เลี้ยงไก่ไข่ใน โรงเรือนไก่ไข่ “แบบเปิด” ราคาสร้างไม่แพง เน้นความสะอาดเป็นหลัก 

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อุตสาหกรรมด้านปศุสัตว์ปัจจุบันมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หลายฟาร์มมีการปรับตัว และพัฒนาฟาร์มโดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อลดต้นทุนในกระบวนการผลิต และลดปัญหาหลายๆ ด้าน เช่น ปัญหาด้านแรงงาน ภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ราคาไข่ไก่ที่ผันผวน และราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้เกษตรกรรายย่อย อย่าง “ฟาร์มไก่พรหมรัศมี” ตั้งอยู่เลขที่ 33/3 หมู่ 3 ตำบลห้วยยางโทน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เป็นฟาร์มที่มีระบบการจัดการบริหารค่อนข้างดี ถึงแม้ฟาร์มจะเลี้ยงไก่ไข่แบบโรงเรือนเปิด และเลี้ยงบนบ่อปลา จำนวน 25,000 ตัว บนเนื้อที่ 9 ไร่ สร้างรายได้ และประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำฟาร์ม แถมไข่ไก่ที่ฟาร์มยังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกด้วย

คุณรมญา ทับทิมทอง ผู้จัดการฟาร์ม เล่าถึงที่มาของฟาร์มแห่งนี้ว่า ฟาร์มไก่พรหมรัศมีเป็นฟาร์มของ คุณรัศมี ภาณุมาศ พี่สาวของตน โดยสร้างฟาร์มขึ้นเพื่อต้องการสร้างอาชีพให้แก่ญาติพี่น้อง และคนในพื้นที่ที่ว่างงาน ได้มีรายได้ไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเลี้ยงครอบครัวของเขา จึงทำฟาร์มที่ได้มาตรฐาน สะอาด และถูกสุขลักษณะ ตามคำแนะนำจากสำนักงานปศุสัตว์ และสัตวบาล

1.โรงเรือนไก่ไข่ แบบเปิด
1.โรงเรือนไก่ไข่ แบบเปิด
2.คุณรัศมี-ภาณุมาส-หรือเจ๊หมี
2.คุณรัศมี-ภาณุมาส-หรือเจ๊หมี
คุณรมญา-ทับทิมทอง-ผู้จัดการฟาร์ม
คุณรมญา-ทับทิมทอง-ผู้จัดการฟาร์ม

สิ่งแรกที่สัมผัสได้ คือ เรื่องของความสะอาด ถึงแม้จะเป็นการเลี้ยงในโรงเรือนเปิด แต่ไม่มีกลิ่นรบกวนใดๆ ซึ่งคุณรัศมีจะเน้นย้ำกับพนักงานเสมอว่า ความสะอาดของฟาร์มต้องมาเป็นอันดับแรก เพราะฟาร์มถือเป็นแหล่งผลิตอาหารอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภค เมื่อฟาร์มมีความสะอาด สัตว์ที่เลี้ยงก็จะอยู่อย่างสบาย ไม่เครียด และป่วยง่าย

ทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดีตามไปด้วย อันดับรองลงมา คือ ความซื่อสัตย์ อยู่ร่วมกันแบบพี่น้อง คอยให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พนักงานที่อยู่ในฟาร์มทำงานร่วมกัน ด้วยความรัก ความสามัคคี และรู้จักหน้าที่ของตนเอง

3.ฟาร์มไก่ไข่
3.ฟาร์มไก่ไข่

สภาพพื้นที่เลี้ยงไก่ไข่

ปัจจุบันฟาร์มไก่พรหมรัศมีเลี้ยงไก่ไข่ทั้งหมด 25,000 ตัว โดยโรงเรือนแรกเป็นโรงเรือนขนาดเล็ก เนื่องจากตั้งอยู่บนบ่อปลา และสามารถเลี้ยงปลาดุก ปลาสวาย เป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง ส่วนโรงเรือนที่ 2 เป็นโรงเรือนเปิดเหมือน โรงเรือนไก่ไข่ ทั่วไป ล่าสุดทางฟาร์มได้ใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท ในการสร้างโรงเรือนที่ 3 ขนาดความกว้าง 24 เมตร ยาว 100 เมตร สามารถเลี้ยงไก่ได้ 17,000 ตัว

