ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านผลผลิตทางการเกษตร อาทิเช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และถั่ว เป็นต้น ทั้งหมดล้วนเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของส่วนผสมอาหารสัตว์ เป็นดั่งวัฏจักรที่เกื้อหนุนกันมายาวนาน ดังนั้นจะมีสักกี่ฟาร์มที่รู้จักการลดต้นทุนด้านอาหาร ผสมอาหารใช้ภายในฟาร์มเอง เรียนรู้การพึ่งพาตัวเองมากกว่าพึ่งคนอื่น เพราะต้นทุนด้านอาหารภายนอกมีราคาค่อนข้างสูง
จุดเริ่มต้นการเลี้ยงไก่ไข่
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นทำให้ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ และความชำนาญ สามารถพัฒนาฟาร์มสู่ความยั่งยืนและมั่นคง อย่าง “ฟาร์มรพีพัฒน์” ที่มีประสบการณ์การทำฟาร์มมากว่า 30 ปี บริหารโดย คุณสุพัฒน์ ธนะพิงค์พงษ์ อายุ 67 ปี ชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา
เริ่มต้นทำฟาร์มตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 หลังจากสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อยู่หลายปี จึงเกิดความคิดที่อยากจะกลับบ้าน คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา มาทำฟาร์ม แต่ในช่วงระยะแรกๆ การเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบฟาร์มค่อนข้างหลากหลาย ก่อนจะมาเลี้ยงไก่ไข่อย่างถาวรมีการเลี้ยงไก่เนื้อและสุกรก่อน แต่ระยะหลังเปลี่ยนมาเป็นการเลี้ยงไก่ไข่ทั้งหมด เหตุที่เลิกเลี้ยงไก่เนื้อ
คุณสุพัฒน์บอกกับทีมงานสัตว์บกว่า การแข่งขันในพื้นที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ จะทำแบบครบวงจร มีโรงเชือด มีตลาดในการรับซื้อค่อนข้างชัดเจน ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อรายย่อยที่ต้องพึ่งบริษัทใหญ่ๆทางด้านอาหาร หรือการตลาด จะค่อยๆ ถดถอยลดจำนวนลง บางรายถึงขั้นเลิกกิจการ อยู่ได้เพียงเฉพาะรายใหญ่จริงๆ
ปัจจุบันในแถบพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราจะมีฟาร์มเหลือไม่มาก และเป็นแหล่งผลิตไข่ไก่ที่ตลาดต้องการรองจากจังหวัดนครนายก และชลบุรี เพราะเป็นแหล่งที่ตั้งของบริษัทใหญ่ๆ ช่วงแรกทางฟาร์มจะเลี้ยงทั้งไก่เนื้อและไก่ไข่รวมกัน แต่คุณสุพัฒน์เล็งเห็นว่าไก่ไข่การแข่งขันค่อนข้างน้อย หากเปรียบการแข่งขันก็แค่ฟาร์มต่อฟาร์ม อีกอย่างลักษณะของฟาร์มก็ใกล้เคียงกันด้วย ไม่ต้องต่อสู้กับบริษัทใหญ่ๆ จึงหันมาเลี้ยงไก่ไข่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 โดยการปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงจากจำนวนหลักหมื่นต้นๆ ค่อยๆ เพิ่มจำนวนและขยายฟาร์ม จนถึงปัจจุบันมีไก่ทั้งหมด 300,000 กว่าตัว
