นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ เป็นแกนนำเกษตรกรระดับ “ อ๋อง ” ของวงการยาง มีส่วนสำคัญในการร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยตั้งแต่ยุคเริ่มต้นก่อนจะประสบความสำเร็จในรัฐบาลนี้
ทีมงานยางเศรษฐกิจมีโอกาสพูดคุยกับชายวัย 81 ปี ท่านนี้ ในขณะตำแหน่งประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปเกษตร สภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยโฟกัสไปยังประเด็นต่างๆ ใน พ.ร.บ.การยางฯ ที่ยังข้องใจชาวสวนยางจำนวนหนึ่ง
พ.ร.บ.การยางฯ ไม่เก็บภาษีส่งออก ผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยาง
การไม่เก็บภาษีผลิตภัณฑ์ยาง และไม้ยาง วัตถุประสงค์ของกฎหมาย เพื่อส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปยางในประเทศ อีกทั้งส่วนผสมของยางพาราที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ยาง ต้องตรวจสอบหลายขั้นตอน ตรงนี้จะกลายเป็นช่องว่างให้เกิดการหาผลประโยชน์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ประกอบการ
การที่เราส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปยาง มีผู้มาลงทุนมากๆ เกิดการจ้างงาน มีความต้องการใช้ยางในประเทศจะสูงขึ้น ราคายางพาราในประเทศก็จะสูงขึ้น ตรงนี้มูลค่าที่ได้สูงกว่าการเก็บเล็กเก็บน้อยจากภาษีส่งออก
แล้วถ้าการจัดเก็บเงินเซสกับผลิตภัณฑ์ยางมีเฉพาะประเทศไทย แต่มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนามไม่เก็บ ตรงกันข้ามใครผลิตมากมีการลดหย่อนภาษีให้อีก แต่ถ้าเราเก็บจะไม่เกิดการลงทุน และแข่งขันกับต่างประเทศยาก
ส่วนเรื่องไม้ยางหากเก็บเงินเซสสุดท้ายผู้ประกอบการจะผลักภาระด้านนี้สู่เกษตรกรในที่สุดราคาไม้ยางจะถูกลงเพราะผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้นขณะเดียวกันการแข่งขันไม้ยางในตลาดโลกมีศักยภาพต่ำเพราะถูกกีดกันจากต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรปที่มองว่าไม้ยางเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า
เงินสนับสนุนการแปรรูปยาง นายทุนจะเข้ามาหาผลประโยชน์
ตาม มาตรา 49 อนุ 3 ใน พ.ร.บ.การยางฯ กำหนดให้นำเงินจากกองทุนพัฒนายางพารา 35% ไปส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่ายาง กับสถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการยางพารา จึงกลัวกันว่าผู้ประกอบการในคราบของ “นายทุน” จะเข้ามาใช้ประโยชน์จากเงินส่วนนี้
แม้ในตัวกฎหมายจะไม้ได้ระบุว่าเงินส่วนนี้สนับสนุนเกษตรกรเท่านั้นแต่เมื่อรู้ว่าเงินก้อนนี้เป็นของเกษตรกรก็สมควรให้เป็นของเกษตรกรในทางปฏิบัติ
อีกทั้งการพิจารณาจะต้องผ่านคณะกรรมการที่มีเกษตรกรอยู่ในนั้น 5 คน จาก 15 คน หรือ 1 ในเชื่อว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้อย่างเด็ดขาด
การที่เรามีกองทุนเพื่อส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคายางในอนาคตเงินส่วนนี้จึงมีความจำเป็นมาก
ต่อไปปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องพึ่งพารัฐ เมื่อเกิดปัญหาก็ส่งเสริมการแปรรูป ส่วนหนึ่งสร้างโรงงานต้นแบบผลิตภัณฑ์ยาง เช่นเดียวกับเอกชน พัฒนาตัวเอง แปรรูปเพิ่มมูลค่า และส่งออกต่างประเทศ เป็นเสือตัวที่ 6 แต่เราไม่ได้แข่งกับใคร เราต้องพัฒนาตัวเองให้มีคุณภาพ สร้างมาตรฐานในการส่งออก ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็พึ่งพาตัวเองได้
