การเลี้ยงกบ ของฟาร์มกบลุงวิ ดาวรุ่งดวงใหม่อีสานใต้

โฆษณา
AP Chemical Thailand

กบถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยอย่างเราๆ นิยมบริโภคกัน เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพ นำมาทำอาหารได้หลากหลายชนิด โดยเฉพาะเมนูที่มีรสชาติถูกปากคนไทย ถึงจะหาซื้อยากแต่ความต้องการยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย แต่ ณ ปัจจุบันนี้ปริมาณกบในธรรมชาติกลับมีปัญหาทดแทนกันไม่ทัน ส่งผลต่อจำนวนกบที่ลดลงไปเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งน่าจะมาสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมาจากฝีมือของมนุษย์ที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ดังนั้นทางออกเดียวของปัญหานี้ คือการเพาะเลี้ยง เพื่อเพิ่มผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค จากนั้นตามด้วยการพัฒนาและส่งเสริมเพื่อให้เกิดเป็นอาชีพที่ยั่งยืนอยู่คู่กับเกษตรกรไทยต่อไป

ลุงวิ เจ้าของฟาร์ม
ลุงวิ เจ้าของฟาร์ม

การเพาะเลี้ยงกบในประเทศไทยตอนนี้กำลังได้รับความนิยม มีแนวทางที่จะพัฒนาต่อไปอีกเรื่อยๆ เพราะมีวงรอบการผลิตสั้น ระยะเวลาการเลี้ยงไม่นาน ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำ และที่สำคัญตลาดมีความต้องการไปไกลถึงต่างประเทศ อีกทั้งยังมีหน่วยงานราชการเข้ามาเป็นกำลังสำคัญคอยขับเคลื่อนผลักดันให้เกษตรกรไปสู่ความสำเร็จ การเพาะเลี้ยงกบทุกวันนี้มีด้วยกันหลายรูปแบบตามแต่ความถนัดของแต่ละคน ไล่ตั้งแต่เพาะพันธุ์เอง จำหน่ายลูกอ๊อด ลูกกบ กบเนื้อ จนไปถึงพ่อแม่พันธุ์ โดยส่วนใหญ่เกษตรกรจะนิยมซื้อลูกพันธุ์จากฟาร์มที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ มาทำการเลี้ยงเองจนกระทั่งจับขาย เพราะสะดวกในการจัดการดูแล ไม่ยุ่งยาก รวมถึงใช้ระยะเวลาเพียง 2 เดือนเศษ ก็สามารถสร้างรายได้เป็นที่น่าพอใจ แต่กว่าจะได้มาซึ่งรายได้ต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่างร่วมกัน และหนึ่งในปัจจัยหลักที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกก็คือ ลูกพันธุ์ เพราะการมาของลูกพันธุ์ที่มีคุณภาพถือเป็นความได้เปรียบ มีส่วนสำคัญต่อคุณภาพของผลผลิต ดังนั้นทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำต้องลงพื้นที่เพื่อหาข้อมูลดีๆ มารับใช้สังคมคนเลี้ยงกบ โดยออกเดินทางมายังอีสานใต้ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดที่ถือว่าเป็นจุดศูนย์รวมแหล่งลูกพันธุ์กบคุณภาพ เต็มไปด้วยฟาร์มเพาะพันธุ์มาตรฐานมากมาย มีการเพาะเลี้ยงกบกันอย่างแพร่หลายของคนในพื้นที่ และด้วยคุณภาพของลูกพันธุ์บวกกับการบริการที่ประทับใจ เกิดเป็นชื่อเสียงล่ำลือกันของเกษตรกรในพื้นที่ คุณชานนท์ พลเสนา และคุณพ่อหรือลุงวิ เจ้าของฟาร์ม