คุณสุพัฒน์กล่าวกับเราว่า “ตลอดเวลาการทำฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่กว่า 30 ปี ถือเป็นอาชีพหลักของครอบครัว และยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่ทำควบคู่กันไปด้วย เปิดศูนย์โชว์รูมรถยนต์ โดยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉะเชิงเทรา ฮอนด้าคาร์ส จำกัด”
หากถามว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจในการทำฟาร์มของคุณสุพัฒน์ คงต้องบอกว่าการเป็นคนที่มีลักษณะนิสัยรักธรรมชาติ รักถิ่นฐานบ้านเกิด และรักในอาชีพทำการเกษตร ทั้งๆ ที่ไม่ได้เรียนมาในด้านนี้ เพราะเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีกหนึ่งเหตุผล คือ หลีกหนีความวุ่นวายในชุมชนเมืองหลวง นับเป็นการริเริ่มความคิดในการกลับมาทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดฉะเชิงเทรานับตั้งแต่นั้นมา
สภาพพื้นที่เลี้ยงไก่ไข่
การลงทุนครั้งแรกอาจดูไม่ค่อยชัดเจนมากนัก เพราะการทำฟาร์มในระยะแรกใช้เงินทุนส่วนตัวกับแหล่งเงินทุนจากธนาคารบ้างบางส่วน โดยเริ่มจากการทำฟาร์มที่มีขนาดเล็กๆ ก่อน แล้วใช้วิธีต่อยอดจากผลผลิตพัฒนาฟาร์มขึ้นไปเรื่อยๆ จากไก่จำนวน 10,000 ตัว ก็เพิ่มเป็น 20,000 ตัว จาก 20,000 ตัว ก็เพิ่มเป็น 40,000 ตัว เพิ่มตามลำดับ โรงเรือนก็เช่นกัน จาก 1 โรงเรือน เพิ่มเป็น 2 โรงเรือน จาก 2 โรงเรือน ก็ขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนไก่
ปัจจุบันมี 12 โรงเรือน ขนาดของโรงเรือนก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คุณสุพัฒน์เล่าว่า “สมัยก่อนโรงเรือนจะมีขนาดเล็กกว่าปัจจุบันมาก สามารถบรรจุไก่ไข่ได้เพียง 4,000-5,000 ตัว แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นระบบอีแวป (Evap) คือ โรงเรือนปิด ขนาดความกว้าง 17 เมตร ยาว 120 เมตร สามารถบรรจุไก่ไข่ได้ 40,000-50,000 ตัว โดยทางฟาร์มเลี้ยงในระบบอีแวปทั้งหมด”
การสร้างโรงเรือนในระบบอีแวป (Evap) โรงเรือนแรก ได้มีการว่าจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้างมาทำให้ก่อน จากนั้นโรงเรือนที่ 2 หรือโรงเรือนถัดมาจะก่อสร้างเองทั้งหมด เพราะได้เรียนรู้จากการซ่อมบำรุงโรงเรือนแรก และจากฟาร์มของคนที่รู้จักกัน ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งพัดลมดูดอากาศ, ระบบคูลลิ่งแพด (cooling pad), ระบบไฟฟ้า ส่วนระบบควบคุมอุณหภูมิและระบบการเปิด-ปิดพัดลมจะค่อนข้างยากสักหน่อย แต่ก็ได้เรียนรู้และซ่อมแซมเองทั้งหมด ปัจจุบันมีช่างไว้คอยดูแลในส่วนตรงนี้ และยังมีระบบสายพานในการเก็บไข่ไก่ สามารถลดต้นทุนด้านแรงงานอีกวิธีหนึ่ง เพราะก่อนหน้านี้ใช้แรงงานคนค่อนข้างเยอะ
