วิธีการทำนา แบบ”ปาเป้า”ใช้เมล็ดพันธุ์ 3-4กิโลกรัม/ไร่ แต่ให้ผลผลิตสูงถึง 1,000 กิโลกรัม/ไร่

โฆษณา
AP Chemical Thailand

แม้วิถีชีวิตความเป็นอยู่และการทำนาของชาวบ้าน “ภาคอีสาน” ที่เมื่อก่อนจะดูเรียบง่ายกว่าในทุกวันนี้อาศัยธรรมชาติและแรงงานเป็นหลักในการทำมาหากิน แต่ก็ต้องใช้องค์ความรู้ภูมิปัญญาที่ถูกถ่ายทอดมาเพื่อจะได้อยู่รอด แตกต่างจากปัจจุบันที่ต้นทุนการ “ทำนา” มีแนวโน้ม “สูงขึ้น” เนื่องจากน้ำมัน ปุ๋ย และสารเคมี มีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าแรงงานปรับเพิ่มสูงขึ้นวันละ 300-400 บาท

ซึ่งการลดต้นทุนในการผลิตข้าวจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่เกษตรกรสามารถจะพึ่งพาตนเองได้ การใช้ “ภูมิปัญญา” และ “เทคนิค” เฉพาะตัว นำมาพัฒนาปรับเปลี่ยน วิธีการทำนา ที่มีอยู่หลายรูปแบบ เช่น นาดำ นาหว่าน นาโยนกล้า หรือแม้แต่การใช้เครื่องหยอดเมล็ดข้าว เป็นต้น หันมาทำนาแบบ “ปาเป้า” ซึ่งเป็นการปลูกข้าวแบบประณีต เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตข้าวได้เป็นอย่างดี จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร

เนื่องจากใช้เมล็ดพันธุ์ 3-4กิโลกรัม/ไร่เท่านั้น และยังสามารถประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน การดูแลรักษาง่ายอีกด้วย

1.การถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ที่เข้ามาเรียนรู้การปลูกข้าวแบบปาเป้า
1.การถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ที่เข้ามาเรียนรู้การปลูกข้าวแบบปาเป้า
2.คุณสุระพงศ์-ผุดผ่อง-ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสีชมภู
2.คุณสุระพงศ์-ผุดผ่อง-ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสีชมภู

ทีมงาน นิตยสารพืชเศรษฐกิจอาเซียน (กลุ่มข้าวเศรษฐกิจ) ได้พูดคุยกับ คุณสุระพงศ์ ผุดผ่อง และครอบครัว ผู้ปลูกข้าวแบบปาเป้า ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย ในเนื้อที่ 6 ไร่ ซึ่งมีสภาพเป็นดินเหนียว กล่าวว่า ตนและครอบครัวทำนาปลูกข้าวด้วยใจรัก ตนจึงเน้นผลิตข้าวให้ได้คุณภาพ และจำหน่ายข้าวเอง เพื่อให้เป็นที่ติดใจ ชื่นชอบ ของผู้คนที่ซื้อข้าวของตนไปเพื่อบริโภค หรือนำไปเพื่อเพาะปลูกด้วย

ในปี 2554 นอกจากตนจะเป็นประธานศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำตำบลน้ำโมงแล้ว ยังมี คุณวิทยา ขันติยู นายเกษตรประจำตำบลน้ำโมง หลังจากที่ปลูกข้าวได้ประมาณปีที่ 2 ประกอบกับศูนย์วิจัยข้าวได้มีการส่งเสริมให้เกิด “ศูนย์ข้าวชุมชน” จึงรวมตัวกันได้ประมาณ 5-6 คน เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวจำหน่าย ภายใต้ “ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสีชมภู” โดยใช้ทุนของตนเองในการปลูกข้าวทั้งหมด และยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่จะเข้ามาเพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรเท่านั้น เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่จะประสบกับปัญหาขาดความรู้เรื่องโรค และแมลง

3.คุณธีรพล-ผุดผ่อง-เกษตรกรรุ่นใหม่ที่รักในอาชีพการทำนา
3.คุณธีรพล-ผุดผ่อง-เกษตรกรรุ่นใหม่ที่รักในอาชีพการทำนา

