ปลาหมอ หรือ ปลาเข่ง ชื่อเรียกทางภาคอีสาน นับเป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่มาแรง จุดเริ่มต้นที่ทำให้ปลาหมอตีตลาดขึ้นมา เกิดจาก ศูนย์วิจัยพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร วิจัยและพัฒนา ฮือฮากันในเรื่องของการเจริญเติบโต เกิดเป็น ปลาหมอไทยสายพันธุ์ชุมพร1
กระแสความแรงของ การเพาะเลี้ยงปลาหมอไทย ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว คนเลี้ยงยังน้อย ราคาดี ตลาดมีความต้องการสูง แต่ในปีนี้ดูท่าคนเลี้ยงและฟาร์มเพาะพันธุ์ลูกปลาจะฝืดเคืองไปบ้าง
ถึงอย่างไรก็ตามไม่ว่าสถานการณ์จะฝืด จากอดีตไปบ้าง หน้าที่หลักของฟาร์มเพาะที่ทีมงานได้เข้าไปเยี่ยมชมไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาสายพันธุ์ปลาหมอไทยให้ก้าวไกลไปอีกขั้น กับผลงานชิ้นโบว์แดงของฟาร์ม “ ขอนแก่นฟาร์มปลา ” ฝีมือ คุณอนุชา หรือ คุณนุ และ คุณรุจะพร ดอนกันหา หรือ คุณกุ้ง กลับขึ้นมาตีตลาดอีกครั้ง เพราะเป็นสาพันธุ์ ลูกผสมจากต่างประเทศ โดดเด่น ในเรื่องความแข็งแรง โตดี กินอาหารเก่ง รูปทรงสวย ไม่เฉพาะเรื่องของลูกพันธุ์ การประยุกต์ เลี้ยงปลาหมอในบ่อปูน สำเร็จอีกขั้น เพราะของดี มาเจอการจัดการที่ลงตัว แน่นอนว่า การเลี้ยงจะได้รับความนิยม การบริโภค จะแผ่วงกว้าง ไม่เฉพาะเลี้ยงในบ่อดิน ทางภาคอีสาน แล้วขึ้นรถ ไปขายให้คนกรุงรับประทาน
คู่ชีวิต คู่นี้ สะสมประสบการณ์จากการเข้าไปเป็นลูกจ้างให้กับฟาร์มเอกชนแห่งหนึ่ง และเมื่อช่องทางการตลาดเปิดโอกาสให้ คนกล้า ได้ลงมือทำ คุณนุไม่รีรอที่จะออกมาฉวยโอกาสทอง เปิดฟาร์มเพาะพันธุ์เองในชื่อ “ ขอนแก่นฟาร์มปลา ” ผลิตลูกพันธุ์ปลาหมอไทย เป็นสินค้าหลัก และลูกพันธุ์ปลานิลแปลงเพศที่รับลูกตุ้มจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดขอนแก่น มาแปลงเพศและอนุบาลเองภายในฟาร์ม เพื่อให้เป็นตัวเลือกสำหรับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ
ความอุดมสมบูรณ์จากเขื่อนอุบลรัตน์เป็นแหล่งน้ำตั้งต้นในการใช้เพาะพันธุ์ปลาที่ฟาร์มและชุบชีวิตคนขอนแก่นให้มีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี
ปลาหมอไทยสายพันธุ์ต่างประเทศ
ปลาหมอไทย คนในวงการหรือพรรคพวกกันสายพันธุ์ที่ไหนดี ที่ไหนเจ๋ง จะรู้จักกัน เช่นเดียวกับคุณนุที่มีพรรคพวกเพาะพันธุ์ปลาหมออยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดดเด่นในเรื่องความทนทาน อัตรารอดสูง ผสมร่วมกับสายพันธุ์นำเข้าจากประเทศเวียดนาม ที่ลำตัวจะมีขนาดใหญ่ แน่นอนของหุ่นลูกครึ่ง ที่ได้ในรุ่นลูกก็จะเป็นลักษณะ ลำตัวใหญ่ โตดี และทนต่อสภาพแวดล้อม
