การปลูกปาล์ม น้ำมันในสวนส้มร้าง กลายเป็นโอกาสหรือวินาทีทองของชาวสวนส้มร้างทุ่งรังสิตมานานเกือบครึ่งทศวรรษ ที่มีแนวโน้มว่าการปลูกปาล์มในพื้นที่นี้จะมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
ลุงจำเนียร มูลผล หรือลุงเนียร หนึ่งในเกษตรกรชาวสวนส้มร้างทุ่งรังสิต ที่ได้รับการส่งเสริมจากทุกภาคส่วนให้มีการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่สวนส้มเดิม
การปลูกปาล์ม น้ำมันในสวนส้มร้าง
ลุงเนียรอารัมภบทถึงเส้นทางชีวิตที่ล้มลุกคลุกคลานของคนในการทำเกษตรมานานเกือบ 58 ปี ว่า ตนและครอบครัวยึดอาชีพเกษตรกรรมมาตลอดในที่ดินของตนในตำบลศาลาครุ ล่าสุดได้หันมาทำสวนส้มโดยปรับที่ราว 20 ไร่ เป็นสวนส้มในระบบร่อง เมื่อทำไปได้ซักระยะก็มีกำไรเป็นกอบเป็นกำ
แต่สุดท้ายทุนก็หาย กำไรก็หด เพราะสวนส้มมีการจัดการสวนที่ซับซ้อน การใช้สารเคมีมานานทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ ผลผลิตลดลง และเกิดการระบาดอย่างรุนแรง ผลผลิตร่วงกองเต็มสวน ทั้งๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาเก็บเกี่ยวด้วยซ้ำ ทำให้ลุงเนียรหมดอาลัยและสิ้นหวังกับการทำสวนส้ม จนต้องเลิกทำไปโดยปริยาย
ผลพวงจากโรคระบาดในครั้งนั้นทำให้เขาต้องมีหนี้สินร่วมล้านบาท ที่กู้ยืมมาจากธนาคารกรุงไทย “ทำสวนส้มทำยาก ใช้ยาและสารเคมีเยอะ แต่พอมาเจอโรคลูกร่วง ผลผลิตตอนหลังแทบไม่ได้เก็บเลย ต้องเป็นหนี้เขาอีกประมาณ 1,000,000 บาท สู้ไม่ไหวก็เลยต้องเลิก” ลุงเนียรตอกย้ำถึงอดีตที่ผ่านมาอย่างเจ็บปวด
ก่อนที่เขาจะตัดสินใจปลูกปาล์มน้ำมันเป็นคนแรกในตำบลศาลาครุในสวนส้มร้าง ที่ไม่ได้มีการดัดแปลงพื้นที่แต่อย่างใด เพราะไม่มีทางเลือกจึงขอไปตายเอาดาบหน้า และเคยเห็นการปลูกปาล์มน้ำมันกันแล้วขายได้ราคาดี อีกทั้งในหลวงท่านก็ทรงส่งเสริมในเรื่องการปลูกปาล์มน้ำมันด้วย
สภาพพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน
จากหลายภาคส่วนที่ส่งเสริม ทำให้เขาได้รับกล้าปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอร่าฟรี เพราะเป็นรุ่นแรกๆ จำนวน 200 กว่าต้น เพื่อนำมาปลูกในเนื้อที่ 10 ไร่ ในขณะที่กล้าพันธุ์ได้รับความเสียหายไปบางส่วนก่อนลงแปลงปลูก จึงทำให้เหลือกล้าพันธุ์เพียง 139 ต้น เท่านั้น ลงปลูกในระยะ 9×9 เมตร หรือประมาณ 22 ต้น ต่อไร่
ซึ่งขั้นตอนในการดูแลสวนปาล์ม ลุงเนียรยอมรับว่าไม่มีพื้นฐานการปลูกปาล์มมาก่อน แต่จากการอบรมและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมได้เข้ามาแนะนำจนถึงสวนปาล์มอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งปาล์มสามารถเก็บผลผลิตได้ จึงทำให้ลุงเนียรมั่นใจพร้อมที่จะเรียนรู้วิธีการดูแลสวนปาล์มของเขาได้เป็นอย่างดี เมื่อต้นปาล์มรุ่นแรกสามารถเก็บผลผลิตได้
เมื่อต้นปาล์มอายุครบ 3 ปี เจ้าหน้าที่ส่งเสริมก็ได้นำกล้าปาล์มน้ำมันอีกจำนวน 500 ต้น เพื่อปลูกเพิ่มเติมอีกราว 15 ไร่ รวมพื้นที่ การปลูกปาล์ม ทั้งหมด 5 ไร่ ขณะนี้อายุปาล์มรุ่นแรกก็ครบ 6 ปี ส่วนรุ่นต่อมาที่ปลูกเพิ่มเติมมีอายุราว 3 ปีเศษ ปาล์มน้ำมันทั้ง 2 รุ่นนี้สามารถเก็บผลผลิตได้ทั้งหมดแล้ว
