“ตะไคร้” เป็นพืชเศรษฐกิจตัวหนึ่งที่สำคัญของอุตสาหกรรมเครื่องแกง ปัจจุบันตะไคร้ในตลาดยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งในตลาด และป้อนเข้าโรงงาน ในตลาดสดตะไคร้ก็ยังเป็นที่ต้องการของแม่บ้าน และผู้ประกอบการรายเล็กๆ อยู่ค่อนข้างมาก
พืชเครื่องเทศอย่างตะไคร้ เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่ใช้ในการประกอบอาหารไทยหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นอาหารจำพวกยำ แกงต่างๆ หรือแม้แต่ต้มยำกุ้ง ซึ่งเป็นอาหารที่คนรู้จักกันทั่วโลกก็ยังมีส่วนประกอบของตะไคร้อยู่ในนั้นด้วยเช่นกัน
ในปัจจุบันได้มีบริษัทอุตสาหกรรมบางแห่ง ได้ผลิตเครื่องปรุงอาหารไทยสำเร็จรูปเพื่อวางจำหน่ายทั่วไป ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ และส่งออกไปยังอีกหลายประเทศ ทำให้เห็นได้ว่าตะไคร้ยังมีโอกาสการทำตลาดได้ แต่ทั้งนี้ผลผลิตต้องมีปริมาณและคุณภาพตรงตามที่ตลาดต้องการด้วย ซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องมีการวางแผนการผลิตและการตลาดเป็นอย่างดี
การปลูกตะไคร้ ในปัจจุบันจึงเป็นอาชีพที่เกษตรกรหันมาสนใจกันมากขึ้น เพราะตลาดมีความต้องการสูงและเป็นพืชที่ดูแลง่าย ลงทุนต่ำ ที่สำคัญมีรายได้สม่ำเสมอ
ใครจะรู้ว่าพืช อย่าง ตะไคร้ จะทำรายได้ให้เกษตรกรปีละหลาย 100,000 บาท และสามารถนำผลผลิตส่งออกต่างประเทศปีละหลายๆ ตัน จนทีมงานได้มาพบกับ คุณอุไรวรรณ แก้วปาน และคุณอำนวย อ่วมคำ สองสามี-ภรรยา ผู้ปลูกตะไคร้ส่งออกสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
เมื่อสมัยก่อนคุณอุไรวรรณเล่าให้ทีมงานฟังว่า ได้ปล่อยพื้นที่ให้ชาวบ้านเช่าทำนา แต่เมื่อเวลาผ่านไปพื้นที่ทำนาสภาพดินก็เสียทั้งหมด ปลูกพืชชนิดไหนก็ไม่เจริญเติบโต จากนั้นเขาจึงได้คิดที่จะทำให้ผืนดินบริเวณนี้สามารถกลับมาเป็นผืนดินที่ดีดังเดิม จึงคิดที่จะปลูกหญ้าแฝกเพื่อให้ดูดซึมสารเคมี และทำดินกลับมาร่วนซุยดังเดิม แต่เพราะคิดว่าหญ้าแฝกปลูกแล้วจะไปขายที่ไหน จึงคิดกลับไปมองที่ การปลูกตะไคร้ เพราะระบบราก และการปลูกมีลักษณะคล้ายๆ กัน น่าจะสามารถดูดสารเคมีได้เหมือนกันกับหญ้าแฝก แถมตะไคร้สามารถขายเป็นพืชเครื่องเทศได้อีกด้วย จึงตัดสินใจลองปลูกตะไคร้ดู ปรากฏว่าสภาพดินดีขึ้น ตะไคร้ที่ปลูกก็สามารถขายได้ จึงทำให้คุณอุไรวรรณปลูกตะไคร้เพื่อการค้าตั้งแต่นั้นมา
ตะไคร้เป็นพืชที่ปลูกง่าย ให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวเร็ว อีกทั้งตลาดรับซื้อยังมีจำนวนมาก อาทิเช่น บริษัททำเครื่องแกง ทำน้ำพริก เป็นต้น รวมไปถึงการนำตะไคร้มาทำเครื่องดื่ม ยารักษาโรค และยังนำมาเป็นส่วนประกอบของอาหารต่างๆ ทั้งตามบ้านเรือน และตามร้านอาหาร อีกด้วย จึงจัดได้ว่าตะไคร้เป็นพืชตัวหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยม ทั้งในตัวของเกษตรกรผู้ปลูกเอง และในหมู่ผู้บริโภคอีกด้วย
