สถานการณ์ข่าว ประจำสัปดาห์ของนิตยสารพลังเกษตร
ส่องเส้นทางตลาดทุเรียนไทย ผลผลิตภาคใต้พร้อมออกตลาดให้ได้ลิ้มลอง
สศก.ได้ติดตามสถานการณ์ทุเรียนทางภาคใต้ ซึ่ง สศก.ได้ลงพื้นที่ไปยังจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช พบว่า ทุเรียนภาคใต้ในปีนี้จะมีประมาณ 3-4 รุ่น โดยแต่ละรุ่นจะห่างกันประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะเริ่มทยอยออกตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 62 และจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนสิงหาคม 62 นี้ สถานการณ์ข่าว
ขณะที่ทุเรียนภาคใต้นอกฤดูตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงตัดแต่งผลที่มีตำหนิ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการทำทุเรียนนอกฤดู รวมทั้งตัดแต่งรูปทรงที่ไม่สวยออกจากต้นเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยทุเรียนนอกฤดูจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงมกราคม 2563 ซึ่งจากการดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกร ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพมาตรฐาน โดยพบว่าผลผลิตร้อยละ 80-90 เป็นทุเรียนเกรด A และเกรด B ที่เหลือร้อยละ 10 เป็นทุเรียนตกเกรดและมีตำหนิ
สำหรับสถานการณ์ตลาดจีนขณะนี้ยังคงมีความต้องการบริโภคทุเรียนไทยต่อเนื่อง ทุเรียนที่นิยมบริโภคในตลาดจีน ได้แก่ ทุเรียนหมอนทอง ก้านยาว และพวงมณี โดยทุเรียนไทยที่เข้าสู่ตลาดจีนในช่วงนี้มีไม่มากนัก เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อของผลผลิตภาคตะวันออกและภาคใต้ จึงทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ซึ่งทุเรียนที่เข้าตลาดจีนมีการจำหน่ายผ่านห้างสรรพสินค้า และผ่านตลาดค้าส่งเจียงหนาน เมืองกว่างโจว เพื่อกระจายต่อไปยังเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่มากซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจ และมีค่าครองชีพสูง จะจำหน่ายได้ราคาดีกว่า อาทิ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเจียซิง ในมณฑลเจ้อเจียง เป็นต้น
ปราชญ์เกษตรอินทรีย์บ้านโนนยาง ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
โครงการพัฒนาศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน มีสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นเจ้าภาพหลัก โดยได้ดำเนินการคัดเลือกศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อเข้าร่วมโครงการฯ และให้ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านจัดการฝึกอบรมเกษตรกร ทั้งภาคความรู้ และฝึกปฏิบัติตามแนวทฤษฎีใหม่
โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านที่ต่างๆ โดยมีเป้าหมาย 76 จังหวัด หรือเกษตรกรจำนวน 12,300 ราย จากการลงพื้นที่ติดตามในพื้นที่จังหวัดยโสธรของเกษตรกรที่เข้าร่วมอบรมศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านของนายบุญส่ง มาตขาว บ้านโนนยาง ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร
ซึ่งเป็นตัวอย่างปราชญ์เกษตรอินทรีย์ที่ประสบผลสำเร็จ และเป็นแหล่งเรียนรู้แนวคิดเกษตรกรรมยั่งยืน พบว่า ปี 2561 มีเกษตรกรที่ผ่านการอบรมจากศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน ของนายบุญส่ง มาตขาว จำนวน 100 ราย สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ และพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในชุมชนให้ดีขึ้นกว่าเดิม
โดยเกษตรกรร้อยละ 73 นำความรู้เรื่องการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ประโยชน์ ร้อยละ 77 นำความรู้ที่ได้ไปทำบัญชีครัวเรือน นอกจากนี้เกษตรกรร้อยละ 80 มีการทำเกษตรผสมผสาน นำความรู้เรื่องการใช้ที่ดินและการจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเกษตรกร ร้อยละ 93 มีการผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพใช้เอง ส่งผลให้เกษตรกรลดต้นทุนจากการซื้อปุ๋ยเคมีได้เฉลี่ย 940 บาท/เดือน และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายสินค้าบริโภค 720 บาท/เดือน และเพิ่มมูลค่าจากการจำหน่ายสินค้าแปรรูปได้เฉลี่ย 1,080 บาท/เดือน
ราคาสินค้ารายวัน ณ ตลาดกลางหรือตลาดสำคัญ
- ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ 105
-โรงสีสหพัฒนา อ.สะตึก จ.บุรีรัมย์ 15,000 บาท/ตัน
- หัวมันสำปะหลังสด (แป้ง 25%)
-บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด อ.เมือง จ.นครราชสีมา 2.15 บาท/กก
- ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3
-ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา 47.70 บาท/กก. ราคาลดลงจากวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ที่ราคา 48.70 บาท/กก
- น้ำยางพาราสด
-ร้านแสงตะวันการยาง จ.สุราษฎร์ธานี 42.00 บาท/กก. ราคาลดลงจากวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ที่ราคา 43.00 บาท/กก.