“เหตุผลที่เลือกมาเลี้ยงไก่ไข่ในระบบอีแวป (Evap) ก็เพราะก่อนหน้านี้เคยเลี้ยงไก่ในระบบเปิด คือ เป็นพื้นที่โรงเรือนเปิดโล่ง อากาศแปรผันตามสภาพภูมิอากาศของประเทศ ไม่ส่งผลดีกับการทำฟาร์ม ประกอบกับเห็นฟาร์มของบริษัทใหญ่ๆ เขาทำเป็นระบบอีแวป (Evap) กันค่อนข้างมาก จึงนำมาพัฒนาฟาร์ม ประมาณ 3-4 ปี โดยค่อยๆ เปลี่ยนทีละโรงเรือนจนครบ หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดโรคไข้หวัดนกขึ้น ทำให้ฟาร์มที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงติดโรคไข้หวัดนกกันทั้งหมด มีแค่ของทางฟาร์มรอดอยู่ฟาร์มเดียว แต่ในเขตจังหวัดฉะเชิงเทราเหลือฟาร์มที่ไม่ติดโรคไข้หวัดนกแค่ 30-40% เท่านั้น” คุณสุพัฒน์กล่าว
ปัญหาและอุปสรรคในฟาร์มไก่ไข่
หากมองถึงปัญหาที่มีผลกระทบต่อฟาร์มในช่วงที่โรคไข้หวัดนกระบาด คุณสุพัฒน์เล่าว่า ช่วงแรกๆ ที่ไข้หวัดนกระบาดนั้น ทางฟาร์มขายไข่ไก่ไม่ได้เลย เหลือเต็มบ้าน เหตุเพราะว่าสื่อประโคมข่าวจนทำให้ประชาชนเกิดความกลัวขึ้น กลัวถึงภัยอันตราย ที่จะเกิดจากการบริโภคทั้งไก่และไข่เข้าไป จนกระทั่งรัฐบาลได้มีการรณรงค์จัดงานมหกรรมกินไก่ และไข่ โชว์ ณ ท้องสนามหลวง เพื่อพิสูจน์ว่ากินไก่และกินไข่ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต
นอกจากนั้นยังมีการแจกไข่ไก่ ก็มีขายในราคาถูก เช่น ใบละ 1 บาท ก็มี เมื่อประชาชนทราบถึงเหตุผลของการบริโภคไข่ไก่แล้วไม่ก่อให้เกิดอันตราย ความต้องการที่มีมากขึ้น จึงทำให้จำนวนไข่ที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการ จนราคาไข่ไก่ขยับตัวขึ้น ช่วงนั้นถือว่าราคาค่อนข้างสูง
พันธุ์ไก่ไข่ที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทยมีค่อนข้างหลากหลาย เช่น พันธุ์ไฮเซก, พันธุ์โรมัน (เบทาโกร), ไก่ไข่ลูกผสม (อิซ่าบราวน์) ของ CP เป็นต้น ส่วนทางฟาร์มจะเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์ไฮไลน์ (Hi-Line Brown) ณ ปัจจุบัน แต่พันธุ์ไก่ไข่ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทางฟาร์มเคยเลี้ยงมาทั้งหมด เพราะไม่ได้อิงตลาดของพันธุ์ไก่ไข่ ขึ้นอยู่ที่จังหวะและโอกาสมากกว่า อีกอย่างไม่ว่าจะเป็นไก่ไข่พันธุ์ไฮเซก, พันธุ์โรมันของเบทาโกร หรือพันธุ์อิซ่าบราวน์ของ CP ประสิทธิภาพของสายพันธุ์ไม่แตกต่างกัน แต่ส่วนที่แตกต่างกันจะอยู่ที่การจัดการและคุณภาพอาหารของการเลี้ยงมากกว่า
การบริหารจัดการฟาร์มไก่ไข่
ด้านพื้นที่ของฟาร์มรพีพัฒน์มีทั้งหมด 90 กว่าไร่ เป็นโรงเรือนสลับกับพื้นที่ปลูกต้นไม้ให้ความร่มรื่นแก่ฟาร์ม บางส่วนจะขุดเป็นบ่อน้ำขนาด 2-3 ไร่ จำนวน 2 บ่อ เพื่อใช้ภายในฟาร์ม โดยทำเป็นระบบน้ำประปา มีการสูบน้ำมาพักไว้ หลังจากนั้นใช้ถังน้ำขนาด 3,000-5,000 ลิตร เพื่อกักเก็บน้ำ จากนั้นค่อยปรับสภาพน้ำโดยการใส่สารคลอรีนลงไป และมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำจากบริษัทที่เชื่อถือได้ก่อนนำไปใช้
การเลี้ยงไก่ไข่ของทางฟาร์มจะเลี้ยงในแบบลักษณะไก่รุ่น มีการจองพันธุ์ไก่ไข่ปีละครั้ง และทุกๆ 2 เดือน จะมีการนำไก่ไข่เข้า-ออกเป็นระบบ เช่น หากนำไก่ไข่เข้ามา 1 ชุด จะต้องปลดระวางไก่ไข่อีก 1 ชุด โดยหมุนเวียนกันแต่ละโรงเรือน เพื่อให้ไก่ไข่ผลิตไข่ได้อย่างสม่ำเสมอ
