การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ แบบ YoungSmartFarmer
เกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ YoungSmartFarmer ยัง สมาร์ท ฟาร์มเมอร์ เป็นเรื่องของเกษตรกรที่เริ่มต้นประกอบอาชีพด้านการเกษตรทั้งพืชและสัตว์ เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีความเก่งกว่าเกษตรกรผู้ใหญ่รุ่นเก่า หรือเก่งกว่าเกษตรกรอาวุโสปัจจุบัน ซึ่งเขาเหล่านั้นจะเข้ามาทดแทนเกษตรกรรุ่นเก่าได้แน่นอน โดยเกษตรกรรุ่นใหม่มาจากหลากหลายสาขา เช่น สาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกร นิติศาสตร์ก็มี หรือช่างคอมก็มี
เช่นเดียวกันกับ คุณปรเมนทร์ ประมะโข หรือคุณต้น หนุ่มน้อยวัย 22 ปี และคุณเบญจวรรณ อาจสุวรรณ หรือคุณจูน สองสามีภรรยา แต่สนใจใฝ่ศึกษา อยากรู้ อยากเห็น อยากได้ ต้องการสานต่ออาชีพของพ่อ เขาอดทนทำงานรับจ้างเป็นช่างคอมได้เพียงปีเดียวจำต้องลาออกจากงานมาทำการเกษตร ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ สร้างครอบครัว โดยใช้ตลาดนำสินค้า ออกหาสำรวจตลาดก่อน จึงหันมาศึกษาว่าจะปลูกหรือจะเลี้ยงอะไร จนได้เข้าร่วมกลุ่ม YSFในนาม “ประจักษ์ฟาร์ม” ที่อยู่ 27 หมู่ 6 บ้านเหล่ากาชาด ต.โพธิ์ทอง อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด 45000 โทร.098-630-4709
ทีมงานนิตยสารสัตว์บกได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณต้นถึงความเป็นมา ทำไมวัยแค่นึ้จึงคิดต้องการทำการเกษตร ไม่ไปทำอาชีพอื่นเหมือนคนวัยเดียวกัน คุณต้นเล่าว่าผมเรียนจบช่างคอมพิวเตอร์ ระดับ ปวส. จบมาก็ไปทำงานรับจ้างเป็นซ่อมคอมประมาณ 1 ปี แต่ตัวเองชอบทำงานแบบอิสระ ก็ลาออกมาช่วยครอบครัวทำงานการเกษตรที่บ้าน เพราะที่บ้านจะทำมะม่วงอกร่องนอกฤดูจำหน่ายตลาดอยู่แล้ว
จุดเริ่มต้นการเลี้ยงไก่ไข่
ทำไมถึงว่า ไก่ไข่อารมณ์ดี? คุณต้นเล่าว่า ไก่ไข่อารมณ์ดีเกิดจากการที่เราเลี้ยงแบบปล่อยให้ได้ลงมาเล่น มาคุ้ยเขี่ยหากินใบไม้ ใบหญ้า ตามธรรมชาติ ถึงแม้ว่าเราจะมีเล้าให้ไก่อยู่ แต่เราก็จะปล่อยให้ไก่ลงมาวิ่งเล่นตามธรรมชาติใต้ต้นมะม่วงที่เราทำนอกฤดู กิจกรรมประจำวันของไก่ เวลาไก่กินอาหารบนเล้าอิ่มแล้วเขาก็จะวิ่งลงมาเล่นตามพื้นดิน ใต้ต้นมะม่วงอย่างมีความสุข ทำให้เขาอารมณ์ดี