กบที่เลี้ยงไว้ในบ่อ
กบที่เลี้ยงไว้ในบ่อ

ฟาร์มกบ ลุงวิ ตั้งอยู่ที่อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ เป็นฟาร์มกบมาตรฐานแบบครบวงจร คือมีพ่อแม่พันธุ์กบทำการเพาะเลี้ยงจำหน่ายลูกพันธุ์ให้แก่เกษตรกร ควบคู่ไปกับเลี้ยงกบเนื้อจับขายส่งตลาด รวมถึงยังทำการตลาดไว้รองรับผลผลิตของลูกฟาร์มในเครือขาย โดยที่ทางฟาร์มจะรับซื้อคืนในภายหลัง เป็นการกระจายรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ ปัจจุบันฟาร์มกบลุงวิมีลูกพันธุ์ออกจำหน่ายให้ลูกค้าทั่วอีสาน โดยเฉพาะลูกค้าต่างจังหวัดช่วงนี้มาใช้บริการบ่อย เพราะนำไปเลี้ยงแล้วได้ผล ได้กำไร คุณภาพก็คับแก้วเหมือนเดิม ส่วนราคาเข้าใจเกษตรกร ทำให้ครั้งต่อไปก็ไม่ลืมที่จะนึกถึงฟาร์มกบลุงวิอีก การเริ่มต้นเป็นฟาร์มกบมาตรฐานแบบครบวงจรของฟาร์มกบลุงวิ มีเส้นทางเป็นมาอย่างไร ทีมงานมีคำตอบมานำเสนอ

ขนาดจริงของบ่อเลี้ยงกบ
ขนาดจริงของบ่อเลี้ยงกบ

ก่อนจะมาเป็นฟาร์มกบลุงวิ

คุณชานนท์เป็นคนจังหวัดศรีสะเกษ อาชีพหลักตอนนี้รับราชการครู ควบคู่ไปกับการทำเกษตรกรรมที่ตนเองมีความผูกพันและคุ้นเคย เนื่องจากทางบ้าน มีอาชีพทำนาข้าวบนพื้นที่กว่า 40 ไร่ โดยการทำนาในสมัยก่อนนั้นไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมากมายเหมือนสมัยนี้ ราคาข้าวของก็ไม่แพง และที่สำคัญธรรมชาติยังคงความอุดมสมบูรณ์ การใช้เงินลงทุนต่ำ เมื่อได้ผลผลิตเอาไปขายก็ได้กำไร แต่พอมาสมัยนี้การทำนามีการลงทุนสูง จากราคาข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงเรื่องเทคโนโลยีและธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อปริมาณข้าวที่ไม่แน่นอน ขาดคุณภาพ เมื่อนำไปขายก็ไม่ได้ราคา เสี่ยงต่อการขาดทุน สุดท้ายคุณชานนท์เลยตัดสินใจเลิกอาชีพทำนา แล้วเริ่มมองหาช่องทางใหม่ที่มีความแน่นอนและมั่นคง แต่ยังคงความเป็นเกษตรกรอยู่ เพราะมันติดอยู่ในสายเลือด โดยเล็งไปที่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประกอบกับช่วงนั้นกระแสการเลี้ยงกบกำลังมาแรง เกิดเป็นความสนใจ โดยได้ศึกษาหาความรู้ทั้งในสื่อออนไลน์ หนังสือ หน่วยงานราชการ และศึกษาจากฟาร์มที่ประสบความสำเร็จ ทำให้มองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จในการทำฟาร์มกบ โดยดูที่ความต้องการของตลาดที่ยังสูง ผลตอบแทนที่ได้รับ ระยะเวลาในการเลี้ยง ใช้พื้นที่น้อย และที่สำคัญใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก ทำให้คุณชานนท์มีความมั่นใจ และได้ลงมือทำฟาร์มกบใช้ ชื่อ คุณพ่อ เป็นชื่อฟาร์มคือ ฟาร์มกบ ลุงวิ เมื่อปี 2554 ซึ่งจุดเริ่มต้น จากการเริ่มต้นเลี้ยงกบ 1 พันตัวในสระน้ำหลังบ้าน ยืนหยัดด้วยคุณภาพมากว่า 4 ปี แล้ว