จึงไม่น่าแปลกใจว่าเกษตรกรผู้ปลูกตะไคร้มีรายได้ต่อปีเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับพืชตัวอื่นแล้วทุกคนจะมองข้ามกันไป แต่ที่ “ไร่ชมจันทร์” แห่งนี้มองเห็นคุณค่า และยังมีการเผยแพร่ การปลูกตะไคร้ ให้กับลูกไร่ สร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้มีรายได้ภายในครอบครัว
รายได้จากผลผลิตตะไคร้
ในช่วงแรกที่คุณอุไรวรรณเริ่มทำ การปลูกตะไคร้ ในจำนวนพื้นที่ 10 ไร่ แต่ผ่านมาในระยะหนึ่งฐานตลาดกว้าง จึงต้องหาลูกไร่ปลูกตะไคร้เพื่อให้ผลิตตะไคร้ส่งออกอย่างเพียงพอตามความต้องการของลูกค้า จึงสอบถามและเชิญชวนคนที่รู้จักมาปลูกตะไคร้ โดยการที่ปลูกง่าย ลงทุนน้อย รายได้ดี ถ้ามีการวางแผนการผลิตด้วยแล้วจะสามารถมีรายได้ทุกเดือน เพราะจะมีการประกันราคาให้อีกด้วย
การปลูกตะไคร้ 1 ไร่ อย่างที่กล่าวในข้างต้นจะสามารถผลิตได้ประมาณ 2 ต้น ถ้ามีการประกันราคาขั้นต่ำ 8 บาท จะสามารถปลูกตะไคร้ 1 ไร่ ต่อเงิน 16,000 บาท การลงทุนคุณอุไรวรรณบอกว่า 1 ไร่ ไม่ถึง 2,000 บาท หักแล้วจะเหลือเป็นเงิน 14,000 บาท ใน 1 ปี จะปลูกตะไคร้ได้ถึง 2 ครั้ง ฉะนั้นเกษตรกรจะทำเงินได้ถึง 28,000 บาท ต่อปี โดย การปลูกตะไคร้ เพียง 1 ไร่ แต่ในบางปีราคาตะไคร้จะขยับขึ้นสูง คือ 25-30 บาท ซึ่งหมายความว่า เกษตรกรจะสามารถบวกเงินรายรับเพิ่มขึ้นอีก
สภาพพื้นที่ปลูกตะไคร้
จากพื้นที่ของคุณอุไรวรรณประมาณ 10 ไร่ ปลูกตะไคร้ส่งให้บริษัทที่ทำเครื่องเทศ จากนั้นฐานการตลาดก็กว้างขึ้น เพราะมีบริษัทจากต่างประเทศขอเข้ามารับซื้อ ทำให้คุณอุไรวรรณต้องเพิ่มจำนวนลูกไร่เพื่อปลูกตะไคร้เพื่อการส่งออกอีก
จนถึงปัจจุบันพื้นที่จากลูกไร่รวมกันประมาณ 350 ไร่ และมีลูกไร่ประมาณ 20 คน ซึ่งก็ถือว่าเพียงพอต่อการผลิตตะไคร้เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ แต่สำหรับในประเทศ อย่าง พวกอุตสาหกรรมการทำเครื่องเทศ ยังคงต้องการผลผลิตของตะไคร้อีกมาก รวมไปถึงการบริโภคทั้งในครัวเรือน และการแปรรูปต่างๆ อีกด้วย
ที่นี่ใช้ระยะเวลาปลูกตะไคร้ถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 5-6 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาการเก็บเกี่ยวที่สั้น 1 ปี สามารถปลูกได้ถึง 2 ครั้ง 1 ไร่ จะสามารถเก็บผลผลิตได้ 1.5-2 ต้น 1 กอของตะไคร้ จะชั่งได้ประมาณ 2 กิโลกรัม ขั้นต่ำ ไปจนถึง 5 กิโลกรัม ต่อกอ ส่วนเรื่องราคาจะขึ้นอยู่กับตลาด แต่ขั้นต่ำไม่น้อยกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท ซึ่งราคาสูงสุดในปัจจุบันจะอยู่ที่ประมาณ 25-30 บาท ต่อกิโลกรัม
