น้อยนักที่ผู้คนจะรู้ว่า จ.ศรีสะเกษ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรืออีสานตอนล่าง เป็นพื้นที่อันโดดเด่นในเรื่องการปลูกไม้ผลได้หลากหลายชนิด ไม่แพ้ทางภาคกลาง และภาคตะวันออก และภาคกลาง อย่างเช่น พื้นที่ อ.กันทรลักษ์ และ อ.ขุนหาญ ขณะนี้เริ่มเป็นที่แพร่หลายกันอย่างกว้างขวาง การปลูกทุเรียนหมอนทอง
เนื่องจากมีเกษตรกรพร้อมใจกันปลูกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกทุเรียน “ราชาแห่งไม้ผล” นอกจากนี้ยังมีปลูกลองกอง ลำไย มังคุด และเงาะ เป็นต้น อีกทั้งยังทำให้เกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลในพื้นที่ดังกล่าวหลายรายนำผลผลิตออกขาย ทำให้มีรายได้เข้าถึงมือปีละหลายล้านบาท และสามารถส่งลูกชาย ลูกสาว เรียนถึงเมืองนอกเลยทีเดียว
การปลูกทุเรียนหมอนทอง
คุณอุทัย ขันทอง เกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลในพื้นที่ อ.ขุนหาญ เผยว่า ได้ปลูกทุเรียนสายพันธุ์หมอนทอง เช่นกัน และการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของผู้คนในพื้นที่ได้ยึดทำกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ ก่อนนั้นเกษตรกรส่วนมากจะพากันปลูกข้าวโพด ทำไร่มันสำปะหลัง และปลูกยางพารา ผลผลิตที่ได้ออกมามีคุณภาพดีมาก
แต่พอมาระยะหลังเกิดมีปัญหาทางด้านการตลาดราคาตกต่ำ หรือลดลงมาเรื่อยๆ ในเมื่อมาดูสภาพของพื้นที่ซึ่งเป็นบริเวณดินร่วนปนทรายออกเป็นสีแดง และได้นำดินดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับดินทาง จ.จันทบุรี ทั้งนี้แต่โดยตามธรรมชาติของดินกลับกลายเป็นดินที่มีค่า pH อยู่ในเกณฑ์ที่ได้มาตรฐานดีกว่า จึงได้รู้ว่าเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชไร่ พืชสวน หรือเหมาะแก่การปลูกพืชผัก ไม้ผล ได้หลากหลายชนิด
เกษตรกรในพื้นที่หลายรายจึงได้นำไม้ผลจากทางภาคตะวันออกมาปลูก รวมทั้งเขาด้วย และตอนแรกก็ไม่มั่นใจว่าจะปลูกได้ผลจริง แต่พอปลูกลงไปโดยได้ปลูกให้เป็นไปตามธรรมชาติ หรือไม่ค่อยใส่ใจในเรื่องการบำรุงดูแลรักษามากนัก
ทั้งนี้ต้นไม้ดังกล่าวทั้งระบบของต้นกลับเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และแข็งแรงสมบูรณ์ สวยงามมาก พออายุต้นได้ 5-6 ปี ก็เริ่มให้ผลผลิต จึงทำให้เกษตรกรหลายรายให้ความสนใจ และหันมาปลูกกันมาก หรือผู้ที่ยังไม่เคยปลูกก็ได้ไปหาเอามาปลูก
ส่วนผู้ที่เคยปลูกมาแล้วก็พากันปลูกเพิ่ม และส่วนมากจะนำเอาพันธุ์ไม้ผลชนิดต่างๆ มาจากทาง จันทบุรี โดยเฉพาะทุเรียนสายพันธุ์หมอนทอง อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีเกษตรกรพากันปลูกเพิ่มมากขึ้น โดยได้พากันทำไร่มันสำปะหลัง พร้อมกับปลูกไม้ผลและทุเรียนแซมกันไปด้วย
