หัวหอม ตะไคร้ มะกรูด มะนาว เหล่านี้ถ้ามองผ่านๆ ก็แค่เครื่องแกงที่อยู่คู่ครัวไทยมานานแสนนาน หลายคนมองข้ามผ่าน เจอในถ้วยกับข้าวก็เขี่ยทิ้งบ้าง ทั้งที่ความจริงเครื่องเทศเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็น “ยา” สรรพคุณอาจไม่เด่นชัด และเห็นผลทันที
แต่เครื่องเทศเหล่านี้ คือ ตัวปรับสมดุลในร่างกาย สรรพคุณของเครื่องเทศแต่ละอย่างก็มีหน้าที่แตกต่างกันไปใน “ตำหรับยาสมุนไพรไทย” มีไม่น้อยที่ใช้เครื่องเทศเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของตัวยาสำหรับการรักษาโรคต่างๆ ยิ่งในภาคเกษตรกรด้วยแล้ว หลายคนมีที่ หลายคนคิดจะปลูกพืชเศรษฐกิจ เพราะคิดว่าทำรายได้ดี มีเงินเป็นก้อนหมุนเวียนเข้ามา แต่หารู้ไม่ว่าบางทีสิ่งใกล้ตัวอาจดีที่สุด เพียงแต่มองไม่เห็นคุณค่า หรือคิดว่าไม่สามารถสร้างรายได้ที่ดีให้ครอบครัวได้
ทีมงานเมืองไม้ผลเดินทางมาที่ อ.ด่านมะขามเตี้ย เพื่อพูดคุยกับ คุณสันติ คงคา เกษตรกรผู้ปลูกมะกรูดเป็นพืชหลักของตัวเอง ที่สำคัญสร้างรายได้แต่ละวันที่น่าอิจฉา ชนิดที่เรียกว่าถ้าคุณอ่านเรื่องนี้จบเมื่อไหร่แทบจะล้มพืชที่ปลูกอยู่ แล้วหันมาเอาดีในด้านการปลูกมะกรูดกันเลยทีเดียว
มะกรูดเป็นพืชตระกูลส้ม มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกว่าเป็นพืชประจำถิ่นเขตร้อนชื้นก็ว่าได้ สรรพคุณของมะกรูดหลายคนรู้ดีว่าใช้ได้ทั้งใบ และผิว ลูกมะกรูดใช้เป็นเครื่องปรุงอาหารที่นิยมในหลายประเทศ ไม่ว่าจะไทย ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม
พืชชนิดนี้เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลักษณะสำคัญ คือ มีใบคล้าย 2 ใบ ต่อกันอยู่ ใบแก่จะมีกลิ่นหอม เพราะมีต่อมน้ำมันอยู่ เรียกว่า hesperitium (ลักษณะเดียวกับส้ม) ส่วนผลมีสีเขียวเข้มคล้ายมะนาว ผิวเปลือกขรุขระ เมื่อผลสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสด พันธุ์ที่มีผลเล็ก ผิวจะขรุขระน้อยกว่า ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก นิยมขยายพันธุ์ด้วยการใช้กิ่งตอน
สภาพพื้นที่ปลูกมะกรูด
ในพื้นที่กว่า 30 ไร่ ของคุณสันติ ปัจจุบันปลูกมะกรูดเป็นหลัก อาจมีพืชอื่นแซมบ้าง แต่ที่สร้างรายได้จริงๆ ก็มาจากมะกรูดล้วนๆ คุณสันติเล่าว่า ที่แถวนี้คนส่วนใหญ่นิยมการปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งพืชเศรษฐกิจพวกนี้ต้องมีการลงทุนมาก ทั้งเครื่องมือ และการบำรุงดูแล การจะปลูกให้ได้ผลผลิตที่ดีก็ต้องมีการลงทุนที่มากพอสมควร ทำให้คุณสันติคิดว่าน่าจะมีพืชทางเลือกที่ดีกว่านี้ ก็เลยเริ่มเปลี่ยนมาเป็นการปลูกมะกรูดเรื่อยมา