ส่วนวิธีการเลี้ยง จะเริ่มเลี้ยงตั้งแต่ขั้นตอนการซื้อลูกไก่ (ลูกเจี๊ยบ) หรือที่เรียกว่า Day Old Chick (DOC) คือ ลูกไก่อายุ 1 วัน นำเข้ามาเลี้ยงที่ฟาร์ม จะเลี้ยงประมาณ 16-18 สัปดาห์ ช่วงนี้จะเรียกว่าไก่สาวที่พร้อมจะขึ้นกรงผลิตไข่ไก่ได้ ส่วนระยะเวลาในการขึ้นกรงจะอยู่ที่ 58-60 สัปดาห์ จึงค่อยปลดระวางไก่ โดยมีพ่อค้ารายใหญ่ที่เป็นเจ้าประจำมารับซื้อที่ฟาร์ม
ด้านสิ่งแวดล้อม ทางฟาร์มจะเน้นในเรื่องของธรรมชาติที่ร่มรื่นมาก มีการปลูกต้นไม้รอบๆ บริเวณ ซึ่งแตกต่างจากช่วงแรกๆ ที่ทำโรงเรือนในลักษณะแบบโรงเรือนเปิดโล่ง ต้องการอากาศถ่ายเทได้สะดวก มีลมพัดผ่าน แต่ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องอาศัยลมจากธรรมชาติเพราะเป็นโรงเรือนปิด จึงสามารถปลูกต้นไม้ได้ คุณสุพัฒน์บอกกับเราว่า “ผมจะทำให้เป็น Green farm ฟาร์มที่รักสิ่งแวดล้อม”
การจัดการด้านสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย เช่น มูลไก่ และกลิ่น เนื่องด้วยทางฟาร์มมีประสบการณ์ในการทำฟาร์มมาค่อนข้างยาวนาน การจัดเก็บมูลไก่จึงเป็นระบบเพื่อทุ่นแรงและประหยัดเวลา มีเครื่องกวาดมูลไก่ออกจากโรงเรือนทุกวัน วันละ 20 กว่าตัน โดยมีพ่อค้ามารับซื้อที่ฟาร์มทุกวัน ส่วนราคาขาย ขายเป็นกิโลกรัมละ 30-40 สตางค์ หากเปรียบเทียบเมื่อครั้งที่ทำฟาร์มแบบโรงเรือนเปิดการจัดเก็บค่อนข้างลำบาก ใช้เวลาหลายวัน และใช้แรงงานมาก อีกอย่างหากจัดเก็บมูลไก่ไม่ดีพอ ปัญหาที่จะตามมา คือ กลิ่น และแมลงวัน จะสูง เพื่อเป็นการลดปัญหาดังกล่าวจึงนำระบบเข้ามาจัดการภายในโรงเรือนปิด
การให้อาหารไก่ไข่
ว่าด้วยเรื่องของอาหารที่ใช้ภายในฟาร์ม ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด หรือมันสำปะหลัง จะซื้อวัตถุดิบจากบริษัทที่เชื่อถือได้มาผสมตามสูตรของฟาร์ม เพราะคุณสุพัฒน์ได้เรียนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หลังจากนั้นนำมาปรับปรุงโดยซื้อโปรแกรมจากต่างประเทศมาควบคุมปริมาณการผสมอาหารของแต่ละชนิดให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสม ส่วนอาหารสำเร็จรูปจะใช้น้อย เนื่องจากจะใช้เลี้ยงเฉพาะไก่เล็ก คือ ช่วงแรกเข้าโรงเรือน จนถึงไก่ 5 สัปดาห์ แต่หลังจากนั้นจะให้กินอาหารที่ทางฟาร์มผสมเอง
ข้อดีของการผสมอาหารใช้เอง คือ 1.สามารถรู้ถึงคุณค่าทางอาหารว่าเป็นอย่างไร 2.สามารถลดต้นทุนด้านอาหารได้เป็นอย่างดี เพราะว่าการที่มีโรงงานผสมอาหารของทางฟาร์มเองสามารถคัดสรรวัตถุดิบที่จะใช้ในการออกแบบสูตรอาหารได้ง่ายขึ้น
การตรวจสอบคุณภาพอาหารและวัตถุดิบต่างๆ มีการตรวจเช็คค่อนข้างละเอียด เช่น มีค่าโปรตีนเท่าไร มีค่าของพลังงานเท่าไหร่ หรือแม้กระทั่งค่าอื่นๆ ก็ต้องตรวจเช็คด้วย อย่าง เชื้อรา เป็นต้น
