อาร์ทีเมีย ไรทะเล ไรน้ำเค็ม อาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน ใช้เลี้ยงกุ้งและปลาวัยอ่อน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อาร์ทีเมีย ไรทะเล ไรน้ำเค็ม 

“ ไรทะเล หรือไรน้ำเค็ม หรืออาร์ทีเมีย (Artemia)” เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำเค็ม และสามารถอาศัยอยู่ในน้ำที่มีช่วงความเค็มกว้าง ขยายพันธุ์ได้ทั้งแบบเป็นตัวและเป็นไข่ ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม กินอาหารโดยการกรอง และเป็นอาหารของสัตว์น้ำชนิดอื่น ในด้านธุรกิจสัตว์น้ำอาร์ทีเมียถูกนำมาใช้เป็นอาหารสำหรับปลาสวยงาม และสัตว์น้ำวัยอ่อนต่างๆ มีการจำหน่ายทั้งในรูปของไข่ อาร์ทีเมียสด และแช่แข็ง

แต่หลายคนคงยังไม่รู้ว่าถ้าจะเพาะเลี้ยงอาร์ทีเมียให้ได้ปริมาณมากๆ จะต้องทำอย่างไรหรือมีเทคนิคอะไร ทางทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำจึงพาท่านผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับ “สุภาพ อาร์ทีเมีย” เจ้าของฟาร์มชื่อ คุณสุภาพ ทรัพย์แก้ว และคุณศิริวรรณ ทรัพย์แก้ว อยู่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ผู้เพาะเลี้ยงอาร์ทีเมียที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จำหน่ายอาร์ทีเมียสดออกสู่ตลาดวันละ 600 กิโลกรัม ถึง 1 ตัน

1.คุณสุภาพและคุณศิริวรรณ-ทรัพย์แก้ว-ผู้เพาะเลี้ยงอาร์ทีเมีย
1.คุณสุภาพและคุณศิริวรรณ-ทรัพย์แก้ว-ผู้เพาะเลี้ยงอาร์ทีเมีย
2.บ่อเพาะเลี้ยงอาร์ทีเมีย
2.บ่อเพาะเลี้ยงอาร์ทีเมีย

จุดเริ่มต้นเพาะเลี้ยงอาร์ทีเมีย

คุณสุภาพกล่าวว่า “เดิมมีอาชีพเลี้ยงกุ้งแชบ๊วย และกุ้งกุลาดำ มีเพื่อนมาชวนให้เพาะเลี้ยงอาร์ทีเมีย ตอนแรกไม่ยอมทำ ซึ่งไม่เกี่ยวกับความยากง่ายแต่เพราะไม่คุ้นเคย แต่เวลาว่างๆ เพื่อนวานให้ดูแลช่วยเหลือเรื่องการจัดส่งอาร์ทีเมียให้ลูกค้าที่กรุงเทพฯ และสมุทรสาคร พอดีกับช่วงที่เลี้ยงกุ้งแชบ๊วยแล้วรายได้ไม่แน่นอน บางครั้งได้ 2-3 หมื่นบาท หรือบางครั้งได้ 2-3 แสนบาท แต่บางครั้งรายได้ไม่พอค่ากับข้าว รายได้จากการเลี้ยงกุ้งแชบ๊วย และกุ้งกุลาดำ ไม่คุ้มกับเวลาที่ต้องรอ

จึงตักดินขาย พอขายดินหมด เงินก็หมด จังหวะที่บ่อดินนี้มันลึก กักเก็บน้ำได้ดี ไม่รั่วซึม เป็นข้อดีที่สามารถทำเป็นบ่อเลี้ยงอาร์ทีเมียได้ เพราะต้องเลี้ยงในน้ำเค็ม และน้ำเค็มแต่ละหยดนั้นมีค่ามาก เนื่องจากต้องใช้ความเค็มมากกว่าน้ำทะเล 3 เท่า อาร์ทีเมียไม่มีเปลือกแข็งหุ้มตัว ต้องอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่จำเพาะที่สัตว์อื่นอยู่ไม่ได้ คือ มีความเค็มสูง เพราะมันเป็นอาหารของสัตว์น้ำอื่นทุกชนิด หลังจากเพื่อนชวนมา 2 ปีแล้ว ยืนยันว่าได้กำไรวันละ 500 บาท แน่นอน ชวนให้ทำหุ้นกัน แล้วจะหาลูกค้าให้ มีรายได้ทุกวัน จึงตัดสินใจลองทำดู”

