การเลี้ยงเป็ดไข่
การเลี้ยงเป็ดไข่ถือเป็นอีกอาชีพหนึ่งด้านปศุสัตว์ที่น่าสนใจ โดยคนรุ่นก่อนนิยมเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งปล่อยให้หากินเอง เช่น รำข้าว ปลายข้าว หรือหอยโข่งตามทุ่งนา ซึ่งธรรมชาติของเป็ดจะใช้เวลาจากลูกเป็ดเจริญเติบโตประมาณ 145-150 วัน จึงจะให้ไข่ได้ ซึ่งเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตขายได้ทุกวันและอย่างต่อเนื่อง และสามารถเลี้ยงเป็ดรุ่นนั้นๆ ได้ถึงอายุประมาณ 1 ปี 6 เดือน ถึงตอนนั้นเป็ดจะให้ไข่ปริมาณน้อยลง เกษตรกรผู้เลี้ยงจึงปลดระวาง และขายเป็ดเป็นเนื้อ ด้วยอาชีพนี้ทำให้เกษตรกรดำรงชีวิตอยู่ได้ตามวิถีพอเพียงจากรุ่นสู่รุ่น
ทั้งนี้ “ ไข่เป็ด ” ถือได้ว่าเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง สามารถนำมาประกอบอาหาร และทำขนม ได้หลายอย่าง ทว่าปัจจุบัน ไข่เป็ด ที่ขายอยู่ตามท้องตลาดกลับไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค เนื่องจากเป็ดไข่ค่อนข้างเลี้ยงยาก หากเลี้ยงไม่ดีพอ หรือทำให้ตื่นตกใจ ก็จะไม่ยอมออกไข่ สำหรับปัจจุบันการเลี้ยงเป็ดไข่จะนิยมเลี้ยงพันธุ์ผสม ระหว่างพันธุ์พื้นเมืองกับพันธุ์กากีแคมเบลล์ (Khaki Campbell) สายพันธุ์จากประเทศอังกฤษ เพราะเลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพอากาศ และให้ไข่ดกเฉลี่ยประมาณ 250-260 ฟอง/ตัว/ปี
โดยประเทศไทยตลาดของ ไข่เป็ด ปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ในเขตภาคกลาง แถบจังหวัดนครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี และอยุธยา เป็นต้น ซึ่งพื้นที่ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ดไข่จำนวนมากมีหลายจังหวัด ซึ่งหนึ่งในจังหวัดอันดับต้นๆ ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี
ทีมงานนิตยสารสัตว์บกจึงได้ถือโอกาสเดินทางไปสัมภาษณ์เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไข่มายาวนานกว่า 50 ปี จากรุ่นสู่รุ่น นั่นคือ คุณสำรวย สว่างอารมณ์ เจ้าของ “วิสิษฎ์ฟาร์มเป็ด” ในพื้นที่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
สายพันธุ์เป็ดไข่ เลี้ยงง่าย เปลือกไข่แข็ง ได้น้ำหนัก ให้ไข่นาน
คุณสำรวยปัจจุบันบริหารฟาร์มเป็ดไข่จำนวน 2 ฟาร์ม เลี้ยงรูปแบบเป็ดไข่เข้าเล้าจำนวนร่วม 30,000 ตัว ในพื้นที่ใช้สอยประมาณ 5 ไร่ สำหรับเป็ดไข่ที่เลี้ยงเป็นเป็ดไข่ “ซีพี ซุปเปอร์” ที่เกษตรกรหลายรายต่างทราบดีว่า “ทนโรค เลี้ยงง่าย เปลือกไข่แข็ง ได้น้ำหนัก ให้ไข่นาน”