โฆษณา
AP Chemical Thailand

โดยซื้อโครงสร้างเก่าจากโรงเรือนสุกรมาดัดแปลงเพื่อเป็นการลดต้นทุน นอกจากนี้ยังมีการสร้างโรงเรือนตากมูลไก่ที่มีความแข็งแรงเพิ่มเติม เพื่อการจัดการด้านมลภาวะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเดิมจะตากมูลไว้กลางแจ้ง ซึ่งในช่วงฤดูฝนจะเกิดปัญหาเวลาฝนตก ทำให้มูลไก่ไม่แห้ง โรงเรือนใหม่จึงเป็นโรงเรือนโปร่งแสง โดยการนำพลาสติกใสมาคลุม จะสามารถป้องกันฝนตก โดยที่แสงแดดยังส่องผ่านให้มูลไก่แห้งได้

สำหรับสายพันธุ์ที่เลี้ยงมีสายพันธุ์โรมันบราวน์ กับแบล็คค็อก เป็นไก่สาวอายุ 16 สัปดาห์ ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง 14-18 เดือน โดยมีอัตราการผลิตไข่อยู่ประมาณ 80-90 % เมื่อถึงเวลาปลดไก่จะมีพ่อค้าประจำที่ซื้อขายกันมานานมารับไก่ไป ซึ่งราคาขายจะขึ้นอยู่กับราคาที่ประกาศ ณ ตอนนั้น

4.อาหารไก่ไข่ของเบทาโกร
4.อาหารไก่ไข่ของเบทาโกร

การให้อาหารไก่ไข่

การเลี้ยงไก่ไข่เริ่มจากการให้อาหารเช้าประมาณ 05.00 น.โดยใช้อาหารของ บริษัท เบทาโกร จำกัด หลังจากนั้นจะเริ่มเก็บไข่ และจะให้อาหารอีกรอบประมาณ 17.00 น. หรือหากเป็นช่วงที่มีอากาศร้อนจะยืดเวลาออกไป และเก็บไข่อีกรอบเป็นอันเสร็จภารกิจประจำวัน ส่วนไข่ที่ได้จะนำเข้าสู่ห้องคัดไข่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของอีกแผนกหนึ่ง โดยจะคัดไข่หลังจากที่เก็บไข่มาทันที และส่งขายให้ลูกค้าประจำ เพื่อความสดใหม่จนถึงผู้บริโภค

5.โรงเรือนตากมูลไก่ไข่
5.โรงเรือนตากมูลไก่ไข่

การบริหารจัดการฟาร์มไก่ไข่

ส่วนการเก็บมูลไก่จะทำหลังจากให้อาหารและเก็บไข่ในช่วงเช้าเสร็จ โดยนำไปตากในโรงเรือนสำหรับตากมูล เมื่อแห้งแล้วจะบรรจุใส่กระสอบไว้ใช้ในไร่ผลไม้ของทางฟาร์มเอง อีกส่วนหนึ่งจะจำหน่ายให้กับลูกค้าประจำในราคากระสอบละ 35 บาท

ส่วนการจัดการอื่นๆ จะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละช่วง ถ้าเป็นช่วงที่มีอากาศร้อนไก่จะเครียด และให้ไข่น้อย จะแก้ไขโดยการเปิดสปริงเกลอร์บนหลังคาเพื่อลดอุณหภูมิ และเสริมวิตามินในน้ำให้ไก่กินเพื่อคลายเครียด และทำให้ไก่แข็งแรง“สิ่งสำคัญผู้เลี้ยงต้องเข้าใจ และรู้จักสังเกตพฤติกรรมไก่ทุกวัน เช่น หากเราเดินเข้าไปในโรงเรือนแล้วไก่มีความกระตือรือร้น และมีการตอบรับที่ดี ถือว่าสุขภาพดี แต่ถ้าไก่มีอาการซึมแสดงว่าไก่กำลังป่วย หรือเกิดภาวะเครียด”

 “ก่อนหน้านี้สภาพอากาศแปรปรวนมาก จะเจอสภาวะไข่หด ซึ่งไก่จะกินอาหารได้ดี และมีการตอบสนองที่ดี แต่อากาศที่แปรปรวนทำให้ไข่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จึงปรึกษากับสัตวบาลที่เป็นเซลล์ คิดว่าน่าจะมีสาเหตุเกิดจากความเครียดที่อากาศเปลี่ยนกะทันหัน ทำให้ไก่ปรับตัวไม่ทัน เขาก็จะจัดโปรแกรมวิตามินและวัคซีนให้ เพื่อลดความเครียด ปรับเวลาการใช้อาหาร จัดเวลาให้พนักงานเข้าไปใน โรงเรือนไก่ไข่ น้อยที่สุด เพื่อที่จะรบกวนไก่น้อยที่สุด ให้ไก่อยู่อย่างอิสระที่สุด และปัจจุบันก็ดีขึ้นตามลำดับ” คุณรมญาเล่าถึงสภาวะอากาศที่แปรปรวนมีผลกระทบต่อไก่โดยตรง

