“มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจ 1 ใน 5 ตัว ที่รัฐบาลส่งเสริม เพราะเป็นพืชพลังงาน และพืชอาหาร ปีนี้ผลผลิตมันสำปะหลังราคาดี ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกมันสำปะหลังมากขึ้น แต่เกษตรกรบางคนยังไม่มีองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการปลูกมันสำปะหลัง การบุกเบิกตั้ง บริษัท อุตรดิตถ์อุตสาหกรรมการเกษตร จำกัด แม้ผลผลิตมันในพื้นที่ยังมีไม่เพียงพอ แต่มาตั้งเพื่อรองรับผลผลิต ลดความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรด้านราคาได้ในระดับหนึ่ง”
ด้วยประสบการณ์ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ ในธุรกิจด้านการรวบรวมผลผลิตมันสำปะหลัง และต่อยอดเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นมันเส้นและมันบด ภายใต้การจดทะเบียนการค้าในนาม “ทิพย์ธันวา” โดยมี คุณกิตติพงษ์ จิตชยานนท์กุล หรือ “เสี่ยยิ่ง” ทายาทรุ่นที่ 2 เป็นผู้สานต่อกิจการต่อจากครอบครัว เดิมทีนั้นลานมันแห่งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร แล้วหันมารับซื้อผลผลิตไปส่งให้กับผู้แปรรูปในพื้นที่
ปัญหาและอุปสรรคในการทำลานมัน
ต่อมาก็ได้ขยับขึ้นมาทำธุรกิจลานมันขนาดเล็กนานกว่า 20 ปี ในระหว่างการทำธุรกิจตรงนี้ก็ได้พบเจออุปสรรคและปัญหามากมาย เนื่องจากสมัยก่อนอุปกรณ์และเครื่องมือการทำลานมันไม่ค่อยมี เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีรถบรรทุก การรับซื้อผลผลิตจึงต้องบรรทุกตาชั่งเข้าไปในไร่ พร้อมกับบรรทุกผลผลิตกลับออกมา
เกษตรกรยังใช้แรงงานเป็นหลัก เครื่องมีอัตราการโม่/ชั่วโมง/ตัน/ค่อนข้างน้อย กิจการมีการขยายตัวขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้เงินทุนในการหมุนเวียนธุรกิจเป็นหลัก หลังจากคุณกิตติพงษ์เข้ามาดูแลกิจการได้ปรับเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินธุรกิจลานมัน โดยการนำเงินธนาคารเข้ามาเสริมในธุรกิจเพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น นำมาสู่การขยายธุรกิจลานมันเพิ่มเป็น 2 แห่ง และจุดแปรรูป 2 แห่ง ในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร ที่มีการเติบโต 10-20% ต่อปี
การผลิตและการแปรรูปมันสำปะหลัง จากการ รับซื้อหัวมันสด
คุณกิตติพงษ์ยอมรับว่าเข้ามาสานต่อธุรกิจจากครอบครัวนาน 10 กว่าปี เป็นการดำเนินธุรกิจในลักษณะด้านการตลาด รับซื้อหัวมันสด เข้าสู่กระบวนการโม่ ทำเป็นมันเส้น และต่อยอดธุรกิจเป็นมันบดมาจนถึงทุกวันนี้ จากประสบการณ์ตลอดการดำเนินธุรกิจ
ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ปลูก ผู้รวบรวบ และผู้แปรรูป จะเห็นว่าหัวมันสดที่ดี มีแป้งดี เมื่อผลิตเป็นมันเส้นออกมาจะได้ในเกณฑ์ที่ต้องการ คือ 430-450 กก./1 ตันหัวมันสด แต่ถ้าหัวมันสดแป้งไม่ดี มันเส้นที่ได้ก็จะต่ำลงไป การเช็คแป้งไม่ดีอาจทำให้เสี่ยงต่อการขาดทุนได้ เพราะบางทีเกษตรกรไม่สนใจ เน้นปริมาณหัวมันสดต่อตัน รายได้ต่อตันก็เพียงพอ
