การจัดงาน “วันไม้เศรษฐกิจไทย ครั้งที่ 5”
สืบเนื่องจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ศูนย์วิจัยป่าไม้ ได้ร่วมกับองค์กร เครือข่ายภาคีที่เกี่ยวข้อง ให้มีการจัดงาน “วันไม้เศรษฐกิจไทย ครั้งที่ 5” ขึ้น เมื่อ มกราคม 2562 ที่ผ่านมา นอกเหนือจากการเสวนาและการอภิปรายเกี่ยวกับทิศทางไม้เศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจไทยแล้ว ไฮไลท์สำคัญของงานวันไม้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังได้มีการเชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วมการเสวนาด้วย ภายใต้หัวข้อ “พรรคการเมืองไหน…หัวใจไม้เศรษฐกิจ” ไม้เศรษฐกิจ
เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของไทยได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนไม้เศรษฐกิจไทยให้เป็นรูปธรรม ตอบโจทย์ในเชิงการค้าทั้งในประเทศและเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน อีกทั้ง “พรรคการเมือง” เป็นอีกหนึ่งกลไกหลักที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางและนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ ภายใต้การบริหารประเทศด้วยระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นวัน ไม้เศรษฐกิจ ไทยในปีนี้จึงเปิดโอกาสให้ทั้ง 5 พรรคการเมือง ได้แก่
1.พรรคเพื่อไทย (ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี)
2.พรรคประชาธิปัตย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร)
3.พรรคชาติไทยพัฒนา (นายวิริยะ ช่วยบำรุง)
4.พรรคเสรีรวมไทย (นายสมพงศ์ สระกวี)
- พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย (นายดำรง พิเดช)
ได้ชูวิสัยทัศน์และนโยบายของพรรคด้านไม้เศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนไม้เศรษฐกิจไทยให้เป็นไม้เชิงพาณิชย์ที่มากด้วยคุณค่า/มูลค่า ทั้งในประเทศและเวทีโลก โดยมี นายพายัพ ยังปักษี ประธานสมาพันธ์พลเมืองฐานราก และที่ปรึกษาสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการ พร้อมยืนยันว่าต้นไม้ คือ ไม้เศรษฐกิจที่มากด้วยคุณค่าและมูลค่า เป็นต้นชีวิตที่ตอบโจทย์ได้ทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และลดโลกร้อน
การจัดโครงการผลิตกล้าไม้คุณภาพ
ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญด้านป่าไม้ และมีบทบาทสำคัญด้านป่าไม้มาหลายสมัย ได้เผยถึงนโยบายของพรรคเพื่อไทยในการขับเคลื่อนไม้เศรษฐกิจในหลายประเด็นหลัก เริ่มต้นจากโครงการผลิตกล้าไม้คุณภาพให้ประชาชนจำนวน 2,100 ล้านต้น
โดยโครงการนี้มีระยะเวลา 25-30 ปี คิดเป็นมูลค่า 21,000 ล้านบาท มุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม และเป็นผู้ดูกล้าไม้แทนรัฐบาล โดยรัฐต้องจ่ายค่าดูแลกล้าไม้ตลอดโครงการฯ 50,000 ล้านบาท จะทำให้มีเงินหมุนเวียน 3-4 รอบ/ปี ทำให้ GDP เพิ่มขึ้นอีก 1% ด้านรายได้ของประชาชนหลังจากปลูกไม้เศรษฐกิจไปครบอายุโครงการ หรือเมื่อต้นไม้มีอายุ 25-30 ปี ต้นไม้จะมีมูลค่า 30,000-40,000 บาท/ต้น
ดังนั้นประชาชนจำนวน 50-60 ล้านคน จะมีสิทธิ์เป็นเจ้าของต้นไม้ในโครงการนี้ได้คนละ 30 ต้น หรือมีรายได้ 900,000-1,200,000 บาท/คน โดยรัฐบาลต้องลงทุนกับโครงการจนกระทั่งสิ้นสุดโครงการคิดเป็นมูลค่ากว่า 2.2 ล้านล้านบาท โดยรัฐจะมีรายได้จากโครงการนี้มากถึง 70 ล้านล้านบาท
ซึ่งในวันนั้นประเทศไทยจะร่ำรวยที่สุดบนพื้นฐานของ “เศรษฐกิจชีวภาพ” ภายใต้การพัฒนาพื้นที่สีเขียว (Green Development) เป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Green Policy) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของนักวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่านับจากนี้เป็นต้นไปโลกจะต้องมีพื้นที่สีเขียวไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของโลก หรือ ( Half world) เพื่อปกป้องและป้องกันโลกจากสภาวะโลกร้อน
