ทีมงาน นิตยสาร เมืองไม้ผล& พืชสุขภาพ มาพูดคุยกับ คุณสานิต เชาวน์ดี คนบ้าน ต.โคกปีบ อ.ศรีมโหสถ ปราจีนบุรี เกษตรกรรายแรกที่มีความคิดแหวกแนวออกมาจากอาชีพปลูกผักอนามัยในสมัยเมื่อ 30 กว่าปีก่อน จากอาชีพที่บรรพบุรุษได้ทำกันมานานแรมปี จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง บนพื้นที่เดิมให้กลายมาเป็นสวนส้มโอทองดีรายแรกของ อ.มโหสถ ปราจีนบุรี
นับว่ามีน้อยนักที่เกษตรกรรากหญ้าที่มีความคิดแตกต่างจากคนอื่น กล้าเปลี่ยน กล้าเริ่ม และกล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมอยู่เสมอ จนกลายเป็นที่ยอมรับจากชาวสวนผู้ ปลูกส้มโอ ทองดี
จุดเริ่มต้นการ ปลูกส้มโอ
คุณสานิตเล่าถึงชีวิตจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงในอาชีพของตนเองว่า จากตอนนั้นถึงตอนนี้ก็นับรวมแล้วกว่า 30 ปี ที่ ปลูกส้มโอ มา ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีอาชีพปลูกผักอนามัย ในสมัยนั้นจะเรียกกันแบบนี้ เรียกได้เลยว่านับตั้งแต่มีหมู่บ้านนี้ขึ้นมาก็ทำอาชีพปลูกผักมาตลอดเป็นร้อยกว่าปีได้ สืบต่อกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย มาจนถึงรุ่นเรา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ยุคตั้งบ้านแปลงเรือน นำส่งขายตลาดแฮปปี้แลนด์
แน่นอนว่าผักที่ปลูกและนำไปขายนั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เพราะช่วงนั้นผักราคาถูกมาก บวกกับการเข้าทำลายของโรคและแมลงมีมากขึ้นอีก จากปัญหาที่พบเจอมาตั้งแต่เด็ก คุณสานิตคิดเปลี่ยนแปลงมาปลูกพืชยั่งยืน สามารถประคับประคองชีวิตของตนเองให้ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ เมื่อก่อนตนจะคอยสังเกตว่าที่หมู่บ้านมีการ ปลูกส้มโอ ไว้ตามบ้าน แต่มักจะเก็บไว้กินเอง ซึ่งจริงๆ แล้วส้มโอมีราคาที่ขายได้ดีอยู่ไม่น้อย ต้นให้ผลได้ดีมาก ผลใหญ่ และรสชาติดีด้วย
สภาพพื้นที่ ปลูกส้มโอ
ตนจึงคิดว่าที่ดินที่มีอยู่น่าจะ ปลูกส้มโอ ได้ดีพอควร พันธุ์ส้มโอที่ซื้อมาจากนครปฐมเป็นพันธุ์ทองดี เพราะเห็นว่าที่ดินเป็นดินร่วน ระบายน้ำดี น่าจะเหมาะกับการปลูกส้มโอ หลังจากที่คุณสานิตทำสวนส้มโอได้ไม่นาน คนในหมู่บ้านเริ่มหันมาปลูกส้มโอกันมากขึ้น คุณสานิตบอกว่ากลุ่มที่ตั้งขึ้นมาครั้งแรกมีอยู่ทั้งหมด 45 คน แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน มีโครงการแลกเปลี่ยนความรู้ของแต่ละสวนมากกว่า
ช่วงนั้นก็มีโครงการโรงเรียนเกษตรกร เป็นการกำจัดแมลงศัตรูพืชแบบผสมผสาน โดยหลีกเลี่ยงจากการใช้สารเคมีมากขึ้น เช่น เกษตรชีววิถี ที่ใช้หลากหลายรูปแบบทางธรรมชาติเข้ามาช่วยด้วย แล้วค่อยๆ ทำการศึกษาส้มโอแต่ละช่วงอายุมาโดยตลอด