ข้อดีของการทำนาแบบปาเป้า

สำหรับ วิธีการทำนา แบบปาเป้า คุณสุระพงศ์ ผุดผ่อง และคุณธีรพล ผุดผ่อง ซึ่งเป็นบุตรชาย เกษตรกรรุ่นใหม่ที่หวนกลับคืนสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด ยึดอาชีพในการทำนาพร้อมครอบครัว ยอมรับว่าปลูกข้าวแบบปาเป้าเป็นปีที่ 4โดยเริ่มแรกที่ทำก็พบเจอกับปัญหาอุปสรรคหลายอย่าง เนื่องจากเป็นการปลูกข้าวแบบใหม่ที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน ตนจึงต้องลองผิด ลองถูก แก้ไขปัญหาเองทีละอย่าง จนชำนาญและประสบผลสำเร็จในที่สุด

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ปี 2560/61 ที่ผ่านมาตนยังปลูกข้าวทั้งหมด 9 ไร่ พื้นที่ 6 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์ “กข.22” สามารถปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง และพื้นที่เช่าอีก 3 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์ “กข.6 ต้นเตี้ย” ปลูกง่าย ไม่ล้ม ให้ผลผลิตสูงถึง 1,000 กิโลกรัม/ไร่

วิธีการทำนา แบบปาเป้ามีข้อดีหลายอย่างกว่าการทำนาดำ และการทำนาหว่าน เช่น ลดต้นทุนการผลิตได้ ทั้งค่าปุ๋ย และสารเคมี ประหยัดแรงงาน เพราะสามารถปลูกได้เร็วกว่า ประหยัดเมล็ดพันธุ์ข้าวใช้เพียง 3-4กิโลกรัม/ไร่ ลดการบอบช้ำของต้นกล้า ทำให้ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็วขึ้น เนื่องจากไม่ถูกกระทบมากนัก จึงสามารถแตกกอได้มากกว่า ชาวนาสามารถควบคุมวัชพืชได้ง่าย เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตข้าวได้มากกว่าการทำนาดำ

โดย วิธีการทำนา แบบปาเป้าจะมีความแตกต่างและคล้ายคลึงกับ วิธีการทำนา แบบโยนกล้า แต่ วิธีการทำนา แบบปาเป้าจะมีความสะดวกและจำกัดระยะต้นข้าวได้ดีกว่า การดูแลรักษาง่าย ซึ่งเป็นการพัฒนามาจากการทำนาโยนกล้า เพื่อลดต้นทุนการผลิตของชาวนา โดยมีขั้นตอน วิธีการทำนา แบบปาเป้า ดังนี้

4.ขั้นตอนการเตรียมดินและเพาะเมล็ดกล้าในแปลงเพาะหลุมพลาสติก
4.ขั้นตอนการเตรียมดินและเพาะเมล็ดกล้าในแปลงเพาะหลุมพลาสติก
การกลบดินแปลงเพาะกล้าในถาดหลุม วิธีการทำนา แบบ ปาแป้า
การกลบดินแปลงเพาะกล้าในถาดหลุม วิธีการทำนา แบบ ปาแป้า
การเพาะกล้าในถาดหลุม-โดยใช้ใต้ถุนบ้านเป็นสถานที่ในการเพาะกล้า
การเพาะกล้าในถาดหลุม-โดยใช้ใต้ถุนบ้านเป็นสถานที่ในการเพาะกล้า
ระบบรากของต้นกล้าที่เพาะในหลุมพลาสติกก่อนนำไปสู่การทำนาแบบปาเป้า
ระบบรากของต้นกล้าที่เพาะในหลุมพลาสติกก่อนนำไปสู่การทำนาแบบปาเป้า
นำต้นกล้าออกจากถาดหลุมเพื่อนำไปปาเป้าในแปลงนาที่เตรียมไว้
นำต้นกล้าออกจากถาดหลุมเพื่อนำไปปาเป้าในแปลงนาที่เตรียมไว้

ขั้นตอนการเพาะต้นกล้าในถาดหลุม

1.เตรียมถาดหลุมสำหรับเพาะต้นกล้า ซึ่งเป็นแผงพลาสติกใช้ประมาณ 35-40 แผง/ไร่ แต่ละแผงจะมีจำนวนหลุม 434 หลุม