สายพันธุ์จากทั้งสองที่ คุณนุจะใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงให้มีความเจริญพันธุ์ ใช้ระยะเวลา 1 ปี และมีอายุการใช้งาน 2 ปี จึงปลดระหว่างออกไป ที่ต้องทำเช่นนั้นก็เพราะต้องการให้ความสมบูรณ์ที่จะตกทอดสู่รุ่นลูกคงคุณภาพและมาตรฐานที่สุด
การผสมพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์จะเกิดขึ้นหลังจากอากาศหนาวผ่านพ้นไป จะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่ออากาศหนาวพัดผ่านเข้ามา คือ ช่วงเดือน ก.พ.-ต.ค. ของทุกปี
ทำไมถึงไม่เพาะพันธุ์นอกฤดูกาล
เป็นเพราะอากาศหนาวเย็น การเพาะพันธุ์ปลาจะเกิดขึ้นยาก ลูกพันธุ์ที่ได้จะไม่มีความแข็งแรง เสมือนเป็นการเอาเปรียบลูกค้า จึงไม่นิยมเพาะพันธุ์ปลานอกฤดูกาล ถือเป็นช่วงพักบ่อ พักผ่อนของฟาร์มไปในตัว
การผสมพันธุ์ปลาหมอไทยโดยการฉีดฮอร์โมนกระตุ้น ถือเป็นวิธีการที่ใช้เพาะพันธุ์ปลาที่สะดวกและง่ายที่สุด ปลาที่จะนำมาฉีดกระตุ้นด้วยฮอร์โมนจะต้องเป็นปลาที่มีไข่แก่และมีน้ำเชื้อดีแล้ว เมื่อฉีดฮอร์โมนให้แก่พ่อแม่พันธุ์เรียบร้อยแล้วจะปล่อยปลาลงบ่อเพาะ หลังจากนั้นประมาณ 8-10 ชั่วโมง ปลาจะเกิดการผสมพันธุ์วางไข่กันเอง
ฮอร์โมนสังเคราะห์หรือที่เรียกว่า ซูพรีแฟค ในหนึ่งขวดจะบรรจุฮอร์โมนสังเคราะห์ 10 ซีซี. มีตัวยาฮอร์โมนอยู่ 10 มิลลิกรัม ก่อนใช้ต้องเจือจางด้วยน้ำกลั่นก่อน ใช้ร่วมกับยาเสริมฤทธิ์หรือที่เรียกว่า โมทิเลียม เพื่อช่วยให้ฮอร์โมนที่ฉีดเข้าไปมีประสิทธิภาพดี อัตราการใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์กับปลาหมอไทยจะใช้ในอัตรา 10-20 ไมโครกรัม/น้ำหนักปลา 1 กิโลกรัม และยาเสริมฤทธิ์ 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักปลา 1 กิโลกรัม
การฉีดฮอร์โมน ก่อนทำการฉีดจะต้องชั่งน้ำหนักปลา แล้วหาค่าเฉลี่ย ปริมาณการฉีดตัวละ 0.1 ซีซี. บริเวณใต้ครีบหลังเหนือเส้นข้างตัว
เทคนิคการแปลงเพศปลาหมอ เมื่อทำการฉีดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปล่อยให้พ่อแม่พันธุ์ผสมกันเอง ไข่ปลาหมอจะเป็นไข่ลอย คุณนุกล่าวว่า การแปลงเพศปลาเพื่อให้ผลงานออกมาดี เราจะช้อนไข่ปลาหมอ แล้วนำมาแช่ในฮอร์โมน17 Beta Estradiol.ในกะละมังก่อน 3 วัน การแช่ฮอร์โมนอาจเป็นต้นทุนเพิ่ม แต่ถือเป็นเทคนิคหนึ่ง ที่ส่งผลให้เปอร์เซ็นต์การแปลงเพศเป็นปลาหมอเพศเมีย ค่อนข้างสูงและเกือบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ในหลายๆครั้งที่สุ่มตรวจคุณภาพในเรื่องนี้ หลังจากนั้นจะทยอยย้ายลูกปลาลงอนุบาลในบ่อดิน โดยการให้กินอาหารฮอร์โมนความเข้มข้น 40-60 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม วันละ 3-4 ครั้ง ประมาณ 21 วัน จะได้ลูกปลาหมอพร้อมจำหน่าย และมีเปอร์เซ็นต์การแปลงเพศ ไม่ต่ำกว่า 90 % อัตรารอดประมาณ 3-4 แสนตัว/ไร่
