แม้ว่าการใช้ “แก๊สเอทธิลีน” เร่งผลผลิตในต้นยาง จะมีข้อจำกัด ต้องใช้กับต้นยางอายุ 15 ปีขึ้นไป
เป็น “กฎเหล็ก”
แต่ก็มีเกษตรกรชาวสวนยาง “แหกกฎ” นำมาใช้กับต้นยางอายุน้อยกว่านั้น เช่น 11 ปี หรือเปิดกรีดมาแล้วประมาณ 4-5 ปี
ดังตัวอย่างของเกษตรกรใน อ.บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อไปดูสวนยางพาราที่เริ่มใช้เอทธิลีนเพิ่มผลผลิตยางมาเป็นเวลากว่า 12 ปี จนแทบจะกลายเป็น “เพื่อนสนิท” กับการทำสวนยางระบบนี้เป็นอย่างดี มีความชำนาญจนกล้าพอที่จะใช้เอทธิลีนกับยางเพิ่งเปิดกรีด
“ผมเริ่มทำสวนยางอัดแก๊สมา 12 ปี โดยประมาณ” สมคิด โพธิ์เพชร เจ้าของสวนยางใน จ.สุราษฎร์ธานี พูดถึงในการใช้แก๊สเอทธิลีนในสวนยาง ซึ่งสะท้อน “ชั่วโมงบิน” หรือประสบการณ์ของเขาเป็นอย่างดี
“เมื่อก่อนก็ไม่กล้าใช้ เขาบอกใช้แล้วต้นยางจะตาย เขาใช้กันตอนต้นยางใกล้โค่นเพื่อเร่งน้ำยาง” สมคิดเองก็มีจุดเริ่มต้นด้วยความกลัว เพราะคำบอกเล่าเช่นเดียวกับเกษตรกรทั่วไป
แต่ความคิดของเขาเริ่มเปลี่ยนเมื่อได้ลองใช้แก๊สเอทธิลีนกันยางแก่ใกล้โค่น เห็นปริมาณน้ำยางที่ออกมามากกว่าปกติ ก่อนจะเริ่มศึกษาคุณสมบัติของเอทธิลีนและการใช้กับต้นยางมาอย่างต่อเนื่อง จนกล้าพอที่จะใช้กับต้นยางหนุ่มอายุ 12 ปี เปิดกรีดมาแล้ว 4-5 ปี
เขาเลือกใช้อุปกรณ์ติดตั้งเอทธิลีน และแก๊สเอทธิลีน “ยี่ห้อ เลท ไอ” เพราะมีราคาไม่สูงมาก สามารถติดตั้งได้ด้วยตัวเอง เพียงแค่ตอกลงไปกับเปลือกยางและอัดแก๊สเข้าไปเท่านั้น ขณะที่อุปกรณ์ค่อนข้างทน อยู่ได้นานหลายปี
ข้อดีของการใช้เอทธิลีนกับต้นยาง เขาบอกว่าทำให้ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น 3 เท่า ขณะเดียวกันต้นยางกลับสมบูรณ์กว่าต้นยางในพื้นที่เดียวกัน ใบจะเขียวครึ้มทั้งสวน ขณะที่สวนใกล้เคียงที่ไม่ใช้แก๊สใบร่วงบ้าง ไม่สมบูรณ์บ้าง
“เพราะเอทธิลีนมีความจำเป็นต่อต้นยาง และสามารถสร้างขึ้นมาเองได้ แต่เนื่องจากเมื่อทำเป็นสวนยางจะมีการกรีดเอาน้ำยางอย่างต่อเนื่อง จนต้นยางผลิตเอทธิลีนขึ้นมาทดแทนไม่ทัน”
แต่เมื่อมีการเติมเอทธิลีนในรูปของแก๊สเข้าไปในต้นยาง ปริมาณน้ำยางจึงสูงขึ้น เพราะระยะเวลาการไหลของน้ำยางนานขึ้น ปริมาณน้ำยางจึงไหลเกือบเต็มถ้วย
