ลักษณะของสาหร่ายพวงองุ่น
สาหร่ายพวงองุ่น (Caulerpa Lentillifeae J. Agardh) เป็นสาหร่ายทะเลสีเขียว (Green Algae) อยู่ในครอบครัว Caulerpaceae มีลักษณะเป็นเม็ดกลมเล็กรวมกัน เป็นช่อคล้ายกับพวงองุ่น หรือไข่ปลาคาเวียร์ จึงมีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า “Sea grapea” หรือ “Green caviar” นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกว่า Lelato,Ararusip,Lato ส่วนชาวญี่ปุ่นจะเรียกสาหร่ายชนิดนี้ว่า “ Umibudo” ซึ่งแปลว่า “องุ่นแห่งท้องทะเล”
จุดเริ่มต้นเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
ดังนั้นทีมงานนิตยสารสัตว์น้ำจะพาไปพบกับ คุณลือชา มีน้อย เจ้าของฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่น ที่จังหวัดสมุทรสาคร “นาตาชาฟาร์ม” สาหร่ายพวงองุ่น ที่มีการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นโดยการเข้าร่วมอบรมที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งเพชรบุรี กองวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมง จาก 60 คน นาตาชาฟาร์ม สาหร่ายพวงองุ่น ได้เพาะพันธุ์สาหร่ายพวงองุ่นสำเร็จ และได้มีการจำหน่ายให้เกษตรกร และสวนจิตรดา
แรงจูงใจในการเริ่มเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น เดิมทีที่ฟาร์มเคยเป็นนาเกลือมาก่อน และในเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครได้มีการทำนาเกลือถึง 70% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งพักหลังนาเกลือเริ่มมีราคาตกต่ำ ทางคุณชาซึ่งรับช่วงการทำนาเกลือต่อจากคุณพ่อ ชื่อ คุณเซี้ยง หรือคนแถวนั้นรู้จักกันดีในนาม “นาตาเซี้ยง”
ต่อมาทางคุณชามีความคิดว่าจะทำยังไงดี เพราะว่าพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครส่วนใหญ่เป็นน้ำเค็ม จึงคิดหาวิธีที่จะทำอย่างอื่นแทนนาเกลือ มีคนแนะนำให้เข้า “โครงการในพระราชดำริ ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ” โดยมีการฝึกอบรมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น จึงได้เข้าร่วมการฝึกอบรม และได้นำความรู้มาพัฒนาพื้นที่นาเกลือให้เป็นฟาร์มเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
ซึ่งฟาร์มของคุณชาได้มีการเลี้ยงควบคู่กับกุ้งกุลาดำ และปลาที่ไม่กินพืช เพื่อรักษาระบบนิเวศในบ่อ สาหร่ายพวงองุ่นจะได้รับสารอาหารจากแพลงค์ตอน ส่วนกุ้งกุลาดำ และปลาที่ไม่กินพืช จะไม่ทำลายผลผลิต และทั้งหมดถือว่าเป็นการทำให้ระบบนิเวศไม่เสีย และเป็นการพึ่งพาอาศัยกัน
ต้นพันธุ์สาหร่ายพวงองุ่นเริ่มมาจากการแนะนำของกรมประมง ได้นำมาส่งเสริมให้เกษตรกรทดลองเลี้ยงเพื่อปรับคุณภาพของน้ำในบ่อกุ้ง จนต่อมาได้มีความนิยมและได้รับการส่งเสริมให้เป็นการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ จากนั้นซื้อ ต้นพันธุ์มาจากฟาร์มคุณเอ็ม จังหวัดเพชรบุรี