ขั้นตอนแรกจะต้องมีการเตรียมดิน โดยการไถพรวน ยกร่อง คล้ายๆ กับการปลูกต้นมันสำปะหลัง ยกร่องแบบนูนหลังเต่า เพื่อให้ปล่อยน้ำลงตามร่อง และสามารถวิดน้ำเพื่อนำมารดต้นตะไคร้ได้ ระยะห่างระหว่างร่องประมาณ 70×70 ซม. แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูฝนควรเว้นระยะให้ห่างประมาณ 1×1 เมตร เพราะช่วงหน้าฝนถ้าเว้นระยะห่างแคบ ฝนที่ตกลงมาจะระบายน้ำไม่ทัน
การเว้นระยะให้ห่างช่วงหน้าฝนจะช่วยทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้ด้วยดี แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าแล้งควรปลูกให้ระยะชิดกันพอประมาณ เพื่อให้ใบของตะไคร้ปกคลุมดิน และช่วยรักษาความชื้น จะได้ไม่ต้องให้น้ำบ่อยๆ จากนั้นนำส่วนของหน่อหรือเหง้าลงปลูกระหว่างข้างร่อง หรือกลางร่อง หลุมละประมาณ 1-2 ต้น กลบดินพอมิดรากตะไคร้ พอให้ต้นตะไคร้ทรงตัวได้
การให้ปุ๋ยและน้ำต้นตะไคร้
เมื่อเริ่มปลูกใหม่ๆ ควรรดน้ำ 3 วัน ต่อครั้ง และเมื่อต้นตะไคร้เริ่มแตกกอก็เริ่มให้น้ำห่างออกไปได้ประมาณ 4-5 วัน ต่อครั้ง ถ้าเป็นการรดน้ำแบบวิดน้ำราดก็ให้น้ำอยู่ประมาณอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพราะดินจะชุ่มน้ำอยู่นานเป็นเวลา 7-8 วัน ส่วนปุ๋ยที่ควรบำรุงต้นตะไคร้จะใส่ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมี ควบคู่กันไป
เมื่อตอนที่ไถพรวนปรับสภาพดินควรใส่ปุ๋ยคอกไปเลยในช่วงนั้น และใส่แค่ครั้งเดียว หลังจากนั้นจะใส่ปุ๋ยสูตร 25-7-7 เพื่อช่วยเร่งหัวของตะไคร้ ควรใช้ปุ๋ยประมาณ 25 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อครั้ง เป็นระยะเวลา 3 เดือน แล้วใส่ปุ๋ยแค่เดือนละ 1 ครั้ง ก็พอ
การปลูกตะไคร้ จะไม่ค่อยมีโรคและแมลงมารบกวน จึงไม่ต้องดูแลอะไรมากมายนัก แค่ใส่ปุ๋ย รดน้ำ ให้เพียงพอต่อความต้องการก็พอแล้ว
การเก็บเกี่ยวผลผลิตตะไคร้
ระยะเวลาที่เก็บเกี่ยวผลผลิตตะไคร้ คือ ประมาณ 5 เดือน เพราะไร่ชมจันทร์ของคุณอุไรวรรณจะปลูกตะไคร้พันธุ์ “เกษตรขาว” ลักษณะเด่นของพันธุ์นี้ คือ เก็บเกี่ยวผลผลิตไว้แค่ 5 เดือน ก็สามารถเก็บขายได้แล้ว ถ้าพันธุ์อื่นจะเก็บได้ตอน 7-8 เดือน ซึ่งจะเก็บได้ช้ากว่าประมาณ 2-3 เดือน เป็นพันธุ์ที่เป็นต้นเดียว มีสีขาวอวบ ส่งออกทางยุโรป จะชอบพันธุ์นี้มากเป็นพิเศษ เพราะไม่มีกาบลำต้นตรงสวย
เมื่อตะไคร้มีอายุครบ 5 เดือน จึงทำการขุดกอของตะไคร้ได้ หลังจากนั้นนำตะไคร้ที่ขุดจากกอแล้วมาแยกต้น โดยใช้กรรไกรตัดใบและตัดก้านแห้งๆ ที่ติดมาด้วยออก รวมไปถึงต้องลอกก้านใบที่อ้าออกให้เหลือแต่ต้นกลมๆ ตัดใบให้ได้ความยาว 12 นิ้ว (วัดจากเนื้อของตะไคร้ไม่รวมหางปลาทู) จากนั้นนำไปบรรจุใส่ถุง ถุงละ 10 กิโลกรัม
การจำหน่ายตะไคร้
