การเลี้ยงกุ้งในปัจจุบันนั้นจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป ด้วยสภาพแวดล้อมที่แปรเปลี่ยน คุณภาพน้ำ และคุณภาพของลูกพันธุ์กุ้งที่ไม่นิ่ง ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องปรับตัวคอยต่อสู้และป้องกันโรคต่างๆ ที่จะเข้ามาในตัวกุ้ง ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้กุ้งป่วยส่วนหนึ่งมาจากการหมักหมมของเสียที่อยู่ก้นบ่อเลี้ยง โดยเฉพาะในบ่อเลี้ยงกุ้งบ่อดินที่มีดินเลนสะสมในปริมาณที่มาก นั่นหมายถึงการหมักหมมของเชื้อโรคที่รอวันเข้าทำลายตัวกุ้งในวันที่กุ้งอ่อนแอ หอยชักตีน
แน่นอนว่าเกษตรกรต้องหาวิธีแก้ อาทิเช่น การนำปลานิลมาเลี้ยงผสมกับกุ้งเพื่อให้ปลาเก็บกินอาหารก้นบ่อเลี้ยง ซึ่งนั่นเป็นวิธีที่ดี เพราะนอกจากจะขายกุ้งได้แล้ว ยังสามารถจับปลามาขายได้อีกทอด สร้างรายได้ทั้ง 2 ทาง แต่ในสภาวะที่ปลาราคาตกต่ำเช่นนี้ เกษตรกรก็ต้องทำใจรับราคาขายปลาให้ได้ ถึงแม้ต้นทุนการเลี้ยงปลาจะสูงก็ตาม เพราะต้องให้อาหารควบคู่ไปด้วย
แต่ในวันนี้มีสัตว์น้ำชนิดใหม่ที่จะสามารถเข้ามาทดแทนการเลี้ยงปลานิลในบ่อกุ้งได้ เป็นตัวช่วยในการกำจัดของเสียก้นบ่อ แถมยังสร้างมูลค่าให้ตัวเองในราคาที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
ลักษณะทั่วไปของหอยสังข์สุวรรณ
สัตว์น้ำที่เรากำลังพูดถึงอยู่มีชื่อเรียกว่า “หอยสังข์สุวรรณ” หรือ หอยชักตีน เป็นหอยที่พบมากในพื้นที่ทะเลที่มีความเค็มสูง แต่การจะพบหอยชนิดนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องรอช่วงน้ำลงเต็มที่จึงจะสามารถเข้าไปเก็บหอยได้ ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่ภาคใต้ถือว่าหอยสังข์สุวรรณเป็นชนิดหอยที่มีมูลค่า มักนำมาขึ้นโต๊ะแปรรูปเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ จึงเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก
หอยชักตีน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Laevistrombuscanarium) เป็นชื่อของหอยทะเลชนิดฝาเดียว เปลือกบาง ชนิดหนึ่ง โดยมีรูปร่างคล้ายหอยสังข์ขนาดเล็ก เป็นหอยฝาเดียวที่จัดอยู่ในวงศ์หอยชักตีน (En:Strombidae) พบแพร่กระจายทั่วไปในทะเลเขตอินโด-แปซิฟิก ตั้งแต่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา ไปทางตะวันตกสุดถึงเมลานีเซีย เหนือสุดถึงประเทศญี่ปุ่น และใต้สุดถึงควีนส์แลนด์ และนิวแคลิโดเนีย พบอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นทรายปนโคลน และบริเวณที่มีหญ้าทะเล หรือสาหร่าย ตั้งแต่เขตน้ำขึ้น-ลง ไปจนถึงในระดับความลึกถึงประมาณ 55 เมตร โดยทั่วไปหอยชักตีนมีการเก็บมาบริโภคเป็นอาหารหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รวมทั้งมีการนำเปลือกมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานหัตถกรรมเครื่องใช้และของประดับตกแต่งต่างๆ ขนาดใหญ่สุดมีความยาวเปลือก 10 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปมักพบขนาดประมาณ 6–7 เซนติเมตร ในประเทศไทยพบหอยชักตีนได้ทั่วไป ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน ถือเป็นหอยฝาเดียวชนิดที่พบมาก สามารถพบเปลือกตามชายฝั่งทะเลทั่วไป แต่มีเพียงบางแหล่งที่มีการเก็บหอยชักตีนขึ้นมาใช้ประโยชน์เพื่อการบริโภคอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น แถบจังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง ชุมพร เป็นต้น
จุดเริ่มต้นการเลี้ยงหอยสังข์สุวรรณ
แต่ในวันนี้ด้วยความรู้และการเป็นนักวิจัยและพัฒนาของ คุณหมอสิทธิศักดิ์ เหมืองสิน (หมอเหมือง) ผู้บริหาร บริษัท ภูเก็ตเป๋าฮื้อฟาร์ม จำกัดได้หยิบยกหอยสังข์สุวรรณ (หอยชักตีน) ขึ้นมาเป็นตัวช่วยในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะการเลี้ยงกุ้งขาวในพื้นที่ภาคใต้ ให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงกุ้งง่ายขึ้น พร้อมทั้งสร้างเม็ดเงินใส่กระเป๋าได้อีกทาง นอกเหนือจากผลผลิตกุ้งที่ได้
