มันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกที่สำคัญของไทย และยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย แต่จะทำอย่างไรให้ต้นทางการผลิตซึ่งเป็นต้นน้ำ อย่าง “ชาวไร่มันสำปะหลัง” มีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาดไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดพรีเมียม ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรภายใต้ต้นทุนการผลิตที่ลดลง มีรายได้เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับมันแปลงใหญ่แห่งเมืองร้อยเอ็ด ที่มีการรวมกลุ่มปลูกมันคุณภาพครอบคลุมพื้นที่ 4 ตำบล ที่นำไปสู่การผลิตและแปรรูปส่งขายให้กับผู้ประกอบการ ทั้งในและนอกพื้นที่ นำมาซึ่งอาชีพและรายได้อย่างมั่นคง การันตีด้วยรางวัล
ในโอกาสนี้ทีมงานนิตยสารพืชเศรษฐกิจอาเซียนจะนำพาทุกท่านไปรู้จักกับเกษตรกรต้นแบบ หรือกลุ่มมันแปลงใหญ่ อำเภอเมยวดี จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี คุณอชิตะวีร์ วชิระพิภัทร์กุล หรือคุณต้า เกษตรกรรุ่นใหม่ไฟแรง ที่หันหลังให้กับอดีตก่อนกลับมาทำเกษตร และนั่งแท่นเป็นประธานกลุ่มมันแปลงใหญ่ในฐานะเกษตรกรรุ่นใหม่เต็มตัวที่มีใจรักในการทำเกษตร
เนื่องจากเดิมทีเมื่อ 5 ปีที่แล้ว คุณต้าเคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จนถึงจุดอิ่มตัว จึงได้ตัดสินใจลาจากงานประจำเพื่อหวนกลับมาทำเกษตรต่อจากครอบครัวบนพื้นที่กว่า 70 ไร่ ในขณะที่ครอบครัวของคุณต้านั้นได้ยึดมีอาชีพรับราชการ ทำให้เมื่อปลูกพืชไว้แล้วก็ไม่ค่อยมีเวลาเข้าไปดูแลรักษา จนนานวันเข้าก็ต้องยอมปล่อยให้พื้นที่รกร้างว่างเปล่าไป
การปลูกมันสำปะหลัง
แต่สิ่งแรกที่คุณต้านึกถึงหลังจากลาออก ก็คือ การทำเกษตร จึงได้แบ่งพื้นที่บางส่วนมาปลูกข้าว และปลูกพืชไร่ โดยเริ่มจากการ “ปลูกอ้อย” ก่อนเป็นอันดับแรก แต่ทว่าการปลูกอ้อยมีข้อจำกัดหลายอย่าง จึงต้องหันมาปลูก “มันสำปะหลัง” ในพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกมันที่มีอยู่ประมาณ 15 ไร่
แต่ปัญหาในการปลูกพืชของประเทศไทย และเป็นปัญหาหลักที่สำคัญเลย ก็คือ “ราคาผลผลิต” ในแต่ละปีที่ไม่แน่นนอน ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอยู่ทุกปี ทั้งราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น สภาพอากาศที่แปรปรวนเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ส่งผลให้คุณต้ามีแนวคิดที่จะตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อรองรับกับปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกรูปแบบได้อย่างแท้จริง
การอบรมให้ความรู้แก่สมาชิก
ปัจจุบัน “กลุ่มมันสำปะหลังแปลงใหญ่อำเภอเมยวดี” กลุ่มเกษตรกรต้นแบบของหน่วยงานภาครัฐ ที่มีสมาชิกทั้งหมด 85 ราย ครอบคลุมพื้นที่สมาชิกทั้ง 4 ตำบล รวมกันมากกว่า 800 ไร่ โดยทางกลุ่มมุ่งเน้นและส่งเสริมให้สมาชิกทำ “มันคุณภาพ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต” รวมไปถึงการแสวงหาตลาดให้กับสมาชิกในกลุ่ม ด้วยการพัฒนาต่อยอดเข้าสู่กระบวนการแปรูป-เพิ่มคุณภาพ เพื่อให้ผลผลิตจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น