จนเรียกได้ว่าเกษตรกรเกิดการตกผลึกแล้ว หมายถึง เกษตรกรเกิดความรู้ ความเข้าใจ เรื่องส้มโอ โดยไม่ต้องอ่าน หรือจำ ก็สามารถผลิตส้มโอคุณภาพขึ้นมาได้ ซึ่งในกลุ่มจะเน้นเรื่องคุณภาพมากกว่าการตลาด เพราะเมื่อผลผลิตมีคุณภาพ การตลาดจะเข้ามาเอง
การให้น้ำและปุ๋ยต้นส้มโอ
คุณสานิตบอกว่าจริงๆ แล้วการให้น้ำส้มโอจะให้น้อยมาก นิยมให้เพียง 3 วัน/ครั้ง เท่านั้น ในช่วงฤดูแล้ง แต่บางที่สภาพอากาศอาจไม่เหมือนกัน หากเป็นทางภาคตะวันออกฝนจะหมดช่วงประมาณ 14-15 ต.ค จากปีที่ผ่านๆ มา หลังจากนั้นจะให้ต้นส้มโออดน้ำต่ออีกประมาณ 1 เดือน ดังนั้นจะให้น้ำช่วงต้นเดือนธันวาคม บางคนอาจให้น้ำตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนแล้วก็ได้
ทั้งนี้เกษตรกรต้องคอยดูลักษณะของใบว่าเหี่ยวเฉาพอหรือยัง ให้สังเกตจากใบของส้มโอ แล้วจะให้น้ำ เมื่อให้น้ำแล้วต้นก็จะแตกใบ แตกดอก ขึ้นมาใหม่ทันที ส่วนการให้ปุ๋ยกับต้นส้มโอต้องศึกษาให้ดีว่าสูตรใดเป็นสูตรเร่งต้น เร่งดอก เร่งผล
สวนของคุณมานิตส่วนมากแล้วจะใช้เป็นปุ๋ยยูเรียทั่วไปตามระยะของต้น ช่วงบำรุงต้นจะใช้สูตร 46-0-0, 16-8-8 ช่วงบำรุงผล ดอกให้ใช้สูตรเสมอ คือสูตร 15-15-15, 16-16-16 และบำรุงเนื้อ ความหวานของผลใช้สูตร 13-13-21 การให้ปุ๋ยจะเป็นแบบหมุนเวียนช่วงละครั้ง หรืออาจเรียกได้ว่า 1 ครอป จะให้ 3 ครั้ง ช่วงที่ตัดแต่งกิ่งเสร็จจะต้องให้ปุ๋ยสูตรบำรุงต้น 1 ครั้ง ให้ต้นแข็งแรง สมบูรณ์ พอต้นเริ่มมีการให้ดอก ผลอ่อน ให้ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 1 ครั้ง
หลังจากนั้นเมื่อผลเริ่มโตใกล้เก็บเกี่ยวให้ใส่ปุ๋ยสูตรเร่งความหวานไป 1 ครั้ง จากนั้นจึงพักต้นช่วงหนึ่งก่อนการตัดแต่งกิ่ง แล้วค่อยเริ่มให้ปุ๋ยเร่งต้นอีกครั้งหนึ่ง เป็นการเสร็จสิ้นไป 1 รุ่น หรือ 1 ครอป
การตัดแต่งกิ่งส้มโอ
คุณสานิตบอกว่าการแต่งกิ่งส้มโอนั้นหากจะให้ดีต้นต้องโปร่งแสง คือ ตัดกิ่งที่หนาทึบ ไม่สมบูรณ์ กิ่งที่เบียดเสียดภายในต้นออกให้หมด เป็นเทคนิคธรรมชาติไม่ยุ่งยาก เพราะส้มโอตัดแต่งกิ่งได้ทุกแบบ แล้วแต่เจ้าของสวนจะสังเกตจุดต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมออก ช่วงที่สมควรตัดแต่งกิ่งจะเป็นช่วงที่เก็บผลผลิตเรียบร้อยแล้ว จะพักต้นไว้ช่วงหนึ่งก่อนค่อยตัด หากตัดแต่งต้นทันที ต้นก็จะเริ่มแตกใบ แตกดอก ทั้งที่ต้นยังไม่พร้อม จะเป็นผลเสียต่อผลผลิตเอง คือ ผลจะออกมาปกติ แต่ให้ผลเพียงเล็กน้อย ไม่มาก และผลจะเสียรูปทรง เสียคุณภาพ ไปด้วย
การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
เรื่องโรคและแมลงย่อมมากับไม้ผลทุกชนิด อาจมีโรคและแมลงบางชนิดที่เหมือนกัน หรือแตกต่างกันก็ได้ แล้วแต่ผลไม้ชนิดนั้นๆ อย่าง ส้มโอของคุณสานิตเองก็เคยเผชิญกับเหตุการณ์การเข้าระบาดของแมลงที่เข้ามาทำลายส้มโอครั้งใหญ่มานานถึง 3 ปีแล้วเช่นกัน แต่เชื่อไหมว่าคุณสานิตสามารถผ่านมาได้ โดยไม่ต้องตัดต้นทิ้งเลยสักต้น ในต้นส้มมีแมลงอยู่หลายชนิด เช่น หนอนปม หนอนชอนใบ หนอนเจาะ และเพลี้ยกระโดด เป็นต้น
