ปลูกปาล์มน้ำมัน แซมด้วย การปลูกฟักทอง พลิกดินอีสาน ผลผลิตดี ทนแล้ง
“ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ” หรือที่นิยมเรียกกันจนติดปากว่า “ ภาคอีสาน ” ที่มีความโดดเด่นหลากหลาย ทั้งทางด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตที่เรียบง่าย นอกจากนี้ยังเป็นภูมิภาคที่มีปัญหาในด้านต่างๆ มากที่สุด เช่น ปัญหาความแห้งแล้ง และความยากจน ซึ่งปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ไขไปบ้างแล้ว จึงทำให้ภาคอีสานทุกวันนี้มีความเจริญเท่าเทียมกับภาคอื่นๆ
ด้านอาชีพของคนอีสานส่วนใหญ่ คือ การเพาะปลูกพืช ที่สำคัญ คือ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด เป็นต้น ถือได้ว่ามีพื้นที่ทำนามากกว่าภาคอื่นๆ แต่ผลิตผลที่ได้ต่ำ เพราะดินจะเป็นดินปนทราย ไม่อุ้มน้ำ และการทำนาส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝน ซึ่งไม่ค่อยแน่นอน บางปีมีน้ำมาก บางปีไม่มีน้ำเลย พอถึงฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำลำธารจะเหือดแห้งไปเสียส่วนใหญ่ ประกอบกับในสถานการณ์ที่ราคาสินค้าการเกษตรหลายชนิดตกต่ำเข้าขั้นวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นข้าวเปลือก ยางพารา หรือมันสำปะหลัง
สภาพพื้นที่ ปลูกปาล์มน้ำมัน
การพลิกดินอีสานปลูก “ปาล์มน้ำมัน” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ที่คนเริ่มหันมาปลูกกันมากในภาคอีสาน แม้ว่ารัฐบาลจะยังไม่ได้ผลักดัน ส่งเสริม ให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสาน ปลูกปาล์มน้ำมัน อย่างเป็นรูปธรรมเหมือนกับโครงการยางพาราล้านไร่ก็ตาม อีกทั้งยังมีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการถึงความเสี่ยงที่จะปลูกปาล์มในพื้นที่ภาคอีสาน
โดยเฉพาะความต้องการน้ำของปาล์มที่อาจส่งผลกระทบถึงการให้ผลผลิตของ ปาล์มน้ำมัน ที่อาจไม่สูงเทียบเท่าในถิ่นเดิมอย่างภาคใต้ รวมไปถึงเรื่องของโรงงานรองรับที่ยังเป็นข้อจำกัด แต่เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานจำนวนไม่น้อยก็หันมาปลูกปาล์มน้ำมัน และในหลายพื้นที่ ปาล์มน้ำมัน ก็สามารถให้ผลผลิตแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังเกิดคำถามจากหลายฝ่ายว่า ปาล์มน้ำมัน จะเหมาะสมแก่การปลูก และเป็นทางออกทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนสำหรับภาคอีสานหรือไม่
การบริหารจัดการ สวนปาล์มน้ำมัน
ทีมงาน ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล การปลูกปาล์ม ในเขตภาคอีสานเพื่อนำเสนอการปลูกปาล์ม และการจัดการสวนปาล์มอีสาน รวมถึงแนวทางการต่อสู้ บุกเบิกปลูกปาล์มในดินแดนที่ใครๆ ก็รู้จักกันดีถึงความแห้งแล้งในดินแดนแห่งที่ราบสูง ที่ชื่อว่า “ภาคอีสาน”