โดยทางกลุ่มจะมีขั้นตอนการบริหารและการจัดการสมาชิกอย่างเป็นระบบ ด้วยการเข้าไปให้ความรู้กับสมาชิก ตั้งแต่การวางแผนปลูกมันสำปะหลังในช่วงไหนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เป็นหลัก ทั้งในช่วงต้นฝน หรือปลายฝน ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ของแต่ละแปลงเป็นหลักสำคัญ
การคัดเลือกต้นพันธุ์มันสำปะหลัง
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดหาสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในแต่ละแปลงด้วย ซึ่งทางกลุ่มจะเน้นส่งเสริมปลูกมันสำปะหลังอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ สภาพไร่มันที่มีสภาพดินค่อนข้างสมบูรณ์ จะเน้นปลูกมันสำปะหลังสายพันธุ์ระยอง 7 เพราะมีข้อดี คือ ท่อนมันสามารถอยู่ได้นาน และตอบสนองต่อสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นทรายได้ดี ให้ผลผลิตสูง
แต่ถ้าหากสภาพพื้นที่ไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าที่ควร จะแนะนำให้สมาชิกปลูกมันสำปะหลังสายพันธุ์ KU50 เพราะตอบสนองกับทุกสภาพพื้นที่ ไม่ว่าสภาพดินจะแย่แค่ไหนก็สามารถให้ผลผลิตสูง ซึ่งสาเหตุที่กลุ่มต้องดูแลตั้งแต่การจัดหาและคัดเลือกพันธุ์ เพราะเกษตรกรรุ่นเก่าๆ ส่วนใหญ่จะไม่มีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่จะนำมาปลูกในพื้นที่ และยังไม่รู้สภาพพื้นที่ตัวเอง และไม่รู้ว่าสายพันธุ์อะไรเหมาะสมกับพื้นที่ตนเอง
พันธุ์มันที่ใช้ปลูกก็จะเน้นไปขอซื้อกับเพื่อนบ้านหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่าคุณภาพของสายพันธุ์ดีหรือไม่ดี และส่งผลต่อผลผลิตของเกษตรกรอย่างไรบ้าง ในขณะที่เกษตรกรบางรายเก็บรักษาท่อนพันธุ์ไว้นาน 3-4 เดือน ทำให้ท่อนมันไม่อยู่ในสภาพที่จะนำไปปลูกได้ฉะนั้นทางกลุ่มต้องเข้ามาช่วยกำกับดูแลในเรื่องของสายพันธุ์มันสำปะหลังก่อนที่จะปลูกเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสมาชิกได้เป็นอย่างดี
ขั้นตอนการปลูกมันสำปะหลัง
นอกจากนี้ทางกลุ่มยังช่วยเหลือสมาชิกในส่วนของ “การเตรียมดิน” โดยทางกลุ่มมี “รถรับจ้างไถ และมีเครื่องจักร” โดยมีอัตราค่าจ้างสำหรับสมาชิกนั้นจะถูกกว่าเกษตรกรทั่วไป หรือมีราคาอยู่ที่ 400บาท/ไร่ จากราคาปกติทั่วไป 450 บาท/ไร่ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการเตรียมให้กับสมาชิก
“เกษตรกรส่วนใหญ่ที่ปลูกมันจะมีทุนน้อยเวลาเตรียมดินก็จะทำตามกำลังทุนที่มี ถ้าการไถ 3 รอบ คือ การเตรียมดินที่ดี แต่เกษตรกรก็จะไถเพียงรอบเดียว ดังนั้นทางกลุ่มจึงสนับสนุนการเตรียมดิน โดยการไถเตรียมดินให้ก่อนแล้วค่อยเก็บค่าไถหลังจากที่เก็บผลผลิตเรียบร้อยแล้ว โดยทางกลุ่มยังได้มีการติดตามผลตลอด มีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ ติดตามบันทึกข้อมูลในแต่ละแปลงสม่ำเสมอ อีกทั้งทางกลุ่มยังมีการประยุกต์นำแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มาใช้ในการติดตามผลบันทึกแปลงด้วย ทำให้กลุ่มได้ข้อมูลเชิงลึก ทั้งขนาดของแปลง สายพันธุ์ที่ปลูก เริ่มปลูกวันไหน มีการดูแลรักษาอย่างไร จะเก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ เพื่อคาดการณ์ผลที่ได้ และใช้ในการคำนวณผลผลิตหลังเก็บเกี่ยวได้ดี เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดหาตลาดรองรับผลิตให้กับสมาชิกได้เป็นอย่างดี” ประธานกลุ่มคนเก่งชี้แจง
