คุณภัทริยา กฤษณะพันธุ์ เป็นหญิงแกร่งอีกคนหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่า การเลี้ยงหมูป่า นั้นไม่ยุ่งยาก ผู้หญิงก็สามารถทำได้ การศึกษาจบปริญญาตรี คุรุศาสตร์ จากจุฬา ปริญญาโทศึกษาศาสตร์ จาก ม.สุโขทัย และจบทางด้านบริหารธุรกิจที่อเมริกา กลับมาทำงานให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในเมืองไทยได้สักพัก แล้วลาออกมาเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรือน (กงสี) ของครอบครัว จ.ปทุมธานี
จากที่เป็นคนมีใจรักทางด้านการเกษตรและชอบเลี้ยงสัตว์ เมื่อมีเวลาว่างจึงได้มาทำการเกษตรแบบผสมผสาน ทั้งปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ อยู่ที่อำเภอนาคี จังหวัดปราจีนบุรี โดยจะเน้นที่ การเลี้ยงหมูป่า เป็นงานหลัก ภายใต้ชื่อฟาร์มว่า GARDEN FARM
การเลี้ยงหมูป่า แบบผสมผสาน
คุณภัทริยากล่าวถึงแนวคิดการทำเกษตรแบบผสมผสาน พร้อมทั้งเล่าถึงรายละเอียดการเพาะเลี้ยงหมูป่าให้ฟังว่า จากประสบการณ์ การเลี้ยงหมูป่า ซึ่งมีลักษณะเป็นการเกษตรแบบผสมผสาน เช่น ทำสวนมะม่วง สวนพลู เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ไข่ ไก่แจ้ และหมูป่า บนเนื้อที่ 15 ไร่ ด้วยเหตุที่ทำฟาร์มในลักษณะนี้เพราะต้องการผลผลิตหลายๆ อย่างมาชดเชยกัน เพื่อลดอัตราการเสี่ยงเกี่ยวกับราคาผลผลิตตกต่ำ ที่เกษตรกรมักจะได้รับอยู่เป็นประจำ ที่ฟาร์มปลูกพันธุ์ไม้นานาชนิดสำหรับให้คนและสัตว์บริโภคได้
จากประสบการณ์ที่ได้คลุกคลีกับหมูป่ามานานหลายปี มักจะพบคำถามที่ได้ยินบ่อยครั้งว่าหมูป่าที่เลี้ยงอยู่เป็นพันธุ์แท้หรือไม่ ได้มาจากป่าหรือเปล่า ความจริงแล้วหมู่ป่ามีหลายพันธุ์ เช่นเดียวกับหมูบ้าน ทุกตัวคือพันธุ์แท้ หรือพันธุ์ผสมที่ได้มาจากการผสมระหว่างพันธุ์แท้นั่นเอง ที่ฟาร์มมีเลี้ยงไว้หลายพันธุ์เหมือนกัน ทั้งนี้เพื่อต้องการศึกษาหาความแตกต่างของแต่ละพันธุ์ ที่มีทั้งจุดเด่นและจุดด้อย ตลอดจนความอร่อยของเนื้อที่แตกต่างกัน
การบริหารจัดการโรงเรือนหมูป่า
การเลี้ยงและการจัดการของฟาร์ม เริ่มต้นเพราะเห็นว่าหมูป่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เลี้ยงแล้วจำหน่ายได้ทั้งพันธุ์หมู และหมูชำแหละ แต่เพื่อความถูกต้องได้ไปขออนุญาตจากปศุสัตว์จังหวัดเกี่ยวกับการขนส่งและการชำแหละ ซึ่งควรทำที่โรงฆ่าสัตว์เพื่อความสะอาดของผู้บริโภค
ที่ฟาร์มได้หมูมาครั้งแรกจากชาวบ้านในท้องที่ เป็นหมูพันธุ์ลายแดงไท พ่อพันธุ์ 1 ตัว และแม่พันธุ์ 2 ตัว ต่อมาไม่นานแม่พันธุ์ทั้ง 2 ตัว ก็ให้ลูก มีผู้มาขอซื้อจึงขายไป ได้ทุนคืน ทำให้เห็นรายได้ หาซื้อแม่พันธุ์มาเพิ่ม เพราะพ่อพันธุ์ 1 ตัว มีแม่พันธุ์ได้ไม่ต่ำกว่า 7-8 ตัว ได้ผลผลิตเร็ว มีเท่าไหร่ก็ไม่พอจำหน่าย เก็บตัวที่ต้องการไว้เป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ต่อไป
