การเลี้ยงไก่เนื้อ
หลายคนเข้าใจว่าการทำธุรกิจฟาร์มในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งต้องเป็นเบี้ยล่างบริษัท ทั้งพันธุ์สัตว์ อาหารและเวชภัณฑ์ต่างๆ ล้วนแล้วต้องมีกำไรเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ต้องถามตัวเองด้วยว่าทำแล้วสามารถอยู่ได้ไหม ทำแล้วขาดทุน หรือมีกำไร และที่สำคัญมีทางเลือกมากน้อยเพียงใด ทุกอาชีพมีตลาดเป็นปัจจัยหลัก และเป็นตัวชี้วัดว่าธุรกิจจะดำเนินไปในทิศทางใด จริงอยู่ที่เกษตรกรบางรายคิดว่ามีทุนก็สามารถเลี้ยงเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งบริษัท แต่คงลืมคิดไปว่าผลผลิตที่ได้นั้นคุณมีตลาดรองรับหรือไม่?
ฉะนั้นการเลี้ยงไก่เนื้อคุณพร้อมที่จะสรรหาพันธุ์ไก่ และวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด ปลายข้าว หรือโรงผสมอาหาร หรือไม่ และสามารถเชือดไก่ครั้งละ 4-5 หมื่นตัว แล้วสามารถนำไปขายเองได้ทั้งหมดหรือไม่ หากไม่มีศักยภาพพอสำหรับสายป่านทางการตลาด การทำธุรกิจฟาร์มอาจเกิดความลำบาก ดังนั้นทุกอย่างต้องสอดคล้องกัน เพียงแค่ยอมรับและทำตามเงื่อนไขของบริษัทก็สามารถอยู่ได้ อยู่ที่คุณเลือก!!!
ดั่งฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ “ทนงฟาร์ม” ของ คุณธนวรรณ ชูเมือง เริ่มทำฟาร์มเลี้ยงไก่ จากฟาร์มเล็กๆ โรงเรือนทำด้วยไม้หลังคามุงด้วยสังกะสี เลี้ยงไก่เนื้อจำนวน 5,000 ตัว
คุณธนวรรณเล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำอาชีพเลี้ยงไก่เนื้อ“หลังจากที่เรียนจบด้านเกษตร ได้มีโอกาสทำงานในตำแหน่งสัตวบาลประจำฟาร์มสุกร ด้วยความสนิทสนมกับเจ้าของฟาร์มจึงทราบข้อมูลและผลกำไรในแต่ละเดือน จึงเกิดความคิดอยากมีอาชีพที่เป็นของตัวเอง” หลังจากนั้นได้ลาออกมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และช่วงนั้นบริษัท สหฟาร์ม จำกัดได้มีการหาลูกเล้าเพิ่มเพื่อขยายจำนวนไก่ ตนจึงเข้าร่วมโครงการ และเลี้ยงกับสหฟาร์มตั้งแต่นั้นมา โดยเลี้ยงหม่อนไหมควบคู่กับเลี้ยงไก่ได้ประมาณ 5 ปี โดยมีความรู้สึกว่าเลี้ยงไหมค่อนข้างเหนื่อย
เนื่องจากต้องปลูกและตัดใบหม่อนเพื่อนำมาเป็นอาหารให้แก่ตัวไหมทุกวัน ซึ่งมีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก จึงหยุดเลี้ยงและหันมาดูแลไก่เนื้อเพียงอย่างเดียว กลายเป็นอาชีพหลักจนถึงปัจจุบัน โดยมีการปรับปรุงโรงเรือนเรื่อยมา จนถึงช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดนก ทางกรมปศุสัตว์ได้แนะนำให้เลี้ยงในระบบควบคุมอุณหภูมิ (Evap) เพื่อสามารถควบคุมดูแลโรคได้ง่ายขึ้น
สภาพพื้นที่เลี้ยงไก่เนื้อ
