การปลูกทุเรียน
ทริปการเดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าศรีสะเกษดินแดน “มหัศจรรย์” ที่มีเรื่องเล่าขานถึงความยากจนในอดีตมากมาย แต่ดินแดนศรีสะเกษในวันนี้มีรายได้ประชากรกระโดดจากท้ายตารางมาอยู่กลุ่มกลางตารางจากการจัดอันดับรายได้ประชากรของประเทศไทยครั้งล่าสุด สิ่งที่ทำให้ตัวเลขรายได้ของศรีสะเกษพัฒนาขึ้นมาได้ในระยะเวลาไม่กี่ปีส่วนหนึ่งเป็นเพราะแผนปรับโครงสร้างผลผลิตการเกษตร ที่เกษตรจังหวัดมุ่งเน้นให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชที่มีศักยภาพในการทำตลาด แน่นอนว่าเรื่องของข้าวและยางพารายังเป็นจุดเด่นของศรีสะเกษ แต่ที่พัฒนาขึ้นมาอย่างชัดเจนและมีแนวโน้มว่าจะแทรกขึ้นมาเป็นอันดับ 2 หรืออันดับ 1 ได้ในอนาคต คือ เรื่อง “สวนผลไม้” โดดเด่นที่สุด คือ “ทุเรียน” และ “เงาะ” ที่กลายเป็นไฮไลท์ของศรีสะเกษในปัจจุบัน ถึงกับมีการจัดงาน “ของดีเมืองศรีสะเกษ” กันมากว่า 21 ครั้ง
ในปีนี้ก็มีการจัดงานเช่นกันเป็นปีที่ 22 ซึ่งรูปแบบของงานก็มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่กับปริมาณผลผลิตและความต้องการของผู้บริโภค ตัวเลขรายได้ของประชากรศรีสะเกษทุกวันนี้ถูกฉุดให้ขึ้นมาจากอันดับท้ายๆ ของตาราง ส่วนหนึ่งก็เพราะใน “ทุเรียนศรีสะเกษ” คือ ตัวหลักที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ ทุกวันนี้มีเกษตรกรหันเหจากสวนยางยุคราคาตกต่ำมาสู่สวนทุเรียน และสวนผลไม้กันมากขึ้น
จุดเริ่มต้นการปลูกทุเรียน
เหนือสิ่งอื่นใดกว่าจะมีวันนี้ทุกอย่างก็ต้องมีจุดเริ่มต้น ทีมงานเมืองไม้ผลจะพาทุกท่านมาพูดคุยกับ คุณทศพล สุวะจันทร์ เจ้าของสวนทศพล ผู้นำแห่งการปลูกทุเรียนที่บ้านซำตารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ แนวคิด…ที่มา..และความน่าสนใจในการเป็นศูนย์การเรียนรู้ของเกษตรกรทั่วไปมีหลายอย่างที่น่าสนใจ….ลองมาติดตามดูครับ
คุณทศพล เจ้าของสวนทศพล ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 198 บ้านซำตารมย์ หมู่ที่ 7 ตำบลตระกาจ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นหนึ่งในเกษตรกรตัวอย่างของจังหวัดศรีสะเกษ โดยได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับรางวัลต่างๆมากมาย รวมถึงการเป็นเกษตรกรดีเด่น ระดับเขต สาขาอาชีพทำสวน ประจำปี 2556