เหตุผลที่เจ้าหอยสังข์สุวรรณโดดเด่นขึ้นมาในสายตาของคุณหมอ เนื่องจากว่าคุณหมอเหมืองมองว่าตลาดความต้องการบริโภคหอยชนิดนี้ในพื้นที่ภาคใต้มีค่อนข้างสูง แต่ผลผลิตกลับมีไม่เพียงพอกับความต้องการ เพราะต้องคอยเก็บจากธรรมชาติเท่านั้น และเมื่อคุณหมอได้ศึกษาวิถีชีวิตของหอยสังข์สุวรรณอย่างจริงจัง ทำให้ทราบถึงประโยชน์และคุณค่าของหอยชนิดนี้ ที่สำคัญเกษตรกรสามารถเลี้ยงหอยชนิดนี้ร่วมกับกุ้งขาวได้
โดยหอยจะไปเก็บกินขี้กุ้งก้นบ่อเป็นอาหาร ทำให้พื้นบ่อสะอาด เลนน้อย ไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ซึ่งข้อดีของการเลี้ยงหอยคู่กับกุ้งยังมีประโยชน์อีกมากมาย ที่สำคัญมูลค่าของหอยสังข์สุวรรณเมื่อจับขึ้นมาขายสามารถสร้างเม็ดเงินให้เกษตรกรเป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจการเพาะพันธุ์หอยสังข์สุวรรณที่ภูเก็ตเป๋าฮื้อฟาร์มต่อยอดขึ้นมา
การอนุบาลลูกหอย
ปัจจุบันภูเก็ตเป๋าฮื้อฟาร์มได้ทำการเพาะขยายพันธุ์หอยสังข์สุวรรณได้สำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย และได้ยื่นจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการนำหอยธรรมชาติที่สมบูรณ์มาผสมพันธุ์ในบ่อเพาะเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน เมื่อลูกหอยฟักออกจากไข่จะนำลูกพันธุ์มาอนุบาลต่อในบ่อปลอดเชื้อ เพื่อให้ได้ลูกพันธุ์ที่แข็งแรง สมบูรณ์ เมื่ออายุครบ 2 เดือน จะได้ลูกพันธุ์คุณภาพขนาด 1 เซนติเมตร จำหน่ายให้เกษตรกรในราคาเพียง เซนติเมตรละ 1 บาท ที่สำคัญผ่านการตรวจ PCR โรคตัวแดง จากกรมประมง ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปปล่อยในฟาร์มกุ้งเพื่อกำจัดของเสียก้นบ่อเลี้ยงได้ และเมื่อหอยโตเต็มวัยก็สามารถจับขายสร้างรายได้เข้าสู่ครัวเรือน
ข้อดีของการเลี้ยงหอยสังข์สุวรรณ
“ผมมองว่าการเลี้ยงหอยสังข์สุวรรณในบ่อกุ้งเป็นสิ่งที่ดี เพราะหอยไม่มีต้นทุน มีแค่ค่าลูกพันธุ์เพียงอย่างเดียว ไม่มีเรื่องอาหาร ยังไม่พบว่ามีโรค แต่ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในบ่อกลับมีมากมาย เพราะเขาเก็บกินเศษอาหาร เศษขี้กุ้ง ของเสียภายในบ่อ เพื่อช่วยให้คุณภาพน้ำภายในบ่อสมบูรณ์ กุ้งแข็งแรง เพราะไม่มีของเสียหมักหมมในบ่อ ทำให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้งง่ายขึ้น และช่วยลดต้นทุนเรื่องยาเคมีที่จะใช้ในบ่อเพื่อรักษาโรคด้วย ที่สำคัญเมื่อหอยโตเต็มที่ยังสามารถจับขายสร้างมูลค่าให้เกษตรกรอีกด้วย” คุณหมอเหมืองให้ความเห็น
การบริหารจัดการบ่อเลี้ยง หอยชักตีน
การเลี้ยงหอยสังข์สุวรรณคู่กุ้งขาวนั้นมีการจัดการที่ไม่ยุ่งยาก เกษตรกรเริ่มต้นจากการเตรียมน้ำ เตรียมบ่อโดยใช้น้ำที่มีความเค็ม 18 ppt. ขึ้นไป อัตราการปล่อยอยู่ที่ 5,000-10,000 ตัว/ไร่ ลูกหอยที่ปล่อยมีขนาดประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ซึ่งสามารถปล่อยพร้อมกุ้ง PL 10-15 ได้เลย เมื่อปล่อยหอยไปแล้ว ให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้งได้ตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณอาหาร ซึ่งหอยจะคอยเก็บกินอาหารและขี้กุ้งตามพื้นบ่อ ซึ่งจะทำให้พื้นบ่อสะอาด
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายหอยสังข์สุวรรณ
หลังจากเลี้ยงไปได้ประมาณ 4 เดือน ตัวหอยจะมีขนาดน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 20-30 กรัม/ตัว หรือประมาณ 30-50 ตัว/กิโลกรัม ซึ่งหอยขนาดนี้จะเป็นไซส์ที่ตลาดต้องการมากที่สุด โดยมีราคาจำหน่ายหน้าฟาร์มพร้อมเปลือกอยู่ที่ 150-200 บาท/กิโลกรัม
แต่หากเกษตรกรต้องการพาเซียน (Partial harvest) ก่อน โดยในการลากหอยแต่ละครั้งเกษตรกรสามารถคัดเลือกขนาดที่ต้องการจับขายก่อนได้ ส่วนตัวที่เล็กสามารถนำมาปล่อยในบ่อพักน้ำ หรือบ่อกุ้งที่เลี้ยงอยู่ เพื่อเลี้ยงต่อให้ได้ขนาดตลาดตามที่ต้องการ
สนใจสั่งซื้อลูกพันธุ์หอยสังข์สุวรรณ หรือสอบถามข้อมูลการเลี้ยงได้ที่ บริษัท ภูเก็ตเป๋าฮื้อฟาร์ม จำกัด โทร. 089-866-2710 คุณแหม่ม 35/4 ถ.เทพประทาน ต.รัษฏา อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000