โฆษณา
AP Chemical Thailand
6.จุดพ่นยาฆ่าเขื้อ
6.จุดพ่นยาฆ่าเขื้อ

การป้องกันกำจัดโรคระบาดใน โรงเรือนไก่ไข่ แบบเปิด

หากมองว่าการเลี้ยงในระบบเปิดถือว่ามีโอกาสติดโรคจากภายนอกมากกว่าการเลี้ยงในโรงเรือนปิด (EVAP) ดังนั้นการเข้มงวด หรือการจัดการด้านระบบไบโอซีเคียวริตี้ (Bio Security) จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเริ่มจากตัวโรงเรือนเลี้ยงไก่ ทางฟาร์มจะมีตาข่ายล้อมรอบ โรงเรือนไก่ไข่ เพื่อป้องกันนกและสัตว์อื่นเข้าสู่ โรงเรือนไก่ไข่ ส่วนแผงไข่มีการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อแล้วตากแดด และเมื่อเก็บมูลไก่ออกจะพ่นยาฆ่าเชื้อที่พื้นทุกครั้ง และจะพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อประเภทที่สามารถโดนตัวไก่ได้ทุกสัปดาห์

7.เครื่องคัดไข่ของจันทาฟาร์ม
7.เครื่องคัดไข่ของจันทาฟาร์ม
ไข่ฟองโต-ผิวสวย
ไข่ฟองโต-ผิวสวย
พนักงานลำเลียงไข่ออกจากฟาร์ม
พนักงานลำเลียงไข่ออกจากฟาร์ม

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายไข่ไก่

ในสภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ และไม่สามารถกำหนดราคาของผลผลิตได้ วิธีที่ทำให้ทางฟาร์มสามารถอยู่รอดได้นั้น คือ การหาตลาดใหม่เพิ่มจากเดิม อย่างเช่น ตลาดนัด เพราะสามารถจำหน่ายถึงมือลูกค้าและผู้บริโภคโดยตรง เพื่อที่จะได้เงินมาหมุนเวียนซื้ออาหารเลี้ยงไก่ในฟาร์ม

แต่ถ้าเป็นช่วงที่ไข่อืดมาก ระบายไม่หมด ก็จะใช้วิธีการปลดไก่เพื่อลดจำนวนลง บางเดือนช่วงที่สภาวะราคาไข่ไก่ตกต่ำก็มีขาดทุนบ้าง แต่อย่างไรก็ตามบางช่วงไข่ก็ได้ราคาดี หากเฉลี่ยทั้งปีก็ถือว่าอยู่ได้ โดยไข่ไก่ที่จำหน่ายจะเป็นไข่คัดทั้งหมด ซึ่งราคาที่ทางฟาร์มจำหน่ายจะถูกกว่าราคาตลาด เพราะเป็นการจำหน่ายตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางแต่อย่างใด

“การออกตลาดนัดทำให้ได้ลูกค้าประจำเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีจุดเด่นเพราะทำฟาร์มเอง ฉะนั้นไข่ที่นำไปจำหน่ายจึงเป็นไข่สดๆ จากฟาร์มแบบวันต่อวัน ทำให้ลูกค้าประทับใจ เริ่มต้นจากซื้อไปบริโภคเองในครัวเรือน จนนำไปวางขายหน้าร้าน บางรายพอเจอหน้ากันก็รู้เลยว่าเจ้านี้ต้องการจำนวนเท่าไหร่ และเขาจะรู้ว่าเราไปตอนไหน วันไหน” คุณรมญากล่าว

ตลาดนัดที่ออกก็จะมีวันอาทิตย์ และวันพฤหัสบดี ที่ตลาดนัดบางเค็ม ตำบลบางเค็ม อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ส่วนวันศุกร์จะเป็นตลาดเบิร์ด คลองถมชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ไกลสุดจะเป็นตลาดนัดแถวชะอำ เพราะไปจำหน่ายแล้วมีลูกค้าติดใจ และต้องไปส่งไข่ให้ลูกค้าเจ้าประจำ จึงนำไข่ที่จะขายที่ตลาดนัดไปด้วย โดยช่วงเช้าจะทำงานอยู่ในฟาร์ม จะออกตลาดนัดช่วงบ่าย ส่วนมากเป็นตลาดนัดตอนเย็น ใช้เวลาขายเพียง 3-4 ชม./วัน

ส่วนตลาดไข่ในช่วงนี้ดีกว่าช่วงที่ผ่านมา เพราะจะเห็นว่าต่างประเทศประสบปัญหาไข้หวัดนก และทางภาคใต้ของประเทศไทยเองก็ประสบปัญหาน้ำท่วมทำให้ขาดแคลน บางฟาร์มเกิดความเสียหาย จำนวนไก่ลดลง จึงทำให้ไข่ราคาดีขึ้น และความต้องการของผู้บริโภคมีการตอบรับค่อนข้างดี