จากจุดเริ่มต้นที่เป็นชาวไร่ปลูกพืชหลักในสมัยนั้น คือ ข้าวโพด และมันสำปะหลัง สู้กับราคาจำหน่ายที่ไม่สูงนัก แต่มีการลงทุนที่สูงขึ้นทุกปี เมื่อหักลบต้นทุนออกไปพี่ทศพลบอกว่า “แทบจะไม่เหลืออะไร” กลายเป็นจุดหักเหที่เริ่มให้ความสนใจกับการหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการเกษตรมากขึ้น จนถึงปี 2532 ที่มองเห็นว่า “การทำสวนผลไม้” น่าจะตอบโจทย์ของตลาดได้เป็นอย่างดี แต่สมัยกว่า 10 ปีก่อน พูดถึงการปลูกไม้ผลในศรีสะเกษเหมือนเป็นเรื่องตลก เพราะคนที่ทำยังแทบจะไม่มี เพราะคนทั่วไปทำเกษตรตามๆ กันมา และไม่คิดว่า “จะทำได้”
การหาความรู้และแนวทางการปลูกทุเรียน
พี่ทศพลเริ่มต้นในปีแรกจากการไปดูการทำสวนผลไม้ เน้นที่การทำสวนทุเรียนที่จันทบุรี สิ่งที่ต้องการจากการเดินทางลงพื้นที่แหล่งผลไม้นี้ คือ เพื่อรวบรวมความรู้ การบริหารจัดการ แนวทางการปลูก รูปแบบการปลูก เจาะจงไปในสวนทุเรียน ที่สามารถปลูกแล้วสร้างรายได้ดี สวนต้นแบบที่จันทบุรีที่พี่ทศไปหามีทุเรียนอยู่ 83 ต้นสามารถจำหน่ายได้กว่า 1.3 ล้านบาท ก็เป็นแรงบันดาลใจก้าวแรกที่จะขอทำตามดูบ้าง กับการเรียนรู้เรื่องการปลูกในเบื้องต้น เอามาปรับให้เข้ากับพื้นที่ เริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน หลุมปลูก ดูแลรักษาในแต่ละช่วง จนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ได้มาตรฐานตามตลาดต้องการ
สภาพพื้นที่การปลูกทุเรียน
ก้าวแรกของการทำสวนทุเรียนนั้นพี่ทศเอาทุเรียนจากจันทบุรีขึ้นมา 500 ต้น มาถึงศรีสะเกษก็แบ่งให้คนที่มีอุดมการณ์เดียวกันไป 4 คน ตัวพี่ทศเองก็เริ่มปลูกในพื้นที่ 5 ไร่ ทุเรียน 100 ต้น โดยมีแซมเงาะ และมังคุด บ้างประปราย ความรู้ที่ได้เรียนรู้มาก็เอามาลองผิดลองถูกโดยอาศัยดูจากตำรา และรายการโทรทัศน์ ควบคู่กันไป เรียกว่าเป็นการเริ่มต้นจากคำว่าไม่รู้ และไม่เป็น แต่มีเพียง “ความพยายามที่ต้องการจะสำเร็จ” เป็นสำคัญ
จากการทำพืชไร่ เปลี่ยนยุทธศาสตร์มาเป็นต้นแบบของการทำสวนทุเรียน ความรู้เบื้องต้นจึงยังไม่มากมาย อาศัย ครูพักลักจำ หรือท่องตามตำรา ควบคู่กับการหาข้อมูลจากทางเกษตรจังหวัด เรียกว่าช่วงแรกถือเป็นงานท้าทายที่ต้องอาศัยความอดทนเป็นสำคัญ
ช่วงอายุของทุเรียนจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตรอบแรกได้ประมาณปีที่ 5 ช่วงนั้นพี่ทศพลบอกว่า “ด้วยความรู้ที่ยังไม่มีมากนัก เมื่อทุเรียนออกลูกมาบางทีต้นละเกือบ 200 ลูก เสียดายไม่ได้เก็บทิ้ง ทำให้ต้นตายไปเลยก็มี ผลผลิตโดยรวมในปีแรกที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ พื้นที่ 5 ไร่ได้ผลผลิตแค่ 1 ตันกว่าๆ ราคาในสมัยนั้นก็แค่ 10 กว่าบาท เมื่อหักลบต้นทุนทุกอย่างก็ยังขาดทุน”
การเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน
การเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งแรกเจอกับภาวะ “ขาดทุน” แต่สิ่งที่ได้เพิ่มเติมมา คือ ความรู้ในการบริหารจัดการ การดูแล ที่เริ่มเป็นมืออาชีพมากขึ้น รู้ว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้พื้นที่การปลูกทุเรียนสามารถให้ผลตอบแทนได้อย่างสูงสุด ในปีที่ 10 ที่ถือว่าเป็นช่วงการให้ผลผลิตของทุเรียนที่ดีที่สุด และจะดีต่อเนื่องต่อไป นับจากนี้ผลผลิตในปีที่10 นี้ มีต้นทุเรียนที่ให้ผลผลิตได้ 85 ต้น ปริมาณมากกว่า 10 ตัน แถมได้ราคาดีกว่าเมื่อ 5 ปีก่อน โดยราคาขยับจากประมาณ 10 กว่าบาท มาเป็น 18 บาท ในปีที่ 10 นี้เอง ที่สวนทศพลเริ่มมองเห็นคำว่า “กำไร” ชัดเจนมากขึ้น
ปัจจุบันพื้นที่กว่า 12 ไร่ เป็นการปลูกในระยะ 10×10 1 ไร่ ปลูกได้ 16 ต้น จึงมีทุเรียนในสวนตอนนี้ประมาณ 192 ต้น กับอายุทุเรียนที่มากกว่า 10 ปี ผลผลิตที่ได้ถือว่าดีต่อเนื่อง เมื่อปีที่ผ่านมาสามารถเก็บทุเรียนจำหน่ายได้เกือบ 20 ตัน กับราคาในยุคปัจจุบันที่เป็นรูปแบบการเหมาสวนของผู้ประกอบการค้าผลไม้ทั้งหลาย โดยราคาสำหรับเกรดส่งออกอยู่ที่ประมาณ 60 บาท ซึ่งจุดคุ้มทุนที่เกษตรกรพอใจ พี่ทศพลบอกว่าไม่ควรให้ต่ำกว่า 45 บาท จะถือว่าเป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ได้
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายผลผลิตทุเรียน
ส่วนการตลาดของสวนทศพลนั้นไม่ได้เน้นการเหมาสวน แต่เป็นลักษณะของการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อทุเรียนในสวนออกไป โดยจะมีพ่อค้าที่มาเหมาซื้อ หรือจ่ายเงินล่วงหน้าไว้ก็เป็นโซนๆ ไป โซนไหนที่มีคนจองไว้ก็ต้องล็อคเอาไว้ให้คนสั่งจอง โซนไหนที่เปิดอิสระก็ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อได้ถึงในสวน ในฐานะที่เป็นสวนต้นแบบของเกษตรจังหวัด เป็นผู้นำของการปลูกทุเรียนในศรีสะเกษ ทำให้ทางจังหวัดเองก็มีการประชาสัมพันธ์ รวมถึงการนำเสนอออกสื่อต่างๆ เป็นการสร้างชื่อให้สวนทศพลกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วทั้งประเทศ ในทุกปีที่มีการจัดงาน “สวนทศพล” แห่งนี้ก็เป็นหนึ่งในสวนที่ร่วมทำกิจกรรมกับทางจังหวัด ในโครงการ “แรลลี่ผลไม้” หรือว่า “เที่ยวไป ชิมไป อร่อยทุกสวน” ในปี 2557 ก็เช่นกัน ที่ทางจังหวัดก็ยังไว้วางใจให้เป็นสวนแห่งการเรียนรู้ และเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่จูงใจให้คนอยากเข้ามาดูทุเรียนศรีสะเกษกันมากขึ้น
การก่อตั้งกลุ่มผู้ผลิตไม้ผล และกลุ่มท่องเที่ยวเชิงเกษตร บ้านซำตารมย์
ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงจากการทำพืชไร่มาเป็นสวนผลไม้ ที่ดึงดูดให้เกษตรกรอีกจำนวนไม่น้อยในศรีสะเกษหันมาทำตาม จนพื้นที่การเพาะปลูกสวนผลไม้รวมทุกชนิดมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน กลายเป็นสินค้าทางการเกษตรที่สร้างชื่อให้จังหวัดได้ดีไม่แพ้ภูมิภาคอื่นๆ สวนทศพลเมื่อประสบความสำเร็จเป็นการส่วนตัวดีแล้ว ยังเป็นเรี่ยวแรงหลักของกรมส่งเสริมการเกษตร ในการเป็นจุดถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร (ศบกต.) ตัวคุณทศพลเองยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มผู้ผลิตไม้ผลคุณภาพดี บ้านซำตารมย์ กับกลุ่มท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านซำตารมย์ ปัจจุบันคุณทศพลจึงเป็นประธานกรรมการทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าว
ทิศทางของเกษตรจังหวัดที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาในส่วนของไม้ผลนั้นเริ่มตั้งแต่ปี 2537 แต่มาจริงจังและเป็นรูปร่างในปี 2545 ที่สามารถจดทะเบียนมาเป็นวิสาหกิจชุมชนได้ คุณทศพลเป็นประธานกลุ่มรุ่นที่ 3 มีสมาชิกปัจจุบัน 106 ราย เน้นเฉพาะในหมู่ 7 หมู่ 8 ของทุ่งศรีอุดมเป็นหลัก เงินทุนของวิสาหกิจผู้ผลิตไม้ผลคุณภาพดีปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 200,000 บาท การรวมกลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อเป็นศูนย์กลางในการศึกษาหาความรู้ของสมาชิกให้ผลิตไม้ผลโดยเฉพาะทุเรียนได้อย่างมีคุณภาพ ตามที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศต้องการ ที่สำคัญ คือ เพื่อ “ต่อรองราคา” กับกลุ่มพ่อค้า แม้ทุกวันนี้จะเป็นลักษณะของขายใครขายมัน แต่ละสวนขายผลไม้กันเอง ไม่ต้องเอามารวมแล้วขาย แต่การติดต่อเข้ามาของพ่อค้าต้องได้รับการอนุญาตจากทางกลุ่มก่อน โดยการกำหนดราคาซื้อขายจะต้องเหมือนกันทั้งกลุ่ม หมายความว่า ถ้าพ่อค้ากำหนดราคามาก็ต้องประชุมสมาชิกก่อนว่ายินดีจะจำหน่ายในราคาที่พ่อค้าตั้งมาหรือไม่ ซึ่งราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ต้องไม่ต่ำกว่า 45 บาท สูงสุดที่เคยได้ คือ 60 บาท ถ้าเกษตรกรพอใจ ในสมาชิกทั้ง 106 ราย ก็จะได้ราคาที่ใกล้เคียงกันตามคุณภาพของแต่ละสวน
เทคนิคการปลูกและบำรุงดูแลรักษาทุเรียน
และนอกจากการรวมกลุ่มเพื่อความเข้มแข็งในการต่อรองราคา บทบาททางสังคมอีกประการ คือ การเป็นศูนย์การเรียนรู้ เป็นศูนย์กลางในการประชาสัมพันธ์การผลิตทุเรียนให้คนทั่วไปได้มองเห็นว่าทุเรียนศรีสะเกษปัจจุบันคุณภาพทัดเทียมหรือเหมือนกับทุเรียนนนทบุรีแค่ไหน