ต่อมาได้ซื้อฟาร์มเพิ่มอีกแห่งหนึ่ง “ทนงฟาร์ม 2” มีโรงเรือน 2 หลัง ขนาด 13×100 ม. เดิมทีเป็นลักษณะเช่าเลี้ยง ในราคา 20,000 บาท/รุ่น พอเช่าไปได้ระยะหนึ่งจึงซื้อฟาร์มเป็นของตัวเอง โดยเงินส่วนหนึ่งก็เป็นผลกำไรมาจากฟาร์มที่เช่าเลี้ยงนั่นเอง
จนกระทั่งบริษัท สหฟาร์ม เกิดวิกฤตทางด้านการเงิน จึงเปลี่ยนมาเลี้ยงในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับ บริษัท เซ็นทาโกฟาร์ม จำกัดได้ประมาณ 2 ปี เป็นแบบประกันราคา แต่เป็นสัญญาการซื้อ-ขาย ปัจจุบันทนงฟาร์มมีโรงเรือนเลี้ยงไก่ทั้งหมด 4 หลัง
สายพันธุ์ไก่เนื้อ ไก่พันธุ์ รอส (Ross)
พันธุ์ที่เลี้ยงของเซ็นทาโกฟาร์มฯจะเป็น พันธุ์รอส (Ross) ส่วนสหฟาร์มจะเป็นพันธุ์คอบบ์ (Cobb) และฮับบาร์ด (Hubbard) ด้านความแตกต่าง พันธุ์รอสจะแข็งแรงกว่า อัตราการสูญเสียน้อยกว่า เลี้ยงง่ายโตเร็ว และทนต่อสภาพอากาศ แต่พันธุ์คอบบ์ถ้ามีฝนตกบ่อยๆ ไก่จะเป็นหวัดได้ง่าย มีอาการจามให้เห็น และข้อขาเสียค่อนข้างมาก เพราะโครงสร้างกระดูกจะเล็กกว่าพันธุ์รอส น้ำหนักจับเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 กก. และจับแบบ all in all out (ทั้งหมด)
การบริหารจัดการโรงเรือนไก่เนื้อ
ด้านการจัดการโรงเรือน การดูแลเอาใจใส่ ก็ไม่ยุ่งยาก ในแต่ละวันจะกลับแกลบในช่วงเช้า ตรวจดูความชื้น น้ำ และตรวจดูอุณหภูมิ ให้เหมาะสมกับช่วงอายุของตัวไก่ และสภาพแวดล้อมนอกฟาร์ม ถ้าเป็นไก่ที่เพิ่งลงใหม่ต้องมีการกกประมาณ 7-10 วัน หรือขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หากเป็นฤดูหนาวอาจต้องใช้ระยะเวลากกถึง 20 วัน ส่วนอุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 33°C และจะลดอุณหภูมิลงเรื่อยๆ ตามอายุของไก่
ในช่วงแรกของการลงไก่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด และให้ไก่มีสุขภาพแข็งแรง พอไก่อายุได้ประมาณ 25 วัน จะหยุดกลับแกลบ เพราะแกลบเริ่มแข็ง ด้านล่างจะเริ่มแฉะ ถ้ากลับแกลบต่อไปจะทำให้แก๊สที่อยู่ใต้แกลบลอยขึ้น ภายในโรงเรือนจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนหน้าติดคูลลิ่งแพด และช่วงกลางจะกักไก่ไว้แน่นกว่าช่วงหลัง เพราะอุณหภูมิท้ายโรงเรือนจะสูง ควรให้อยู่อย่างสบาย ไม่ต้องเบียดกันมาก
นอกจากนี้มูลผสมแกลบจะมีผู้รับเหมามาซื้อในราคา 15,000 บาท โดยผู้รับเหมาจะมาตักเองทั้งหมด จากนั้นจะล้างทำความสะอาดโรงเรือน รวมถึงอุปกรณ์เลี้ยงไก่ด้วย เมื่อถึงวันกำหนดลงไก่ อุปกรณ์ทุกอย่างต้องพร้อมสำหรับเลี้ยงไก่รุ่นต่อไป เช่น ต้องพ่นยาฆ่าเชื้อ ลงแกลบ กกแกลบ ส่วนแกลบจะซื้อกับพ่อค้าที่เอามาลงให้ประจำ เขาจะเอาแกลบลงและเกลี่ยให้ ในแต่ละโรงเรือนจะใช้แกลบประมาณ 7 ตัน ราคา 2,500 บาท/ตัน จากจังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี
ส่วนอุณหภูมิถือว่ามีผลต่อการเลี้ยงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่วงที่มีอากาศร้อนจะทำอุณหภูมิไม่ได้ตามที่ตั้งไว้ การปรับลดหรือควบคุมอุณหภูมิจะยาก เดิมทีทางฟาร์มมีปัญหาความชื้นในโรงเรือนไม่เท่ากัน ช่วงหน้าคูลลิ่งแพดจะเย็น แต่แกลบค่อนข้างชื้น ส่วนท้ายโรงเรือนจะมีอุณหภูมิสูง
ทางฟาร์มจึงแก้ไขด้วยการสเปรย์น้ำเล็กๆ ในบริเวณเล้า ให้พัดลมเป็นตัวพาละอองน้ำให้ทั่วถึง แต่จะมีปัญหาตรงที่เมื่อหยุดพ่นหมอกจะมีน้ำหยดตรงจุก ทำให้พื้นแฉะ และแกลบชื้นได้ จึงรื้อออก และติดสปริงเกลอร์บนหลังคาเพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายใน ซึ่งถือว่าช่วยลดอุณหภูมิได้ 1-2°C เพราะโรงเรือน ทนงฟาร์ม 1 ยังใช้ฝ้าเพดาน และผ้า PE ไม่เหมือนปัจจุบันที่ใช้ แอร์โรฟอยล์ ซึ่งต้นทุนก็จะแตกต่างกัน ด้านหลังคาทางฟาร์มยังคงเป็นกระเบื้อง ซึ่งโรงเรือนใหม่ๆ ก็จะเป็นหลังคาเมทัลชีทกันหมด
การบำรุงดูแลรักษาไก่เนื้อ
ตลอดระยะเวลาในการเลี้ยง 42 วัน ช่วงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ คือ ช่วง 1 สัปดาห์ ก่อนจับ เพราะไก่จะตัวโตเต็มเล้า “ถ้าไก่เริ่มต้นดีมาตลอด คือ ช่วง 7 วันแรก ก็สำคัญไม่แพ้กัน ถ้าเราดูแลไก่ได้ดี แข็งแรง ก็คือ เรามีต้นทุนที่ดีเริ่มอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ส่งต่อไปเรื่อยๆ จนสัปดาห์สุดท้ายก็จะดูแลเรื่องอุณหภูมิเท่านั้น แต่ถ้าเราดูแลไก่ไม่ดีตั้งแต่แรก ความเสียหายก็จะตามมา เช่น ไก่ก็จะอ่อนแอ ไม่ทนต่อสภาพแวดล้อม สรุปคือเริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
การกกก็อย่าให้ไก่หนาว หรือร้อนเกินไป ช่วงฤดูหนาวทางฟาร์มเคยกกถึง 20 วัน คือ เราจะไม่เปลืองค่าไฟฟ้า แต่จะเปลืองแก๊ส แต่ถ้าช่วงแรกปล่อยให้ไก่หนาว บางตัวมันทนไม่ได้ก็จะป่วยง่าย พอมันป่วยก็อาจจะลามไปติดตัวอื่น ความเสียหายก็จะตามมา ดังนั้นจะเสริมวิตามินให้ไก่กินตลอด ซึ่งมีอยู่ 2 ตัว เป็นวิตามินผสมกรดช่วยย่อย และพรีมิกซ์เป็นผงผสมน้ำให้ไก่กิน” คุณธนวรรณกล่าวเสริมถึงการดูแล
การให้อาหารไก่เนื้อ
อาหารที่ใช้จะมี 3 สูตรๆ แรกให้กินแรกเกิด-21 วัน จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสูตรที่ 2 และสัปดาห์สุดท้ายก่อนจับจะใช้อาหารสูตรที่ 3 สำหรับทนงฟาร์ม 1 ยังเป็นแบบถัง ต้องใช้แรงงานคนในการให้ ส่วน ทนงฟาร์ม 2 เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด “ทั้งสองระบบดีคนละแบบ คือ ระบบอัตโนมัติดีตรงที่พนักงานไม่ต้องแบกอาหาร ประหยัดแรงงาน และสะดวกในการให้อาหาร แต่ก็ต้องจ่ายค่าไฟเพิ่ม หากมองว่าการเลี้ยงไก่ได้ดีกว่าไหม ก็ไม่มีความแตกต่างกัน ทุกอย่างมันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อยู่ที่คนจะมอง และเลือกใช้”
รายได้จากการเลี้ยงไก่เนื้อ
