับคนเราที่หิวข้าว จึงต้องคอยสังเกต หากปาล์มลูกใหญ่แสดงว่าต้นปาล์มยังพอมีอาหารเหลืออยู่บ้าง แต่ถ้าหากทะลายเล็กแสดงว่าอาหารที่มีเริ่มจะน้อยลง
การเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มน้ำมัน
แต่จากการสังเกตปาล์มน้ำมันในสวนราว 50 ไร่ นี้ยังให้ผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้สูงสุดราว 15 ตัน/ครั้ง ซึ่งผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ในแต่ละช่วงจะมีน้ำหนักและราคาแตกต่างกัน ในขณะที่ต้นทุนการผลิตยังอยู่ที่หลักแสนบาท/ปี เท่านั้น เมื่อเทียบรายรับและรายจ่ายในแต่ละปีก็ยังมีเหลือเก็บเพียงพอสำหรับครอบครัวนี้
นอกจากนี้ทางสวนยังเน้นตัดเฉพาะปาล์มสุกเพื่อรักษาคุณภาพ และมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ดี รวมทั้งมีการจัดการสวนแบบพึ่งพาธรรมชาติ ตัดหญ้าแทนการฉีดยาฆ่าหญ้า นำเศษหญ้ามาคลุมหน้าดิน และการตัดแต่งกิ่งทิ้งโคนทางปาล์มลงร่องน้ำแบบร่องเว้นร่อง ก่อนจะเลือกตัดปลายทางปาล์มมาคลุมหน้าดินบนร่องปาล์มจนเกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติ จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นของหน้าดิน ป้องกันหญ้าวัชพืชได้ดี
อีกทั้งการปิดร่องน้ำด้วยโคนทางปาล์มและการดูดเลนจะช่วยเพิ่มพื้นที่หรือเนื้อดินในการหาอาหารให้กับรากปาล์มได้ รวมทั้งการเข้าใจลักษณะนิสัยความต้องการของปาล์มน้ำมัน
การบริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมัน ปุ๋ยมูลสัตว์
จนทำให้สวนปาล์มแห่งนี้เกิดการพึ่งพากันตามธรรมชาติ สามารถติดดอก ออกผล ได้เอง โดยไม่ต้องช่วยผสมเกสร เพราะ ปลูกปาล์ม ทั้งเนเนอร่า และยังกัมบิ ที่มันจะสามารถออกทั้งตัวผู้และตัวเมียได้ เมื่ออาหารไม่สมบูรณ์มันก็ออกมาเป็นตัวผู้ “ผมไม่เคยเดินผสมเกสรตัวผู้เลยทั้งที่ท้องทุ่งรังสิตต้องช่วยผสมเกสร อาจจะเป็นความโชคดีของผม
อีกอย่างหนึ่ง คือ สวนปาล์มผมจะล้อมรอบไปด้วยบ่อปลา ไม่มีการฉีดยาฆ่าแมลงกำจัดศัตรูพืชมากจนเกินไป แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ มันเป็นการจัดการของผมเอง ที่ผมวางรูปแบบในการผลิตของผม ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ว่าเราจะดำเนินการอย่างไร เพราะผมต้องการผลผลิต หรือเงินจากต้นปาล์มทุกต้นที่ยืนตระหง่านอยู่ตรงนี้ เราจะหันกลับมาพึ่งพาธรรมชาติ