คุณต้นเล่าว่า “ที่บ้านจะทำการเกษตรทำสวนมะม่วงอกร่องนอกฤดูส่งตลาด ซึ่งสวนมะม่วงจำเป็นต้องมีปุ๋ยมาใส่เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี เพราะการปลูกพืชนอกฤดูต้องดูแลใส่ใจเป็นอย่างดี ปุ๋ยก็ต้องให้อย่างเหมาะสม ดังนั้นเราก็ต้องหาปุ๋ยขี้ไก่มาใส่ เพราะปุ๋ยขี้ไก่จะมีธาตุอาหารที่เหมาะกับมะม่วง
โดยหาซื้อตามฟาร์มไก่เนื้อ ไก่ไข่ ที่รับจ้างเลี้ยงให้กับบริษัทใกล้บ้าน หลังจากที่ผมได้เข้ามาช่วยงานที่บ้านก็เริ่มคิดหารือกันว่า เราน่าจะเลี้ยงไก่เพื่อเอาปุ๋ยหรือเอาขี้มาใส่ต้นมะม่วง ไข่ไก่ก็ขายได้ เพิ่มรายได้อีกด้วย เพราะก่อนหน้านั้นผมก็ได้ไปอบรมการเลี้ยงไก่ไข่ที่เป็นของรัฐบาล คือ โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ หน่วยงานรัฐได้ให้ไก่มาบ้านละ 5 ตัว เป็นไก่ไข่อายุ 6 สัปดาห์ ไก่ 5 ตัว ออกไข่ทุกวัน แต่เราไม่ได้กินทุกวัน ไข่ก็เหลือได้ขาย
ทำให้เราได้เห็นว่าการเลี้ยงไก่ไข่น่าจะสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกด้วย และจากมีประสบการณ์ที่เลี้ยงไก่ 5 ตัวของรัฐ ครอบครัวเราน่าจะเลี้ยงไก่ไข่ได้ และได้ขี้ไก่ไปใส่ต้นมะม่วง และไม่ต้องไปซื้อขี้ไก่จากที่อื่นเป็นการเพิ่มต้นทุน”
สภาพพื้นที่เลี้ยงไก่ไข่
จากนั้นคุณต้นก็เลยได้ไปศึกษาหาความรู้เรื่องการเลี้ยงไก่ไข่อย่างจริงจัง ศึกษาค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ต ก็พบว่ามีคุณลุงคนหนึ่งท่านเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดีแบบปล่อยในสวนลำไย ส่วนเราก็มีสวนมะม่วงน่าสนใจมาก จึงศึกษามาระยะหนึ่ง ต่อมาก็ลงทุนสร้างโรงเรือน โดยใช้ไม้หรือวัสดุที่มีอยู่ในบ้านมาทำโรงเรือนยกพื้นสูง แล้วสั่งไก่แม่สาวมาเลี้ยง (สั่งซื้อมาจากแถวอยุธยา) เริ่มที่จำนวน 200 ตัวๆ ละ 180 บาท มาเลี้ยงต่อประมาณ 1-2 อาทิตย์ ก็เริ่มออกไข่
ด้วยความที่เป็นเด็กหนุ่ม ช่างอยากรู้ อยากเห็น ขอบศึกษาเรียนรู้อยู่ตลอด ทำให้คุณต้นเริ่มศึกษาและเก็บข้อมูล จึงทำให้ผมรู้ว่าผลผลิตของแม่ไก่ไม่คุ้มทุนกับการซื้ออาหารถุงมาเลี้ยงไก่ในจำนวนเท่านี้กับราคาไข่ที่ขายได้ไม่คุ้มทุน
“จากการศึกษาและเก็บข้อมูล ผมเริ่มรู้ว่าผลผลิตของแม่ไก่ “ไม่คุ้ม” กับค่า “หัวอาหาร” เพราะการเริ่มเลี้ยงแรกๆ จะได้ไข่ไก่ที่มีขนาดเล็ก ราคาต่ำ ยกตัวอย่างเช่น ไก่ 200 ตัว ให้ไข่ 180 ฟอง = 6 แผง (ไซส์จิ๋ว) ไข่ไซส์จิ๋วราคาขายแผงละ 50-60 บาท 6×55 = 320 ใน 1 วัน ไก่ 200 ตัว กินหัวอาหารวันละประมาณ 30 กิโลกรัม (กระสอบละ 430 บาท 30/430 = กิโลกรัมละ 14 บาท 14×30 = ค่าหัวอาหารต่อวัน 420 บาท เราเลยคิดว่าต้องหาวิธีลดต้นทุนอาหาร เพราะการเลี้ยงไก่ต้นทุนหลัก 70-80% คือ ค่าอาหาร ส่วนค่าโรงเรือนก็ใช้วัสดุที่มีในบ้าน หาได้ง่าย ไม่ลงทุนมาก
