การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ
กุ้งกุลาดำเป็นกุ้งธรรมชาติ อาศัยอยู่ในทะเลลึก มีทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน กุ้งกุลาดำถือว่าร้อนแรงมาก เคยเป็นสินค้ามีราคา มีการเลี้ยงอย่างมากมายตามพื้นที่ชายฝั่งทะเล ก่อนจะขยายตัวไปสู่พื้นที่น้ำจืด จนทำให้ไทยกลายเป็นผู้นำการผลิตกุ้งกุลาดำรายใหญ่ ฝากผลงานความยิ่งใหญ่บนเวทีโลกนานหลายปี ภายหลังกุ้งกุลาดำมีปัญหาเลี้ยงกันแทบไม่ได้ ส่งผลถึงปริมาณกุ้งกุลาดำที่ลดลงอย่างน่าตกใจ โอกาสฟื้นแทบไม่มี เพราะผู้คนหันไปเลี้ยงกุ้งขาวแวนาไมกันหมด หายเงียบไปนานกว่า 10 ปี
แต่ปัจจุบันนี้กุ้งกุลาดำกำลังจะกลับมา มีการเคลื่อนไหวอยู่ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทางภาคใต้ ที่ตอนนี้มีหลายฟาร์มนำมาทดแทนกุ้งขาวที่ผลผลิตตกต่ำอย่างต่อเนื่อง เริ่มเลี้ยงยาก มีปัญหาโรคระบาด ทำให้ช่วงตลอด 3 ปีหลัง ทางภาคใต้เริ่มกลับมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำกันมากขึ้น ช่วยสร้างสีสัน กระจายความเสี่ยงช่วยกุ้งขาว อาศัยความต้องการของตลาด ตอบรับด้วยราคาแรง แต่กุ้งกุลาดำยังมีปัญหาตรงที่ปล่อยได้น้อย ใช้เวลาเลี้ยงนาน และต้องได้ไซส์ใหญ่ ทำให้ไม่ใช่เรื่องง่ายในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำให้ประสบความสำเร็จ
กลับมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำได้ 3 ปี
นิตยสารสัตว์น้ำ ขอมีส่วนร่วมในการปลุกตำนาน กุ้งกุลาดำ ให้กลับมาทวงความยิ่งใหญ่ โดยได้เดินทางลงภาคใต้ที่จังหวัดระนอง เพื่อติดตามข้อมูลการเลี้ยง กุ้งกุลาดำ กับ ไขแสงฟาร์ม 1 ที่อำเภอสุขสำราญ ที่กลับมาเลี้ยง กุ้งกุลาดำ ได้ 3 ปี เรื่องราวและรายละเอียดจะเป็นอย่างไร ไปพูดคุยกับผู้จัดการฟาร์ม คุณสมคิด แก้วมีศรี หรือคุณตุ้ง กันเลย
ไขแสงฟาร์ม เป็นฟาร์มเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนา อยู่ที่จังหวัดระนอง มี 2 แห่ง คือ ไขแสงฟาร์ม 1 อยู่อำเภอสุขสำราญ และไขแสงฟาร์ม 2 อยู่ที่อำเภอกะเปอร์ มีการเลี้ยง กุ้งกุลาดำ และกุ้งขาวแวนาไม เริ่มเลี้ยงกุ้งครั้งแรกเมื่อปี 2543 สำหรับไขแสงฟาร์ม 1 