จนปัจจุบันมีมะกรูดปลูกเต็มพื้นที่สร้างรายได้แทบจะทุกวัน ซึ่งราคามะกรูดก็ขึ้น-ลงตามความต้องการของตลาด แต่ราคาไม่เคยตกจนน่าใจหายเหมือนพืชตัวอื่น สมัยก่อนถ้าเป็นลูกมะกรูดขายได้ถึงกิโลกรัมละ 120 บาท
ส่วนใบมะกรูดก็ขายได้มากกว่ากิโลกรัมละ 10 บาท แค่เพียง 2 อย่างนี้ก็เรียกว่าสร้างรายได้ต่อวันที่เพียงพอจนมีเหลือกินเหลือเก็บ ไม่รวมกับทุกวันนี้ที่ปลูกมะกรูดมากกว่า 18 ปี นอกจากลูกและใบที่ขายเป็นปกติ ยังสามารถขายกิ่งพันธุ์ได้อีกทาง เรียกว่ามองไปทางไหนก็มีแต่รายได้ และเป็นการปลูกที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนมาก การดูแลก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแต่ต้องมีความรู้ในเรื่องสายพันธุ์เบื้องต้น เท่านี้ก็ปลูกมะกรูดสร้างรายได้ระยะยาวอีกหลายสิบปีทีเดียว
มะกรูดมี 2 อย่าง คือ พันธุ์ใบเล็กมีแต่ลูก (พันธุ์พื้นเมือง) กับพันธุ์ใบใหญ่ไม่ค่อยมีลูก (พันธุ์เกษตร) แต่ถ้าแปลงไหนที่ปลูกทั้งสองสายในพื้นที่เดียวกัน เมื่อมีการผสมเกสร (มีผึ้งหรือแมลงเป็นตัวช่วย) จะได้อีกพันธุ์ที่ให้ลูกเป็นพวง คนที่อยากจะทำควรจะรู้เรื่องกิ่งพันธุ์ว่าเป็นพันธุ์ใบ หรือพันธุ์ลูก เพราะถ้าผิดพลาดแล้วมันเสียเวลาในการปลูกมากพอสมควรเหมือนกัน
สภาพพื้นที่ปลูกต้นมะกรูด
สภาพพื้นที่ปลูกต้นมะกรูดต้องมีการระบายน้ำที่ดี น้ำไม่ท่วมขัง มีระดับ pH ประมาณ 5.5-7.0 ดินที่ใช้ปลูกต้องเป็นดินร่วนปนทราย ก่อนปลูกควรให้ธาตุอาหารเพิ่มภายในดิน ด้วยการผสมขี้วัวลงไปปริมาณ 100 ลูก/ไร่ แล้วไถพรวนผสมกันไป แล้วพักดินไว้ประมาณ 7 วัน ค่อยลงมือปลูกด้วยกิ่งตอน การขุดหลุมก็ลึกประมาณ 50 เซนติเมตร กว้าง 50 เซนติเมตร แล้วเอากิ่งปลูกลงไปวางเอน 45 องศา เพื่อให้พุ่มใหญ่แตกกิ่งได้เยอะ
แนะนำให้ปลูกหน้าฝน เพราะอากาศจะเย็นกว่า ประมาณ 10 วัน จะแตกยอดใหม่ และระหว่างนั้นถ้ามีวัชพืชให้ใช้เครื่องตัดหญ้า ไม่ใช้สารเคมี ห้ามฉีดยา ตัดหญ้าแล้วคลุมโคนไว้ให้หญ้ากลายเป็นปุ๋ยได้ด้วย และประมาณ 2 เดือน หน่อจะเริ่มแก่จัด แตกหน่ออีกชั้น และอีก 3 เดือน จะแตกยอดอีกชั้น ถ้าจะให้ดีเก็บเกี่ยวได้ต้องประมาณ 9 เดือน จะแตกยอดออกมาประมาณ 4 ชั้น เป็นชั้นละประมาณ 2 เดือน ครบ 9 เดือน เริ่มเก็บผลผลิตได้เต็มที่ แต่ก่อนหน้านี้ไม่เต็มที่ เพราะกิ่งสาขาจะน้อย ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่
การบำรุงดูแลรักษาต้นมะกรูด
ในการเตรียมหลุมปลูกจะไม่นิยมรองก้นหลุมด้วยสารฆ่าแมลงในกลุ่มของสารคาร์โบฟูราน แต่ถ้าจะใส่ก็หลังจากปลูกเสร็จ เพราะว่าปลวกหรือแมลงศัตรูในดินจะทำลายรากของต้นมะกรูดในช่วงผิวดินที่ลึกประมาณ 1-2 เซนติเมตร เท่านั้น มะกรูดจะตั้งตัวหลังจากเริ่มปลูกประมาณ 1 เดือน อาจให้ปุ๋ยยูเรียผสมปุ๋ยคอก