ในบทบาทของศูนย์การเรียนรู้เน้นให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษากระบวนการปลูกตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงการเก็บเกี่ยวให้ได้คุณภาพ โดยแยกย่อยออกเป็น 8 ฐาน ซึ่งเกษตรจังหวัดก็จะพาคนมาดูงานกันอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละปีจึงมีผู้มาเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้กันอย่างแพร่หลาย มีผลดีทั้งในแง่การประชาสัมพันธ์ของทางจังหวัด และเจ้าของสวนเองก็ได้ผลดีในเรื่องการตลาดควบคู่กันไปด้วย
โดยความรู้ในแต่ละฐานจะมีการสอนเทคนิคแต่ละฐานว่าควรทำอะไร อย่างไร ในการปลูกทุเรียนให้ประสบความสำเร็จ ทางทีมงานเมืองไม้ผลจึงประมวลเอาใจความหลักของแต่ละฐานมาฝากท่านผู้อ่านให้ได้ทราบกันพอเป็นสังเขปครับ
ฐานที่ 1
เริ่มตั้งแต่การขุดหลุม ระยะห่างระหว่างหลุม ข้อดีของระยะห่างต่างๆ ที่ส่วนใหญ่ใช้ คือ 8×8 แต่ที่สวนทศพลแนะนำจะประมาณ 10×10 ในระยะ 10×10 พื้นที่ 1 ไร่ จะได้ 16 ต้น ที่เลือกแนะนำระยะ 10×10 เพราะต้นจะห่าง เวลาเก็บเกี่ยวผลผลิตจะง่าย แสงสามารถส่องเข้ามาได้โล่ง โปร่งแสงกว่าการปลูกแบบระยะห่าง 8×8 ที่ส่วนใหญ่ได้จำนวนต้นต่อไร่มากกว่า แต่การทดแทนรายได้จากจำนวนต้นที่น้อยลงนั้นก็แนะนำให้ปลูกพืชอื่นแซมระหว่างต้นเพื่อชดเชยรายได้ดังกล่าว
ฐานที่ 2
การตัดแต่งกิ่งในฐานนี้จะเป็นกระบวนการตัดแต่งกิ่ง หลังจากปลูกได้ 2 ปี ที่เริ่มตัดเพื่อเอาทรงพุ่ม (2 ปี สูงประมาณ 1 เมตร) เลือกตัดกิ่งที่ยื่นยาวออกไป ตัดแต่งกันไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ปีนี้ ก่อนหน้านี้ระยะปี 1-2 ก่อนตัดแต่งกิ่งก็ให้น้ำค่อนข้างเยอะ เรียกว่าให้น้ำวันเว้นวัน 1 ต้น ให้น้ำประมาณ 30 นาที ต้องมีแหล่งน้ำให้พอเพียง ความสำคัญ คือ การให้ต้นโปร่ง แสงส่องได้ เขาว่ากันว่าตัดแต่งกิ่งต้องเอาไว้ 10-15 กิ่ง แต่คุณทศพลบอกว่า “ที่นี่จะเอาไว้ประมาณ 20 กิ่งขึ้นไป เพื่อให้บังแสงได้ดีมากขึ้น เพราะอากาศปัจจุบันมันร้อน เหลือกิ่งน้อยเกินไปก็ไม่ดี ต้นจะร้อน น่าจะดีที่สุดเหมาะกับที่นี่ (ศรีสะเกษ)” นอกจากความรู้เรื่องการตัดแต่งกิ่งฐานนี้ เริ่มให้ความรู้เรื่องการใส่ปุ๋ยที่จะจริงจังมากขึ้นตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไป
ฐานที่ 3
การดูแลในระยะ “ตาปู” ซึ่งเป็นช่วงดอกเล็กๆ ของทุเรียน ช่วงนี้สำคัญกับทุเรียนเช่นกัน เพราะถ้าให้น้ำไม่สม่ำเสมอ ดอกจะยุบ การให้น้ำสำคัญมาก ต้องให้วันเว้นวัน หรือถี่กว่านี้ เพื่อให้รอดจากช่วงนี้ไปสู่ช่วงต่อไปได้