ปาล์มมันต้องอยู่แบบอดๆ อยากๆ บ้าง เราต้องใช้เวลาเป็นปี เป็นช่วงจังหวะที่ผมไม่มีตังค์ มันก็อด ก็มีแต่น้ำให้มันกิน มันก็เลยมีตัวผู้ออกมาคิดว่าเป็นรูปแบบนั้น พอตอนมีตังค์ ตัวเมียก็มี แต่ตัวผู้ก็ยังมีอยู่ ตัวเมียก็มี ตัวผู้ก็อยู่ในต้นเดียวกัน แมลงก็ยังบินมาผสมพันธุ์ได้ และยังมีตัววีวี่อยู่ในสวนที่สมบูรณ์ การ ปลูกปาล์ม ไม่ต้องไปจำกัดมันมาก เพราะทุ่งรังสิตอินทรียวัตถุก็เยอะ น้ำก็อุดมสมบูรณ์ 20 ลิตร/ต้น/วัน ปาล์มที่สวนผมต้นไหน พันธุ์อะไร ดูไม่ออก เพราะมันมั่วกันไปหมด ทุ่งรังสิตเพิ่งเป็นพื้นที่ปลูกใหม่ป้ายแดง 4-7 ปี เท่านั้น แต่ทางใต้เขาทำมามากกว่า 20 ปี
การวางระบบการจัดการในสวนเพื่อต้องการพึ่งพาแมลงให้มันออกมาช่วยผสมเกสร โดยที่เราไม่ต้องทำอะไร ให้มันพึ่งตัวเอง มดแดงต้องช่วยผสมเกสร ไส้เดือนต้องช่วยพรวนดิน ถ้าช่วยผสมเกสรใช่! ผลผลิตที่ได้ผมไม่เถียงว่ามันได้ 100% แต่คุณต้องคิดเผื่อวันข้างหน้าที่ไม่มีตัวผู้คุณจะเดือดร้อนขนาดไหน? เพราะคุณต้องทำงานเหนื่อยกว่าคนอื่น
ถ้าหากปาล์มอายุ 10 ปี ต้นมันสูงขึ้น คุณต้องปีนขึ้นไปผสมเกสร ยิ่งใส่ปุ๋ยมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งลำบากใจเพราะตัวเมียมันเยอะ แต่ถ้าคุณใช้แมลง หรือใช้ตัวของมันเอง พวกของมันเองดูแลกันเอง ปัญหาก็จบ!! มันจะเบาแรง ค่าใช้จ่ายก็ปกติ ฉะนั้นการจัดการสวน คือ สิ่งที่สำคัญที่สุดว่าคุณควรจะตัดสินใจปลูกอะไรก่อน แล้วควรจะปลูกอะไรเป็นการพึ่งพากัน แล้วให้ตัวของมันเองช่วยเหลือกันเพื่อตัวมันเองจะได้มีเวลาไปทำธุรกิจอย่างอื่น
ผมดีใจเพราะผมไม่ต้องเสียเวลา และแรงงาน ตรงนั้น ผมจะย้อนกลับมาใส่ พด.ขี้หมูหมัก ขี้ไก่แกลบ ขี้หมูแห้ง เพราะนี่คือสิ่งที่เราทำของเราอยู่ทุกวัน ปาล์มผมน้ำหนักเยอะที่สุดประมาณ 13 กก. แต่ไม่ได้มีมากมายนัก และพื้นๆ จะอยู่ที่ประมาณ 7-9 กก./ทะลาย ใช้วิธีการพึ่งพาธรรมชาติอย่างเดียว” เจ้าของสวนชี้แจง
การบำรุงดูแลต้นปาล์มน้ำมัน
ซึ่งการดูแลในลักษณะนี้ต้นปาล์มจะค่อนข้างทนทานต่อโรค แข็งแรง สมบูรณ์ เมื่อโดนลมพัดมาอย่างแรง ต้นปาล์มจะไม่ค่อยมีอาการต้นเอนให้เห็น เพราะพื้นที่ทุ่งรังสิต โดยเฉพาะที่สวนปาล์มแห่งนี้จะมีร่องลมพัดผ่านมาทุกปี จนอาจทำให้ต้นปาล์มเอน หรือเสียหายได้ ซึ่งในบางครั้งอาจจะต้องใช้รอกดึงขึ้นมาให้ต้นปาล์มตั้งตรงเหมือนเดิม หรือไม่ก็ใช้แรงงาน 3-4 คน ช่วยกันปลักขึ้นมาก่อนจะใช้ไม้ค้ำเอาไว้ เพื่อให้รากปาล์มยึดเกาะดินได้จนตั้งตรงเหมือนเดิม
