กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางความเจริญทุกด้าน มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย นั่นอาจเป็นความสุขของหลายๆ คน ที่ได้อยู่เมืองศิวิไลซ์ แต่ คุณพินิจ รัตนชูวงค์ หรือนิจ บอนไซ กลับใช้ชีวิตสวนทางกับคนเมืองเหล่านั้น เขาใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย สันโดษ อยู่กับต้นไม้ที่เขารัก
เมื่อทีมงานไม้ดอกไม้ประดับไป เยือนคุณนิจ เจ้าของสวนบอนไซ ย่านสายไหม ก็พบภาพที่คุณนิจกำลังง่วนอยู่กับการเข้าลวดกิ่งโพธิ์ทะเลเกาะหินอย่างขะมักเขม้น
ปัจจุบันนี้บอนไซหรือไม้ย่อส่วนคงเป็นดาวเด่นในใจของใครหลายๆ คน รวมถึงคุณนิจด้วย เนื่องจากบอนไซเป็นยาบำรุงจิตใจสามารถ ทำให้มนุษย์ซึ่งมีแต่ความเคร่งเครียดจากการทำงานและการดำรงชีวิตได้รับการผ่อนคลาย จากการชื่นชมความงามที่เป็นอมตะแห่งกาลเวลา และบอนไซเป็นไม้ย่อส่วนที่ต้องเก็บรายละเอียดของต้นไม้ใหญ่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ทำให้หลายๆ คนหลงเสน่ห์บอนไซจนถอนตัวไม่ขึ้น บอนไซมีโขดรากสวยงาม มีรูปแบบลีลากิ่งหลากหลาย ใบมันวาว และที่สำคัญเจ้าของสามารถใส่จินตนาการลงไปได้เต็มที่ เพราะบอนไซมีหลายรูปแบบให้เลือกรังสรรค์ แค่นี้ก็สามารถดึงดูดความสนใจให้ใคร่เป็นเจ้าของแก่ผู้ที่พบเห็น
เมื่อนึกถึงบอนไซหลายๆ คนคงนึกถึงต้นไม้ย่อส่วนราคาแพงบนกระถางสวยๆ วางอยู่ในสถานที่สำคัญ ทำให้อยากเป็นเจ้าของเหมือนกับคุณพินิจ และกว่าจะได้เป็นเจ้าของต้นบอนไซลักษณะดีๆ สักต้น ต้องใช้เวลานานหลายปี ทำให้มีกลุ่มศิลปินผู้รังสรรค์มีจำนวนน้อยไม่พอต่อความต้องการ ทำให้บอนไซในปัจจุบันมีราคาสูง ทำให้นักเล่น นักสะสม หลายๆ คน พัฒนาบอนไซไปสู่ธุรกิจ ทำให้คุณนิจเกิดความสนใจท้าทายกับบอนไซ ผลลัพธ์ที่ได้กลับมา คือ หลงเสน่ห์บอนไซอย่างเต็มเปามามากกว่า 30 ปีแล้ว
อดีตจะปลูกเลี้ยงบอนไซเป็นงานอดิเรกควบคู่กับอาชีพพ่อค้าขายหมู ที่เอาหมูตัวเป็นๆ ส่งโรงฆ่าสัตว์ แล้วนำเนื้อหมูออกมาขาย ทำอย่างนี้ทุกๆ วัน เป็นกิจวัตร พอถึงจุดๆ หนึ่ง ฉุกคิดได้ว่าทำเช่นนี้ตลอดไปครอบครัวคงไม่มีความสุข จึงเลิกกิจการพ่อค้าหมู
ลักษณะของบอนไซ
คุณนิจยังเล่าเรื่องราวชีวิตของตนว่ากว่าจะมาเล่นบอนไซนั้นตนได้ประกอบอาชีพหลายอย่าง แต่ก็ล้วนมีปัญหาทั้งนั้น จึงตัดสินใจหันมาศึกษาการปลูกเลี้ยงบอนไซอย่างจริงจัง ศึกษาเองบ้าง จากตำราบ้าง โดยเฉพาะตำราบอนไซของสมาคมบอนไซแห่งประเทศไทย
การเพาะเลี้ยงต้นไม้ การดูแลรักษาไม้ต้นเล็กๆ ให้งอกงามในกระถาง โดยมีการตัดแต่งกิ่งและควบคุมกิ่งก้านให้มีลักษณะเสมือนต้นไม้ใหญ่ๆ ที่เจริญเติบโตในธรรมชาติ นี่เป็นสิ่งท้าทายที่สุดของกลุ่มผู้เลี้ยงบอนไซ นับเป็นศิลปะ อีกแขนงหนึ่งที่หาดูได้ยาก