ถ้าเป็นการเข้าทำลายทั่วๆไป จะใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่นธรรมดาสามารถกำจัดได้ คาร์บาริล ไซเปอร์เมทธิล อะบาเม็กติน ฉีดพ่นทางใบ แต่จริงๆ แล้วการใช้ยาฆ่าแมลงก็เหมือนกับเป็นการไล่ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อฤทธิ์ยาหมดแมลงก็เข้ามารบกวนอีกเหมือนเดิม
ช่วงที่สวนเกิดการระบาดของเพลี้ยกระโดด จะทำการปล่อยสวนสักระยะหนึ่ง การระบาดค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จะฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชช่วงระบาดใหม่ๆ แค่ครั้งเดียว จากนั้นก็ปล่อยสวนไว้นานเกือบ 3 ปี เรียกว่าเป็นช่วงที่เกษตรกรต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก เมื่อมีการระบาดมาก จนเรียกได้ว่าอิ่มตัวแล้ว โรคต่างๆ เหล่านั้นก็ค่อยๆ หายไปเองตามธรรมชาติ
เนื่องจากทุกอำเภอในช่วงนั้นเกิดโรคระบาดทั้งหมด เกษตรกรต้องคิดแล้วว่าหากสวนตนเองเพียงสวนเดียวฉีดพ่นสารอยู่ตลอด ทั้งที่สวนอื่นๆ เองก็เกิดโรคระบาดเช่นกัน การฉีดพ่นของสวนจะไม่เกิดผลใดๆ เลย ถือว่าเป็นการลงทุนที่เสียเปล่ามากกว่า
การเก็บเกี่ยวผลผลิตส้มโอ
คุณสานิตบอกว่าส้มโอเป็นผลไม้ที่ให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีมากในช่วงไหนของปีบ้างขึ้นอยู่กับการบังคับการให้ผลของเจ้าของสวนเอง ปัจจุบันนี้ผลผลิตของส้มโอที่ส่งจำหน่ายจะเป็นการแบ่งออกได้อยู่ 4 เบอร์ด้วยกัน คือ
- เบอร์พิเศษ (เอ็กซ์ตร้า)
- เบอร์ 1
- เบอร์ 2 และ
- เบอร์ 3
ตามเปอร์เซ็นต์การสูญเสีย หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผลผลิต เช่น เบอร์พิเศษ (เอ็กซ์ตร้า) เป็นลักษณะของผลผลิตที่สมบูรณ์ที่สุด ทั้งลักษณะภายนอกของผล และขนาดความกว้างรอบวงของส้มโอ 17 นิ้ว เบอร์ 1 มีการเสียหายจากผลผลิตไม่เกิน 5 % ขนาดความกว้างรอบวงของส้มโอ 16 นิ้ว เบอร์ 2 มีการเสียหายจากผลผลิตไม่เกิน 10 % ขนาดความกว้างรอบวงของส้มโอ 15 นิ้ว และเบอร์ 3 มีการเสียหายจากผลผลิตไม่เกิน 15 % ขนาดความกว้างรอบวงของส้มโอ 14 นิ้ว
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายผลผลิตส้มโอ
รูปแบบการขายส้มโอในพื้นที่จะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ
1) การส่งเข้าโรงรับซื้อผลไม้เอง เป็นการขายแบบเบอร์คละ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 60 บาท
2) โรงรับซื้อผลไม้เข้ามารับซื้อที่สวนเอง จะเป็นทั้งแบบขายเหมาสวน และขายแบบนับผล ซึ่งปีที่ผ่านมาราคาจะอยู่ที่ประมาณ 45 บาท คุณสานิตบอกว่า 2-3 ปีมานี้รูปแบบการขายเป็นผลเริ่มมีน้อยมากขึ้น เกษตรกรเริ่มนิยมการขายส้มโอแบบเหมาสวนมากกว่า เพราะถ้าพ่อค้าเข้ามาเหมาที่สวนเอง เกษตรกรบางรายสามารถลดความกังวล และความเสี่ยง เกี่ยวกับผลผลิตของตนเองได้บ้าง