การให้อาหารในแต่ละวันจะให้อย่างน้อย 3-4 ครั้ง เฉลี่ยอยู่ที่ 20 กว่าตัน/วัน เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด เพียงแต่มีบุคลากรดูแลให้ตรงเวลาในแต่ละวันเท่านั้น
การป้องกันกำจัดโรคระบาด
ส่วนการดูแลในด้านอื่นๆ หากมองว่าความแตกต่างในด้านของโรงเรือน เช่น โรงเรือนเปิด ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา อากาศค่อนข้างเปลี่ยนแปลงบ่อยในแต่ละวัน อย่างเช่น ตอนเช้า อย่างตอนกลางวันเป็นอีกอย่าง อุณหภูมิที่ดูต่างกัน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเลี้ยงไก่ ทำให้ไก่มีปัญหาด้านสุขภาพ เช่น ป่วยบ่อย
หากเป็นแบบโรงเรือนปิด (Evap) อุณหภูมิต่ำสุดกับอุณหภูมิสูงสุดจะต่างกันไม่มาก เฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 องศาเซลเซียส ไม่เหมือนแบบโรงเรือนเปิด เพราะอุณหภูมิต่ำสุดกับสูงสุดต่างกันที่ 10 องศาเซลเซียส หากเป็นช่วงหน้าร้อนเดือนเมษายนอยู่ที่ 12-15 องศาเซลเซียส ถือว่าสูงมาก เมื่อไก่เจออากาศร้อนๆ จะทำให้ป่วยและตายมากขึ้น ส่วนอัตราการผลิตไข่ต่อวันก็จะน้อยลงไปด้วย ดังนั้นการเลี้ยงไก่แบบโรงเรือนปิดจึงดีกว่า เพราะสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ ทำให้ไก่อยู่อย่างสบาย การกินอาหารก็ดีขึ้นด้วย ให้ผลผลิตได้สม่ำเสมอ
และอีกช่วงหนึ่งที่จะต้องดูแลเป็นอย่างมากในการเลี้ยงไก่ไข่ คือ ช่วงรอยต่อของฤดู ไม่ว่าจะเป็นช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะเข้าหน้าฝน หรือช่วงปลายฝนต้นหนาว ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่อากาศค่อนข้างผันผวน ส่งผลให้ไก่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศได้ทัน เมื่อปรับตัวไม่ทันไก่ก็จะไม่สบาย (ลักษณะคล้ายๆ มนุษย์เรา) แต่มีวิธีป้องกัน เมื่อรู้ว่าจะถึงช่วงรอยต่อของฤดู หรือที่เรียกว่าช่วงอ่อนไหว จะมีการให้วิตามิน หรือยาป้องกันไว้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยการผสมในน้ำให้ไก่กิน หรือให้สัตวบาลเดินเข้าไปเช็คในโรงเรือน
ด้านยาและวัคซีน ทางฟาร์มจะแบ่งเป็นช่วงของอายุไก่ อย่างไก่เล็กจะให้วัคซีนค่อนข้างถี่ เช่น โรคนิวคาสเซิล จะให้ตั้งแต่ 7 วัน 14 วัน ทำตามโปรแกรมที่สัตวบาลกำหนดไว้ ทุกโรงเรือนจะมีการกำกับดูแลที่แน่นอน ส่วนไก่สาวที่ขึ้นกรงจะมีการฉีดวัคซีนโรคนิวคาสเซิลทุกๆ 5-6 สัปดาห์ แต่ฉีดในเชิงกระตุ้นภูมิคุ้มกันมากกว่า โดยส่วนใหญ่ทางฟาร์มจะมีสัตวบาลคอยดูแลโดยแบ่งหน้าที่กันทำ แบ่งเป็นโรงเรือนไก่เล็ก และไก่สาว เพราะมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 3 คน
ปัญหาและอุปสรรคด้านบุคลากร
