ไข่ไอโอดีน ช่วยสร้างฮอร์โมน “ธัยรอกซิน” เสริมสร้างการเจริญเติบโตของสมองและประสาท

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ถ้าพูดถึงไอโอดีนหรือสารไอโอดีนก็คงจะนึกถึงเกลือกันใช่ไหม ไอโอดีนเป็นอีกตัวหนึ่งที่อยู่ในหมู่เกลือแร่ หรือแร่ธาตุ อย่าได้คิดว่าแร่ธาตุตัวนี้จะไม่สำคัญ เพราะถ้าเราขาดมันขึ้นมาก็ไม่เป็นผลดีแน่ๆ ไอโอดีนหรือสารไอโอดีนนั้น เป็นธาตุเคมีที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ แต่จะมีปริมาณน้อย เช่น อยู่ในทะเล และแน่นอนว่าเราคงจะไม่มานั่งดื่มน้ำทะเล เพื่อให้ได้สารไอโอดีนกันหรอกจริงไหม

ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่าคนที่อยู่แถบภาคเหนือและอีสานจะเป็นโรคคอพอก และเอ๋อ ปัญญาอ่อนกันเป็นส่วนมาก เนื่องจากเป็นที่ราบสูงอยู่ห่างไกลจากทะเล จึงไม่มีโอกาสได้รับประทานอาหารทะเลบ่อยๆไอโอดีนจะพบมากในสัตว์ และพืช ในทะเล เนื่องจากมีสารไอโอดีนอยู่สูง ซึ่งสารไอโอดีนนี้เป็นธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ถึงแม้ว่าจะต้องการเพียงเล็กน้อย แต่ก็ขาดไม่ได้เช่นกัน

เนื่องจากความสําคัญของไอโอดีนต่อร่างกายเป็นส่วนประกอบที่จําเป็นในการผลิตฮอร์โมนของต่อมธัยรอยด์ ซึ่งต่อมธัยรอยด์นั้นจําเป็นต้องใช้ไอโอดีนเพื่อสร้างฮอร์โมน ชื่อว่า “ธัยรอกซิน” ซึ่งฮอร์โมนนี้จําเป็นสําหรับควบคุมการทําหน้าที่และเสริมสร้างการเจริญเติบโตตามปกติของสมองประสาท และเนื้อเยื่อของร่างกาย กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ส่งเสริมรณรงค์ให้รับประทานเกลือไอโอดีน แต่บางครั้งการที่คนเราจะรับประทานแต่เกลือที่เสริมไอโอดีนมากเกินไปจนให้ได้ไอโอดีนตามที่ร่างกายต้องการ ส่วนที่จะได้เกินความต้องการ ก็คือ ความเค็มของเกลือ กลายเป็นว่าได้อย่าง เสียอย่าง

1.เล้าไก่ ไข่ไอโอดีน
1.เล้าไก่ ไข่ไอโอดีน

จุดเริ่มต้นการเลี้ยงไก่ไข่

เมื่อไม่นานมานี้ทีมงานได้มีโอกาสพบกับคุณอ้อ ซึ่งทำไข่ไอโอดีนจำหน่ายในงานวันประชุมใหญ่ของชมรมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทีมงานจึงได้เข้าไปนั่งคุยสอบถามว่าเกิดแนวคิดอย่างไร

คุณอ้อยทิวา โคสมบูรณ์ หรือคุณอ้อ ไข่ไก่ไอโอดีนน้ำเพชรฟาร์ม ตั้งอยู่ 273 ม.1 ต.ตาลเลียน อ.กุดจับ จ.อุดรธานี 4125 คุณอ้อเล่าว่า เริ่มจากแรงบันดาลใจที่ตัวเองตั้งท้อง ก็ไปฝากท้องกับคุณหมอเหมือนคนท้องทั่วๆ ไป แต่คุณหมอได้บังคับให้กินไข่ไอโอดีน ซึ่งอ้อก็ต้องไปหาซื้อไข่ไอโอดีนมารับประทานตามที่คุณหมอท่านแนะนำ แต่ไข่ไอโอดีนที่เราซื้อมารับประทานนั้นมันราคาสูงมาก บอกตรงๆ ว่าอ้อรับไม่ได้ จึงคิดว่าเราก็ร่ำเรียนมาทางด้านนี้อยู่แล้ว (คุณอ้อเรียนจบสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) จะไปกลัวอะไรทำไม เลี้ยงเองเลย เมื่อคิดได้ก็เริ่มทำเล้าไก่ และสั่งไก่ชุดแรกเข้ามาเลี้ยงจำนวน 100 ตัว

