การเลี้ยงไก่เนื้อกับบริษัท แบบประกันราคา
การเลี้ยงไก่เนื้อแบบประกันราคา เริ่มเป็นธุรกิจที่ผู้คนหันมาทำกันมากขึ้น เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น เงินปันผลเร็ว และได้เงินเป็นหลักแสนแค่ภายในระยะเวลาเพียง 45 วัน แต่ถ้ามองอีกด้านก็เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากเช่นกัน เนื่องจากไก่เป็นสัตว์ที่ป่วยง่าย ตายเร็ว ถ้าผู้ที่ทำธุรกิจไม่มีความรู้มากพอที่จะดูแล ก็จะทำให้เกิดการสูญเสียที่มากมาย จนล้มเจ็บหนักได้เช่นกัน
ธุรกิจการเลี้ยงไก่เนื้อแบบประกันราคาเริ่มเป็นที่รู้จัก และมีการขยายการเลี้ยงที่มากขึ้น เนื่องจากเป็นอีกทางเลือกที่สามารถสร้างกำไรให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้ดี รูปแบบการเลี้ยงที่เกษตรกรไม่ต้องดิ้นรนหาตลาดในการขายเอง การเลี้ยงแบบประกันราคาข้อดีมันจะอยู่ที่ผู้เลี้ยงประเภทนี้จะต้องมีการทำสัญญาไว้ล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรกับบริษัทผู้ประกัน ข้อผูกมัด คือ เกษตรกรต้องซื้อลูกไก่ อาหารไก่ และยา วัคซีนต่างๆ ทั้งหมดจากบริษัทผู้ประกันเท่านั้น
โดยห้ามแอบเอาอาหารเสริมอย่างอื่นเข้ามาใช้ภายในฟาร์มเด็ดขาด หรือการจำหน่ายจ่ายแจกก็ห้ามทำนอกเหนือกับบริษัท แต่ในด้านการลงทุนภายในฟาร์ม อย่าง วัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ผู้เลี้ยงต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบเองทั้งหมด การเลือกเลี้ยงประกันราคาประเภทนี้ถือว่ามีความเสี่ยงน้อย และมีรายได้ค่อนข้างมาก เกษตรกรจะไม่ประสบปัญหาขาดทุนในกรณีที่มีปัญหาราคาไก่เนื้อตกต่ำ แต่จะมีกำไรไม่มากในช่วงเวลาที่ไก่เนื้อราคาขึ้นสูง เนื่องจากทำประกันไว้ที่ราคาก่อนหน้านั้นเท่าไหร่เท่านั้น
คุณอรรณพ สุวรรณ เลี้ยงไก่เนื้อ จ.กาญจนบุรี
ผู้ที่รู้จักปรับตัวคือผู้ที่อยู่รอด เป็นทฤษฎีที่นำมาปฏิบัติได้จริงเสมอมา อย่างเช่น คุณอรรณพ สุวรรณ เจ้าของธุรกิจพรชัยฟาร์ม ที่เรียนจบสาขาสัตวบาล เมื่อจบการศึกษาก็เข้าทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่าง ซีพี เป็นเวลา 4 ปี ก่อนจะผันตัวมาเป็นเจ้านายตนเอง โดยการตั้งฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อดำเนินการเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2540 คุณอรรณพเล่าว่า