การให้อาหารไก่ไข่ แบบ YoungSmartFarmer
คุณต้นเล่าต่อว่า “สำหรับอาหารที่ให้เริ่มแรกผมก็จะซื้ออาหารของบริษัทเป็นกระสอบมาให้กิน เลี้ยงไปสักพักเริ่มรู้สึกว่ามันไม่คุ้มทุน ไข่ที่ได้กับอาหารที่กิน ทำให้ผมเริ่มศึกษา และจากนั้นก็ลดลงอาหารถุงลงเรื่อยๆ จนเหลือ 30% อีก 70% จะเป็นอาหารที่หาได้จากท้องถิ่น และเสริมพวกพืชผักที่ได้มาจากตลาด เพราะเราจะเอาพืชสวนครัวไปขายที่ตลาดเป็นประจำทุกวัน
ซึ่งตรงนี้เราก็จะได้ผักสดที่เขาขายไม่หมด เราซื้อเหมามาในราคาถูกๆ ให้ไก่กินเสริม และได้ต้นกล้วยที่เราปลูกไว้ตามสวน เวลาตัดกล้วยขาย ต้นกล้วยก็จะถูกตัดทิ้ง เราก็จะเอามาสับให้ไก่จิกกิน ต้นกล้วยหรือหยวกกล้วยเหมือนเป็นยาเย็น ไก่ได้กินก็จะอารมณ์ดี ไม่เครียด “ไข่ไก่ที่ได้ถือว่าเป็นผลพลอยได้มากกว่า หลักๆ คือ เราต้องการขี้ไก่ไปใส่มะม่วงโชคอนันต์ และน้ำดอกไม้นอกฤดู ซึ่งจะเป็นรายได้หลักของครอบครัว ซึ่งมีสวนมะม่วง 2 ไร่”
ลดอาหารถุงของบริษัทลงเหลือแค่ 30% อีก 70 % แล้วใช้อะไรแทน คุณต้นเล่าว่าเนื่องจากต้นทุนอาหารที่สูง ขณะเดียวกันราคาขายไข่ไก่ก็ไม่ได้มีกำไรมากมายนัก แต่ที่เราเลี้ยงไก่ก็เพื่อเอาขี้ไก่ ดังนั้นอาหารที่เราให้ไก่กินจึงปรับเปลี่ยนจากอาหารถุงของบริษัทลดลงเรื่อยๆ แต่เสริมอาหารประเภทอื่นแทน ผมจึงได้ค้นคว้าหาความรู้จากหลายๆ ทาง จึงได้สูตรมันหมักยีสต์ที่ประยุกต์มาใช้กับไก่ไข่ของผม ผมได้ทดลองใช้มาได้ 4 เดือนแล้ว (เริ่มให้ผสมกับหัวอาหารตั้งแต่เริ่มไข่) ผลที่เห็นได้ชัด คือ อาหารถุงบริษัทเคยให้ 100 % ลดลง 70% เหลือประมาณ 30% แม่ไก่ให้ไข่ลดลง 10-15 ฟองต่อวัน
ซึ่งถ้าเทียบกับค่าอาหารบริษัทที่ซื้อมาให้ไก่กินแบบ 100% กับราคาที่ขายไข่ได้มันคุ้มทุนกว่า ต้นทุนจะลดลงประมาณเกือบ 200 บาท และจากต้นทุนก็จะกลับมาเป็นกำไรเกือบ 200 บาท เพราะหลักๆ ที่เราเลี้ยงไก่ คือ ต้องการขี้ไก่ใส่สวนมะม่วงมากกว่า สำหรับอาหารที่เราลดลงจากอาหารถุงของบริษัทเหลือเพียง 30% อีก 70% เราจะเสริมด้วยอาหารมันหมักยีสต์ 50%+ปลายข้าว 10%+รำ 10%
ขั้นตอนการทำกากมันหมักยีสต์
ส่วนผสม
- กากมันประมาณ 1.2 ตัน
- กากน้ำตาล 10 ลิตร
- ปุ๋ยเร่งสูตร 5 กก.
- ยีสต์ 1 ก้อน 500 กรัม
- น้ำตาลทรายแดง 1 กก.