ปัจจุบันคุณสำรวยชีวิตมีความสุขเพราะมีรายได้ที่มั่นคงจากการ เลี้ยงเป็ดไข่ จำหน่ายสู่ตลาด ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ประสบความสำเร็จได้เป็นเพราะประสบการณ์และสายป่านที่ เลี้ยงเป็ดไข่ มาอย่างยาวนานของครอบครัวคุณสำรวย โดยทำเป็นอาชีพหลักมาอย่างยาวนานกว่า 5 ทศวรรษ นับตั้งแต่สมัยรุ่นคุณพ่อเลี้ยงปล่อยแบบไล่ทุ่ง และโดยส่วนตัวคุณสำรวยเข้ามาสืบสานอาชีพนี้ภายหลังจากคุณพ่อ โดยเริ่ม เลี้ยงเป็ดไข่ อย่างจริงจังย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2519
คุณสำรวยเล่าย้อนสมัยอดีตที่ เลี้ยงเป็ดไข่ ช่วงแรกว่าสมัยก่อนรุ่นคุณพ่อเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งจำนวนแค่ 200-300 ตัว ทำเป็นอาชีพหลักมาโดยตลอด กระทั่งจำนวนมากสุดสมัยคุณพ่อที่เคยเลี้ยงไว้ประมาณ 8,000 ตัว ทั้งนี้ในสมัยก่อนนั้นจะไม่มีอาหารเป็ดสำเร็จรูปจำหน่ายสักเท่าไหร่ เกษตรกรผู้เลี้ยงส่วนใหญ่จะเลี้ยงแบบปล่อยให้เป็ดหากินเองตามทุ่งนา กินรำข้าว ปลายข้าว หอยโข่ง บ้าง หรือถ้าให้ดูดีขึ้นก็จะผสมหัวเชื้ออาหารกับรำข้าว และปลายข้าวทุบ ให้เป็ดกิน เป็นต้น ซึ่งแตกต่างกับทุกวันนี้ที่ผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ได้รับการพัฒนากลายมาเป็นอาหารเป็ดไข่สำเร็จรูปที่ได้มาตรฐาน และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง
ด้านการตลาดและช่องทางจำหน่าย ไข่เป็ด วันละ 20,000 ฟอง
ด้านการตลาดและช่องทางจำหน่าย ไข่เป็ด ของวิสิษฎ์ฟาร์มเป็ดนั้น คุณสำรวยมีลูกค้าซึ่งเป็นพ่อค้า แม่ค้า ทั้งรายใหญ่ และรายย่อย ทั้งในพื้นที่ และต่างจังหวัด เข้าคิวจ่อรอซื้อ ไข่เป็ด ไปจำหน่าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำขับรถมารับซื้อถึงหน้าฟาร์ม โดย ไข่เป็ด จะส่งไปจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ลพบุรี กาญจนบุรี รวมถึงตลาดค้าส่ง ตลาดไท และในกรุงเทพฯ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพ่อค้าที่รับซื้อ ไข่เป็ด จากวิสิษฎ์ฟาร์มเป็ดเพื่อเตรียมส่งออกจำหน่ายไปที่สหภาพเมียนม่าร์ (ประเทศพม่า) อีกด้วย
“ที่ฟาร์มจะจัดเตรียมไข่เป็ดใส่ตั้งเรียงไว้เพื่อรอลูกค้าเข้ามารับถึงหน้าฟาร์ม ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะรับซื้อเพื่อนำไปแปรรูปเป็นไข่เยี่ยวม้าบ้าง และนำไปแปรรูปเป็นวัตถุดิบ/ส่วนผสมทำขนมต่างๆ ซึ่งโดยเฉลี่ยจะมีลูกค้าประจำเข้ามารับซื้อไข่เป็ดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือเฉลี่ยที่ฟาร์มจะมียอดจำหน่ายไข่เป็ดตกวันละ 20,000 ฟอง เพราะฉะนั้นฟาร์มจะมีรายได้ที่แน่นอนจากการขายไข่เป็ดในทุกๆ วัน”คุณสำรวยกล่าวเสริม