ถ้าเป็นช่วงฤดูแล้งอาจเอาเปลือกถั่วเขียวมาคลุมโคนต้น อย่าให้ติดโคนต้นเช่นกัน ปุ๋ยที่ใส่จะกระตุ้นการแตกยอดของมะกรูดได้เร็วขึ้นนั่นเอง และอาจใช้สปริงเกลอร์เพื่อล้างใบ เพื่อให้ใบไม่เป็นโรค มะกรูดเป็นพืชที่ไม่ได้ต้องการน้ำมากเท่ามะนาว โดยอาจให้เดือนละ 2 ครั้ง (15วัน/ครั้ง) ประมาณเดือนแรกที่ปลูกอาจใช้สายยางรดน้ำแทน เพราะระยะปลูกใหม่ๆ ควรให้ความชุ่มชื้นแก่พืชอย่างเต็มที่ เพื่อให้พืชตั้งตัวได้เร็ว จะได้แตกใบอ่อน กิ่งอ่อน ดีกว่า
ส่วนการใส่ปุ๋ยเริ่มทำตอนประมาณ 2 เดือน เน้นปุ๋ยคอกเป็นหลัก หรือถ้าต้องการเสริมธาตุอาหารก็เน้นสูตรที่มีไนโตรเจนสูงๆ เพราะมะกรูดเป็นพืชที่กินใบเป็นหลัก
ภายในสวนของคุณสันติมีการปลูกยาคาลิปตัส และสะเดา เพื่อเป็นการไล่แมลงในทางชีวะอยู่ด้วย เพราะปัญหาของการ ปลูกมะกรูด ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้สารเคมีฉีดพ่น ทำให้ต้นมะกรูดเป็นแผลแล้วจะเกิดโรคตามมา แล้วอายุต้นจะอยู่ได้ไม่เกิน 7 ปี แต่ถ้าต้นสมบูรณ์ แข็งแรง สามารถอยู่ได้กว่า 30 ปี ยิ่งต้นใหญ่ๆ อายุมากๆ จะเก็บใบมะกรูดได้เยอะขึ้น
จากข้อมูลที่ทราบอายุต้นประมาณ 15 ปี สามารถเก็บใบได้ถึงต้นละ 20 กก. การบำรุงพวกต้นแก่ๆ ก็อาจต้องให้ปุ๋ยขี้วัวต่อต้นมากขึ้นประมาณ 7 กก./ต้น และควรแหวกดินรอบต้นก่อนใส่ปุ๋ย เพื่อให้รากสามารถรับสารอาหารได้เร็วขึ้น ส่วนโรคและแมลงที่มีส่วนมากก็จะเป็นพวกหนอนผีเสื้อกลางคืนที่จะกัดกินใบมะกรูด และยอดอ่อน จึงควรหมั่นตรวจตราและจับหนอนดังกล่าวทำลายทิ้งก่อนที่จะเกิดความเสียหายได้
การเก็บเกี่ยวใบและลูกมะกรูด
อายุของใบที่เหมาะสม คือ ประมาณ 45 วัน ใบจะหนาเขียว ได้น้ำหนัก ก้านจะใหญ่ ดูที่ตรงความแก่เขียวจัดๆ ถ้าเก็บช่วงนี้แล้วจะอยู่ได้นาน ส่วนการตัดกิ่งเพื่อเอาใบขายต้องเลือกตัดกิ่งที่ยาวๆ คล้ายการตัดแต่งกิ่ง ไม่ต้องตัดซอยสั้น ความยาวของกิ่งประมาณ 50 เซนติเมตรขึ้นไป ส่วนต้นมะกรูดที่ตัดใบขายแล้วให้แต่งกิ่งแบบซอยสั้นเพื่อเป็นการพักต้น
เมื่อเก็บผลผลิตที่ต้องการหมดจะคงเหลือแต่ต้นมะกรูด แล้วจะพักต้นไว้ประมาณ 3-4 เดือน เพื่อบำรุงต้นให้แตกกิ่งก้านออกมาอีก ในช่วงนี้ก็จะมีการบำรุง ไถพรวนดินรอบต้น ใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืช เพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน ทำหมุนเวียนกันไปอย่างนี้เป็นระบบๆ เพราะการเก็บใบจะทำให้ต้นมะกรูดโทรมได้มากกว่าการเก็บลูกมะกรูดจำหน่าย จึงต้องมีการบำรุงมากกว่า เพราะลูกมะกรูดที่เก็บขายได้