การปลูก “ปาล์มน้ำมัน” กับ “อีสาน” ฟังแล้วเหมือนจะขัดๆ กัน จะปลูกได้หรือไม่ เมื่อพูดถึงปาล์มน้ำมันก็จะคิดถึงแต่ภาคใต้ หากพูดถึงภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย คำแรกที่น่าจะคิดถึงก็คือ ทุ่งกุลาร้องไห้ อีสานเขียว แม่น้ำโขง ข้าวหอมมะลิ น้อยนักที่จะพูดถึง “ปาล์มน้ำมันอีสาน” พื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลที่ผ่านมามีแต่ความแห้งแล้ง
แต่ปัจจุบันถนนแทบทุกสายมุ่งไปที่อีสาน เช่นเดียวกับ คุณประไพร ชุมทอง หรือ “นายหัวประไพร” ร้านพันธุ์ไม้“ธรรมราชการยาง” อ.ฝาง จ.ขอนแก่น ผู้บุกเบิกนำยางพาราและ ปาล์มน้ำมัน เข้ามาปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน พร้อมกับจำหน่ายกล้าพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่นำสายพันธุ์มาจากใต้ ผ่านการควบคุมสายพันธุ์โดยกรมวิชาการ และตรวจสอบพันธุ์ที่แท้จริง โดยลูกชายของตนที่เป็นนักวิชาการอีกรอบ
นอกจากนี้นายหัวประไพรจะเป็นคนตรวจสอบ สายพันธุ์ปาล์มอีกครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันพันธุ์ปลอมปนเข้ามาจำหน่ายให้กับเกษตรกร รวมถึงการส่งเสริมปลูกปาล์มในภาคอีสาน จนได้ผลผลิตออกมาอย่างเป็นที่น่าภูมิใจ
การส่งเสริม ปลูกปาล์มน้ำมัน ผักปลอดสารพิษ และพืชไร่อื่น ๆ
เดิมทีนั้นนายหัวประไพรเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือคนเมืองคอน ประกอบอาชีพทำฟาร์มกุ้ง โดยมีคนงานในฟาร์มส่วนใหญ่เป็นคนอีสาน และได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนที่ภาคอีสานหลายต่อหลายครั้ง ได้เห็นว่าอีสานมีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ฟ้าฝนตกตามฤดูกาล จึงอยากสร้างอาชีพและนำความเจริญข้ามาสู่อีสาน จึงได้เดินทางมาเพื่อต่อสู้ ฟันฝ่า
ในการนำยางพาราและปาล์มน้ำมันเข้ามาปลูก โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และเสียงการต่อต้านการนำปาล์มมาปลูกในอีสานจนถึงทุกวันนี้ เริ่มแรกได้นำต้นกล้าพันธุ์ปาล์มจากใต้ขึ้นมา 500 ต้น และได้สั่งเข้ามาเพิ่มอีก 1,000 ต้น ถือเป็นผู้บุกเบิก
และเน้นส่งเสริมการ ปลูกปาล์มน้ำมัน ผักปลอดสารพิษ และพืชไร่อื่น ๆ ส่งจำหน่ายให้กับตลาดผู้รักสุขภาพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่น และในหลายๆ จังหวัดแถบภาคอีสาน โดยมีเกษตรกรตัวอย่างที่ประสบผลสำเร็จในการพลิกดินปลูกปาล์มอีสาน จนลบความเชื่อว่าต้องปลูกที่ภาคใต้ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
คุณสมชาย ซาซุม เกษตรผู้ ปลูกปาล์ม น้ำมัน จ.ขอนแก่น
เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มที่ได้รับการส่งเสริม สนับสนุน พร้อมคำแนะนำทุกด้านจากนายหัวประไพร นั่นก็คือ คุณสมชาย ซาซุม หรือ “อาจารย์สมชาย” ข้าราชการ “เมืองขามแก่น” วัย 62 ปี ปลูกปาล์มในพื้นที่บ้านโป่งแดง หมู่ที่ 13 ต.กุดขอนแก่น อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น เกษตรกรที่รักอาชีพการทำนาข้าว ทำไร่ ทำสวน