“ ที่ตัดสินใจลาออกมาเลี้ยงเอง เพราะผมนั้นอยากจะกลับมาอยู่ใกล้ๆ บ้าน ประกอบกับที่บ้านมีที่ดินอยู่ทั้งหมด10 ไร่ แล้วผมก็เรียนสัตวบาลมา มีความรู้จากที่เรียนมา พร้อมกับประสบการณ์จากการทำงานในด้านนี้ และบวกกับความชอบเลี้ยงสัตว์ จึงเลือกที่จะเลี้ยงไก่ ช่วงแรกตนเลี้ยงไก่เนื้อแบบยกกรงสูง ด้านล่างเลี้ยงปลารวม ต่อมาช่วงที่เกิดโรคไข้หวัดนกระบาดตนจึงต้องปรับตัวใหม่ จากเลี้ยงแบบเดิมๆ ก็เข้าร่วมโครงการกับ SME เพื่อปรับปรุงโรงเรือนแบบเปิดมาเป็นโรงเรือนแบบปิดระบบอีแวป”
ฟาร์มไก่เนื้อพรชัย อยู่ที่18/5 หมู่ 4 ตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เส้นทางการเลี้ยงไก่เนื้อแบบประกันราคา ซึ่งจะเป็นแบบมีบริษัทแม่ หรือคนกลาง ที่จัดการในเรื่องการหาพันธุ์ไก่ อาหาร ยา วัคซีน วิตามิน และตลาด ให้กับฟาร์มลูกเล้า คุณอรรณพใช้งบประมาณในการสร้างโรงเรือนเริ่มแรก 3 โรง โรงเรือนขนาด 16 x120 เมตรใช้เงินเก็บส่วนตัวไป 2 ล้านบาท กู้ SME เพิ่มอีก 4 ล้าน 5 แสนบาท รวมๆ แล้วเงินทั้งหมด 6 ล้าน 5 แสนบาท
อดีตเคยผ่านการเลี้ยงไก่เนื้อแบบประกันราคากับหลายๆ บริษัทมาก่อน อาทิเช่น ไทยฟู้ดส์ ซีพี สหฟาร์ม เบทาโกร และโกลเดนท์ จนถึงปัจจุบันเมื่อคำนวณความคุ้มค่าในด้านต่างๆ ออกมาแล้ว จึงเลือกที่จะเลี้ยงกับ บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สาเหตุที่สุดท้ายแล้วเลือกที่จะเลี้ยงกับบริษัท ไทยฟู้ดส์ฯ เนื่องจากฟาร์มพรชัยตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานอาหารสัตว์ ราคาการขนส่งด้านต่างๆ จึงถูกกว่าที่อื่น ประสบการณ์ทางด้านการเลี้ยงไก่เนื้อตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้เป็นเวลา 21 ปีแล้ว เรียกได้ว่าคุณอรรณพมีประสบการณ์มาอย่างโชกโชนเลยทีเดียว
การบริหารจัดการโรงเรือนไก่เนื้อ
ในด้านการจัดการภายในฟาร์มพรชัย สายพันธุ์ไก่เนื้อที่ทางบริษัทส่งมาให้ก็จะเป็นไก่เนื้อพันธุ์อาร์เบอร์เอเคอร์ส (Arbor Acres) หรือไก่เนื้อพันธุ์อาร์เบอร์ เอเคอร์ส พลัส คุณสมบัติของไก่พันธุ์นี้จะมีอกที่ใหญ่ น่องขาใหญ่ ชิ้นส่วนอื่นๆ ใหญ่ คุณภาพสร้างเนื้อดี
ในส่วนของโรงเรือน 1 โรง จุไก่ได้ 22,000 ตัว รวม 3 โรงเรือน จะมีไก่ทั้งหมด 66,000 ตัว เป็นระบบปิดอีแวป การให้อาหารเป็นระบบออโต้ฟีด เริ่มต้นการเลี้ยงต้องมีการเตรียมฟาร์ม ทำความสะอาดโรงเรือนทุกจุด บริเวณรอบๆ โรงเรือนต้องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ โรยปูนขาวทั้งภายในและนอกบริเวณโรงเรือนทั้งหมด แล้วลงแกลบใหม่ปูพื้นในโรงเรือน พ่นน้ำยาฆ่าเชื้ออีกรอบ แล้วจึงปิดโรงเรือนก่อนลงลูกไก่ 2-3 วัน เพื่อเตรียมการเลี้ยงลูกไก่
ระบบการเลี้ยง