รวมไปถึงทางกลุ่มยังได้มีการส่งเสริมให้สมาชิกหันมาปลูก “ปอเทือง” หลังจากการเก็บผลผลิต เพื่อปรับปรุงดิน และไถกลบ เป็น “ปุ๋ยพืชสด” ให้กับไร่มันได้เป็นอย่างดี ก่อนจะเริ่มต้นปลูกมันสำปะหลังในรอบต่อไป เพื่อลดต้นทุนและลดปริมาณการใส่ปุ๋ยคอกกลับลงไปในดินได้ดี
การบริหารจัดการไร่มันสำปะหลัง
ระยะการปลูกมันสำปะหลัง เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทางกลุ่มให้ความสำคัญ เพราะส่งผลโดยตรงต่อผลผลิตของสมาชิก เนื่องจากเมื่อก่อนเกษตรกรรุ่นเก่าๆ มักจะปลูกในระยะถี่ ทำให้ได้ผลผลิตที่น้อยลง แต่หลังจากที่กลุ่มได้เข้าไปส่งเสริมและเป็นสมาชิก ได้มีการกำหนดเงื่อนไขหลัก คือ สมาชิกต้องปลูกมันสำปะหลังให้มีระยะห่างระหว่างร่องขั้นต่ำ คือ 1×1 เมตร หรือปลูกในระยะที่เหมาะสมที่สุด คือ 1.20×1.20 เมตร และมีระยะห่างระหว่างต้น คือ 80 ซม.
ที่เน้นใช้เครื่องจักรกลการเกษตร หรือ “เครื่องปลูกมันสำปะหลัง” ทดแทนการใช้แรงงานปลูกมันที่กำลังเป็นปัญหาอย่างมากในประเทศไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะวัยรุ่นเข้าไปทำงานในโรงงานกันหมด ดังนั้นการทำเกษตรกรในยุคปัจจุบันจึงต้องใช้เทคโนโลยี หรือใช้เครื่องปลูกมันสำปะหลังเข้ามาช่วยลดต้นทุนได้มากถึง 20% ประหยัดเวลา ปลูกได้มากกว่าแรงงานถึง 4 เท่าตัว
รวมไปถึงการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องของ “การกำจัดหญ้าวัชพืช” ที่มีค่าใช้จ่ายไม่ถึง 200 บาท/ครั้ง ประหยัดต้นทุนได้หลายเท่าตัว จากเดิมที่ต้องใช้แรงงาน 2-3 คน ในการกำจัดหญ้าวัชพืช ที่มีต้นทุนอยู่ที่ 1,000 บาท/ครั้ง ในขณะที่แปลงมันที่อยู่ใกล้กับที่อยู่อาศัยจะไม่มีการใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช แต่เน้นการทำเกษตรปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมีเพื่อความปลอดภัย
ประกอบกับทางกลุ่มได้มีการจัดหา “ปุ๋ย” เข้ามาใช้แบบรวมกันซื้อ และยังจัดหาปุ๋ย-ยาเข้ามาจำหน่ายให้กับสมาชิกในราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป 50 บาท/กระสอบ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายลงได้ ทำให้สมาชิกได้ใช้ปุ๋ยดี มีคุณภาพ ราคาถูกกว่า ผ่านการตรวจสอบ และทดสอบคุณภาพมาแล้ว ซึ่งสมาชิกมั่นใจได้ในเรื่องนี้ เน้นให้สมาชิกใส่ปุ๋ยอย่างถูกต้อง การปลูกมันแบบยกร่องธรรมดา สมาชิกจะดูแลเอง
แต่ทางกลุ่มจะเข้าไปช่วยกำกับดูแลช่วงระยะเวลาในการใส่ปุ๋ยให้แทน โดยจะแบ่งการใส่ปุ๋ยออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกจะใส่ปุ๋ยเคมีรองพื้นช่วงปลูก สูตร 12-4-41 ประมาณ 1 กระสอบ/ไร่ จะทำให้การใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพมากกว่า หลังจากนั้นเมื่อมันมีอายุ 2-6 เดือนจะใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 14-4-40 ประมาณ 1 กระสอบ/ไร่ เน้นให้ลงหัว