เป็นฟาร์มเลี้ยงกุ้งอยู่ติดกับภูเขา เต็มไปด้วยสวนยางพารา พื้นที่ลาดลงไปเป็นนากุ้งติดกับคลองป่าชายเลน มีพื้นที่กว่า 21 ไร่ แบ่งเป็นบ่อเลี้ยง 5 บ่อ และบ่อพักน้ำ 3 บ่อ บ่อเลี้ยงเป็นบ่อขนาดเล็ก 3-4 ไร่ มีประตูน้ำทุกบ่อ ส่วนบ่อพักน้ำขนาดใหญ่สุด 4 ไร่ ช่วยกันหมุนเวียนการเลี้ยงกุ้งตลอดปี มีคุณสมคิดเป็นผู้ดูแลกว่า 11 ปี
ด้านตลาดและการจำหน่าย กุ้งกุลาดำ และกุ้งขาว
ไขแสงฟาร์มจะใช้เวลาเลี้ยงกุ้งนาน ต้องการไซส์ใหญ่ กุ้งไซส์ใหญ่ราคาดีกว่า ถ้าเป็นกุ้งขาวเลี้ยงประมาณ 120 วัน ส่วน กุ้งกุลาดำ เลี้ยง 150 วัน กุ้งกุลาดำ ใช้เวลานานหน่อย โตช้ากว่ากุ้งขาว มีความเสี่ยงสูงที่จะอยู่ไม่ถึง ต้องจัดการดูแลให้ดี เพราะ กุ้งกุลาดำ ไซส์เล็กแทบไม่มีราคา ขายยากไซส์ 80 ตัว ราคาไม่ถึงร้อย
ราคาเริ่มมาที่ไซส์ 50 ตัว ถ้าหลุดไซส์ 40 ตัวไปได้ ราคาแรงมาก ตลาดมีความต้องการสูง ก่อนหน้านี้กุ้งกุลาดำจับไปแล้ว 2 บ่อ ถือว่าประสบความสำเร็จ ให้การผลิตดีเกือบ 10 ตัน มีบ่อหนึ่งโตดี บ่อ 3 ไร่ ปล่อย 250,000 ตัว เลี้ยง 131 วัน ได้ไซส์ 37 ตัว จับได้ 4.83 ตัน กินอาหาร 7.2 ตัน FCR 1.49 ทำเป็นกุ้งน็อคขายต่างประเทศ ส่งไปฮ่องกง ได้ราคาดีถึงกิโลกรัมละ 345 บาท
ตอนนี้เหลือกุ้งใกล้กำหนดจับอยู่ 2 บ่อ เป็นกุ้งกุลาดำบ่อ 3 ไร่ และกุ้งขาวบ่อ 4 ไร่ โดยกุ้งกุลาดำกำลังมาดี เลี้ยงผ่านไป 145 วัน ไซส์อยู่ 40 ตัว กินอาหารไปแล้ว 5.4 ตัน รอเวลาให้เข้ามาถึงจะจับ ทำกุ้งน็อคเหมือนกัน คาดว่ากุ้งกุลาดำในบ่อน่าจะมีอยู่ 4-5 ตัน
ส่วนกุ้งขาวบ่อ 4 ไร่ ปล่อย 700,000 ตัว ผ่านมา 100 วัน ได้ไซส์ 76 ตัว กินอาหารไปแล้ว 10 ตัน ยังไม่ขาย ไซส์เล็กอยู่ ตั้งใจเลี้ยงถึง 120 วัน ให้หลุดไซส์ 50 ตัว รอราคา 240 บาท จากการคำนวณเทียบกับอาหารที่กิน น่าจะมีกุ้งขาว 8-9 ตัน กุ้งขาวถ้าหลุดไซส์ 40 ตัว สามารถทำกุ้งน็อค เพิ่มมูลค่าส่งฮ่องกงได้เหมือนกัน
คุณสมคิดกล่าวว่าหลังจากไขแสงฟาร์ม 1 นำกุ้งกุลาดำกลับมาเลี้ยงได้ 3 ปี ผ่านไปแล้ว 2 ครอป สามารถเลี้ยงได้ดี ไม่ค่อยมีปัญหา ถึงจะใช้เวลาเลี้ยงนานหลายเดือน มีความเสี่ยง แต่ก็ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า สำหรับกุ้งขาวแวนาไมเลี้ยงยาก มีปัญหาโรคระบาด ทำให้ผลผลิตตกต่ำ เสียหายอย่างไม่น่าเชื่อ
โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ แหล่งผลิตใหญ่ที่สุดถึงกับเงียบเหงา เปิดทางให้ยักษ์หลับอย่างกุ้งกุลาดำได้กลับมา ทำให้ในขณะนี้ฟาร์มเลี้ยงกุ้งทางภาคใต้ในหลายจังหวัดเริ่มกลับไปเลี้ยงกุ้งกุลาดำมากขึ้น นึกถึงเมื่อครั้งอดีตถือเป็นคู่บารมี เคยกอดคอกันสร้างชื่อ ครองความยิ่งใหญ่ด้วยกันมา
ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่จะร่วมปลุกตำนานกุ้งกุลาดำกลับมาคืนชีพ เพราะตลาดใหญ่ต่างประเทศยังคงต้องการ รองรับสินค้ากุ้งกุลาดำคุณภาพด้วยราคาที่รุนแรง โดยเฉพาะประเทศจีน และฮ่องกง เจ้าของกำลังซื้อมหาศาล ถึงเวลาแล้วของกุ้งกุลาดำไทยจะประกาศศักดากอบกู้ศักดิ์ศรีกลับคืนมา หลังจากเงียบหายไปนานหลายปี
การจัดการบ่อเลี้ยงกุ้ง รอดผ่านโรค EMS
หลังจากผ่านโรค EMS มาแล้ว กลับมาเลี้ยงกุลาดำใหม่ โดยลงกุ้งเดือนละครั้ง ไล่ไปทีละบ่อ เพราะยังไม่แน่ใจเรื่องโรค จนตอนนี้ไขแสงฟาร์มเลี้ยงกุ้งกุลาดำมากถึง 4 บ่อ และเหลือกุ้งขาวไว้ 1 บ่อ เนื่องจากที่อำเภอสุขสำราญมีการเลี้ยงกุ้งกันมาก ทำให้แหล่งน้ำที่ใช้ร่วมกันอาจปนเปื้อนเชื้อโรคและของเสีย เป็นน้ำคุณภาพไม่ดี สูบเข้ามาเลี้ยงกุ้งอาจมีปัญหาได้
สำหรับไขแสงฟาร์ม 1 จะลดความเสี่ยงเรื่องแหล่งน้ำ โดยเลือกสูบน้ำในคลองเข้ามาเก็บในบ่อพักน้ำทุก 13-16 ค่ำ ช่วงนี้เกิดน้ำใหญ่ น้ำขึ้น น้ำลงสุด ตอนน้ำลงเป็นการชะล้างของเสียลงสู่ทะเล ขณะที่ตอนน้ำขึ้นจะนำน้ำสุดธรรมชาติเข้ามามาก จะอาศัยในช่วงน้ำขึ้นสุดสูบเข้ามาในบ่อ เป็นน้ำสะอาด และมีคุณภาพ เพราะเป็นน้ำคลองในป่าชายเลน มีต้นโกงกางขึ้นอยู่หนาแน่น เป็นตัวดูดซับสารพิษ สารเคมี แถมยังเพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำ
ส่วนความเค็มตลอดทั้งปีไม่เคยต่ำกว่า 8 ppt. มีแร่ธาตุให้กุ้งใช้ประโยชน์ หลังจากที่สูบน้ำด้วยเครื่องยนต์ 4 สูบ ผ่านท่อพีวีซี 12 นิ้ว 2 ท่อ พร้อมกัน เข้าบ่อพักใหญ่ขนาด 4 ไร่ จนเต็ม ใช้เวลา 2-3 วัน จากนั้นจะฆ่าเชื้อและพาหะ โดยจะใช้คลอรีนเข้มข้น 90% 75 กิโลกรัม ละลายน้ำสาดทั่วบ่อ พักไว้ 3 วัน
