การปลูกต้นถั่วดาวอินคา
การปลูกพืชแบบผสมผสานเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนตามแบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยการปลูกพืชในรูปแบบพืชมีปฏิสัมพันธ์ในเชิงเกื้อกูลกัน เพื่อลดความเสี่ยงจากสภาพดิน ฟ้า และอากาศ หรือจะเป็นในรูปแบบของราคาในตลาด ทำให้สามารถจัดการและมีรายได้ตลอดทั้งปี
ถั่วดาวอินคาจึงเป็นพืชที่น่าสนใจตัวหนึ่ง ด้วยต้นถั่วดาวอินคาเป็นพืชที่สมควรปลูกแซมกับต้นไม้อื่นเพื่อให้ได้ร่มเงา สามารถนำมาเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งได้ แต่เนื่องจากต้นถั่วดาวอินคาเป็นพืชตัวใหม่ในเมืองไทย มีการส่งเสริมการปลูกโดยบริษัทต่างๆ ว่าสามารถนำมาทำอะไรได้ มีประโยชน์อย่างไร ทำให้เกิดกระแสการปลูกตามมา
แต่เพราะเป็นพืชตัวใหม่ ทำให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกเองยังไม่เข้าใจ และทราบถึงการปลูก การดูแล หรือการเจริญเติบโต อย่างแท้จริง มีแต่คำแนะนำของผู้ส่งเสริมการปลูก แล้วตนเองจะต้องศึกษา ทดลอง ก่อนจะเข้าใจถึงพันธุ์นี้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาในการดูแลต่างๆ หรือการตายเกิดขึ้นด้วย
ทางทีมงานได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณสมทรง อุดมทรัพย์ จากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ 84 พรรษา ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการของเกษตรอินทรีย์ในรูปแบบของศูนย์ที่เปิดให้ความรู้เป็นเวลาร่วม 10 กว่าปี และเป็นผู้ปลูกเพาะพันธุ์ และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของต้นถั่วดาวอินคา เพื่อให้ได้ข้อมูลในการปลูกและการดูแลอย่างจริงจัง
การที่เป็นศูนย์การเรียนรู้โดยทำเกษตรอินทรีย์อยู่ก่อนแล้ว โดยมีการปลูกพืชหลายชนิด เช่น ขนุน ข้าว พืชผักต่างๆ และทำน้ำหมักชีวภาพ หรือปุ๋ยใช้เอง ทำให้มีความรู้ในเรื่องเกษตรอินทรีย์อย่างถ่องแท้ เหตุผลที่สนใจ ปลูกถั่วดาวอินคา เนื่องจากตนได้ไปประชุมงานเกษตรต่างๆ ทั้งของ ธกส. หรือสภาเกษตร และตนเองทำงานอยู่ในสภาเกษตรด้วย
โดยในขณะนั้น บริษัท พอเพียงวัฒนา จำกัด ได้มีการส่งเสริมแนะนำให้ปลูก ตนเองจึงกลับมาศึกษาเกี่ยวกับต้นถั่วดาวอินคาว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง และมีประโยชน์อย่างไร ซึ่งเมื่อศึกษาดีแล้วก็ได้รู้ถึงประโยชน์ของต้นถั่วดาวอินคาว่าใบสามารถนำมาทำชาที่สามารถลดอาการเบาหวาน และสลายไขมันได้ ซึ่งคนไทยก็เป็นโรคนี้กันเยอะ ส่วนเมล็ดก็สามารถนำไปสกัดน้ำมัน ซึ่งมีประโยชน์มากมาย
การเก็บผลผลิตถั่วดาวอินคา และ ประโยชน์ของต้นถั่วดาวอินคา
ทางสวนของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ 84 พรรษา ที่มีเนื้อที่ในการปลูกต้นถั่วดาวอินคาทั้งหมด 8 ไร่ โดย 1 ไร่ เฉลี่ยอยู่ที่ 6 กิโลกรัม แต่ถ้าดูแลดีๆ หรือลำต้นมีอายุมากขึ้น ผลผลิตก็จะมากขึ้นด้วย ส่วนใบแก่จะสามารถเก็บได้ถึงวันละ 20-30 กิโลกรัม