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหาหลักของการ ปลูกปาล์ม ระบบร่องเดี่ยว ท้องร่องลึก มีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดปี เมื่อโดนลมพัดอย่างแรงต้นปาล์มก็จะได้รับความเสียหายค่อนข้างง่าย เมื่อปาล์มหยั่งรากลงดินจนไปเจอดินที่แฉะหรือชุ่มน้ำมันจะไม่หยั่งรากลึกลงไปอีก ในทางกลับกันรากปาล์มจะชอนไชออกมาด้านข้าง เพราะต้องการเนื้อดินในการหาอาหาร
การปรับเปลี่ยนพื้นที่ ปลูกปาล์ม น้ำมัน
คุณฉัตรชัยจึงมีโครงการที่จะเปลี่ยนปาล์มระบบร่อง โดยการยุบน้ำลงก่อนจะถมที่ให้เป็นสวนปาล์มบนเนื้อที่เดียวกัน เพื่อให้รากปาล์มสามารถหยั่งรากลึกลงไปในดินได้ดี มีการวางระบบน้ำแบบน้ำหยด หรือมินิสปริงเกลอร์ ใช้เครื่องยนต์ต่อพ่วงเพื่อเข้าทำงานในสวนปาล์มได้อย่างสะดวก สบาย ง่ายต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต และขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น คาดว่าอาจจะต้องใช้งบประมาณราว 1 ล้านบาท สำหรับการวางระบบท่อและแรงดันน้ำทั้งหมด
ส่วนปัญหาด้านแรงงานถือว่าเป็นปัญหายอดฮิตสำหรับเกษตรกรไทยในขณะนี้ ซึ่งทางสวนเองก็เคยประสบปัญหาเช่นเดียวกัน ส่งผลให้การทำงานในสวนปาล์มสูญเสียความเป็นระบบ ตั้งแต่การตัดแต่งกิ่ง การดูแลรดน้ำ ใส่ปุ๋ย ตัดหญ้า ตัดโคนต้นปาล์ม เอาเถาวัลย์ออก จนกระทั่งลูกน้องเก่าขอกลับมาทำงาน จึงทำให้การทำงานภายในสวนปาล์มเข้าสู่ระบบอีกครั้ง
ในขณะที่สวนปาล์มใช้แรงงานน้อยเพียง 4 คน/50 ไร่ พร้อมกับการขยายพื้นที่ ปลูกปาล์ม ออกไปอีก 50 ไร่ รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ต้องการแรงงานเพิ่มเพียง 2 คน เท่านั้น ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด และมีงานให้ทำตลอด เพื่อให้เขามีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และมีข้อห้ามไม่ให้แรงงานนำโทรศัพท์ลงไปในสวนเพียงอย่างเดียว ก็อาศัยอยู่ด้วยกันแบบพี่น้อง ในขณะที่ปาล์มน้ำมันมีอายุมากขึ้นย่อมต้องการการดูแลและธาตุอาหารที่เพิ่มขึ้น เพราะปาล์มให้ผลผลิตในปริมาณที่มากขึ้นนั่นเอง
การขยายพื้นที่ ปลูกปาล์ม น้ำมันในระบบร่องคู่
นอกจากนี้คุณฉัตรชัยยังนำพื้นที่กว่า 50 ไร่ ที่เคยเป็นสวนไผ่ตงมา ปลูกปาล์ม น้ำมันร่วม 1,000 กว่าต้น ที่ได้วางรูปแบบสวนปาล์มให้เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยแถบขวาสุด และแถบซ้ายสุด ก็คือ คันล้อม รวมทั้งตรงกลางแปลงได้เลือกที่จะ ปลูกปาล์ม พันธุ์ยูนิวานิชราว 300 ต้น ที่จะมีทั้งดอกตัวผู้และตัวเมียในต้นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับสภาวะที่มันขาดในแต่ละช่วง