วิธีทำ
1.การขยายยีสต์ ละลายน้ำตาลทรายแดงกับน้ำเปล่า 10 ลิตร ในถังขนาด 20 ลิตร แล้วเทผงยีสต์ลง 10-15 นาที คนให้เข้ากัน เมื่อยีสต์ขยายตัวจะเห็นฟองเต็มถัง
2.เตรียมน้ำในอ่างปูนประมาณ 200 ลิตร เทกากน้ำตาลและปุ๋ยยูเรียลง แล้วคนให้เข้ากัน
3.นำยีสต์ที่ขยายแล้ว (1) เทผสมในอ่างปูนที่เตรียมไว้ (2) คนให้เข้ากัน แล้วรอให้ยีสต์ขยายตัวอย่างน้อย 1 ชม. หรือเปิดเครื่องออกซิเจน
4.ตักกากมันใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ แล้วตักน้ำหมักยีสต์ใส่ให้ทั่วถึง
5.ปิดกากมันที่หมักไม่ให้อากาศเข้า หมักอย่างน้อย 14 วัน (ยิ่งหมักนาน โปรตีนยิ่งสูง)
การบริหารจัดการและดูแลไก่ไข่
การดูแลการจัดการ ไก่ที่ปล่อยตามสวนมะม่วงทำให้ไก่สุขภาพแข็งแรง “ผมว่าเลี้ยงปล่อยแบบให้ไก่ได้ออกมาวิ่งเล่นตามธรรมชาติของไก่ คุ้ยเขี่ยดิน กินใบไม้ ใบหญ้า ทำให้ไก่สุขภาพแข็งแรง ทนต่อโรค อากาศเปลี่ยน เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว ก็ไม่ใช่ปัญหา แต่ช่วงแรกที่ไก่มาใหม่รู้สึกยังสุขภาพไม่ค่อยจะแข็งแรง
แต่พอมาปรับตัวได้ก็สุขภาพแข็งแรงมากขึ้น และเราก็ปล่อยให้วิ่งเล่นตามสวนใต้ต้นมะม่วง ไก่ก็จะได้จิกกิน ได้วิ่งเล่นกันตามประสา ไก่ก็เริ่มแข็งแรง สุขภาพเขาก็ดี การจัดการเรื่องโรคอะไรก็ไม่มี พื้นที่ตรงนี้เราไม่เคยเลี้ยงสัตว์ปีกหรือสัตว์อื่นมาก่อน มีแต่ปลูกพืช พอมาเลี้ยงไก่คิดว่าทำให้พื้นดินตรงนี้จึงปลอดโรคครับ แต่เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจดูแลเอาใจใส่เขาให้ดี ให้วิตามิน วัคซีนตามกำหนดเหมือนเดิม” คุณต้นกล่าวอย่างมีความสุขเช่นกัน
ด้านตลาดและการจำหน่ายไข่ไก่ และพืชผักสวนครัวอื่นๆ
สำหรับตลาดไข่ไก่ก็ไม่เป็นปัญหา คุณต้นเล่าว่าเนื่องจากที่บ้านจะไปขายพืชผักสวนครัวตามตลาดนัดเป็นประจำ พอเรามีไข่ก็นำไปขายด้วย ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเขาจะรู้ว่าบ้านเราเลี้ยงไก่อารมณ์ดี เป็นไก่ไข่ที่เลี้ยงปล่อยตามสวนมะม่วง เขาก็จะมาซื้อเป็นประจำ บางทีก็แวะมาซื้อที่บ้านเลย ขายหมดทุกวัน เราจะไม่เก็บไปขายทุกวัน ราคาขายตามราคาตลาด น้ำหนักไข่ก็ใช้ตาชั่ง เนื่องจากจำนวนไข่ไม่มาก ใช้เวลาว่างในการชั่งไข่ทำให้เรามีกิจกรรมทำร่วมกันในครอบครัวอีกด้วย YoungSmartFarmer YoungSmartFarmer YoungSmartFarmer
“ตอนนี้ผมเข้ากลุ่ม ได้รับการอบรม และก็นำมาปรับใช้ในครอบครัว เช่น เริ่มการเกษตรผสมผสาน เดิมพ่อจะปลูกแต่มะม่วงอย่างเดียว ตอนนี้ผมเข้ามาช่วยงาน ก็เริ่มปลูกพืชผักสวนครัว มะเขือ มะเขือพวง ดอกขจร ถั่วฝักยาว โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น ทำผักในโรงเรือน ทำน้ำระบบท่อ และตอนนี้ก็กำลังศึกษาว่า ผักอะไรบ้างที่ทนโรค แมลง แต่อย่างไรก็ดีผมจะมองตลาดก่อนว่าความต้องการของตลาดเป็นอย่างไร ปลูกผักอะไรที่ให้ราคาสูงในช่วงนอกฤดู จะทำตลาดนำ” กล่าวตอนท้าย
ขอขอบคุณ คุณปรเมนทร์ ประมะโข (คุณต้น), คุณเบญจวรรณ อาจสุวรรณ (คุณจูน) ประจักษ์ฟาร์ม ที่อยู่ 27 หมู่ 6 บ้านเหล่ากาชาด ต.โพธิ์ทอง อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด 45000 โทร.098-630-4709