ข้อดีของการเลี้ยงปลาหมอแปลงเพศ คือ ปลาหมอแปลงเพศเมียโตเร็ว ปลาตัวใหญ่ ได้น้ำหนักดี และยิ่งเป็นสายพันธุ์ที่ผ่านการพัฒนาแล้ว ความหนาส่วนของสันจะเยอะ ลำตัวกว้าง เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก
ขอนแก่นฟาร์มปลา หลังจากที่พัฒนาสายพันธุ์ลูกผสมจากต่างประเทศขึ้นมา ตลาดให้การต้อนรับดี เป็นที่ต้องการของตลาด มีกำลังการผลิตออกจำหน่ายเดือนละ 1-2 ล้านตัว โดยเฉพาะในจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มีการเลี้ยงค่อนข้างเยอะและกำลังขยายตลาดมายังภาคกลางที่กำลังได้รับกระแสนิยมในการเลี้ยงปลาหมอในบ่อปูน
ผลงานยืนยันคุณภาพปลาหมอลูกผสม ฝีมือขอนแก่นฟาร์มปลา
ทีมงานได้รับข้อมูลจาก คุณยูทัศน์ ภูผันผิ่น หรือ คุณยู เจ้าของบ่อเลี้ยงปลาหมอกว่า 50 ไร่ ใน กาฬสินธุ์ คุณยูกล่าวว่า ตนเองเริ่มต้นเลี้ยงปลาหมอมาพร้อมๆกับขอนแก่นฟาร์มปลา ตอนแรกๆที่ตนเริ่มเลี้ยง ตลาดเยอะ คนเลี้ยงน้อย ทำให้ราคาและกำไรที่ได้จากการเลี้ยงค่อนข้างสูง แต่ในปีนี้ตลาดเท่าเดิม คนเลี้ยงมากขึ้น แต่ตนก็ยังคงเลี้ยง และรับลูกปลาจากฟาร์มขายเพราะยังมีตลาดจากภาคกลาง ที่จะรับปลาไซส์ 3-4 ตัว/กิโลกรัม มารับผลผลิตไปได้ตลอด ส่วนปลาไซส์เล็ก 5-6 ตัว/กิโลกรัม จะเป็นตลาดในพื้นที่
การเตรียมบ่อก่อนลงลูกปลา สำคัญมาก คือ การกำจัดศัตรูปลา และไม่ปล่อยให้สัตว์น้ำอื่นๆ เกิดขึ้นในบ่อ ปล่อยน้ำเข้าบ่อตอนเย็น ตอนเช้าต้องลงลูกปลาทันที
บ่อเลี้ยงขนาด 2 งาน ปล่อยลูกปลาขนาด 2-3 เซนติเมตร ในระดับน้ำ 1.50 -2 เมตร ปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงไม่เกิน 3 หมื่นตัว/บ่อ ถ้าเกินจากนี้มากไป ปลาจะแตกไซส์ เวลาพ่อค้ามารับซื้อจะรับไปครั้งละไม่เยอะ ต้องทยอยขาย จึงไม่นิยมเลี้ยงปลาหมอในบ่อใหญ่
อาหารที่ใช้ เริ่มแรกหลังจากปล่อยลูกปลาลงบ่อแล้ว คุณยูจะให้อาหารดีไลน์ โปรตีน 35 % ของบริษัทไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด ใช้เลี้ยง 1 เดือน แล้วเปลี่ยนมาให้อาหาร ปลาดุก โปรตีน 32 % อีก 1 เดือน เข้าเดือนที่ 3 เปลี่ยนมาให้อาหารปลาดุก โปรตีน 30 % ของบริษัท อินเทคค์ ฟีด จำกัด โดยให้อาหารวันละ 2 มื้อ เช้า-เย็น ในปริมาณที่ปลากินอิ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้ปลากินกันเอง
ผลผลิตปลาหมอในบ่อ