ส่วนพื้นที่ที่เหลือจะ ปลูกปาล์ม สายพันธุ์เดลิxคอมแพคของ บริษัท สินธุเศรษฐ์ จำกัด จำนวน 700 ต้น ที่จำนวนเกสรตัวผู้น้อยมาก จนแทบไม่มีเลย และต้องการให้แมลงในเกสรตัวผู้ของยูนิวานิชบินมาผสมเกสรตัวเมียของเดลิxคอมแพค ซึ่งเป็นการวางตำแหน่งเพื่อให้ต้นปาล์มเกิดการพึ่งพาอาศัยกันเองโดยไม่ต้องช่วยผสมเกสรตัวผู้ ซึ่งเกษตรกรต้องรู้ว่าปาล์มแต่ละสายพันธุ์ทำหน้าที่อะไร
อีกทั้งเกษตรกรอย่าเห่อตามกระแสการใช้ปุ๋ยตามโฆษณา ต้องย้อนกลับมาดูสิ่งที่บรรพบุรุษเคยทำมาก่อน ถ้ามันดีก็ไม่ควรทิ้ง พยายามหันกลับมาใช้ พด.ใช้น้ำหมักขี้หมู และขี้ไก่ ที่จะทำให้ต้นปาล์มเจริญงอกงาม ลดต้นทุนผลผลิตได้มาก มันก็คุ้มทุน 100% ที่สำคัญต้นปาล์มจะแข็งแรง การจัดการง่าย และมาถูกทางแล้ว เพราะปาล์มน้ำมันมีโรคระบาด หรือแมลงศัตรูพืช ค่อนข้างน้อย เป็นทั้งพืชอาหารและพลังงาน
การรับซื้อผลผลิตปาล์มน้ำมัน
“ตอนนี้ดีมากที่มีการแข่งขันด้านสายพันธุ์ปาล์ม ซึ่งทุกสายพันธุ์ดีและแตกต่างกันไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง แต่ตอนนี้เราเริ่มจากเกษตรกรตัวเล็กๆ แล้วเราก็เกาะกลุ่มกันได้ เราก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลเขาประกันราคาเกษตรกรการ ปลูกปาล์ม น้ำมันได้ดีแค่ไหน ต่อไประบบปาล์มที่ว่าจะมีภาษีเป็นศูนย์ มันเท่ากับว่าเกษตรกรต้องกระตือรือร้นในการแข่งขัน ไม่ใช่แข่งเพื่อตัวเราคนเดียว แต่แข่งขันเพื่อประเทศเราด้วย
ดังนั้นเกษตรกรต้องตัดปาล์มสุกที่เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงแก่จัดมาขาย กระบวนการของโรงงานเขาได้ค่าน้ำมันสูง ก็อาจจะลดการนำเข้าได้ แต่ถ้าคุณจะเอาค่าน้ำมันบริสุทธิ์ 100% ชาวสวนไม่สามารถรู้ได้ว่าค่าน้ำมันบริสุทธิ์มันเท่าไหร่ แต่ที่เขารู้ คือ เขายังขายเป็นกิโลอยู่เช่นเดิม เกษตรกรไม่รู้หรอก รู้แต่ว่าเช้าขึ้นมาต้องใส่ปุ๋ย ต้องรดน้ำ แทงปาล์มไปขาย แต่เขาไม่รู้หรอกว่าปาล์มพันธุ์นั้นมีค่ามาตรฐาน ค่าน้ำมัน เท่าไหร่ เพราะไม่มีเครื่องมือวัดขนาดนั้น เขาเป็นเพียงเกษตรกรรายย่อย บางสวนยังไม่เคยเอาดินไปตรวจด้วยซ้ำ