- ทุเรียนหมอนทอง ส่งออกเกรด AB
-จุดรับซื้อ ต.เพิ่มพูลทรัพย์ (คุณวารินทร์) อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี 100.00 บาท/กก.
- เงาะโรงเรียน
-ตลาดผลไม้แสนตุ้ง อ.เขาสมิง จ.คราด 30.00 บาท/กก
-จุดรับซื้อ ต.เพิ่มพูลทรัพย์ (คุณวารินทร์) อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี 42.00 บาท/กก.
- มังคุดคละ
-จุดรับซื้อ ต.เพิ่มพูลทรัพย์ (คุณวารินทร์) อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี 35.00 บาท/กก.
- ลองกอง เบอร์ 1
-จุดรับซื้อ ต.เพิ่มพูลทรัพย์ (คุณวารินทร์) อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี 42.00 บาท/กก.
- ลองกอง เบอร์ 2
-จุดรับซื้อ ต.เพิ่มพูลทรัพย์ (คุณวารินทร์) อ.นาสาร จ.สุราษฎร์ธานี 32.00 บาท/กก.
- ลำไยทั้งช่อพันธุ์อีดอ เกรด AA
-จุดรับซื้อ บริษัท ซินฮั้ว จำกัด อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ 37.00 บาท/กก.
- ลำไยทั้งช่อพันธุ์อีดอ เกรด A
-จุดรับซื้อ บริษัท ซินฮั้ว จำกัด อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ 26.00 บาท/กก.
สถานการณ์ข่าว ประจำสัปดาห์ของนิตยสารสัตว์น้ำ
กรมอุทยานแห่งชาติ สั่งห้ามล่า-ขาย หอยมือเสือ มีโทษหนักถึงจำคุก 4 ปี
จากเหตุการณ์ที่รายการแห่งหนึ่งของต่างประเทศได้เข้ามาถ่ายทำรายการยังประเทศไทย และได้มีการจับหอยมือเสือขึ้นมา ทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากถึงความไม่เหมาะสม และไม่สมควร ซึ่งหอยมือเสือถือเป็นสัตว์อนุรักษ์ที่ได้รับการคุ้มครองพิเศษ เพราะเป็นสัตว์ที่มีท่าทีใกล้จะสูญพันธุ์ ทำให้กรมอุทยานต้องออกมาประกาศแจ้งเตือนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวให้กับประชาชนได้รับทราบ และประกาศโทษหากมีการฝ่าฝืนหรือลักลอบในการจับหอยมือเสือ หรือสัตว์น้ำ ที่ได้รับความคุ้มครองทุกชนิดขึ้นมา
โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เผยถึงสถานการณ์สัตว์น้ำ อย่าง หอยมือเสือ ซึ่งเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว เนื้อของหอยมือเสือโดยเฉพาะกล้ามเนื้อยึดเปลือกเป็นอาหาร ซึ่งมีราคาแพง เป็นที่นิยมบริโภคในหลายประเทศ เปลือกใช้ทำเครื่องใช้, เครื่องประดับ รวมทั้งไข่มุก ซึ่งหอยมือเสือก็สามารถให้ได้เหมือนกัน และเป็นไข่มุกที่มีราคาแพงกว่าไข่มุกปกติธรรมดา เนื่องจากมีขนาดใหญ่ และหาได้ยากมาก
หอยมือเสือจัดเป็นหอยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อาจมีความยาวเปลือกได้ถึง 100-120 เซนติเมตร น้ำหนักได้กว่า 200 กิโลกรัม และมีอายุยาวได้ถึง 100 ปี หรือมากกว่านั้น ขนาดเล็กสุดยาวเพียง 15 เซนติเมตร พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตน้ำตื้นตามแนวปะการังของน่านน้ำแถบอินโด-แปซิฟิก เขตน่านน้ำไทย แหล่งที่พบหอยมือเสือได้มากที่สุด คือ เกาะไข่ ในเขตพื้นที่จังหวัดชุมพร ที่สามารถพบหอยมือเสือได้หลายขนาด และหลากหลายสี ในเขตแนวปะการังน้ำตื้นรอบๆ เกาะ โดยเป็นหอยมือเสือทั้งจากการเพาะขยายพันธุ์ และขยายพันธุ์กำเนิดเองในธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลมาจากการอนุรักษ์
คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่และประชาชนในท้องถิ่นร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการัง
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หรือชื่อเดิม คือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ไปเยี่ยมชม “เกาะทะลุไอส์แลนด์ รีสอร์ท” ตั้งอยู่ที่ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่นี่ไม่ใช่เพียงสถานที่ท่องเที่ยว แต่ยังเป็นแหล่งอนุรักษ์ปะการังเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลอีกด้วย
นายเผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ เลขาธิการมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม เล่าว่า จากสถานการณ์ปะการังในทะเลของไทยกำลังเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ วิธีการแก้ปัญหาที่หลายคนนิยมใช้กัน คือ เน้นไปที่การปลูกปะการัง แต่ในความเป็นจริงแล้ว “การปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง” คือวิธีที่ดีที่สุด เพราะเป็นการคืนกลับมาของความหลากหลายในระบบนิเวศปะการังทั้งระบบในระยะยาว
