การปลูกผักอินทรีย์
เมื่อการดำเนินชีวิตในทุกวันนี้ล้วนประกอบไปด้วยปัจจัยหลายๆ ด้าน อย่างเช่น ด้านวิทยาศาสตร์ ถ้าเอ่ยถึงด้านนี้ก็คงหนีไม่พ้นด้านเคมี แต่ว่ามันก็คงจะดีไม่น้อยที่วิทยาศาสตร์ถูกนำมาใช้อย่างสมเหตุสมผล อิงจากธรรมชาติอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อความก้าวหน้าของวงการเกษตรของไทย แม้ว่าเราจะเห็นการใช้สารเคมีกับการเกษตรของไทยมานาน แต่ก็ใช่ว่าเกษตรกรทุกคนจะใช้ได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสม เสมอไป
แต่ในเวลาเดียวกันเกษตรกรบางส่วนเริ่ม “พลิกเกม” การใช้สารเคมีให้น้อยลง หรือบ้างก็เปลี่ยนเป็นอินทรีย์ 100 % ที่นอกจากจะทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังสามารถรองรับตลาดทุกประเภท ตั้งแต่ตลาดขนาดเล็กไปจนถึงตลาดขนาดใหญ่ และอาจพัฒนาต่อยอดไปจนถึงตลาดขนาดใหญ่ได้อย่างไม่ยากเย็น
โดยเฉพาะที่เป็นกระแสมาแรงในขณะนี้ ก็คือ ผักอินทรีย์แบบผสมผสาน พืชผักที่ในขณะนี้มีโอกาสสูงที่จะ “โกอินเตอร์” ในประเทศเพื่อนบ้านสูง และก็น่าจะเป็นพืชอีกตัวหนึ่งที่ต้องมีการดูแลแบบอินทรีย์อย่างจริงจัง ทั้งที่ในบ้านเรามีสวนผักกระจายอยู่มากมายทั่วทุกภาคของประเทศ ด้วยราคาที่ค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ และการจัดการดูแลก็ไม่ยุ่งยาก ที่สำคัญ คือ การลงทุนเพียงครั้งเดียวก็สามารถอยู่ได้ตลอด แต่….จะมีกี่สวนที่ได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
จุดเริ่มต้น ฟาร์มผักอินทรีย์
คุณกาวิน เทพจันตา หรือคุณเน็ท ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของสวนผักอินทรีย์ของเขาว่า เกิดขึ้นจากที่ตนเองหลังจากเรียนจบก็มาทำงานอยู่ต่างจังหวัด นานๆ ทีถึงจะได้กลับบ้าน จนกระทั่งเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจช่วงข้าวยากหมากแพง ประกอบกับครอบครัวก็เจอปัญหาในธุรกิจเช่นเดียวกัน จึงได้มีความคิดว่าจะทำอาชีพอะไรที่สามารถทำได้ที่บ้าน เพราะจะได้ดูแลพ่อ-แม่ด้วย ก็เลยมีความคิดขึ้นมาว่าทำผักอินทรีย์ก็ดีนะ และอีกอย่างกระแสของการปลูกผักอินทรีย์ก็มาแรงด้วยในช่วงนั้น เพราะส่วนตัวก็มีความรู้ในเรื่องของการเกษตรอยู่เป็นทุน และยังเรียนจบปริญญาตรี ด้านการเกษตรมาอีกด้วย
หลังจากที่เรียนจบ ป.ตรี สาขาพืชศาสตร์ ก็ได้ไปทำงานในบริษัทแห่งหนึ่ง เป็นหัวหน้าคนงานดูแลเกี่ยวกับผลไม้ ตั้งแต่ช่วงติดดอกจนกระทั่งเก็บผลผลิต และก็ขาย ทำงานได้ประมาณ 8-9 เดือน ก็ลาออกมาอยู่ที่บ้าน โดยเหตุผลที่ออกจากงานก็คือ เราน่าจะมาทำสวนของเราเอง ดูแลสวนของเรา ดูแลเรื่องของผลผลิตของเราดีกว่า เพราะไม่ต้องไปเป็นลูกน้องใคร เลยกลับมาทำสวนของตัวเอง ปีนี้ก็เป็นที่ 3 แล้ว
ปีแรกได้เริ่มเลี้ยงไก่ไข่ประมาณ 200 ตัว แต่ก็ไม่สำเร็จ ไก่ตายหมด เพราะเอาไก่มาเลี้ยงในช่วงที่อากาศหนาว ทำให้ไก่ทนอากาศหนาวไม่ได้ เริ่มทยอยตายไปทีละตัว สองตัว จนหมด และเริ่มหันมาปลูกมะนาวนอกฤดูในบ่อซีเมนต์อีกจำนวน 50 บ่อ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะไม่มีระบบน้ำที่ดี น้ำไม่เพียงพอ และต่อมาก็ทำโรงเห็ดโคนน้อย ช่วงแรกทำแล้วขายดีมาก แต่ก็ไม่วายที่จะเจอปัญหาจนได้ คือ เห็ดไม่ออกดอก ทำให้ไม่มีผลผลิต ก็เลยหยุดทำไประยะหนึ่ง
การปลูกกล้วยหอม ผักอินทรีย์ มัลเบอรี่ และมะเขือเทศเชอรี่