นอกจากนี้พรรคเพื่อไทยยังมีวิสัยทัศน์ทางการเมือง หรือ Political Views ด้านไม้เศรษฐกิจที่ชัดเจน อาทิ กรมป่าไม้ต้องเปลี่ยนแนวด้านป่าไม้ ต้องปรับเปลี่ยนกฎหมายและระเบียบด้านป่าไม้ ต้องมีนโยบายป่าไม้ที่ตอบโจทย์ด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล ที่สำคัญต้องมีการออมทรัพย์บนดิน
โดยเฉพาะทรัพย์สินบนดินที่สามารถปลูกทดแทนได้ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ต้องเปลี่ยนแนวคิดและความเคยชินเรื่องการสัมปทานตัดป่าให้หมดไป และให้มีสัมปทานปลูกป่าเศรษฐกิจขึ้นมาทดแทน ภายใต้กรอบในการจัดหาที่ดินปลูกป่าขนาดใหญ่ให้ได้ เพื่อสร้างป่าเศรษฐกิจให้เป็นระบบนิเวศน์ขนาดใหญ่ให้ได้ ทุกคนและทุกชนชั้นของไทยต้องมีส่วนได้ ส่วนเสีย ด้านไม้เศรษฐกิจอย่างสมดุล
โดยรัฐต้องสร้างกติกาที่เป็นธรรมขึ้นมา รัฐต้องสร้างพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ในรูปแบบ Eco Systemรัฐต้องมีการบริหารจัดการที่ดี มีทั้งการให้และการรับ เพื่อให้การลงทุนของรัฐได้เงินกลับคืนมา รวมไปถึงกรมป่าไม้ กรมอุทยาน กรมทรัพยากรป่าไม้และชายฝั่ง คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาคธุรกิจ ต้องมีส่วนร่วมในการผลักดันไม้เศรษฐกิจให้เป็นรูปธรรมอย่างบูรณาการขณะเดียวกันพรรคการเมืองต้องมีความตั้งใจอย่างสูงเพื่อให้ไม้เศรษฐกิจเกิดการขับเคลื่อนไปได้ ซึ่งทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้หากพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล
ดร.ปลอดประสพ ยืนยันในฐานะรองหัวหน้าพรรคการเมือง ที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านป่าไม้ จึงเป็นคนอีกหนึ่งคนที่มีสิทธิ์ฝัน อยากเห็นประเทศไทยมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น หรือมีสัดส่วนพื้นที่ป่าเป็นครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศไทย เพราะเป็นคนหนึ่งที่รักประเทศไทยเหมือนกัน
การอนุรักษ์ป่าไม้และไม้เศรษฐกิจ
นายดำรง พิเดช หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ในฐานะพรรคการเมืองน้องใหม่ที่มีนโยบายด้านป่าไม้และไม้เศรษฐกิจ ภายใต้แนวทางการอนุรักษ์ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนปลูกต้นไม้ให้มีรายได้โดยไม่ต้องตัดเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม โดยประชาชนจะมีรายได้จากค่าลดโลกร้อนจากกองทุนโลกร้อนที่มีผลตอบแทนเป็นรายปี
เมื่อต้นไม้มีความสูงตั้งแต่ 1.30 เมตร ที่อายุ 3 ปีขึ้นไป ในขณะที่ภาคเอกชนที่ปลูกสวนป่ารัฐต้องจ่ายเงินชดเชยเป็นค่าโลกร้อนให้อย่างเหมาะสม รวมไปถึงการส่งเสริมให้ประชาชนอยู่กับป่าให้ได้โดยไม่ทำลายป่า ด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนที่อยู่ในป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำและเป็นพื้นที่รัฐให้หันมาปลูกพืชผักปลอดสารพิษเพื่อสร้างรายได้
โดยให้หน่วยงานรัฐนำร่องรับซื้อผลผลิตจากประชาชาชน เพื่อรักษาพื้นที่ต้นน้ำให้ปลอดจากสารพิษและสารเคมีจากการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ป่า ดังนั้นการจะรักษาป่าให้คงอยู่ได้ประชาชนต้องมีรายได้ทั้งจากการปลูกไม้เศรษฐกิจที่มีผลตอบแทนจากค่าโลกร้อน ควบคู่ไปกับการสร้างอาชีพบนพื้นฐานเกษตรชีวภาพให้เกิดในชุมชนเพื่อรายได้อย่างต่อเนื่อง เพียงเท่านี้ก็จะทำให้กับคนหันมาปลูกต้นไม้ ปลูกได้ในทุกขนาดพื้นที่ ประชาชนจะรักต้นไม้ ประชาชนมีรายได้ และยังเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาด้านเกษตรกรรมในพื้นที่ป่าได้อย่างยั่งยืน
การแก้ปัญหาความยากจนให้กับประชาชน
