ในคำว่า “ธุรกิจไม้ผล” ถ้าพูดกันในเชิงปริมาณ…การปลูกลำไยเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เกษตรกรให้ความสนใจกันอย่างมาก ด้วยปัจจัยทางรายได้ที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ รวมถึงวิธีการเพาะปลูกดูแลก็ไม่ได้สลับซับซ้อนมากนัก หลายคนมองว่าปัจจุบันตั้งแต่มีการใช้สารราดกระตุ้นให้ลำไยออกผลผลิตได้ ความเสี่ยงที่จะทำแล้วขาดทุนก็น้อย เพียงแต่อาศัยวิธีบริหารจัดการ และเลือกทำเลในการเพาะปลูกให้ดีๆ คำว่า “ลำไยเงินล้าน” ในสายตาเกษตรกรจึงมองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวนิดเดียว
แต่ถ้าเราติดตามข่าวสารให้ดีในเชิงปริมาณ เราอาจพูดได้ว่าลำไยให้ผลผลิตที่ไม่แพ้ไม้ผลตัวใด แต่มองในมุมกลับกันเมื่อทุกคนคิดในทิศทางเดียวกัน การปลูกก็เพิ่มขึ้น ปริมาณสินค้าก็เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับลำไยเองก็เป็นพืชที่ต้องอาศัยปัจจัยทางด้านอากาศควบคู่ด้วยเช่นกัน
ดังนั้นปัจจัยสภาพแวดล้อมก็มีส่วนกำหนดปริมาณผลผลิตที่บางครั้งไม่ได้ตามที่ต้องการ แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือในการเพาะปลูกมากกว่าอดีตก็ตามที นอกจากนี้ราคาในการรับซื้อเป็นอีกตัวแปรที่เรียกว่าทำให้ชาวสวนลำไยตื่นเต้นกันได้ไม่น้อย เนื่องจากการกำหนดราคาปัจจุบันไม่สามารถทำกันได้เอง
รูปแบบการรับซื้อเป็นลักษณะของ “การเหมา” จากตัวแทนที่เข้ามารับซื้อ (ล้ง) มุมมองของเกษตรกรอาจจะยอมรับในเรื่องนี้ได้ แม้ในห้วงลึกๆ แล้วก็อาจจะรู้สึกว่าราคาที่ได้บางครั้งมันน่าจะดีกว่านี้ แต่เมื่อคิดในแง่ความสะดวกสบายไม่ต้องจ้างแรงงาน ไม่ต้องขนส่ง มีคนมารับซื้อมาเก็บถึงสวน ถึงเวลาก็ได้เงินเป็นก้อนเป็นกอบเป็นกำ ก็ทำให้ความรู้สึกที่ว่าเสียเปรียบแปรเปลี่ยนเป็นความชินชา และกลายเป็นวัฎจักรในการเพาะปลูกลำไยในปัจจุบัน
การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกลำไย บ้านเขาช่องแคบ
แต่เมื่อมีปัญหาด้านราคาหรือการรับซื้อที่รุนแรงมากขึ้น ก็มีความคิดต่อต้านกันบ้างในบางปีการผลิตอย่างที่เคยเป็นข่าวมาเป็นระยะๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นหากมองในแง่การรวมกลุ่ม รวมตัว อาจจะสร้างแรงบวกในการขายในการกำหนดราคาได้บ้าง แต่ที่ผ่านมาหากลุ่มที่ปลูกลำไยแล้วรวมกันตัวกันนั้นยากเต็มที ซึ่งโมเดลการรวมตัวในธุรกิจไม้ผลที่มีการผูกขาดการรับซื้อจากนายทุนนั้น ตัวอย่างจากวิสาหกิจผู้ปลูกลำไยบ้านเขาช่องแคบ อ.คลองหาด จ.สระแก้ว
การรวมตัวนี้มีผลดีในหลายทาง แต่จะเป็นอย่างไรกันบ้างนั้น รวมถึงผลผลิต และวิธีการในการเพาะปลูกลำไยของคนคลองหาดเป็นอย่างไร เมืองไม้ผลยินดีให้ความรู้แก่ทุกท่านกันอย่างเต็มที่