ในขณะนี้ก็ถือว่าเป็นรายได้หลักของครอบครัว แต่ในช่วงที่ปาล์มยังเล็ก เก็บผลผลิตยังไม่ได้ ลุงเนียรเล่าว่าตนจะปลูกพืชล้มลุกแซมในร่องปาล์ม เช่น พริก มะเขือ ที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือน และนำไปขายเป็นรายได้เสริมเข้ามา แปลงต่อมาจะปลูกมะม่วง และฝรั่ง แซมในร่องปาล์ม ซึ่งพืชทั้งสองชนิดจะให้ผลผลิตได้ทุกๆ 4 เดือน ผลผลิตสามารถเก็บได้ตลอดทั้งปี ดังนั้นรายได้เหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ครอบครัวลุงเนียรดำรงชีวิตอยู่ได้เรื่อยมาตามอัตภาพ
การบริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมัน
การดูแลปาล์มในขั้นต้น ลุงเนียรกล่าวว่าจะใช้การดูแลด้วยวิธีธรรมชาติที่มีการใช้มูลสัตว์ต่างๆ เพิ่มอินทรียวัตถุในดิน และใช้เคมีเป็นตัวเสริมเพื่อให้ปาล์มมีผลผลิต หลังจากปีแรกที่มีการปลูกพืชล้มลุกเสริม ลุงเนียรจะใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก เพราะต้องการผลผลิตของพืชล้มลุก รวมทั้งแปลงใหม่ที่ปลูกมะม่วงและฝรั่งเสริมที่จะให้ผลผลิตไว้ในครึ่งปีแรก
การให้ปุ๋ยเคมีกับพืชแซมก็เหมือนกับเป็นการให้ปุ๋ยกับต้นปาล์มในเวลาเดียวกัน เป็นการประหยัดแรงงาน เวลาในการดูแลสวนปาล์ม ซึ่งการใช้ปุ๋ยเคมีจะลดลงในปีถัดมา และจะใช้ปุ๋ยชีวภาพที่ได้จากมูลสัตว์เป็นหลัก รวมทั้งพืชแซมทุกชนิด ประมาณ 2 ครั้ง/ปี หรือทุกๆ 5-6 เดือน ในอัตรา 50 กระสอบ/ครั้ง คิดเป็นมูลค่าราว 40 บาท/กระสอบ ซึ่งปุ๋ยชีวภาพสามารถหาซื้อได้จากชุมชนในบริเวณใกล้เคียง แต่จะให้ปุ๋ยเคมีเสริมบ้างในบางช่วง หรือทุก 4 เดือน เพื่อให้ต้นปาล์มได้รับสารอาหารที่เพียงพอ อย่างปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-60
ส่วนการให้น้ำก็ได้ดัดแปลงเรือที่เคยใช้กับสวนส้มมาใช้กับสวนปาล์มน้ำมันได้อย่างลงตัว ทุกครั้งที่มีการให้น้ำมะม่วง ฝรั่ง ก็จะให้น้ำกับปาล์มเสมอ ประมาณ 1 ครั้ง/สัปดาห์ ในช่วงหน้าแล้ง และอาจจะเว้นระยะเวลา 15-20 วัน ในฤดูอื่นๆ หรือแทบจะไม่มีการให้น้ำเลยในหน้าฝน
ซึ่งน้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการปลูกพืช ที่เขายืนว่ามีปริมาณน้ำมากพอ เพราะอยู่ติดกับคลองชลประทาน ทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี สะดวกสบายในการสูบน้ำเข้าสวนปาล์ม ที่มีต้นทุนในการบริหารจัดการตลอดทั้งปีประมาณ 50,000-60,000 บาท ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบผลผลิตที่ได้จากการใช้สารชีวภาพ ที่สำคัญไปกว่านั้นสวนปาล์มของลุงเนียรไม่ค่อยมีปัญหามากนัก ทะลายก็ออกตามปกติ ออกทุกกาบ ทางทะลายไม่ลีบ ไม่มีปัญหาเรื่องการผสมเกสร และมีบางต้นเท่านั้นที่ออกทะลายเป็นตัวผู้