แต่มันช่วงนี้มีเงื่อนไข คือ ต้องมีน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย เพราะถ้าหากไร่มันที่ให้ปุ๋ยในช่วงนี้ไม่มีน้ำเข้ามาให้ความชื้น จะต้องทำการฝังปุ๋ยกลบให้ดี แต่ถ้าหากมีความชื้นก็สามารถหว่านปุ๋ยได้ตามปกติ หากเกษตรกรปลูกมันในช่วงต้นฝนจะไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ แต่ถ้าเกษตรกรปลูกมันในช่วงปลายฝนจะต้องทำการฝังกลบปุ๋ยตามที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อรอน้ำฝน ด้านการขุดเก็บเกี่ยวผลผลิตนั้น ทางกลุ่มจะมีเครื่องจักร หรือ “เครื่องขุดมันสำปะหลัง” ที่ช่วยให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ขั้นตอนการทำ มันเส้นสะอาด
ทางกลุ่มจะทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมผลผลิตทั้งหมดจากเกษตรกร ก่อนจะทำการจัดหาโรงงาน และรถขนส่ง เพื่อนำผลผลิตป้อนเข้าสู่โรงงาน โดยผลผลิตส่วนใหญ่ทางกลุ่มนั้น คือ “ มันเส้นสะอาด ” ที่ส่งให้กับโรงงานเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ทางโรงงานยังมีความต้องการ มันเส้นสะอาด ได้มาตรฐาน มีคุณภาพสูง เป็นจำนวนมาก เพราะมันคุณภาพเหล่านี้จะทำให้โรงงานสามารถทำตลาดระดับบนซึ่งเป็นตลาดพรีเมียมได้ ทำให้เกษตรกรปลูกมันแล้วขายได้ราคาสูง
“ขั้นตอนการทำ มันเส้นสะอาด ของกลุ่ม” นั้น ทางกลุ่มไม่ได้ทำ มันเส้นสะอาด เอง เพราะกลุ่มไม่มีลาน กลุ่มไม่มีที่ตากมัน แต่ทางกลุ่มจะเน้นให้สมาชิกแต่ละคนขุดมันแล้วสับมันตากให้แห้งภายในไร่ของตัวเองไปเลย หลังจากนั้นค่อยนำผลผลิตมาส่งให้กับทางกลุ่ม โดยกลุ่มมีหน้าที่รวบรวม
ซึ่งเกษตรกรบางรายสามารถผลิตมันเส้นได้ 100 -200 กิโลกรัม/ราย เมื่อสมาชิกนำมันมาขาย ทางกลุ่มก็จะจ่ายเงินให้ไป เมื่อกลุ่มรวบรวมมันเส้นได้ครบ 1 รถพ่วง หรือประมาณ 20 กว่าตัน ก็จะจัดหารถบรรทุกเพื่อนำผลผลิตส่งไปให้กับบริษัทแป้งมันที่จังหวัดอุบลฯ ก่อนที่บริษัทจะส่งออกผลผลิตไปยังประเทศจีน หรือในกรณีที่ผลผลิตมีไม่มากพอทางกลุ่มจะขายผลผลิตให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ใกล้เคียงที่ยังมีความต้องการผลผลิตสูง ขายก็ได้ราคาดีกว่านำส่งให้กับลานมัน เพราะทางกลุ่มจะเน้นจำหน่ายผลผลิตให้กับผู้ใช้โดยตรง
“กลุ่มจะช่วยในเรื่องของการตลาดมากกว่า กลุ่มไม่ได้รับซื้อ แต่จะอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกเป็นหลัก ถ้าสมาชิกจะนำผลผลิตไปขาย ถ้าหากไม่มีรถ ทางกลุ่มก็จะจัดหารถบรรทุกให้ ส่วนราคาสมาชิก ขายได้ราคาเท่าไรก็ได้ราคานั้น” คุณต้ายืนยันถึงแนวทางในการช่วยเหลือสมาชิก และมองว่าในอนาคตการแก้ปัญหาเรื่องราคานั้น ก็คือ การหันมาแปรรูป จะทำให้ขายมันได้ในราคาเพิ่มขึ้น
ขณะนี้ทางกลุ่มกำลังจะพยายามปรับเปลี่ยนสายพันธุ์มันสำปะหลัง จากเดิมที่ปลูกมันส่งขายให้กับโรงงานแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ มาเป็นการแบ่งพื้นที่บางส่วนมาปลูกมันสำปะหลังแบบ “ทานหัวสด” ที่สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัยพัฒนาการแปรรูปให้เป็นสินค้า และผลิตภัณฑ์ต่างๆ
การแปรรูปมันสำปะหลัง
ด้านการแปรรูปในอนาคต กลุ่มแนวคิดจะแปรรูปแบบ Zero Waste หรือการแปรรูปโดยไม่มีของเหลือทิ้ง ดังนั้นนอกจากกลุ่มจะขายหัวสด แปรรูปจากหัวมันสดให้เป็น มันเส้นสะอาด ในช่วงที่ราคาตกต่ำ เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ แต่การแปรรูปจะช่วยให้สมาชิกสามารถกำหนดราคาขายเองได้ ปัจจุบันทางกลุ่มจึงมีการแปรรูปเป็น “มันสำปะหลังหมักยีสต์” ที่มีราคาสูงที่ 7 บาท/กก.