ส่วนโรงเรือนหรือคอกหมูป่านั้นหลายปีก่อนทำด้วยไม้ยูคาลิปตัสซึ่งหาได้ง่ายในพื้นที่ กว้างประมาณ 3 เมตร ยาว 5 เมตร มีหลังคาบังแดดและฝน ส่วนหนึ่งแต่ละคอกจะใช้พ่อพันธุ์ 1 ตัว แม่พันธุ์ 2-3 ตัว แม่พันธุ์ท้องแก่จนใกล้คลอดจึงแยกมาไว้อีกคอกหนึ่ง ใกล้คลอดแม่พันธุ์จะขุดดินทำหลุมเก็บเศษวัชพืชที่มีอยู่ในคอกมารองก้นหลุมเอง
หมูป่ามักจะคลอดในขณะที่อากาศเย็นและเงียบสงบ ซึ่งส่วนมากเป็นเวลากลางคืน การทำโรงเรือนด้วยไม้ยูคาลิปตัสต่อมามีปัญหา เพราะไม้ตากแดด ตากฝน เริ่มแห้งกรอบ จึงเปลี่ยนเป็นเสาปูน และก่ออิฐสูงประมาณ 1.50 เมตร และธรรมชาติของหมูป่าชอบขุดคุ้ยดิน ถ้าเป็นต้นไม้เขาจะดันจนเสาหัก ไม้หลุด และหนีขึ้นเขาเข้าป่าไป ได้ยินเสียงปืนเมื่อไหร่ก็ใจหาย เพราะนั่นคือคำกล่าวลาของเขา
การบำรุงดูแลหมูป่า
อาหารที่ฟาร์มใช้พืชผักที่หาได้ในสวนและตามป่าใกล้เคียง เสริมด้วยอาหารหมูบ้านระยะสุดท้าย มีคุณค่าทางโภชนาการ สามารถทดแทนอาหารและแร่ธาตุที่อยู่ในป่าได้ เพราะธรรมชาติเขาอยู่ในป่า แต่เรานำมาเลี้ยงดูในลักษณะหมูบ้าน
ถ้าเราให้อาหารเฉพาะพืช รำ และปลายข้าว เขาก็จะขาดแร่ธาตุเหล่านั้นไป ความไม่สมบูรณ์ก็จะตามมา ในฟาร์มจะไม่ให้รำหรือปลายข้าว เพราะราคาจะใกล้เคียงกัน และมีผสมอยู่ในหัวอาหารนั้นแล้ว ให้อาหารวันละ 2 ครั้ง เวลาเช้าและเย็น เพราะกลางวันอากาศร้อน และหมูป่าชอบนอน
การให้หัวอาหารบางคนคิดว่าสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และทำให้หมูมีไขมันมาก อัตราแลกเนื้อไม่ดีเท่าที่ควร ถ้าเลี้ยงเพื่อผลิตพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ และลูกหมู อะไรก็ตามที่ทำให้หมูแข็งแรงสมบูรณ์ เราก็จะได้ลูกที่สมบูรณ์ตามมา อีกประการหนึ่งถ้าในพื้นที่ไม่มีพืชผักเป็นวัตถุดิบจะใช้อะไร ผักสดตามท้องตลาดใช้ได้ แต่ต้องระวังสารฆ่าแมลง
โรคและการป้องกัน หมูป่าไม่มีโรคประจำตัว การเจ็บไข้ขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศมากกว่า โดยเฉพาะในฤดูฝน ถ้ามีอาการผิดปกติจะให้ยาปฏิชีวนะผสมกับอาหาร หรือน้ำ ตามสัดส่วนที่กำหนด อาการก็จะดีขึ้น ถ่ายพยาธิเป็นครั้งคราว
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายหมูป่า
ในด้านการตลาดและการแปรรูป พันธุ์ลูกหมูไม่เพียงพอแก่การจำหน่าย โดยเฉพาะเพศเมียมีเท่าไหร่ก็หมด เกี่ยวกับการแปรรูปจำหน่ายทั้งหมูเป็นและหมูชำแหละตามความต้องการของลูกค้าที่ติดต่อสั่งซื้อมา
การเลี้ยงหมูป่า ไม่มีอะไรยาก เกษตรกรผู้หญิงก็สามารถเลี้ยงได้ เพียงแต่วางระบบคอกให้ดี ศึกษาวิธีการเลี้ยงหลายๆ รูปแบบ นำมาประยุกต์ใช้ และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องมีความตั้งใจจริงที่จะเลี้ยง เอาใจใส่ดูแลอย่างจริงจัง ผลที่ได้รับนอกจากจะมีความภาคภูมิใจแล้ว ยังก่อให้เกิดรายได้ตามมาด้วย
ขอขอบคุณ คุณภัทริยา กฤษณะพันธุ์ ฟาร์ม GARDEN FARM
ที่อยู่ 141 หมู่ 4 ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี โทรศัพท์ 08-1901-2279