ด้านแรงงาน ทางฟาร์มจะมีพนักงานทั้งหมด 20 กว่าคน โดยแบ่งหน้าที่กันทำเฉลี่ยอยู่ที่โรงเรือนละ 2 คน แบ่งเป็นหน้าที่หลักๆ อย่างเช่น การให้อาหาร การเก็บไข่ ช่วยสัตวบาลในการฉีดวัคซีนโรงเรือนไก่เล็ก และขั้นตอนการเตรียมโรงเรือน เช่น ทำความสะอาดภายในโรงเรือนหลังจากปลดไก่ เก็บมูลไก่ เตรียมโรงเรือนสำหรับไก่ชุดใหม่ เป็นต้น
ส่วนอัตราค่าจ้างจะจ้างเป็นเดือนตามแรงงานขั้นต่ำ เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 300 บาท มีที่พักให้ น้ำ ไฟฟ้า ฟรี แต่ต้องอยู่ในข้อตกลง คือ หากค่าไฟฟ้าเกิน 150 บาท ต้องจ่ายส่วนเกินเอง สังเกตได้ว่าทางฟาร์มจะให้ค่าจ้างและสวัสดิการที่ดี เป็นเพราะแนวความคิดของคุณสุพัฒน์เองเพื่อขจัดปัญหา 1.การเปลี่ยนคนงานบ่อย 2.เมื่อเปลี่ยนคนงานบ่อยก็จะเหนื่อยที่จะต้องสอนงานเพิ่ม หากมองว่าพนักงานอยู่กันอย่างสบาย ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นก็จะลดลง
ปัญหาด้านแรงงานก็ยังเป็นอุปสรรคต่อการทำฟาร์มอันดับต้นๆ อย่างเมื่อก่อนคุณสุพัฒน์บอกว่า “เลี้ยงไก่ไข่แบบ โรงเรือนเปิด จะใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ ให้อาหารก็ต้องใช้แรงงานคน เก็บไข่ก็ต้องใช้แรงงานคน ซึ่งเป็นปัญหาในการทำฟาร์มในช่วงแรกๆ แต่พอเปลี่ยนมาเป็นระบบปิดก็ช่วยลดปัญหาในส่วนนี้ลง” คุณสุพัฒน์ยังกล่าวต่ออีกว่า
“อีกหนึ่งปัญหาในการทำฟาร์ม คือ ระบบการจัดการภายในฟาร์ม เพื่อให้ไก่มีสุขภาพดีควรทำอย่างไร เพราะการเลี้ยงไก่ที่มีปริมาณหนาแน่น การดูแลจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ หากไก่ป่วยจะให้ยาวัคซีนอย่างไร จะแก้ไขอย่างไร เรื่องของอาหารก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับด้วย ตรงนี้ก็เป็นส่วนสำคัญ”
ปัญหาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ดูเหมือนว่าจะส่งผลกระทบในวงกว้าง แม้แต่การทำฟาร์มก็โดนผลกระทบเช่นกัน จึงต้องเรียนรู้และวางแผนเพื่อป้องกัน โดยการนำเครื่องมือเข้ามาใช้แทนแรงงานคน เช่น เครื่องเก็บไข่ และระบบการให้อาหาร เป็นต้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานลง
ด้านการตลาดและช่องทางจำหน่ายไข่ไก่ ไข่ไอโอดีน
ด้านการตลาด ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้า-แม่ค้าในพื้นที่ที่เป็นเจ้าประจำประมาณเกือบ 10 เจ้า กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง เช่น ปราจีนบุรี จะมารับที่ฟาร์มทุกวัน โดยจะขายเป็นไข่คละอิงราคาตามสหกรณ์ประกาศ ส่วนไข่ที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ คือ “ ไข่ไอโอดีน ” จะส่งตลาด Modern trade ในกรุงเทพฯ เดิมทีจะทำร่วมกันกับสภากาชาดไทย ปัจจุบันไม่ได้ทำแล้ว
เพราะทางฟาร์มได้ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตใหม่ โดยใช้สารโปแตสเซียมไอโอเดทมาผสมในอาหารให้ไก่กิน ปรากฏว่าไข่ไก่มีปริมาณไอโอดีนมากกว่าวิธีแบบเดิม จึงยึดวิธีนี้จนถึงปัจจุบัน แต่ราคาไข่ไก่ไอโอดีนจะสูงกว่าไข่ไก่ธรรมดา เพราะมีต้นทุนสูงขึ้น ส่วนตลาดจะส่งให้กับห้างสรรพสินค้า ฟู้ดแลนด์ เพียงเจ้าเดียว