รายได้จากการจำหน่ายไข่เป็ด
นอกจากนี้คุณสำรวยยังมีการบริหารจัดการฟาร์มเป็ดไข่ด้วยการรวมกลุ่มกับเกษตรกรลูกเล้าที่เป็นเพื่อนบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย ด้วยการคัดเลือกลูกเล้าที่ เลี้ยงเป็ดไข่ ได้มาตรฐานให้สามารถนำไข่เป็ดมาจำหน่าย เป็นการกระจายรายได้ในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
มาตรฐานและความต้องการของตลาดจะรับซื้อ
โดยสัดส่วนการจำหน่ายไข่เป็ดสำหรับวิสิษฎ์ฟาร์มเป็ด และฟาร์มของลูกเล้า คิดเป็นสัดส่วน 30/70 โดยเงื่อนไขการรับซื้อไข่เป็ดจากลูกเล้านั้นจะคัดเลือกจากขนาด น้ำหนัก และรูปทรง ของไข่เป็ด ซึ่งตามมาตรฐานและความต้องการของตลาดจะรับซื้อมากที่สุด ได้แก่
- ไข่เป็ด 23 กก./ตั้ง (10 แผงต่อตั้ง) และส่วนใหญ่จะเป็นไข่เป็ด ซีพี ซุปเปอร์ และในส่วนความต้องการของตลาดรองลงมา ได้แก่
- ไข่เป็ด 20 กก./ตั้ง,
- ไข่เป็ด 21 กก./ตั้ง และ
- ไข่เป็ด 24 กก./ตั้ง และ
- สูงสุด คือ ไข่เป็ด 25 กก./ตั้ง
แต่ไข่เป็ดจะมีขนาดใหญ่เกินไป มักไม่ค่อยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคนำไปแปรรูปและประกอบอาหารสักเท่าไหร่
ข้อดีและความคุ้มค่ากับการประกอบอาชีพ เลี้ยงเป็ดไข่
เมื่อถามถึงข้อดีและความคุ้มค่ากับการประกอบอาชีพ เลี้ยงเป็ดไข่ นั้นดีอย่างไร คุณสำรวยเปิดเผยว่า “เป็ดตัวหนึ่งจะกินอาหารเฉลี่ยวันละ 150 กรัม โดยใช้อาหารเป็ดไข่สำเร็จรูปของซีพีเอฟเป็นหลักในราคาไม่สูงมากนัก ดังนั้นต้นทุนจะอยู่ที่ค่าพันธุ์เป็ด ซึ่งซื้อเป็ดสาวอายุ 18 สัปดาห์ พันธุ์ซีพี ซุปเปอร์ ราคาปัจจุบันตัวละ 125 บาท เลี้ยงไปประมาณ 3-4 สัปดาห์ ก็ออกไข่
สำหรับไข่เป็ดที่ได้มาก็จะขายอยู่หน้าฟาร์มของตนเอง ไม่ต้องไปขายที่ไหนไกล โดยเฉลี่ยอาจขายฟองละ 4-5 บาท ซึ่งถือว่าราคาถูก แค่ให้พออยู่ได้ ซึ่งหากไปซื้อที่ตลาด หรือตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป ส่วนใหญ่เฉลี่ยตกฟองละ 5 บาทกว่าขึ้นไป โดยส่วนตัวผมคิดว่าคุ้มค่ากับการทำอาชีพนี้ ถ้าคิดว่าอยู่แบบพอเพียง แล้วจึงค่อยๆ เลี้ยงขยายฟาร์ม และเพิ่มจำนวนเป็ดไข่ ตามความต้องการของตลาดต่อไปในอนาคตก็ยังได้ หรือทำการแปรรูปเป็นไข่เค็ม หรือไข่เยี่ยวม้า ซึ่งก็จะเพิ่มมูลค่าให้พี่น้องเกษตรกรได้เป็นอย่างดี”
การให้อาหารเป็ดไข่
