“ชา” เป็นพืชสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์สูง สามารถนำไปแปรรูปได้หลายรูปแบบ จัดว่าเป็นไม้ยืนต้นประเภทหนึ่ง มีอายุขัยของต้นที่ยาวนาน อายุอาจถึง 100 ปี เลยทีเดียว โดยชาที่นิยมนำมาผลิตเพื่อการค้าจะมีอยู่ 2 กลุ่ม ด้วยกัน คือ กลุ่มพันธุ์ชาจีน และกลุ่มชาพันธุ์อัสสัม
ชาอัสสัมมีชื่อเรียกด้วยกันหลายชื่อ เช่น ชาอัสสัม ชาโบราณ ชาเมี่ยง เป็นต้น โดยชาอัสสัมมีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศอินเดียในรัฐอัสสัม ลักษณะของชาอัสสัมจะมีใบที่ใหญ่กว่าพันธุ์ชาของจีน ชาอัสสัมเป็นสายพันธุ์ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในป่าที่มีแสงพอประมาณ สามารถพบเห็นได้ตามเขตที่สูงตามยอดดอยต่างๆ ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย ต้นชาอัสสัมในไทยนั้นเดิมเป็นต้นไม้ที่มีอยู่มากที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเป็นชาอัสสัมชนิดเดียวกันกับในประเทศอินเดีย และศรีลังกา ที่มีคนนิยมปลูกกันด้วย
คุณมนตรี อินทรชัย ผู้สืบทอดกิจการไร่ชาอัสสัม กล่าวว่า แรกเริ่มเดิมทีตั้งแต่จำความได้ผู้หลักผู้ใหญ่กล่าวให้ฟังว่า กลุ่มชาจีนฮ่อเป็นผู้บุกเบิกพื้นที่ และเริ่มมีการทำชาอัสสัมขึ้น และคุณตา-คุณยายเข้าไปซื้อเพียงในราคาขาย 700-800 บาท ทำให้การทำชาตกทอดมารุ่นสู่รุ่น คุณมนตรีก็อยู่ในวงการชาเมี่ยง หรือชาอัสสัม
โดยเมื่อในอดีตรุ่นคุณตา คุณยาย นั้น ไม่ได้มีการทำชาที่เอาไว้สำหรับดื่มกันมากนักเหมือนในยุคปัจจุบัน แต่จะทำในลักษณะนำเอาใบของต้นชาอัสสัมมาทำเป็นเมี่ยงซะมากกว่า โดยการทำเมี่ยงนั้นจะเด็ดส่วนยอดประมาณ 3-4 ใบ ที่เป็นยอดอ่อน มัดเป็นกำแล้วนำไปนึ่ง เมื่อนึ่งได้ที่ก็นำมาผึ่ง แล้วค่อยนำมาบรรจุในบรรจุภัณฑ์เพื่อที่จะรับประทาน หรือจำหน่ายไปยังตลาดอีกทอดหนึ่ง ซึ่งราคาของชาเมี่ยง ณ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณกำละ 20 บาท
แต่เมื่อเวลาผ่านไป เวลาเปลี่ยน ยุคสมัยก็เปลี่ยน จากอดีตที่มีผู้คนนิยมรับประทานชาเมี่ยงกันมาก เมื่อคนเฒ่าคนแก่น้อยลง มีเด็กรุ่นใหม่มากขึ้น ความนิยมในการรับประทานชาเมี่ยงก็ลดน้อยลง ตลาดในการรับซื้อก็แคบลงมาก จึงมีการเปลี่ยนจากการรับประทานชาเมี่ยงมาเป็นการดื่มชากันมากขึ้น แต่ในยุคปัจจุบันก็ยังมีผู้คนที่รับประทานชาเมี่ยงอยู่ ซึ่งจะเห็นได้ในสำรับขันโตกของคนภาคเหนือ หรือว่าอาหารในเขตภาคเหนืออีกด้วย
ขั้นตอนการเพาะต้น ชาอัสสัม ชาโบราณ
ชาอัสสัมเป็นต้นไม้ที่ไม่ต้องการการดูแลจัดการมากเหมือนกับพืชตัวอื่นๆ เหมาะสมที่จะปลูกบนดอยสูง โดยเริ่มแรกการเพาะนั้นจะเพาะต้นชาเพื่อเป็นการเสริมต้นที่ตายไป หรือต้องการจะปลูกเพิ่ม โดยการเพาะต้นชาอัสสัมมาจะมีอยู่ 2 วิธี คือ
- การเพาะจากเมล็ด การเพาะเมล็ด คือ การนำเอาเมล็ดพันธุ์จากต้นแก่ ซึ่งลักษณะเมล็ดจะมีสีเขียว แต่ข้างในเมล็ดมีสีดำ นำมาแช่น้ำประมาณ 2 คืน เนื่องจากเมล็ดมีความแข็งมาก ประกอบกับเพื่อให้เมล็ดมีความชุ่มชื้นแล้วนำไปเพาะในดิน เมื่อลำต้นแตกออกจนสูงประมาณ 1-2 ฟุต ก็สามารถนำไปปลูกตามดอย หรือเสริมตามจุดที่ต้นเดิมตายได้