อัตราการผลิตไข่ไก่ ทางฟาร์มสามารถผลิตไข่ไก่ได้เกือบ 200,000 ฟอง/วัน ถือว่าเพียงพอกับความต้องการของตลาด
แนวโน้มในอนาคต
ส่วนในอนาคตอันใกล้นี้ทางคุณสุพัฒน์และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีการสำรวจประเทศในกลุ่ม อาเซียนบ้างแล้ว เช่น สิงคโปร์ และมาเลเซีย เพราะคิดว่าศักยภาพในการเลี้ยงไก่ไข่ค่อนข้างใกล้เคียงกันกับบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีต่างๆ รูปแบบกรง และโรงเรือนปิด (Evap) พยายามเข้าไปเรียนรู้
หลังจากเข้าไปดูแล้วพบว่าเรายังมีข้อได้เปรียบในเรื่องของอาหาร เพราะว่าเรามีวัตถุดิบให้เลือกใช้ค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งต่างจาก 2 ประเทศ ที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นที่มีวัตถุดิบในการใช้ผสมอาหารให้ไก่ไข่กินค่อนข้างน้อย ดังนั้นเมื่อมีวัตถุดิบให้เลือกเยอะ ต้นทุนการผลิตก็จะถูกลง ดูแล้วเราไม่ด้อยกว่าเขา จึงดูไม่เป็นคู่แข่งที่น่ากลัว ส่วนประเทศอื่นๆ ยังไม่น่ากลัว เพราะเรามีกระบวนการผลิตที่ทันสมัยกว่า และเทคโนโลยีการผลิตอาหารที่ดีกว่า
คุณสุพัฒน์บอกกับเราว่า “ประเทศที่น่ากลัวที่สุด คือ จีน ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในประเทศกลุ่มอาเซียน แต่มีพื้นที่เขตชายแดนติดประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น พม่า และยังสามารถขนส่งทางแม่น้ำโขงได้อีกด้วย” อีกอย่างการพัฒนาจาก 20 ปีก่อนค่อนข้างเร็ว ทั้งด้านการตลาด เช่น ฮ่องกง เป็นต้น และอีกอย่าง คือ สามารถขายได้ทุกระดับราคา ตั้งแต่ระดับล่าง (ราคาถูก) ระดับกลาง และระดับบน ดังนั้นจึงเป็นประเทศที่น่ากลัวทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นประเทศใหญ่ และมีการพัฒนาค่อนข้างจริงจัง
ในส่วนตรงนี้อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแลและป้องกันอย่างจริงจัง หากเกิดปัญหาขึ้นจะทำให้ตลาดภายในประเทศเสียหายในวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยตรง
ด้านการขยายฟาร์มและแผนในอนาคต ทางคุณสุพัฒน์บอกว่า “อัตราการเพิ่มปริมาณของไข่ไก่มีสูงขึ้นทุกปี เพราะบริษัทใหญ่ๆ มีการขยายฐานการผลิตมากขึ้น ส่งผลให้การทำฟาร์มของรายย่อยและระดับกลางค่อนข้างลำบาก จึงหันมาเน้นในเรื่องการลดต้นทุนด้านอาหาร การเลี้ยงไก่ ตั้งแต่ไก่เล็กจนถึงไก่สาว และด้านสิ่งแวดล้อม”
เทคโนโลยี Biogas (ไบโอแก๊ส) ทางฟาร์มกำลังศึกษาและสนใจจะนำมาใช้กับฟาร์ม เพื่อช่วยลดปัญหากลิ่น และแมลงวัน ที่อาจส่งผลกระทบต่อแหล่งชุมชนที่มีแนวโน้มจะขยายตัวมากขึ้น และการผลิตไฟฟ้าใช้ภายในฟาร์ม