สภาพพื้นที่ปลูกทุเรียน
อย่างไรก็ตามจากที่กล่าวมาโดยเฉพาะการปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองชนิดเสียบยอดมาปลูก 100 ต้น ในพื้นที่ 10 ไร่ เมื่อปี 2540 ขณะเดียวกันได้ทำไร่มันสำปะหลัง และปลูกข้าวโพด โดยปลูกแซมกันไปแบบผสมผสาน ส่วนการบำรุงดูแลรักษาต้นทุเรียนก็เน้นการให้ปุ๋ยทางดิน
ส่วนการให้น้ำก็ทำเหมือนการปลูกพืชทั่วไป พอถึงปี 2545 อายุต้นได้ถึง 5 ปี ทุเรียนทุกต้นให้ผลผลิตออกมาได้คุณภาพ พร้อมกับมีรสชาติอร่อย หอม หวาน เป็นที่น่าพอใจ จากนั้นก็ได้นำออกขายภายในชุมชน กก.ละ 17-18 บาท และหลังจากนั้นทุกๆ ปีที่ผ่านมาได้มีพ่อค้าคนกลางทาง จ.จันทบุรี เข้ามารับจองรับซื้อเหมาทั้งสวน โดยรับซื้อส่งขายต่อเข้า “ล้ง’’ ออกไปยังต่างประเทศ ครั้งละ 1,000,000 กว่าบาท
ในจำนวนของต้นทุเรียนที่ให้ผล 100 ต้น ทั้งกระบวนการดูแลรักษา จึงได้ทำให้ศึกษาหรือพยายามเรียนรู้ถึงระบบต้นทุเรียนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้จากการลงทุนไปกับทุเรียนดังกล่าวทำให้ต้องใช้เงินซื้อปุ๋ย ยา อุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นนำมาใช้เพื่อความสะดวกและปลอดภัยกับต้นทุเรียน
รวมทั้งผลิตปุ๋ย ยา สารฮอร์โมน ขึ้นมาใช้เอง อย่างเช่น การทำระบบน้ำ โดยเจาะบ่อน้ำบาดาลไว้ตรงกลางระหว่างสวน เดินด้วยท่อ pvc ขนาด 6 หุน พร้อมติดหัวสปริงเกลอร์ชนิดเหวี่ยงเพื่อจ่ายน้ำให้กับต้นทุเรียนทุกต้น ทั้งกระบวนการปลูกและกระบวนการดูแลรักษา และผลผลิตที่ได้จึงทำให้มีความเชื่อมั่นได้ว่าภายในพื้นที่ปลูกไม้ผลสามารถให้ผลผลิตออกมาได้คุณภาพดี และยังได้ปลูกเพิ่มขึ้นมาอีกจำนวน 5 ไร่ โดยปลูกแซมไปกับทำไร่มันเมื่อปี 2555
ปัจจุบันนี้เขามีพื้นที่ปลูกทุเรียน 15 ไร่ และการลงทุนกับทุเรียนดังกล่าวทุกปีไม่เกิน100,000 บาท เมื่อหักลบรายจ่ายทุกอย่างคิดเป็นกำไรแล้วถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก
การบำรุงดูแลรักษาต้นทุเรียน
สำหรับการจัดแปลงปลูกโดยได้วัดความห่างแต่ต้น 8×8 เมตร และวิธีการปลูกได้ขุดหลุมให้พอเหมาะกับต้นพันธุ์ หลังจากนั้นนำต้นพันธุ์ลงปลูกพร้อมกับรดน้ำ ทั้งนี้เมื่อปลูกเสร็จแล้ว ในขณะที่ต้นพันธุ์ยังปลูกไม่ติดจะให้น้ำ 2-3 วัน/ครั้ง ส่วนการให้น้ำในช่วงดังกล่าวต้องดูลักษณะดินด้วยว่ามีความแห้งหรือเปียกชื้นมากน้อยแค่ไหน จึงจะสมควรให้น้ำหรือไม่ และการให้ปุ๋ยบำรุงทางดินจะให้หลังจากต้นทุเรียนปลูกติดแล้ว โดยใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ยูเรีย สลับกับการให้ปุ๋ยคอก เช่น มูลวัว หว่านบริเวณรอบๆ ห่างจากโคนต้น 1-5 เมตร 15 วัน/ครั้ง และให้น้ำ 3 วัน/ครั้งเป็นต้น