ถ้าเป็นต้นอายุครบปีขึ้นไปจะสามารถเก็บได้ถึงต้นละ 50 กก./ต้น แต่ไม่จำเป็นต้องบำรุงดูแลมากมาย เพราะเป็นผลพลอยได้จากการ ปลูกมะกรูด พันธุ์ใบที่ไม่ทำให้ต้นโทรมมากนัก ช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยวตามฤดูกาลที่แท้จริง ต้นมะกรูดจะเริ่มออกดอกประมาณเดือนสิงหาคม-กรกฎาคม แล้วจะสามารถเก็บทั้งลูกและใบได้ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งถือเป็นช่วงฤดูฝนที่มีผลผลิตออกมาค่อนข้างมาก
แต่ถ้าเป็นนอกฤดูกาลก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เช่นกัน ที่สำคัญให้ราคาดีกว่าในฤดูกาล เพราะว่าผลผลิตที่ปลูกในช่วงนอกฤดูมีน้อย ถ้าใครทำได้ตลอดทั้งปีก็จะสามารถทำกำไรได้มากขึ้นอีกหลายเท่าตัวทีเดียว
การจำหน่ายใบ ลูก และผิว มะกรูด
ส่วนของใบมะกรูดราคาส่งขาย ถ้าหน้าฝนราคาจะอยู่ประมาณ 30-40 บาท/กก. (เดือนมิถุนายน-กันยายน) แต่พอถึงเดือนตุลาคมเป็นต้นไปถือว่าเป็นช่วงนอกฤดูกาลราคาจะแพงขึ้น โดยประมาณจะอยู่ที่ 50-80 บาท/กก.
การเก็บเกี่ยวถ้ามีการดูแลที่ดี ปริมาณต่อไร่ถ้าเป็นต้นอายุประมาณ 1 ปี จะได้ต้นละประมาณ ½ กก. ไร่หนึ่ง 400 ต้น ก็ได้ประมาณ 200 กก. ในแต่ละปีสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งหมด 4 ครั้ง แต่ถ้าเป็นต้นอายุ 3-4 ปี จะเก็บใบมะกรูดได้ต้นละประมาณ 1กก. (สามารถเก็บได้ปีละ 4 ครั้ง เช่นกัน) ในการเก็บแต่ละรอบจะเว้นไปประมาณ 3 เดือน จึงจะเริ่มเก็บได้อีกครั้ง (ความจริงแค่ 45 วัน ก็เริ่มเก็บได้ แต่ที่ปล่อยให้นานขึ้นเพื่อให้มีใบมากขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น)
สำหรับลูกมะกรูดนั้นราคาขายคิดเป็นร้อยละ 130-140 บาท การเก็บลูกมีข้อดีว่าต้นไม่โทรม แต่ถ้าเก็บใบต้นจะโทรมกว่า แต่เก็บใบ เงินได้มากกว่าลูก ลูกมะกรูดถ้าอายุต้นประมาณ 1 ปี จะเก็บได้ประมาณ 50 ลูก/ต้น (กก.ละประมาณ 30-33 ลูก)
นอกจากนี้ก็ยังจำหน่ายผิวมะกรูด คือ ลูกมะกรูดที่เก็บไม่ทัน และร่วงหล่นโคนต้น สามารถเก็บเอามาฝานเอาผิวมะกรูดออกแล้วตากไว้ 3 แดด บรรจุเป็นถุงขายในราคา 60 บ./กก. (ผิวมะกรูดนี้ส่วนมากเป็นการซื้อเพื่อเอาไปเข้าตำรายาเป็นส่วนมาก) อันนี้ยังไม่รวมพวกกิ่งตอน และการรับจ้างตอนกิ่งให้สวนอื่น เท่ากับว่า การ ปลูกมะกรูด 1 ต้น สามารถขายได้ตั้งแต่ลูก ใบ ผิว เปลือก (ทำขนม) ส่วนน้ำมะกรูดก็สามารถเอาไปเพิ่มมูลค่าทำเป็นยาสระผม ล้างจาน ได้อีกทางหนึ่งด้วย
ขั้นตอนการทำกิ่งตอนต้นมะกรูด
มะกรูดเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้ดีที่สุด ด้วยการใช้กิ่งตอน เพราะสามารถให้รากที่สมบูรณ์ แข็งแรง และให้ผลผลิตที่เร็วกว่าการเพาะด้วยเมล็ด ปัจจุบันธุรกิจการขายกิ่งตอนอาจจะมีให้เห็นอยู่มากตามร้านขายพันธุ์ไม้ต่างๆ ก็อาจมีกิ่งมะกรูดจำหน่าย
เพียงแต่กิ่งที่มีคุณภาพที่สามารถเอาไปปลูกแล้วได้ผลจริงๆ นั้นหายาก เพราะขั้นตอนในการทำกิ่งตอนต้องอาศัยเทคนิคและความละเอียดอ่อนพอสมควร ที่สำคัญถ้าเกษตรกรจะเลือกซื้อกิ่งตอนจริงๆ ก็ต้องมีความรู้ในเบื้องต้นก่อนว่าพันธุ์กิ่งตอนที่ซื้อนั้นเป็นพันธุ์ใบ หรือพันธุ์ลูก เพื่อเวลาปลูกจะได้ไม่ต้องเสียเวลามาเริ่มต้นใหม่ จะทำให้เสียเวลาและงบประมาณโดยไม่จำเป็น
ขั้นตอนในการทำกิ่งเริ่มตั้งแต่ก่อนทำกิ่งต้องใส่ปุ๋ยคอกก่อนประมาณ 2 เดือน ใช้ต้นมะกรูดที่มีอายุประมาณ 2-5 ปี เพราะกิ่งจะเหมาะสมที่สุด (ถ้าอายุต้นมากกว่านี้ก็จะเอาไว้เก็บเกี่ยวผลผลิต คือ ลูกและใบอย่างเดียวในการปลูกจึงต้องมีการปลูกทดแทนตามกันไปอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้มีต้นอายุน้อยๆ เอาไว้ทำพันธุ์อย่างสม่ำเสมอ)
กิ่งที่เหมาะสมในการทำกิ่งตอน เกษตรกรจะเรียกว่า กิ่งเขียวอ่อนลาย เป็นกิ่งที่มีขนาดประมาณ 6 เดือน เป็นอย่างน้อย การทำกิ่งตอนจะเริ่มทำได้ดีก็ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน
หลังจากนี้สามารถเลือกกิ่งที่เหมาะสมได้ คือ
1.ควั่นกิ่งให้เป็นรอย 2 รอย ห่างกันประมาณ ½-1 นิ้ว หรือเท่ากับเส้นรอบวงของกิ่งที่ตอน โดยให้รอยควั่นตอนบนชิดข้อด้านบน
2.ใช้มีดกรีดรอยควั่น แกะเอาเปลือกออก และขูดเมือก (เยื่อเจริญ cambium) บริเวณรอบๆ กิ่งออกให้หมด โดยขูด
จากด้านบนลงมาด้านล่าง
3.ใช้พู่กันจุ่มฮอร์โมนทาบริเวณเปลือกที่รอยควั่นตอนบน
4.หุ้มกิ่งด้วยดินเหนียวรอบรอยควั่น และตามด้วยกาบมะพร้าวที่แช่น้ำจนอิ่มตัว (แบบดั้งเดิม) หรือใช้ขุยมะพร้าวอัด
ถุงให้แน่นหุ้มกิ่งตอน และมัดเชือกให้แน่นป้องกันการระเหยของน้ำ
5.หุ้มด้วยพลาสติกสี่เหลี่ยมขนาด 6×8 ตารางนิ้ว ให้พลาสติกแนบสนิทกับกิ่ง และมัดเชือกให้แน่นป้องกันการ
ระเหยของน้ำ รอระยะเวลาให้เห็นว่ามีรากออกมาภายในถุง จึงเอามาลงถุงดำเพื่อเป็นการชำก่อนส่งจำหน่ายต่อไป
ด้านตลาดกิ่งพันธุ์มะกรูด
ปริมาณการผลิตกิ่งพันธุ์ที่สวนคุณสันติทุกวันนี้ใช้แรงงานที่มีความชำนาญประมาณ 20 คน สามารถทำกิ่งตอนได้ประมาณคนละ 500 กิ่ง หรือ 10,000 กิ่ง/วัน ในรอบการผลิตกิ่งพันธุ์ 3 เดือน (ประมาณเดือนมิถุนายน-กันยายน) สามารถทำกิ่งพันธุ์ได้กว่า 300,000 กิ่ง ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่ค่อนข้างมาก