นายสมพงศ์ สระกวี ตัวแทนจากพรรคเสรีรวมไทย ได้เผยถึงนโยบายของพรรคที่มุ่งเน้น “การแก้ปัญหาความยากจนให้กับประชาชน” เป็นหลักสำคัญ ซึ่งไม้เศรษฐกิจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกและทางรอดให้กับประชาชนที่ต้องการปลูกป่าเพื่อสร้างรายได้เพื่อแก้ปัญหาความยากจนที่สอดคล้องกับนโยบายของพรรคโดยตรง
แต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าประเทศไทยมีจำนวนคนจนเพิ่มมากขึ้นเป็น 11.4 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านคน ในช่วงปลายปี ในขณะที่ประเทศไทยนั้นมียังศักยภาพด้านทรัพยากร และมีความพร้อมในทุกด้าน ต่างจากประเทศจีนที่มีประชากรมากกว่าไทยหลายเท่า หรือประมาณ 1.4 พันล้านคน มีรายได้เฉลี่ยต่อหัว 150,000 บาท/ปี ได้ประกาศต่อชาวโลกอย่างชัดเจนว่าจะขจัดความจนให้หมดไปในปี 2019
ฉะนั้นเรื่องไม้เศรษฐกิจด้วยศักยภาพพื้นที่ของประเทศไทยที่ปลูกตรงไหนก็ขึ้น ฉะนั้นการนำพื้นที่ว่างเปล่าทั่วประเทศมาปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อแปรรูป-เพิ่มมูลค่า-เน้นของเสียเป็นศูนย์ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ไม่เน้นการขายเป็นวัตถุดิบอีกต่อไป โดยรัฐจะต้องลงทุนด้านนี้ จะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ แก้ไขความยากจนให้กับคนไทยได้อย่างทั่วถึง
“เรามองเห็นคุณค่าไม้เศรษฐกิจ เป็นไม้ที่มูลค่า เป็นสิ่งที่ท้าทาย พร้อมร่วมผลักดันไม้เศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาความยากจนให้กับคนไทยปัญหาประเทศอยู่ตรงไหนจัดการตรงนั้นก่อน เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องปฏิบัติ ปัญหาเรื่องไม้ ปัญหาเรื่องป่ายังอยู่ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่าระยะยาว เราอาสาประชาชนมาบริหารประเทศ สิ่งที่ประชาชนเดือดร้อนจะได้รับการแก้ไขหากเป็นรัฐบาล ” นายสมพงศ์กล่าวทิ้งท้าย
การส่งเสริมปลูก ไม้เศรษฐกิจ
นายวิริยะ ช่วยบำรุง ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ชูนโยบายของพรรคที่ตรงกับชื่อพรรค คือ ชาติไทยต้องพัฒนาในทุกมิติ รวมทั้งการปลูก ไม้เศรษฐกิจ ต้องยกระดับให้เป็นยุทธศาสตร์ของพรรคและยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อขับเคลื่อนให้เป็นนโยบายของชาติลงสู่ภาคปฏิบัติหากได้เป็นรัฐบาล
ดังนั้นการส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจต้องอยู่ภายใต้การบริหารจัดการทุกด้านอย่างเป็นระบบ ทั้งที่ดิน แหล่งน้ำ กล้าไม้ และระบบการจัดการที่ดี นั่นหมายความว่ารัฐต้องจัดสรรพื้นที่เพื่อปลูกต้นไม้ให้มีความหลาก ทั้งไม้โตเร็ว ไม้โตปานกลาง และไม้โตช้า โดยเฉพาะไม้โตช้าต้องเป็นเรื่องของคนรวย เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยต้องปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวโดยไม่ตัดฟันเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว จาก 40 ล้านไร่ ให้เป็น 55 ล้านไร่ ที่ต้องมีผลตอบแทนทั้งเงินให้เปล่าจากรัฐ ภายใต้คอนเซ็ป “ขาดทุนคือกำไร” แล้วยังได้สิทธิ์จากกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ที่สำคัญต้องมีการรับรองไม้อย่างถูกต้อง (Forest Certification) เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้และได้ค่าตอบแทนจากค่าโลกร้อนจากกองทุนโลกร้อน ที่สำคัญพรรคชาติไทยพัฒนายังมีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน ภายใต้สโลแกน “ก้าวข้ามความขัดแย้ง สร้างเศรษฐกิจ และกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น”
การปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายเรื่องป่าเศรษฐกิจที่ชัดเจน เนื่องจาก ไม้เศรษฐกิจ เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางในการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับความมั่นคงของมนุษย์ การแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำและความยากให้กับประเทศไทยได้
ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้านโยบายประเทศไทยสีเขียว หรือกรีนไทยแลนด์ ทันทีที่ได้เป็นรัฐบาล เป็นกรีนไทยแลนด์ ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ นั่นคือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ตั้งอยู่บน 3 พื้นฐานหลัก คือ
1.ฐานอาหารชีวภาพ (Bio Food)
2.ฐานเชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) ได้แก่ เอทานอล แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล ไบโอแมส ไบโอแก๊ส
3.ฐานยารักษาโรคชีวภาพ (Bio Pharmaceuticals) ด้วยเพิ่มพื้นที่ป่าจาก 31.58% เป็น 50% หรือ 160 ล้านไร่ จากเดิมในปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 102 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนป่าเพื่อการอนุรักษ์ 30% และป่าเศรษฐกิจ 20%
โดยมี 4 ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ป่าอนุรักษ์ ป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน และป่าเมือง ภายใต้ 10 กลไกในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย คือ ต้องมีพันธบัตรต้นไม้ ธนาคารต้นไม้ ธนาคารที่ดิน ตลาดคาร์บอนเครดิต ระบบรับรองและตรวจสอบต้นไม้ด้วยไอทีเทคโนโลยีและทรีการ์ด (Tree Card) โฉนดสีฟ้า บ่อน้ำประชาชน สระน้ำชุมชน วันแม๊ป (One Map)
โดยเฉพาะยางพาราซึ่งมีพื้นที่ปลูกถึง 19.6 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ จะใช้โครงการ “ยางยั่งยืน” เป็นหลัก ภายใต้แนวคิด “ราษฎร์-รัฐรักษ์ป่า รักษ์สิ่งแวดล้อม” ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ดังนั้นการเพิ่มพื้นที่ป่าต้องเป็นวาระแห่งชาติ เช่นเดียวกับการสร้างป่าเศรษฐกิจในทุกมิติ ได้แก่ มิติไทย มิติโลก ว่าด้วยการส่งเสริมอุตสาหกรรม ไม้เศรษฐกิจ ที่ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วม
เนื่องจาก ไม้เศรษฐกิจ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 3 แสนล้านบาท มีความต้องการไม้กว่า 58 ล้านตัน หรือมีมูลค่าตลอดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีกว่า 2 ล้านล้านบาท คิดเป็นน้ำหนัก 156 ล้านตัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการประมาณการณ์โดยคร่าวๆ ของกลุ่มผู้ประกอบการด้าน ไม้เศรษฐกิจ ไทยเท่านั้น มิติด้านรายได้ของประชาชน
โดยเฉพาะรัฐบาลยุค คสช.ได้มีมติ ครม.ยอมรับคนอยู่กับป่าเป็นครั้งแรกว่าด้วยมิติรายได้ ทรัพย์สิน และการมีส่วนร่วมของชุมชน มิติหลักประกันชีวิตที่มุ่งเน้นการออมเพื่ออนาคตที่มั่นคง มิติว่าด้วยการสร้างแหล่งน้ำให้กับชุมชนเพื่อให้การปลูก ไม้เศรษฐกิจ และภาคเกษตรเดินหน้าได้ มีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญในศตวรรษที่ 20 ว่าด้วยเรื่องป่าไม้นั้น รัฐและประชาชนต้องมีส่วนร่วม โดยรัฐต้องมีแนวทางชัดเจนในการปฏิรูปและพัฒนาที่ดินเพื่อดูแลและปกป้องผืนป่าให้คงอยู่ ในขณะเดียวกันประชาชนและชุมชนต้องมีรายได้ให้สอดรับกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน
พรรคประชาธิปัตย์มั่นใจว่าด้วยนโยบายและยุทธศาสตร์ของพรรคจะช่วยเพิ่มพื้นที่ป่า และจัดการปัญหาเรื่องป่าที่เรื้อรังมากว่า 77 ปี ได้ ควบคู่ไปกับการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ให้ประเทศและประชาชนได้อย่างยั่งยืน
ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชั้น 5 ตึกวนศาสตร์ 72 ปี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 50 ถนนงามวงศ์วาน ลาดยาว จตุจักร กทม. 10900 โทร.02-561-4761 http://innovation.forest.ku.ac.th