แต่ฝันจะเป็นจริงหรือไม่อยู่ที่คณะกรรมการ และ ผู้ว่าการ กยท.ที่สำคัญต้องปราศจากการเมือง
ลดสัดส่วนเงินสนับสนุนการปลูกแทน เหลือ 40% จาก 85%
สัดส่วนเงินสงเคราะห์ปลูกแทน ที่ลดลงเหลือ 40% นั้น เท่าที่ผมเคยทำงานอยู่ในคณะกรรมการสงเคราะห์สวนยาง (บอร์ด กสย.) มาเกือบ 20 ปี การขอทุนโค่นยางเก่า ปลูกยางใหม่ ที่ผ่านมา มีเป้าโค่นยางปีละ 300,000 ไร่ แต่มีผู้ขอทุนเพียง 100,000 กว่าไร่ต่อปีเท่านั้น เพราะเกษตรกรไม่ได้โค่นตามที่ สกย.ต้องการ
และต้องย้ำว่า นี่ไม่ใช้ พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง แต่นี้เป็น พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยเนื้อหาไม่ใช่การโค่นยางเก่าปลูกยางใหม่เป้าหมายต้องทำยางครบวงจรต้องมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์และรักษาเสถียรภาพราคาด้วย
ขณะเดียวกันสัดส่วนการขอทุนปลูกแทนจัดสรรให้สวนยางรายใหญ่เพียง 20% เท่านั้น ส่วนที่เหลือเราให้รายย่อย ถึง80%
สวัสดิการชาวสวนยาง สร้างความยั่งยืนในบั้นปลายชีวิต
เงินกองทุนฯ อีก 10% เป็นสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยาง และสนับสนุนสถาบันเกษตรกร และเครือข่ายเกษตรกร สร้างความเข้มแข็ง เหตุผลที่ต้องมีแบบนี้ เพราะเงินส่วนนี้รู้กันว่าแม้จะเก็บจากผู้ส่งออกยาง แต่ผู้ประกอบการจะเก็บจากเกษตรกรอีกที จึงพูดได้ว่าเงินส่วนนี้เป็นของเกษตรกรอย่างแท้จริง
สวัสดิการ ที่ต้องจัดสรรไว้เพราะ เกษตรกรเสียเงิน เซส มายาวนาน พอแก่ตัวกลับไม่เหลืออะไรเลย เพราะไม่มีเงินเก็บสะสม ต่างจากแรงงานทั่วไปก็ยังมีสวัสดิการ มีกฎหมายควบคุม ดังนั้น พ.ร.บ.นี้จึงจัดให้มีเงินสวัสดิการขึ้น เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาชีพ อาจจะทำในรูปแบบของกฎหมายแรงงาน แต่ผมว่าควรแบ่งเป็น 3 ส่วน เกษตรกรจ่ายส่วนหนึ่ง กยท. จ่ายส่วนหนึ่งและราชการจ่ายส่วนหนึ่ง
เงินที่เราเสียไป เราต้องมีอำนาจในการบริหารจัดการ ผมว่ามันยุติธรรมแล้ว
ตั้งศูนย์บ่มเพาะนักอุตสาหกรรมยาง
พ.ร.บ.การยางฯจะต้องสร้างความเข็มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยางอย่างแท้จริงอาจจะตั้งศูนย์บ่มเพาะฝึกอบรมให้เกิดนักอุตสาหกรรมโดยจับมือกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญได้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กระทรวงอุตสาหกรรมกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงวิทยาศาสตร์และผู้ประกอบการเพื่อผลิตบุคลากรป้อนอุตสาหกรรมแปรรูปยาง
ทิศทางการเกษตรข้างหน้าลูกหลานเกษตรกรจะไปทำอาชีพอื่น เหลือคนแก่ทำสวน แต่ถ้าเรามีอุตสาหกรรมและพัฒนา ลูกหลานชาวสวนยางที่มีความรู้ด้านงานบริหาร จะเข้ามาเรียนรู้และทำอาชีพนี้ขั้นปลายน้ำมากขึ้น เราเริ่มจากจุดเล็กๆ ด้านการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่ปลูกยางแล้วขายยางดิบ ถ้ารวมได้ทั้งประเทศจะยิ่งใหญ่ เช่นพื้นรองเท้า ยางรองขาโต๊ะ ซีลสุขภัณฑ์ ทำกันระดับครอบครัว และพัฒนาสู่อุตสาหกรรมที่ใหญ่ขึ้น
แต่ถ้ายังอยู่ในขึ้นวัตถุดิบอีก 100 ปีก็ยังจนอยู่อย่างนี้
[wpdevart_like_box profile_id=”112152085551102″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]