คุณอุทัยยังเล่าถึงการบำรุงรักษาทุเรียนช่วงที่ผลิตดอกว่าแต่ถ้าหากกำลังแตกตาดอกหรือให้ดอกเล็กอยู่นั้น จะใช้สารฮอร์โมนชีวภาพบำรุง ซึ่งทำขึ้นมาจากผลไม้สดที่เป็นผลสุกและดิบชนิดต่างๆ และเป็นผลไม้ที่หาได้ง่าย เช่น กล้วย มะละกอ เป็นต้น นำมาผสมน้ำหมักเข้ากับกากน้ำตาล และ EM ฉีดพ่นทั้งดอกและใบ 15วัน/ครั้ง จนกว่าดอกทุเรียนบานได้เต็มที่จึงจะหยุดบำรุง
“อย่างการใช้สารชีวภาพบำรุงทางใบ ผมจะทำขึ้นมาเอง เพราะช่วยทำให้ผมลดต้นทุนได้มาก ส่วนการใช้สารเคมี ไม่ว่าจะเป็นสารชนิดไหนผมจะใช้แม้ว่าจะให้ผลดี ผมจะไม่นำมาใช้เพราะมันทำให้เราต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก หรือต้องใช้ต้นทุนสูง อีกอย่างมันทำให้มีผลเสียต่อร่างกายเราด้วย” คุณอุทัยเผยถึงการลดต้นทุน
การให้น้ำและปุ๋ยต้นทุเรียน
อย่างไรก็ตามหากแต่ทุเรียนเข้าสู่ช่วงระยะให้ดอกบานเต็มที่ พร้อมติดผล หรือติดผลไปแล้ว ต้องเฝ้าสังเกตและระวัง โดยเฉพาะสภาพอากาศที่แปรปรวน และการบำรุงน้ำ เนื่องจากเป็นช่วงที่ทุเรียนค่อนข้างอ่อนไหวง่าย ทำให้ดอกและผลร่วงเสียหายได้ แต่หากโดนกระทบจากสภาพภูมิอากาศดังกล่าวมากๆ หรือในระยะเวลานาน ทั้งนี้การให้น้ำบำรุงจากที่เคยให้น้ำตามปกติก็ลดลงมาเป็น 2 ครั้ง/อาทิตย์ ถ้าหากสภาพอากาศร้อนมาก หรือทำให้บริเวณพื้นดินรอบๆ ระหว่างโคนต้นและบริเวณที่รากออกหากินได้ เกิดดินแห้งมาก จะให้น้ำวันต่อวัน
อย่างไรก็ตามในช่วงทุเรียนอยู่ระยะดังกล่าวนี้ หากแต่ให้ผลออกมาดกมาก ส่วนผลในบางส่วนทุเรียนก็จะสลัดทิ้งออกมาเอง ให้เหลือไว้เฉพาะผลที่สมบูรณ์ หรือถ้าหากสลัดลูกออกไม่ได้ตามที่ต้องการเขาก็จะช่วยเอาอออก โดยเลี้ยงเอาไว้เฉพาะผลที่สวยและสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นผลที่ทำให้ขายได้ราคา
“โดยปกติทุเรียนในพื้นที่นี้จะเริ่มออกดอกได้ในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ที่ผ่านมาอากาศแปรปรวนไม่เป็นไปตามปกติ อย่างอากาศหนาวมาก ทำให้ทุเรียนออกดอกช้ามาก มาปีนี้ออกเดือนมีนาคมดอกบานเต็มที่ พร้อมติดผลปลายเดือนเมษายน รวมได้ 2 เดือน เมื่อเรานับไปให้ถึง 120 วัน ก็ประมาณเดือนสิงหาคม เราจึงจะตัดผลออกขายได้” คุณอุทัยเผยถึงระยะเวลาอายุผลก่อนตัดออกขาย
การเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน
“แต่ถ้าหากเราไม่ศึกษาหรือไม่ปรับตัวเข้ากับมัน การปลูกทุเรียนก็จะไม่เกิดผลอะไรเลย เราต้องอยู่กับมันตลอด เอาใจใส่ดูแลรักษาให้ได้เป็นตามปกติ หรือให้ได้เหมือนที่เราปลูกและรักษาต้นครั้งแรก โดยเฉพาะหลังจากที่เราเก็บเกี่ยวผลออกเสร็จหมดแล้ว”
คุณอุทัยให้ความเห็นและกล่าวต่อไปว่าสำหรับการดูแลบำรุงรักษาเลี้ยงต้นทุเรียนหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วนั้น การให้น้ำบำรุงปุ๋ย โดยให้เหมือนกับช่วงแรกที่ยังไม่ให้ผลผลิต หรือให้ดอก ออกผล จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทั้งนี้การตัดแต่งกิ่งก็จะเริ่มหลังจากเก็บผลผลิตเสร็จไปแล้ว 1 เดือน ส่วนประโยชน์ของการตัดแต่งกิ่งก็เพื่อให้ระบบของต้นเกิดความสมบูรณ์แข็งแรง
ทั้งนี้จากที่เคยเป็นต้นทรงพุ่มหรือทรงไม่สวย ก็ให้กลายเป็นต้นที่สวยงามได้ และช่วยให้ง่าย สะดวกต่อการดูแลรักษา รวมทั้งง่ายแก่การเก็บเกี่ยวผลผลิต ทั้งนี้ยังทำให้ระบบของต้นปลอดโปร่ง และได้รับแสงแดดเพียงพอ เป็นต้น
การป้องกันและกำจัดโรค แมลง ในต้นทุเรียน
อย่างไรก็ตามการเกิดปัญหากับต้นทุเรียนที่ปลูกในพื้นที่นั้นที่เคยพบ คือ ทุเรียนเกิดโรครากเน่า โคนเน่า และโรคเชื้อราไฟทอปเทอร่า การดูแลรักษาขณะนั้นไปได้ยาจากทางเกษตรอำเภอนำมาแจกหรือจ่ายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ทำให้ช่วยได้ระดับหนึ่ง หรือสามารถช่วยให้หาย และป้องกันได้ ในส่วนของแมลงจะเป็นหนอนด้วง เมื่อช่วงที่เข้าเจาะลำต้นเขาได้ใช้มีดเหล็กแหลม หรือมีด เจาะตามตัวเอาออกมา และใช้ยากำจัด ส่วนการป้องกันเบื้องต้นได้ใช้เชือกตาข่ายพันรอบต้นเพื่อเป็นการดักหรือจับแมลงดังกล่าว
ฝากถึงเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจปลูกทุเรียน
คุณอุทัยยังได้ฝากถึงเกษตรกร ผู้ที่ผลิตสินค้าเกษตร โดยเฉพาะการผลิตส่งออก ในระหว่างที่จะเข้าสู่ AEC กับการค้ากับประเทศสมาชิก สินค้าอาจจะกลายเป็นลบ หรือ “ศูนย์’’ ด้วยกัน เนื่องจากอาจถูกกีดกันในเรื่องสินค้า คือ ต้องได้คุณภาพ และที่สำคัญเกษตรกรควรระมัดระวังการใช้สารบำรุงพืช ซึ่งมีทั้งสารที่ให้คุณ และโทษ ทั้งนี้หากแต่สินค้ามีคุณภาพ ปลอดภัยต่อผู้ที่บริโภค แม้ว่ามีราคาสูง ก็สามารถขายได้
หากท่านผู้อ่าน หรือเกษตรกร ท่านใดสนใจอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลส่วนตัวได้ที่ คุณอุทัย ขันทอง 25 หมู่ 5 บ้านหนองเต่า ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ 33150 โทร.08-2149-7168 การปลูกทุเรียนหมอนทอง การปลูกทุเรียนหมอนทอง
อ้างอิง : นิตยสารเมืองไม้ผล ฉบับที่ 160 การปลูกทุเรียนหมอนทอง การปลูกทุเรียนหมอนทอง