การจัดการพ่อแม่พันธุ์

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ฟาร์มกบลุงวิจะใช้กบ 2 สายพันธุ์ นำมาเพาะเลี้ยงจนถึงระยะเวลาที่เหมาะสม จากนั้นทำการปล่อยให้ผสมพันธุ์กันตามธรรมชาติ โดยสายพันธุ์แรกคือ กบนา ซึ่งเป็นกบพื้นเมืองของบ้านเรา มีอยู่ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย ลักษณะมีสีดำแถบลายดำ ผิวหนังขรุขระ มีรอยย่น เมื่อโตเต็มที่มีน้ำหนักประมาณ 250-400 กรัม ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ประมาณ 50-150 กรัม เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ตรงส่วนท้องของตัวเมียมีลักษณะอูมขึ้น ขยายใหญ่ การเคลื่อนไหวช้าลง ที่ข้างลำตัวจะมีตุ่มเม็ดเล็กๆ เกิดขึ้น เมื่อสัมผัสจะรู้สึกว่าสากมือ เป็นสัญญาณบอกถึงความพร้อมเต็มที่ก่อนผสมพันธุ์ ส่วนตัวผู้จะมีถุงเสียง ลักษณะเป็นรอยย่นสีดำใต้คางไว้ส่งเสียงร้องเรียกหาตัวเมีย เมื่อมีความพร้อมเต็มที่สีของลำตัวจะออกสีเหลือง ตุ่มนิ้วเท้าด้านหน้าจะมีการขยายใหญ่ขึ้นอย่างชัดเจน ไว้ใช้สำหรับเกาะตัวเมียตอนผสมพันธุ์ โดยช่วงเวลาที่เหมาะแก่การผสมพันธุ์ คือ มีนาคม-กันยายน ระยะเวลารวมประมาณ 8 เดือน ส่วนสายพันธุ์ที่สอง คือ “กบพันธุ์เหลือง มีลักษณะลำตัวสีเหลืองอมเขียว กินอาหารเก่ง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตที่ดี เมื่อทำการผสมพันธุ์กันจะเกิดเป็นสายพันธุ์ลูกผสม โดยรวมลักษณะเด่นของแต่ละสายพันธุ์เข้าไว้ด้วยกันจะได้เป็นลูกกบสีน้ำตาลแก่ มีโครงสร้างใหญ่ เจริญเติบโตรวดเร็ว ทนทานต่อโรค และสภาพแวดล้อมที่สำคัญใช้ระยะเวลาเลี้ยงไม่นาน โดยการผสมพันธุ์จะได้ลูกพันธุ์ทั้งหมด 4 สาย แต่คุณชานนท์จะเน้นที่ 2 สาย เป็นหลัก คือ ฝั่งพ่อพันธุ์จะใช้กบนา และฝั่งแม่พันธุ์จะใช้กบเหลือง เกิดเป็นลูกพันธุ์ที่มีคุณภาพสูงสุด มีความแข็งแรงเจริญเติบโตรวดเร็ว