บ้านเขาช่องแคบ หมู่ที่ 12 ตำบลคลองหาด อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว ตั้งเป็นหมู่บ้านเมื่อ พ.ศ.2539 แยกจากบ้านเขาดิน หมู่ที่ 8 ตำบลคลองหาด มีเนื้อที่ทั้งหมด 10,900 ไร่ มีครัวเรือนทั้งหมด 281 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 1,024 คน อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 12 กิโลเมตร มีเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา
สมัยก่อนพื้นที่ตรงนี้ คุณสามารถ ขามสันเทียะ ประธานวิสาหกิจผู้ปลูกลำไย บ้านเขาช่องแคบ ให้ข้อมูลว่า แถวนี้เคยเป็นพื้นที่สีแดง มีการตั้งกองกำลังของฝ่ายเขมร ในอดีตเรียกง่ายๆว่าเคยเป็นสนามรบในสมัยก่อน ในปี 2534 ทางหน่วยงานราชการโดยกรมที่ดินได้เข้ามาจัดสรรพื้นที่แถบนี้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้เข้ามาทำกิน
โดยแบ่งเป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 220 แปลง ให้คนที่มีสิทธิ์เข้ามาทำกินคนละ 14 ไร่ และหลังจากจัดสรรแล้วมีพื้นที่เหลือก็จัดสรรเพิ่มเติมให้อีกคนละ 10 ไร่ ชาวบ้านเองก็เริ่มเข้ามาสร้างที่พักอาศัยกันในปี 2540 เริ่มต้นอาชีพเกษตรกรรมในยุคนั้นด้วยการปลูกพืชล้มลุกทั่วไป มีข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นพืชหลักๆ ผลผลิตที่ได้ในช่วงนั้นก็ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นสู่ภาคเกษตรอย่างเต็มรูปแบบเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา
จุดเริ่มต้นการปลูกลำไย
ประมาณปี 2540 ที่คุณสามารถเริ่มมีแนวคิดที่แตกต่างในการปลูกพืชในพื้นที่ ด้วยเหตุผลที่ว่าการปลูกพืชล้มลุกทั่วไปเป็นการปลูกที่ทำตามแบบกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย แต่ชาวบ้านที่ปลูกก็ยังไม่สามารถสร้างรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำ ที่สำคัญยังเป็นหนี้ ไม่สามารถเป็นอาชีพที่มั่นคง ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมองหาไม้ยืนต้นตัวใหม่ที่น่าจะสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ การเลือกมาปลูก “ลำไย” เพราะว่าในพื้นที่ใกล้เคียงอย่างสอยดาวของจันทบุรี มีแหล่งรับซื้อ
คุณสามารถจึงเป็นคนจุดประกายการปลูกลำไยในพื้นที่เป็นเจ้าแรก ความรู้เบื้องต้นเรียกว่าลองผิดลองถูก ไม่รู้จักวิธีบริหารจัดการ แม้ลำไยจะเป็นไม้ผลเศรษฐกิจ แต่การปลูกช่วงแรกก็ยังเป็นแบบธรรมชาติ ไม่มีความรู้แม้กระทั่งเรื่องการ “ราดสาร” อาศัยธรรมชาติเป็นหลัก ผลลิตที่ได้ก็เลยไม่มากนัก ที่สำคัญตลาดก็ไม่มีคนมารับซื้อ แต่อาศัยขายเองในพื้นที่
แต่ คุณสามารถเล่าว่าในปีที่ปลูกแรกๆ นั้นไม่มีความรู้เรื่องลำไยก็จริง แต่โชคดีที่อากาศในปีนั้นค่อนข้างหนาว ทำให้ผลผลิตที่ได้ค่อนข้างมาก ราคาขายที่จำหน่ายเองก็กิโลกรัมละ 25 บาท รายได้ในการขายปีแรกก็ดีกว่าการปลูกพืชล้มลุกทั่วไป ชาวบ้านในพื้นที่ก็เริ่มมาเรียนรู้และปลูกลำไยตามกัน เบื้องต้นในพื้นที่จึงมีสวนลำไยทั้งสิ้น 6 สวน ที่ถือว่าเป็นยุคแรกของคำว่า “ลำไยคลองหาด”