เริ่มแรก คือ เรียนรู้จากเพื่อนที่ชักชวน ได้ข้อมูลเป็นขั้นเริ่มต้นว่าน้ำต้องมีความเค็ม 3 เท่าของน้ำทะเล นำน้ำเข้ามาแล้วทำไงก็ได้ให้ความเค็มถึงระดับที่ต้องการ ใช้บ่อเพาะเลี้ยงบ่อละ 3-4 ไร่ จำนวน 2 บ่อ แต่เลี้ยงได้เพียงบ่อเดียว เพราะการทำความเค็มน้ำให้ได้ระดับที่เหมาะสมนั้นยาก เนื่องจากไม่มีนาเกลือ น้ำทุกหยดมีค่าหมด ต้องทำให้น้ำมีระดับความเค็มอยู่ที่ 70-120 ppt.

หลังจากนั้นได้นำพ่อแม่พันธุ์จากบ่อของเพื่อนที่ชักชวนให้เลี้ยงมาปล่อย 20 กิโลกรัม อาจเพราะโชคชะตากำหนดให้มาอยู่ ณ จุดนี้ จึงได้ลองทำแล้วเกิดความรู้สึกท้าทาย แม้ว่าฐานลูกค้าจะยังไม่มี และไม่มีลูกค้าที่รับปากว่าจะซื้อประจำ เพราะเห็นว่ายังไม่เป็นที่รู้จัก บางครั้งก็โดนดูถูกเหยียดหยาม เกิดความทุลักทุเลในระหว่างเริ่มต้น จึงได้มุ่งมั่นนำวิชาความรู้ที่เรียนมา ใช้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่มี บวกกับหลังการบวชแล้วสึกออกมา ได้เรียนรู้ศีลธรรม คุณธรรม เริ่มต้นเพาะเลี้ยงอาร์ทีเมียอย่างจริงจัง

โฆษณา
AP Chemical Thailand
3.อาร์ทีเมียที่ช้อนได้
3.อาร์ทีเมียที่ช้อนได้
น้ำหนักของอาร์ทีเมียที่ตวงใส่ถุงแพ็คขาย
น้ำหนักของอาร์ทีเมียที่ตวงใส่ถุงแพ็คขาย
การแพ็คถุง
การแพ็คถุง
อาร์ทีเมียที่ใส่ถุงแล้ว
อาร์ทีเมียที่ใส่ถุงแล้ว
การขนส่งอาร์ทีเมีย
การขนส่งอาร์ทีเมีย

การจำหน่ายอาร์ทีเมีย

ผลผลิตครั้งแรกที่จำหน่าย คือ เพื่อนแบ่งไปขายประมาณ 30-40 กิโลกรัม แต่ด้วยความที่เพื่อนมองว่ายังเป็นมือใหม่ และไม่เชื่อในศักยภาพว่าจะทำได้ จึงไปติดต่ออาร์ทีเมียของเจ้าอื่นไว้เพื่อให้มีสำรองส่ง พอดีกับที่อาร์ทีเมียของคุณสุภาพประสบปัญหามีโรติเฟอร์ลง และไม่รู้วิธีแก้ปัญหา

โรติเฟอร์ศัตรูของอาร์ทีเมีย

โรติเฟอร์เป็นศัตรูของอาร์ทีเมียชนิดหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อน้ำมีความเค็มลดลง แต่ด้วยความที่ต้องเลี้ยงให้มีผลผลิตส่งลูกค้าทุกวัน จึงเริ่มวิตกกังวลว่าจะไม่มีผลผลิตส่งลูกค้า เพราะช้อนอาร์ทีเมียไม่ได้ ตอนเริ่มต้นส่งลูกค้าวันละ 30-40 กิโลกรัม นั้นยากลำบากมาก รวมถึงความกดดันอื่นๆ ทุ่มเททำทุกสิ่งทุกอย่างจนถูกมองว่าบ้า

และลูกค้าต้องการอาร์ทีเมียที่มีความแข็งแรง สีแดงสด ไม่ตายระหว่างขนส่ง และน้ำหนักไม่ขาด ถ้าหากมีสีน้ำตาล คือ อาร์ทีเมียไม่แข็งแรง กำลังลอกคราบ เมื่อแพ็คใส่ถุงส่งลูกค้าแล้วจะตายในถุง จึงต้องเพิ่มอาหาร คือ อามิ-อามิ และนั่งเรือใช้โซ่กวนให้แอมโมเนียก้นบ่อขึ้นมาจะทำให้อาร์ทีเมียมีสีแดง และแข็งแรง ที่สำคัญต้องเป็นอามิ-อามิ สูตรร้อน เพราะธาตุอาหารสูง

