การจัดตั้งกลุ่มปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ ตำบลสิงหนาท
การจัดตั้งกลุ่มในการทำเกษตรเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรเอง เนื่องจากสามารถต่อรองราคากับตลาด ได้ราคาที่เป็นมาตรฐาน เพราะลำพังเกษตรกรแค่หนึ่ง หรือสองรายไม่มีอำนาจทางการค้าที่ดีพอ ทำให้ต้องถูกกดราคาอยู่ร่ำไป กลายเป็นเบี้ยล่างของตลาด สุดท้ายก็เข้าสู่ความรู้สึกเดิมๆ คือ “ทำเท่าไหร่ก็ไม่รวยซักที”
แต่เกษตรกรรายเล็กๆ ทั่วไป จะมีผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอต่อความต้องการและไม่สม่ำเสมอ ทำให้ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดใหญ่ๆ การรวมกลุ่มจึงเป็นการแก้ไขปัญหาในทุกด้าน ที่สร้างความพอใจด้วยกันทุกฝ่าย คือ เกษตรกรก็ได้ขายสินค้าอย่างสม่ำเสมอในราคาที่สูงขึ้น ผู้รับซื้อก็สามารถรู้จำนวนสินค้า และมีมาตรฐานของการผลิตมากขึ้น สุดท้าย คือ ผู้บริโภคปลายทางที่จะได้ของดีที่ปลอดภัยในราคาที่สมเหตุสมผล
กลุ่มปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษของตำบลสิงหนาท ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2540 เริ่มขึ้นจากสมาชิกประมาณ 3-4 หลังคาเรือน ซึ่งเป็นเครือญาติกัน เดิมทีในกลุ่มประกอบอาชีพทำนา และหารายได้เสริมจากการเย็บผ้า แต่ต่อมากลุ่มแม่บ้านได้ยกเลิกการเย็บผ้าเนื่องจากรายได้น้อย คงเหลือไว้แต่การทำนา เหล่าแม่บ้านจึงได้เริ่มตัดสินใจในการผลิตผักพื้นบ้าน เช่น โหระพา และกระเพรา สาเหตุสำคัญ คือ ผักพื้นบ้านมีข้อดีที่ปลูกง่าย และสาเหตุสำคัญ คือ มีความมั่นใจในด้านการตลาด เพราะชุมชนอยู่ใกล้กับตลาดสี่มุมเมือง และมีพ่อค้ามารับซื้อผักถึงแปลงปลูก โดยเลือกที่จะปลูกผักพื้นบ้าน ได้แก่ โหระพา กระเพรา ซึ่งเดิมบรรพบุรุษเคยทำไว้
การปลูกผักปลอดสาร
คุณประกิต จาก บริษัท พีดีไอ เทรดดิ้ง จำกัด ได้เข้ามาแนะนำการปลูกผักปลอดภัยเพื่อส่งไปขายยังประเทศเยอรมัน มีการส่งเสริมผักเวียดนาม (ลาเทียโต๋ว) ในระยะเริ่มแรกกลุ่มได้พยายามที่จะผลิตผักในแนวทางการผลิตแบบอินทรีย์
โดยใช้สารป้องกันแมลงจากการหมักสาบเสือ สะเดา และน้อยหน่า และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการบำรุง แต่ก็พบว่าวิธีดังกล่าวให้ผลผลิตที่น้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดส่งออกได้ จึงเพิ่มการผลิตโดยขยายสมาชิกราว 12-13 คน
และเริ่มมีการใช้สารเคมีเข้ามาช่วย แต่จะต้องทำการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดโรคพืชและแมลง ก่อนการเก็บเกี่ยวประมาณ 7-10 วัน และสิ่งสำคัญที่เกษตรกรต้องคำนึงถึง คือ การทำผลผลิตต้องได้รับหนังสือรับรองการดำเนินการภายใต้การรับรองการทำเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP) เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สามารถนำไปส่งออกไปทวีปยุโรปได้
ทั้งนี้สหภาพยุโรปมีการสั่งให้ทบทวนผักที่นำเข้าสู่ประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป ปรากฏว่าผักของทางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ กระเพรา โหระพา แขยง และผักแพว ซึ่งจากที่ทางกลุ่มเคยสามารถส่งให้กับตลาดส่งออกได้ราว 600 กิโลกรัม ต่อสัปดาห์ ลดลงเหลือ 50 กิโลกรัม ต่อสัปดาห์