2.พันธุ์ข้าวสำหรับใช้เพาะกล้าจะต้องนำไปแช่น้ำประมาณ 1 คืน หลังจากนั้นเทน้ำออก ล้างทำความสะอาดเพื่อไม่ให้เกิดกลิ่นหมักหมม วางทิ้งไว้อีก 1 คืน เพื่อให้ข้าวงอกสมบูรณ์ และสามารถนำมาลงถาดได้

3.ผสมดินสำหรับเพาะต้นกล้า โดยนำดิน แกลบ และปุ๋ยหมักชีวภาพ มาคลุกเคล้าเป็นเนื้อเดียวกัน ใส่ดินที่ผสมลงในถาดหลุมประมาณครึ่งหนึ่งของหลุม

โฆษณา
AP Chemical Thailand

4.หว่านเมล็ดข้าวงอกที่เตรียมไว้ลงในหลุม ประมาณหลุมละ 2-4 เมล็ด

5.นำดินที่ผสมไว้มาโรยกลบเมล็ดพันธุ์ข้าวอีกครั้ง และควรระวังอย่าให้ดินล้นออกมาจากนอกหลุม เพราะรากข้าวจะงอกออกมาพันกัน ทำให้เวลานำต้นกล้าไปปลูกจะไม่กระจายตัวนั่นเอง

6.รดน้ำทุกเช้าและเย็นติดต่อกัน จนต้นกล้าอายุได้ 7 วัน หรือมีความสูงประมาณ 5-6 เซนติเมตร

7.การปาเป้าจะนำต้นกล้าที่มีอายุ 7 วัน หรือมีความสูงประมาณ 5-6 เซนติเมตร สามารถถอนต้นกล้าออกจากหลุมนำไปปาเป้าในแปลงนาที่เตรียมดินไว้ได้

5.แปลงนาที่เตรียมดินเพื่อใช้ในการปลูกข้าวแบบปาเป้า
5.แปลงนาที่เตรียมดินเพื่อใช้ในการปลูกข้าวแบบปาเป้า

วิธีการทำนา แบบปาเป้า

ต้นกล้าที่นำมาปาเป้าจะมีวัสดุในการเพาะปลูกติดมาด้วย ดังนั้นการปาเป้าแต่ละครั้งจะใช้ต้นกล้าจำนวน 1 ต้น หรือ 1 หลุม ไปปาเป้าในแปลงนาที่เตรียมดินไว้ ให้มีระยะห่างประมาณ 20×25 เซนติเมตร หรือแล้วแต่สายพันธุ์ของข้าวด้วย ในพื้นที่ 1ไร่ ใช้ต้นกล้าประมาณ 40 ถาด และหลังจากปาเป้าไปแล้ว 1-2 วัน ต้นกล้าจะเริ่มตั้งตรงฟื้นตัวได้อย่างเร็วกว่าการปลูกแบบทำนาโยนกล้า และการปักดำ ที่ต้นกล้าบอบช้ำจากการถอนนั่นเอง

ซึ่งการเตรียมดินในแปลงนานั้นก็ทำเช่นเดียวกันกับการทำนาทั่วไป ไม่มีอะไรแตกต่างกันมากนัก หากแต่จะนำน้ำปุ๋ยหมักชีวภาพที่ทำขึ้นมาเองจากเศษวัสดุพืชผลต่างๆ นำไปเทราดให้ทั่วแปลง แล้วไถกลบทิ้งไว้ 1-2 เดือน ก่อนการเตรียมดินทำนาปาเป้า จากนั้นก็ไถตามปกติ ลูบเทือกปรับผิวดินให้เสมอกัน และทำทางระบายน้ำเพื่อให้ไหลได้สะดวก ก่อนที่จะนำต้นกล้ามาปาเป้าในแปลงนาต่อไป

โฆษณา
AP Chemical Thailand
6.การปลูกข้าวด้วยวิธีการทำนาแบบปาเป้า
6.การปลูกข้าวด้วย วิธีการทำนา แบบปาเป้า

ต้นทุนการผลิตและการเก็บเกี่ยวข้าว

การดูแลรักษาต้นกล้าหลังจากปาเป้าเสร็จ เมื่อต้นข้าวอายุ 2-3 สัปดาห์ จะใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งแรกสูตร 20-20-0 ในอัตรา 15-20 กิโลกรัม/ไร่ และจะใส่ปุ๋ยครั้งที่สอง ประมาณช่วงเดือนตุลาคม สูตร 46-0-0 ในอัตรา 7-10 กิโลกรัม/ไร่ หรือใส่มากน้อยตามความสมบูรณ์ของต้นข้าว การกำจัดวัชพืชถ้าหญ้าขึ้นไม่มากจะเน้นการถอนทิ้ง หรือถ้าหญ้าขึ้นมากก็จะฉีดพ่นด้วยยาฆ่าหญ้า

