จังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัด เกินครึ่งหนึ่งมาจากการทำเกษตรกรรม ที่มีการปลูกพืช ผลไม้ ที่ดี และเป็นที่ต้องการของตลาดมาก เช่นเดียวกับ คุณสุทรดา ปัจจุมาศ เกษตรกรผู้ปลูก ทุเรียนพวงมณี ผู้ที่ไม่เคยมีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องงานสวน แต่ด้วยความที่บ้านนั้นมีการทำมาแต่รุ่นพ่อ แม่ โดยกล่าวว่า “เพิ่งมาทำเป็นจริงเป็นจังก็ปีนี้ ศึกษาไป ทำไป ลองผิดลองถูก ในการปลูกทุเรียน ของ “สวนทุเรียนจันทบุรี” จะมีการให้ปุ๋ยอินทรีย์ ไม่เน้นใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตของทุเรียน
ราคาและการจำหน่ายผลผลิตทุเรียน
ซึ่งปีที่ผ่านมานั้นทางสวนได้ผลผลิตของทุเรียน
- พันธุ์หมอนทองประมาณ 300 กก. ราคาช่วงที่แพงจะอยู่ที่ประมาณ 110-120 บาท แล้วลงมาถึง 55 บาท/กก.
- ส่วนพวงมณี ในปีที่ผ่านมาถือว่าราคาดีอยู่ที่กิโลกรัมละ 85 บาท ส่วนในปีนี้ราคาก็ดีเช่นกัน โดยเริ่มต้นที่ 100-110 บาท/กก. ราคาประมาณ 120 บาท ในช่วงที่มีราคาแพงแล้วลดลงมาถึง 50-70 บาท/กก. ส่วนปีนี้ราคาก็อยู่ที่ประมาณ 100-105 บาท/กก. แต่ราคาจะไม่เกิน 110 บาท โดยราคาจะดีกว่าปีที่ผ่านมา และ
- พันธุ์นกหยิบราคาดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในจังหวัดจันทบุรีตกอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท
โดยทุเรียนจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 2 รอบ ส่วนผลผลิตมังคุดได้ผลผลิตประมาณ 3 ตัน โดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 60 บาท/กก. ซึ่งมังคุดก็จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เรื่อยๆ ส่วนในด้านการจ้างแรงงานที่ดี และมีคุณภาพนั้น คุณสุทรดาบอกว่าหายาก
สายพันธุ์ทุเรียน
คุณสุทรดากล่าวว่า เดิมทีทำเป็นสวนลองกองเก่า โดยมีพื้นที่เป็นสวนตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ทำกันมา ต่อมามีการรับซื้อในราคาที่ต่ำลง ทางสวนจึงเลยเลิกทำ และหันมาปลูกทุเรียนแทน ซึ่งในตอนนั้นทุเรียนมีราคาที่สูง จึงผลิตทุเรียนมาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งภายในสวนก็อนุรักษ์ทุเรียนพันธุ์โบราณ อย่าง
- พันธุ์นกหยิบ
- พวงมณี
- ก้านยาว
- ชะนี และ
- หมอนทอง
โดยที่นี่ก็จะทำเป็นพืชสวนผสม นอกจากจะมีทุเรียนแล้ว ยังมีมังคุด และลองกอง ปลูกผสมผสานไปด้วยกัน โดยมีพื้นที่กว่า 11 ไร่
การบำรุงดูแลรักษาต้นทุเรียน
คุณสุทรดายอมรับว่าการทำสวนแบบผสมนี้ทำยาก เพราะตนเคยทำงานประจำ ไม่มีองค์ความรู้ ความเข้าใจ ในด้านการทำสวน เพราะเพิ่งเริ่มทำได้มาประมาณ 2-3 ปี จึงต้องศึกษาเรียนรู้เป็นอย่างมาก โดยจะเริ่มจากการดูแลหลังเก็บผลผลิตเสร็จ ก็จะทำการตัดแต่งกิ่ง และบำรุงต้นหลังการตัดแต่งกิ่งเสร็จ โดยจะใส่ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยคอก เพื่อให้ต้นสมบูรณ์
โดยจะให้ต้นทุเรียนต้นเล็กก็จะให้ปุ๋ย-ยาสูตรเสมอ ซึ่งจะให้ในอัตรา 1-2 กำมือ และก็จะให้น้ำ 1-2 วันครั้ง แต่ถ้าตรงกับฤดูฝนก็จะไม่ให้น้ำ จนถึงในช่วงออกพรรษาจึงจะเริ่มให้น้ำเพื่อให้แตกใบอ่อน และจะบำรุงต้นอีกรอบ พอหลังจากแตกใบอ่อนก็จะฉีดยาป้องกันหนอนชอนใบเพื่อกำจัดเมลงศัตรูพืช อย่าง คลอไพไซเปอร์
พอหลังจากที่มีช่อดอกก็จะเสริมด้วยกรดอะมิโน พอดอกบานก็จะฉีดยาเพื่อคุมหนอนไม่ให้กินดอก โดยจะฉีดอิมิดา และอะบาเม็กติน ซึ่งจะใช้สลับกัน พอหลังจากนั้นทุเรียนก็จะออกลูกอ่อน ก็จะต้องฉีดยาป้องกันหนอนเจาะ พอผลทุเรียนเท่ากำปั้นก็จะต้องมีการโยงกิ่งเพื่อไม่ให้ลูกร่วง และกิ่งหัก เวลาโดนลมกรรโชก
การเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน
ซึ่งผลผลิตที่ออกมาจนถึงการเก็บเกี่ยวก็จะใช้เวลา 120 วัน สำหรับพันธุ์หมอนทอง ส่วนนกหยิบกับพวงมณี จะใช้เวลาประมาณ 100 วัน ที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่ละพันธุ์ก็จะแตกต่างกันออกไป ส่วนพันธุ์ที่ทางสวนภาคภูมิใจมากที่สุดก็หนีไม่พ้นพันธุ์ ทุเรียนพวงมณี เพราะไม่ต้องมีการดูแลมากเหมือนพันธุ์อื่นๆ โดยมาตรฐานผลผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 3 กิโลกรัม/ลูก
แนวโน้มในอนาคตของ ทุเรียน ทุเรียนพวงมณี
คุณสุทรดาคาดว่าในอนาคตตลาดน่าจะยังคงดีอยู่ เพราะทุเรียนเป็นตลาดใหญ่ ทิศทางของตลาดทุเรียนนั้นดีขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะมีตลาดรองรับที่ดี และฝากถึงเกษตรกร “อยากให้รู้จักหาความรู้ใหม่ๆ เทคนิคใหม่ๆ ในการทำสวน ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีตามตารางหลักสูตร ถ้ามีแมลงนิดๆ หน่อยๆ ปล่อยผ่านได้ก็ปล่อย บางอย่างก็ใช้ชีวภัณฑ์แทนสารเคมีได้ก็ใช้ เพราะจะดีกว่าใช้สารเคมี เพราะผลผลิตที่ได้มาจะมีคุณภาพ”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : สวนทุเรียนจันทบุรี คุณสุทรดา ปัจจุมาศ 14 ถ.เทศบาลสาย 5 ต.ขลุง จ.จันทบุรี 22110 โทร.092-269-4926