ปลาหมอเป็นปลากินเนื้อ โปรตีนในอาหารไม่ต่ำกว่า 30% พื้นที่บ่อขนาดเล็ก ทำให้การจัดการง่าย ดูแลได้อย่างทั่วถึง ใช้ระยะเวลาการเลี้ยง 4-5 เดือน บ่อขนาด 2 งาน ปล่อยลูกปลา 30,000 ตัว จะกินอาหาร 400 กระสอบ ได้ผลผลิต 3-4 ตัน ไซส์ 3-4 ตัว/กิโลกรัม และมีไซส์ 5-6 ตัว/กิโลกรัม การจับปลาจะทยอยจับให้หมดภายใน 2-3 วัน พ่อค้าจะไม่นิยม นำปลาไปสต๊อก เพราะจะมีปัญหาเรื่องเกล็ดหลุด น้ำหนักลดลง
ปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงปลาหมอ
คุณยู กล่าวว่า ถ้าเป็นปลาปีนี้ ต้องดูตลาดก่อน ก่อนจะเลี้ยงต้องหาตลาดให้ได้ก่อน ตอนนี้ตลาดเกิดขึ้นเยอะแต่ไม่สู้คนเลี้ยงที่มีปริมาณเยอะกว่า บ่อที่เคยเลี้ยงปลาดุก ก็มาเลี้ยงปลาหมอ เพราะขนาดไม่ใหญ่ การเลี้ยงขึ้นอยู่กับราคาและอีกอย่างปลาหมอในปีนี้ ผลผลิตยังไม่ออก ตลาดอาจจะตันได้
ความสำคัญของการเลี้ยงปลาหมอในภาคอีสาน ถึงแม้จะได้เปรียบในเรื่องของสายพันธุ์ อยู่ในพื้นที่ ถ้าในปีนี้ทางภาคอีสาน จะประสบปัญหาเรื่องการตลาด สำหรับมือใหม่ ต้องมองหาตลาดให้ได้แล้ว จึงลงมือปฏิบัติ และเพื่อให้สิ่งดีๆได้กระจายไปทั่วภูมิภาค คุณกุ้งมุ่งเน้นที่จะขยายการตลาดให้กว้างขึ้น จึงเป็นที่มาที่จะนำเสนอการเลี้ยงปลาหมอในบ่อปูน ซึ่งมีการทดลองจาก คุณณรงค์ กิจทวี มานำเสนอ
การเลี้ยงปลาหมอในบ่อปูน ทางเลือก ที่ควบคุมได้
ตามหลักวิชาการ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ถ้าเป็นสัตว์น้ำ จำพวกปลา จะนิยมเลี้ยงในบ่อดิน เพราะมีอาหารธรรมชาติ จะส่งผลให้สัตว์น้ำเจริญเติบโตดี และมีการดัดแปลงเลี้ยงปลากระชังแม่น้ำ กระชังเขื่อน เพื่อใช้ประโยชน์จากสาธารณะประโยชน์ อย่างไรก็ตามทฤษฎีต่างๆ อาจเป็นเพียงข้อจำกัด ในเรื่องของเหตุผลการเจริญเติบโต การลงทุน แต่สำหรับเกษตรกรที่ลงทุน สร้างบ่อปูนขึ้นมา เพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่ต้องเลี้ยงบ่อปูน นั้นคือข้อได้เปรียบที่จะประยุกต์สิ่งที่มี เป็นรายได้ขึ้นมา
การทดลองเลี้ยงปลาหมอ ในบ่อปูน ถือเป็นรายแรกที่ให้ความสนใจ เป็นการดัดแปลงบ่อตะพาบน้ำภายในฟาร์ม กิจทวีฟาร์มตะพาบน้ำ ที่ลงตัวแล้ว มาเป็นการสร้างรายได้เสริม ด้วยการเลี้ยงปลาหมอ
อย่างที่ทราบกันดีว่าราคาปลาหมอ ณ ปัจจุบันราคาจำหน่ายปากบ่ออยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท แต่ถึงมือผู้บริโภคจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 120-150 บาท ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ และในภาคกลางการเลี้ยงปลาหมอถือว่ายังมีความสนใจน้อย เพราะส่วนมากจะเป็นบ่อกุ้ง บ่อปลา ที่มีขนาดใหญ่ซะเป็นส่วนมาก คุณณรงค์ กิจทวี มีเป้าหมายที่จะรวมเครือญาติที่เลี้ยงตะพาบน้ำ และมีบ่อปูนอยู่แล้ว ปรับเปลี่ยนบ่อเพื่อเลี้ยงปลาหมอ และขยายตลาดผู้บริโภคปลาหมอให้กว้างขึ้น โดยต้องการตัดวงจรพ่อค้าคนกลางที่จะกินส่วนต่าง 30-40 บาท ออกไป ตั้งเป้าหมายไว้ที่ราคาขายกิโลกรัมละ 80 บาท พ่อค้า แม่ค้าในเครือข่ายนำไปจำหน่ายต่อในราคากิโลกรัมละ 120 บาท เป็นการควบคุมราคาและขยายฐานการกระจายสินค้าอออกไป ซึ่งตั้งเป้าหมายผลผลิตออกสู่ตลาดไว้ที่ 400-700 กิโลกรัม/วัน
