สถานการณ์ข่าวประจำสัปดาห์ของนิตยสารพลังเกษตร
ชูสินค้าทางเลือก จ.สมุทรปราการ มะพร้าวน้ำหอม-ผักกระเฉด ราคาดี มีตลาดรองรับ
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกสินค้าทางเลือกเพื่อเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกร ควรปรับรูปแบบการผลิตเป็นเกษตรแบบผสมผสานแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หรือการเลี้ยงปลาเพียงอย่างเดียว
ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนการผลิตและพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างหลากหลาย อาทิ มะพร้าวน้ำหอม มีต้นทุนการผลิต 4,466 บาท/ไร่/ปี สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี ให้ผลผลิตใน 40-60 วัน/รอบ เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ 17,800 บาท/ไร่/ปี (ประมาณ 6 รอบ) ราคาผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ดี มีตลาดชุมชนเมืองรองรับ และแปรรูปทำวุ้นมะพร้าวอ่อน รวมทั้งมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อที่สวน เกษตรกรสามารถปลูกรอบคันบ่อเลี้ยงปลา คันนาข้าว และการดูแลรักษาใส่ปุ๋ยในปริมาณที่น้อย ส่วนการรดน้ำ รดน้ำตอนปลูกใหม่ ส่วนต้นโตไม่ต้องรดน้ำ เพราะรากสามารถดูดน้ำจากบ่อปลาได้ ทั้งนี้ราคารับซื้อของจังหวัด เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 7.83 บาท ผักกระเฉด มีต้นทุนการผลิต 28,800 บาท/ไร่/ปี ให้ผลผลิตใน 90 วัน เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ 52,800 บาท/ไร่/ปี (ประมาณ 4 รอบ) ซึ่งเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสมุทรปราการ มีตลาดรองรับแน่นอน พ่อค้าคนกลางมารับซื้อที่แปลง และสามารถปลูกผักกะเฉดสลับกับการเลี้ยงปลาได้ โดยปัจจุบันผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด อย่างต่อเนื่อง ราคารับซื้อของจังหวัด เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 7.96 บาท
สศก. ร่วมปฏิญญา ขับเคลื่อนโครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.น่าน
การลงปฏิญญาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงานระหว่างส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในพื้นที่ และร่วมการจัดทำแผนภายใต้โครงการฯ ในส่วนของภาคเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในทุกมิติ ทั้งด้านความหลากหลายของทรัพยากรจากธรรมชาติของภูฟ้า เช่น สัตว์บก สัตว์น้ำ แมลง พืชอาหาร พืชสมุนไพร พืชใช้ประโยชน์ เห็ด แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ และภูมิปัญญาประเพณี
สำหรับการดำเนินโครงการฯ ปี 2562 และระยะต่อไปในส่วนของภาคเกษตร มีสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดน่าน เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ร่วมด้วยหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน ปศุสัตว์จังหวัดน่าน ประมงจังหวัดน่าน สหกรณ์จังหวัดน่าน และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 ร่วมขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งขณะนี้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับพื้นที่ไปแล้วจำนวน 3 ครั้ง เพื่อสร้างความเข้าใจ รับฟังความต้องการของเกษตรกร จัดทำฐานข้อมูลด้านการเกษตรของโครงการ และยกร่างกรอบแนวทางและการพัฒนาตาม Road Map ภายใต้วิสัยทัศน์ภาคการเกษตรที่ว่า “เป็นแหล่งศึกษาความสำเร็จของการพัฒนาตามแนวพระราชดำริด้านการเกษตร เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากคุณค่าของการดำรงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่” โดยจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานโครงการศูนย์ภูฟ้าฯ ในด้านต่างๆ อาทิ งานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร และชนเผ่ามละบรี รวมทั้งการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ด้วยการอบรมเกษตรกร ด้านพืช ด้านการเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูง การจัดทำบัญชีต้นทุนอาชีพ และการส่งเสริมพัฒนาแหล่งน้ำ รวมทั้งการจัดหาแหล่งน้ำ การซ่อมแซมและบำรุงรักษาระบบท่อส่งน้ำ และระบบบ่อบาดาล เป็นต้น
สถานการณ์ข่าวประจำสัปดาห์ของนิตยสารสัตว์น้ำ
กรมประมงระดมนักวิชาการ โชว์สุดยอดงานวิจัยในวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจ สู่การผลิตแบบแปลงใหญ่
กรมประมงได้กำหนดจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจ เพื่อนำสู่การผลิตแบบแปลงใหญ่ (เปิดบ้านงานเด่น กพจ.) โดยระดมนักวิชาการจากทั่วประเทศ 42 ศูนย์วิจัยฯ และอีก 6 กลุ่มวิจัยฯ ภายใต้สังกัดกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด
กรมประมงนำมาจัดนิทรรศการและเปิดเวทีบรรยายความรู้กว่า 18 หัวข้อ อาทิ
-นวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนการผลิตลูกพันธุ์ปลานิลคุณภาพ
-จากดินสู่ดาว ปลาตะเพียนขาว 4.0
-ไข่มุกน้ำจืด อัญมณีมีชีวิต
-ธนาคารสัตว์น้ำในแหล่งน้ำชุมชน มุ่งสู่ความมั่นคงทางอาหาร
-มิติใหม่ของการนำเสนอผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านสัตว์น้ำสวยงาม และพรรณไม้น้ำ เพื่อการส่งออกสู่ตลาดโลก ฯลฯ