วิธีการดูลักษณะของบอนไซที่ดี
- เป็นไม้ที่มีความสมบูรณ์เต็มที่ ไม่แคระแกร็น
- โคนหรือลำต้นดี ความเก่าแก่ บ่งบอกถึงความมีอายุยาวนาน
- ฐานรากของต้นไม้ต้องแผ่กระจายรอบต้นเหมือนต้นไม้ใหญ่
- มีกิ่งหลัก 5 กิ่ง อ่อนช้อย และสมบูรณ์ อีกทั้งต้องมีตำแหน่งและขนาดของกิ่งถูกต้องเหมาะสม
- รูปทรงมีลักษณะใกล้เคียงธรรมชาติ
การสร้างบอนไซ จาก การสร้างกิ่ง
การสร้างกิ่งให้มีตำแหน่งตรงกับลักษณะของบอนไซถือว่าเป็นเรื่องยาก และท้าทายอีกขั้นตอนหนึ่ง ผู้เลี้ยงจะต้องกำหนดทิศทางกิ่งหลักทั้ง 5 กิ่ง ให้ถูกต้องตามลักษณะของบอนไซที่ดี โดยยึดหลักโคนใหญ่ ปลายเรียว ซึ่งคุณนิจอ้างอิงถึงหนังสือบอนไซของสมาคมบอนไซแห่งประเทศไทยเป็นหลัก คือ
- กิ่งหนึ่ง เป็นกิ่งสำคัญ และเด่นที่สุดกิ่งหนึ่ง กิ่งนี้จะอยู่ตำแหน่งแรกจากโคนต้นขึ้นไป อาจจะอยู่ซ้ายมือ หรือขวามือ ก็ได้ เราควรเลือกกิ่งนี้ให้อยู่ในตำแหน่งสูง จากโคน 1 ใน 2 ของความสูงของต้นไม้ จากโคนถึงยอดแล้วแต่ความเหมาะสม
- กิ่งสอง คือ กิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับกิ่งหนึ่ง กิ่งนี้ควรจะสั้นกว่ากิ่งหนึ่งเล็กน้อย
- กิ่งหลัง คือ กิ่งที่อยู่ด้านหลังของต้นไม้ กิ่งนี้ควรเห็นจากด้านหน้าได้ ทำให้เกิดความลึกเมื่อมองในระดับสายตา กิ่งนี้อาจจะอยู่ระหว่างกิ่งหนึ่งกับกิ่งสอง หรืออยู่เหนือกิ่งสองขึ้นไปก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม กิ่งนี้ไม่ควรพุ่งตรงๆ ออกไป ควรเบนไปทางซ้าย หรือทางขวา จะเหมาะกว่า
- กิ่งสาม คือ กิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับกิ่งสอง แต่จะเบนมาด้านหน้าประมาณ 45 องศา เพื่อจะได้ซ้อนอยู่บนกิ่งหนึ่ง กิ่งนี้อาจอยู่เหนือหรือต่ำกว่ากิ่งหน้าก็ได้
- กิ่งหน้า ไม่ควรพุ่งมาตรงๆ ควรเบนไปทางซ้าย หรือขวา เพื่อหนีกิ่งสาม
คุณสมบัติของไม้ที่นำมาทำบอนไซ
- ไม้ใบเล็ก
- ทนต่อสภาพแวดล้อม
- ข้อตาถี่
- กิ่งมีความเหนียว เช่น โมก ชา มะสัง ตะโกหนู เพรมมา เป็นต้น
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำบอนไซ
- ลวด
- กระถาง
- คีมเก็บแผล เก็บรายละเอียดของไม้
- คีมตัด
- เลื่อย
- ยาทาแผล
- กรรไกรตัดแต่งกิ่งบอนไซ
วิธีการปลูกเลี้ยงบอนไซ
คุณนิจจะใช้วิธีตอนกิ่ง พอได้กิ่งแม่พันธุ์ตามที่ต้องการแล้ว ล้างราก จัดราก โดยใช้กะลามะพร้าวเป็นแบบ ในกะลามะพร้าวจะมีรูอยู่ตรงกลาง โดยให้รากแก้วปักอยู่รูตรงกลางของกะลาแล้วให้รากที่เหลืออยู่โดยรอบกะลา เพื่อให้รากดูสวยงาม และบังคับรากไปในทิศทางที่เราต้องการได้ จากนั้นตัดรากที่ทับซ้อนกันออก จัดรากให้มีความสูงเท่ากัน และจัดรากให้รอบทิศเพื่อความสวยงาม