คุณสำรวยใช้ประสบการณ์และความรู้ที่ประกอบอาชีพโดยตรงค่อยๆ พัฒนาการ เลี้ยงเป็ดไข่ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากแรกเริ่มเดิมทีเคย เลี้ยงเป็ดไข่ พันธุ์พื้นเมือง เป็ดไข่พันธุ์ปากน้ำ กระทั่งช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เริ่มเปลี่ยนมา เลี้ยงเป็ดไข่ ซีพี ซุปเปอร์ จนถึงปัจจุบันด้วยเหตุผลเข้าใจได้ง่ายๆ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น คือ “ทนโรค เลี้ยงง่าย เปลือกไข่แข็ง ได้น้ำหนัก ให้ไข่นาน”
โดยหลังจากเปลี่ยนมา เลี้ยงเป็ดไข่ ซีพี ซุปเปอร์ ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่คุณสำรวยเปลี่ยนการให้อาหาร จากการผสมหัวอาหารกับรำข้าว และปลายข้าว เปลี่ยนมาใช้อาหารเป็ดไข่สำเร็จรูปของ ซีพีเอฟ แบรนด์ เอราวัณ ซึ่งข้อดีของการใช้อาหารเป็ดไข่สำเร็จรูปของซีพีเอฟ คือ เกษตรกรไม่ต้องยุ่งยากผสมอาหารเอง อีกทั้งขั้นตอนก็ใช้ง่าย เป็นอาหารอัดเม็ดสำเร็จรูปมาแล้ว แค่เทใส่รางอาหารในเล้าตามโปรแกรม ให้เป็ดกินได้ทันที รวมถึงใช้ปริมาณไม่มาก
โดยคุณสำรวยเผยว่าที่ฟาร์มของตนจะให้ผลิตภัณฑ์อาหารเป็ดไข่สำเร็จรูปเฉลี่ย 150 กรัม/ตัว/วัน และที่สำคัญ คือ เมื่อเป็ดไข่กินอาหารสำเร็จรูป ไข่ออกมามีเปลือกแข็ง เปลือกไข่ไม่เปื้อนมูลเป็ด อีกทั้งฟองใหญ่ ได้น้ำหนัก ซึ่งโดยส่วนมากไข่เป็ด ซีพี ซุปเปอร์ จะได้น้ำหนักเฉลี่ย 23 กก./ตั้ง ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาดผู้บริโภคมากที่สุด
การบริหารจัดการโรงเรือนเป็ดไข่
ในส่วนการบริหารจัดการภายในโรงเรือน หรือเล้าเป็ดไข่ คุณสำรวยกล่าวว่าปัจจุบันมีโรงเรือนเลี้ยงจำนวน 5-6 โรงเรือน ขนาดกว้าง 16 เมตร และมีขนาดความยาวรองรับจำนวนเป็ดได้ไม่แออัดจนเกินไป ซึ่งใช้พื้นที่การ เลี้ยงเป็ดไข่ เฉลี่ยประมาณ 3-4 ตัว/ตารางเมตร
ด้านในโรงเรือนประกอบด้วยถาดอาหาร รางน้ำ และบ่อน้ำขนาดกว้างประมาณ 3×3 เมตร ให้เป็ดได้ว่ายน้ำ เล่นน้ำ โดยน้ำที่ให้เป็ดกินควรเป็นน้ำที่สะอาด (ฆ่าเชื้อโดยใส่คลอรีน และพักทิ้งไว้ 1 คืน) มีการทำความสะอาดบ่อน้ำที่เป็ดเล่นน้ำเป็นประจำทุกวัน และทำความสะอาดครั้งใหญ่เดือนละครั้ง นอกจากนี้ด้านหลังของฟาร์มมีการจัดสร้างบ่อเก็บน้ำเสียขนาดใหญ่เอาไว้อีกด้วย
การดูแลรักษาเป็ดไข่ และเก็บผลผลิตไข่เป็ด
ในส่วนขั้นตอนดูแลรักษา และเก็บผลผลิต คือ ไข่เป็ดนั้น คุณสำรวยบอกว่าในแต่ละวันจะเก็บไข่ประมาณ 4 รอบ โดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ ซึ่งมีคนงานช่วยจำนวนกว่า 10 ชีวิต เก็บรอบแรกช่วงประมาณ 04.00 น. เก็บรอบที่สองช่วง 08.00 น.เก็บรอบที่สามช่วง 11.00 น. และรอบสุดท้ายในช่วงบ่าย