แล้วค่อยกระจายไปบ่อเล็กอีก 2 บ่อ เพื่อถ่ายเข้าบ่อเลี้ยงที่ไกลออกไป และไว้เติมน้ำใหม่เข้าเรื่อยๆ ในระหว่างการเลี้ยงจะสูบน้ำเข้าบ่อพักใหญ่ให้เต็มตลอด เพื่อไว้ใช้ถ่ายน้ำเข้า-ออก เมื่อกุ้งในบ่อโต ช่วยให้เจริญเติบโตได้ดีขึ้น
การเตรียมบ่อเลี้ยงกุ้ง
หลังจากจับกุ้งแล้ว เอาของขึ้นจากบ่อให้หมด จะทำการเตรียมบ่อ เริ่มจากฉีดเลนล้างทำความสะอาดบ่อ แล้วดูดเลนออกไปเก็บที่บ่อขี้เลน ขี้เลนถือเป็นเชื้อโรค จะไม่ทิ้งลงในคลอง แต่จะเก็บไว้ในบ่อ ตากให้แห้งทำเป็นปุ๋ย ใช้ใส่สวนยาง สวนปาล์ม ได้ผลดี ต่อด้วยหว่านปูนขาวรองพื้น ช่วยปรับสภาพดิน เพิ่มอัลคาไลน์ เสร็จแล้วปล่อยบ่อตากแดดฆ่าเชื้อตามพื้นดินต่อหลายวัน
จากนั้นสูบน้ำเข้าบ่อเลี้ยง 50 เซนติเมตรใช้คอปเปอร์ 70 กิโลกรัม ร่วมกับกากชา ฆ่าหอยเจดีย์ และหอยพง ตามพื้นบ่อ แช่บ่อไว้ 7 วัน หอยเป็นอันตรายจะทำให้น้ำดรอป อัลคาไลน์ต่ำ น้ำใสไม่นิ่ง และแพร่พันธุ์ได้เร็วเต็มพื้นบ่อ จนกุ้งกินอาหารไม่ได้ รวมถึงไปแย่งอาหารกุ้ง
และการเตรียมบ่อทั้งหมดใช้เวลา 1 เดือน พร้อมสำหรับสูบน้ำเข้า และน้ำจากบ่อพักผ่านการฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนมาแล้ว แต่ไม่หมดยังมีพวกไข่ปลา ไข่หอย และไข่ปู ที่ไม่ตายเหลืออยู่ ถ้าหลุดไปในบ่อเลี้ยงจะเจริญเติบโต แย่งชิงอาหาร รวมถึงอาจเป็นพาหะนำโรค
ดังนั้นน้ำที่เข้าสู่บ่อเลี้ยงจะต้องผ่านการกรอง น้ำจากบ่อพักไปบ่อเลี้ยงจะใช้เครื่องสูบผ่านท่อพีวีซี ตรงปลายท่อเจาะรูไว้รอบท่อ แล้วใช้ผ้ากรองไปสวมรอบมัดให้แน่น ในผ้ากรองจะมีการกรองอยู่หลายชั้นเพื่อความละเอียด เมื่อเปิดเครื่องสูบน้ำเข้าช่วยป้องกันพวกไข่อ่อนหลุดเข้าไป ได้น้ำดี เพราะในถุงผ้ากรองมีไข่อ่อนของสัตว์น้ำจำนวนมาก โดยผ้ากรองจะเปลี่ยนทุกชั่วโมง ส่วนผืนเก่านำมาซักเอากลับไปใช้ต่อได้
การสูบน้ำเข้าบ่อเลี้ยงให้ลึก 1.5-1.8 เมตร แต่น้ำค่อนข้างใส ต้องทำสีน้ำช่วย
ใช้สูตรน้ำหมัก มีส่วนผสม คือ
- ปลาป่น 15 กิโลกรัม
- รำ 15 กิโลกรัม
- หัวเชื้อหนอนแดง 5 กิโลกรัม
- กากน้ำตาล 5 กิโลกรัม
- หัวเชื้อยีสต์ 100 กรัม
- EM น้ำ 2 ลิตร และ
- จุลินทรีย์ 1 ซอง
คลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่ถัง 200 ลิตร เติมน้ำเกือบเต็ม หมักไว้ 3 วัน กรองเอาเฉพาะน้ำ สาดหน้าใบพัดให้ทั่วบ่อ ใช้เวลา 2-3 วัน น้ำในบ่อจะเกิดสมดุล น้ำนิ่ง ขึ้นสีเขียว และมีอาหารธรรมชาติ จะทำหมักพร้อมกันทีเดียว 3 ถัง ไว้ใช้สำหรับ 1 บ่อ ทำน้ำนิ่ง ก่อนลงกุ้งเพียงครั้งเดียว
อัตราการปล่อยลูกกุ้งกุลาดำ และกุ้งขาว
ลูกกุ้งที่ใช้เลี้ยง ทั้ง กุ้งกุลาดำ และกุ้งขาว มาจากหลายแหล่งไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับคุณภาพของลูกกุ้งช่วงนั้น ซึ่งสามารถเช็คข้อมูลได้ เมื่อลูกกุ้งมาถึง ก่อนลงบ่อต้องลองน้ำปรับอุณหภูมิก่อน คือ ถ่ายน้ำเก่าออกครึ่งหนึ่ง เติมน้ำในบ่อเข้าแทน ให้ลูกกุ้งได้ปรับตัว ถ้าไม่ตายสามารถปล่อยลงบ่อได้เลย
วิธีนี้ช่วยให้ลูกกุ้งมาใหม่รอดเยอะ ที่ไขแสงฟาร์มเลี้ยงกุ้งแบบหนาแน่น กุ้งกุลาดำ ปล่อยไร่ละ 80,000 ตัว ส่วนกุ้งขาวปล่อยไร่ละ 150,000 ตัว ในส่วน กุ้งกุลาดำ เลี้ยงอยู่ 4 บ่อ ขนาด 3 ไร่ ปล่อยกุ้งไปบ่อละ 250,000 ตัว
การให้อาหารลูกกุ้ง
ในช่วงแรกให้กินอาหารตามโปรแกรม คือ 1.5 กิโลกรัม ต่อกุ้ง 100,000 ตัว
แบ่งให้วันละ 4 มื้อ
- เริ่มตั้งแต่ 8.00 น.,
- 12.00 น.,
- 16.00 น. และ
- มื้อสุดท้าย 21.00 น.
ใช้พายเรือหว่านมือให้ เพราะในบ่อมีกุ้งมาก ต้องการให้ได้กินอาหารอย่างทั่วถึง อาหารเหลือบ้างไม่เป็นไรเพราะยังเช็คยอไม่ได้ และค่อยเพิ่มอาหารให้ เปลี่ยนทุก 3 วัน ช่วงแรกกุ้งยังเล็ก หลังจากให้อาหารจะปิดเครื่องตีน้ำ 2 ชั่วโมง เพื่อให้กุ้งกินอาหารได้เต็มที่ เมื่อผ่านไป 20 วัน กุ้งเริ่มเข้ายอ ทำให้เช็คยอได้ ใส่ยอ 1 กรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม เช็คกันทุก 3 ชั่วโมง นำมาคำนวณปริมาณอาหารที่ให้ในแต่ละวัน
โดยเปรียบเทียบจากโปรแกรม อาหารจะได้ไม่เหลือตกค้างในบ่อมาก รวมถึงยังสามารถรู้อัตราการติดของกุ้งในบ่อได้ สังเกตจากอาหารในยอ ถ้าไม่เหลือแสดงว่ากุ้งติดดี รอดเยอะ
เมื่อกุ้งในบ่ออายุได้ 30 วัน
- ใช้จุลินทรีย์ 1 ซอง กับ
- กากน้ำตาล 50 กิโลกรัม
- เติมน้ำใส่ถัง 200 ลิตร
- เปิดหัวทรายให้ หมักไว้ 1 คืน ใช้ละลายน้ำ