อีกทั้งทางกลุ่มสมาชิก 5 ราย ได้ยื่นขอรับรอง GAP ในผัก 6 ชนิด ได้แก่ กระเพรา โหระพา ลาเทียโต๋ว ชะพลู สะระแหน่ และเตย ต่อมาสมาชิกได้ยกเลิกการปลูกสะระแหน่ เนื่องจากปัญหาการล้างผักสะระแหน่ทำให้สมาชิกมือพอง ประกอบกับการระบาดของเพลี้ยไฟเป็นจำนวนมาก ทำให้ผักไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพในการส่งออก ดังนั้นทางกลุ่มจึงมีความพยายามส่งผ่านให้กับผู้ใหญ่บัญชาเพื่อส่งผักต่อให้กับห้างแมคโคร ซึ่งได้ราคาที่ถูกมาก เพราะประสบปัญหาผักล้นตลาด
พื้นที่ปลูกผักของกลุ่มต้องประสบปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ ทำให้สมาชิกไม่มีผลผลิตส่งให้กับตลาดส่งออก ทั้งๆ ที่ความต้องการของตลาดมีมาก และเริ่มมีการส่งเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากได้ผ่านพ้นวิกฤตมาได้ แต่ก็มีความยุ่งยากขึ้นมาอีก เนื่องจากต้องมีการเปลี่ยนแปลงจากการรับรอง GAP แบบรายสมาชิก เป็นการรับรองระบบกลุ่ม หมายถึง สมาชิกกลุ่มจะต้องได้รับการรับรองการทำผลผลิตให้ผ่านเกณฑ์ทั้งหมดทุกคน ถ้าสมาชิกไม่ผ่านหนึ่งคนก็จะทำให้สมาชิกทั้งหมดเกิดปัญหาในการส่งออกทั้งหมดด้วย
การบริหารจัดการสมาชิก
ในปัจจุบันกลุ่มปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ ตำบลสิงหนาท จะมีผลิตผลประมาณ 30 ชนิด โดยส่วนมากจะเป็นผักพื้นบ้าน และมีจุดในการรับซื้อผลผลิตของสมาชิกอยู่ 3 จุด คือ จุดของประธาน คุณโชติ สายด้วง จุดของกำนันบัญชา พวงสวัสดิ์ และจุดของคุณชะม้อย สายด้วง ซึ่งแต่ละจุดจะมีบริษัทต่างๆ มารับซื้อผลผลิตทั้งหมด 7 บริษัท โดยบริษัทที่มารับซื้อจุดของคุณชะม้อย คือ บริษัท พีดีไอ เทรดดิ้ง จำกัด,บริษัท ชัชวาลย์ จำกัด
ปัจจุบันทางกลุ่มมีสมาชิกที่จดทะเบียนกับกลุ่มไว้ทั้งหมด 32 ราย ซึ่งการจะรับเพิ่มนั้นจะต้องมีการประเมินเกี่ยวกับพื้นที่ในการเพาะปลูก ทั้งในเรื่องของขนาด พื้นที่ ความเสี่ยง และความสามารถ ในการผลิต แต่การรับสมาชิกจะไม่สามารถรับจุดเดียวได้ จำเป็นต้องเฉลี่ยกัน เนื่องจากการบริหารจัดการสมาชิกจะไม่เพียงพอ เพราะผู้ดูแลจะต้องเข้าไปดูแลและควบคุมการใช้สารทุกขั้นตอน โดยจะมีการปรึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมในกลุ่มอีกครั้งหนึ่ง
การบำรุงดูแลรักษาผักปลอดสาร
การผลิตผักปลอดสารเพื่อส่งออกนั้นจำเป็นต้องมีการควบคุมคุณภาพตามระบบ GAP คือ การใช้สารต้องอยู่ในการควบคุมทุกขั้นตอน ต้องมีการจดบันทึกผัก และตรวจสภาพน้ำ เพราะน้ำเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ผักเกิดปัญหา เนื่องจากแปลงปลูกผักใกล้กับที่นา อาจทำให้สารเคมีเล็ดลอดเข้ามา และทำให้ผลผลิตเกิดความเสียหายได้
การใช้ยาเคมีจะใช้สลับกับน้ำหมักชีวภาพที่ทำขึ้นมาเอง โดยมีหน่วยงานของทางราชการ ส่งเสริมให้ทำน้ำหมักสกัดจากสมุนไพร สารเคมีส่วนมากบริษัทผู้รับซื้อผลผลิตจะแนะนำเป็นสารจำพวกตกค้างน้อย และเป็นสารที่ทางยุโรปสามารถยอมรับได้ และอยู่ในการควบคุมเป็นอย่างดี ส่วนเรื่องปุ๋ย ทางกลุ่มมีการรวมกันทำปุ๋ยหมักกันเองภายในกลุ่ม เพื่อเป็นการลด ต้นทุนไปในตัว