ฐานที่ 4
การดูแลจากระยะตาปูให้มาเป็น “เหยียดตีนหนู” ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกยื่นมาแล้ว เริ่มมีการให้ฮอร์โมน (น้ำตาลทางด่วน) ใช้ลักษณะการฉีดพ่น ใช้ถัง 200 ลิตร น้ำตาลทางด่วนประมาณ 200 cc. ฉีดพ่นได้ประมาณ 1 ไร่กว่าๆ ผสมกับยาฆ่าแมลง ป้องกันเชื้อราสัดส่วน 200 cc. เช่นกัน ผสมกันทั้งหมด และฉีดพ่นให้พร้อมกันไปเลย
ฐานที่ 5
การดูแลระยะมะเขือพวง ช่วงนี้การดูแลไม่ต่างกัน ยังเน้นการให้น้ำเยอะ น้ำตาลทางด่วน เหมือนเดิม แต่มีการเสริมแมกนีเซียม แคลเซียม เข้าไป ระยะห่างระหว่างช่วงจากตาปูมาเหยียดตีนหนูประมาณ 1 เดือน จากเหยียดตีนหนูมาเป็นมะเขือพวงก็อีกประมาณ 3 อาทิตย์ จึงจะเริ่มเข้าสู่ช่วงดอกบานต่อไป
ฐานที่ 6
ช่วงดอกบาน ในช่วงนี้ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง แมลงจะได้เข้ามาช่วยผสม เกษตรกรก็ต้องมีการช่วยผสมเกสร ด้วยการใช้ไม้ขนไก่ปัดตอนเย็นๆ จะได้ผสมกันได้ เพราะเกสรตัวผู้นั้นสั้นกว่าเกสรตัวเมีย เกษตรกรต้องทำทุกต้น ใช้เวลาประมาณ 19.00-21.00 น.ในพื้นที่สวน 12 ไร่ ประมาณ 2 ชม. ถ้าก่อนหน้านี้หรือหลังจากนี้จะไม่สามารถผสมกันได้ เพราะนี่เป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะผสมกันได้ วิธีนี้ถ้าลูกติดสำเร็จจะค่อนข้างสวย แต่ต้องทำต่อเนื่องกันประมาณ 1 อาทิตย์ เป็นอย่างน้อย
ฐานที่ 7
ช่วงหางแย้ (หลังดอกบาน) เริ่มที่จะติดผล นี่ก็ช่วงสำคัญเหมือนกัน การให้น้ำช่วงนี้ลดลงจาก 30 นาที ก็เหลือประมาณ 10 นาที ให้น้ำน้อย การอั้นน้ำเพื่อให้ต้นทุเรียนเครียดจะได้ออกลูก เป็นเทคนิคส่วนใหญ่ที่เกษตรกรทุเรียนทั่วไปก็ใช้กัน
ฐานที่ 8
ช่วงติดผลแต่ยังไม่เก็บเกี่ยว ต้องแต่งผล ซอยเอาลูกที่สมบูรณ์ไว้ ดูจากขนาด รูปร่าง ถ้าช่อหนึ่งมันเยอะมาก ก็ต้องเอาออกให้เหลือประมาณ 4-5 ลูก แต่ละต้นให้ลูกเยอะประมาณ 200-300 แต่งให้เหลือต้นละประมาณ 70-80 ลูก ขนาดจะพอดี ได้ลูกละประมาณ 3-4 กก. ซึ่งก็ตอบโจทย์ในการผลิตของคุณทศพล ในพื้นที่ 12 ไร่ มีผลผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ตัน ในแต่ละปีสร้างรายได้ตั้งแต่ 700,000-1,000,000 บาท ซึ่งดีกว่าการทำพืชไร่ อย่าง การปลูกข้าวโพด หรือมันสำปะหลัง เมื่อก่อนเป็นอย่างมาก
การบริหารจัดการสวนทุเรียน