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์

คุณชานนท์ กล่าวว่าตนจะคัดเลือกสายพันธุ์ทั้งสองฝั่ง คือ พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ เริ่มจากพ่อพันธุ์จะใช้ลูกกบของทางฟาร์มเอง ควบคู่ไปกับใช้ลูกกบของลูกฟาร์มที่คุณชานนท์ไปดูด้วยตนเอง ส่วนฝั่งแม่พันธุ์คือ กบเหลืองจะไปรับลูกกบมาจากฟาร์มเพาะแถวภาคกลาง โดยทั้งสองฝั่งจะคัดเอาลูกกบอายุตั้งแต่ 2 เดือน มีขนาด 2 นิ้ว ที่มีลักษณะตัวใหญ่ แข็งแรง โตเร็ว กินอาหารเก่ง นำมาขุนเลี้ยงรวมกันแบบคละเพศชุดละประมาณ 3,000 ตัว ในบ่อซีเมนต์ เพื่อป้องกันศัตรูและไม่ให้ลูกกบตกใจง่าย ระดับน้ำไม่เกิน 30 เซนติเมตร ภายในมีพืชน้ำอาจเป็นผักบุ้งหรือผักตบชวาก็ได้ เพื่อสร้างบรรยากาศเลียนแบบธรรมชาติ ทำหลังคาปกคลุมไว้กันแดด กันฝน เลี้ยงด้วยอาหารกบสำเร็จรูปให้กินทุกวัน 2 ครั้ง เช้า-เย็น เสริมด้วยวิตามินสร้างความแข็งแรง และความสมบูรณ์พันธุ์ ระหว่างการเลี้ยงต้องคอยดูแลรักษาความสะอาดภายในบ่อให้ดี มีการถ่ายน้ำ ล้างบ่อ ปล่อยตากแดด จะช่วยให้กบไม่เครียด มีสุขภาพแข็งแรงดี ใช้ระยะเวลาขุนเลี้ยงเตรียมเป็นพ่อแม่พันธุ์ ประมาณ 9 เดือน จะมีน้ำหนัก 300-350 กรัม จากนั้นจะทำการแยกเพศแบ่งเลี้ยงตามบ่อเพื่อรอเวลาที่จะผสมพันธุ์ ป้องกันไม่ให้กบผสมกันก่อนถึงเวลา

 

การผสมพันธุ์

เมื่อได้พ่อแม่พันธุ์ที่มีความพร้อมแล้ว คุณชานนท์จะเริ่มทำการผสมตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงตุลาคม เพราะระหว่างนี้สภาพอากาศยังดีเหมาะสำหรับการเพาะพันธุ์ ลูกพันธุ์ที่ได้อัตรารอดสูง มีคุณภาพ ถ้าเลยเดือนตุลาคมไปแล้วอากาศจะเริ่มหนาวทำให้กบไม่กินอาหาร ขาดความสมบูรณ์พันธุ์ ลูกพันธุ์ที่ได้ออกมามีปริมาณน้อยและไม่มีคุณภาพ เพราะถือว่าช่วงเดือนพฤศจิกายนไปแล้วเป็นเวลาพักของพ่อแม่พันธุ์ เตรียมความพร้อมให้เต็มที่ จะไม่มีการผสม แต่จะเป็นการเตรียมเพื่อรับการผสมครั้งใหม่ในหน้าร้อนที่จะมาถึงในเดือนมีนาคม โดยพ่อแม่พันธุ์ 1 รุ่น คุณชานนท์กล่าวว่าพ่อแม่พันธุ์จะใช้งาน 3 ปี กำลังดี โดยแต่ละปีจะมีการทดแทนกันของพ่อแม่พันธุ์ตลอด เพื่อรักษาคุณภาพของลูกพันธุ์ให้สม่ำเสมอคงที่ตลอดเวลา การผสมพันธุ์ จะใช้บ่อซีเมนต์ขนาด 4×4 เมตร มีท่อน้ำเดินอยู่ใต้พื้นบ่อ น้ำที่ใช้เลี้ยงเป็นน้ำบาดาลที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากศูนย์พัฒนาประมงน้ำจืดศรีสะเกษ ปล่อยน้ำเข้าประมาณ 10 เซนติเมตร หรือพอท่วมหลังกบ เพราะเวลาแม่กบวางไข่ขาจะแตะถึงพื้น เกิดเป็นแรงส่งให้แม่กบวางไข่ได้จำนวนมาก การปล่อยพ่อแม่พันธุ์ จะปล่อยอยู่ที่ 16 คู่ ต่อ 1 บ่อ โดยใช้กบเหลืองตัวเมีย 16 ตัว และกบนาตัวผู้ 20 ตัว คุณชานนท์อธิบายต่ออีกว่าหลังจากปล่อยไปแล้วบางครั้งกบตัวผู้จะเกาะกันเอง ทำให้เสียโอกาสไป โดยจะเลือกปล่อยช่วงเย็นเวลาประมาณ 6 โมง เปิดน้ำทำฝนตกเลียนแบบธรรมชาติ กระตุ้นให้กบอยากผสมพันธุ์ ปล่อยทิ้งไว้ 1 คืน ให้ธรรมชาติสร้างสรรค์ตัวมันเอง พรุ่งนี้เช้าช่วง 8 โมง มาดูจะมีไข่กบลักษณะสีน้ำตาลปนเขียว เป็นเม็ดกลมๆ เกาะกลุ่มกันลอยปริ่มน้ำติดตามขอบบ่อและพืชน้ำ จากนั้นจะจับพ่อแม่พันธุ์ออกกลับไปเลี้ยงตามบ่อเหมือนเดิม ไข่กบจะฟักเป็น