ทั้งนี้เกษตรกรยังลดปัญหาเรื่องแรงงานในภาคการเกษตรที่ไม่เพียงพอต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อีกทางหนึ่ง พ่อค้าจะรับหมดทุกผล ไม่มีการคัดเกรด เหมือนการขายแบบเป็นผล ถ้าเป็นการขายแบบเป็นผลจะมีการคัดเกรด คัดขนาด และเลือกเฉพาะผลผลิตที่มีคุณภาพสูงสำหรับส่งออกนอก และสินค้าตกเกรดสำหรับส่งขายภายในประเทศ
และที่สำคัญ คือ เกษตรกรภายในสวนมีความรู้น้อยในเรื่องของการตลาด แต่เกษตรกรก็ยังขายอิงกับราคาของโรงรับซื้อผลไม้อยู่ดี โดยมีวิธีการประเมินสวนส้มโอแต่ละสวนว่าสวนหนึ่งมีประมาณกี่ต้น และต้นหนึ่งมีประมาณกี่ผล เป็นการคำนวณออกมา และตีเป็นตัวเงินเสนอให้กับพ่อค้าที่จะเข้ามาเหมาสวน ทั้งนี้พ่อค้าเองก็จะเข้ามาดูผลผลิตภายในสวนด้วยเช่นกัน
แนวโน้มในอนาคต
คุณสานิตแสงความคิดเห็นเรื่องนี้ว่าปัจจุบันนี้พื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกสวนส้มโอนับวันจะเริ่มมีน้อยลง ซึ่งหมายความว่า ส้มโอไม่ได้ปลูกได้ทุกที่เสมอไป ดินที่ไม่ดี การถ่ายเทน้ำไม่เหมาะสม เป็นสาเหตุให้ส้มโอเกิดโรคต่างๆ ขึ้นได้ และที่สำคัญทำให้อายุของต้นส้มสั้น และส้มโอไทยอาจเป็นส้มโอเดียวที่มีคุณภาพสูง จากการประชุมกับคณะวิชาการเกี่ยวกับเรื่องส้มโอจากทั่วโลก ปรากฏว่าส้มโอไทยเป็นส้มโอที่มีขนาดผลใหญ่ที่สุด
ซึ่งส้มโอเองก็มีจุดเด่นจากตัวของมันเองอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดการประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมที่ดีเท่านั้น ถ้าเรามีทั้งสองเรื่องเข้ามาประสานงานด้วยแล้ว ในอนาคตส้มโอไทยอาจยังคงไปได้อีกไกล ขณะนี้ส้มโอยังส่งออกแค่ในประเทศจีน และประเทศเนเธอร์แลนด์ เท่านั้น ซึ่งมาจากพื้นที่ที่มีน้อยสำหรับการ ปลูกส้มโอ ในประเทศไทยนั่นเอง และที่ขาดไปในส่วนของภาคการเกษตรเห็นทีจะเป็นในส่วนของการสานต่ออย่างสิ้นเชิงของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มักนิยมเข้าทำงานอุตสาหกรรมแรงงานมากขึ้นด้วย
แม้การเกษตรไทยในความคิดของคนยุคใหม่จะเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคงนัก แต่ก็เป็นอาชีพที่ยั่งยืน และน่าภาคภูมิใจสำหรับคนไทยด้วยกันเอง เกษตรกรไทยจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เป็นทั้งแหล่งอาหารให้กับคนทั้งโลก เป็นอาชีพที่จะอยู่คู่กับเกษตรกรไปตลอดทั้งชีวิต ไม่มีการไล่ออก ไม่มีการปลดออก มีแต่การพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ และจะยังพัฒนาต่อไปในอนาคต
หากเกษตรกรท่านใดสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้จาก คุณสานิต เชาวน์ดี 161 ม.2 ต.โคกปีบ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี 25190 โทร.086-147-1161