ในหนึ่งปีสามารถเลี้ยงไก่ได้ 5-6 รุ่น รุ่นที่ 6 จะคาบปี พนักงานมีทั้งหมด 4 คน เฉลี่ย 1 คน/โรงเรือน ได้ค่าจ้าง 20,000 บาท/รุ่น ส่วนคุณธนวรรณจะทำหน้าที่ผสมยา ดูเรื่องน้ำ พัดลม อุณหภูมิ และดูแลความเรียบร้อยโดยรวม หลังจากพนักงานทำงานเสร็จทุกวัน เช้า-เย็น ถ้ามีอะไรผิดปกติจะได้แก้ไขปัญหาได้ทัน
เพราะไก่ถ้ามีการเกิดปัญหาเพียง 2 วัน ถ้ารู้ตัวช้าก็แก้ไขอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเข้าไปดูทุกๆ วัน แล้วสังเกตความผิดปกติของมูลไก่ และสำรวจตัวไก่ ว่าเกิดจากสาเหตุใด เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ทันท่วงที ถ้าไม่ได้ไปดูทุกวันก็จะไม่รู้ว่าไก่ปกติหรือไม่ จากนั้นจึงค่อยดูส่วนอื่น เช่น ปั๊มน้ำ และอุณหภูมิ
สำหรับค่าตอบแทนจะอยู่ที่ 34 บาท/กก. โดยไก่ที่เลี้ยงจะเป็นไก่ส่งออกต่างประเทศ “กำไรที่เลี้ยงไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคาประกัน แต่ราคาขึ้นอยู่กับกลไกตลาด ทางบริษัทฯ จะรู้ว่าถ้าปรับราคาเท่านี้ ลูกค้าจะได้กำไรเท่าไหร่ ถ้าส่งไก่ 98-99% คุณจะมีกำไรเท่านี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์การสูญเสียของทางฟาร์มด้วย ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจกลไกของบริษัทด้วย ไม่ใช่ว่าเกิดอะไรขึ้นก็ย้ายบริษัท ซึ่งถ้าทำแบบนั้นเราจะไปไหนไม่รอดเลย” คุณธนวรรณกล่าวถึงที่มาของรายได้
แนวโน้มในอนาคต
“อนาคตอาจกลับไปเลี้ยงกับบริษัท สหฟาร์ม ดังเดิม เพียงแต่ขอดูสถานการณ์สักระยะหนึ่งก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าทางบริษัทมีความมั่นคง โดยจะแบ่งครึ่งกับบริษัท เซ็นทาโกรฟาร์มฯ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง หากที่ใดที่หนึ่งเกิดความเสียหาย ยังมีอีกที่หนึ่งที่เหลืออยู่ ส่วนแผนด้านการปรับปรุง หรืออื่นๆ ยังไม่คิดจะทำอะไรต่อ ต้องรอรุ่นลูกว่าจะมารับช่วงต่อหรือไม่ ถ้ามารับต่ออาจจะขยายโรงเรือนเพิ่มอีก 1 หลัง แต่ถ้าไม่มีใครรับช่วงต่อ ก็จะทำเท่าที่มี ให้สามารถอยู่ได้ มีกิน มีใช้ ก็พอแล้ว” คุณธนวรรณกล่าวถึงอนาคต
“เป็นอาชีพที่เหนื่อย และเสี่ยง เพราะฉะนั้นต้องควบคุมดูแลด้วยตนเองตลอด เมื่อเกิดปัญหาจะได้แก้ไขอย่างทันท่วงที คนเลี้ยงไก่จะระแวง กลัวว่าจะเกิดไฟตก ไฟดับ ยิ่งใกล้เวลาจับ ยิ่งต้องให้ความดูแลเป็นพิเศษ และการเลี้ยงไก่ในสมัยนี้ถือว่าลงทุนค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีโรคที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา” คุณธนวรรณกล่าวทิ้งท้ายกับอาชีพเลี้ยงไก่เนื้อ
สอบถามเพิ่มเติม คุณธนวรรณ ชูเมือง 132 ม.4 ต.หนองผักแว่น อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี โทร.081-190-5293