แต่เมื่อนำไปแปรรูปเป็นมันเส้น จะขาดทุน หรือกำไร ก็เรื่องของผู้ประกอบการ แต่ในความเป็นจริงผู้ประกอบการก็ต้องคำนึงถึงเรื่องแป้งในการรับซื้อด้วย เนื่องจากมีผลต่อการแปรรูป ราคารับซื้อผลผลิตแต่ละช่วงจึงมีขึ้น-ลงตามเปอร์เซ็นต์แป้งเป็นหลัก “บางทีเกษตรกรผลผลิตยังไม่เต็มที่ สร้างแป้งยังไม่ดี อายุไม่ถึง 7-8 เดือน ก็ขุดมันอ่อนมาขาย แป้งมันก็ไม่ได้ เรื่องราคาก็เป็นกระบวนการด้านการตลาดแต่ละช่วงเวลา เราจะรับซื้อตามราคาตลาด เอาราคาตลาดเป็นเกณฑ์อยู่แล้ว” เสี่ยยิ่งให้เหตุผลในการดำเนินธุรกิจในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายมันเส้น และมันบด
โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 3-4 หมื่นตันหัวมันสด/ปี สามารถผลิตเป็นแป้งมันได้ 430-450 กก./ตันหัวมันสด หรือประมาณ 2 หมื่นกว่าตันแป้งมัน/ปี ผลผลิตที่ได้ ทั้งมันเส้น และมันบด จะถูกจำหน่ายให้กับลูกค้าในกลุ่มเอทานอล อาหารสัตว์ และผู้ส่งออก ในพื้นที่ภาคกลางเป็นหลัก ตลาดยังมีความต้องการที่สูง แปรรูปออกมาแล้วสามารถจำหน่ายได้ทั้งหมด ภายใต้กลไกการค้าแบบเสรี ที่มีราคาถูก และราคาแพงบ้าง
การสร้างลานตากมัน
ส่วนการก่อตั้ง บริษัท อุตรดิตถ์อุตสาหกรรมการเกษตร จำกัด ขึ้นมาบนเนื้อที่กว่า 300 ไร่เศษ แบ่งเป็นตัวโรงงานราว 100 กว่าไร่ ในพื้นที่ ต.น้ำพี้ อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ นั้น ต้องย้อนไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เสี่ยยิ่งเล็งเห็นว่า จ.อุตรดิตถ์ มีลานมันชุมชนจำนวนมากก็จริง แต่ไม่ค่อยไม่มีจุดรวบรวมผลผลิตขนาดใหญ่ที่ได้มาตรฐานอย่างนี้
ส่วนใหญ่จะเป็นลานขนาดเล็ก มีพื้นที่เพียง 10 ไร่ เพื่อรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรส่งขายให้กับผู้แปรรูปใน จ.กำแพงเพชร พิษณุโลก และนครสวรรค์ ที่จะต้องบวกค่าขนส่งเข้าไปด้วย เมื่อผลผลิตแต่ละพื้นที่ออกมาปริมาณมาก เกษตรกรขุดมันพร้อมๆ กัน จึงส่งผลให้ราคาผลผลิตตกต่ำ
เนื่องจากลานมันมีพื้นที่จำกัด แปรรูปไม่ทัน ถ้าเอามันมาหมักไว้ มันเน่าขึ้นมา เวลานำไปแปรสภาพน้ำหนักจะลดลงมาก บางทีพ่อค้ามีลานตากไม่เพียงพอ รองรับผลผลิตทั้งหมดไม่ได้ ซื้อมาก็เน่าเสีย พ่อค้าจึงต้องกดราคารับซื้อลงมาเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เพราะพ่อค้าส่วนใหญ่ยังต้องใช้ลานตาก ต้องพึ่งธรรมชาติ
อีกทั้งเครื่องอบมันขณะนี้ยังมีราคาแพง จำนวนการอบต่อรอบ ต่อวัน ยังมีปริมาณน้อย ยังอบมันในปริมาณมากต่อวันไม่ได้ การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมยังไม่ชัดเจน จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งบริษัทขึ้นเป็นแห่งแรก ที่มีจุดเด่นด้านภูมิศาสตร์ และที่ตั้ง เพราะอยู่ใกล้กับชุมชน การแข่งขันน้อย ลดการขนส่งได้ ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ไม่ให้ราคาตกต่ำมากจนเกินไป สามารถรองรับผลผลิตจากเกษตรกรได้ในปริมาณมากต่อวัน เพราะมีลานตากขนาดใหญ่ และนำผลผลิตเข้าสู่การแปรรูปได้ภายในที่เดียวกัน
โดยเสี่ยยิ่งได้ร่วมกับเครือข่ายลานมัน สกต.ลานมันสหกรณ์ และลานมันชุมชนของหมู่บ้าน ที่นำมาซึ่งผลผลิตเพื่อการแปรรูปดังกล่าว อีกทั้งการรับซื้อมันสำปะหลังส่วนใหญ่จะเป็นช่วงที่ไม่ค่อยมีฝน ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม-เมษายนเป็นหลักที่สามารถโม่มันตากได้ดี
