การเพาะต้นอ่อนทานตะวันใช้เวลาเพียง 7 วัน ได้ต้นอ่อนตามต้องการ ส่วนวิธีการอาจแตกต่างกันไปบ้าง อย่าง คุณวีระพงษ์ ยิ้มเรือน หรือคุณมด วิศวกรที่ผันตัวเองมาเป็นผู้ผลิตต้นอ่อนทานตะวันจำหน่าย เพราะสามารถดูแลลูกชายที่เป็นเอสแอลดีไปพร้อมกับเพาะต้นอ่อนทานตะวันส่งขายร้านผักปลอดสารพิษได้
โดยทำงานอยู่กับบ้าน ใช้เวลาช่วงเช้าเพาะและดูแลต้นอ่อนทานตะวันในโรงเรือนที่ปลูกไว้ในบริเวณบ้าน พอตกบ่ายแพ็คต้นอ่อนนำไปส่งลูกค้าตามออเดอร์ที่มีประมาณ 400 กิโลกรัม/เดือน ทำโดยใช้แรงงานตนเองเป็นหลัก และจ้างญาติที่บ้านอยู่ใกล้กันตัดต้นอ่อนเพื่อให้ทันกับเวลา ทั้งนี้เขาได้พัฒนาวิธีผลิตให้ง่ายต่อการจัดการ ลดขั้นตอนการทำงาน และผสม วัสดุปลูก ใช้เอง
“ประมาณเดือนกุมภาพันธ์เป็นช่วงที่ทานตะวันกำลังออกดอก เราเป็นครอบครัวเกษตรก็วางแผนไปหาเพื่อนและเที่ยวด้วย ก็พิมพ์คำว่าทานตะวันในกูเกิลก็มีคำว่าต้นอ่อนทานตะวันขึ้นมา ผมก็เข้าไปดูว่าคืออะไร ก็เลยหาเมล็ดมาเพาะ ปรากฏว่าอร่อย ตอนแรกแค่อยากจะทำทานเอง และแจกเพื่อนบ้านบ้าง แต่พอหาข้อมูลไปเรื่อยๆ พบว่ามีคนทำขายก็เลยทำบ้าง พอดีพี่สาวขายผักปลอดสารพิษอยู่ตลาดเซฟอี จึงติดต่อให้เอาไปวางขาย ก็ขายดี”
สรรพคุณของต้นอ่อนทานตะวัน
ต้นอ่อนทานตะวันผัดน้ำมันหอย สลัดต้นอ่อนทานตะวัน ยำต้นอ่อนทานตะวัน และอีกหลากหลายเมนูจากต้นอ่อนทานตะวัน เป็นเมนูใหม่ในร้านอาหารเพื่อสุขภาพกำลังได้รับความนิยม เพราะอุดมด้วยคุณค่าทางอาหารประกอบไปด้วยโปรตีน,วิตามินเอ, อี, บี1, บี6, ธาตุเหล็ก,โอเมก้า 3, 6, 9 และเส้นใยอาหาร มีสรรพคุณบำรุงผิวพรรณ สายตา ชะลอความแก่ บำรุงเซลล์สมอง ป้องกันอัลไซเมอร์ ต้นอ่อนทานตะวันเพาะจากเมล็ดทานตะวันพืชล้มลุกที่ดอกแก่มีเมล็ดจำนวนมาก ใช้สกัดเป็นน้ำมัน เป็นอาหารคน และสัตว์
ประเภทของเมล็ดทานตะวัน
ทานตะวันหรือชื่อภาษาอังกฤษ sunflower ชื่อวิทยาศาสตร์ Helianthus annuus Linn.เป็นพืชในวงศ์ Compositae มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือด้านตะวันออก ชาวยุโรปนำมาปลูกในประเทศสเปน และมีบันทึกว่าชาวญี่ปุ่นนำทานตะวันเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทานตะวันมีดอกเป็นดอกเดี่ยว ขนาดใหญ่ ออกปลายยอด ดอกทรงกลม ตรงกลางมีเกสรรวมกันอยู่เต็ม มีกลีบดอกสีเหลืองเรียงโดยรอบคล้ายเปลวรัศมีดวงอาทิตย์
