เมื่อ “ไฟฟ้า” กลายเป็นปัจจัยหลักของการดำรงชีวิต จึงมีการเสาะหา “เชื้อเพลิง” ต่างๆ เพื่อผลิตไฟฟ้า
หากแต่เชื้อเพลิงตามธรรมชาติเริ่มลดน้อยลงทุกที ไม่ว่าจะ เป็น ก๊าซธรรมชาติ และถ่ายหิน เป็นต้น
ขณะที่ “เชื้อเพลิงสะอาด” อย่าง ลม แสงแดด และน้ำ ยังไม่สามารถผลิตได้เพียงพอสำหรับความต้องการปัจจุบัน
ส่วนพลังงานนิวเคลียร์ แม้จะได้รับความนิยม และพิษสงทางลบของมันร้ายแรงมหันต์
โดยเฉพาะเหตุการณ์ สึนามิถล่มญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่ปีก่อน ทำให้คนญี่ปุ่น และทั่วโลก หวาดกลัวเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชนิดนี้มาก
ญี่ปุ่นจึงต้องหาพลังงานทางเลือกที่ปลอดภัยเพื่อทดแทน
หนึ่งในนั้นคือ “พลังงานชีวมวล”
แต่ละปีประเทศแดนอาทิตย์อุทัยแห่งนี้ ต้องนำเข้า “วู๊ดชิพ” จากประเทศแคนาดากว่า 270,000 ตัน/ปี ซึ่งเป็นไม้ที่เกิดจาก ไม้เชิงพาณิชย์ ปลูกเพื่อป้อนการผลิตไฟฟ้าโดยเฉพาะ
แต่เมื่อความต้องการผลิตไฟฟ้ามีสูงขึ้น ประเทศญี่ปุ่นจึงเสาะหาและสำรวจเชื้อเพลิงจากไม้ชนิดอื่นเพื่อทดแทนความต้องการมนอนาคต ที่ความต้องการ 1.3 ล้านตันในปี 2019
เชื้อเพลิงที่ญี่ปุ่น ส่องแว่นโฟกัสมากที่สุด คือ ไม้ยางพารา จากประเทศไทยนั่นเอง
แต่ปัญหาที่กลายเป็น “หอกข้างแคร่” ของอุตสาหกรรมไม้ยางมาตลอด คือ การถูกมองว่าเป็นไม้ที่เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า ต่างจาก ไม้เชิงพาณิชย์ จากต่างประเทศ
นี่เองที่ทำให้ ไม้ยางไทยไม่สามารถ “ติดปีก” โบยบินสู่อุตสาหกรรมกรรมไม้โลกได้
แต่ปัญหาดังกล่าวกำลังจะหมดไปเมื่อ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรือ สกย. กำลังจะสร้างความกระจ่างแจ้งเรื่องความบริสุทธิ์ ของไม้ยางพาราไทย
นายเชาว์ ทรงอาวุธ รองผู้อำนวยการ สกย. และโฆษก สกย. เดิม ปัจจุบัน เป็นส่วนหนึ่งของการยางแห่งประเทศไทย เผยถึงประเด็นดังกล่าวว่า มีโอกาสร่วมหารือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจากกระทรวงพาณิชย์ และ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ “เจโทร กรุงเทพฯ” เพื่อหารือในการรับรองเรื่องของการนำเศษไม้ยางพารา และ ขี้เลื่อย จากไม้ยางพาราเข้าสู่กระบวนการอัดก้อน ทำเป็นถ่าน เพื่อนำส่งขายไปประเทศญี่ปุ่นในการนำไปสู่การสร้างพลังงานชีวมวล
ทั้งนี้จากการหารือ พบว่า รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานทางเลือกนอกเหนือจาก “พลังงานนิวเคลียร์”
ขณะนี้ทางญี่ปุ่นเองมีการนำเข้าไม้อัดจากประเทศแคนาดาเป็นหลัก และในประเทศไทยเอง มีภาคเอกชนหลายแห่งที่กำลังดำเนินธุรกิจโรงงานชีวมวล
แต่ทั้งนี้ การส่งวัตถุที่เป็นถ่านอย่างไม้ยางพาราไปขายที่ประเทศญี่ปุ่น ยังคงติดประเด็นปัญหาเรื่องการรับรองไม้ยางที่นำไปทำเป็นผงถ่าน เป็นไม้ยางที่ถูกต้อง ไม่ได้เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า