ต่อมาในปีที่ 3 เริ่มปลูกกล้วยหอมทอง 1,000 หน่อ และมัลเบอรี่อีก 150 ต้น และทำโรงเรือนปลูกมะเขือเทศเชอรี่ โดยโครงการหลวงเข้ามาให้การสนับสนุน และให้ความรู้ตั้งแต่ปลูกจนเก็บเกี่ยวผลผลิตขาย ซึ่งผลผลิตทั้งหมดจะส่งให้กับโครงการหลวง และช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่กำลังเริ่มเก็บผลผลิตของมะเขือเทศเชอรี่ให้ผลผลิต จะมีให้เก็บไปเรื่อยๆ ประมาณ 3-4 เดือน ถ้าหากดูแลอย่างดี
และตอนนี้ก็ได้เริ่มทำแปลงปลูกผักสลัดแบบอินทรีย์ โดยใช้ปุ๋ยหมักที่ทำเอง และใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น และตอนนี้ก็มีตลาดในตัวเมืองที่ต้องการผักอินทรีย์เป็นจำนวนมาก เรียกได้ว่ามีออเดอร์เข้ามาตลอดจนผลิตแทบไม่ทันกันเลยทีเดียว
สำหรับแรงบันดาลใจในการทำในครั้งนี้ก็คือ อยากทำงานอยู่กับบ้าน อยู่กับครอบครัว และอีกอย่างหนึ่ง คือ อยากเป็นนายของตัวเอง หลังจากที่เป็นลูกจ้างเขามาระยะหนึ่ง และอยากใช้ความรู้ที่เรียนมา บวกกับประสบการณ์ที่ได้ไปสัมผัส และเรียนรู้มาจากโลกภายนอก นำเอามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดบนพื้นที่ทำกินของตนเอง เพื่อเป็นรายได้ของครอบครัว และเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจในภายภาคหน้าต่อไป
ด้านตลาดผักอินทรีย์
ผักอินทรีย์ หรือผักที่ปลอดสารเคมี ที่หลายๆ คนรู้จักกันนั้น ทุกวันนี้กำลังเป็นที่นิยมทั้งในและต่างประเทศ กระแสของการบริโภคผักอินทรีย์ หรือผักปลอดสารเคมีนั้น ทุกประเทศทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญ และสนใจในเรื่องนี้อย่างมาก เรื่องของอาหารการกินเพื่อสุขภาพจะต้องมาก่อนเป็นอันดับแรก ดังนั้นการผลิตพืชผักและสินค้าเกษตรของไทย จำเป็นจะต้องตอบรับกระแสนิยมจากผู้บริโภคผักอินทรีย์ ไม่ใช่ทางเลือกแต่เป็นทางที่จะต้องทำให้ได้ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยจากสารพิษ และสารเคมี
ปัญหาและอุปสรรคในการทำผักอินทรีย์
หลังจากผ่านไป 2 ปี ปีนี้เข้ามาปีที่ 3 ถ้าเราสามารถฟันฝ่าอุปสรรคทั้งหลายได้ มีความตั้งใจทำผักอินทรีย์จริงๆ เราก็จะประสบความสำเร็จ หลักสำคัญ คือ ขอให้เราเรียนรู้อย่างจริงจังในเรื่องของแมลงศัตรูผัก ต้องเรียนรู้วงจรพืชที่ปลูก วงจรชีวิตแมลงศัตรูผัก ต้องรู้ว่าทำอย่างไรถึงจะกำจัดมันได้ รุ่นปู่-ย่าของเรา ท่านก็ปลูกผักแบบไม่ใช้สารเคมี เขายังปลูกกันได้ แถมได้ผักสวยอีกด้วย
เราจึงต้องหันกลับไปยังจุดนั้นให้ได้ ยิ่งปัจจุบันมีเชื้อชีวภัณฑ์คุณภาพดีเทียบเท่าเคมี ตามที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ เราต้องขวนขวายเรียนรู้ให้ได้ แล้วนำกลับมาพิจารณาในพื้นที่ของเราว่าจะใช้อย่างไหนถึงจะดี
การจำหน่ายผลผลิตกล้วยหอม และกล้วยน้ำว้า
ฝากไปยังผู้ที่สนใจในเรื่องผลผลิต ตอนนี้กล้วยหอม และกล้วยน้ำว้า ทยอยออกสู่ตลาดแล้ว เริ่มมีผลผลิตแล้ว สามารถสั่งจองได้ หรือสอบถามข้อมูลมาได้แล้วตอนนี้ หรือถ้าหากว่าท่านใดสนใจในเรื่องของผักอินทรีย์ปลอดสารพิษ ปลอดสารเคมี ก็สามารถสอบถามหรือติดต่อข้อมูลมาที่ฟาร์มได้เลย
หรือสนใจในเรื่องของการทำผักอินทรีย์ และอยากจะเรียนรู้ในเรื่องนี้ ทางคุณกาวิน หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “คุณเน็ท” ก็ยินดีให้คำปรึกษา หรือหากท่านใดสนใจอยากเข้าไปเที่ยวชมฟาร์มผักปลอดสารพิษ “เกษตรหลังเขาฟาร์ม” ของคุณกาวิน ก็สามารถติดต่อสอบถามได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คุณกาวิน เทพจันตา 23 ม.3 ต.นาไร่หลวง อ.สองแคว จ.น่าน 55160 โทร.082-185-4556 (คุณเน็ท) ฟาร์มผักอินทรีย์