สาดให้ทั่วบ่อแบบวันเว้นวัน ตลอดการเลี้ยง ช่วยย่อยสลายของเสีย รักษาสภาพน้ำ ในระหว่างการเลี้ยงต้องลงน้ำไปดูกุ้งตามพื้นบ่อ ตรงบริเวณมุมอับน้ำ ตรวจดูกุ้งตาย นอกจากนี้ยังทำยอไว้ข้างกองเลน เพื่อไว้ดูกุ้งตอนให้อาหาร ถ้าหากเจอกุ้งตายมากจะได้แก้ปัญหาได้ทันก่อนเกิดโรคระบาด
การปรับสภาพน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้ง
ในช่วงกุ้งเล็ก การเติบโตของ กุ้งกุลาดำ เป็นไปอย่างเรื่อยๆ สภาพน้ำในบ่อจึงไม่ค่อยมีปัญหา แต่พอผ่านมาถึง 60 วัน กุ้งจะเริ่มโตอยู่กันอย่างหนาแน่น มีของเสียและแก๊สพิษมาก ทำให้สภาพน้ำไม่เข้าสมดุล ค่า pH ไม่นิ่ง อัลคาไลน์ต่ำ ส่งผลไปถึงกุ้งในบ่อเติบโตได้ไม่ดี ต้องคุมน้ำให้อยู่ วัดคุณภาพน้ำกันทุกวัน ค่า pH อยู่ที่ 7.1-7.3 กุ้งแข็งแรง เติบโตดี
แต่ช่วงกุ้งโตทำยาก พยายามคุมไม่ให้กระโดดมาก ช่วงเช้าให้ได้ 7.7 ช่วงเย็นไม่เกิน 8 แต่บางวันค่า pH สูงขึ้นไป 8 กว่า สูงเกินไปทำให้กุ้งอ่อนแอ ต้องลดลงมา โดยใช้กากน้ำตาลสาดครั้งละ 5 กิโลกรัม ละลายน้ำสาดทั่วบ่อ จนกลับมาได้ค่าที่เหมาะสม
ส่วนค่าอัลคาไลน์มีค่า 150-180 ช่วยให้กุ้งลอกคราบดี แต่พอเลี้ยงไปได้หลายวันชอบมีค่าต่ำ ทำให้สีน้ำดรอป ต้องใส่ปูนขาวช่วย และสร้างแพลงก์ตอนกลับมา รวมถึงต้องกำจัดของเสียออกจากบ่อร่วมด้วย โดยใช้การถ่ายน้ำเก่าออก และเติมน้ำใหม่เข้า ใช้ประตูน้ำ 2 ชั้น ลึกกว่า 3 เมตร ปิดทึบด้วยแผ่นไม้กระดานในการถ่ายน้ำออก
ช่วงแรกจะเอาน้ำในบ่อชั้นบน โดยเปิดไม้กระดานชั้นในออก 1 แผ่น ปล่อยให้น้ำในบ่อไหลผ่านตะแกรงออกมา ต่อมากุ้งมีขนาดใหญ่ขึ้น จะเปลี่ยนเป็นน้ำชั้นล่าง โดยเปิดไม้กระดานแผ่นล่างออก น้ำใต้พื้นบ่อจะไหลออกมาพร้อมกับของเสีย ระดับน้ำในบ่อลดลงประมาณ 8 นิ้ว
จากนั้นจะสูบน้ำใหม่จากบ่อพักเข้าเติมกลับให้เต็มเหมือนเดิม จะทำการถ่ายน้ำทุก 3 วัน ตั้งกุ้งได้ 60 วัน ไปตลอดการเลี้ยง ช่วยให้คุณภาพน้ำดีขึ้น กระตุ้นให้กุ้งลอกคราบโตเร็วขึ้น ในจังหวะกุ้งในบ่อเพิ่มการเจริญเติบโต จะเปิดเครื่องตีน้ำให้ทั้งวัน ทั้งคืน และเสริมแร่ธาตุในอาหาร 10 กรัมต่ออาหาร 1 กก. ให้กุ้งกินทุกวัน รวมถึงในตอนกลางคืนจะใส่แมกนีเซียม เร่งการลอกคราบ ร่วมกับแคลเซียม ช่วยสร้างเปลือกให้แข็งแรง และโตเร็ว