ลักษณะพิเศษของดอกทานตะวัน คือ จะหันหน้าดอกไปตามดวงอาทิตย์เสมอ เมื่อดอกทานตะวันผสมเกสรแล้วดอกจะเหี่ยวแห้ง เกสรตัวผู้จะหลุดร่วง เหลือแต่เมล็ดสีดำเรียงเป็นวงกลมอยู่กลางดอก ดอกที่ติดเมล็ดแล้วจะคว่ำหน้าลงสู่พื้นดิน ในเมล็ดทานตะวันมีเนื้อคล้ายเม็ดแตงโม
เมล็ดทานตะวันแบ่งเป็น 3 ประเภทได้แก่
- เมล็ดที่ใช้สกัดน้ำมัน (เมล็ดเล็กสีดำ เปลือกบาง)
- เมล็ดที่ใช้รับประทาน (เมล็ดใหญ่ เปลือกหนา ไม่ติดกับเนื้อในเมล็ด)
- เมล็ดที่ใช้สำหรับเลี้ยงนก หรือไก่
จุดเริ่มต้นการเพาะต้นอ่อนทานตะวัน
คุณมดเล่าถึงจุดเริ่มต้นการเพาะต้นอ่อนทานตะวัน และหาข้อมูลไปจนพบหัตถศิลป์ฟาร์ม อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ปลูกผักปลอดสารพิษ และจำหน่ายเมล็ดทานตะวัน จึงเดินทางไปเรียนรู้เรื่องการเพาะต้นอ่อนทานตะวันอย่างจริงจัง เขาเปิดเผยต่อไปว่าครั้งแรกใช้ดินที่บรรจุถุงขายทั่วไป ซึ่งเนื้อดินมีลักษณะหยาบเอามาปลูกไม่ค่อยงาม ซึ่งหัตถศิลป์ฟาร์มแนะนำว่าสามารถใช้ขี้เห็ดแทนได้ และบอกสูตรให้ทำโดยไม่ปิดบัง ตนจึงกลับมาตระเวนหาตามฟาร์มเห็ดใกล้บ้าน และซื้อขี้เห็ดมาประยุกต์ผสมเป็น วัสดุปลูก
การทำขี้เห็ด เป็น วัสดุปลูก
ขี้เห็ดเป็น วัสดุปลูก ในก้อนเห็ดที่ผ่านการเพาะเห็ดมาแล้ว มีส่วนผสมจากขี้เลื่อย และสารอาหารเสริมประเภทรำละเอียด ปูนขาว ยิบซั่ม ดีเกลือ ไทอามีน แป้ง น้ำตาล รากมอสส์ กระถินป่น เหล่านี้ไม่เป็นพิษกับต้นไม้แต่อาจทำให้เกิดอาการใบเหลืองได้
หากอัตราส่วนคาร์บอนกับไนโตรเจนสูง ในการนำไปใช้จึงจำเป็นต้องลดอัตราส่วนคาร์บอนกับไนโตรเจนก่อน คุณมดนำขี้เห็ด 10 ส่วน ผสมแกลบดำ 10 ส่วน ปูนขาว 1 ส่วนและขี้ไก่ 3 ส่วน ทำเป็น วัสดุปลูก แต่ต้องตีขี้เห็ดให้ละเอียดด้วยอุปกรณ์ซึ่งประดิษฐ์เอง ช่วยลดเวลา ประหยัดแรงงาน นำมาหมักรวมกับขี้ไก่แกลบประมาณ 1 เดือน ถ้าไม่มีขี้ไก่แกลบสามารถใช้ขี้ไก่อัดเม็ดนำมาบี้ให้ละเอียดใช้ผสมได้เลย