จากการใช้เอทธิลีนกับยางแก่และยางหนึ่ง ทำให้ค้นพบว่า การใช้เอทธิลีน เมื่อก่อนอาจจะใช้ก่อนโค่น เร่งน้ำยางในช่วงลมหายในสุดท้าย แต่ปัจจุบันการใช้เอทธิลีนกลับเป็น “ยาอายุวัฒนะ” คือ ยืดอายุต้นยางเพิ่มมากขึ้น
เพราะระบบกรีดในต้นยางอัดแก๊สจะใช้วิธีกรีดยางหน้าสูงและหน้าสั้น เพียงแค่ 8 นิ้ว เท่านั้น จึงประหยัดหน้ายาง และมีเวลากรีดยาวนานขึ้น ขณะที่ปริมาณยางสูงขึ้น พื้นที่หน้ายางส่วนบนนี้น่าจะกรีดได้ไม่ต่ำกว่า 4-5 ปี
ระหว่างกรีดยางจากหน้าบน หน้ายางด้านล่างที่ผ่านการกรีดมานาน จะมีเวลาพักตัว และสร้างเปลือกยางอย่างน้อย 4-5 ปีเช่นกัน เมื่อยางหน้าบนหมด จึงลงกลับมากรีดหน้าปกติได้
อย่างส่วนยางแปลงหนึ่งของเขาที่ทีมงานมาดู เป็นยางพันธุ์ RRIM 600 อายุประมาณ 16 ปี กรีดมาร่วม 10 ปี แต่หน้ายางยังสมบูรณ์อยู่เลย เปลือกงอกใหม่เร็วและเรียบ ไม่เกิดแผลปุ่มโปนใดๆ
“ใช้แก๊สแล้วน้ำยางเพิ่ม ต้นยางสมบูรณ์ ของยังยืดอายุกรีดยางได้นาน”
ส่วนปริมาณน้ำยางที่เพิ่มสูงขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากถ้วยรองน้ำยางที่ใช้ เป็นกระป๋อง 4 เหลี่ยม ขนาดความจุ 2 ลิตร ถ้าทำน้ำยางเก็บน้ำยางต้นหนึ่งจะได้น้ำยางประมาณ 0.5-1ลิตร หรือครึ่งกระป๋อง แต่ถ้าทำขี้ยาง กรีดประมาณ 2-3 มีดก็เต็มถ้วย 2 ลิตรแล้ว ทั้งนี้แล้วแต่ความสมบูรณ์ของยางแต่ละต้น
ส่วนการดูแลต้นยาง สมคิดบอกว่า ไม่ได้พิเศษกว่าสวนยางทั่วไปมากนัก แค่ที่สำคัญคือ ต้องให้อย่างเคร่งครัด คือ ปีละ 2 ครั้ง โดยใช้ปุ๋ยผสมผสานระหว่างปุ๋ยเคมีกับอินทรีย์ แต่จะเน้นอินทรีย์เป็นหลัก อัตราส่วน 4 ต่อ 1 หรือ ปุ๋ยอินทรีย์ 4 กระสอบ ปุ๋ยเคมี 1 กระสอบ /ไร่ ใส่ปีละ 2 ครั้ง
ขณะที่การอัดแก๊สเอทธิลีน จะอัดครั้งละ 20 ซีซี ต่อการกรีด 3 ครั้งหรือ 3 มีด ในหนึ่งเดือนมีต้นทุนเอทธิลีนเพียงเดือนละ 500 บาทเท่านั้น
“ยางแปลงนี้มีต้นยาง 700 ต้น แบ่งลูกน้องแล้วเหลือเงิน 25,000 บาท/เดือน” เขาบอกรายได้หลักหักต้นทุน
แต่ปัญหาหนึ่งที่ผู้ใช้เทคนิคนี้เพิ่มผลผลิตยางปฏิบัติอย่างเคร่งครัดคือ เว้นระยะกรีดยางนานกว่าปกติ คือ 1 วันเว้น 2 วัน แต่ เกษตรกรมักจะ “ขาดวินัย” มักจะกรีดยางตามปกติ เพราะปัจจัยรุมล้อมรอบด้านบีบบังคับ
“เกษตรกรมักจะเข้าใจว่าหน้ายางสั้นน้ำยางจะออกเยอะได้อย่างไร จึงกรีดยาวกว่าเดิม วันกรีด ต้องหยุด 2 วัน ชาวบ้านมองว่ามันนานเกิน ก็หยุดวันเดียว ตรงนี้สำคัญมาก”
ใช้แก๊สเอทธิลีนกับต้นยางอายุ 5 ปีครึ่ง…!!!