ผมยินดีกับท้องทุ่งรังสิตทุกคนที่มา ปลูกปาล์ม เราคือพี่น้องกันในกลุ่มชาวสวนปาล์มน้ำมันรพีพัฒน์ ผมคิดว่าเรามาถูกทางแล้ว” คุณฉัตรชัยอธิบาย และกล่าวในฐานะคนรุ่นกลางว่า การที่เด็กรุ่นใหม่ไม่หันมาทำเกษตรอาจเป็นเพราะเขาต้องการจะใช้ความรู้ที่เรียนมา และอาจไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้
ส่วนคนที่เรียนเกษตรมาโดยตรงอาจจะไม่มีที่ดินจนต้องไปเป็นเซลล์ขายปุ๋ย แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่พ่อแม่เป็นเกษตรกร แม้จะเรียนจบสาขาไหนก็ตาม แต่วันหนึ่งเขาจะต้องกลับมาช่วยพ่อแม่ทำเกษตรแบบประยุกต์ แม้ประสบการณ์น้อย แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเขาสามารถเรียนรู้ได้ และไม่ได้เดินค่อมรอยเท้าผู้ใหญ่
แต่เขาเดินตามอย่างมีการประยุกต์ เป็นคลื่นลูกใหม่มาแรง มีความกระตือรือร้น มีความสามารถสูง ซึ่งคนรุ่นกลางและรุ่นเก่าต้องยอมรับคลื่นลูกใหม่เหล่านี้ และต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคและสมัยให้ได้ ยอมรับสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมกับยืนยันว่าการ ปลูกปาล์ม น้ำมันทำให้ครอบครัวพอมี พอกิน จนสามารถซื้อรถฮาเล่ย์ที่ชื่นชอบมาครอบครองได้
การจำหน่ายมะพร้าวสับแห้ง
เพราะนอกเหนือจากการ ปลูกปาล์ม น้ำมันเขายังได้ทำนาข้าวอีกจำนวนหนึ่งไว้เพื่อบริโภค รวมไปถึงการสับมะพร้าวแห้งบรรจุถุงส่งให้กับร้านไม้ดอกไม้ประดับคลอง 14 และ 15 เป็นอาชีพและรายได้เสริม “เปลือกมะพร้าวมันเยอะ เขาไม่มีที่ทิ้ง เราก็เอาเปลือกมาจากตลาดที่เขาทำกะทิ บีบน้ำกะทิขาย
ผมก็เลยมองเห็นช่องทางตรงนี้ ก็เลยมาสร้างเครื่องให้คนงานที่เว้นจากการทำงานในสวนปาล์มมาทำ พร้อมเย็บบรรจุกระสอบให้กระสอบละ 4 บาท วันหนึ่งได้ประมาณ 100 ลูก หรือ 400 บาท ไม่ต้องตากแดด ทำงานในร่มแบบสบายๆ เราทำแค่วันละ 100 ลูก เดือนหนึ่งส่งประมาณ 1,000-2,000 กระสอบๆ ละ 35 บาท เป็นรายได้เสริมที่ไม่เลวทีเดียว
ผมและคนงานจึงอยู่กันอย่างพี่น้อง ตอนนี้พ่อก็มาป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายอีก จึงคิดใหม่ ทำใหม่ ว่าเราจะทำอย่างไรดีให้ตัวเราอยู่รอด เมื่อไม่มีเขาอยู่ และสามารถเลี้ยงลูกน้องทุกคนได้อย่างมีความสุขได้ ก็คือ อยู่แบบพี่น้องกัน” คุณฉัตรชัยกล่าวทิ้งท้าย
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คุณฉัตรชัย คงเจริญสุข เลขที่ 7 หมู่ 1 คลอง 29 ต.บางปลากด อ.องครักษ์ จ.นครนายก โทร.08-9525-1863, 08-4665-1581