นอกจากนี้มันสำปะหลังหมักยีสต์ยังให้ค่าพลังงานสูง และมีโปรตีนสูง สามารถเก็บรักษาได้นาน ลดปัญหาในช่วงหน้าฝนที่ตากมันไม่ได้ จึงสามารถเก็บไว้จำหน่ายให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงเลี้ยงสัตว์ได้ตลอดทั้งปี เหมาะสำหรับ “วัว” ที่ต้องการทำน้ำหนัก
นอกจากนี้ทางกลุ่มยังได้แปรรูป “ใบมันสำปะหลัง” มาทำเป็น “ใบมันหมัก” ส่วนใบมันอีกส่วนหนึ่งจะนำไปตากแล้วบดเป็น “ใบมันผง” เพื่อขายเป็นวัตถุดิบในอาหารสัตว์ให้กับผู้เลี้ยงสัตว์ ทั้งโค และไก่ ได้ดี เพราะมีโปรตีนสูง
“ใบมันมีสารไซยาไนท์ ถ้าใช้ใบมันสดจะส่งผลเป็นพิษกับสัตว์เลี้ยง กระบวนการกำจัดไซยาไนท์ที่ดีที่สุด ก็คือ การตาก และการหมัก ซึ่งการตากจะเน้นในช่วงที่มีแดดจัด โดยทางกลุ่มจะรับซื้อใบมันสำปะหลังจากสมาชิกในราคากิโลกรัมละ 80 สตางค์ จากนั้นกลุ่มทำการตากใบมัน และบดให้ละเอียด เพื่อรอจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 7-10 บาท
ส่วนใบมันหมักนั้นจะทำการหมักภายใต้ภาวะที่ไร้ออกซิเจน เพื่อให้จุลินทรีย์ทำการย่อยเซลลูโลสเกิดการหมักที่สมบูรณ์ ก่อนจะนำไปขายให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ในราคากิโลกรัมละ 3-5 บาท” คุณต้าเผยถึงขั้นตอนการแปรรูปของทางกลุ่ม
ด้านตลาด มันเส้นสะอาด
ในขณะที่ “ มันเส้นสะอาด ” จะถูกกำหนดราคาโดยกลุ่มนักธุรกิจ หรือว่าพ่อค้า แต่การตลาดของกลุ่มในปัจจุบันนี้จะเน้นทำตลาดเอง โดยการทำ “ มันเส้นสะอาด ” ที่ได้จากการรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกก่อนจะติดต่อและขาย มันเส้นสะอาด ให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์เอง นี่คือข้อดีของการรวมกลุ่มที่สมาชิกทุกคนเห็นความสำคัญของกลุ่ม มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของที่จะส่งผลให้กลุ่มเกิดพลัง และเกิดความเข้มแข็ง จากภายใน เป็นกลุ่มต้นแบบด้านการจัดการและแปรรูปมันสำปะหลังแบบครบวงจรอย่างแท้จริง
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม “กลุ่มมันสำปะหลังแปลงใหญ่อำเภอเมยวดี” อำเภอเมยวดี จังหวัดร้อยเอ็ด หรือคุณอชิตะวีร์ วชิระพิภัทร์กุล หรือคุณต้า โทร.089-895-8945