ระบบการเลี้ยงที่ฟาร์มจะเป็นแบบ all-in, all-out system คือ การที่จะเลี้ยงไก่รุ่นเดียวกัน อายุเท่ากัน ภายในโรงเรือนเดียวกัน และขายออกในเวลาเดียวกัน (การนำเข้าพร้อมกัน-การนำออกพร้อมกัน) ซึ่งเป็นการควบคุมดูแลโรคต่างๆ ได้ง่าย การดูแลความสะอาดในโรงเรือน และอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมกับการพักโรงเรือน โดยเฉลี่ยทางฟาร์มพรชัยจะพักเล้า 30 วัน เพื่อตัดวงจรชีวิตของเชื้อโรคต่างๆ ที่สะสมอยู่ในฟาร์ม ระหว่างที่ทำการเลี้ยงไก่ก่อนที่จะนำไก่เนื้อรุ่นใหม่เข้ามาเลี้ยง
การให้อาหารและน้ำไก่เนื้อ
เมื่อถึงเวลาทางบริษัทจะเคลื่อนย้ายลูกไก่จากโรงฟักใส่กล่องมาประมาณกล่องละ 80 ตัว เป็นลูกไก่ที่ผ่านการฉีดวัคซีนมาแล้วทั้งหมด ทางฟาร์มก็จะนำเข้าโรงเรือนที่เตรียมไว้ คุณอรรณพเล่าว่า “ลูกไก่จะกกอุณหภูมิที่ 35 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-3 วันก็จะเหลือ 33-34 องศาเซลเซียส พอได้ 6-7 วัน ก็จะออกกกเลย เมื่อเลี้ยงได้ซัก 7-14 วัน ทางบริษัทจะมีวัคซีนส่งมาให้ทางฟาร์มละลายน้ำให้ไก่กิน น้ำที่ใช้ในฟาร์มเป็นน้ำบาดาลเท่านั้น
ในส่วนของอาหารไก่เล็กจะต้องมีถาดเล็กสีเหลืองเพื่อฝึกการกิน เสริมด้วยออโต้ฟีดนิดหน่อย เมื่อครบ 10 วัน ก็จะเก็บถาดออกแล้ว ให้เป็นระบบออโต้ฟีดอย่างเดียว ไก่ 0-19 วัน กินอาหารเบอร์ 1 ไก่ 21 วัน กินอาหารเบอร์ 2 ไก่ 35-43 วัน กินอาหารเบอร์ 3 ซึ่งในช่วงเช้าก็จะมีการตรวจดูความชื้น ตรวจน้ำ และอุณหภูมิภายในโรงเรือน”
การดูแลความสะอาดขณะที่เลี้ยงไก่ก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ทางฟาร์มมีการจ้างคนงานให้ช่วยดูแลโรงเรือนละ 1 คน โดยมีคุณอรรณพคอยดูแลควบคุมด้วยตนเองอยู่ตลอดเวลา แกลบที่ปูพื้นทางฟาร์มจะมีการกลับเอาข้างล่างขึ้นมาข้างบนประมาณทุกๆ 10 วัน เพื่อเป็นการกลับแกลบที่มีขี้ไก่ลงด้านล่าง เมื่อผ่านไปประมาณ 20-25 วัน ก็จะเอาแกลบใหม่มาเติมเพื่อให้แกลบร่วนอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีการกลับแกลบ หรือปล่อยให้ชื้น เพราะจะทำให้เกิดแก๊สแอมโมเนียภายในโรงเรือนเป็นจำนวนมาก ซึ่งพัดลมไม่สามารถระบายออกจากโรงเรือนได้ทัน อาจเป็นสาเหตุทำให้ไก่ป่วยได้
อุปกรณ์ที่ใช้ในโรงเรือนไก่เนื้อ