นอกเหนือจากผลทางการเกษตรที่มีคุณภาพแล้ว ในสวนแห่งนี้ยังมีการใช้ภูมิปัญญาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการป้องกันกำจัดศัตรูพืช มีการบริหารการจัดการสวนโดยเน้นการใช้ชีววิธี เช่น มีการตัดแต่งกิ่งหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต แล้วนำไปทำปุ๋ยหมักไว้ใช้ ใช้สารชีวภาพขับไล่แมลง หากมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง จะพิจารณาเลือกใช้สารเคมีตามที่ทางราชการแนะนำ
ขณะที่การป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นทุเรียนได้ใช้วิธีกล เช่น เลี้ยงไก่ ไว้ในสวนทุเรียน ให้ช่วยกำจัดตัวเต็มวัย หรือใช้ตาข่ายดักปลา พันรอบลำต้น สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร เพื่อดักตัวเต็มวัย และเฝ้าระวังทำลายไข่ของด้วงหนวดยาว ก่อนที่จะฟักเป็นตัวเจาะเข้าทำลายต้นทุเรียนต่อไป
ฝากถึงผู้ที่สนใจการทำสวนทุเรียน
สิ่งหนึ่งที่คุณทศพลฝากไปถึงภาคราชการ และผู้สนใจการทำสวนทุเรียนทั่วประเทศ คือ “แนวทางของการเดินทางร่วมกัน” คุณทศพลมองว่าทุเรียนสามารถพัฒนามาเป็นพืชเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี และแนวโน้มราคาในตลาดก็ยังดีในระยะยาว ทิศทางความต้องการก็ยังมีมากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเกษตรกรเองก็ต้องหาความรู้เพิ่มเติมเข้ามาอยู่เรื่อยๆ เพื่อพัฒนาสินค้าให้เป็นที่ต้องการ ในขณะที่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องก็ควรเข้ามาเสริมเกษตรกรให้สามารถผลิตสินค้าได้มีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงการหาวิธีใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับชาวสวน มานำเสนอเพื่อเพิ่มมูลค่าหรือคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น ก็เป็นแนวทางการเดินร่วมกันที่คุณทศพลอยากให้เกิดในทุกพื้นที่ ไม่ใช่แค่ในศรีสะเกษ ซึ่งถ้าทำได้ “ทุเรียน” ยังมีความ น่าสนใจ และพร้อมจะสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูกได้เป็นอย่างดี
ขอขอบคุณ คุณทศพล สุวะจันทร์
198 บ้านซำตารมย์ หมู่ที่ 7 ตำบลตระกาจ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
โทร.08-3795-4317, 08-3797-8856
ขอขอบคุณ เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ
รายชื่อสมาชิกกลุ่มท่องเที่ยวเชิงเกษตรบ้านซำตารมย์