- การปักชำ ส่วนการปักชำ คือ การนำกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์ ไม่มีโรค ไม่อ่อน หรือไม่แก่ จนเกินไป ชำลงไปในดิน ต้นก็สามารถเจริญงอกงามได้แล้ว
การบำรุงดูแลต้นชาอัสสัม
ในการดูแล คุณมนตรีกล่าวว่าต้นชาอัสสัม หรือ ชาโบราณ ของคุณมนตรี ไม่ได้มีการดูแลอะไรเลย ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติล้วนๆ โรคและแมลงไม่มีการรบกวนเลย ไม่ได้มีการให้ปุ๋ย ฉีดยาฆ่าแมลง วัชพืช หรือให้น้ำแต่อย่างใด ต้นชาก็สามารถเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ เพราะต้นมีความทนทาน ปลูกอย่างไรก็ขึ้น ทำให้ลดต้นทุนในการปลูกและการดูแลรักษาได้เป็นอย่างดี
การเก็บเกี่ยวใบ ชาอัสสัม
ต้นชาอัสสัมเป็นพืชที่ให้ผลผลิตสูง สามารถให้ผลผลิตได้ทั้งปี ต้นชาอัสสัมจะให้ผลผลิตตั้งแต่ในปีที่ 2-3 แรกแล้ว จนกระทั่งต้นหมดอายุขัย หรือได้ตายลง โดยส่วนมากต้นชาอัสสัมจะมีอายุยืนมาก ช่วงอายุที่สมควรเก็บผลผลิตควรจะเป็นช่วงอายุของต้นประมาณ 5 ปีขึ้นไป เพื่อป้องกันลำต้นโทรม และยิ่งถ้าต้นชาอัสสัมมีอายุมากขึ้นเท่าไหร่ ผลผลิตก็จะให้มากขึ้นตามไปด้วย
ต้นชาอัสสัมที่มีอายุประมาณ 10-20 ปี จะสามารถให้ผลผลิตถึง 20-30 กิโลกรัม ต่อรอบของการเก็บ/ตัน การเก็บใบชาจะเน้นเก็บส่วนยอดที่เป็นยอดสีขาว และไล่เก็บจนถึงใบที่ 6 โดยไร่ของคุณมนตรีจะมีการแยกเกรดในการเก็บ เพราะจะมีราคาที่ต่างกัน คือ แยกเก็บส่วนยอดใบที่ 2-3 และใบ 4-6 ตามลำดับ การเก็บเกี่ยวผลผลิตสามารถเก็บได้ทั้งวัน แต่ช่วงที่ดีที่สุดก็คือ ควรเก็บในช่วงเช้า และอากาศจะไม่ร้อนมาก
ไร่ ชาอัสสัม ของคุณมนตรีเองมีอยู่ 15 ไร่ และก็มีของกลุ่มเครือญาติอีก ทำให้เมื่อเก็บผลผลิตแล้วสามารถได้ผลผลิตขั้นต่ำประมาณ 500 กิโลกรัม/วัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับช่วงแต่ละฤดูกาลด้วย คือ เมื่ออยู่ในช่วงฤดูร้อนผลผลิตอาจจะลดน้อยลง เนื่องจากต้นชาจะไม่ผลิยอดออกมา หรือผลิออกมาในปริมาณที่น้อย
แต่กลับกันในช่วงของฤดูหนาวต้นชาอัสสัมจะให้ผลผลิตที่สูง ต้นชาอัสสัมจะมีรอบในการเก็บผลผลิต คือ ต้องรอให้ต้นที่มีการเก็บผลผลิตมีการแตกยอดใหม่ก่อน จึงจะสามารถวนมาเก็บได้ใหม่ โดยที่ไร่ ชาอัสสัม ของคุณมนตรีจะสามารถเก็บเวียนได้ตลอดทั้งปี
การแปรรูปใบชาอัสสัม
เมื่อเก็บได้ใบชามาแล้ว ขั้นตอนแรก คือ การคัดเศษกิ่งไม้ หรือเมล็ดชา ที่ติดมากับใบชาออกให้หมดก่อน แล้วจึงนำไปคั่วในเครื่องคั่วใบชา โดยเฉลี่ยเวลาในการคั่ว คือ คั่วใบชาน้ำหนัก 10 กิโลกรัม ในเวลาประมาณ 30 นาที แต่ถ้าใส่น้อยก็ต้องลดเวลาลงมา ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วก็ต้องขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้คั่วเองด้วย เพราะถ้าเกิดคั่วแล้วไม่ได้ที่แล้วนำออกมาก่อนจะทำให้ใบชาเกิดการเน่าได้ แต่ถ้าคั่วนานเกินไปก็จะทำให้ใบชาไหม้ หรือแห้งมาก ทำให้น้ำหนักที่ได้ลดลง ส่งผลให้กำไรก็จะสูญหายไปกับน้ำหนักที่หายไป