สภาพพื้นที่เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
การเตรียมบ่อเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น คือ การปรับสภาพพื้นบ่อ เช่น ความเป็นกรด-ด่าง ความสะอาดของก้นบ่อภายในบ่อเลี้ยงให้สามารถใช้เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นได้ โดยมีผลผลิตตอบแทนสูงสุดต่อหน่วยพื้นที่บ่อ คือ
1.หากเป็นบ่อเก่า ควรมีการตากบ่อ โรยปูนขาวเพื่อปรับสภาพพื้นบ่อ การตากบ่อให้พื้นก้นบ่อมีโอกาสได้รับแสงแดดและออกซิเจน จะช่วยให้อินทรียวัตถุที่หมักหมมอยู่ในบ่อที่มีการย่อยสลายตัวได้ดีขึ้น ทำให้อัตราการเจริญเติบโตของสาหร่ายพวงองุ่นดีขึ้น
2.เพิ่มเนื้อที่ของบ่อให้มากขึ้น จากการลอกก้นบ่อ และกำจัดวัชพืชต่างๆ ทำให้มีพื้นที่เลี้ยงสาหร่ายได้มากขึ้น และป้องกันการแย่งสารอาหารของสาหร่ายโดยวัชพืช (สำหรับบ่อเก่าควรระบายน้ำออก แล้วปรับปรุงบ่อ)
3.เพิ่มการเคลื่อนไหวของน้ำและอากาศทั่วถึงบริเวณที่ปลูกเลี้ยงสาหร่าย โดยติดตั้งระบบให้อากาศพื้นบ่อ โดยใช้ท่อพีอีเจาะรูวางตามแนวของบ่อ และติดตั้งราวแขวนสาหร่าย โดยบ่อขนาด 1 ไร่ ปักราวไม้ไผ่ 5 แถว เพื่อผูกแผงสาหร่ายแถวละ 20 แผง
รูปแบบการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในบ่อดิน
รูปแบบการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในบ่อดิน จะมีทั้งใส่ตะแกรงแขวนในระดับความลึกประมาณ 60 ซม. และหว่านกระจายลงในบ่อโดยตรง ส่วนในถัง PE จะเป็นการนำเอาสาหร่ายพวงองุ่นที่เก็บจากบ่อดินขึ้นมาพักฟื้นเพื่อรอคัดแยกและทำความสะอาดต่อไป
ดังนั้นการเลี้ยงในบ่อดินจะมีอัตราการเจริญเติบโตได้ดีกว่าบ่อ PE เพราะในบ่อดินจะมีขนาดใหญ่กว่า จึงมีแร่ธาตุมากกว่า ความลึกของน้ำในบ่อ ทางนาตาชาฟาร์ม สาหร่ายพวงองุ่น ใช้ระดับความลึกของน้ำประมาณ 1-1.5 เมตร/บ่อ คุณภาพความเค็มในบ่อที่เพาะสาหร่ายพวงองุ่น ความเค็มของน้ำ 25-35 ppt. ค่า pH 7.5-8.5 ในการปรับบ่อ ถ้าเป็นบ่อใหม่ควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดิน บ่อควรจะมีอากาศถ่ายเทสะดวก อุณหภูมิ ไม่ควรเกิน 35 องศาเซลเซียส
การเก็บเกี่ยวสาหร่ายพวงองุ่น
ระยะเวลาในการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นของนาตาชาฟาร์ม จะอยู่ที่ประมาณ 6-8 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับขนาดของสาหร่ายว่าตรงกับความต้องการของลูกค้าหรือไม่ ส่วนระยะเวลาเก็บเกี่ยวประมาณ 6-8 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโตของสาหร่าย
ในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นบางครั้งอาจต้องใช้ปุ๋ยเพื่อกระตุ้นการแตกยอด คือ ปุ๋ย 16-20-0 หรือปุ๋ยยูเรีย (ใช้แค่กระตุ้นในครั้งแรกเท่านั้น) เมื่อสาหร่ายเริ่มแตกยอดก็จะใช้วิธีการเติมน้ำทะเล สาหร่ายจะได้รับแร่ธาตุตามธรรมชาติ ซึ่งจะปลอดภัยจากสารเคมี
ด้าน ตลาดสาหร่ายพวงองุ่น
- เกรดของสาหร่ายพวงองุ่นที่นาตาชาฟาร์มเราขายเกรดคละอย่างเดียว คือ มีทั้งสั้น และยาว ปนกัน และขายสาหร่ายปากบ่อ คือ สาหร่ายสด ที่นำขึ้นจากบ่อดิน แต่ยังไม่ได้คัดแยก และยังไม่ผ่านการทำความสะอาด (ลูกค้าต้องนำไปทำความสะอาดเอง)
- เกรดที่ส่งขายฟาร์มทะเลตัวอย่างโครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นสาหร่ายปากบ่ออย่างเดียวครับ ความยาวต้องไม่ต่ำกว่า 3 นิ้ว
- เกรดที่ขายให้เกษตรกรเป็นต้นพันธุ์จะเป็นสาหร่ายปากบ่อ แต่ต้นจะเล็กกว่า เพื่อเกษตรกรนำไปเลี้ยงต่อได้ ความยาวประมาณ 1-2 นิ้ว
ปัญหาและอุปสรรคการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
แนวทางการแก้ปัญหา คือ แก้ที่ต้นเหตุ เช่น ถ้าน้ำเค็มเกินไปให้สูบน้ำใหม่เข้ามาผสมเพื่อลดความเค็ม ถ้าความเค็มน้อยไปให้ลดระดับน้ำเพื่อตากแดดให้น้ำระเหย จะเพิ่มความเค็มของน้ำได้ ซึ่งความเค็มของน้ำ คือ ปัจจัยหลักในการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
เนื่องจากการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในปัจจุบันยังไม่แพร่หลายในกลุ่มเกษตรกร เรายังคงต้องสื่อสาร และส่งถ่ายความรู้ให้แพร่กระจายออกไป แล้ววันหนึ่งเราคงได้เห็นกลุ่มสหกรณ์ผู้เพาะเลี้ยงสาหร่าย พวงองุ่นจังหวัดสมุทรสาคร ส่วนต้นทุนในการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น คือ ต้นพันธุ์ เมื่อ 3-4 ปีก่อน อยู่ที่กิโลละ 70 บาท พื้นที่ 1ไร่ ใช้ประมาณ 20 กิโลกรัม
ส่วนเครื่องสูบน้ำและระบบเติมอากาศนั้นขึ้นอยู่กับราคาตลาด ควรมี ถัง PE สำหรับพักฟื้นสาหร่ายก่อนลงบ่อเพาะเลี้ยง และใช้พักฟื้นสาหร่ายในตอนเก็บเกี่ยวเตรียมส่งลูกค้าอย่างน้อย 2-3 ใบ
การจำหน่ายสาหร่ายพวงองุ่น
ผลกำไรที่ได้จากการจำหน่ายสาหร่ายพวงองุ่น โดยประมาณก็ขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของสาหร่ายไม่ต่ำกว่า 50,000 ต่อไร่ สุดท้ายทางฟาร์มได้พูดถึงด้านความมั่นคงของผลผลิต คือ ถ้าสาหร่ายพวงองุ่นที่มีคุณภาพดี เราสามารถส่งขายให้กับลูกค้าได้หลายกลุ่มมาก ตั้งแต่พ่อค้า-แม่ค้ารายใหญ่ คือ ซื้อไปทำความสะอาดเองแล้วส่งต่อจนถึงลูกค้าทั่วไปที่ซื้อเป็นแพ็คพร้อมทานไปกินเองที่บ้าน หรือกลุ่มคนรักอาหารเพื่อสุขภาพยังคงมีตลาดรองรับอีกมาก ตลาดสาหร่ายพวงองุ่น ตลาดสาหร่ายพวงองุ่น
ติดต่อ คุณลือชา มีน้อย (เจ้าของนาตาชาฟาร์ม สาหร่ายพวงองุ่น) โทร : 088-235-6481 Facebook : นาตาชาฟาร์ม สาหร่ายพวงองุ่น