หลังจากนั้นเมื่อมีคนปลูกมากขึ้น และเริ่มมีความรู้ในเรื่องการปลูกลำไยมากกว่าเดิม รู้จักการใช้สารราด ที่เมื่อก่อนเป็นความลับกันมาก แต่ภายหลังความรู้นี้แพร่หลายไปมากขึ้น ทำให้คุณสามารถเองปรึกษากับเกษตรกรรายอื่นในพื้นที่ เพื่อรวมตัวกันในนามกลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกลำไย บ้านเขาช่องแคบ
เป้าหมายของการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกลำไยบ้านเขาช่องแคบจดทะเบียนก่อตั้งด้วยสมาชิกครั้งแรก 7 คน ในปี 2549 มีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนด้านเงินทุน คือ สำนักงานเกษตรคลองหาด มีผู้ตรวจการบัญชีขึ้นตรงกับสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์สระแก้ว
เป้าหมายในการรวมกลุ่มกันเบื้องต้นเพื่อขอรับงบสนับสนุนด้านเงินทุนจากธนาคารเพื่อเอามาเป็นทุนในการเพาะปลูกลำไย เงินทุนเบื้องต้นที่สามารถกู้ยืมได้ในฐานะวิสาหกิจชุมชนเป็นจำนวนเงิน 2,000,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ย 5.50 บาท/ปี หลักการของวิสาหกิจชุมชนนี้เมื่อมีการก่อตั้งขึ้นมาสมาชิกทุกคนจะต้องส่งเงินออมของตัวเองจำนวน 300 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จะเป็นหลักในการค้ำประกันในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน และสมาชิกก็มีสิทธิ์จะได้รับเงินจำนวนนี้คืนเมื่อต้องการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม
สิทธิที่ทางสมาชิกจะได้รับ คือ เงินกู้ยืมที่ทางกลุ่มยืมจากสถาบันการเงินมา ทำให้สมาชิกสามารถมีทุนหมุนเวียนใช้ในการเพาะปลูกได้มากขึ้น โดยปัจจุบันสมาชิกของวิสาหกิจชุมชนนี้มีจำนวน 13 ราย ทำให้การแบ่งปันเงินกู้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ และสามารถควบคุมการบริหารจัดการได้ง่ายกว่าการมีจำนวนสมาชิกจำนวนมากๆ
นอกจากนี้ผลดีในการรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน นอกจากในเรื่องเงินทุนหมุนเวียนที่มากขึ้น เรื่องของราคาในการจำหน่ายก็ถือว่าสูงกว่าในการขายแบบตัวใครตัวมัน เมื่อเป็นการขายในฐานะของกลุ่ม เมื่อตัวแทนรับซื้อมาติดต่อก็ผ่านทางกลุ่ม เป็นช่องทางสำคัญในการต่อรองราคาที่ทำให้ได้ราคาดีกว่าการขายแบบทั่วไป อย่างน้อยก็เพิ่มขึ้นกว่ากิโลกรัมละ 1 บาท
รวมถึงองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้รับจากหน่วยงานราชการที่จะส่งตรงเข้ามาสู่ตัวเกษตรกรได้ง่ายขึ้น ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกมีผลผลิตที่ดีขึ้นในทุกๆ ปี ปัจจุบันสมาชิก 13 ราย มีสวนลำไยที่ต้นลำไยได้อายุมากกว่า 5 ปี จำนวน 6 คน อีกประมาณ 7 คน เป็นลำไยที่อายุต้นไม่เกิน 4 ปี ผลผลิตที่เก็บรวบรวมได้จึงยังไม่ค่อยสูงนัก
การเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย
การเก็บเกี่ยวที่ผ่านมาปริมาณผลผลิตโดยรวมมีประมาณ 200-300 ตัน แต่คาดการณ์ว่าเมื่อสมาชิกรายอื่นมีอายุต้นลำไยที่มากขึ้น การเก็บเกี่ยวในฤดูต่อๆไปจะได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว คำนวณคร่าวๆ ไม่น่าจะต่ำกว่า 500 ตัน และเมื่อปริมาณผลผลิตมีมากขึ้น อำนาจต่อรองราคาก็จะมากตามไป ทำให้ราคาที่ทางสมาชิกได้รับจะสูงกว่าในปัจจุบัน ที่รับซื้อกันกิโลกรัมละ 34-35 บาท
ผลผลิตลำไยในแหล่งผลิตที่สำคัญทางภาคเหนือมีปริมาณผลผลิตรวมประมาณ 447,108 ตัน ถือว่ามีปริมาณที่ลดลงที่มีปริมาณกว่า 473,686 ตัน
จากรายงานข้างต้นผลผลิตลำไยภาพรวมที่ลดลง อันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน หนักไปทางร้อน และปริมาณน้ำฝนภายในประเทศลดลง ทำให้ผลผลิตลำไยลดลง ในขณะที่ความต้องการลำไยภายในประเทศก็มีมากขึ้น เนื่องจากมีนักธุรกิจชาวจีนเข้ามาเปิดกิจการมากขึ้น ซึ่งราคาของลำไยก็ขึ้นอยู่กับ Demand และ Supply ราคาขึ้นอยู่กับผลผลิตที่ผลิตได้ในแต่ละปี
ในการเหมาสวนและเก็บผลผลิต เนื่องจากผลผลิตลำไยลดลง ทำให้ลำไยขาดตลาดมาก ราคาจึงสูงขึ้น มีการแข่งขันเหมาสวนโดยดูแต่ใบ และประวัติผลผลิตปีล่าสุด เพื่อแย่งพื้นที่สวนที่ผลิตลำไยในช่วงฤดูกาลจะยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น
แต่ปี 2561 (เก็บ 2562) แนวโน้มราคายังไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และผลผลิตของพื้นที่การปลูกลำไยที่เพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รอบๆ บ้านใกล้เคียง ซึ่งจะสามารถเก็บผลผลิตลำไยได้ ซึ่งก็จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับประเทศไทย
ด้านตลาดผลผลิต ลำไยส่งออก
ส่วนความต้องการลำไยในตลาดโลก ไยยังถือเป็นผลไม้ที่สามารถผลิตได้ในหลายประเทศทั่วโลก แต่คุณภาพของลำไย และต้นทุนในการผลิตในประเทศไทยยังถือว่ามีคุณภาพดีที่สุด แต่ปัจจุบันมีการเพิ่มพื้นที่สวนลำไยในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
รวมไปถึงประเทศกัมพูชาด้วย ซึ่งจะเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในอนาคต แต่เนื่องจากกัมพูชามีปัญหาเรื่องพายุเกือบตลอดปี ซึ่งหมายความว่าปริมาณน้ำจะมีมากกว่าประเทศไทย แม้ว่าคุณภาพความหวานจะด้อยกว่าประเทศไทย แต่ลูกลำไยจะมีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทยมาก
ดังนั้นหากกัมพูชาแก้ปัญหาเรื่องมีน้ำมากเกินจนทำให้เปลือกแตกได้ รวมไปถึงค่าแรงงานที่มีราคาถูกกว่าประเทศไทย จะทำให้ลำไยของกัมพูชาทะลักเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น จนอาจจะมีปัญหาในด้านราคาได้
การคาดการณ์ราคาซื้อขายลำไยในประเทศไทยจึงยังมีแนวโน้มที่ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปัจจัยโดยรอบดังที่กล่าว คาดการณ์ว่าราคาลำไยที่ราดสารในเดือนมีนาคม (เก็บตุลาคม) อาจจะมีราคา 25-30 บาท และลำไยที่ราดสารในเดือนสิงหาคม(เก็บมีนาคม) อาจมีราคาประมาณ 38-42 บาท ซึ่งจะเป็นราคาที่ให้กับสวนใหญ่ที่มีผลผลิตปริมาณมากเท่านั้น