อีกทั้งยังมีการเสวนา เรื่อง “ทิศทางการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเศรษฐกิจ” จากหน่วยงานภาครัฐ โดยผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หน่วยงานเอกชน โดยคณะกรรมการการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย และสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย ตลอดจนได้รวบรวมผลิตภัณฑ์ประมงของเกษตรกร และกลุ่มเกษตรกรที่มาจาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ นำมาจัดจำหน่ายในงานดังกล่าวด้วย อาทิ เนื้อปลาสเตอเจียนสดหั่นชิ้น ไข่ปลาสเตอเจียนคาร์เวีย ปลาดุกร้า ลูกชิ้นจระเข้ ปลากดหลวงอบชานอ้อย และอีกมากมาย
กรมประมงดึงเยาวชนรุ่นใหม่ปล่อยพันธุ์ปลาพัฒนาคุณภาพชีวิต
นายมหิทธิ์ วงศ์ษา หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ 2 สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้มอบงบประมาณให้กรมประมงเพื่อดำเนินการดังกล่าวในทุกอ่างเก็บน้ำ ไม่เพียงช่วยรักษาระบบนิเวศ แต่ช่วยให้ประชาชนมีปลา มีสัตว์น้ำ ทั้งบริโภคและขาย
ด้วยความที่จำนวนปลาและสัตว์น้ำในอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งมีค่อนข้างมาก ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพชาวประมงจึงมีรายได้ค่อนข้างดี เลี้ยงปาก เลี้ยงท้อง และครอบครัวได้ ทว่ามีไม่น้อยที่การหาประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำเลยเถิดจนเกินไป ทำให้กรมชลประทานต้องมีกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เช่น ช่วงที่เรียกว่า “ช่วงน้ำแดง” มีกฎห้ามจับสัตว์น้ำโดยเครื่องมือบางประเภท ทุกอ่างเก็บน้ำมีกฎเหมือนกัน ซึ่งออกโดยกรมประมง นอกจากนี้กรมประมงยังเข้ามาช่วยดูแล ดูว่ามีใครลักลอบทำผิดกฎหมายหรือไม่ มีใครใช้เครื่องมือต้องห้ามหรือเปล่า ซึ่งกรมชลประทานเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณให้แก่กรมประมงเพื่อดำเนินการ
ทั้งนี้การส่งเสริมเรื่องพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำ นับเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน เพื่อสร้างความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตคนรอบอ่างเก็บน้ำ ซึ่งส่วนมากประกอบอาชีพทำประมงน้ำจืด ให้มีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอ มีคุณภาพ แล้วยังต่อยอดถึงเรื่องรายได้ที่มาจุนเจือครอบครัวในด้านต่างๆ ไม่ขัดสน ปลาแต่ละตัว สัตว์น้ำแต่ละชนิด ที่กรมชลประทานปล่อยลงไปในอ่างเก็บน้ำ จึงเป็นเสมือนการต่อลมหายใจให้คนรอบอ่าง
สถานการณ์ข่าวประจำสัปดาห์ของนิตยสารสัตว์บก
การส่งออกโคเนื้อไปยังประเทศจีน ผ่านฉลุย 2 พันตัว/วัน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานหารือการค้าเพื่อส่งออกโคเนื้อไปจีน ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว พร้อมนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ นายศรายุทธ ยิ้มยวน รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายสมชาย ดวงเจริญ ผู้ประกอบการบริษัท LS trading export import Co.,Ltd. ฝ่ายลาว และนายหยางเจียง ผู้จัดการบริษัท LS chengkang ฝ่ายจีน ที่กระทรวงเกษตรฯ ว่า การหารือวันนี้ ทั้ง 3 ฝ่าย ยินดีค้าโคเนื้อร่วมกัน อย่างไรก็ตามไทยกับจีนยังไม่สามารถเจรจาการค้าได้โดยตรง จึงใช้บริษัทของลาว ซึ่งเป็นบริษัทลูกจากจีน เป็นตัวกลางส่งต่อโคเนื้อของไทย พร้อมกันนี้จีนกำหนดคุณสมบัติของโคที่จะรับซื้อต้องเป็นลูกผสมอเมริกันบราห์มัน หรือลูกผสมยุโรปทุกสายพันธุ์ น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 350-400 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 100 บาท ส่งออกวันละ 2,000 ตัว โดยลาวจะนำโคจากไทยไปเลี้ยงต่ออีก 45 วัน ที่คอกโคขุนเพื่อเตรียมน้ำหนักของโค จากนั้นเข้าคอกกักกันโรคอีก 30 วัน รวม 75 วัน จึงจะส่งข้ามไปจีนได้ ทั้งนี้จีนต้องการเนื้อโคสำหรับบริโภคในประเทศอีกประมาณ 9 ล้านตัน หรือคิดเป็นโคมีชีวิตประมาณ 40 ล้านตัวต่อปี นอกจากนี้กรมปศุสัตว์จะเริ่มเตรียมความพร้อมของเกษตรกร โดยสร้างการรับรู้ที่ดี ปรับปรุงระบบการผลิตให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของตลาดภายในและต่างประเทศ เพื่อให้น้ำหนักวัวได้มาตรฐาน ผลิตจากฟาร์ม GAP หรือฟาร์มปลอดโรค ของกรมปศุสัตว์ เป็นต้น
ซ้อมแผนเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุม โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ASF
วันที่ 28 สิงหาคม 2562 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกำแพงเพชร ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกำแพงเพชร จัดฝึกซ้อมแผนเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุม โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ระดับจังหวัด รูปแบบเฉพาะหน้าที่ (Functional exercise) มีหัวหน้าส่วนราชการ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วมการฝึก เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุม โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร โดยมีนายไพโรจน์ แก้วแดง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานเปิดงาน โดยมีเจ้าหน้าที่ส่วนสุขภาพสัตว์ และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปศุสัตว์เขต 6 เป็นวิทยากรกระบวนการ