โดยจะแบ่งเก็บตามโซน แต่ก็ยังไม่พอต่อความต้องการ ซึ่งจะมีการปลูกเพิ่มให้ถึง 20 ไร่ ในอนาคต และใบจะนำไปใช้ทำชา ซึ่งทางศูนย์เองจะใช้ใบของถั่วดาวอินคาในพื้นที่ เพราะสามารถตรวจสอบได้ง่าย และไม่มีปัญหาเรื่องคุณภาพและการขนส่ง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพกับผู้ดื่ม
ด้านตลาด ถั่วดาวอินคา
ถั่วดาวอินคาตอนนี้มีหลายประเทศที่ต้องการนำไปทำน้ำมัน เนื่องด้วยมีผลวิจัยต่างๆ ออกมามากมายที่เป็นเรื่องที่เด่น คือ มีสารโอเมก้า 3,6,7 ที่สูงมาก ต่อไปมองว่าอนาคตของถั่วดาวอินคาจะไปได้สวย ทั้งในและต่างประเทศ และ
สำหรับผู้สนใจปลูกต้องศึกษาก่อนที่จะปลูกให้ดูก่อนว่า รายได้ ผลผลิต เป็นอย่างไร พอใจกับรายได้หรือไม่ เพราะเมื่อปลูกแบบไม่ศึกษาให้ดีแล้วตาย ก็จะเสียดายทั้งเงินและเวลาที่ลงไป และอย่าทำแบบเศรษฐกิจตาโต เพราะถ้าทำใหญ่ ล้มแล้วจะเจ็บ ให้ทำอย่างพอดี พอเพียง ค่อยๆ ทำ อย่าทำพืชตัวเดียว
การเพาะเมล็ดต้นถั่วดาวอินคา
คุณสมทรงเริ่มตัดสินใจปลูก และได้นำเมล็ดที่นำมาแสดงในงานต่างๆ มาทดลองปลูก สามารถเพาะต้นถั่วดาวอินคาได้ 20 ต้น และเรียนรู้ศึกษาด้วยตนเอง แต่ต่อมาได้ไปประชุมในที่ต่างๆ และมีคนรู้จักขายเมล็ดต้นถั่วดาวอินคาทั้งเปลือก จึงขอซื้อต่อมา 5 กิโลกรัม เพื่อทดลองปลูกอย่างจริงจัง การเพาะชุดแรกต้นสามารถงอกถึง 90 เปอร์เซ็นต์ โดยเริ่มปลูกต้นถั่วดาวอินคาในเนื้อที่ทั้งหมด 8 ไร่ โดยใช้ต้นขนุนเป็นพืชพี่เลี้ยง
การเพาะเมล็ดต้นถั่วดาวอินคาจะมีความยาวอยู่ในระดับหนึ่ง เพราะจะมีเปอร์เซ็นต์การงอกที่ต่ำ ถ้าไม่มีการบ่มเมล็ดก่อน และเมื่อเมล็ดงอกออกมาแล้วบางทีอาจมีปัญหา เช่น เมล็ดอ้าไม่หมด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ต้นถั่วดาวอินคาเน่าและตายได้เช่นกัน
- แกะเมล็ดชั้นในนำมาแช่น้ำอุ่นประมาณ 4-6 ชั่วโมง
- นำแผ่นพลาสติกปูพื้น และนำขุยมะพร้าวที่ชุบน้ำให้ชุ่มวางลง
- นำเมล็ดโรยลงไป
- นำขุยมะพร้าวที่ชุบน้ำวางทับ และปิดด้วยแผ่นพลาสติก
- รอประมาณ 1 อาทิตย์ เมล็ดก็จะงอกออก ในระหว่างนั้นก็ต้องหมั่นตรวจดูเมล็ดที่บ่ม และเตรียมถุงและดินดี ใส่แกลบดำเพื่อสำหรับเพาะไว้ด้วย
สภาพพื้นที่ปลูกต้นถั่วดาวอินคา
เมื่อเพาะต้นกล้าได้ 1 เดือน แล้ว ให้นำลงปลูกในดิน โดยปักเสาไม้หรือปูน ทำค้างในระยะห่าง 2×4 เมตร เพราะต้นถั่วดาวอินคาเป็นพืชไม้เลื้อย ซึ่งภายใน 1 ไร่ จะสามารถปลูกได้ทั้งหมด 200 ต้น จะขุดหลุมให้พอกับถุงเพาะ ให้นำปุ๋ยชีวภาพมาใส่ และลงปลูกได้เลย
โดยช่วงที่เริ่มปลูกแรกๆ จำเป็นต้องรดน้ำทุกวัน โดยไม่ให้พื้นเปียกหรือแฉะจนเกินไป หรือลำต้นของ ถั่วดาวอินคา สูงประมาณ 1 ข้อศอก ให้ทำการเด็ดยอดทิ้งเพื่อให้แตกยอด และดูแลต่อถึงประมาณ 4 เดือน ก็จะเริ่มออกดอก ออกผล โดยในระยะนี้สามารถรดน้ำอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ได้แล้ว เพราะลำต้นจะเริ่มแข็งแรง ขั้วเริ่มเหนียว ติดลูก กิ่งเริ่มออกมากขึ้น ช่วงนี้ก็ต้องหาฟางไปคลุม และบำรุงให้ปุ๋ยและฉีดฮอร์โมน
ซึ่งฮอร์โมนจะเป็นจำพวกน้ำหมักผลไม้หวาน โดย 6 เดือน ผลผลิตก็จะแห้ง ชุดแรกใน 1 ปี จะมีอยู่ 4 รุ่น โดย 3 เดือน จะแห้ง 1 ครั้ง แต่จะแห้งไม่พร้อมกัน ทำให้สามารถเก็บผลผลิตได้ทั้งปี ซึ่งอย่างน้อยๆ ภายใน 1 ไร่ จะสามารถเก็บผลแห้งได้ 4-6 กิโลกรัม/ต้น/ปี เฉลี่ย 500 กิโลกรัม/ไร่/ปี ในช่วงที่ปลูกปีแรกๆ