ยกเว้นในช่วงรอยต่อของต้นฝนกับหน้าร้อนจะมีฝนลงมา อาจทำให้ผลผลิตเปียกเสียหายบ้าง เพราะเก็บไม่ทัน แต่ผลผลิตสามารถนำมาตากใหม่ได้ แต่น้ำหนักจะเบาลง มีสีคล้ำ และอาจจำหน่ายได้ในราคาที่ต่ำลง ขณะที่ลานมันยังจำเป็นต้องพึ่งระบบธรรมชาติอยู่ จึงต้องแสวงหาแนวทางป้องกันด้วยการติดตามพยากรณ์อากาศอย่างต่อเนื่อง อาจจะตากมันช่วงเช้า และเก็บรวบรวมไว้ก่อนในช่วงเย็น ต้องเก็บให้ทัน เพื่อไม่ให้ผลผลิตเสียหาย ที่มีผลต่อราคา
การเก็บเกี่ยวผลผลิตมันสำปะหลัง
แน่นอนว่าการปลูกมันสำปะหลัง การดูแลค่อนข้างง่าย ภาครัฐส่งเสริม ราคาผลผลิตค่อนข้างดี แต่เกษตรกรปลูกมันสำปะหลังยังให้ผลผลิตที่น้อยมาก ทำแล้วไม่ค่อยเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายออกมาแล้ว เพราะรายได้สูญเสียไปกับกระบวนการจัดการแต่ละปี
อีกทั้งเกษตรกรที่นี่เพิ่งเริ่มต้นปลูกมันได้เพียง 5-6 ปี ต่างจากเกษตรกรที่ จ.กำแพงเพชร ที่ปลูกมันสำปะหลังมานาน ผลผลิตที่นี่เพียง 3-4 ตัน/ไร่/ปี หากเป็นมันอายุ 2 ปี จะให้ผลผลิตเต็มที่ไม่เกินไร่ละ 6 ตัน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากเกษตรกรปลูกมันพันธุ์ที่ไม่ค่อยดี พันธุ์ไม่มีแป้ง ไม่เป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการ และตลาด มีระยะการปลูกถี่ พื้นที่ปลูกไม่มีการฟื้นฟูดิน จนดินเสื่อม เสี่ยยิ่งจึงมองว่าหากช่วยให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ในการปลูกมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตต่อไร่ขึ้นมาจะเป็นสิ่งที่ดี เกษตรกรจะลืมตาอ้าปากได้
การทำแปลงสาธิตปลูกมันสำปะหลัง บนเนื้อที่ 20 ไร่
จึงเป็นที่มาของการจัดทำ “แปลงสาธิต” ภายในโรงงานแห่งนี้ บนเนื้อที่เบื้องต้นก่อน 20 ไร่ แบ่งเป็นแปลงสาธิตการปลูกมันสำปะหลังด้วยระบบน้ำหยด 10 ไร่ และระบบเทวดา 10 ไร่ เพื่อเปรียบเทียบผลผลิต โดยจะมีการขยายพื้นที่แปลงสาธิตเพิ่มเป็น 100 กว่าไร่ ในฤดูกาลถัดไป เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกษตรกรเกิดความสนใจในอาชีพ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาระบบการปลูกมันสำปะหลังให้มีประสิทธิภาพ
ภายใต้องค์ความรู้ที่ดี สายพันธุ์ดี การจัดการดี ระบบดี และผลผลิตที่ดี เพื่อยกระดับผลผลิตต่อไร่ให้เพิ่มขึ้นเป็น 8-10 ตัน/ไร่ ให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ แป้งดี เป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการ และตลาด ทั้งมันเส้นและมันบด เกษตรกรกินดี อยู่ดี มีความสุข ผู้ประกอบการได้ผลผลิตที่ดี เพื่อความมั่นคงด้านวัตถุดิบ เป็นการได้ประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย
“อีกหนึ่งที่มาของแปลงสาธิตนี้ เพราะจริงๆ ผมตั้งโรงงานนี้ขึ้นมาด้วยการสนับสนุนจากธนาคาร ธ.ก.ส. อุตรดิตถ์ โดยท่าน ผอ.สมบรูณ์ นาคบัว ท่านบอกกับผมว่าอยากจะให้ช่วยเหลือเกษตรกร ถ้าเป็นไปได้จะให้ผมทำแปลงสาธิต เพื่อให้เกษตรกรได้มาเรียนรู้เพื่อไปปรับใช้ในการปลูกมันสำปะหลังของตนเองได้ ผมเลยคิดว่าผมน่าจะทำแปลงสาธิตขึ้นมา อย่างน้อยเกษตรกรได้มาเรียนรู้ เหมือนเป็นการคืนกำไรให้กับเกษตรกรเลยก็ว่าได้” เสี่ยยิ่งเผยถึงส่วนลึกของที่มาแปลงสาธิตครั้งนี้