แต่ด้วยราคาพืชผลตกต่ำ ประกอบกับที่ดิน ส.ป.ก. ซึ่งเป็นดินปนทราย ปลูกไม้ยูคาขึ้นเต็มเนื้อที่ 35 ไร่ เดิมทีตนจะปลูกยางพารา แต่ด้วยสถานการณ์ยางที่ไม่แน่นอน จึงทำให้เปลี่ยนใจหันมาปลูกปาล์มน้ำมัน และได้นายหัวประไพรคอยให้คำแนะนำ เยี่ยมเยือนแปลงโดยไม่ขาด
สายพันธุ์ปาล์มน้ำมัน
เน้นปลูกปาล์มน้ำมันลูกผสม “สุราษฎร์ธานี 7” ที่ปรับปรุงพัฒนาสายพันธุ์โดยศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร ที่มีการรับรองสายพันธุ์มากกว่า 11 ปี เริ่มปลูกเมื่อเดือนเมษายน ปี 2555 ปัจจุบันอายุต้นประมาณ 6 ปี ปลูกในระยะห่าง 9×9 เมตร สลับฟันปลา 22 ต้น/ไร่ ต้นกล้าที่นำมาปลูกราคาต้นละ 200 บาท
แต่เพื่อนบ้านเห็น ปลูกปาล์ม ก็นึกว่าปลูกมะพร้าว จึงเกิดความสงสัย เพราะคนอีสานไม่เคยรู้จักต้นปาล์มมาก่อนนั่นเอง การปลูกเริ่มแรกได้เตรียมไถดิน เอาไม้ยูคาที่รกร้างออกให้โล่งเตียน เพื่อเตรียมพื้นที่ ปลูกปาล์ม อัตราค่าจ้างประมาณ 90,000 บาท หลังจากที่ ปลูกปาล์ม ได้ 8 เดือน ก็ไม่เคยกลับมาดูแลสวนปาล์มเลยสักครั้ง
การปลูกฟักทอง แซมในสวนปาล์มน้ำมัน
จนกระทั่งชาวสวนละแวกใกล้เคียงมาบอกว่าปาล์มที่ปลูกไว้นั้นงามมาก จึงทำให้หวนมาดูแลสวนอย่างจริงจัง พร้อมทั้งปลูกฟักทองในพื้นที่ว่างระหว่างต้นประมาณ 10 กว่าไร่ พอฟักทองเริ่มโต แตกยอดใบขึ้นมาได้ 3 ใบ ก็จะเด็ดยอดทิ้ง เพื่อให้แตกยอดแขนงมากขึ้น และจะบำรุงต้นด้วยปุ๋ยสูตร 13-13-21 อีกประมาณ 3 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ พร้อมส่งจำหน่ายให้กับทางภาคใต้
โดยจะมีรถที่วิ่งมาส่งต้นกล้าพันธุ์ไม้ให้กับนายหัวแล้วจะรับผลผลิตฟักทองกลับไปขายด้วย ทำให้มีรายได้จากการปลูกฟักทองในครั้งนี้ 200,000 บาท ลงทุนไปประมาณ 80,000 – 90,000 บาท สร้างรายได้เสริมระหว่างที่รอต้นปาล์มเจริญเติบโตพร้อมให้ผลผลิตได้ดี
การบำรุงดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มน้ำมัน
อาจารย์สมชายเผยว่าการ ปลูกปาล์ม ดูแลง่าย แทบไม่ต้องจัดการอะไรเลย ปล่อยให้โตตามธรรมชาติ พอต้นปาล์มเริ่มโต หญ้าที่ขึ้นรกก็จะไม่มี ถ้ามีวัชพืชก็จะใช้เครื่องตัดหญ้าในการกำจัด การรดน้ำตั้งแต่ปลูกจนเป็นปาล์มใหญ่ 6 ปี สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ไม่เคยให้น้ำเลยสักครั้ง อาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติที่ตกลงมาเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นพืชที่เทวดาเลี้ยงให้โดยตรง ปัญหาเรื่องโรคในสวนปาล์มนั้นแทบไม่มี
การใส่ปุ๋ยปาล์ม
การบำรุงต้นจะใส่ปุ๋ยเคมีประมาณ 1 – 2 กิโลกรัม / ต้น และปุ๋ยคอกประมาณ 10 กิโลกรัม/ต้น 2 ครั้ง/ปี หลังจากที่ ปลูกปาล์ม จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตอนอายุ 2 ปี เก็บเกี่ยวทุก 15 วัน/ครั้ง ผลผลิตได้มากกว่า 5 ตัน/ครั้ง ในช่วงแรกที่เริ่มตัดปาล์มได้จ้างเด็กนักเรียนมาเก็บเกี่ยวปาล์มสุก และส่งป้อนให้กับโรงหีบเอราวัณ จ.อุดรธานี ราคารับซื้อทะลายปาล์มเมื่อปี 59-60 ในราคากิโลกรัมละ 4 บาท
ส่งขายที่ไหน ?