เมื่อจัดรากในแบบที่เราต้องการและกำหนดตำแหน่งถูกต้องแล้ว จึงนำลงปลูกเลี้ยงในดิน ปลูกเลี้ยงไปจนกว่าต้นไม้ได้ขนาดที่เหมาะสมจึงสร้างบอนไซในขั้นตอนต่อไป ซึ่งบอนไซมีรูปแบบหลากหลาย เช่น แบบลำต้นตรงกลาง แบบลำต้นโน้มเอียง แบบลำต้นคู่ แบบตกกระถาง แบบกลุ่มกอ แบบโผล่ราก แบบลู่ลม แบบเกาะหิน เป็นต้น
การเข้าลวดบอนไซ
จุดประสงค์ของการเข้าลวดก็เพื่อบังคับกิ่งไปตามทิศทางที่ต้องการ แล้วยังทำให้เกิดความอ่อนช้อย หากไม่เข้าลวดบังคับกิ่งไว้กิ่งอาจจะตั้งตรงขึ้น ทำให้กิ่งนั้นเสียไป เมื่อกิ่งโตขึ้นไม้จะอมลวด ต้องหมั่นดูแลและคลายลวดออก เมื่อได้กิ่งที่กำหนดทิศทางได้ถูกต้องตามความต้องการแล้ว ให้เอาลวดออกเพื่อความเป็นธรรมชาติสวยงาม และลวดที่ใช้ควรมีความนุ่มและแข็งแรงพอสมควร เลือกขนาดให้เหมาะสมกับกิ่ง ไม่ควรพันแน่นหรือหลวมจนเกินไป
ลวดญี่ปุ่นจะมีคุณสมบัติดีกว่าลวดชนิดอื่นๆ แต่มีราคาสูงถึงกิโลละ 800 บาท รองลงมาจะเป็นลวดของไต้หวันและจีน ราคาจะอยู่ประมาณ 400 บาท หากเป็นลวดของไทยเรา ลวดจะมีลักษณะแข็งกว่าลวดประเภทอื่น ไม่ค่อยนิยมนำมาเล่น ราคาประมาณ 200 บาท
คุณนิจแนะนำว่าหากจะใช้ลวดบอนไซควรใช้ลวดของญี่ปุ่นหรือจีนจะดีกว่า เพราะมีคุณสมบัตินิ่ม ดัดง่าย ไม่ทำให้ไม้ช้ำ หากใช้ลวดแข็งอาจทำให้กิ่งหักได้
การเลือกกระถางและ สูตรดิน ปลูกบอนไซ
“หากซื้อบ้านสวยๆ ราคา 10 ล้านบาท จะเอาต้นไม้ข้างทางไปตั้งก็ไม่เหมาะสม ต้องสรรหาไม้สวยๆ คู่ควรกับบ้านไปวาง” คุณนิจยกตัวอย่างให้ทีมงานไม้ดอกไม้ประดับฟังว่า กระถางต้นไม้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญมากที่จะทำให้ต้นไม้นั้นเด่นสง่า หรือด้อยค่าลง กระถางดีๆ สวยๆ ต้องยกให้กระถางจีนและกระถางญี่ปุ่น เพราะเขาใช้ดินชนิดเดียวกับที่นำไปปั้นกาน้ำชา ราคาของกระถางเหล่านี้ค่อนข้างสูง กระถางที่ดีต้องมีรูระบายน้ำที่กว้าง เพราะระบบการระบายน้ำ เปรียบเสมือนหัวใจของบอนไซ
สูตรดิน
- ทรายหยาบ 10 เปอร์เซ็นต์
- กาบมะพร้าวสับ 20-30 เปอร์เซ็นต์
- ดินหมักใบก้ามปู 60 เปอร์เซ็นต์
นำส่วนผสมข้างต้นมาคลุกเคล้ากัน เพียงเท่านี้ก็ได้ดินปลูกบอนไซ มีคุณสมบัติโปร่ง ร่วน ไม่แน่นจนเกินไป หากดินแน่นจะทำให้ต้นไม้โทรม ไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร
หลังจากปลูกเลี้ยงบอนไซในกระถางได้ประมาณ 2 ปี รากจะชอนไชวนอยู่ก้นกระถาง ทำให้การดูดน้ำและอาหารด้วยความยากลำบาก เพราะฉะนั้นจึงถอนต้นขึ้นมาเพื่อตัดแต่งรากและเปลี่ยนดินใหม่
