จันทบุรี หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “เมืองจันท์” เป็นจังหวัดหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย มีทั้งหมด 9 อำเภอ เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปว่าเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้ผลหลากหลายชนิด เช่น เงาะ, มังคุด, ทุเรียน ฯลฯ ลําไยนอกฤดู
แต่สำหรับที่โด่งดังและขึ้นชื่อของเมืองจันท์คงหนีไม่พ้นที่จะต้องเป็นทุเรียน แต่ ณ เวลานี้ทุเรียนเมืองจันท์ล้นตลาด มีผลกระทบด้านราคาของผลผลิต ทำให้เกษตรกรชาวสวนจันทบุรีส่วนหนึ่งก็ต้องพลิกผันชีวิตตัวเองไปปลูกไม้ผลชนิดอื่นที่ไม่มีผลกระทบต่อราคาตลาด ณ ปัจจุบันนี้ ก็คือ ลำไย
สภาพพื้นที่ปลูกลำไย
คุณสมัย บุญประสพ เล่าให้ฟังว่า เมื่อเห็นว่าลำไยสามารถขึ้นได้ดีในแถบนี้ก็เลยหาพันธุ์ลำไยอีดอมาปลูก แรกๆ ทำประมาณไร่เศษเกือบ 30 ตัน แล้วมาขยายกิ่งพันธุ์ตอนหลัง ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกลำไยประมาณ 20 ไร่ และจำนวนต้นกว่า 200 ต้น
โดยนำพันธุ์มาจากจังหวัดลำพูน และมาปลูกทุเรียนร่วมกับมังคุดก่อน แต่เห็นว่าทุเรียนกับมังคุดทางจันทบุรีก็มีปลูกกันมากแล้ว ในฐานะที่ตนเองเป็นประธานกลุ่มเกษตรกรอยู่ในขณะนั้นก็มองว่าน่าจะหาไม้ผลชนิดอื่นมาปลูกบ้าง จึงส่งเสริมให้ปลูกลำไย เพราะเห็นว่าลำไยป่าก็ยังสามารถเกิดได้ดีในแถบนี้
ลําไยนอกฤดู ของโป่งน้ำร้อน
หลังจากแนะนำให้เกษตรกรมาปลูกลำไยกันมากขึ้น แล้วผลที่ได้ คือ ลำไยของโป่งน้ำร้อนจะให้ผลผลิตก่อนลำไยทางภาคเหนือถึง 45 วัน ทำให้ขายได้ในราคาที่สูงกว่า แต่ตลาดลำไยของเมืองจันท์จะอยู่ที่ฮ่องกงเป็นส่วนใหญ่ เพราะมีพ่อค้ามารับที่สวนเพื่อส่งออก ในอนาคตก็จะพยายามขยายตลาดไปที่จีนแผ่นดินใหญ่ เพราะเป็นตลาดที่ใหญ่มากกว่า เนื่องจากว่าคนจีนจะชอบทานลำไยมาก ลำไยจะเกี่ยวข้องกับพิธีการของเขา ถ้าไม่มีลำไยสดก็ต้องเป็นลำไยแห้ง
การบริหารจัดการสวนลำไย
สำหรับเทคนิควิธีการจัดการภายในสวนลำไย ลุงสมัยบอกว่าหลังจากการเก็บเกี่ยว ตัดแต่งแล้ว ระยะออกดอกจะเริ่มในตอนหน้าหนาว ก็จะให้ปุ๋ยบ้าง เราต้องให้ต้นไม้ได้รับเท่ากับที่มันสูญเสีย จะต้องบำรุงให้ต้นสมบูรณ์ที่สุด และในช่วงประมาณวันที่ 15-16 พฤศจิกายน ต้องทำให้ใบเหี่ยวและใบร่วงก่อน ให้ใบลดลงเกือบครึ่ง โดยใช้อีเทนช่วย เพราะธรรมชาติของต้นไม้ คือ เมื่อรู้ตัวจะตายก็จะเร่งออกดอก ถ้าอากาศหนาวจัดมากเราจะให้พวกสังกะสีเพื่อใช้เป็นเหมือนกับผ้าห่มให้กับต้นได้
ลำไยหรือไม้ผลในเมืองจันท์จะประสบปัญหาเดียวกัน คือ การโค่นล้มของต้นไม้ที่เกิดจากภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะลมไต้ฝุ่น ถ้าเกิดขึ้นที่ใดก็จะสร้างความเสียหายให้กับเจ้าของสวนอย่างประเมินค่าไม่ได้ อย่างเช่น ที่สวนลุงสมัยเอง ก็เคยประสบมา วิธีแก้ปัญหา คือ การหาไม้มาค้ำยันต้นไม่ให้ล้ม แต่จะมีบ้างที่กิ่งหักก็เป็นเหตุสุดวิสัย เกินปัญญาที่จะแก้ไขก็จะปล่อยหักไป
แต่ตอนนี้ที่สวนจะมีไม้บังลมอยู่รอบสวนอยู่แล้ว ลำไยที่โป่งน้ำร้อนจะมีการผสมเกสรโดยการใช้ผึ้งหลวงมาช่วยผสมเกสร โดยได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าหน้าที่ส่วนราชการนำผึ้งมาปล่อยในสวน แต่มีชาวสวนส่วนมากไม่เข้าใจ พอถึงช่วยลำไยติดดอกแล้วมีแมงมุมมาจับที่ดอกก็ตกใจ นำยาฆ่าแมลงมาฉีดพ่นลำไยทำให้ผึ้งหลวงที่ขอมาให้ช่วยผสมเกสรตายเกือบทั้งหมด
การเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย
สำหรับลำไยที่โป่งน้ำร้อนจะไม่มีปัญหาเรื่องลำไยไม่มีคุณภาพเลย เพราะพ่อค้าที่ซื้อ ก่อนจะซื้อจะชิมก่อน ถ้าพอใจถึงจะสั่งให้เก็บ เนื่องจากต้องส่งออกนอกจึงพิถีพิถันเรื่องคุณภาพอย่างมาก ส่วนผลผลิตได้ประมาณ 14-15 ตัน การเก็บลำไยจะเก็บเป็น 2 ระยะ คือ ช่วงเปิดตลาดครั้งแรก จะเลือกเก็บเฉพาะลูกแก่ เพราะต้องรีบขายในช่วงที่มีราคาสูง
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายผลผลิตลำไย
ส่วนราคาลำไยจะขายส่งในราคา 60 บาท ซึ่งอยู่ช่วงเปิดตลาดลำไยภาคเหนือยังไม่ออก และมาที่ 55, 40 ตามลำดับ พอราคาลงมาที่ 40 ลำไยเชียงใหม่จะเริ่มออก นับเวลาแล้วจะห่างกันอยู่ประมาณ 45 วัน สำหรับผลผลิตลำไยนี้ทางพ่อค้าที่มาซื้อจะมาวางมัดจำก่อน 30% แล้วก็จะมาทยอยเก็บผลผลิตไปเรื่อยจนหมด
ขอขอบคุณ คุณสมัย บุญประสพ