การ เลี้ยงไก่อินทรีย์ ทั้ง ไก่เนื้อและไก่ไข่
สืบเนื่องจากอิทธิพลและพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่หันมาตระหนักและให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ในเรื่องของอาหารการกิน โดยเน้นบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความเป็นธรรมชาติ สด ใหม่ สะอาด ปลอดภัย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน
ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลกระทบโดยตรงทำให้ปัจจุบันระบบการทำเกษตรไม่ใช่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ทั่วทั้งโลกอยู่ในยุคของการผ่องถ่ายหลักคิดวิธีการและการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ จากอดีตที่เกษตรกรโดยส่วนมากนิยมทำเกษตรเชิงเดี่ยว และการทำเกษตรเคมี นำมาสู่การทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เฉกเช่นที่ทุกท่านเคยได้ยินกับคำว่า การทำเกษตรอินทรีย์ และการทำปศุสัตว์อินทรีย์
โดยหากนิยามคำว่าการทำเกษตรอินทรีย์ และการทำปศุสัตว์อินทรีย์ สามารถตีความได้สั้นๆ แต่ให้ความหมายอย่างลึกซึ้ง กล่าวคือ การสร้างระบบการจัดการปลูกพืช หรือเลี้ยงสัตว์ ด้วยวิธีการผสมผสาน และสร้างความสัมพันธ์กลมกลืนไปพร้อมๆ กับบริบทพื้นที่ สภาวะแวดล้อม ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ใกล้ตัว หรือในท้องถิ่น ให้เป็นไปด้วยความเหมาะสมตามความต้องการทางสรีระวิทยาของพันธุ์พืช หรือพฤติกรรมสัตว์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำปศุสัตว์อินทรีย์ เกษตรกรต้องคำนึงถึงวิธีการใดๆ ซึ่งนำมาสนับสนุน ส่งเสริม ให้สัตว์มีสุขภาพที่ดี ทำให้สัตว์เกิดสภาวะเครียดน้อยที่สุด และให้ความสำคัญเรื่องบริหารจัดการฟาร์ม ที่ต้องมุ่งเน้นเอาใจใส่การป้องกันโรคจากปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ และหลีกเลี่ยงการใช้ยา และสารเคมี กับพืชและสัตว์ จึงจะเรียกได้ว่านั่นคือวิถีที่แท้จริงของการทำเกษตรอินทรีย์ และการทำปศุสัตว์อินทรีย์
อย่างไรก็ตามการทำเกษตรอินทรีย์ หรือปศุสัตว์อินทรีย์ หากจะให้กล่าวถึงความยากง่ายในการทำนั้นก็ไม่อาจสรุปได้ เพราะไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมุมมอง และศักยภาพ ของแต่ละคน ตลอดจนการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องการบริหารจัดการของเกษตรกรแต่ละรายด้วยเช่นกัน
แต่สำหรับ คุณอำนาจ เรียนสร้อย เจ้าของ “แทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม” ได้ให้มุมมองไว้อย่างน่าสนใจว่า “เกษตรอินทรีย์ และปศุสัตว์อินทรีย์ ซึ่งในที่นี้ผมขอใช้คำว่า ปศุสัตว์ทางเลือก ซึ่งมันขึ้นอยู่ที่คนจะมอง แต่สำหรับผม การทำเกษตรอินทรีย์สิ่งที่ได้ประโยชน์จากการทำ คือ การได้พึ่งพาตนเองในทุกกระบวนการทำเกษตร ตั้งแต่การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ การบริหารจัดการพื้นที่ใช้สอย และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตพลอยได้ นำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ โดยไม่ใช้สารเคมี
โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการทำเกษตรอินทรีย์จะมีมูลค่า และสามารถจำหน่ายในราคาที่สูงกว่า โดยไม่ต้องอ้างอิงตามราคาตลาด เพราะเป็นสินค้ากลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการเฉพาะเจาะจง และมีกำลังซื้อสูง ตลอดจนทิศทางตลาดผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์นี้มีอัตราผู้บริโภคทั่วโลกเติบโตขึ้นทุกปี ดังนั้นการทำเกษตรอินทรีย์จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้เกษตรกรหลุดพ้นจากวัฎจักรการทำเกษตรในรูปแบบเดิมๆ
เกษตรกรจะสามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นผู้กำหนดราคาผลผลิตเองได้ โดยไม่ถูกกดขี่จากพ่อค้าคนกลาง และจากกลไกตลาด อันจะนำไปสู่การทำเกษตรที่ยั่งยืน ช่วยลดต้นทุน แต่ประสิทธิภาพและคุณภาพของผลผลิตยังคงเท่าเดิม หรือสูงขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และชีวิตมีความสุข”
จุดเริ่มต้นการทำฟาร์มไก่เนื้อ และไก่ไข่
สำหรับคุณอำนาจถือเป็นเกษตรกรคนรุ่นใหม่ ที่ปัจจุบันทำการเกษตรโดยบริหารฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อและไก่ไข่ โดยเลี้ยงรูปแบบปศุสัตว์อินทรีย์มาเกือบ 10 ปีแล้ว ปัจจุบันมีตลาดและฐานลูกค้าที่เหนียวแน่น ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าประจำ และเป็นผู้บริโภคในทุกระดับที่สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ภายในฟาร์มนำไปบริโภคเอง (End User) และนำไปติดแบรนด์ทำตลาดและจำหน่ายต่อในตลาดทุกภาคส่วน เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์อินทรีย์ภายใต้ “แทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม” ได้แก่ เนื้อไก่อินทรีย์ (เนื้อไก่สด, ฟรีซแช่แข็ง) ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แปรรูป(ไส้กรอก, ลูกชิ้น) และผลิตภัณฑ์ไข่ไก่อินทรีย์ ภายใต้สโลแกนที่ว่า “ไข่ปลอดภัย จากแม่ไก่เลี้ยงปล่อย”
คุณอำนาจเปิดเผยจุดเริ่มต้นการก้าวเข้ามาสู่อาชีพเกษตรกรอย่างเต็มตัว อีกทั้งมีใจมุ่งมั่นในการทำปศุสัตว์อินทรีย์ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเขาเล่าให้ฟังว่าส่วนตัวมีใจรัก และความรู้ที่จบทางด้านการเกษตรอยู่แล้ว โดยศึกษาจบระดับปริญญาตรี ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เมื่อเรียนจบคุณอำนาจได้มีโอกาสเข้าไปทำงานกับบริษัทเอกชนรายใหญ่ชั้นนำของประเทศ ที่ดำเนินธุรกิจการเกษตรและอาหารครบวงจร
และภายหลังได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศจีนเพื่อศึกษาดูงานการบริหารฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ไก่เนื้อ โรงเชือด โรงแปรรูป อย่างครบวงจร รวมทั้งช่วยส่งเสริมเทคนิคการเลี้ยงไก่ให้กับเกษตรกรลูกเล้าที่ประเทศจีน โดยเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ทำงานที่ประเทศจีนเป็นเวลากว่า 6 ปี กระทั่งตัดสินใจลาออก เหตุเพราะการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในขององค์กร และความต้องการที่จะเรียนต่อในระดับ ป.โท ของคุณอำนาจ จึงตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทย
คุณอำนาจต้องการใช้ประสบการณ์และความรู้ที่มีอยู่เพื่อต่อยอด จึงศึกษาต่อระดับ ป.โท ด้านโภชนศาสตร์อาหารสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โดยศึกษาทางด้านสายวิชาการเกษตร แต่ท้ายที่สุดก็พบว่าสายวิชาการนั้นไม่เหมาะกับตนเอง อย่างไรก็ตามหลังจากเรียนจบ ป.โท เขาจึงกลับบ้าน พลิกชีวิตจากหนุ่ม นศ. ป.โท เป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว และลงมือทำเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่เมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน
แรงบันดาลใจในการทำเกษตรอินทรีย์
เมื่อถามถึงแรงจูงใจและแรงบันดาลใจการทำเกษตรอินทรีย์ คุณอำนาจบอกว่าจากการศึกษาที่ได้เรียนมาพบว่าชาวนา หรือเกษตรกร ที่ยังทำการเกษตรรูปแบบเดิมๆ ผ่านพ้นไปกี่สิบปี พวกเขาก็ยังคงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากเหมือนเดิม ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะให้ชาวนาสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ต้องขายข้าวเข้าโรงสี และไม่ต้องจำนำข้าว แต่สามารถหาตลาดจำหน่ายได้เอง ซึ่งคำตอบนั่นคือ การทำเกษตรอินทรีย์
แรงบันดาลใจ จากหนุ่ม ป.โท สู่เกษตรกรเต็มตัว
1.ต้องการเป็นเกษตรกรที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อวัสดุ หรือเครื่องมือ มาทำเกษตรให้มากนัก แต่พยายามใช้ทรัพยากรที่มีอยู่โดยพื้นฐานให้เกิดประโยชน์ในการทำเกษตรทั้งหมด
2.ตระหนักถึงความมั่นคง ยั่งยืน ในอาชีพเกษตรกร เพราะหากเกษตรกรรู้จักพัฒนาตัวเอง เปลี่ยนวิธีคิด ก็จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต และสามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากคนอื่น ก็จะมีโอกาสที่จะดำรงอยู่อย่างยั่งยืนมากกว่าการทำเกษตรรูปแบบเดิมๆ อีกทั้งต้องการรักษาความอุดมสมบูรณ์ และความความปลอดภัยของทรัพยากรที่มีอยู่ โดยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี
3.ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างทางเลือกใหม่ในการทำการเกษตร ซึ่งสามารถกำหนดราคาและสร้างช่องทางจำหน่ายได้เอง โดยมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงกว่าท้องตลาด
“ส่วนตัวผมได้มีโอกาสไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักคิดที่เป็นหัวใจสำคัญ และความหมายของการทำเกษตรอินทรีย์ จากอาจารย์เดชา สิริภัทร มูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งถือเป็นบรมครูแห่งการทำเกษตรอินทรีย์ท่านหนึ่งของเมืองไทยก็ว่าได้ ทำให้ผมเข้าใจและมองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ของการทำเกษตรอินทรีย์ จึงเริ่มต้นทำเกษตรอินทรีย์ด้วยตัวเอง เริ่มจากการปลูกข้าว และทำโรงสีขนาดเล็กของตนเอง ซึ่งส่วนตัวผมมีพื้นที่นาจำนวน 9 ไร่ ปลูกข้าวนาปีอยู่ที่ จ.กาญจนบุรี จึงนำเอาข้าวเปลือกบางส่วนนำมาสีและเก็บไว้ที่ฟาร์มแทนคุณแห่งนี้ เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าที่มีออเดอร์สั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง” คุณอำนาจเล่าย้อนจุดเริ่มต้น
สภาพพื้นที่ เลี้ยงไก่อินทรีย์ และไก่ไข่อินทรีย์
ส่วนการเลี้ยงไก่เกิดขึ้นหลังจากที่มีผลผลิตพลอยได้ที่เหลือจากการสีข้าว ได้แก่ ปลายข้าว รำข้าว แกลบ ในปริมาณมาก คุณอำนาจจึงต่อยอดนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์เป็นอาหารไก่ โดยการปรับสภาพพื้นที่และเริ่มต้นเลี้ยงไก่รูปแบบอินทรีย์ ทั้งไก่ไข่ และไก่เนื้อ ในเวลาต่อมา
การ เลี้ยงไก่อินทรีย์ คุณอำนาจกล่าวว่าได้ศึกษาระบบการเลี้ยงและปฏิบัติตามมาตรฐานการทำเกษตรอินทรีย์ของ ไอฟอม (IFOAM) ทั้งนี้แม้ปัจจัยบางอย่างอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงให้เป็นรูปแบบอินทรีย์ได้ทั้งระบบ อาทิ สายพันธุ์ไก่เนื้อ ที่ยังคงใช้สายพันธุ์เดียวกับระบบอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับไก่ไข่เช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตามการเลี้ยงรูปแบบปศุสัตว์อินทรีย์มีการอนุโลมให้สามารถใช้ลูกไก่จากระบบอุตสาหกรรมได้ (IFOAM ยังไม่มีมาตรการรับรองไก่เนื้อ) รวมทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์บางชนิด เป็นต้น แต่คุณอำนาจก็พยายามยึดถือแนวทางการเลี้ยงรูปแบบเกษตรอินทรีย์ให้ได้ตามมาตรฐานมากที่สุด