“ข้อดีของการนำขี้เห็ดมาใช้สามารถลดต้นทุนได้ จากเดิมต้องซื้อดินถุง 6-7 ถุง 100 บาท ก็มาซื้อเห็ดก้อนละ 1 บาท เฉลี่ยแล้วถูกลงประมาณ 30% แต่การใช้ขี้เห็ดจะมีความสะดวกกว่าตรงที่ว่าถ้าเราซื้อดินมาเราต้องไปย่อยให้ละเอียดก่อน เพราะทานตะวันไม่ชอบดินก้อนๆ บางคนต้องเอามาร่อน และเสียดินไปถึง 20-30%
แต่ถ้าเป็นขี้เห็ดมันใช้ได้ 100% เลย นอกจากนี้เรายังได้อาหารจากก้อนเห็ด และใยเห็ด ที่อยู่ในก้อน มันก็เป็นอาหารได้ และราเขียวก็มีประโยชน์ป้องกันเน่า มีคนบอกว่ามันอยู่ในกลุ่มเดียวกับไตรโคเดอร์มา เป็นราดี ผมก็คัดเอามาคลุกเคล้า มันก็ช่วยได้”
สภาพพื้นที่เพาะต้นอ่อนทานตะวัน
ขณะที่โรงเรือนเพาะต้นอ่อนทานตะวันปลูกอยู่ในบริเวณบ้าน ด้วยเหตุผลเพื่อความสะดวก ง่ายต่อการจัดการ โรงเรือนดังกล่าวช่วยป้องกันฝน นก และพรางแสง ทำแบบต้นทุนต่ำ ใช้เงินเพียง 6,000 บาท เป็นโรงเรือนที่ทำขึ้นง่ายๆ
ประกอบด้วยหลังคาพลาสติกป้องกันฝน และแสลนพรางแสงให้แดดส่องเพียงรำไร คลุมด้านบน และด้านข้าง มีชั้นวางถาดเพาะอยู่ภายใน และทำการฉีดพ่นน้ำปูนขาวที่พื้น กำจัดเชื้อรา ป้องกันการเกิดรากเน่าในช่วงที่สภาพอากาศมีความชื้นสูง
ขั้นตอนการเพาะต้นอ่อนทานตะวัน
“สำหรับขั้นตอนการผลิตเริ่มตั้งแต่การเลือกซื้อเมล็ดทานตะวันซึ่งเป็นเมล็ดที่เขาเอาไปทำน้ำมัน ปลูกในบ้านเราเป็นส่วนใหญ่ มีบางรายนำมาจากเมืองจีนก็มี อย่าง เมล็ดทานตะวันเมล็ดใหญ่เป็นชนิดที่เอาไปกะเทาะกินเมล็ด แต่ต้องเป็นเมล็ดที่ไม่เอาไปเพาะปลูก เพราะเมล็ดพวกนั้นเขาจะเคลือบยาฆ่าแมลง หลังจากได้เมล็ดมาแล้วนำมาล้าง 1-2 เที่ยว เพื่อขจัดสิ่งสกปรก ฝุ่น เชื้อรา ให้ออกไประดับหนึ่ง
นำไปแช่น้ำอุ่น 1 คืน และบ่ม 1 วัน (บ่มคือเทน้ำออกแล้วใส่ผ้าห่อไว้ชื้นๆ) จะเห็นรากแตกออกมาสีขาวๆ ก่อนนำไปเพาะให้จุ่มในน้ำปูนขาวป้องกันเชื้อรา แล้วนำไปเพาะในกระบะเพาะที่เตรียมไว้” กระบะที่ใช้เพาะต้นอ่อนทานตะวันเป็นกระบะเพาะต้นกล้าราคา 30-32 บาท เป็นถาดขนาด 30x60x3 เซนติเมตร สะดวก เวลาเก็บเกี่ยวสามารถจับต้นแล้วปาดด้วยใบมีดโกนได้ง่าย