ด้านการทำวัคซีน คุณสำรวย รวมทั้งลูกชาย และลูกสาว และคนงาน จะแบ่งหน้าที่และช่วยกันจับเป็ดทำวัคซีนป้องกันโรคกันเอง ได้แก่ กาฬโรค โรคอหิวาต์เป็ด เป็นต้น โดยระยะแรกที่ลงเลี้ยงเป็ดจะทำการฉีดวัคซีนประมาณ 2 เข็ม (1 เข็ม/สัปดาห์)
การบริหารจัดการมูลเป็ด
สำหรับการบริหารจัดการมูลเป็ด คุณสำรวยมีพื้นที่จัดเก็บแยกไว้เฉพาะ ซึ่งจัดเก็บเอาไว้นานเป็นปีเพื่อรอการขนย้ายและจำหน่ายในครั้งเดียว เนื่องจากช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างรถสิบล้อจำนวนหลายคันมาทำการดันและตักมูลเป็ดปริมาณหลายตันในครั้งเดียว โดยเป็นมูลเป็ดที่แห้งแล้ว ทั้งนี้เพื่อเตรียมตักขายและจำหน่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่นำไปผสมเป็นปุ๋ยบำรุงปาล์ม เป็นต้น รวมถึงพ่อค้าที่มารับซื้อ ซึ่งคุณสำรวยจำหน่ายในราคาถูกเพียงกระสอบละ 15-17 บาท เท่านั้น
ปัญหาและอุปสรรคการเลี้ยงเป็ดไข่
เมื่อถามถึงปัญหาและอุปสรรคใดที่เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไข่มักประสบพบเจอ คุณสำรวยบอกว่าส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของโรคเป็ด แต่วิธีแก้ปัญหาง่ายๆ คือ เจ้าของฟาร์มต้องหมั่นดูแลความสะอาด และสังเกตอาการเป็ดที่ผิดปกติ เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที อย่างไรก็ดีคุณสำรวยได้แนะนำเทคนิคดีๆ สำหรับการเลี้ยงเป็ดไข่ และวิธีบริหารจัดการฟาร์มให้ได้มาตรฐานอย่างเข้าใจง่าย
ยกตัวอย่างเช่น หากเกษตรกรรายใหม่ที่ต้องการเริ่มต้นสร้างโรงเรือนเลี้ยงเป็ดไข่ สามารถเริ่มต้นด้วยการเตรียมโรงเรือนสำหรับเลี้ยงเป็ด โดยควรทำความสะอาด ปรับพื้นคอก และโรยด้วยปูนขาว พร้อมพ่นยาฆ่าเชื้อโรคทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยต้องเป็นโรงเรือนที่กันแดด กันฝน มีอากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนพื้นที่เป็นดินแข็งปนทราย ต้องแห้งอยู่เสมอ มีลานกว้าง เพื่อให้เป็ดได้วิ่งออกกำลังกายได้ และจัดที่ไว้ให้อาหารและน้ำ หรือหากใครมีสถานที่อยู่ริมน้ำ ควรทำตาข่ายล้อมรอบกั้นเป็นเขต เพื่อให้เป็ดได้ออกหาอาหารตามธรรมชาติ เป็นต้น