การบริหารจัดการโรงเรือนเลี้ยงไก่เนื้อ และไก่ไข่
ปัจจุบัน แทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม เลี้ยงไก่ไข่จำนวน 500 ตัว (แบ่งเป็น 2 ฝูง อายุไล่เลี่ยกัน) ส่วนไก่เนื้อเลี้ยงอยู่ 6 รุ่น จำนวนกว่า 600 ตัว (รุ่นละประมาณ 150 ตัว) ในส่วนพื้นที่และสภาพแวดล้อมการ เลี้ยงไก่อินทรีย์ จะมีความแตกต่างกับระบบอุตสาหกรรม หรือระบบอีแวป (EVAP) อย่างสิ้นเชิง
โดยการเลี้ยงไก่รูปแบบอินทรีย์ คุณอำนาจมีการแบ่งการเลี้ยงทั้งภายในโรงเรือน (indoor) และเลี้ยงปล่อยนอกสถานที่ (outdoor) ซึ่งการเลี้ยงภายในโรงเรือนจะเลี้ยงเฉลี่ยไม่เกิน 5 ตัว/ตร.ม. และการเลี้ยงปล่อยภายนอกจะเลี้ยงเฉลี่ยไม่เกิน 2-3 ตัว/ตร.ม. ทั้งนี้เพื่อให้ไก่ได้วิ่งเล่น ได้คลุกฝุ่น ได้คุ้ยเขี่ยอาหารตามธรรมชาติ เป็นต้น
การให้อาหารไก่
ในส่วนเรื่องของอาหารไก่ คุณอำนาจใช้วิธีผสมอาหารเอง โดยข้อแตกต่างของอาหาร ระหว่างการเลี้ยงปศุสัตว์อินทรีย์กับระบบปกติ คือ การเลี้ยงปศุสัตว์อินทรีย์ เกษตรกรจะต้องแจกแจงวัตถุดิบที่ใช้ในอาหารว่ามีอะไรบ้าง และต้องเป็นพืชผัก หรือเป็นผลผลิตพลอยได้จากเกษตรอินทรีย์จริงๆ เท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างกับระบบอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่มีส่วนผสมของอาหารที่ผลิตตามสูตรออกมาให้ได้ตามค่ามาตรฐานเดียวกันอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามข้อดีของการผสมอาหารเอง คือ ช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายในเรื่องอาหารของไก่ ทำให้ต้นทุนลดลง และการนำผลผลิตพลอยได้จากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์
“อาหารไก่ผมจะผสมเอง ซึ่งถ้าเป็นอาหารข้นจะใช้แหล่งคาร์โบไฮเดรตหลักๆ ได้แก่ ปลายข้าว กับข้าวโพด ที่เป็นบายโปรดักส์ที่มีให้ใช้ในฟาร์มอย่างเหลือเฟือ และแหล่งโปรตีนจะใช้ถั่วอบแทนถั่วสกัดน้ำมัน ซึ่งมีความเป็นธรรมชาติสูงกว่า ในส่วนอาหารหยาบ อาทิเช่น พืชผัก ใบหญ้า และแมลงตามธรรมชาติ เสริมด้วยการใช้หยวกกล้วยสับละเอียดให้ไก่กินในระหว่างวัน เป็นต้น
การป้องกันกำจัดโรคระบาด
ด้านการป้องกันโรค สำหรับไก่เนื้อผมจะไม่ทำวัคซีนเลย ส่วนไก่ไข่มีทำวัคซีนบ้าง ซึ่งเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ปศุสัตว์กำหนด เช่น นิวคาสเซิล วัคซีนหลอดลม และฝีดาษ (ทำช่วงแรกๆ) โดยหัวใจสำคัญของผมจะเน้นในเรื่องการประเมินความเสี่ยงด้าน Biosecurity Farm มาเป็นอันดับแรก เช่น การจัดการในฟาร์ม พื้นต้องไม่แฉะ อาหาร/น้ำต้องไม่ขาด ไก่ต้องรู้สึกสบาย รวมถึงการจำกัดคนเข้า/ออกฟาร์ม หรือไม่พาตัวเองไปในที่ที่มีความเสี่ยง ซึ่งก็จะช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่ง ควบคู่ไปกับการจัดการฟาร์ม โดยอ้างอิงหลักเกณฑ์มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ทั่วไป” คุณอำนาจกล่าวเสริม
การให้ ไบโอติก แมกซ์ 2 สำหรับไก่
ทางด้านผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับไก่ คุณอำนาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโปรไบโอติก คือ ไบโอติก แมกซ์ 2 (Biotic Max 2) ที่ใช้ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะในการกระตุ้นการเจริญเติบโต และสร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินอาหารของทั้งไก่เนื้อ และไก่ไข่ ได้เป็นอย่างดี โดยผลิตจากจุลินทรีย์ Bacillus subtilis ซึ่งคุณอำนาจเปิดเผยว่าจุดประสงค์สำคัญเพื่อใช้เสริมระบบทางเดินอาหารส่วนท้ายของไก่ ด้วยวิธีผสมกับอาหาร ปริมาณที่ใช้อยู่ที่ 100 กก. ในสูตรอาหาร โดยใช้ไบโอติก แมกซ์ 2 100 กรัม ผสมกับอาหารในทุกช่วง และทุกรุ่นของทั้งไก่ไข่ และไก่เนื้อ
ซึ่งผลลัพธ์หลังใช้ไบโอติก แมกซ์ 2 คุณอำนาจกล่าวว่าไก่สุขภาพแข็งแรง ไม่พบไก่มีอาการท้องเสียแต่อย่างใด อีกทั้งไก่ถ่ายมูลไม่ติดก้น ไม่มีมูลแดง ไม่มีมูกเลือด แสดงให้เห็นว่าไบโอติก แมกซ์ 2 เป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกของปศุสัตว์อินทรีย์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและสร้างภูมิคุ้มกันด้านระบบทางเดินอาหารให้ทั้งไก่เนื้อ และไก่ไข่ รวมถึงคุ้มค่าในเรื่องต้นทุน เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยาปฏิชีวนะ
ด้านตลาดไก่สด เนื้อไก่แปรรูป และไข่ไก่อินทรีย์
สำหรับเรื่องการตลาดและช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ภายใต้ แทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม ได้แก่ เนื้อไก่อินทรีย์ (เนื้อไก่สด, ฟรีซแช่แข็ง) ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แปรรูป (ไส้กรอก, ลูกชิ้น) และผลิตภัณฑ์ไข่ไก่อินทรีย์ โดยสัดส่วนการผลิตเฉลี่ยใช้ไก่เนื้อประมาณ 100 ตัว/สัปดาห์ เพื่อเตรียมจำหน่ายป้อนให้กับกลุ่มลูกค้าซึ่งมีทุกระดับ ตั้งแต่กลุ่มลูกค้ารายย่อย กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร/โรงแรม กลุ่มผู้บริโภคที่รวมตัวกันซื้อ เช่น โรงเรียน/สถานศึกษา และกลุ่มห้างสรรพสินค้า/โมเดิร์นเทรด เป็นต้น
การจำหน่ายไข่ไก่อินทรีย์
ในส่วนผลิตภัณฑ์ไข่ไก่อินทรีย์ คุณอำนาจจัดจำหน่ายเป็นเบอร์ ทั้งในราคาปลีก/ส่ง โดยกำหนดราคาเองไม่ได้ อ้างอิงราคาตลาด อาทิ
- เบอร์ 5 น้ำหนักไม่เกิน 50 กรัม ราคาขายปลีกฟองละ 4 บาทขึ้นไป,
- เบอร์ 4 น้ำหนัก 51-55 กรัม ราคาฟองละ 5 บาท,
- เบอร์ 3 น้ำหนัก 53-56 กรัม ราคาฟองละ 6 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้ระยะเลี้ยงก่อนการจับขายไก่เนื้อเฉลี่ยเลี้ยงประมาณ 50 วัน ในส่วนไก่ไข่ระยะเลี้ยงจนถึงจุดคุ้มทุน(เกือบๆ 2 ปี) ก่อนปลดแล้วนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไส้กรอก/ลูกชิ้น หรือนำบริจาคให้กับมูลนิธิ และสถานสงเคราะห์ ถือเป็นการทำบุญอีกด้วย
ช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์
ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งคุณอำนาจกล่าวเสริมว่าเป็นผู้หาช่องทางจำหน่ายด้วยตัวเองตั้งแต่แรกเริ่ม เช่น การออกบูธตามงาน และสถานที่ต่างๆ เป็นต้น ทำให้ได้มีโอกาสได้รู้จักสังคมตลาดอินทรีย์ ทั้งผู้ซื้อ และผู้ขาย อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ก็เพื่อกระจายความเสี่ยงในทุก ๆ ตลาด และเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดในทุกระดับได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตามต้นทุนการจัดการจริงๆ สำหรับการ เลี้ยงไก่อินทรีย์ นี้จะสูงกว่าการเลี้ยงในระบบปกติ โดยเฉลี่ย 40 เปอร์เซ็นต์ จากต้นทุนการจัดการทั้งหมด ซึ่งถือว่าผลตอบแทนไม่มากนัก แต่คุณอำนาจมองถึงโอกาสในระยะยาวของตลาดผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ยังไปได้อีกไกล ด้วยการบริหารจัดการไปอย่างช้าๆ แต่มั่นคง และยั่งยืน
เป้าหมายในอนาคต
เมื่อถามถึงเป้าหมายในอนาคตของ แทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม คุณอำนาจเผยว่าต้องการสร้างมาตรฐานการเลี้ยงปศุสัตว์อินทรีย์ให้ดียิ่งขึ้น เริ่มต้นจากการสร้างกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรในการยกระดับ พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้คุณภาพ
และสร้างช่องทางจัดจำหน่ายเพื่อให้สามารถขายผลผลิตในราคาสูงกว่าท้องตลาด และในราคาที่เครือข่ายอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งปัจจุบันมีฟาร์มในเครือข่ายที่ทำปศุสัตว์อินทรีย์เช่นเดียวกันกระจายอยู่ในพื้นที่ จ.นครปฐม จ.ราชบุรี และ จ.ปทุมธานี เป็นต้น
ฝากถึงผู้ที่สนใจจะ เลี้ยงไก่อินทรีย์
ทั้งนี้คุณอำนาจยังกล่าวฝากในตอนท้ายถึงการทำปศุสัตว์อินทรีย์ หรือปศุสัตว์ทางเลือก ไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า “ความหมายของการทำปศุสัตว์อินทรีย์ ผมมองว่าเป็นทางเลือกของการทำเกษตรยุคใหม่ ซึ่งไม่ว่าจะปลูกพืช หรือเลี้ยงสัตว์ แบบอินทรีย์ สิ่งที่ได้ คือ เกษตรกรได้พึ่งพาตนเองในเกือบทุกระบบ นำไปสู่การยืนหยัดอยู่ได้ในอาชีพด้วยความสามารถของตนเอง และการช่วยเหลือกันของกลุ่มเครือข่ายในระยะยาว ตลอดจนได้สร้างสังคมใหม่ๆ กอปรกับทางด้านของผู้บริโภคก็สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงกระบวนการและแหล่งผลิต ถือว่าได้ใกล้ชิดและสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค เลี้ยงไก่อินทรีย์ เลี้ยงไก่อินทรีย์ เลี้ยงไก่อินทรีย์
ทั้งนี้ปัจจุบันถือเป็นยุคเฟื่องฟูของเกษตรอินทรีย์ เนื่องจากตลาดอินทรีย์ทั้งในและต่างประเทศเติบโตขึ้นทุกปี เพราะเทรนคนรักสุขภาพซึ่งไม่ใช่เพียงกระแสอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยุคใหม่ทั่วโลกถวิลหาการได้บริโภคอาหารที่ปลอดสาร มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุด
ทั้งนี้ผมขอฝากไปถึงผู้ที่คิดจะก้าวเข้ามาทำเกษตรอินทรีย์เพียงเพื่อหวังเพียงผลตอบแทนอย่างเดียว แต่ไม่รักษาคุณภาพ และไม่ได้มีใจรักในการทำเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่แรก ในระยะยาวคงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เพราะวงการเกษตรอินทรีย์มันแคบ ทุกคนรู้จักกันอย่างทั่วถึง ซึ่งโดยส่วนตัวผมก็ไม่ได้เคลมตัวเองว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ แ
ต่ผมแสดงความบริสุทธิ์ใจอย่างเปิดเผย และยินดีเพื่อให้สังคม หรือผู้บริโภค สามารถตรวจสอบย้อนกลับกระบวนการจัดการในฟาร์มของผมได้ สิ่งสำคัญ คือ การสร้างระบบและรักษามาตรฐานในทุกกระบวนการจัดการ และการเน้นความเป็น Biosecurity Farm ดังนั้นขอให้ทุกท่านเริ่มต้นจากการทำการเกษตรด้วยใจที่อยากจะทำจริงๆ ซึ่งหากทำด้วยใจรักในทุกๆ อย่าง ผมเชื่อมั่นว่าผลของการกระทำจะออกมาในทิศทางที่ดีอย่างแน่นอน”
ขอขอบคุณ คุณอำนาจ เรียนสร้อย “แทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม” 23 หมู่ 11 ต.บางระกำ อ.บางเลน จ.นครปฐม 73130
บริษัท สยาม อะกริ ซัพพลาย จำกัด 386 ถนนศรีนครินทร์ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ 10250 โทร.02-1856598-99 www.siamagrisupply.com