สมคิดเล่าว่า เมื่อ 4 ปีที่แล้วเขาตัดสินใจใช้แก๊สเอทธิลีนกับต้นยางอายุ 5 ปีครึ่ง แต่อายุเท่านี้ขนาดต้นใหญ่กว่า 50 ซ.ม.ทุกต้น เพื่อทดลองว่าจะได้ผลหรือไม่
แต่จะไม่ใช่วิธีการตอกหัวอุปกรณ์ลงไปในเปลือก ใช้วิธีติดและใช้ยางในรถจักรยานรัดให้แน่น แล้วทากาวรอบๆ หัวตอกให้ติดกับต้นยาง วิธีนี้เขาบอกว่าจะช่วยให้แก๊สไม่ซึมรั่วออกมา และที่สำคัญไม่ทำให้เปลือกยางเสียหาย เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่เปลือกค่อนข้างบาง
เขาบอกว่าต้นยางที่จะใช้ต้องมีขนาด 50 ซ.ม.ขึ้นไป ถ้าเล็กกว่านี้ปริมาณน้ำยางที่ได้อาจจะไม่คุ้มค่ากับต้นทุนการติดตั้งเอทธิลีน
ผลลัพธ์หลังจากนั้นต้นยางก็โตปกติไม่แคระแกร็น แต่จะโตกว่าสวนยางปกติที่ปลูกเวลาใกล้เคียงกันอย่างเห็นได้ชัด เพราะการกรีดไม่จำเป็นต้องกรีดเปลือกหนา และยาว ทำอย่างนี้ต้นยางไม่ได้รับผลกระทบมาก แต่ถ้ายางเล็กแล้วกรีดครึ่งต้น อย่างไรต้นยางก็ชะงักแน่นอน ขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันยางแปลงนี้อายุ 9 ปี
เมื่อพิสูจน์แล้วว่าแก๊สเอทธิลีนเพิ่มผลผลิตได้จริง แล้วต้นทุนการติดตั้งชุดอุปกรณ์ และแก๊สเอทธิลีน เป็นอย่างไร คุ้มค่าหรือไม่ สมคิดอธิบายว่า ชุดอุปกรณ์ราคาประมาณ 40 บาท แต่อยู่นานหลายปี
“อย่างของผม 10 ปี ยังใช้ได้อยู่เลย”
นอกจากนั้นยังมีถังรองน้ำยางขนาด 2 ลิตร ราคา 12 บาท รวมต้นทุนทั้งหมดประมาณ 42 บาท
ส่วนแก๊สเอทธิลีน เขาบอกว่าถูกมาก ต้นทุนเพียงต้นละไม่กี่สตางค์ต่อต้น อย่างสวนยางแปลงหนึ่ง มี ต้นยาง 700 ต้น ต้นทุนเอทธิลีนเพียงเดือนละ 500 บาท
ข้อดีอีกอย่างของการใช้ทำสวนยางเอทธิลีน คือ ใช้คนงานน้อยลง เพราะทำขึ้นยางไม่ต้องเก็บยางทุกวัน และกรีดยางเพียงเดือนละ 10 วันเท่านั้น กรีดยางตอนเย็น 2 ทุ่มก็นอนสบายแล้ว
“สวนยาง 50 ไร่ ใช้คนแค่ 2 คนเท่านั้น ได้เงินรวมกัน 35,000 บาท สัดส่วน 70 : 30 สัดส่วนน้อยกว่าสวนยางปกติ แต่ได้ส่วนแบ่งสูงกว่า ทำงานน้อยกว่า คนงานเองก็ชอบ เขาจะมีเวลาทำงานอย่างละเอียด และไม่อยากไปทำสวนยางปกติอีกเลย”