ดังเช่นกรณี “อ่าวมาหยา” ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ที่ต้องประกาศปิดอ่าวหลังพบระบบนิเวศเสื่อมโทรมอย่างหนักจากการท่องเที่ยว “หลังจากปิดอ่าวไป 10 เดือน ธรรมชาติเริ่มฟื้นตัว จึงยังคงปิดอ่าวต่อไปอย่างกลับมาอย่างสมบูรณ์” ทั้งนี้การย้ายปลูกหรือการปลูกปะการังเทียมไม่ใช่ไม่ดี แต่นอกจากเรื่องของงบประมาณแล้ว ยังต้องคำนึงถึงชนิดของปะการังซึ่งมีความแตกต่างกันหลากหลายสายพันธุ์ การย้ายปลูกสามารถทำได้แค่บางชนิด บางชนิดอาจไม่เหมาะกับพื้นที่นั้น
สถานการณ์ข่าว ประจำสัปดาห์ของนิตยสารสัตว์บก
กรมปศุสัตว์ -ซีพีเอฟ ผนึกกำลังป้องกัน “อหิวาต์แอฟริกาในสุกร”
น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า การเปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ ด่านกักกันสัตว์เชียงราย เป็นหนึ่งใน 5 จังหวัดชายแดน ได้แก่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดนครพนม จังหวัดสระแก้ว จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดเชียงราย ที่ภาครัฐและเอกชนร่วมมือดำเนินการตามมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงการระบาดของเชื้อโรคเข้ามาในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน
แม้ว่าโรค ASF จะไม่มีผลกระทบกับคน แต่เป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงในสุกร ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน ต้องทำลายหมูทิ้งอย่างเดียว และศูนย์ฆ่าเชื้อยานพาหนะที่ด่านเชียงแสน มีความพิเศษตรงที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการปนเปื้อนที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการขนถ่ายสินค้าปศุสัตว์จากเรือที่มาจากประเทศเมียนมา ลาว และจีน ซึ่งสองประเทศหลังมีการพบการระบาดของโรค ASF แล้ว
“กรมปศุสัตว์ขอขอบคุณทุกภาคส่วน รวมทั้งซีพีเอฟ เป็นหนึ่งในองค์กรเอกชนที่ให้การสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างศูนย์ฯ 2 แห่ง คือ ที่เชียงราย และมุกดาหาร ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงในการระบาดของโรค ASF ที่ส่งผลกระทบต่ออาชีพของเกษตรกร ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มโอกาสให้กับภาคปศุสัตว์ของไทยอีกด้วย”
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดโรคระบาด ASF ในสุกรในจีน ส่งผลบวกต่อสินค้าปศุสัตว์ไทย หนุนส่งออกไก่โตกว่า 265%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ในจีน ตั้งแต่เดือนส.ค. ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ยังเป็นประเด็นที่น่าจับตาสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจสินค้าปศุสัตว์ เนื่องจากได้สร้างความเสียหายให้กับห่วงโซ่การผลิตสุกรโลกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกับจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิตสุกรรายใหญ่ที่สุดของโลก ที่มีผู้เลี้ยงรายย่อยจำนวนมาก ทำให้การควบคุมเป็นไปด้วยความลำบาก
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ในปีนี้จีนต้องเผชิญกับการขาดแคลนเนื้อสุกรเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และมีความจำเป็นต้องขยายการผลิตและนำเข้าแหล่งโปรตีนชนิดอื่นๆ อาทิ ไก่ โค/กระบือ ฯลฯ เพิ่มมากขึ้น เพื่อมาทดแทนส่วนของเนื้อสุกรที่คาดว่าหายไปกว่า 5-6 ล้านตัน
ทั้งนี้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกสินค้าในกลุ่มสินค้าปศุสัตว์ไปจีนได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ไก่จากผลกระทบโรคระบาด ASF ในจีน หากมองถึงโอกาสทางการตลาดของไทย แม้ว่าเนื้อสุกรจะมีโอกาสสูงที่จีนจะนำเข้าเพิ่มขึ้นในปีนี้
แต่สำหรับโอกาสทางการตลาดไทยแล้วถือว่ายังน้อย เพราะการผลิตเนื้อสุกรในไทยยังเป็นการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนกว่า 97% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด (หรือราว 1.5 ล้านตัน) และมีเหลือเพื่อการส่งออกเพียง 3% ของปริมาณการผลิตเท่านั้น ในขณะที่เนื้อโค-กระบือ ไทย ยังผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศและส่งออก ทำให้ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี สถานการณ์ข่าว สถานการณ์ข่าว