ปริมาณการให้อาหารไม่แน่นอน หากให้น้อยไปอาร์ทีเมียจะไม่เกิด แต่หากให้มากไปอาร์ทีเมียจะตายได้ ในหนึ่งเดือนใช้อามิ-อามิ ประมาณ 5 คันรถ (คันละ 11,900 บาท)

ซึ่งก่อนหน้านี้เคยลองใช้มูลสัตว์ เช่น ขี้ไก่ ขี้หมู ขี้วัว เลี้ยงแล้วพบว่ายังได้ผลผลิตไม่ดีเท่ากับใช้อามิ-อามิ ที่สำคัญการใช้อามิ-อามิ นั้นสะดวกกว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องโรค

4.การเปิดไฟล่อเพื่อเช็คอาร์ทีเมีย
4.การเปิดไฟล่อเพื่อเช็คอาร์ทีเมีย
อาร์ทีเมีย
อาร์ทีเมีย

การให้อาหาร

การให้อาหารต้องดูที่สีของน้ำ สีของอาร์ทีเมีย และของเสียที่สะสมอยู่พื้นก้นบ่อ การให้อาหารแต่ละครั้งไม่สามารถระบุปริมาณได้ชัดเจน ต้องใช้ประสบการณ์ และการสังเกตสีน้ำต้องไม่เขียวเกินไป เพราะจะทำให้อาร์ทีเมียบลูม แต่เวลาจะช้อนอาร์ทีเมียจะไม่ขึ้น ต้องใส่อามิ-อามิ ลงไปมากกว่าปกติถึง 2 เท่า จึงจะทำให้อาร์ทีเมียลอยขึ้นมา

โฆษณา
AP Chemical Thailand

แต่เมื่อนำมาแพ็คใส่ถุงแล้ว น้ำในถุงจะเป็นสีเขียว ทำให้อาร์ทีเมียตาย ถ้าน้ำใสจะนำมาแพ็คได้เลย เริ่มแรกพื้นที่ 3 ไร่ ให้ประมาณวันละ 20 ลิตร แต่ปริมาณการให้อาหารก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย บางวันอาจจะต้องงดอาหาร เหตุผลหลักที่ทำให้ผู้เพาะเลี้ยงอาร์ทีเมียรายอื่นไม่ประสบผลสำเร็จเกิดจากการให้อาหารไม่เพียงพอ และการจัดการยังไม่ถูกต้อง

5.อาร์ทีเมีย โตเต็มวัย ไรแดง
5.อาร์ทีเมีย โตเต็มวัย ไรแดง

ด้านตลาดของอาร์ทีเมีย

สิ่งที่ควบคุมได้ยาก คือ ปริมาณออเดอร์ที่ไม่แน่นอน เช่น ผลผลิตที่ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า มีออเดอร์มา 70 กิโลกรัม แต่เก็บผลผลิตได้เพียง 50 กิโลกรัม ซึ่งทำให้ดูเหมือนไม่มีความรับผิดชอบ ลูกค้าก็จะหายหมด และต้องหาตลาดใหม่ หรือผลผลิตมีมากเกินความต้องการของลูกค้า มีผลผลิต 1 ตัน แต่ออเดอร์มา 600 กิโลกรัม เหลืออีก 400 กิโลกรัม ไม่สามารถไปวางขายตามตลาดได้

อุปสรรคเมื่อเทียบกับการเลี้ยงกุ้ง คือ กุ้งเป็นอาหารที่คนทั่วไปทานได้ สามารถขายได้ง่าย เพราะมีตลาดรองรับ มีห้องเย็นสามารถเก็บไว้ได้ในกรณีที่ขายไม่หมด อาร์ทีเมียเป็นอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์น้ำ เรื่องของตลาดจะแคบกว่า แต่ความต้องการมีทุกวัน

ความเข้าใจเรื่องการเลี้ยงอาร์ทีเมียจะไม่เหมือนการเลี้ยงกุ้ง เมื่อประสบปัญหาก็ไม่มีคนที่เป็นที่ปรึกษา ได้แค่บอกปัญหาคร่าวๆ ซึ่งปัญหาจริงๆ จะมีเรื่องของดิน ฟ้า อากาศ เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะทุกหน้า (ฤดูกาล) มีปัญหาแตกต่างกัน อย่าง