ส่วนสวนขนาดเล็ก หรือลำไย ตามบ้านอาจจะมีราคาต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ชาวสวนลำไยเองก็ต้องหาวิธีบริหารจัดการให้ดีๆ เพื่อการเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้เป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต
รายการ |
2554 |
2555 |
2556 |
1.ใช้ในประเทศ (ตัน) |
20,000 |
50,000 |
45,000 |
2.ส่งออก
-ลำไยสด ปริมาณ (ตัน) มูลค่า (ล้านบาท) |
382,013 6,209 |
455,663 8,454 |
413,400 8,503 |
-ลำไยอบแห้ง
ปริมาณ (ตัน) มูลค่า (ล้านบาท) |
162,441 8,232 |
129,255 3,783 |
140,232 4,026 |
-ลำไยบรรจุภาชนะอัดลม
ปริมาณ (ตัน) มูลค่า (ล้านบาท) -ลำไยแช่แข็ง ปริมาณ (ตัน) มูลค่า (ล้านบาท) |
12,146 579
28 3 |
11,472 602
29 4 |
12,274 633
55 9
|
3.ราคาส่งออก (บาท/ตัน)
ลำไยสด ลำไยอบแห้ง ลำไยบรรจุภาชนะอัดลม ลำไยแช่แข็ง |
16,254 50,676 47,710 116,476 |
18,533 29,269 52,507 132,099 |
20,569 28,711 51,586 169,572 |
4.คู่ค้าที่สำคัญ
ลำไยสด ลำไยอบแห้ง ลำไยบรรจุภาชนะอัดลม ลำไยแช่แข็ง |
จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย จีน เวียดนาม ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง |
||
5.คู่แข่งที่สำคัญ | เวียดนาม จีน |
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เทคนิคการผลิตลำไยนอกฤดู
พื้นที่สำหรับปลูกลำไยหากเป็นพื้นที่ที่เคยปลูกพืชอย่างอื่นมาก่อนให้ไถดินลึกประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วตากดินไว้ 20-25 วัน พรวนย่อยดินอีก 1-2 ครั้ง และปรับระดับดินให้สม่ำเสมอตามแนวลาดเอียง พันธุ์ลำไยที่นำมาปลูกควรเตรียมไว้ล่วงหน้าประมาณ 6 เดือน-1 ปี เพื่อให้มีระบบรากที่แข็งแรง ระยะห่างที่เหมาะสม คือ 8×8 เมตร หรือ 10×8 เมตร แต่ถ้าระยะห่างน้อยกว่านี้ก็ต้องมีการควบคุมทรงพุ่มที่ดีมากพอ หลักการสำคัญในการผลิตลำไยนอกฤดูที่ดีเกษตรกรควรมีความเข้าใจดังนี้
1.ต้นลำไยต้องมีความสมบูรณ์ เกษตรกรผู้ที่จะทำการผลิตลำไยนอกฤดูต้องบำรุงต้นลำไยให้มีความสมบูรณ์ หลังจากเก็บผลผลิตต้องทำการตัดแต่งกิ่ง และใส่ปุ๋ยบำรุงต้นลำไย ก่อนการใช้สารโปแทสเซียมคลอเรต โดยใช้ต้นลำไยมีการแตกช่อใบไม่น้อยกว่า 2-3 ครั้ง การผลิตลำไยนอกฤดูต้องคำนวณระยะเวลาตั้งแต่ให้สารเคมีจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย
2.ต้องมีแหล่งน้ำให้ต้นลำไยในช่วงหลังจากมีการให้สารโปแสเซียมคลอเรต โดยเฉพาะในช่วงดอกเริ่มบานและติดผล ถ้าขาดน้ำจะทำให้ดอกร่วง และผลร่วง ทำให้การติดผลน้อย ถ้าในช่วงแล้งหรือฝนทิ้งช่วงต้องมีการให้น้ำ และถ้ามีการใส่ปุ๋ยเคมีก็ต้องให้น้ำตามด้วยเช่นกัน
3.ต้นลำไยจะต้องอยู่ในสภาพใบแก่ อายุของใบลำไยต้องอยู่ในระยะใบแก่จัด คือ หลังจากแตกใบอ่อนประมาณ 45-60 วัน จะเป็นระยะที่ได้ผลดีที่สุด ถ้าเป็นระยะใบอ่อนจะทำให้ออกดอกน้อย หรือถ้าพ่นทางใบจะทำให้ใบอ่อนไหม้และร่วง