ในส่วนการให้อาหาร เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไข่ควรให้อาหารวันละ 3 ครั้ง คือ เช้า เที่ยง และเย็น ซึ่งโดยเฉลี่ยจะตกอยู่ที่ 150 กรัม/ตัว/วัน และต้องทำความสะอาดรางน้ำที่ให้เป็ดกินน้ำทุกวัน และต้องมีน้ำให้เป็ดกินตลอดเวลา โดยสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคในเป็ด อาทิ โรคอหิวาต์เป็ด กาฬโรค(Duck Plague) และหมั่นดูแลสุขภาพของเป็ดอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้หากได้รับการเลี้ยงดูอย่างสมบูรณ์ เป็ดไข่จะเริ่มออกไข่เมื่ออายุประมาณ 21 สัปดาห์ โดยจะออกไข่ตอนเช้ามืด ตามแอ่ง หรือมุมต่างๆ ที่อยู่ในคอก และจะสามารถเก็บไข่ขายได้ในระยะยาว ซึ่งกำไรดี เพราะเป็ดสามารถไข่ได้นานถึง 2 ปีกว่า และหลังจากปลดระวางแล้วก็ยังสามารถขายเป็นเป็ดเนื้อ เพื่อประกอบอาหารได้อีกด้วย
อุปสรรคในการเลี้ยงเป็ดไข่ อีกอย่าง คือ ราคาไข่เป็ด ซึ่งเป็นปัจจัยที่แปรผันตามกลไกของตลาด และเศรษฐกิจของประเทศในขณะนั้น แต่เป็นเรื่องดีที่วิสิษฎ์ฟาร์มเป็ดของคุณสำรวยมีตลาด และฐานลูกค้าจำนวนมาก และเหนียวแน่น เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
แนวทางในอนาคต
สำหรับในอนาคต คุณสำรวยเผยว่าเตรียมวางแผนขยายฟาร์มอย่างแน่นอน อาจจะรอดูสถานการณ์ราคาไข่เป็ดอีกสักระยะ รวมถึงการเตรียมความพร้อมให้ลูกๆ ได้เข้ามาสืบทอดกิจการอย่างเต็มตัวในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะกลายเป็น “ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ รุ่นที่ 3” เพื่อพัฒนาวิสิษฎ์ฟาร์มเป็ดให้เจริญเติบโต มั่นคง สืบต่อไป
พร้อมกันนี้ในตอนท้ายคุณสำรวยยังฝากถึงเกษตรกรและผู้ที่สนใจต้องการจะเลี้ยงเป็ดไข่ด้วยว่า “อาชีพนี้มั่นคง ได้ผลตอบแทนสูง แต่ขณะเดียวกันผู้เลี้ยงต้องลงทุนสูงเช่นกันในระยะแรกของการสร้างโรงเรือน และการลงเป็ด ดังนั้นผู้เลี้ยงอาจจะลงทุนเลี้ยงเป็ดทำเป็นอาชีพหลัก หรือเสริม จำนวนสัก 500-1,000 ตัว ในเบื้องต้นก่อนก็ได้ และควรมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 1 ไร่
ทั้งนี้ต้นทุนขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงต้องการออกแบบโรงเรือนลักษณะไหนด้วย และส่วนเรื่องของอาหารแนะนำให้ใช้อาหารเป็ดสำเร็จรูป ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือ เป็ดสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ได้ไข่เปลือกหนา ไข่มีน้ำหนัก ขายได้ราคาสูง และปริมาณไข่แดงจะมากกว่าไข่เป็ดโดยทั่วไป ทั้งนี้หากต้องการขอคำแนะนำ หรือคำปรึกษา ถึงเทคนิควิธีการเลี้ยงเป็ดไข่อย่างละเอียดลึกซึ้ง สามารถติดต่อหรือเดินทางมาที่ฟาร์มของผมได้โดยตรง วิสิษฎ์ฟาร์มเป็ดยินดีต้อนรับทุกท่านครับ”
ขอขอบคุณ คุณสำรวย สว่างอารมณ์ เจ้าของ “วิสิษฎ์ฟาร์มเป็ด” อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี