การเลี้ยงไก่ดำ
หากพูดถึง “ไก่ดำ” หลายๆ คนคงนึกภาพออก เพราะไก่ดำมีเอกลักษณะเฉพาะ โครงสร้างจะเหมือนไก่ทั่วไป เพียงแต่ขน ผิวหนัง เนื้อ เล็บ เครื่องใน และกระดูก จะมีสีดำ แต่ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงสายพันธุ์มากมาย ซึ่งอาจจะมีไก่ดำที่มีขนสีขาว แต่ยังคงมีผิวหนัง กระดูก และเนื้อ ที่เป็นสีดำ ซึ่งคนส่วนมากมีความเชื่อว่า หากได้บริโภคไก่ดำเป็นประจำจะช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรง
นอกจากนี้ทางการแพทย์ยังมีการวิจัยอีกว่า ไก่ดำมีสารอาหารมากมาย ที่จำเป็นต่อร่างกายมนุษย์ ไก่ดำจึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไก่ดำมีราคาสูง และมีผู้สนใจในการเลี้ยงมากขึ้น
จุดเริ่มต้นการเลี้ยงไก่ดำ
หนึ่งในนั้นก็คือ จ่าขวัญ หรือ จ่าสิบเอกขวัญชัย เรือนน้อย เจ้าหน้าที่สื่อสาร หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 22 อ.นาแก จ.นครพนม มีความสนใจในไก่ดำ จึงศึกษาวิธีการเลี้ยงและศึกษาด้านการตลาด จนสามารถเลี้ยงได้ประสบความสำเร็จ สร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว
“เมื่อ 15 ปีก่อน กรมปศุสัตว์ได้นำไก่ดำจากประเทศจีนเข้ามาเลี้ยงที่จังหวัดสกลนคร ถือว่าได้รับความสนใจแก่เกษตรกรอยู่ช่วงหนึ่งก็เงียบไป ต่อมามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาฟื้นฟู เนื่องจากได้เล็งเห็นว่าการเลี้ยงไก่ดำสามารถเลี้ยงได้ง่าย ใช้ต้นทุนในการเลี้ยงไม่สูง ขายได้ราคาดีกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป จึงมีการตามเก็บไก่ดำที่หลงเหลือจากเกษตรกรมาเพาะพันธุ์ และปรับปรุงพันธุ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 เพื่อให้ได้ลักษณะตามที่ต้องการ และเข้ากับสภาพแวดล้อมในประเทศไทย แล้วนำไปแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรในพื้นที่” จ่าขวัญกล่าวถึงที่มาของไก่ดำ
สาเหตุที่ตนเลือกเลี้ยงไก่ดำเป็นอาชีพเสริม ก่อนหน้านั้นมีคนรู้จักเลี้ยงไก่ดำอยู่ ตนเห็นว่าไก่ดำมีลักษณะแปลก สะดุดตา เพราะทุกส่วนของไก่จะมีสีดำ จึงศึกษาด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงไก่ดำ และได้เล็งเห็นความต้องการของผู้บริโภคที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้นำมาทดลองเลี้ยงแล้วได้ผลผลิตดี ขายได้ราคา จึงตัดสินใจเลี้ยงอย่างจริงจัง เมื่อปี พ.ศ.2552
การฟักไข่ไก่ดำ
จากนั้นจ่าขวัญได้นำไก่ดำมาให้คุณวิสิทธิ์ เรือนน้อย ซึ่งเป็นพ่อของเขาได้ทดลองเลี้ยง ที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เกือบ 2 ปีแล้ว คุณวิสิทธิ์เล่าว่า ในช่วงแรกจ่าขวัญนำไก่ดำมาให้ทดลองเลี้ยงจำนวนแม่พันธุ์ 5 ตัว กับพ่อพันธุ์ 1 ตัว ตนก็เลี้ยงแบบปล่อยไม่ได้ดูแลอย่างเต็มที่ เพราะตนมีอาชีพทำนา จึงไม่ค่อยมีเวลาว่าง
เมื่อไก่ไข่ออกมาก็ให้แม่ไก่กกเองตามธรรมชาติ ไข่ฟักไม่ออกทำให้เกิดความเสียหาย จึงหันมาดูแลอย่างจริงจัง โดยมีการนำตู้ฟักเข้ามาช่วยในการฟักไข่ อุณหภูมิในตู้ฟักไข่อยู่ที่ 37.5 °C ความชื้น 55-65 สำหรับไข่ที่ยังไม่ได้นำเข้าตู้ฟักจะเก็บใส่กะบะไข่วางไว้ในที่โล่ง