“ผมเอาดินลงกระบะก่อนแล้วเอาเมล็ดมาโรย แล้วโรยดินกลบหน้าไปนิดหนึ่ง เสร็จแล้วรดน้ำชุ่มเลย พอ 2 วันผ่านไป ค่อยมารด เพราะเราพยายามหาวิธีป้องกันปัญหารากลอย ผมก็เลยแกล้งมันให้รากลงข้างล่างให้เร็วที่สุด ให้ยอดมันขึ้นข้างบนให้เร็วที่สุด พอพ้น 2 วัน เราก็รดน้ำให้เช้า-เย็น รดบางๆ รดแค่พอใบเปียกๆ ไม่ต้องชุ่มมาก เพราะถ้าชื้นหรือแฉะมากรากจะเน่า ผมจะใช้สายยางรดให้เป็นฝอยเล็กๆ เท่านั้น”
การเก็บเกี่ยวต้นอ่อนทานตะวัน
ลงกระบะเพียง 5 วันได้ตัดขาย ใน 1 กระบะ โรยเมล็ดประมาณ 1.5 ขีด เมล็ดไม่เบียดชิดหรือทับกัน ทำให้ได้ต้นอ่อนสวยๆ ไม่อ้วน หรือผอม เกินไป สามารถตัดต้นอ่อนทานตะวันได้ 6-7 ขีด วิธีตัดไม่ใช้กรรไกร เพราะหากใช้กรรไกรตัดต้นอ่อนทานตะวันจะบอบช้ำตรงรอยตัด ทำให้เน่าง่าย เก็บไว้ได้ไม่นาน การตัดใช้มีดโกนตัดที่โคน จากนั้นนำมาล้างน้ำผึ่งให้แห้งพอหมาดๆ นำมาบรรจุใส่ถุงแพ็คละ 150-200 กรัม ตามแต่ลูกค้าสั่ง ขายส่งราคา 110-130 บาท/กก.
“แรกๆ ผมจะเพาะทุกวันเท่ากันหมดเลย พอบ้าง เหลือบ้าง ขาดบ้าง ก็รู้สึกว่าไม่ถูกแล้ว เลยมานั่งวางแผนใหม่ เพราะเรารู้แล้วว่าเมล็ด 1 กก. (ราคา 140 บาท) จะได้ต้นอ่อน 6 กก. เราก็วางแผนได้ เฉลี่ยลูกค้าที่เราส่งต่อรายใช้ประมาณ 3-9 กก. /วัน อย่างเสาร์-อาทิตย์บางรายใช้ถึง 9 กก. เขาขายตลาดน้ำคลองลัดมะยม เอาไปขายรวมกับผักปลอดสารพิษอื่นๆ อย่าง เห็ด หรือผักไฮโดรโปนิกส์ เราไม่ไปขายเอง เพราะไม่มีเวลา และถ้าเราไปขายเองก็ขายได้แค่ 9 กก. แต่ถ้าเราเพาะส่ง เราจะวางแผนได้ และผลิตได้เต็มที่”
การจำหน่ายต้นอ่อนทานตะวัน
คุณมดกล่าวถึงแนวทางการผลิตต้นอ่อนทานตะวันของตนเองจำหน่ายในร้านผักปลอดสารพิษ เพราะไม่มีการใช้ยากำจัดแมลงศัตรูพืชแต่อย่างใด เนื่องจากเพาะในโรงเรือน และใช้ระยะเวลาสั้นประมาณ 7 วัน หรือมากกว่านิดหน่อย ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หรืออุณหภูมิในขณะนั้นๆ และด้วยคุณค่าทางโภชนาการของต้นอ่อนทานตะวันจัดเป็นพืชสุขภาพ สามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลาย กำลังเป็นที่รู้จักมากขึ้น เป็นช่องทางสร้างรายได้ให้กับผู้ที่อยู่ในวงจรจำนวนมาก เรียกว่ามีประโยชน์ต่อผู้ผลิต และผู้บริโภค สามารถสร้างอาชีพใหม่ ทำเงินได้ไม่ยาก
ขอขอบคุณ คุณวีระพงศ์ (มด) ยิ้มเรือน โทร.08-1889-2107 วัสดุปลูก วัสดุปลูก วัสดุปลูก วัสดุปลูก