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเปลี่ยนดิน คือ หลังหมดฤดูหนาวประมาณเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ก่อนจะเปลี่ยนดิน การหยุดรดน้ำ 1 วัน เพื่อให้ดินแห้ง ง่ายต่อการเขี่ยราก หลังจากนั้นใช้กรรไกรตัดใบออกทั้งต้น
เมื่อตัดแต่งกิ่งใบเสร็จแล้วให้ยกไม้ขึ้นกระถาง ดินจะติดขึ้นมา ใช้ตะขอค่อยๆ เขี่ยและเกลารากที่ยาวออกแล้วตัดรากให้สั้น เขี่ยดินออกให้เหลือดินเก่าประมาณ 1 ใน 3 นำดินที่เตรียมไว้รองก้นกระถางปลูกใบใหม่ จากนั้นนำต้นบอนไซลงปลูกจัดรากให้สวยงาม
การให้ปุ๋ยและน้ำบอนไซ
ในช่วงระหว่างที่กำลังสร้างตอไม้ให้เป็นบอนไซนั้นควรให้ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ ปุ๋ยที่ใช้ คือ ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 หรือ 15-15-15 ให้ 15 วัน/ครั้ง หลังจากนั้นไม้แข็งแรงแล้วจะให้ปุ๋ยเดือนละหนึ่งครั้ง และตามสภาพของไม้ ส่วนการให้น้ำขึ้นอยู่กับประเภทของบอนไซ เช่น โมก
โดยธรรมชาติโมกจะชอบความแฉะมากเป็นพิเศษ น้ำขังก็ยิ่งดี เจ้าของควรหมั่นรดน้ำทุกวัน เช้า-เย็น หากเป็นตะโกจะไม่ชอบความแฉะ รดน้ำวันละครั้ง ปริมาณไม่มากนัก และต้นหมากเล็กหมากน้อยจะชอบดินโปร่ง น้ำไม่ขัง เป็นต้น
การป้องกันกำจัดโรคและศัตรูพืช
โรคก็ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้เช่นกัน โรคอันตรายที่สุดของบอนไซ คือ เพลี้ย เชื้อรา สามารถทำให้บอนไซต้นรักตายได้ ยกตัวอย่างเช่น ชา ปัญหาใหญ่ คือ เพลี้ย พวกไทรจีน ปัญหาใหญ่ คือ เพลี้ยหนอนกินใบ เป็นต้น การกำจัดและป้องกัน คือ ใช้ S 85 หรือคาร์บาริล (carbaryl) ที่มีจำหน่ายตามตลาดทั่วไป
บอนไซนั้นถือว่ามีรูปทรงหลากหลาย และขึ้นอยู่กับสไตล์ของผู้เล่นแต่ละคน ทำให้ผู้เล่นไม่เบื่อ อีกทั้งบอนไซถือเป็นของยาก “ขั้นเทพ” อย่างหนึ่ง ผู้เลี้ยงต้องมีความรักในบอนไซจริงๆ หากไม่รักจริงๆ มักจะทำไม่สำเร็จ เพราะเป็นไม้ที่ต้องใช้ระยะเวลาการสร้างนานกว่า ไม้จะสวยได้ดั่งใจ หากมีอุปกรณ์ราคาแพง ตอไม้ที่หายาก แต่ถ้าไม่เอาใจใส่ก็มีค่าเท่ากับศูนย์เช่นกัน
การจำหน่ายบอนไซ
“ราคาบอนไซค่อนข้างสูง ทำให้มีผู้เล่นเข้าถึงจริงๆ มีน้อยมาก ส่วนมากกลุ่มผู้เล่นบอนไซจะเป็นกลุ่มนักธุรกิจ นักบริหาร เพราะผู้คนเหล่านั้นเชื่อว่าถ้ามีบอนไซไว้ในครอบครองนั้นจะเป็นตัวบ่งบอกว่าตัวมีฐานะ เช่น ญี่ปุ่น จะถือว่าบอนไซเป็นศิลปะชั้นสูง หากครอบครัวใดมีบอนไซจะต้องทำพินัยกรรมระบุให้กับทายาทอย่างชัดเจน” คุณนิจเอ่ย
หากผู้ใดหลงรักบอนไซแล้วให้ดูแลเอาใจใส่เขามากๆ ทุ่มเททั้งจินตนาการและทุกๆ อย่างให้กับบอนไซ เพราะผลลัพธ์ที่กลับมา คือ ความสุขของผู้เลี้ยงเอง การสร้างบอนไซ การสร้างบอนไซ
ขอขอบคุณ พินิจ รัตนชูวงค์ 19/18 ม.4 ซ.วัชรพล 4 ถ.วัชรพล คลองถนนสายไหม กรุงเทพฯ 10220 โทร.084-114-8109