หลังจากรัฐบาลจีน กำหนดมาตรฐาน “ ยางคอมปาวด์ ” ออกมาใหม่ โดยกำหนดสัดส่วนยางธรรมชาติต้องไม่เกินร้อยละ 88 และสัดส่วนอื่นๆ ร้อยละ 12 โดยจากเดิมเคยใช้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ขณะที่ผู้ผลิตยางคอมปาวด์ของไทย ยังขาดความพร้อมในการผลิตมาตรฐานใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ถูกมองว่า เป็นการกีดกันทางการค้าของจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้ายางคอมปาวด์รายใหญ่ของโลก
ในจำนวนการนำเข้าทั้งหมดมาจากไทยสูงถึง 750,000 ตัน/ปี จึงมีความเป็นห่วงกันว่าจะส่งผลทำให้ราคายางของเกษตรกรในภาพรวม
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสมัชชาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมาธิการเกษตร สภาปฏิรูปแห่งชาติ เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า จากสถานการณ์ราคายางตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา สาเหตุหลักสืบเนื่องมาจากรัฐบาลจีน ในฐานะผู้ซื้อยางคอมปาวด์รายใหญ่ของโลกได้ออกสเปค หรือมาตรฐาน การนำเข้ายางคอมปาวด์ใหม่ จากเดิม กำหนดให้มีส่วนผสมของยางธรรมชาติไม่เกิน 95% สัดส่วนยางสังเคราะห์ไม่เกิน 5% ปรับมาเป็นสัดส่วนยางธรรมชาติไม่เกิน 88% ยางสังเคราะห์ไม่เกิน12 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับเป็นการกีดกันผู้ส่งออกยางคอมปาวด์จากประเทศไทย จึงส่งผลทำให้ราคายางของเกษตรกรในภาพรวมตกลงไปด้วย
หากพิจารณาแล้วและปล่อยให้เกิดปัญหาดังกล่าวข้างต้น เท่ากับเป็นการกีดกันผู้ส่งออกยางคอมปาวด์จากประเทศไทยทำให้ต้องเสียภาษีนำเข้าถึงตันละ 1,500 หยวน
รวมทั้งจะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบไม่สามารถส่งออกยางคอมปาวด์ในอนาคตได้ถึงปีละ 7.5 แสนต้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหายอย่างมหาศาล อาจส่งผลกต่อเกษตรกรชาวสวนยางทำให้ราคายางในประเทศไทยลดต่ำลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลไทยโดยการนำของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หรือหม่อมอุ๋ย รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ได้เจรจากับรัฐบาลจีนขอยกเว้นไม่ให้มีการเก็บภาษีนำเข้ายางคอมปาวด์จากประเทศไทย ซึ่งทำให้ราคายางของไทยขยับดีขึ้น แต่ข้อตกลงร่วมดังกล่าวได้ครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 58 ที่ผ่านมา
“ในฐานะตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางจึงขอความกรุณาจาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ จันทรโอชา ได้ช่วยเร่งเจรจาต่อรัฐบาลจีนให้ยกเว้นภาษีนำเข้ายางคอมปาวด์ 12 เปอร์เซ็นต์ให้คงใช้ข้อตกลงเช่นเดิมเมื่อปี 2551 ตามที่ ตัวแทนรัฐบาลไทยได้มีการเจรจากับรัฐบาลจีนไว้เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง
“เพราะปัจจุบันเกษตรกรขายยางต่ำกว่าราคาต้นทุนการผลิตอยู่แล้ว หากปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นนอกจากจะเป็นการสร้างความเสียหายซ้ำเติมเกษตรกรและยังอาจก่อให้เกิดปัญหากับผู้ประกอบการยางคอมปาวด์ของไทยที่ต้องลงทุนและใช้เวลาปรับปรุงเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ ทั้งหมดรวมทั้งจะเกิดความเสียหายในภาพรวมการส่งออกยางของประเทศไทยตามมาอีกด้วย” นายอุทัยกล่าว
ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลจีนถือเป็นมิตรประเทศที่ดีกับไทยมายาวนานในทุกๆ ด้านทั้งทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม และได้ร่วมลงทุนกันกับประเทศไทยในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะล่าสุดรัฐบาลจีนได้มีแผนร่วมลงทุนรถไฟรางคู่กับรัฐบาลไทยหากรัฐบาลไทยได้มีการเจรจาขอความเห็นอกเห็นใจกับรัฐบาลจีนก็น่าจะเข้าใจและพิจารณาให้ความช่วยเหลือไทยในปัญหาครั้งนี้
เรื่องเดียวกันนี้ ดร.ปรีดี ลีลาเศรษฐวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ รับเบอร์ จำกัด แสดงความคิดเห็นไว้ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจว่า เรื่องนี้มีผลให้ผู้ประกอบการไทยต้องไปปรับปรุงเรื่องกระบวนการผลิต ส่งผลทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นและต้องใช้เวลา จึงได้ขอผ่อนระยะเวลาการดำเนินการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใหม่ของจีนจากเดิมจะเริ่มในวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา แต่ได้ขอผ่อนผันเป็นเวลา 1 ปี แต่ทางจีนได้ผ่อนผันให้เพียง 6 เดือนถึงเดือนมิถุนายน 2558 ขณะนี้ถือว่าเลยเวลาผ่อนผันมาแล้ว]
ดร.ปรีดี เชื่อว่าหากไม่ได้รับการผ่อนผันจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางคอมปาวด์ของไทยอย่างแน่นอน แต่ต้องพิจารณาว่าการส่งออกเดือนกรกฎาคมนี้ ไทยจะสามารถส่งออกยางแท่ง STR 20 ทดแทนยางคอมปาวด์ได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ หากส่งออกเพิ่มได้จะไม่ส่งผลกระทบ แต่หากการส่งออกทั้งคอมปาวด์และยางแท่งลดลง ในครึ่งปีหลังการส่งออกจะกระทบแน่นอน
ด้าน นายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวกับหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันว่า ว่า เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้โทรศัพท์สายตรงไปยังลูกค้าจีน ได้รับแจ้งว่ารัฐบาลจีนได้ประกาศหลักเกณฑ์การนำเข้ายางคอมปาวด์ใหม่และมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ทางกรมศุลกากรของจีนยังไม่ได้มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้ายางคอมปาวด์ที่ทำไม่ได้ตามหลักเกณฑ์แต่อย่างใด ทำให้ยังมีการซื้อขายกันปกติ
เขาเชื่อว่าอาจเป็นเพราะเรื่องนี้น่าจะกระทบกับผู้นำเข้าของจีนเช่นกัน จึงยังไม่ได้เข้มงวด
มาตรฐานใหม่ของจีนนี้ นายวรเทพมองว่า รัฐบาลจีนต้องการจะปกป้องชาวสวนยางในจีนที่มีแหล่งปลูกใหญ่ในมณฑลไหหลำและยูนนาน ซึ่งเริ่มเปิดกรีดยางแล้ว
หากแต่ ทพ.พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัดผู้ผลิตและส่งออกยางอันดับ 1 ของไทย กลับมองว่า มาตรฐานใหม่ยางคอมปาวด์ของจีนไม่กระทบการส่งออกยางพาราในครึ่งปีหลังมากนัก เพราะทิศทางการนำเข้าและใช้ยางของจีน ในอนาคตจะใช้ยางแท่ง STR 20 ทดแทนยางคอมปาวด์
ส่วนศักยภาพการผลิตยางคอมปาวด์ของไทย เขาเชื่อว่าจะต้องปรับเปลี่ยนการผลิตให้ตรงกับความต้องการของจีนได้ในที่สุด
[wpdevart_like_box profile_id=”112152085551102″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]