ในการจัดการโรงเรือนระบบอีแวปนั้น จะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ควบคุมของบริษัท สค็อฟ เอเชีย (SKOV ASIA) จำกัด เป็นตัวเข้าไปควบคุมการทำงาน การระบายอากาศ โดยการตั้งระบบการดูแลยาวเป็นอาทิตย์ ตัวเครื่องมีการแสดงสัญญาณต่างๆ ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นภายในฟาร์มเครื่องจะมีระบบเซนเซอร์คอยวัด และแจ้งเตือนอัตโนมัติ คอยควบคุมทุกอย่าง เช่น อุณหภูมิ พัดลม การเดินน้ำ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อนชื้น เพราะถ้าอุณหภูมิค่อนข้างสูงจะทำให้ไก่กินอาหารน้อยลง การเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตลดลง ความสมบูรณ์ของพันธุ์ลดลง อัตราการตายก็สูงขึ้น
คุณอรรณพได้เรียนรู้การซ่อมบำรุงอุปกรณ์ภายในฟาร์มด้วยตัวเอง เนื่องจากบางอย่างเราแค่สั่งซื้ออุปกรณ์บางตัวเข้ามาเปลี่ยนเอง ทำได้ง่าย รวดเร็ว และประหยัดมากกว่า อุปกรณ์ที่ใช้ในโรงเรือนหลักๆ จะเป็นของ บริษัท ท็อป โปรดักส์ ซัพพลาย จำกัด (TOP PRODUCTS SUPPLY) เนื่องจากเคยไปดูของกลุ่มเพื่อนๆ ที่ทำฟาร์มเหมือนกัน ใช้แล้วน่าพอใจดี ส่วนในเรื่องของราคาก็ถูก การดูแลดี รวดเร็ว เพราะอยู่ใกล้โรงงาน อีกอย่างหนึ่งอุปกรณ์สำคัญที่ต้องมีไว้ภายในฟาร์ม คือ “เครื่องปั่นไฟ” เนื่องจากไฟคือหัวใจของการเลี้ยงไก่ เพราะฉะนั้นห้ามไม่ให้ไฟดับเด็ดขาด จึงต้องมีเครื่องปั่นไฟไว้ในฟาร์มที่พร้อมจะทำงานอยู่ทุกเวลา
ปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงไก่เนื้อ
1.มูลไก่ผสมแกลบ หลังจากที่ปลดไก่ออกไปหมดแล้ว จะมีชาวสวน หรือผู้รับเหมา เข้ามาติดต่อเพื่อซื้อเอาไปทำปุ๋ยอินทรีย์ อยู่ที่ราคาโรงเรือนละ 5,000-6,000 บาท
2.สำหรับไก่ตายจะใช้วิธีโดยการเผา เพื่อไม่ให้ไก่ตัวอื่นติดเชื้อ และเกิดการสูญเสียไก่เพิ่มอีก ส่วนอัตรารอดในฟาร์ม ไก่ของเราไม่ค่อยตายมากนัก ถ้าจะมีก็แค่ 6-10 ตัว ต่อ 1 รอบการเลี้ยงเท่านั้น ซึ่งเป็นการเหยียบกันตายมากกว่า ส่วนไก่ที่ตายเราก็จะนำไปต้มเพื่อเป็นอาหารสำหรับเลี้ยงปลาดุก
ปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางด้านวัคซีนที่ดีอยู่มาก จึงไม่ค่อยเกิดปัญหา เนื่องจากฟาร์มพรชัยอยู่ห่างไกลจากชุมชน จึงไม่มีปัญหาเรื่องโรคระบาด การสูญเสียส่วนมากจะเป็นช่วงลูกไก่ที่ออกมาจากโรงฟัก ลูกไก่อ่อนแอ มาอยู่ได้อาทิตย์หนึ่งก็ตายเป็น 100 ตัว เมื่อทางฟาร์มแจ้งกลับไปก็จะมีการเข้ามาดูแล ซึ่งทางโรงฟักก็จะทำการเคลมคืนเงินกลับมาให้ และอีกความสูญเสียที่เกิดกับไก่ เช่น อาการคออ่อน ข้อขาเสีย หรืออาการพิการที่เกิดขึ้นในช่วงการเลี้ยง ไก่พวกนี้จะถูกแยกออกนำมาเลี้ยงอีกส่วนหนึ่งของโรงเรือน
รายได้จากการเลี้ยงไก่เนื้อแบบประกันราคา