1.คุณสุนทร เบิกบาน, 2.คุณวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ, 3.คุณสายชล เครือแก้ว, 4.คุณรัตนศาสตร์ มาสกุล, 5. คุณทศพล สุวะจันทร์, 6.คุณจันกร ชุ่มชื่น, 7.คุณศรชนก บุระพา, 8.คุณสมจิตร เบิกบาน, 9.คุณสวัสดิ์ ดีบุตร, 10.คุณปัญญารัตน์ วนาสนธิ์, 11.คุณเติม คู่แก้ว, 12.คุณสุวรรณ เครือคำ, 13.คุณเตียง พิมพ์บุญมา, 14.คุณมัจฉา ใจใหญ่, 15.คุณเปี่ยง แก้วสง่า, 16.คุณพวง กฐินเทศ, 17.คุณวิเชียร แก้วคำ, 18.คุณอำพันธ์ นิตอินทร์, 19. คุณสุวรรณ เฉลิมสุข, 20.คุณสง่า สีดา, 21.คุณดอกอ้อ เส้นสุข, 22.คุณบุญมา วงศ์ด้วง, 23.คุณพิศมัย ประชุมรักษ์, 24.คุณกมล ต้นสิงห์, 25.คุณบุญเลื่อน บรรพตาธิ, 26.คุณสอน สุพรรณสาย, 27.คุณบุตรสี สายลาด, 28.คุณกัลยา เสารี, 29.คุณบุญทัน จันทรักษ์, 30.คุณผ่องใส ศีลให้อยู่สุข, 31.คุณวิลาวัลย์ จันทาพรม, 32.คุณคำปอง รักษ์วงศ์, 33.คุณคำมี บุตรโท, 34.คุณวิชัย รัศมี, 35.คุณหนูจร จันทร์แก้ว, 36.คุณเสมียน บุญล้ำ, 37.คุณเพียร โทคำเวช, 38.คุณสมบูรณ์ จันแก้ว, 39.คุณบุญจันทร์ จันทร์สุข, 40.คุณแดง รูปใหญ่, 41.คุณนารี แก่นหอม, 42.คุณฉวี พละศักดิ์, 43.คุณไชโย สุดหล้า, 44.คุณเสงี่ยม อุ่นเสมอ, 45.คุณสุทัศ เกษเจริญคุณ, 46.คุณเคนลา ไชยขาว, 47.คุณทัศนียา ศิลปะชาติ, 48.คุณบุญชู ทาจิตร, 49.คุณคำแพง ใจใหญ่, 50.คุณพิเชฐ กฐินเทศ, 51.คุณจอม ป้องคำพันธ์, 52.คุณวิชัย สำลี, 53.คุณลำไพ โคตรวงศ์, 54.คุณคำพลอย ธุระพันธ์, 55.คุณศิรภัสสร ทองอินทร์, 56.คุณจันเพ็ญ โชคนัติ, 57.คุณบานเย็น อุ่นเสมอ, 58.คุณราตรี ต้นสิงห์, 59.คุณศันสนีย์ พรมดาว, 60.คุณกาสี สุดหล้า, 61.คุณวิชิต ใจใหญ่, 62.คุณวีรพงษ์ สมสวย, 63.คุณทองศรี เครือแก้ว, 64.คุณบุญรมย์ เส้นสุข, 65. คุณเจริญ รูปใหญ่, 66.คุณอรทัย สุดหล้า, 67.คุณสิทธิเสรี สุดหล้า, 68.คุณสมศักดิ์ สุดหล้า, 69.คุณสมคิด สมศรี, 70.คุณสะอิ้ง หิมะคุณ, 71.คุณวิทยา คู่แก้ว, 72.คุณวิศิษ คำศรี, 73.คุณซ่อนกลิ่น เครือแก้ว, 74.คุณจรัญ เครือแก้ว, 75.คุณอรุณ เครือแก้ว, 76.คุณยอดรัก ธุระพันธ์, 77.คุณบุญ ชิณโชติ, 78.คุณพรรยา ชิณโชติ, 79. คุณบุญเลิศ คำฝอย, 80.คุณทองเจือ บุตรตา, 81.คุณพุตชาติ กฐินเทศ, 82.คุณสม วังคะชาด, 83.คุณสรารีย์ โทชัย, 84.คุณสำเนียง อรจุล, 85.คุณละม้าย เครือแก้ว, 86.คุณอาณบ รูปใหญ่, 87.คุณจรวย ชิณโชติ, 88. คุณทิพย์วิภา โพธิชัย, 89.คุณสรรเสริญ จันทร์หอม, 90.คุณพิทักษ์ เนตรสาร, 91.คุณวฤทธิ์ ทองกลึง, 92. คุณอ่อนสา สมลา, 93.คุณมล มาหา, 94.คุณวันดี ธิมาทาน, 95.คุณมณีวรรณ หนูสิน, 96.คุณนันทา เทียมทัศน์, 97.คุณหนูกาง เทียมทัศน์, 98.คุณบัวกัน ก้อนด้วง, 99.คุณปรียา บริสุทธิ์, 100.คุณศรีจันทร์ คำเคนบัง, 101. คุณประจันทร์ ดาลัย, 102.คุณสุภาภรณ์ เผือกพูล, 103.คุณณัฐนิช รูปใหญ่, 104.คุณบุญมี มาหา, 105.คุณบุญมี ป้องสิงห์, 106.คุณบิน ชูหา