ส่วนใบจากต้นถั่วดาวอินคาจะสามารถเก็บตอนนั้นอายุช่วง 6 เดือนขึ้นไป โดยจะเก็บใบแก่ๆ ด้านล่าง เพื่อเอาไปทำเป็นชา จะเก็บตั้งแต่ช่วงเช้า 10โมงเช้า เพราะถ้าเลยจากนั้นคุณภาพและคุณค่าของใบชาจะลดลง
การบำรุงดูแลรักษาต้นถั่วดาวอินคา
ต้นถั่วดาวอินคาเป็นพืชที่ชอบที่สูง เชิงเขา มีร่มเงารำไร ต้องมีพืชพี่เลี้ยง เพราะธรรมชาติเป็นพืชป่า ต้องเป็นพื้นที่ไม่ร้อนจัด หรือที่โล่ง แต่ถ้าพื้นที่ปลูกเป็นพื้นที่ร้อนจัด หรือที่โล่ง ไม่ควรใช้สารเคมีเพราะจะทำให้ตาย ให้นำต้นกล้วยไปลูกเพื่อช่วยเป็นพืชพี่เลี้ยงก่อน เพราะกล้วยมีน้ำเยอะ มีการเจริญเติบโตที่ไวกว่าพืชตัวอื่น
และกล้วยยังสามารถนำมาเป็นรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย และไม่ควรใช้สารเคมี เพราะจะทำให้ตาย ส่วนการตัดแต่งกิ่ง จะแต่งกิ่งในช่วงอายุต้นได้ประมาณ 2-3 ปี ตัดให้โปร่ง และไม่แน่นจนเกินไป เพราะถ้าไม่ตกแต่งกิ่งแล้วจะทำให้ลำต้นมีแต่ใบ ผลผลิตไม่ค่อยออก
การให้ปุ๋ยต้นถั่วดาวอินคา
การให้ปุ๋ยจะให้ปุ๋ยชีวภาพ 1 กำมือ ในช่วงระยะเริ่มปลูก เมื่อต้นแข็งแรงจะให้ปุ๋ยชีวภาพ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 กำมือ ภายใน 1 ปี
ปุ๋ยชีวภาพอัตราของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ 84 พรรษา (1 ตัน)
- ขี้ไก่ไข่ (160 กิโลกรัม)
- ขี้ไก่แกลบ (160 กิโลกรัม)
- ขี้วัว (160 กิโลกรัม)
- ขี้เค้กอ้อย (160 กิโลกรัม)
- เพอร์ไลต์ (หินอสัณฐานภูเขาไฟ) (160 กิโลกรัม)
- โดโลไมท์ (160 กิโลกรัม)
- น้ำจุลินทรีย์
- รำข้าว (50 กิโลกรัม)
- กากน้ำตาล
คลุกเคล้าให้เข้ากัน และใช้สแลนกันแดดคลุมเพื่อให้มีอากาศถ่ายเท ภายใน 15 วันแรก จะต้องกลับปุ๋ยทุกวัน เมื่อปุ๋ยครบ 20 วัน ก็สามารถนำไปใช้ได้ โดยปุ๋ยหมักชีวภาพจะสามารถนำไปใช้ได้ต้องมีความชื้นได้ที่ คือ เมื่อใช้มือกำปุ๋ยลงไปแล้วจะเป็นก้อน ไม่แตก และไม่แฉะ จนมีน้ำเยิ้มออกมา เมื่อจับปุ๋ยแล้วรู้สึกเย็นก็เป็นการใช้ได้
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง ของ ถั่วดาวอินคา
เรื่องโรคต้น ถั่วดาวอินคา จะมีเชื้อรามารบกวน ราจะเป็นราจุดสีดำ และแมลงก็จะมีหนอนเจาะลำต้น จะมีโรคและแมลงในช่วงอายุต้น 6-7 เดือน โดยจะฉีดพ่นป้องกันด้วยน้ำส้มควันไม้ สูตรน้ำหมักสะเดา สูตรฝักคูณ เป็นต้น แต่ถ้าฉีดป้องกันตั้งแต่เริ่มปลูกก็จะไม่มีปัญหา
โดยทางศูนย์เองไม่พบเจอปัญหาเรื่องเชื้อรา เพราะฉีดป้องกันประมาณอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ส่วนเรื่องหนอนจะเป็นปัญหาที่น้อยกว่าเชื้อรามาก โดย 200 ต้น จะเจอหนอนเจาะลำต้นประมาณ 5 ต้น ที่น่ากลัวที่สุดจะเป็นเชื้อราดำมากกว่า
ขอขอบคุณ คุณสมทรง อุดมทรัพย์ (ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ 84 พรรษา) ที่อยู่ 117/2 หมู่ 4 ต.เกาะจันทร์ อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี 20240 โทร.08-9962-6650