แต่ถ้าเทียบกับความต้องการในตลาดแล้วถือว่ายังไม่เพียงพอ เพราะถ้ามีกำลังผลิตได้มากกว่านี้ก็มีออเดอร์รองรับแน่นอน ซึ่งกลุ่มลูกค้ากิ่งพันธุ์นั้นก็มีทั้งที่เป็นเกษตรกรเองมารับเพื่อไปจำหน่ายต่อในพื้นที่ และเกษตรกรที่รับเอาไปเพื่อปลูกจำหน่ายเอง รวมถึงร้านพันธุ์ไม้ต่างๆ ที่มาจากหลากหลายพื้นที่
ราคากิ่งพันธุ์แยกเป็น 3 ระดับ คือ
1.ความสูงไม่เกิน 30 ซม. ไม่ได้ลงชำในถุง ขาย 10 บาท/กิ่ง
2.ความสูงไม่เกิน 30 ซม. แต่ชำลงถุงดำ ขาย 20 บาท/ถุง
3.ความสูงประมาณ 100 ซม. ชำถุงดำ ขาย 50 บาท/ถุง
ซึ่งการแยกระดับเช่นนี้ก็เพื่อความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน ต้นที่โตมากราคาขาย 50 บาท ก็สามารถเอาไปปลูกแล้วให้ผลตอบแทนที่เร็วกว่าพวกที่โตน้อยกว่า ขนาดเล็กกว่า แต่ทุกต้นเป็นกิ่งพันธุ์ที่มีคุณภาพ มีอัตราการรอดสูงไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ผู้ที่ซื้อเอาไปปลูกต่อหรือจำหน่ายสามารถมั่นใจได้ว่าเป็นของดี มีคุณภาพ เพราะมาจากสวนที่มีประสบการณ์ในการทำกิ่งพันธุ์ และจำหน่ายมานานแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี (เฉพาะการทำกิ่ง แต่ทั้งทำลูกและใบทำมานานกว่า 18 ปี)
ฝากถึงผู้ที่สนใจการ ปลูกมะกรูด
การ ปลูกมะกรูด ให้เป็นธุรกิจนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก แต่ขอให้มีประสบการณ์ มีความรู้เรื่องสายพันธุ์ มีความรู้ในเรื่องการทำกิ่งตอน ซึ่งงานบางอย่างอาศัยเรียนรู้แค่ในตำราไม่ได้ ต้องมีประสบการณ์จากการทำโดยตรง โดยเฉพาะการทำกิ่งตอน ซึ่งถ้าไม่ประณีตหรือทำผิดวิธี รากจะออกยากมากๆ เพราะลำพังการ ปลูกมะกรูด แต่ไม่คิดจะขายกิ่งตอน ถือว่าเป็นการตัดช่องทางในการเพิ่มรายได้ที่สำคัญ
เนื่องจากสัดส่วนการจำหน่ายลูกและใบ กับกิ่งตอนนั้น ถือว่าใกล้เคียงกัน เผลอๆ การทำกิ่งตอนจะมีรายได้ที่ดีเป็นกอบเป็นกำมากกว่าด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ทั้งนั้นเรื่องตลาดก็เป็นสิ่งสำคัญ ผู้ที่สนใจควรมองหาตลาดในพื้นที่ใกล้เคียงให้ได้ ต้องรู้ว่าปลูกแล้วจะจำหน่ายที่ไหน มีใครรับซื้อ เป็นสิ่งสำคัญมาก ส่วนเรื่องความรู้ไม่ใช่เรื่องที่หายาก ทางสวนเองก็พร้อมเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ และมีสายพันธุ์ดีๆ พร้อมให้ต่อยอดได้ สวนคุณสันติพร้อมสนับสนุนทุกคนที่ต้องการ ปลูกมะกรูด ให้เป็นพืชสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับตัวเองและครอบครัว
สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถาม คุณสันติ คงคา 176/2 ม.1 ต.จระเข้เผือก อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี 71260 โทร.08-7161-2074, 08-1756-4460