2.โปตัสเซียม-ไอโอไดด์
2.โปตัสเซียม-ไอโอไดด์

การให้อาหารไก่ไข่

อาหารที่ให้ก็เป็นอาหารซื้อสำเร็จจากบริษัท แล้วเราก็มาผสมไอโอดีน ซึ่งจะซื้อไอโอดีนมากจากฟาร์มคุณหมอที่อำเภอเพ็ญ คุณหมอท่านนี้ทำ ไข่ไอโอดีน ท่านเป็นหมอที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเราก็จะเข้าไปเป็นเกษตรกรในโครงการกับคุณหมอ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ซึ่งคุณหมอได้ขายหัวเชื้อไอโอดีนให้กับเราซองละ 15 บาท เราก็มองว่าราคามันแพงอยู่เหมือนกัน ก็ได้ปรึกษาพี่ๆ ได้คำแนะว่าเราซื้อโปตัสเซียม ไอโอไดด์ มาผสมกับกากถั่วเหลือง และนำไปผสมอาหาร ต้นทุนก็จะถูกลงกว่าที่เราซื้อซองละ 15 บาท พอเรามาทำเอง ผสมเอง ก็ได้ต้นทุนประมาณซองละ 5 บาท/อาหาร 1 กระสอบ ปริมาณการใช้ที่ตามตำราหรือตามงานวิจัยต่างๆ กำหนดให้ไอโอดีน 30 กรัมต่ออาหาร 30 กิโลกรัม

เมื่อเราผสมให้ไก่กินแล้ว นำไข่ที่ได้ไปส่งตรวจแลบก็ปรากฏว่าได้ผล มีไอโอดีนตามปริมาณที่ต้องการ เหมือนกับที่เราซื้อซองละ 15 บาท เลย เพราะผลการวิจัยของหลายๆ นักวิชาการที่เขาทำการวิจัยเกี่ยวกับ ไข่ไอโอดีน ให้ไก่กินนั้น ปริมาณ ก็คือ ใช้โปตัสเซียม ไอโอไดด์ จำนวน 5.25 กรัม/อาหาร 1 ตัน เมื่อคำนวณย้อนกลับก็ได้ 33 กรัม/อาหาร 30 กิโลกรัม โดยใช้กากถั่วเหลืองเป็นส่วนผสม ส่วนอื่น เช่น กากถั่ว ข้าวโพด รำ จากนั้นก็นำไปทดสอบทางกายภาพ ค่าออกมาก็ได้ตามตำรา ไข่ไก่สดปกติทั่วไปที่ได้รับจากอาหารจะมีไอโดดีนประมาณ 50 มิลลิกรัม

เมื่อนำไปต้มไอโอดีนก็จะหายไปเพราะโดนความร้อน แต่ไข่ไก่สดที่เติมสารไอโอดีนเสริมเข้าไปจะได้ไอโอดีนเพิ่มขึ้นเป็น 170 มิลลิกรัม เมื่อนำไปต้มไอโอดีนจะเหลืออยู่ประมาณ 100-120 มิลลิกรัม ซึ่งเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย

“จากที่เราทำ 100 ตัว เพื่อกินเอง เราได้กินวันละ 10 ฟอง ที่เหลือเราก็ได้ขาย มีคนในหมู่บ้านเขารู้ว่าบ้านเรามีไข่เขาก็มาซื้อ เมื่อเห็นช่องทางการตลาดทำได้ เราก็คงไม่ทำแค่ 100 ตัว กอปรกับช่วงนั้นก็ตั้งท้องอยู่ด้วย เราจึงคิดว่าไหนๆ เราก็จะลาออกจากงานมาเลี้ยงลูก และหาอาชีพทำอยู่ที่บ้านอยู่แล้ว ก็คิดว่าทำฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ไอโอดีนไปด้วย ได้อยู่บ้านเลี้ยงลูกด้วย จากนั้นก็ทำเล้าขนาดความจุ 500 ตัว” คุณอ้อกล่าว

3.ผลผลิตไข่ไก่ไอโอดีน
3.ผลผลิตไข่ไก่ไอโอดีน

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายไข่ไก่ไอโอดีน

คุณอ้อเล่าต่อว่าช่วงที่เริ่มเอาไก่ไข่มาลงเลี้ยง 3-4 เดือนแรก ตลาดก็ลำบากเหมือนกัน เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าบ้านเรามีไข่ไก่ขาย คนที่รู้แต่ก็ไม่รู้ว่าไข่ไก่ไอโอดีนเป็นอย่างไร และที่สำคัญราคาก็แพงกว่าตลาดทั่วไป ช่วงนั้นราคาท้องตลาดก็เริ่มอ่อนตัว แต่เราก็ยังไม่ลงราคา

ด้วยความคิดที่ว่าไข่เราเป็นไข่ไอโอดีน กินอาหารสำเร็จที่ต้นทุนก็สูง อาหารที่ซื้อมาก็ไม่ได้ซื้อมาสต๊อกจำนวนมาก ราคาก็จะสูงกว่าฟาร์มที่เลี้ยงปริมาณเยอะๆ ฟาร์มใหญ่อาหารที่เขาซื้อมาก็จะถูกกว่า ช่วง 4-5 เดือน จึงเป็นปัญหาด้านการตลาดพอสมควร แต่เราไม่ท้อ เดินเอาไข่ไปเร่ขายตามตลาด ไปฝากขายที่สถานีอนามัยประจำหมู่บ้านด้วย ตอนนั้นยังไม่มีแบรนด์ ไม่มียี่ห้อ ออกเร่หายตามตลาดนัดทั่วไป

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ก็มีคำถามมาว่าทำไมขายแพง เราต้องอธิบายว่า “เป็นไข่ไอโอดีน คุณประโยชน์อย่างไร เหมาะกับผู้ที่ตั้งครรภ์อย่างไรบ้าง” ตอนนี้ก็มีเพื่อนกันเขาก็ตั้งท้องเหมือนกัน ก็มาซื้อที่ฟาร์มกับเรา ก็เป็นการบอกกันปากต่อปาก ตอนนั้นยังไม่มีการคัดไข่เบอร์ ขายรวมถาดละ 105 บาท

จากนั้นก็มาคิดกันในครอบครัวว่าไข่ที่ได้วันละ 10 กว่าถาด น่าจะทำเป็นไข่เบอร์ และทำเป็นแบรนด์ของเรา ให้แตกต่างจากไข่ทั่วไป ให้เห็นชัดเจนว่าเป็นไข่ไอโอดีน จากนั้นเราก็เริ่มทำแบรนด์ออกมา โดยใช้แบรนด์ NPF (น้ำเพชรฟาร์ม) โดยเราจะตีแบรนด์ใส่ในไข่ทุกฟอง โดยเริ่มทำไข่เบอร์ด้วยการชั่งน้ำหนักตาชั่งดิจิตอล จะคัดไข่เบอร์ ตั้งแต่เบอร์ 1-4 ราคาแต่ละเบอร์ก็จะแพงกว่าตลาดทั่วไป แผงละประมาณ 10 กว่าบาท