เพราะฉะนั้นทาง ในฐานะองค์กรที่ให้การดูแลและส่งเสริมให้การสงเคราะห์การปลูกยางพารากับภาคเกษตรกรโดยตรง มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนการรับรองแหล่งที่มาของไม้ยางพารา ว่าเป็นไม้ที่มาจากการปลูก ไม่ได้มาจากไม้ป่าธรรมชาติ
“ผมคิดว่า เป็นแนวทางหนึ่งหรือทางเลือกหนึ่งของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงผู้ประกอบการภายในประเทศที่คิดจะทำเรื่องของธุรกิจไม้ยางพาราไม่ว่าจะเป็นกิ่ง เศษไม้เล็กๆ รากไม้ยาง เอามาบดเพื่อที่จะไปทำเป็นถ่านอัดก้อนส่งไปขาย ทำให้เกษตรกรมีโอกาสเพิ่มรายได้ในการขายเศษไม้ยางที่ขายไม่ได้ราคา ซึ่งส่วนมากจะทำลายด้วยการเผาทิ้ง ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ และภาคเอกชน ได้มีโอกาสทำธุรกิจขายพลังงานชีวมวลให้กับต่างประเทศ นับว่า เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี”
นางอุมาพร ฟูตระกูล ผู้แทนกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นหนึ่งในหลายๆ โครงการจากความร่วมมือการเจรจาทางธุรกิจร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น การส่งเสริมสินค้า “วู้ดพาเลท” ไปยังประเทศญี่ปุ่น เป็นโครงการที่มีความเป็นมาจากกรณีเหตุการณ์โรงงานผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นระเบิด ทำให้โรงงานก็มีจำนวนลดลง ส่งผลต่อการผลิตกำลังไฟฟ้าภายในประเทศ ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจึงหันมาส่งเสริมโรงงานผลิตไฟฟ้าแบบชีวมวลมากขึ้น
ปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นได้มีการนำเข้าไม้จากประเทศแคนาดาโดยส่วนใหญ่ และผลิตใช้เองในประเทศ แต่จะเป็นรูปแบบของ “วู้ดชิพ” เป็นเศษไม้จริงๆ ที่ได้จากการปลูกเพื่อตัดมาทำเป็นพลังงานโดยเฉพาะ ประกอบกับแนวโน้มของโลกที่ต้องการจะลดมลภาวะ จึงทำให้มีการส่งเสริมการตั้งโรงงานไฟฟ้าและผลิตโดยชีวมวล
ทั้งนี้ ชีวมวล จะมีวัตถุดิบที่นำมาเผาเป็นเชื้อเพลิงก็มีหลายแบบ ประเทศไทยมองเห็นว่าขณะนี้ ยางพารามีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ ดังนั้น รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญในการจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตนี้ได้อย่างไร
ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จึงมองเห็นว่าผู้ประกอบการไทยมีความสนใจที่จะผลิตวู้ดพาเลทจากเศษไม้ยางพารา
ที่ผ่านมา ไม้ยางพาราที่มีการโค่นแล้วในส่วนที่เหลือก็ต้องมีการเผา ทำให้เกิดมลภาวะในอากาศ หากเอาเศษไม้ยางพารามาใช้ประโยชน์ โดยการนำมาอัดแท่งเป็นขี้เลื่อย จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา และสร้างรายได้ทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการต่อไป
นางอุมาพร กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการนำเข้าวู้ดพาเลทไปประเทศญี่ปุ่น จะต้องมีกฎระเบียบ โดยเฉพาะเรื่องใบรับรองแหล่งที่มาของไม้ เพราะกฎหมายของทางญี่ปุ่น ได้มีการระบุว่า ไม้ที่นำมาทำนั้น ทำมาจากเศษไม้ยางพาราและไม่ได้นำมาจากการตัดไม้ทำลายป่า แต่เป็นป่าที่ต้องมีการปลูกทดแทนอยู่แล้ว เนื่องจากหมดสภาพ