ลูกอ๊อดภายใน 24 ชั่วโมง ไม่ต้องให้อาหาร ลูกอ๊อดจะกินไข่แดงที่ติดมาด้วย เริ่มให้อาหารประมาณวันที่ 3 อนุบาลต่ออีก 4 วัน จนลูกอ๊อดมีอายุได้ 7 วัน นำไปเลี้ยงในกระชังที่อยู่ในบ่อดิน โดยใน 1 บ่อ สามารถผลิตลูกอ๊อดได้ 5,000-6,000 ตัว และถ้ายิ่งเป็นช่วงต้นฤดูของการเพาะพันธุ์ จะได้ปริมาณลูกอ๊อดเยอะมาก เพราะร่างกายของพ่อแม่พันธุ์สมบูรณ์เต็มที่ เนื่องจากได้พักอย่างเพียงพอ ในช่วงที่หยุดผสมพันธุ์

โฆษณา
AP Chemical Thailand

การอนุบาลลูกอ๊อด

หลังจากย้ายลูกอ๊อดมาอนุบาลในกระชัง ระดับน้ำอยูที่ 30 เซนติเมตร ภายในกระชังจะใช้พืชน้ำ ทางมะพร้าว หรือแผ่นยางรองเท้า เพื่อให้ลูกอ๊อดที่จะเจริญไปเป็นลูกกบได้ขึ้นมาอาศัย ช่วยลดปัญหาการทำร้ายกัน ระหว่างลูกอ๊อดกับลูกกบ เนื่องจากลูกอ๊อดเปลี่ยนไปเป็นลูกกบไม่พร้อมกัน อาหารที่ให้เป็นอาหารกบแบบผง ให้วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เลี้ยงลูกอ๊อดไปจนมีอายุ 20 วัน ก็จับขายได้แล้วที่กิโลกรัมละ 200 บาท แต่ถ้าเลี้ยงต่อไปอีกก็จะได้เป็นลูกกบอายุ 30 วัน จับขายที่ตัวละ 1 บาท ตอนนี้เป็นที่ต้องการของเกษตรกรเป็นอย่างมาก

รูปแบบการจัดฟาร์มกบ
รูปแบบการจัดฟาร์มกบ

การเลี้ยงกบกึ่งธรรมชาติ

ลูกกบอายุ 30 วัน เมื่อก่อนจะเลี้ยงในกระชังอย่างเดียว แต่ตอนนี้เริ่มเปลี่ยนมาเลี้ยงในบ่อกึ่งธรรมชาติ ซึ่งให้ผลดีกว่ากบไม่ต้องแช่น้ำตลอดเวลา ลดความเสี่ยงของโรค คือพื้นดินมีความแห้ง ผ่านการฆ่าเชื้อของแสงแดด กบขึ้นมาอาศัยพักผ่อนได้ ลดความหนาแน่นภายในบ่อ รวมถึงง่ายต่อการเปลี่ยนน้ำ ทำความสะอาด มีลักษณะเป็นพื้นน้ำและพื้นดินในบ่อเดียวกัน ภายในบ่อจะมีต้นไม้และพืชน้ำทำเลียนแบบธรรมชาติ มีสแลนคอยกันแดด กันฝน ช่วยให้กบไม่เครียด เจริญเติบโตได้ดี จึงได้ขยายบ่อเลี้ยงลูกกบเพิ่มอีก 2 บ่อ ใช้เงินลงทุนเกือบ 20,000 บาท เป็นบ่อกึ่งธรรมชาติขนาด 5×7 เมตร ปล่อยลูกกบแบบคละเพศจำนวน 2,000 ตัว ต่อบ่อ เลี้ยงด้วยอาหารกบสำเร็จรูปสลับกับอาหารปลาดุกชนิดลอยน้ำ เสริมกับวิตามินช่วยบำรุงให้แข็งแรง ให้กินวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น โดยต้องสังเกตปริมาณอาหารที่ให้ในแต่ละครั้งว่าเหลือหรือขาด แล้วค่อยปรับตามช่วยในเรื่องค่าอาหาร และลดปัญหาน้ำเสีย การให้อาหารกบ คุณชานนท์แนะนำว่าควรให้อาหารในน้ำ เพราะตามสัญชาตญาณกบจะกินอาหารที่มีการเคลื่อนไหว ถ้าให้บนพื้นกบจะไม่ค่อยกินอาหาร ระหว่างการเลี้ยงจะเปลี่ยนน้ำทุกวัน โดยถ่ายน้ำเก่าออกหมดแล้วปล่อยน้ำใหม่เข้าเพื่อป้องกันกบท้องเสีย มีการคัดไซส์กบทุกอาทิตย์ ลดปัญหาการกินกันเองของกบ โดยการคัดตัวเล็กออกมาแยกเลี้ยง เมื่อลูกกบอายุได้ 2 เดือน จะคัดกบที่มีลักษณะดี แข็งแรง เก็บไว้เพื่อเตรียมเป็นพ่อแม่พันธุ์ทดแทน โดยพ่อแม่พันธุ์อายุ 9 เดือน พร้อมผสม จำหน่ายราคาคู่ละ 350 บาท จากลูกกบเจริญเติบโตไปเป็นกบเนื้อใช้เวลาประมาณ 80 วัน น้ำหนักจะอยู่ที่ 200-300 กรัม ไซส์ 4-6 ตัว ต่อกิโลกรัม ราคา 70-80 บาท โดยการผลิตกบเนื้อของฟาร์มกบลุงวินั้นสามารถผลิตได้หลายรุ่นต่อปี โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมยาวไปถึงช่วงปลายปีจะเป็นรอบสุดท้าย คือ ตุลาคมถึงธันวาคม หลังจากนั้นจะพักการเลี้ยง เพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย จะเริ่มต้นเลี้ยงใหม่ในหน้าร้อน

จากการเพาะพันธุ์และเลี้ยงกบได้เกือบตลอดทั้งปีของฟาร์มกบลุงวิ ส่วนใหญ่จะมีปัญหาในช่วงรอยต่อของฤดู ทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้กบปรับตัวไม่ทัน เกิดความอ่อนแอ เสี่ยงต่อการเข้าทำลายของเชื้อโรค โดยทางคุณชานนท์ได้เตรียมพร้อมรับมือขั้นต้นไว้แล้ว เริ่มให้อาหารผสมด้วยวิตามิน ล้างบ่อ ตากบ่อ ลดการสะสมของเชื้อโรค คัดกบที่อ่อนแอออกมาแยกเลี้ยง ป้องกันแพร่ระบาดของโรค ลดความหนาแน่นในบ่อเลี้ยง ใช้การกระจายกบไปยังบ่อต่างๆ ไม่ให้กบเครียด หรือถ้าหากมีโรคแพร่ระบาดจำเป็นต้องใช้ยาปฎิชีวนะเข้ามารักษากำจัดโรค แต่ส่วนใหญ่คุณชานนท์จะเน้นไปที่การป้องกันลดการใช้สารเคมี โดยการดูแลเอาใจใส่ ให้เวลากับการเลี้ยงกบ คอยสังเกตสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา จนเกิดเป็นวิชาความรู้ ใช้เป็นแนวทางรูปแบบเฉพาะของฟาร์มกบลุงวิ