ซึ่งผู้บริโภคก็จะบอกว่าแพง เราก็เข้าใจ แต่โชคดีที่สถานีอนามัยได้ช่วยสนับสนุนประชาสัมพันธ์ให้เรา บอกให้ชาวบ้านในชุมชนของเรารู้ว่าไข่ที่เราผลิตเป็นไข่คุณภาพ เพราะเราได้รับใบรับรองผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการกลาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สาขาขอนแก่น พออนามัยประชาสัมพันธ์ให้ ร้านค้าในหมู่บ้านก็เริ่มเข้ามารับซื้อไปจำหน่าย และเป็นกระบอกเสียงให้เราด้วยว่านี่เป็นไข่ไอโอดีน ไม่ใช่ไข่ทั่วไป

ตอนนี้ก็มีร้านค้าประจำในหมู่บ้านทั้งหมด 4 ร้าน ร้านอาหารตามสั่งในหมู่บ้านซึ่งเขาจะใช้ไข่ฟาร์มเราทำไข่ดาวให้กับลูกค้า เขาเคยใช้ไข่ตลาดทั่วไป เวลาตีไข่ลงกระทะไข่ขาวจะกระจายเป็นน้ำเจียวออกมาแบนไม่สวย แต่พอเขามาใช้ไข่เราไข่ขาวจะเหนียว เวลาเจียวออกมาจะนูนสวย ไข่แดงก็สีสวย

เขาจะขึ้นป้ายว่า ที่นี่ใช้ ไข่ไอโอดีน จากน้ำเพชรฟาร์ม และสถานีอนามัยในหมู่บ้านที่เราส่งไข่ให้เป็นประจำ เพราะอนามัยก็ต้องส่งเสริมประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้ชาวบ้านรับประทาน ไข่ไอโอดีน อยู่แล้ว หลังจากนั้นคนเริ่มรู้จักไข่เราแทบทั้งตำบล ไข่ที่ฟาร์มจะขายหมดทุกวันไม่มีค้าง

สองปีติดๆ รถเร่ในหมู่บ้านไม่ได้เลย จนแผ่วปลายปีที่แล้ว สถานการณ์ราคาไข่ตกต่ำมาก รถเร่ก็ออกมาเยอะมาก แต่ไข่เราก็ยังขายได้ ลูกค้าเก่าๆ ก็ยังคงเหนียวแน่น ในบางครั้งอาจจะมีติดบ้าง เราก็จะออกไปนั่งที่ตลาดนัด ขาจรก็มี ร้านโชว์ห่วยบางร้านก็มารับซื้อกับเรา เวลาเราไปตลาดนัด อนามัยต่างตำบลก็เพิ่มขึ้น พี่สาวก็รับไปจำหน่ายที่ตามโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายในบ้านเราไม่มากก็อยู่ได้ หักค่าอาหารแล้วก็ได้วันละ 500 บาท เราสามารถอยู่อย่างพอเพียงได้ โดยไม่ต้องไปเบียดราคากับใคร

โฆษณา
AP Chemical Thailand
4.โรงเรือนไก่ไข่
4.โรงเรือนไก่ไข่

การบริหารจัดการฟาร์มไก่ไข่

สำหรับการเลี้ยงการจัดการฟาร์มไก่ไข่ก็เหมือนทั่วๆ ไป ไม่ค่อยมีปัญหา ให้วัคซีน วิตามิน ตามระยะเวลาอายุของไก่ แต่โชคดีที่ฟาร์มไม่มีปัญหาเรื่องไก่ป่วยเป็นโรคใดๆ เลย แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาหลายเดือนอาจจะมีข่าวจากฟาร์มอื่นๆ ฟาร์มเราก็ไม่มีอะไร อาจจะเป็นเพราะว่าฟาร์มอยู่ในป่าเป็นที่ส่วนตัว ไม่มีใครสัญจรผ่านไปมา ทำให้ปลอดโรค

