สภาพพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน
คุณสุทิน สุขนาบูรณ์ หนึ่งในเกษตรกรชาวสวนส้มทุ่งรังสิต หลังจากหมดหวังกับการทำสวนส้มก็ได้หันมาทำนาข้าวบนเนื้อที่ 100 กว่าไร่ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเดิมเป็นชาวสวนไม่ค่อยถนัดการทำนา ซึ่งแต่ก่อนรัฐบาลยังไม่มีนโยบายการรับจำนำเหมือนในขณะนี้ ทำให้ข้าวราคาถูก มีรายได้เข้ามาก็ไม่ค่อยเหลือ เพราะต้องจ้างหมดทุกอย่าง ก่อนจะหันมาเอาดีในการปลูกปาล์มน้ำมัน เครื่องตัดปาล์ม
โดยการปรับพื้นนาขึ้นมาเป็นสวนปาล์มในระบบร่องคู่ ปลูกสลับฟันปลาในระยะ 9×9 เมตร ในขณะที่สภาพดินยังมีความเป็นกลาง “ผมขุดใหม่ตามรูปแบบมาตรฐานเลย ปลูกร่องละ 2 แถว ห่าง 8 วา หรือ 16 เมตร ตามหนังสือที่เขาแจกมา” คุณสุทินเผยก่อนจะนำ
- ปาล์มน้ำมันสายพันธุ์เทเนอร่าลูกผสมจำนวน 1,300 ต้น
- พันธุ์ยังกัมบิจำนวน 1,000 ต้น และ
- พันธุ์เดลิไนจีเรียของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวน 200 ต้น
มาปลูกในพื้นที่ที่เตรียมเอาไว้ทั้ง 3 สายพันธุ์ จึงมีอายุที่ต่างกัน สามารถเก็บผลผลิตได้ทั้งหมด เช่น เทเนอร่าลูกผสม 1,300 ต้น และเดลิไนจีเรียมีอายุใกล้เคียงกันประมาณ 2-2 ปีกว่า เป็นต้น
การทำสวนปาล์มก็ใช้แรงงานไม่มาก
คุณสุทินย้ำว่าหากจะเปรียบเทียบการทำสวนปาล์มกับสวนส้ม สวนปาล์มสู้สวนส้มไม่ได้ ทั้งผลผลิตและรายได้ แต่รายจ่ายค่อนข้างสูง ต้องคลุกคลีกับสารเคมี ลูกจ้างก็ท้อ นายจ้างก็ท้อ เพราะสารเคมีราคาแพง
ดังนั้นปาล์มน้ำมันจึงดีกว่า แม้จะมีรายได้น้อยแต่รายจ่ายก็น้อย ไม่ต้องคลุกคลีกับสารเคมี อายุยืนขึ้น สิ่งแวดล้อมก็ดี ไม่มียาฆ่าแมลง และยาฆ่าหญ้า เพราะหันมาตัดหญ้า ซึ่งปัจจุบันแรงงานค่อนข้างหายาก การทำสวนปาล์มก็ใช้แรงงานไม่มาก และปาล์มระบบร่องคู่ช่วยให้การดูแลจัดการสวนปาล์มง่ายขึ้น เช่น ตัดแต่งกิ่งแล้ววางตรงกลางแถวได้ ตัดหญ้าก็ง่าย เป็นต้น
การให้น้ำและปุ๋ยต้นปาล์มน้ำมัน
การให้น้ำส่วนใหญ่จะให้เฉพาะหน้าแล้ง เพราะพื้นที่ทุ่งรังสิตมีน้ำที่อุดมสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว และสิ่งที่สำคัญที่สุดของปาล์มร่องคู่ จะทำให้ปุ๋ยไม่ไหลลงน้ำ ซึ่งการใส่ปุ๋ยในช่วงแรกเจ้าตัวยอมรับว่าไม่ค่อยมีความรู้เท่าไหร่นัก โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ ปุ๋ยปาล์มยังไม่มีก็จะใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21, 25-77 ประมาณ 2-3 ขีด/ต้น/ครั้ง
แล้วค่อยขยับขึ้นมาใส่ครึ่งกิโลกรัม/ต้น/ครั้ง ในช่วงที่ปาล์มยังไม่ให้ผลผลิต ต่อมาเมื่อมีปุ๋ยปาล์มผลิตออกมาขายก็หันมาใช้ปุ๋ยสูตร 13-6-27 เมื่อปาล์มอายุราว 2 ปี จะใส่ปุ๋ยในอัตรา 1 กก./ต้น/ครั้ง แต่ปาล์มอายุ 5 ปี จะใส่ 2 กก./ต้น/ครั้ง รอบทรงพุ่มทุก 60-70 วัน
ในขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์จำพวกขี้ไก่แกลบ หรือไก่เนื้อ จะใส่คราวละ 1 กระสอบ (25 กก.)/ต้น/ปี เพื่อปรับปรุงดิน ซึ่งปาล์มทั้ง 3 สายพันธุ์ จะตอบสนองต่อปุ๋ยค่อนข้างดี
“เราใส่ปุ๋ย ปาล์มทุกพันธุ์มันจ้องจะกินปุ๋ยอยู่แล้ว แต่สำคัญที่สุดเวลาเราจะปลูกต้องเลือกสายพันธุ์ที่เราจะนำมาปลูกด้วย ถ้าพันธุ์ไม่ดีเดี๋ยวทะลายมันจะเล็ก มันออกลูกจริง แต่ไม่ค่อยเป็นเม็ด ยังกัมบิจะติดลูกดีกว่า แต่มันเพิ่ง 2 ปีกว่า ทะลายมันยังไม่ใหญ่ เดลิไนจีเรียก็จะติดลูกง่าย แต่ทะลายไม่ค่อยใหญ่เท่าเทเนอร่า ต้องผสมเกสร มีแรงงานคนเดียว ผมก็ช่วยแรงงานด้วย เราจะเดินผสมทุกๆ 3 วัน หมุนเวียนทั้งแปลงใหญ่และแปลงเล็ก แต่ตัดหญ้าจะจ้างคนนอกมาทำ” คุณสุทินกล่าว
ที่สำคัญต้องผสมเกสรช่วย เพราะในสวนปาล์มเกสรตัวผู้ไม่ค่อยมี มีแต่ต้นตัวเมีย ถ้าหากไม่ช่วยผสมเกสรทะลายจะลีบ ฝ่อ ไม่มีเม็ด หากผสมเกสรช่วยจะดีมาก แต่ปาล์มช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงพักต้น ผลผลิตจึงมีน้อย ประมาณ 9-10 ต้น/ครั้ง หรือ 20 ต้น/เดือน มีรายได้ประมาณแสนกว่าบาท/เดือน คาดว่าอีกประมาณ 2-3 เดือน ผลผลิตจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น
ตัดแต่งใบปาล์มโดยใช้ เครื่องตัดปาล์ม
นอกจากนี้จะจ้างดูดเลนช่วยบำรุงต้นปีละครั้ง รวมไปถึงการใช้เครื่องตัดไม้ดัดแปลงมาเป็นเครื่องตัดแต่งกิ่ง หรือทางใบ ช่วยให้ประหยัดเวลา ทำงานได้เร็วขึ้น แถมยังประหยัดแรงงานอีกด้วย จึงทำให้คุณสุทินมีต้นทุนในการผลิตหลายแสนบาท/ปี
ปัญหาที่พบก็จะมีบ้าง ตั้งแต่ต้นปาล์มที่ซื้อมาในรุ่นแรกราว 1,300 ต้น จะมีเพียง 7-8 ต้น ที่ต้องฟันทิ้ง เพราะต้นใหญ่ เอวใหญ่ แต่ทะลายเล็ก เก็บไว้ก็ไม่คุ้ม จนต้องนำปาล์มพันธุ์คอมแพคท์มาปลูกแซมไว้รอปลูกเสริม เพราะตอนที่ซื้อต้นพันธุ์ เกษตรกรส่วนใหญ่จะไม่มีความรู้ในเรื่องนี้มากนัก พอนำมาปลูกถึงจะรู้ว่ามันไม่ดี ปัญหาต่อมาคงหนีไม่พ้นที่ต้องสูญเสียเวลามากพอสมควรไปกับการช่วยผสมเกสร ซึ่งแตกต่างจากการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่อื่น
การเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มน้ำมัน
การปลูกปาล์มน้ำมันเพียง 2 ปีครึ่ง ก็ให้ผลผลิตได้ ปลูกพืชอย่างอื่นก็ไม่แน่นอน แต่ปาล์มน้ำมันจะให้ผลผลิตแน่นอน น้ำท่วมไม่ตาย ยาไม่ต้องฉีด ไม่เปลืองแรงงาน มีลานรับซื้อผลผลิตในพื้นที่ ง่ายต่อการจัดการผลผลิต และการรวมกลุ่มของเกษตรกรจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สามารถนำเคล็ดลับจากกลุ่มไปพัฒนา เพิ่มศักยภาพสวนปาล์มของตนเองได้
ขอขอบคุณ คุณสุทิน สุขนาบูรณ์