ทั้งนี้จะมีการเชิญผู้นำชุมชน เกษตรกรในพื้นที่ และบริเวณใกล้เคียง ที่สนใจเข้าร่วมการอบรมให้ความรู้ ณ แปลงสาธิตภายในโรงงานเป็นครั้งแรก และจะมีการติดตามผลอย่างเป็นระยะ เพื่อให้เห็นผลเป็นที่ประจักษ์ เกษตรกรเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ มีผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผลผลิตในพื้นที่มากขึ้น มียอดซื้อมากขึ้น เป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
อีกทั้งการตั้งโรงงานที่นี่ยังสามารถรองรับผลผลิตจากทั้งในพื้นที่ บริเวณจังหวัดใกล้เคียงในราคายุติธรรม เพื่อลดค่าขนส่ง และสามารถรองรับผลผลิตจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่กระบวนการผลิต ทั้งมันเส้น และการอบเมล็ดพันธุ์ ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากโรงงานอยู่ติดกับเขตติดต่อชายแดนลาว ที่เรียกว่า “ด่านภูดู่” ซึ่งห่างออกไปประมาณ 140 กิโลเมตร ที่จะกลายเป็นจุดผ่านถาวร เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ไปยังด่านภูดู่ ขณะที่ลาวมีผลผลิต ทั้งมันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในปริมาณมากต่อปี
การให้ความรู้ในการ รับซื้อหัวมันสด และ ทำมันสะอาด
นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีจุดเด่นมากมายที่สามารถแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ ทั้งการส่งเสริมจากภาครัฐ โดยสมาคมฯ จะมีการรับนโยบายเพื่อเข้าสู่การพัฒนา ทั้งการส่งเสริมเกษตรกรให้เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เน้นมันสะอาดเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับต่างประเทศ พยายามสื่อสารลงให้ถึงผู้ประกอบการให้เร็วที่สุด
ใช้องค์ความรู้ด้านการผลิตมันสำปะหลัง เกษตรกรหัวก้าวหน้า ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก ที่มีศักยภาพ มีท่าเรือในการขนส่ง ขณะที่ประเทศอื่นมีวัตถุดิบมากจริง แต่ด้านการตลาด การแปรรูป การส่งออก ประเทศไทยมีประสิทธิภาพกว่า สู้เมืองไทยไม่ได้ การติดอาวุธทางปัญญา พัฒนาองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร ก็เพื่อให้เกษตรกรไทยเพิ่มผลผลิต ผลผลิตมีคุณภาพ สามารถอยู่ได้ อย่างน้อยเกษตรกรจะต้องไม่แพ้ชาติอื่น ยกระดับเกษตรกรไทยให้ดีก่อนจะไปส่งเสริมประเทศอื่น
“การทำมันสะอาดต้องเริ่มที่เกษตรกรเลย ถ้าเกษตรกรทำมันดีมาส่งลาน ตัดเหง้าออก ไม่มีดินปน ถ้าหัวมันสะอาดก็ไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดมาก แต่ที่ผ่านมาด้วยความที่เกษตรกรอาจจะไม่รู้ หรือเพราะมีระบบการจ้างเหมา อยากได้เยอะ เฉาะมันปนดินมาส่งลาน ลานทำมันออกมาก็ไม่สะอาด ปนดินเยอะ ก็จะเป็นวัฎจักรอย่างนี้ตลอดมา การโม่อย่างนี้เอาไปขายไม่ได้ ทำให้คุณภาพมันเส้นต่ำ ตอนนี้ลานมันส่วนใหญ่จึงต้องติดเครื่องร่อนเพื่อร่อนดินออกก่อนโม่ ทำเป็นมันเส้น และทำมันบด เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ทั้งในและต่างประเทศ”
สอบถามเพิ่มเติม คุณกิตติพงษ์ จิตชยานนท์กุล หรือ “เสี่ยยิ่ง” บริษัท อุตรดิตถ์อุตสาหกรรมการเกษตร จำกัด 88/99 หมู่ 6 ต.น้ำพี้ อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ 53230 โทร.055-479-948, 087-732-1144 อีเมล์ [email protected] รับซื้อหัวมันสด รับซื้อหัวมันสด รับซื้อหัวมันสด รับซื้อหัวมันสด