หากมองในด้านคู่แข่ง ทางฟาร์มบอกว่า “ทางจังหวัดฉะเชิงเทราจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มสหกรณ์มากกว่ามองกันเป็นคู่แข่ง เพราะจะต้องพึ่งพาอาศัยและคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีการประชุมกันทุกเดือน และกำหนดราคาไข่ไก่ร่วมกัน” คุณสุพัฒน์ยังบอกต่ออีกว่า “อาชีพเกษตรกรจะต้องร่วมมือกัน เพราะถ้าไม่ร่วมมือกัน สินค้าเกษตรจะถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ทำให้เกษตรกรทำฟาร์มค่อนข้างลำบาก และอาจอยู่ไม่ได้”
รายได้จากผลผลิตไข่ไก่
ด้านรายได้ การทำฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่รายได้จะไม่แน่นอน ส่วนใหญ่จะวัดกันทั้งปี และขึ้นอยู่กับต้นทุน ถ้าต้นทุนสูงจะทำให้รายได้ (กำไร) น้อยลง บางครั้งก็ขาดทุนก็มี ดังนั้นต้นทุนจึงจำเป็นต่อการเลี้ยงไก่ไข่ เพราะราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 10-20 สตางค์/ฟอง ซึ่งไม่เหมือนสินค้าอุตสาหกรรมที่จะได้กำไรคงที่/หน่วย ทั้งปี
หากเปรียบเทียบทั้งปีจากสถิติการทำฟาร์มที่ผ่านๆ มา กำไรจะอยู่ที่ 5 เดือน เสมอตัวจะอยู่ที่ 4 เดือน ส่วนอีก 3 เดือน จะขาดทุน เป็นวัฎจักร หรืออาจจะเปลี่ยนแปลงบ้างบางเดือน และปัจจุบันคาดว่าช่วงปลายปี คือ ตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงสิ้นปีราคาไข่ไก่จะตกต่ำลง เพราะเข้าช่วงหน้าหนาวปริมาณไข่ไก่จะเพิ่มสูงขึ้นในท้องตลาด ทางฟาร์มจึงได้คาดการณ์ไว้
“อาชีพเกษตรกรในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากสมัยก่อน เนื่องจากมีการลงทุนค่อนข้างสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านโรงเรือน จำนวนสัตว์ที่เลี้ยง ล้วนเป็นต้นทุนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจึงอยากให้เกษตรกรศึกษาให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจลงมือทำ เพราะอาชีพเกษตรกรมันเป็นวัฏจักร บางช่วงราคาดี บางช่วงอาจจะขาดทุน หมุนเวียนอย่างนี้ทั้งปี ควรมีการวางแผนในระยะยาวด้วย
อย่างเช่น ควรใช้ทฤษฎีใยแมงมุม ทางเศรษฐศาสตร์ คือ เวลาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำเราจึงเลือกทำ แต่หากสินค้าเกษตรดีไม่ควรที่จะแห่ไปทำตามเขา เพราะเวลาผลผลิตทางการเกษตรออกมาสินค้าอาจล้นตลาด ราคาถูก ทำให้ขาดทุนได้ ส่วนเกษตรกรที่ทำอยู่เดิม หรือรายเก่า ก็สามารถนำทฤษฎีนี้ไปใช้ได้ ส่วนอีกเรื่อง คือ พยายามลดต้นทุนให้มีรายจ่ายน้อยที่สุด เพราะในทางธุรกิจส่วนใหญ่แล้วจะวัดกันที่ต้นทุน” คุณสุพัฒน์ได้ฝากทิ้งท้ายถึงเกษตรกรและผู้อ่านไว้ ไข่ไอโอดีน ไข่ไอโอดีน ไข่ไอโอดีน ไข่ไอโอดีน ไข่ไอโอดีน ไข่ไอโอดีน ไข่ไอโอดีน ไข่ไอโอดีน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฟาร์มรพีพัฒน์ 345/1 ถ.ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี ต.เกาะขุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา 24120 โทรศัพท์ 08-2460-2021