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่จะให้การรับรองในส่วนนี้ได้ จะต้องให้ทาง สกย. พิจารณา เพื่อส่งเสริมและอุดหนุนเกษตรกรชาวสวนยาง และคิดว่า สกย. จะเป็นไฟสว่างให้ไปเจอทางออกของเศรษฐกิจให้ได้ขณะนี้
ข้อกังวลเดียวคือ ใบรับรอง สำหรับช่องทางการตลาด กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ดำเนินการไว้แล้ว
ทั้งนี้ ในปี 2015 ประเทศญี่ปุ่น มีความต้องการวู้ดพาเลทประมาณ 270,000 ตัน และในปี 2019 มีความต้องการสูงถึง 1.3 ล้านตัน ที่ผ่านมา
ผู้ประกอบการของไทยมีความตื่นตัวและกำลังเร่งสร้างโรงงานประมาณ 50 แห่งในภาคใต้ เพราะภาคใต้เป็นภาคที่ปลูกยางพาราเป็นหลัก โดยมีการส่งขายภายในประเทศ แต่หากการเจรจาครั้งนี้ทางญี่ปุ่นยอมรับการรับรองการนำเข้าดังกล่าวได้ จะช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น
ด้าน นายโยชิอะกิ โยเนะยะมะ ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมือทางการค้า เจโทร กรุงเทพฯ ให้ข้อมูลว่า เจโทร มีหน้าที่ในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก เจโทร ยังให้ความสำคัญในการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการพร้อมกันด้วย การเจรจาธุรกิจในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ประกอบของต่างประเทศ (ญี่ปุ่น) และผู้ที่จะส่งออกของชาวไทย ซึ่งมีความต้องการซื้อ และขายวัตถุดิบที่จะนำไปสู่การผลิตพลังงานไฟฟ้า ที่เรียกว่า พลังงานชีวมวล จึงเป็นบทบาทของเราที่มีหน้าที่ติดต่อประสานงาน เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีในการทำธุรกิจระหว่างผู้นำเข้า และส่งออกของประเทศ
แต่อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาหารือครั้งนี้ มีประเด็นการรับรองผลิตผลทางการเกษตรเป็นไม้ยางพาราสามารถกระจ่างได้อย่างชัดเจน ทางเจโทรจะเร่งกลับไปดำเนินการให้กระบวนการต่างๆ นั้น สามารถดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น เพราะเรามีข้อมูลอยู่แล้วว่าบริษัทเทรดดิ้ง ที่ต้องการใช้วู้ดพาเลทมีกี่แห่ง ที่ใดบ้าง จึงเป็นโอกาสดีที่จะทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นจริงในเวลาอันรวดเร็วได้ เพราะทางญี่ปุ่นจะรู้สึกจะดีใจมาก หากสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรชาวไทย และทำให้การนำเข้าเป็นประโยชน์ของผู้ประกอบการทั้งสองฝ่ายด้วย
tags: ไม้ยางพารา ส่งออก ญี่ปุ่น 1.3 ล้านตัน ผลิตไฟฟ้า ชีวมวล เชื้อเพลิงชีวมวล ไม้ยาง ไม้ยางพารา ยางพาราผลิตไฟฟ้า ไม้ยางพาราส่งออก ส่งออกไม้ยางพารา ยางพารา ยาง
[wpdevart_like_box profile_id=”112152085551102″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]