โดยจะนำเข้าตู้ฟักทุกๆ 3 วัน เฉลี่ยเมื่อมีการฟักไข่ออกมาจะมีเปอร์เซ็นต์การฟักอยู่ที่ 90-95% ก่อนที่จะนำไข่เข้าตู้ฟักจะต้องทำความสะอาดไข่ เช็ดมูลที่ติดออกให้หมด จากนั้นเขียนวันที่ที่นำไข่เข้าตู้ฟักติดไว้ ไข่จะฟักออกภายใน 19-21 วัน
การตรวจดูไข่มีเชื้อจะมีวิธีเหมือนการตรวจไข่ทั่วไป ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับคำแนะนำจากจ่าขวัญอยู่เป็นประจำ จึงไม่มีอุปสรรคเกิดขึ้นในระหว่างการเลี้ยง และทำเป็นธุรกิจในครอบครัว
สภาพพื้นที่เลี้ยงไก่ดำ
ปัจจุบันมีแม่พันธุ์ไก่ดำทั้งหมด 20 ตัว พ่อพันธุ์ 6 ตัว แยกเป็นแม่ไก่ดำที่มีลักษณะขนขาว 7 ตัว พ่อพันธุ์ไก่ดำขนขาว 2 ตัว ส่วนแม่พันธุ์ไก่ดำมี 13 ตัว พ่อพันธุ์ไก่ดำมี 4 ตัว สามารถฟักไข่ออกมาเป็นลูกเจี๊ยบประมาณ 30-50 ตัว/สัปดาห์ พื้นที่ที่ใช้เลี้ยงไก่เป็นพื้นที่ว่างบริเวณหลังบ้านประมาณ 3 งาน 40 ตารางวา
ลักษณะการเลี้ยงจะเป็นแบบกึ่งปิดกึ่งปล่อย ซึ่งพัฒนามาจากการเลี้ยงแบบปล่อย เพราะการเลี้ยงแบบปล่อยเกษตรกรไม่สามารถควบคุมไก่ได้ อาจถูกสัตว์อื่นทำร้าย การเลี้ยงแบบกึ่งปิดกึ่งปล่อยจะมีการสร้างโรงเรือนเพื่อเป็นที่หลบแดด หลบฝน สร้างรังสำหรับให้แม่ไก่ได้ไข่ และมีพื้นที่โล่งให้ไก่เดินคุ้ยเขี่ยหากิน และได้ออกกำลังกาย ซึ่งจะมีการสร้างรั้วจำกัดบริเวณเพื่อไม่ให้ออกหากินไกลๆ
การให้อาหารและน้ำไก่ดำ
อาหารที่ใช้เลี้ยงไก่ในส่วนของพ่อ-แม่พันธุ์ จะใช้อาหารไก่ยี่ห้อ “ซันฟีด” ผสมกับข้าวเปลือก ในไก่รุ่นจะใช้อาหารของซันฟีดเบอร์สำหรับไก่รุ่น ส่วนไก่เล็กใช้อาหารไก่แรกเกิดของซันฟีดเช่นกัน
น้ำที่ให้ไก่กินจะผสมวิตามินไบโอบี12 ลงไป ในอัตราส่วน 1 ช้อน/น้ำ 4 ลิตร เพื่อช่วยให้ไก่แข็งแรง ช่วยลดความเครียด เนื่องจากปัจจุบันมีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ฝนตกไม่เป็นเวลา อาจทำให้ไก่เป็นหวัดได้ง่าย
การจัดการต่างๆ จะไม่มีความยุ่งยาก เพียงแค่ให้อาหารกับน้ำไก่ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ส่วนไก่เล็กที่เพิ่งฟักออกมาจะดูแลเป็นพิเศษ เช้า กลางวัน และเย็น จะต้องมีการกก โดยการนำลูกไก่ไปใส่ท่อซีเมนต์ รองพื้นด้วยแกลบ ใช้เวลากกประมาณ 7-10 วัน
“การเลี้ยงไก่ดำที่ใครๆ ก็บอกว่าเลี้ยงยาก แท้ที่จริงแล้วอยู่ที่การดูแลและการจัดการ ถ้าผู้เลี้ยงรู้จักไก่ดี ดูแลดี การเลี้ยงก็จะไม่ยาก ในแต่ละวันเราก็จะให้อาหาร ให้น้ำ เก็บกวาดมูล ทำความสะอาดเล้าไม่ให้เกิดการหมักหมม ไก่ก็จะอยู่ได้อย่างสบาย” คุณวิสิทธิ์กล่าวเสริม
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายไก่ดำ ลูกไก่ดำ
ตลาดที่รองรับไก่ดำ โดยส่วนมากลูกค้าจะติดต่อกับจ่าขวัญทางเฟสบุ๊ค หรือทางเว็บไซด์ จากนั้นหากลูกค้าสะดวก และใกล้ที่ไหนจะแนะนำให้ไปที่นั่น เช่น คนที่สนใจไก่ดำอยู่จังหวัดสระแก้ว จ่าขวัญก็จะแนะนำให้มาติดต่อที่ฟาร์ม คุณวิสิทธิ์ ที่อำเภอพนมสารคาม และเมื่อมีไก่จำนวนมากจำหน่ายไม่ทัน จ่าขวัญก็จะมารับไปจำหน่ายเอง