แต่จะมีปัญหาอยู่บ้างเมื่อครั้งปาล์มยังเล็กจนถึงอายุ 2 ปีกว่า คือ หนู และด้วง ที่เป็นศัตรูของปาล์มคอยรบกวน ลุงเนียรก็จะใช้ยาหยอดที่เป็นสารจำพวกดูดซึม อย่าง ฟูราดาน ประมาณ 2 ครั้ง/เดือน โรยรอบๆ ต้นปาล์มเพื่อป้องกันเมื่อปาล์มมีอายุมากขึ้น ปัญหาเหล่านี้ก็แทบจะไม่มี จนกระทั่งในขณะนี้ก็ไม่พบปัญหาดังกล่าว
แรงงาน ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการทำสวนปาล์ม
แต่ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการทำสวนปาล์ม ก็คือ แรงงาน ที่ลุงเนียรเผยว่าแรงงานที่ใช้ภายในสวนปาล์มของเขาส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานในครอบครัวที่มีเพียงลุงเนียรและภรรยาเท่านั้น ส่วนลูกๆ ทั้ง 3 คน ก็ไม่ได้เข้ามาช่วยดูแล เพราะต่างมีหน้าที่การงานของใครของมัน บ้างก็รับราชการ และทำงานบริษัทในเมืองกรุง
ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตจะมีแรงงานที่เป็นเพื่อนบ้านที่เคยเรียกมาช่วยงานในสวนปาล์มเป็นประจำจนคุ้นเคยมาช่วยบ้าง โดยมีค่าจ้างแทงปาล์มวันละ 280 บาท หรือ 300 บาท/วัน หากปาล์มมีอายุมาก ต้นสูงขึ้น ซึ่งเป็นราคาที่ทำอยู่ได้ และลุงเนียรอยู่ได้
การตัดปาล์มก็จะเลือกตัดปาล์มสุกเท่านั้น ที่จะดูจากลักษณะสีผิวของปาล์มจะมีสีส้มจัด หรือบางต้นแม้ว่าผิวนอกจะดำ แต่เนื้อในจะชุ่มแก่จัด และไม่เคยโดนตำหนิจากลานเท เพราะการตัดปาล์มนี้ลุงเนียรจะคอยกำกับดูแลคนตัดปาล์มอยู่ตลอด จนเพื่อนบ้านที่เป็นแรงงานเกิดความชำนาญไม่มีปัญหาการตัดปาล์ม
รายได้จากผลผลิตปาล์มน้ำมัน
ลุงเนียรเสริมว่าในส่วนลึกของจิตใจก็อยากจะขยายพื้นที่ การปลูกปาล์ม เพิ่ม แต่ก็ต้องหยุดความคิดเอาไว้เพียงเท่านี้ เพราะพื้นที่หายาก บวกกับอายุมากขึ้นทุกวัน ไม่มีใครช่วยคงจะดูแลมากกว่านี้ไม่ได้
ปัจจุบันลุงเนียรมีรายได้จากการขายปาล์มทั้งสวนที่มีอายุระหว่าง 3-6 ปี เฉลี่ย 5-6 ตัน/ครั้ง คิดเป็นเงินเฉลี่ย 30,000 บาท/ครั้ง หรือ 60,000 บาท/เดือน ซึ่งลานเทอยู่ห่างจากสวนปาล์มของตนเพียง 6 กม. เท่านั้น จากที่เคยเป็นหนี้เฉียดล้านที่หยิบยืมมาจากธนาคารกรุงไทยในอดีตกลับเป็นไทแก่ตน เพราะมีรายได้จากการทำสวนปาล์มน้ำมัน ใช้ระยะเวลาเพียงปีกว่าๆ ลุงเนียรก็สามารถปลดหนี้ได้สำเร็จ แถมยังมีเงินออมที่เหลือจากการใช้สอยภายในชีวิตประจำวันนานกว่า 2 ปีแล้ว
สุดท้ายนี้ลุงเนียรได้ฝากข้อคิดเกี่ยวกับ การปลูกปาล์ม น้ำมันในระบบร่องกับการใช้ชีวภาพว่าเป็นสิ่งที่ดี ช่วยฟื้นฟูดิน เพิ่มผลผลิตให้กับปาล์ม
การเป็นเกษตรกรรายย่อย มีทุนน้อย ไม่สามารถใส่ปุ๋ยตามสูตรที่นักวิชาการแนะนำได้ การใช้ชีวภาพจึงเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร และลุงเนียรตั้งใจว่าจะยึดอาชีพทำสวนปาล์มน้ำมันตลอดไป “เพราะปาล์มมีข้อดีหลายอย่าง ไม่ต้องดูแลมากมายเหมือนกับสวนส้ม ไม่ต้องฉีดยาบ่อยๆ รู้สึกภูมิใจที่มีวันนี้ และจะเดินหน้าทำปาล์มต่อไป ไม่ได้หวังจะร่ำรวยมากมาย แต่ขอให้พอเลี้ยงครอบครัวก็พอแล้ว”
สนใจติดต่อสอบถาม การปลูกปาล์ม ในสวนส้มร้างได้ที่ ลุงจำเนียร มูลผล 49/1 ต.ศาลาครุ อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี โทร.08-4651-6393