ตอนนี้เลี้ยงไก่เนื้อแบบประกันราคาอยู่ที่ 38 บาท/น้ำหนักตัวไก่/กิโลกรัม รายได้ที่หักจากค่าลูกไก่ ค่าอาหาร ค่ายา ค่าแรงงาน และค่าไฟ ซึ่งไก่ 1 ตัว เฉลี่ยใช้ไฟประมาณ 2.50 บาท รายได้เมื่อหักค่าใช้จ่าย ค่าภาษี ทุกอย่างแล้ว จะเหลือรุ่นหนึ่งประมาณ 500,000-600,000 บาท ต่อ 1 รอบการเลี้ยง (โดยเฉลี่ยใช้การเลี้ยงประมาณ 42-45 วัน)
แนวโน้มที่จะขยายฟาร์มไก่เนื้อเพิ่มขึ้น คงไม่ขยายเพิ่มแล้ว คิดว่าเลี้ยงแค่นี้รายได้ก็พอต่อครอบครัวแล้ว แต่อาจมีการลงทุนไปทำธุรกิจด้านอื่น เช่น เปิดร้านกาแฟ พร้อมกับขายผักไฮโดร เพราะตอนนี้ทางครอบครัวเริ่มปลูกผักไฮโดรอยู่แล้ว และเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของครอบครัวร่วมกันกับพี่สาว การเลี้ยงไก่เนื้อกับบริษัท การเลี้ยงไก่เนื้อกับบริษัท
ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจจะเลี้ยงไก่เนื้อ
คุณอรรณพฝากถึงเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จะหันมาเลี้ยงไก่เนื้อแบบนี้ว่า “อยากให้ไปศึกษาหาข้อมูลมาให้ดี เนื่องจากการเลี้ยงไก่เนื้อใช่แค่เลี้ยงอย่างเดียวแล้วจะอยู่รอด แต่การทำฟาร์มจะต้องอยู่กับมันตลอดเวลา ต้องศึกษา และจับจุดให้ได้ว่าในแต่ละเล้าต้องดูแลอย่างไร เพราะอากาศวันหนึ่งของบ้านเรามีหลายฤดู เดี๋ยวเช้าร้อน บ่ายฝน เย็นหนาว เราต้องเรียนรู้ให้มาก ทั้งการป้องกัน และการรักษาไก่ของเรา” การเลี้ยงไก่เนื้อกับบริษัท การเลี้ยงไก่เนื้อกับบริษัท
ปัจจุบันพันธุ์ไก่เนื้อได้มีการพัฒนาไปอย่างมาก ในอดีตประเทศไทยเราจะนำไก่พันธุ์พื้นเมืองมาเลี้ยงเป็นไก่เนื้อ จนต่อมามีการนำเข้าไก่เนื้อของต่างประเทศเข้ามาผสมสายพันธุ์ขึ้นมาใหม่ เพราะฉะนั้นพันธุ์ไก่เนื้อที่เลี้ยงในเมืองไทยแบ่งออกเป็น 2 พันธุ์ด้วยกัน คือ ไก่เนื้อพันธุ์แท้ และไก่เนื้อพันธุ์ลูกผสม ส่วนไก่เนื้อที่เลี้ยงเพื่อการค้าเนื้อไก่ตามฟาร์มต่างๆ ในประเทศไทย เป็นไก่เนื้อพันธุ์ลูกผสมทั้งหมด ไก่เนื้อลูกผสมที่มีชื่อในด้านการค้าแต่ละชื่อจะขึ้นอยู่กับบริษัทผู้ผลิตสายพันธุ์ไก่นั้นๆ อาทิเช่น พันธุ์อาร์เบอร์ เอเคอร์ส (Arbor Acres) พันธุ์รอส (Ross) พันธุ์คอบบ์ (Cobb) และพันธุ์ฮับบาร์ด (Hubbard) การเลี้ยงไก่เนื้อกับบริษัท การเลี้ยงไก่เนื้อกับบริษัท การเลี้ยงไก่เนื้อกับบริษัท
หากพี่น้องเกษตรกรท่านใดสนใจวิธีการเลี้ยง หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ คุณอรรณพ สุวรรณ ขอขอบคุณข้อมูล คุณอรรณพ สุวรรณ โทร.083-326-7688, 099-328-1567 18/5 หมู่ 4 ต.ม่วงชุม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี 7111