โฆษณา
AP Chemical Thailand
8.ตาข่ายล้อมรอบโรงเรือนเพื่อป้องกันนกและสัตว์อื่น
8.ตาข่ายล้อมรอบ โรงเรือนไก่ไข่ เพื่อป้องกันนกและสัตว์อื่น

การวางแผนในอนาคต

สำหรับการขยายฟาร์ม หรือแผนอนาคต ยังไม่มีแผนแต่อย่างใด เพราะดูจากสภาพราคายังไม่มีแรงจูงใจในการเพิ่มจำนวน หรือทำอย่างอื่นเพิ่มเติม แต่จะรักษาคุณภาพ และเข้มงวดด้านการจัดการเพิ่มขึ้น เพราะ โรงเรือนไก่ไข่ ที่เลี้ยงเป็น โรงเรือนไก่ไข่ ระบบเปิด ซึ่งหลายคนมองว่าจัดการยาก แท้จริงแล้วไม่ยาก เพราะงานทุกด้านดำเนินไปตามระบบที่วางไว้ ด้านพนักงานก็รู้หน้าที่ และมีความชำนาญเป็นอย่างดี

ถ้าหากมีปัญหาเฉพาะหน้า หรือเหตุการณ์ฉุกเฉิน พนักงานก็มาแจ้ง เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว และถ้าปลดไก่รุ่นต่อไปจะมีการปรับปรุงโรงเรือนครั้งใหญ่ คือ รื้อหลังคาโรงเรือนที่ 2 เพื่อยกขึ้นให้สูงกว่าเดิม เพื่อให้ลมพัดผ่านได้สะดวก และเป็นการระบายความร้อนได้ดียิ่งขึ้น โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในฟาร์มเป็นของ บริษัท แทนไทย เฟิร์สเทค จำกัด นั่นเอง

9.คุณรมญากีบผลผลิตไข่ไก่ในฟาร์ม
9.คุณรมญากีบผลผลิตไข่ไก่ในฟาร์ม

มุมมองในอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่

อาชีพเลี้ยงไก่ไข่ถือว่าเป็นอาชีพที่ดี สามารถเลี้ยงตัวเองได้ คนเลี้ยงต้องใช้ความอดทน เพราะไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าเองได้ และมีภาวะทางด้านราคาที่ไม่เสถียร ซึ่งหากมองทั้งห่วงโซ่แล้ว ผู้เลี้ยงจะถือว่าเป็นผู้ที่น่าสงสารที่สุด เพราะนอกจากจะต้องแบกรับภาระและความเสี่ยงหลายๆ ด้านแล้ว บางช่วงต้องเจอกับสภาวะไข่อืด ราคาตกต่ำ อีกด้วย

เมื่อถามถึงอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ ในมุมมองของคุณรมญาได้รับคำตอบว่า “ขึ้นอยู่กับคนที่รักการเลี้ยงสัตว์จริงๆ เพราะเราอยู่กับสิ่งมีชีวิตที่พูดไม่ได้ และไม่สามารถบอกเราได้ว่าไม่สบาย หรือหิว เพราะฉะนั้นเราก็ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมของสัตว์เอง ว่าแสดงอาการปกติหรือไม่ ดังนั้นคนเลี้ยงต้องเข้าใจในตัวไก่ก่อนว่าเขามีความต้องการอะไร”

คุณรมญาทิ้งท้ายว่า “ในความรู้สึกของเกษตรกรรายย่อยคนหนึ่ง จึงอยากบอกบริษัทรายใหญ่ว่าอย่าพยายามดั๊มราคา เพราะรายย่อยเจอปัญหามาก เนื่องจากพวกเราเลี้ยงในจำนวนไม่มาก และเป็นจำนวนที่เลี้ยงครอบครัวได้เท่านั้น เมื่อเจอการดั๊มราคาจึงทำให้เราอยู่ยากลำบากขึ้น สำหรับทุกวันนี้ผลประกอบการก็พอเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ถือว่าดี แต่ก็ยังพอประคองได้ และอยากฝากถึงผู้บริโภค อยากให้บริโภคไข่กันเยอะๆ เฉลี่ยและควรบริโภควันละฟอง เพราะในไข่ไก่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์มากมาย”

ขอขอบคุณ คุณรัศมี ภาณุมาศ เจ้าของฟาร์ม โทร.081-913-4334 คุณรมญา ทับทิมทอง ผู้จัดการฟาร์ม โทร.080-625-2815 ฟาร์มไก่พรหมรัศมี เลขที่ 33/3 หมู่ 3 ตำบลห้วยยางโทน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี

โฆษณา
AP Chemical Thailand