4.ก่อนการใช้สารจะต้องงดให้ปุ๋ยต้นลำไยก่อนการใช้สารโปแทสเซียมคลอเรต ไม่ว่าจะเป็นพ่นทางใบหรือให้ทางดิน จะต้องงดการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยเคมี ในช่วงก่อนการใช้สารผลิตลำไยนอกฤดู ควรใส่ในช่วงที่ลำต้นลำไยมีการแทงช่อดอกแล้ว
5.สารที่ใช้ในการผลิตลำไยนอกฤดูจะต้องมีความบริสุทธิ์สูง จะต้องตรวจสอบสาร เพราะถ้าเป็นสารผสมจะใช้ในอัตราที่แนะนำไม่ได้ หรือถ้าเป็นการพ่นทางใบจะทำให้เตรียมสารลำบาก เพราะจะทำให้ไม่ทราบว่าใช้สารอะไรผสม หรือผสมในอัตราเท่าไหร่ และจะส่งผลให้หัวพ่นอุดตันด้วย การใช้สารทางดินและการพ่นทางใบสามารถใช้ได้กับลำไยทุกพันธุ์ อัตราที่แนะนำอยู่ที่ประมาณ 5-10 กรัม/ตารางเมตรของทรงพุ่ม สำหรับการคำนวณวัดทรงพุ่ม 2 ด้าน ทำได้ง่ายๆ เช่น ทรงพุ่มด้านหนึ่งได้ 4 เมตร และอีกด้านได้ 4 เมตร ดังนั้นความกว้างของทรงพุ่มต้นลำไยเท่ากับ 4×4 คือ 16 เมตร เกษตรกรผู้ปลูกลำไยต้องใช้สาร 5-10 กรัม/ตารางเมตร คือ 5×16 = 100 กรัม (1 ขีด) และ 10×16 = 160 กรัม (1.6) ขีด
ในการพ่นไม่ควรใช้สารในปริมาณที่สูงกว่านี้ หากใช้ในปริมาณสูงอาจทำให้ลำไยใบไหม้และร่วงได้ จากการทดลองพ่นเพียงครั้งเดียวก็สามารถทำให้ลำไยออกดอกได้ แต่ถ้าจะให้มีการออกดอกเพิ่มมากขึ้นก็ควรพ่น 2 ครั้ง
ข้อควรรู้ในการพ่นสารผลิตลำไยนอกฤดู
- ควรพ่นในตอนเช้า หรือในช่วงอากาศไม่ร้อน เพราะหากพ่นในช่วงอากาศร้อนอาจทำให้เกิดอาการใบไหม้ และถ้ามีฝนตก 1-2 วัน หลังจากพ่นแล้วควรพ่นสารใหม่อีกครั้ง
- ควรพ่นในช่วงที่ต้นลำไยมีใบแก่เท่านั้น เพราะหากพ่นในใบอ่อน ลำไยอาจออกดอกไม่ดี คือ ช่อที่แตกออกมาจะมีการพัฒนาใบก่อนแล้วแตกดอกตาม อาจทำให้ช่อดอกสั้น และการพ่นควรพ่นให้โดนส่วนของปลายยอดลำไยให้มากที่สุด เพราะจะเป็นจุดที่มีการออกดอก
- ก่อนพ่นสารเคมีควรสวมชุดป้องกันให้มิดชิด และหลังพ่นควรทำความสะอาดร่างกายและชุดที่สวมใส่ให้เรียบร้อย
การใส่ปุ๋ยให้ต้นลำไย
1.ต้นลำไยอายุ 1-3 ปี หลังจากต้นแตกใบอ่อนชุดที่ 1 ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1:1 อัตรา 100 กรัมต่อต้น ปีละ 3 ครั้ง และเพิ่มขึ้นปีละ 2 เท่าทุกปี
2.ต้นลำไยอายุ 4 ปี จะเริ่มแตกใบอ่อนประมาณต้นเดือนสิงหาคม ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1:1 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น และเดือนพฤศจิกายน พ่นปุ๋ยเคมีสูตร 0-52-34 อัตรา 150 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วทรงพุ่มเพื่อไม่ให้ต้นลำไยแตกใบใหม่ พ่น 3 ครั้ง ทุก 7 วัน
3.สำหรับต้นลำไยที่ให้ผลผลิตแล้ว (อายุ 5 ปีขึ้นไป) หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตในปีที่ผ่านมาใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1:1 อัตรา 2 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อกระตุ้นการแตกใบอ่อนของต้นลำไยชุดที่ 1 หลังจากนั้นประมาณเดือนกันยายนใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1:1 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น