ลักษณะของตลาดจะมี 2 รูปแบบ คือ จำหน่ายเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจนำไปเลี้ยงขยายพันธุ์ต่อ ซึ่งการขายในลักษณะนี้จะได้กำไรมากกว่าการขายเป็นไก่เนื้อ การจำหน่ายเป็นไก่เนื้อสืบเนื่องมาจากไก่ที่เหลือจากการขายเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ หรือเป็นไก่ตกไซส์
การคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ สำหรับพ่อพันธุ์จะต้องมีรูปร่างสมบูรณ์แข็งแรง สมส่วน มีน้ำหนัก 2.5 กก.ขึ้นไปและมีอายุ 9 เดือนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 3 ปี อัตราส่วนในการคุมฝูงต่อแม่ไก่ คือ 1:6-10 ส่วนแม่พันธุ์ต้องมีรูปร่างสมบูรณ์แข็งแรง มีความเชื่อง ให้ไข่ดก 10-15 ฟอง/รอบ มีอายุ 7 เดือน แต่ไม่เกิน 3 ปี
ราคาในการจำหน่ายจ่าขวัญจะเป็นกำหนดขึ้นมาเอง หลักเกณฑ์ในการตั้งราคาจะศึกษาจากราคาขายของแต่ละพื้นที่ และแต่ภูมิภาค สำหรับไก่แรกเกิดถ้าเป็นไก่ดำ 2-3 วัน จะขายตัวละ 60 บาท ถ้าเป็นไก่ดำขนขาว จะขายตัวละ 100 บาท เพราะจะเป็นพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย โตไว กว่าไก่ดำ
ส่วนไก่โตจะไม่กำหนดระยะเวลาในการเลี้ยงที่แน่นอน อยู่ที่ลูกค้าว่าสนใจตัวไหนก็จะจับขายเลย ด้านพ่อแม่พันธุ์ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ตัวละ 1,000 บาท ส่วนไก่อื่นๆ จะขายตามความเหมาะสม
“การตอบรับในปัจจุบันถือว่าดีกว่าเมื่อก่อน คนที่เข้ามาส่วนมากจะมาศึกษาวิธีการเลี้ยงและการจัดการ และซื้อไปทดลองเลี้ยง มีคนสนใจเยอะพอสมควร”
แนวโน้มในอนาคต
สำหรับคุณวิสิทธิ์ อนาคตคิดว่าจะมีการเพิ่มจำนวนการเลี้ยงแม่พันธุ์ให้ได้ 100 แม่ เพื่อที่จะสามารถนำไข่เข้าตู้ฟักให้ได้จำนวนลูกไก่ประมาณ 1,000 ตัว/เดือน “ซึ่งเราเริ่มจากการเลี้ยงไก่แบบจำนวนน้อย ค่อยๆ เพิ่มทีละน้อยอย่างมั่นคง เรียนรู้ไปเรื่อยๆ” และสำหรับจ่าขวัญ “จะมีการจัดตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อเตรียมการผลิตรองรับผู้บริโภค และจะเพิ่มจำนวน แม่พันธุ์เป็น 500 แม่ เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดที่เป็นตลาดพ่อแม่พันธุ์ และตลาดไก่เนื้อ”
“อยากให้ทุกคนได้ลองกินไก่ดำดูว่ามีรสชาติอย่างไร สำหรับผมบอกเลยว่าเนื้อไก่ดำมีความอร่อยอยู่ในตัวของมัน เพราะเนื้อจะมีลักษณะนุ่ม ไม่เหมือนไก่ทั่วไป ฝากถึงผู้เลี้ยงไก่ดำ หรือเกษตรกรอาชีพอื่น เราต้องมีความสนใจในอาชีพนั้นๆ และต้องมีความมุ่งมั่น ถ้าไม่มุ่งมั่นอย่าทำ เพราะมันจะทำได้ไม่นาน ถ้าตั้งใจทำทุกอย่างสามารถประสบความสำเร็จแน่นอน” คุณวิสิทธิ์กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ จ.ส.อ.ขวัญชัย เรือนน้อย (จ่าขวัญ) เจ้าหน้าที่สื่อสาร หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 22 อ.นาแก จ.นครพนม 48130 โทร.089-862-8511 Facebook : ไก่ดำ จ่าขวัญ