เมื่อมีเป้าหมาย ก็ต้องพุ่งชนไปหาฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาหมอไทยที่มีคุณภาพ ซึ่งคุณณรงค์ได้ศึกษาข้อมูลและสำรวจแหล่งผลิตปลาหมอไทยทางภาคอีสาน เกิดความมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐาน การผลิตของ “ขอนแก่นฟาร์มปลา” จึงได้นำลูกพันธุ์ปลาหมอไทยลูกผสมจากฟาร์มมาทดลองเลี้ยงในบ่อปูน และถือว่าข้อมูลนี้ยังเป็นรายแรกทีมีการเลี้ยงปลาหมอในบ่อปูนแล้วประสบความสำเร็จ
อัตราการปล่อย คุณณรงค์ใช้ลูกพันธุ์ปลาหมอแปลงเพศขนาด 2-3 เซนติเมตร มาปล่อยเลี้ยงในอัตรา 50 ตัว/ตร.ม. เท่ากับการเลี้ยงในบ่อดิน แต่สำหรับมือใหม่ที่มีบ่ออยู่แล้ว คุณณรงค์แนะนำให้ปล่อยลงเลี้ยงในอัตรา 30 ตัว/ตร.ม. เป็นอัตราที่เหมาะสม ดูแลจัดการง่าย
ในบ่อปูนความได้เปรียบที่เห็นได้ชัด คือ การดูแลจัดการดี สามารถควบคุมการเลี้ยงได้ ซึ่งตามหลักการเลี้ยงปลาหมอจะไม่เน้นการใช้พื้นที่บ่อที่มาก ฉะนั้นการเลี้ยงในบ่อปูนขนาดตามที่จัดสรรได้นั้นจะได้เปรียบมากที่สุด
การดูแลระหว่างการเลี้ยง
น้ำความสมดุลที่คนเลี้ยงต้องใส่ใจ คุณณรงค์กล่าวว่า ตนจะใช้การเลี้ยงแบบระบบน้ำล้นตลอด 24 ชั่วโมง น้ำในบ่อมีความลึก 60-70 เซนติเมตรและการใช้จุลินทรีย์บำบัดพื้นบ่อตามโปรแกรม
ระบบน้ำเลี้ยง 24 ชั่วโมง คุณภาพน้ำส่วนกลางบ่อและส่วนบนจะสะอาด แต่ถ้าสังเกตการกินอาหารปลาจะกินอาหารหน้าน้ำและมีความตื่นตัว ฉะนั้นหากลักษณะน้ำในบ่อสะอาด ปลาก็จะกินอาหารได้ดีขึ้น
การใช้จุลินทรีย์ จำเป็นต้องใช้อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาการเลี้ยง ถือเป็นการควบคุมปริมาณเชื้อในบ่อ
การใช้จุลินทรีย์บำบัดพื้นบ่อ ของเสียที่สะสม และการเปลี่ยนถ่ายน้ำระหว่างการเลี้ยง ถือเป็นความใส่ใจอย่างหนึ่งที่คนเลี้ยงต้องทำ
เทคนิคการให้อาหารปลา การให้อาหารปลานั้น คุณณรงค์แนะนำการให้ในวงกว้างเพื่อให้อาหารใหม่ถึงปลาทุกตัวในบ่อ ความได้เปรียบในเรื่องบ่อเลี้ยงที่สามารถควบคุมได้ จึงเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการเลี้ยงปลา และนอกจากนี้การให้อาหารครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ ครั้ง จะทำให้ปลากินอาหารได้ดีและมีผลการเจริญเติบโตที่ดี
เมือกจากตัวปลาบ่งชี้อะไร