ส่วนโรคและแมลงก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญว่าผลผลิตจะมีคุณภาพพอที่จะสามารถส่งออกได้หรือไม่ ซึ่งผักแต่ละชนิดก็จะมีโรคและแมลง และฤดูกาลที่แมลงเข้ามาต่างกันออกไป อย่างเช่น ในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ก็จะเจอเพลี้ยอ่อนในโหระพา จะเจอราสนิมขาวในผักบุ้งจีน ในช่วงเข้าฤดูฝนหรือประมาณกรกฎาคม เป็นต้น
จะมีการฉีดทั้งสารเคมีและสารชีวภาพสลับกันไป โดยสารชีวภาพไล่แมลงของทางกลุ่มจะนำหางไหลแดง ยูคาลิปตัส ตะไคร้หอม ข่า ทุเรียนเทศสด สาบเสือ ยาสูบ ขี้เหล็ก สะเดา (ไทย) และแสยก มาทำการหมักและฉีดพ่นไล่แมลง
ขั้นตอน การปลูกโหระพา
ทางกลุ่มจะมีการปลูกพืชแตกต่างกันออกไปและส่งให้ไปตามจุดต่างๆโดยจุดของคุณชะม้อยมีพืชหลักๆ อยู่ 6 ชนิด คือ โหระพา กระเพรา ผักบุ้งจีน แพว แขยง และชะอม
–การเตรียมกล้าปลูก
กล้าโหระพาสามารถเตรียมกล้าได้ 2 วิธี โดยการเพาะใส่แปลงแล้วย้ายปลูก ส่วนอีกวิธี คือ การเพาะใส่ถาด ซึ่งอายุของกล้าที่เหมาะสม ในฤดูฝนจะย้ายปลูกได้เมื่อต้นกล้ามีอายุได้ 21 วัน และในฤดูหนาวจะสามารถย้ายปลูกได้เมื่อต้นกล้าอายุได้ 20 วัน
–การปลูก
การเตรียมดิน ขนาดของแปลงจะต้องกว้าง 8 เมตร ยาว 40 เมตร โดยจะใช้ปุ๋ยหมัก 60 กิโลกรัม หรือ 5.5 ตารางเมตร ต่อ 1 กิโลกรัม และใช้ปูนขาว 20 กิโลกรัม หรือ 16 ตารางเมตร ต่อ 1 กิโลกรัม
ระยะการปลูกจะต้องใช้ประมาณ 30×50 เซนติเมตร โดยโหระพาสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ถ้าปลูกในฤดูฝนจะต้องระวังเรื่องโรคพืช และไม่สมควรปลูกซ้ำในที่เดิม ยกเว้นเป็นที่ดินที่ไม่เคยปลูกพืชมาก่อน
–การเก็บเกี่ยวโหระพา
ระยะการเก็บเกี่ยวโหระพาจะอยู่ที่ประมาณ 6 เดือน แต่ถ้าบำรุงดีก็สามารถเก็บผลผลิตได้ถึง 1 ปี โดยจะต้องให้ปุ๋ยชีวภาพบ่อยๆ
ซึ่งมาตรฐานผักโหระพาที่สามารถส่งออกต่างประเทศได้ ประกอบด้วย
1.ความสูงของกิ่งที่ตัด มีขนาดเท่ากัน 35 เซนติเมตร
2.จากช่อดอกถึงดอก ขนาด 15 เซนติเมตร
3.กิ่งมีขนาดไม่เล็กและไม่ใหญ่เกินไป
4.ไม่มีใบเลี้ยงในช่วงล่าง
5.ไม่มีรูพรุน
โหระพาในพื้นที่ 1 งาน จะสามารถให้ผลผลิต 100 กิโลกรัม ต่อสัปดาห์ หรือประมาณ 400 กิโลกรัม ต่อเดือน ดังนั้นในพื้นที่ 1 งาน จะสามารถเก็บผลผลิตได้ถึง 3.2 ตัน ต่อรอบการปลูก
–การป้องกันกำจัดโรคและแมลง
-ฤดูร้อน มักพบเพลี้ยไฟ
-ฤดูฝน มักพบเชื้อราจุด และราน้ำค้าง
-ฤดูหนาว มักพบเพลี้ยอ่อน และตั๊กแตน
แนวทางการป้องกันและกำจัดโรคและแมลง
-เมื่อเก็บเกี่ยวแต่ละครั้งควรทำการพ่นยาและใส่ปุ๋ย
-ใช้น้ำส้มควันไม้ในการป้องกันแมลงศัตรูพืช
-ใช้เชื้อราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) ผสมน้ำฉีดฆ่าแมลง
ด้านตลาดผัก ทั้งในและต่างประเทศ
นี่คือส่วนหนึ่งของผักที่ปลูกเพื่อส่งออกให้กับต่างประเทศ