  • หน้าหนาว อากาศเย็น ทำให้อาร์ทีเมียไม่ค่อยขึ้น ลมแรงก็ไม่ขึ้นมาเล่น ต้องรอให้อุณหภูมิสูง (อุ่น) ขึ้นมา
  • หน้าฝน จะมีปัญหาเรื่องการทำความเค็มของน้ำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ถ้าความเค็มไม่ได้ก็จะมีพวกโรติเฟอร์ลง ปัญหาเรื่องของอาหาร ถ้าโรงงานหยุดผลิต 1 เดือน จะต้องคิดแก้ปัญหาล่วงหน้าว่าจะสต็อกอาหารไว้ยังไง การเลี้ยงอาร์ทีเมียเป็นเรื่องง่าย แต่การจะเลี้ยงให้มีส่งลูกค้าทุกวันเป็นเรื่องที่ยาก

มาตรฐานของสุภาพ อาร์ทีเมีย คือ ความจริงใจ และความซื่อสัตย์ เช่น มีอาร์ทีเมียอยู่ 50 กิโลกรัม แต่ตวงน้ำหนักไม่เต็ม ทำให้ลูกค้าเลิกซื้อ แทนที่จะขายได้วันละ 50 กิโลกรัม ก็กลายเป็นขายไม่ได้เลย การเลี้ยงอาร์ทีเมียเป็นการสร้างศักยภาพ และการรักษาตลาด สอนให้เรียนรู้ถึงความรับผิดชอบ ลูกค้ามีออเดอร์มาต้องมีผลผลิตส่งให้ได้ ถ้าไม่มีผลผลิตส่งลูกค้าก็จะหนีไปหาเจ้าอื่น ถ้าลูกค้านัดมารับตอน 02.00 น. แต่ อาร์ทีเมีย ไม่ขึ้น ไปขึ้นตอน 05.00 น. ก็ต้องรับผิดชอบ โดยต้องหามาส่งให้ครบตามออเดอร์

โดยไปซื้อที่จังหวัดเพชรบุรี เพื่อมาส่งให้ลูกค้าให้ครบตามออเดอร์ เป็นการรักษาตลาด ขาดทุนก็ต้องทำ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความจริงใจ และความรับผิดชอบ แม้กระทั่งว่า อาร์ทีเมีย ที่นครปฐมขาด 2 กิโลกรัม ก็ต้องไปส่งให้ลูกค้า อย่างที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำรัสว่า “การขาดทุนคือกำไร” คนทั่วไปไม่รู้ว่าขาดทุนคือกำไร หมายถึงอะไร “การขาดทุนคือการเสียสละ ซึ่งดีกว่าการไปเอาเปรียบคนอื่น”

โฆษณา
AP Chemical Thailand
6.อาร์ทีเมียเป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อนและปลาสวยงาม
6. อาร์ทีเมีย เป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อนและปลาสวยงาม

มุมมองตลาดในอนาคตของ อาร์ทีเมีย

การขยายตลาดในอนาคต ถ้าจะเพิ่มปริมาณผลผลิต ต้องเช่าที่เพิ่ม เพราะในแต่ละบ่อนั้นต้องช้อนไม่เกินวันละ 10% เพื่อให้ อาร์ทีเมีย ขยายพันธุ์และเจริญเติบโตได้ทัน ปัจจุบัน อาร์ทีเมีย ถูกใช้เป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อน และปลาสวยงาม แต่ละวันใช้ปริมาณไม่มากนัก อาร์ทีเมียสดถ้าให้ไม่หมดจะสามารถเก็บไว้แบบเป็นๆได้ยาก ต้องนำไปแช่แข็ง ฉะนั้นแบบแช่แข็งจึงสะดวกกว่า รวมถึงด้านระยะทางการขนส่ง แบบแช่แข็งขนส่งได้ง่ายกว่า แต่หากในอนาคตมีออเดอร์แน่นอน และสามารถบริหารจัดการได้ การทำขายแบบแช่แข็งก็สามารถทำได้ ปัจจุบันถ้าปริมาณมีมากเกินออเดอร์ก็นำไปเลี้ยงกุ้ง ดังนั้นจึงไม่มีส่วนที่เสียไปโดยไม่ได้ประโยชน์

แต่ในด้านของการส่งออกก็จะมีมาตรฐานเกี่ยวกับสิ่งเจือปนที่ต้องไปศึกษาอีกที ซึ่งเคยมีคนเข้ามาติดต่อโดยลองส่งตัวอย่างเข้าไปตรวจที่ห้องแลปก็ผ่านมาตรฐาน เพราะด้วยความเค็มระดับ 70-120 ppt. มีสิ่งเจือปนน้อยอยู่แล้ว แต่ติดปัญหาเรื่องราคา และการคัดขนาด

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุภาพ ทรัพย์แก้ว โทรศัพท์ 085-136-8076