โดยการคั่วใบชาอัสสัมน้ำหนัก 10 กิโลกรัม เมื่อคั่วเสร็จแล้วน้ำหนักจะเหลือประมาณ 8.4 กิโลกรัม เมื่อคั่วเสร็จแล้วจึงนำใบชาอัสสัมที่ผ่านการคั่วนำมาผึ่งลมในโรงเรือนอีกหนึ่งคืน โดยจะมีการคัดแยกเศษกิ่งไม้ หรือเมล็ดชาที่หลงเหลืออยู่ออกให้หมดอีกรอบหนึ่ง
คุณมนตรีกล่าวว่าที่ไม่นำใบชาอัสสัมที่คั่วแล้วไปผึ่งแดดเพราะกลัวเสียคุณภาพ เพราะถ้านำไปผึ่งแดดอาจจะมีสุนัข หรือสัตว์ต่างๆ เดินผ่าน หรือทำให้ใบชาเกิดการปนเปื้อน ส่งผลให้ใบชาอาจเสียคุณภาพ และลูกค้าจะได้ของที่ไม่ดีกลับไป เมื่อผึ่งลมจนได้ที่แล้วก็สามารถนำมาบรรจุใส่ถุงพลาสติกเพื่อเข้าสู่ในขบวนการจัดจำหน่าย การเก็บใบชาต้องเก็บในที่แห้ง ไม่ชื้น และเย็น ใบชาอัสสัมที่คั่วแล้วสามารถเก็บได้ประมาณ 2 ปี เมื่อเกิน 2 ปีแล้ว กลิ่นก็จะจางลง ซึ่งก็สามารถนำมาเข้าสู่กระบวนการคั่วใหม่ให้กลิ่นกลับมาคงเดิมได้
การจำหน่ายใบชาอัสสัมคั่ว
การจัดจำหน่ายใบชาคั่วของคุณมนตรีมีหลายเกรด มีการขายใบแก่มากกว่ายอดชา เนื่องจากยอดชามีผลผลิตที่น้อย จึงทำให้ไม่เพียงพอต่อตลาด ซึ่งยอดชาตกอยู่กิโลกรัมละ 3,500 บาท และใบแก่ การจำหน่ายจะแบ่งการบดย่อยอยู่ 3 ระดับ คือ ระดับเล็ก กลาง ใหญ่ โดยชนิดใบ หรือชนิดใหญ่ ส่วนมากจะเป็นลูกค้าที่ผลิตชาหม่อน
ส่วนการย่อยระดับกลาง หรือระดับเล็ก ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้ากลุ่มโรงงานแปรรูป โดยการบดย่อยจะขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะขายใบชาแก่อยู่กิโลกรัมละ 60 บาท แต่ถ้ามีการบดย่อยด้วยจะขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 3 บาท และจะมีกลุ่มผู้รับซื้ออื่นๆ เช่น กลุ่มผู้ผลิตไข่เยี่ยวม้า หรือกลุ่มผู้ผลิต และจำหน่ายโลงศพ เพื่อนำไปใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนา หรือตามความเชื่อ เป็นต้น โดยจะเน้นคุณภาพของสินค้า และความซื่อสัตย์ต่อลูกค้าเป็นหลัก
ด้านตลาดใบชาอัสสัม
เมื่อพูดถึงคุณภาพของชาอัสสัมในประเทศไทยก็สามารถพูดได้เต็มปากเลยว่าสามารถทัดเทียมกับต่างประเทศได้แน่นอน เนื่องด้วยการปลูกที่ไม่ได้มีการใช้สารเคมีใดๆ ด้วยการปลูกแบบธรรมชาติ ทำให้ชาอัสสัมที่ได้ไม่มีสารเคมีเจือปน และด้วยการผลิตที่ใส่ใจถึงคุณภาพ จึงทำให้ชาอัสสัมสามารถทัดเทียมกับประเทศอื่นได้ไม่ยากนัก
เชื่อว่าตลาดของชาอัสสัมจะสามารถเติบโตขึ้นอีกมากแน่นอน และความต้องการชาอัสสัมในท้องตลาด ทั้งในประเทศ หรือต่างประเทศ ยังถือว่ายังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด อาจจะเนื่องด้วยผู้ปลูกชาอัสสัมในประเทศเองยังมีน้อยอยู่ และตัวชาอัสสัมเองก็มีตลาดที่กว้างมาก สามารถนำไปแปรรูปได้หลายอย่าง จึงทำให้ชาอัสสัมไม่เพียงพอต่อตลาด