ในแต่ละฤดูกาลการผลิตผักของกลุ่มจะต้องมีการพูดคุยปรึกษากับทางบริษัทผู้ส่งออกว่ากลุ่มจะสามารถผลิตผักชนิดใดได้บ้าง และแต่ละชนิดจะสามารถส่งได้ในปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งจะพิจารณาจากสมาชิกแต่ละรายว่ามีข้อจำกัดและศักยภาพในการผลิตเป็นอย่างไร ประกอบกับธรรมชาติของผักแต่ละชนิด ซึ่งบางฤดูก็ให้ผลผลิตเยอะ และบางฤดูก็ให้ผลผลิตที่น้อยมาก
และในระยะหลังการส่งออกผักได้นั้น ทั้งผู้ผลิตและโรงคัดบรรจุจะต้องผ่านกระบวนการจัดการให้เป็นไปตามขั้นตอน ภายใต้ระบบ EL (Establishment List) หรือที่เรียกว่า มาตรการควบคุมพิเศษ และจัดทำบัญชีรายชื่อโรงคัดบรรจุ
โดยการผลิตผักในจุดของคุณชะม้อยจะส่งผักเฉลี่ยอยู่ที่ 30-40 กิโลกรัม ต่อบ้าน ซึ่งรวมๆ แล้วจะมีผลผลิตออกสู่ลูกค้าประมาณวันละ 300-400 กิโลกรัม และทางจุดจะหยุดในวันจันทร์-อังคาร ส่วนนอกเหนือจากนี้ก็จะส่งผลผลิตตามปกติ
ตลาดที่สำคัญของกลุ่มที่เป็นบริษัทส่งออกไปยังประเทศในสหภาพยุโรป ในปัจจุบันมีบริษัทรับซื้อผลผลิตผักจากกลุ่มทั้งสิ้น 5 บริษัทหลัก ได้แก่ บริษัท พีดีไอ เทรดดิ้ง จำกัด, บริษัท ชัชวาลย์ จำกัด, บริษัท ธนสาร จำกัด, บริษัท อริสา จำกัด, บริษัท กำแพงแสน ยูเนี่ยน เพรช ฟาร์ม จำกัด และส่วนอีก 2 บริษัท ที่มีการซื้อขายบ้าง ได้แก่ บริษัท ไทยฟู้ด จำกัด และบริษัท ไทยพัฒนา จำกัด
การจำหน่ายผลผลิตผัก
กลุ่มจะมีการกำหนดราคากับบริษัทรับซื้อเป็นรายปี เช่น ผลผลิตผักในจุดของคุณชะม้อยมีการขายผักแพว แขยง โหระพา กระเพรา ในราคากิโลกรัมละ 25 บาท ผักบุ้งจีนกิโลกรัมละ 30 บาท ชะอมราคากิโลกรัมละ 50 บาท เป็นต้น
สมาชิกทั้งหมดที่ชัดเจนประมาณ 20 ราย ปลูกผักในพื้นที่ 30 ไร่ เฉลี่ยประมาณ 1,000 กิโลกรัม ต่อสัปดาห์
บริษัทจะจ่ายเงินผ่านบัญชีกลุ่มเป็นรายสัปดาห์ (เป็นการจ่ายแบบรอบต่อรอบ) ทางกลุ่มจะมีการหักค่าบำรุงจากสมาชิกที่ขายผัก 3-5 บาท ต่อกิโลกรัม เพื่อใช้ในการบริหาร เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าบำรุงโรงรวบรวมผัก และจะใช้เพื่อการศึกษาดูงานบ้าง
โดยรายได้ของแต่ละบุคคลในกลุ่มจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณไม่ต่ำกว่าเดือนละ 15000 บาท ได้สูงสุดเกือบๆ 30,000 บาท ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของแต่ละบุคคล
คุณชะม้อยเล่าว่า “ต้องดูว่าเรามีพื้นที่พร้อมที่จะปลูก แล้วก็รวมกลุ่มกัน เพราะการรวมกลุ่มมีข้อดี คือ ต่อรองราคาได้ พืชสามารถปลูกได้ทั้งปี คือ สามารถทดแทนคนที่ขาดผลผลิตได้ ไม่ต้องมีแรงงานก็ทำได้ คือ จำเป็นต้องรวมกลุ่มกันให้ได้ก่อน เพื่อที่ตลาดจะได้มารับเราจุดเดียว”
ขอขอบคุณ กลุ่มปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ ตำบลสิงหนาท คุณชะม้อย สายด้วง ที่อยู่ 69 หมู่ 5 ต.สิงหนาท อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา 13230 โทร.08-1848-2585
การปลูกโหระพา การปลูกโหระพา การปลูกโหระพา การปลูกโหระพา การปลูกโหระพา การปลูกโหระพา การปลูกโหระพา การปลูกโหระพา การปลูกโหระพา การปลูกโหระพา การปลูกโหระพา การปลูกโหระพา การปลูกโหระพา การปลูกโหระพา การปลูกโหระพา การปลูกโหระพา การปลูกโหระพา การปลูกโหระพา การปลูกโหระพา การปลูกโหระพา