ต้นทุน ไข่ไอโอดีน ประมาณฟองละ 1.90 บาท ส่วนอาหารสัตว์ก็จะใช้ของเครือเบทาโกร เดิมก็ใช้หลายยี่ห้อ แต่ว่าคุณภาพไม่นิ่ง สีไข่ไม่สม่ำเสมอ พอเราเปลี่ยนมาเป็นบาลานส์ของเครือเบทาโกรผสมกับไอโอดีนก็จะเข้ากันได้ดีกับอาหารแบนด์บาลานส์

5.ไข่ไก่ไอโอดีน-แบรนด์น้ำเพชรฟาร์ม
5.ไข่ไก่ไอโอดีน-แบรนด์น้ำเพชรฟาร์ม

แนวโน้มในอนาคตของ ไข่ไอโอดีน

คุณอ้อเล่าถึงปัญหาการตลาดบางช่วงว่า ปัญหาเรื่องการตลาด แม้ว่าจะลงตัวแล้ว แต่ก็ยังมีบ้างเล็กๆ น้อยๆ เช่น มีฟาร์มเพื่อนบ้านเข้ามาทำตลาดในพื้นที่ ทั้งๆ ที่เราแนะแนวทางการตลาดให้เขาแล้ว แต่เขาก็ยังไม่เข้าใจว่าจะทำอย่างไร แล้วเขาก็ส่งไข่เข้ามาในพื้นที่เรา แต่โชคดีที่ไข่เราจะตีตราแบนด์ของเราทุกฟอง เวลาลูกค้าซื้อเขาก็จะรู้ว่าเป็นไข่ฟาร์มน้ำเพชรก็จะแก้ปัญหาได้ การมีแบรนด์เป็นของตนเองพร้อมกับสินค้ามีคุณภาพ เป็นสิ่งที่อ้อมองว่าเป็นเรื่องดีต่อการทำตลาดไก่ไข่ แต่ถ้าเราไม่มีตราหรือไม่มีแบรนด์เป็นของตนเอง ไข่ก็คือไข่ ถึงแม้ว่าไข่คุณจะมีคุณภาพแค่ไหน สด สะอาด แค่ไหน เสริมอาหารอะไรลงไป เมื่อไปสู่ระบบการตลาดมันดูไม่ออกว่าไข่ฟองไหนมีคุณภาพมากกว่ากัน

“เราทำไข่ไก่ไอไอดีนเข้าปีที่ 5 แล้วอนาคตคิดว่าจะขยาย แต่อาจจะขยายในรูปแบบเป็นกลุ่ม แต่คงยังไม่ใช่เร็วๆ นี้ เราร่ำเรียนมาก็สำนึกรักบ้านเกิด ต้องการจะทำอะไรดีๆ ให้คนในพื้นที่ได้กินได้รับสิ่งดีๆ บ้าง ในกรณีของ ไข่ไอโอดีน ก็ไม่ต้องไปทำอะไรที่มันหรูหรามากนัก เราทำแต่สิ่งที่ชุมชนเราพอรับได้ บางฟาร์มอาจจะมีการเสริมแร่ธาตุอาหารมากมาย เช่น ซิลิเนียม ก็อยู่ที่ว่าฟาร์มไหนมีวัตถุประสงค์อะไร

แต่สำหรับภาคอีสานแถบจังหวัดอุดรธานี จากการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็ยังพบว่าเด็กนักเรียนยังขาดสารอาหารอีกมาก รวมทั้งขาดธาตุไอโอดีน ดังนั้นเรามองใกล้ตัวเราก่อน แล้วเราจะมองออกว่าเราควรทำอะไรให้กับชุมชนของเรา จะพัฒนาอะไร ให้ประชากรในพื้นที่ของเราได้อยู่ดี กินดี ได้อาหารที่คุณภาพ ราคาก็ไม่ได้แพงมากนัก ไข่ไอโอดีน น่าจะตอบโจทย์ให้กับชุมชนของเราได้ แค่นี้เราก็ภูมิใจแล้ว คนในพื้นที่ไม่ขาดไอโอดีน” คุณอ้อกล่าวตอนท้าย