ทั้งนี้วัชพืชที่เกิดขึ้นอยู่ที่ขั้นตอนในการเตรียมดินและการควบคุมน้ำในแปลงนาด้วย ส่วนการกำจัดข้าวดีด ข้าวเด้ง จะเน้นการใช้เคียวเกี่ยวข้าวตัดทิ้งเพื่อไม่ให้มีข้าวปนในแปลง อายุการเก็บเกี่ยวข้าว กข.6 สามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณวันที่ 15-20 ของเดือนพฤศจิกายน ผลผลิตที่ได้ 1,000 กก./ไร่ ส่วนข้าว กข.22 จะนับตั้งแต่ปลูกประมาณ 135 วัน ผลผลิตที่ได้ 900-1,000 กก./ไร่ (ข้าวนาปรังผลผลิตจะลดลง 100-200 กิโลกรัม/ไร่)

ต้นทุนในการผลิตอยู่ที่ 4,000-4,200 บาท/ไร่ การเก็บเกี่ยวจะใช้แรงงานคน หรือรถเกี่ยวนวดข้าว ในอัตราจ้าง 600 บาท/ไร่ จากนั้นจะนำเมล็ดข้าวมาตากให้แห้ง 3-4 แดด นำไปทำความสะอาดด้วยเครื่องเป่าแรงลมสูง ที่ออกแบบและพัฒนาเครื่องขึ้นมาใช้เอง ด้วยต้นทุนเพียง 2,000-3,000 บาท เท่านั้น เป็นการนำเอาวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นมาปรับปรุงพัฒนาผลิตขึ้นมาให้ใช้งานได้จริง และข้าวส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งเก็บไว้บริโภค หรือเหลือจากกินค่อยนำมาขาย

7.การปลูกฝังเยาวชนตั้งแต่วัยเยาว์ให้รักในการทำนา
7.การปลูกฝังเยาวชนตั้งแต่วัยเยาว์ให้รักในการทำนา

การจำหน่ายข้าวและราคาขายข้าว

ราคาในการจำหน่ายข้าว กข.6 ราคากิโลกรัมละ 30 บาท ข้าว กข.22 ราคากิโลกรัมละ 24 บาท เมื่อหักต้นทุนการผลิตแล้วยังเหลือเงินที่เก็บไว้ทำทุนในการเพาะปลูกรอบฤดูต่อไป และเลี้ยงดูครอบครัวได้เป็นอย่างดี นี่เป็นเพียงวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตข้าว ซึ่งปัจจุบันชาวนาส่วนใหญ่ยังติดอยู่กับวังวนของการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ที่นับวันราคาจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นหนี้เป็นสิน ในส่วนนี้ภาครัฐควรหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและยั่งยืน

นอกจากนี้คุณสุระพงศ์ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ที่เราไม่กล้าเปิดรับสมาชิกเพิ่มก็เพราะความโลภของคน การที่เราขายข้าวได้ในราคาดี กำไรงาม บางทีเขาอาจจะนำข้าวที่ไม่ได้คุณภาพมาขายให้เราก็ได้ จึงเป็นเหตุทำให้หลายกลุ่ม หลายคน ล่มจม เพราะความโลภของตน ดังนั้นผมจึงให้ลูกค้าที่ซื้อข้าวไปเก็บกระสอบไว้ด้วยเสมอ เมื่อพบเจอปัญหาจะได้ตรวจสอบได้ว่าเป็นข้าวที่มาจากที่ไหน และใครเป็นเจ้าของ เพราะในแต่ละกระสอบจะระบุรหัสไว้ทุกถุงอย่างชัดเจนนั่นเอง”

ขอขอบคุณ “ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านสีชมภู” คุณสุระพงศ์ ผุดผ่อง และคุณธีรพล ผุดผ่อง โทร.085-085-4193, 083-454-7387 25 หมู่ที่ 8 บ้านสีชมภู ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย 43110

โฆษณา
AP Chemical Thailand