เมื่อต้นลำไยแตกใบอ่อนชุดที่ 2 กลางเดือนตุลาคมใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-46-0 + 0-0-60 สัดส่วน 1:1 อัตรา 2-3 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อให้ต้นลำไยพักตัวและพร้อมต่อการออก และเมื่อต้นลำไยติดผลขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1:1 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อบำรุงผลให้เจริญเติบโต
และที่สำคัญก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย 1 เดือน ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-60 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้มากขึ้น และหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 + 46-0-0 สัดส่วน 1:1 อัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อต้น
การจำหน่ายผลผลิตลำไย
แม้ในภาพรวมการรวมกลุ่มของผู้ปลูกลำไยที่บ้านเขาช่องแคบจะเป็นเพียงวิสาหกิจเล็กๆ ที่มีสมาชิกไม่มากนัก ปริมาณการผลิต/ปีก็ยังไม่ถือว่ามากมายเท่าไหร่ อำนาจในการกำหนดราคาส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในมือของพ่อค้า เพียงแต่อำนาจของกลุ่มสามารถต่อรองราคาได้บ้างในบางครั้ง
ทั้งนี้เพราะกลไกของการปลูกลำไยเป็นวัฏจักรที่หยั่งรากฝังลึกกันมานาน การผูกขาดราคา การกำหนดราคา เป็นสิ่งที่ชาวสวนอาจจะต้องยอมทำใจ แต่โมเดลของการรวมกลุ่มนี้ถ้านำไปปรับใช้ในผลไม้ตัวอื่นที่รูปแบบการรับซื้อแตกต่างไปจากนี้ เชื่อว่าจะเป็นผลดีที่สร้างอำนาจในการซื้อขายได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมากกว่า
ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะรวมกลุ่ม รวมตัวกันได้ สิ่งที่ต้องทำอันดับแรก คือ การละลายความคิดให้ทุกคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากขึ้น ฉีกหนีจากกฏเกณฑ์ปลูกมาขายไปแบบเดิมๆ ที่ทำตามกันมาแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย พัฒนาจากการเกษตรธรรมดาให้เข้ามาใกล้เคียงคำว่า “ธุรกิจ” มากขึ้น
เมื่อพืชผลหลายตัวสามารถทำได้เช่นนี้ เท่ากับเป็นการยกระดับมาตรฐานของไม้ผลเมืองไทยให้มีบทบาทมากขึ้นในเวทีระดับโลก ผลดีที่ย้อนกลับมา คือ เกษตรกรสามารถลืมตา อ้าปาก กลายเป็นอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่ดี ภาพลักษณ์ในสังคมเกษตรก็จะเริ่มเปลี่ยนโฉมหน้า ไม่ใช่แค่อาชีพที่ทำกันไปวันๆ เท่านั้น..แต่กว่าจะถึงจุดนี้ต้องมีก้าวแรกเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าก้าวได้เมื่อไหร่..ความสำเร็จที่คาดหวังไว้…ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมครับ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อ คุณสามารถ ขามสันเทียะ (ประธานวิสาหกิจกลุ่มผู้ปลูกลำไย บ้านเขาช่องแคบ) 173 หมู่ 12 ต.คลองหาด อ.คลองหาด จ.สระแก้ว โทร.08-8487-6476