ลักษณะของกบที่เลี้ยง
ลักษณะของกบที่เลี้ยง

ฟาร์มกบลุงวิถือได้ว่าเป็นฟาร์มกบน้องใหม่ที่มาแรง ดูดี อนาคต ทั้งที่เปิดตัวเข้าวงการยังไม่ถึง 4 ปี แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเกิดการลองผิดลองถูกมากมาย ผ่านการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม โดยไม่ต้องการย่ำอยู่กับที่ สิ่งที่ได้กลับมา คือประสบการณ์อันล้ำค่ากับความสำเร็จ ณ ตอนนี้ ที่ไม่ได้มาเพราะโชคชะตาใดๆ ทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นด้วยประสบการณ์แค่นี้มีหรือจะกล้าทำฟาร์มกบแบบครบวงจร ใช้กบ 2 สายพันธุ์ จาก 2 ภูมิภาคของประเทศไทย มาพัฒนาเป็นสายพันธุ์ลูกผสมที่มีคุณภาพ ผนึกกำลังกับความตั้งใจจริงเพื่อเกษตรกร ทำให้ตอนนี้มีแฟนคลับมากมายทั่วภาคอีสาน ชนิดไม่ต้องทำตามออเดอร์ พิสูจน์ชัดจากลูกพันธุ์กว่า 40,000 ตัวต่อเดือน ยังไม่พอขาย ชนิดคิวยาวเป็นหางว่าว ส่วนเรื่องคุณภาพไม่ต้องห่วง ไม่มีลักไก่แน่นอน งานใหญ่ต่อไปของฟาร์มกบลุงวิฟาร์ม คือจะดึงลูกฟาร์มในเครือข่ายมาเป็นกำลังสำคัญ ผลักดันให้กบเป็นสินค้าส่งออกสู่ต่างแดนในรูปแบบแช่แข็งแปรรูป โดยโครงการนี้อยู่ในช่วงวางแผน ปรึกษาหารือกันอยู่ มีโอกาสเป็นไปได้สูง

โฆษณา
AP Chemical Thailand

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ คุณชานนท์ และลุงวิ แห่งฟาร์มกบลุงวิ ที่สละเวลาร่วมพูดคุยกับทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำและให้โอกาสเยี่ยมชมบรรยากาศภายในฟาร์ม รวมถึงได้ถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถใช้พัฒนาการเพาะเลี้ยงกบต่อไปในอนาคต สำหรับเกษตรกรคนเลี้ยงกบหากต้องการปรึกษา พูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล หรือสนใจลูกพันธุ์กบ สามารถแวะเวียนกันมาได้ .ฟาร์มกบลุงวิ 35/4 หมู่ 1.จาน .กันทรารมย์ .ศรีสะเกษ หรือโทร.088-582-4948

 

tags: การเลี้ยงกบ วิธีเลี้ยงกบ วิธีการเลี้ยงกบ การเลี้ยงกบในกระชัง กบเลี้ยง การเพาะเลี้ยงกบ การเลี้ยงกบ วิธีเลี้ยงกบ วิธีการเลี้ยงกบ การเลี้ยงกบในกระชัง กบเลี้ยง

[wpdevart_like_box profile_id=”377357182296025″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]