ทางบริษัทที่รับซื้อตะไคร้จะมารับซื้อถึงที่ โดยการใช้รถตู้แช่เย็นมารับผลผลิตจากลูกไร่ที่นำมาส่งภายในไร่ชมจันทร์ ซึ่งในแต่ละวันจะต้องมีผลผลิตส่งให้กับทางบริษัทประมาณวันละ 1 ตัน จึงจะเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค
หลังจากได้ตะไคร้สดแล้ว ทางบริษัทจะนำตะไคร้ไปแช่ในห้องเย็นทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน เพื่อให้ต้นตะไคร้อวบขึ้น เพราะตอนที่ตัดและใส่ถุงไว้ต้นตะไคร้จะเหี่ยว จากนั้นวันรุ่งขึ้นก็จะนำมาตัดแต่งอีกรอบ เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ แล้วนำมาอบยาเพื่อฆ่าเชื้อ สุดท้ายนำมาแพ็คกิ้งลงกล่องเพื่อรอส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ต่อไป
“เราสามารถปลูกตะไคร้ให้ขึ้นได้ตลอด แต่ถ้าร้อนมากก็อาจจะตายเยอะหน่อย มันจะแห้งตายไปเอง ถึงจะรดน้ำดีแค่ไหนก็ตาย ฤดูหนาวการแตกกอของตะไคร้จะสั้น มันก็เป็นปัญหาเหมือนกัน อย่างเช่น ทางบริษัทต้องการความยาวของตะไคร้ 10 นิ้ว ก็จะต้องลดเหลือประมาณ 6-7 นิ้ว เพราะความยาวช่วงฤดูหนาวจะไม่ถึง
แต่ถ้าเป็นช่วงที่สเปคความยาวของตะไคร้ได้ถึง 10 นิ้ว ก็ต้องห้ามสั้นกว่านั้น ตรงนี้จะขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เพราะทางเราจะแจ้งตลอดทุกปีที่เจอปัญหา” คุณอุไรวรรณพูดถึงความยากในการทำสเปคโรงงาน
ด้านตลาดตะไคร้ ทั้งในและต่างประเทศ
ประเทศที่มีการส่งตะไคร้ไปขายส่วนใหญ่จะมีคนไทย หรือร้านอาหารไทย อยู่เป็นจำนวนมากในประเทศนั้นๆ อีกส่วนหนึ่ง คือ ประชากรในประเทศนั้นมีการบริโภคเครื่องเทศเป็นจำนวนมาก จึงทำให้การส่งออกตะไคร้ในแต่ละเดือนมีความต้องการเป็นจำนวนมาก
ประเทศที่ส่งออกไปทางยุโรป ได้แก่ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น ทวีปเอเซีย ได้แก่ เกาหลี ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น และในอนาคตจะมีการส่งไปยังประเทศอินเดียอีกด้วย ซึ่งในขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่
“ส่วนออเดอร์ที่เด่นๆ จะเป็นทางยุโรป และประเทศเกาหลี ตรงนี้จะนำไปขายคนไทยที่อยู่ที่นั่น เพราะมีหลายอย่างรวมกันเวลาที่ขาย เช่น ใบมะกรูด ข่า ตะไคร้ เป็นมัด รวบกันเป็นกำๆ แล้วทางประเทศเกาหลีจะมีคนไทยนำไปทำเครื่องแกง เช่น พริกแกงเผ็ด แกงป่า แกงส้ม และแกงใต้ ฯลฯ เพื่อขายคนไทยที่อยู่ในประเทศเกาหลี และขายตามร้านอาหารไทยที่อยู่ที่นั่นด้วย ตรงนี้เขาจะมีโรงงานผลิตเลย และก็ขายต้นสดของตะไคร้อีกด้วย” คุณอุไรวรรณกล่าว
ปัญหาและอุปสรรคใน การปลูกตะไคร้
ช่วงพักดินจาก การปลูกตะไคร้ คุณอุไรวรรณจะนำมะเขือ กระเจี๊ยบเขียว พริก มาปลูกเพื่อส่งออกต่างประเทศในช่วงนั้นเช่นกัน เป็นการเสริมรายได้ให้กับลูกไร่บางส่วน แต่พืชพวกนี้เธอจะไม่ส่งเยอะ เพียงแค่อาทิตย์ละ 3-4 กิโลกรัม เพราะการปลูกในจำนวนมากจะต้องคุมเรื่องการใช้สารเคมี ซึ่งในปัจจุบันจะทำการปลูกยาก จะไม่เหมือน การปลูกตะไคร้ แต่ก็สามารถปลูกเป็นค่าแรงให้คนงานในแต่ละอาทิตย์ได้เช่นกัน ซึ่งจะมีการประกันพวกมะเขือ กระเจี๊ยบเขียว ในกิโลกรัมละ 25 บาท