แต่ปัจจุบันการ ปลูกปาล์ม ในพื้นที่ภาคอีสานมีมากขึ้น จึงทำให้มีโรงหีบตั้งในหลายพื้นที่บริเวณใกล้เคียง จึงสะดวก และขนส่งได้ง่าย ไม่ไกลมากนัก เช่น ที่บ้านหนองเขียด จ.เลย และสหกรณ์บ้านหนองหล่ม อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นต้น การปลูกปาล์มน้ำมันสามารถสร้างรายได้ เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้ทุกเดือนโดยไม่เดือดร้อน และตัดสินใจถูกต้องแล้วที่เลือก ปลูกปาล์ม ในวันนั้น ทำให้มีรายได้ทุกเดือน แม้ว่าราคาจะลดลงไปบ้างในช่วงนี้
“ ภาคอีสาน…แม้จะแห้งแล้ง..กันดาร แต่ถ้ารู้จักวางแผน รู้จักพืช โดยเฉพาะพืชที่มีความทนทานต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ก็ทำให้คนอีสานบ้านเราผ่านคืนวันอันแห้งแล้งไปได้ วิถีชีวิตของคนอีสานสามารถปรับตัวเข้ากับภูมิประเทศที่แห้งแล้งได้เป็นอย่างดี แม้ภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการปลูกพืชหลายๆ อย่างได้เหมือนภาคอื่นๆ ดินที่แข็งแห้งกว่า น้ำที่มีน้อยกว่า และอีกหลาย ๆ อย่างที่ค่อนข้างจะด้อยกว่าหลายภาค
แต่ด้วยความเป็นลูกอีสานที่มีความอดทน สิ่งต่างๆ ก็ไม่สามารถหยุดยั้งความตั้งใจที่จะใช้ชีวิตแบบพอเพียงได้ ซึ่งในอนาคตข้างหน้าเราจะได้เห็นอีสานมีสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน มากขึ้น เมื่อสภาพแวดล้อมกลับกลายเป็นป่า ก็จะนำความชุ่มชื้นมาสู่อีสานอย่างมากมาย อีสานจะเป็นมากกว่าครัวของไทย ถนนทุกสายที่กำลังมุ่งสู่อีสานจะกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง วันนี้พร้อมหรือยังที่จะปลูกปาล์มน้ำมัน ”
ขอขอบคุณเกษตรกรผู้ ปลูกปาล์ม
อาจารย์สมชาย ซาซุม 81 หมู่ที่ 2 ต.หนองกุงเซิน อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น 40150 โทร. 087-724-1384
ติดต่อสอบถามพันธุ์ไม้ พันธุ์ปาล์มคุณภาพ ได้ที่
“ร้านธรรมราชการยาง” นายหัวประไพร ชุมทอง 247 หมู่ 7 ต.หนองบัว อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น 40270 โทร.087-435-2139