และอีกหนึ่งเหตุผล คือ เด็กวัยรุ่นสมัยใหม่ไม่ค่อยให้ความสำคัญในการทำชาอัสสัม โดยที่จะนิยมทำงานในเมือง หรืออยู่ในออฟฟิศมากกว่า จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ปลูก ชาอัสสัม อาจจะลดลงได้ในอนาคต
ประโยชน์ของใบชาอัสสัม
ชาอัสสัม ไม่ว่าจะเป็นยอดชา หรือใบชาแก่ ก็จะมีสารประกอบคล้ายกัน แต่ที่ผู้คนนิยมดื่มยอดชา เพราะยอดชาจะมีรสชาติที่หอม ไม่ฝาดลิ้น และกลมกล่อมกว่า จึงทำให้มีราคาแพง ส่วนใบชาที่ 2-3 เรื่อยไป จะมีรสชาติที่ติดฝาด ซึ่งรสชาตินี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ก็มีรสชาติที่หอมไม่แพ้กัน
โดยการดื่มชาในปัจจุบันนิยมดื่มแบบเย็นที่ผสมน้ำตาล ซึ่งถามว่าผิดไหม ก็ตอบว่าไม่ผิด ในเชิงความคิด แต่ผิดในเรื่องของสุขภาพ ซึ่งจริงๆ แล้วควรจะดื่มเป็นชาร้อน เพราะถ้าคิดที่จะดื่มชาเพื่อสุขภาพที่แท้จริงแล้วก็สมควรจะดื่มเป็นชาร้อนจะเหมาะกว่า เพื่อที่จะได้คุณประโยชน์จากชาอย่างเต็มที่
ประโยชน์ของชาอัสสัม ชาโบราณ
- นำใบชามาต้ม ดื่มแต่น้ำ จะช่วยให้กระชุ่มกระชวย สดชื่น ไม่ง่วงนอน
- ช่วยในการดับกระหายได้ดี และช่วยในการคลายความร้อนในร่างกาย
- ใบชามีสรรพคุณในการบำรุงหัวใจ และการไหลเวียนของโลหิต
- ใบชาช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
- ช่วยในการย่อยอาหาร
- การดื่มชาเป็นประจำจะช่วยชะลอความแก่ สามารถขับสารพิษออกจากร่างกาย
- ช่วยสลายไขมัน ลดระดับคอเลสเตอรอล
- ดื่มชาแก่ก่อนอาหารจะช่วยในการหลั่งน้ำย่อย
- ใบอ่อนสามารถนำมายำ หรือนำเป็นชาเมี่ยงได้
- กากชามีประโยชน์ในการช่วยดูดกลิ่นได้ดี
นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งในคุณประโยชน์ที่มากมายของชาเท่านั้น แต่การดื่มชาสำหรับบางคนก็อาจจะไม่เหมาะสม หรืออาจจะเกิดโทษได้เหมือนกัน คือ
- ผู้ที่มีปัญหาการนอนไม่หลับ ไม่สมควรดื่มชา เพราะชามีสารคาเฟอีนอยู่ ส่งผลให้ไม่ง่วงนอน
- ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจากคาเฟอีนจะทำให้หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้เครียด ไม่สามารถไปเลี้ยงสมองไม่สม่ำเสมอ ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้
- สตรีที่ตั้งครรภ์ไม่ควรดื่มชา เพราะจะส่งผลกับเด็กในครรภ์
- เด็กเล็กไม่สมควรดื่มชา เนื่องจากจะทำให้ไม่สามารถดูดซึมธาตุอาหารไม่ได้เต็มที่ ทำให้การเจริญเติบโตของเด็กไม่ดี
- การดื่มชามากๆ ทำให้ระบบย่อยทำงานผิดปกติ เป็นสาเหตุให้ท้องผูกได้
- ผู้ที่เป็นโรคไตไม่สมควรดื่มชามาก เพราะจะทำให้ร่างกายไม่สามารถขับน้ำออกจากร่างกายทางปัสสาวะได้ตามปกติ
ดังนั้นการดื่มชาก็ควรดื่มแต่พอดี เพื่อจะได้ทั้งประโยชน์ และไม่มีโทษต่อร่างกาย
ขอขอบคุณ คุณมนตรี อินทรชัย ที่อยู่ 88/112 ม.5 ต.สันกลาง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ 50130 โทร.08-9755-3385 ชาโบราณ ชาโบราณ ชาโบราณ ชาโบราณ ชาโบราณ ชาโบราณ ชาโบราณ ชาโบราณ ชาโบราณ