เมื่อมีลูกไร่ปลูกตะไคร้ในจำนวนที่มาก คุณอุไรวรรณต้องคอยหมั่นแวะเวียนไปพูดคุยถามไถ่เรื่องคุณภาพของตะไคร้ หรืออาจจะเป็นเรื่องปัญหาต่างๆ ที่เกิดภายในสวนตะไคร้ของลูกไร่เอง เพื่อจะได้ปรึกษาและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที
การปลูกตะไคร้ เพื่อส่งออก ในแต่ละวันต้องมีผลผลิตส่งให้กับบริษัทต่างๆ ที่เข้ามารับซื้อประมาณวันละ 1.5 ตัน เพราะฉะนั้นการจัดการลูกไร่ใน การปลูกตะไคร้ ให้ได้ผลผลิตตามออเดอร์ในแต่ละวันจึงเป็นเรื่องไม่ง่าย เธอจึงจัดการโดยให้ลูกไร่ที่มีพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ รับผิดชอบงานในแต่ละเดือนที่มีการส่งผลผลิต วนกันไปจนครบ 12 เดือน เพื่อให้มีผลผลิตส่งให้ลูกค้าได้ตลอดทั้งปี
ถึงแม้ว่าในบางฤดูผลผลิตอาจไม่ได้มาตรฐานตามที่ลูกค้าต้องการ ก็สามารถพูดคุยตกลงในช่วงระยะเวลานั้นได้ เพราะในบางช่วง อย่างเช่น ฤดูร้อน ตะไคร้อาจมีการเหี่ยวตายไปบ้าง ทำให้ไม่พอส่ง ก็ต้องทำการแจ้งยอดออเดอร์เพื่อให้ทางบริษัทได้ทราบ
หรือถ้าเป็นช่วงหน้าหนาวการแตกกอจะช้าและต้นตะไคร้จะสั้น ทำให้ต้องตัดความยาวของต้นสั้นลง อย่างเช่น มาตรฐานความยาวอยู่ที่ 12 นิ้ว ก็อาจเหลือความยาว 6-7 นิ้ว ในช่วงนั้น เป็นต้น พอเข้าสู่ช่วงปกติก็สามารถส่งความยาวเท่าเดิมตามออเดอร์ได้
ประโยชน์และสรรพคุณของตะไคร้
ตะไคร้เป็นสมุนไพรเพื่อสุขภาพ โดยประโยชน์และสรรพคุณของตะไคร้นั้นมีมากมาย เป็นทั้งยารักษาโรค และยังมีทั้งวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย เช่น วิตามินเอ ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก เป็นต้น
–ทั้งต้น แก้หวัด ปวดเมื่อย แก้ไอ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ขับลมในลำไส้ บำรุงไฟธาตุ ทำให้เจริญอาหาร แก้ปวดกระเพาะอาหาร แก้ท้องเสีย แก้ปวดข้อ ปวดเมื่อย ฟกช้ำจากหกล้ม ขาบวมน้ำ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ นิ่ว ขับปัสสาวะ ประจำเดือนมาผิดปกติ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้โรคหืด และอีกหลายๆ อย่าง
–ราก แก้เสียดแน่น แสบบริเวณหน้าอก ปวดกระเพาะอาหาร บำรุงไฟธาตุ ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว รักษาเกลื้อน แก้อาการขัดเบา ฯลฯ
–ใบสด ช่วยลดความดันโลหิตสูง
–ต้น ช่วยขับลม แก้ผมแตกปลาย เป็นยาช่วยให้ลมเบ่งขณะคลอดลูก ใช้ดับกลิ่นคาว แก้เบื่ออาหาร บำรุงไฟธาตุให้เจริญ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ นิ่วปัสสาวะพิการ แก้หนองใน ฯลฯ
วิธีการใช้ต้นตะไคร้
-แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ปวดท้อง ให้ใช้ลำต้นแก่ๆ ทุบพอแหลกประมาณ 1 กำมือ (40-60 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม หรือประกอบเป็นอาหาร หรือนำตะไคร้ทั้งต้นรวมทั้งรากจำนวน 5 ต้น สับเป็นท่อน ต้มกับเกลือ ต้ม 3 ส่วน ให้เหลือ 1 ส่วน รับประทานครั้งละ 1 ถ้วยแก้ว รับประทาน 3 วัน จะหายปวดท้อง
-แก้อาการขัดเบา ผู้ที่ปัสสาวะขัดไม่คล่อง ให้ใช้ต้นแก่สดวันละ 1 กำมือ (40-60 กรัม) ต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร) วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร หรือใช้เหง้าแก่ที่อยู่ใต้ดินฝานเป็นแว่นบางๆ คั่วไฟอ่อนๆ พอเหลือง ชงเป็นชาดื่ม 1 ถ้วยชา วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
ฝากถึงเกษตรกรและผู้ที่สนใจปลูกตะไคร้
ถึงใครจะมองว่าตะไคร้เป็นพืชที่หลายคนมองข้าม ไม่คิดสนใจที่จะปลูกเพื่อการค้า ทั้งที่ตะไคร้นั้นเป็น “พืชคู่ครัวของไทย” ที่นิยมใช้ปรุงอาหารอย่างแพร่หลาย ทั้งต้มยำ แกง และอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีการนำเอาตะไคร้ไปเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในเชิงอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก เช่น ตะไคร้ผง น้ำพริก และอื่นๆ อีกมากมาย
นอกจากการส่งตะไคร้ไปยังประเทศต่างๆ ยังไม่เพียงพอแล้ว คุณรู้หรือไม่ว่าในประเทศของเราก็ยังคงต้องการวัตถุดิบที่มีส่วนผสมของตะไคร้เป็นจำนวนมาก ซึ่งในปัจจุบัน การปลูกตะไคร้ เพื่อการค้ายังไม่แพร่หลาย เพราะเกษตรกรบางรายยังมองไม่เห็นตลาดอย่างชัดเจน และยังเข้าไม่ถึงตลาดรับซื้อรายใหญ่ที่ต้องการตะไคร้เป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สนใจที่จะปลูก
ทั้งๆ ที่การลงทุนปลูกตะไคร้นั้นใช้เงินลงทุนไม่มาก การปลูกก็ไม่ซับซ้อนเหมือนพืชตัวอื่นๆ แต่เพราะตัวเกษตรกรยังคิดว่าตลาดรับซื้อยังคงมีปริมาณที่ไม่น่าลงทุนเลย ยังคงไม่น่าสนใจ แต่คิดในทางกลับกันเมื่อคนไทยต้องใช้ตะไคร้เป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร ทั้งตามร้านอาหารเอง และทั้งโรงงานอุตสาหกรรม ทำน้ำพริก พริกแกงต่างๆ หรือวัตถุดิบที่ทำเครื่องเทศนี้ ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ตะไคร้เป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น ซึ่งในปัจจุบันยังขาดแคลนอีกมาก ถ้าเกษตรกรมองตลาด และมีการวางแผนที่ดี การปลูกตะไคร้ เพื่อการค้าก็จะไม่ใช่เรื่องที่ยากอีกต่อไป
หากเกษตรกรหรือท่านใดสนใจแนวทาง การปลูกตะไคร้ เพื่อการค้า สามารถติดต่อ คุณอุไรวรรณ แก้วปาน และ คุณอำนวย อ่วมคำ (ไร่ตะไคร้ชมจันทร์) 27/1 ม.5 ต.สนามชัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี 72000 โทร.08-1018-8542