ปลาหมอเป็นปลาที่มีเกล็ดและขับเมือกออกมา เมื่อรู้ตัวว่าตัวเองเครียด ความเครียดของปลามาจากสภาวะแวดล้อม อย่างที่ได้ทราบ คือ ปลาหมอทนในสภาวะแวดล้อมได้ดี แต่ถ้าสังเกตลงไปลึกๆ แล้ว ความเครียดและสภาวะการขับเมือกออกมา เมื่อเมือกในน้ำไปจับที่ตัวอาหาร ส่งผลให้ปลาไม่กินอาหารเม็ดนั้น ปาจะเลือกกินอาหารที่สด ใหม่ ฉะนั้นจึงเป็นการสูญเสียอาหารโดยเปล่าประโยชน์ ทำให้ FCR ในการเลี้ยงปลาหมอสูง การเลี้ยงปลาในบ่อปูนสำคัญที่สุด คือ การจัดการน้ำ หากมีการเปลี่ยนน้ำใหม่แทนที่น้ำเก่า ปลาในบ่อก็จะรู้สึกตื่นตัวขึ้นมาอีกครั้ง คนเลี้ยงควรลบภาพ ที่ว่าปลาหมด อึด ทน ในน้ำที่มีสภาพแย่ แต่จริงๆแล้วถ้าปลาเลือกได้ ก็คงเช่นเดียวกับคนเลี้ยงที่ต้องการอยู่ในบ้านที่สะอาด ลมพัดผ่านดี อยู่แล้วไม่รู้สึกอึดอัด
ผลผลิตปลาหมอในบ่อปูน
การเลี้ยงปลาหมอในบ่อปูน ต้นทุนการจัดการจะสูงกว่าการเลี้ยงในบ่อดิน เป็นเพราะต้องมีต้นทุนในเรื่องของการจัดการระบบน้ำ คุณณรงค์เลี้ยงปลาหมอในบ่อขนาด 40 ตร.ม. ปล่อยลูกปลาลงเลี้ยง 2,100 ตัว ได้ผลผลิตกลับมา 360 กิโลกรัม จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 70 บาท รอบการเลี้ยงที่ผ่านมาเป็นเพียงการทดลอง แต่ก็ถือว่าได้กำไรกลับมาถึง 40%
และเรื่องของสายพันธุ์ต้องมาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ปลาหมอสายพันธุ์ที่ดีต้องเลี้ยงแล้วโต อัตราแลกเนื้อดี และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง วันนี้ขอนแก่นฟาร์มปลาทำสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ลูกผสมจากต่างประเทศ เป็นใบเบิกทางให้ผู้ที่สนใจได้ทดลองเลี้ยงเปรียบเทียบ การเลี้ยงปลาหมอในบ่อดินและผลการเลี้ยงในบ่อปูน ถือได้ว่าไม่ใช่อุปสรรคสำหรับการสร้างอาชีพจาก ผลตอบแทน ระยะเวลาการเลี้ยง 4-5 เดือน ได้ผลผลิตออกจำหน่ายถือเป็นปลาเศรษฐกิจที่มาแรง สร้างเป็นอาชีพได้
สำหรับเกษตรกรผู้ที่สนใจลูกพันธุ์ปลาหมอลูกผสมสายพันธุ์ต่างประเทศ ผลงานการแปลงเพศไม่ต่ำกว่า 90% จุดเด่นในเรื่องของความแข็งแรง โตไว กินอาหารเก่ง รูปทรงสวย สอบถามข้อมูลได้ที่ ขอนแก่นฟาร์มปลา 1 หมู่ 1 ต.บึงเนียน ถ.ขอนแก่น-เชียงยืน อ.เมือง จ.ขอนแก่น ได้ที่คุณรุจะพร (คุณกุ้ง) โทร.08-9840-2842 และคุณอนุชา (คุณนุ) โทร.08-7223-2293 ยินดีให้บริการทั่วประเทศในราคามิตรภาพ
tags: การเลี้ยงปลาหมอ เลี้ยงปลาหมอ วิธีเลี้ยงปลาหมอ การเลี้ยงปลาหมอในบ่อปูน ปลาหมอไทย ปลาหมอไทยชุมพร 1 การเลี้ยงปลาหมอ เลี้ยงปลาหมอ วิธีเลี้ยงปลาหมอ ปลาหมอ ชุมพร
[wpdevart_like_box profile_id=”377357182296025″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]