ประเทศเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมไปจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ในปีถัดไป สิ่งที่เกิดขึ้นในฤดูหนาวที่เห็นได้ชัดเจน คือ อุณหภูมิจะลดต่ำลงไปเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่ 20 องศาเซลเซียส จนเกือบถึง 0 องศาเซลเซียส หรืออาจถึงติดลบ คือ ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ทำให้มีผลกระทบต่อร่างกายได้ พืชสมุนไพร
การใช้ พืชสมุนไพร ป้องกันโรค
นายแพทย์นรา นาควัฒนนุกูล พูดถึงหลักทฤษฎีการแพทย์แผนไทยว่า ร่างกายคนเรามีธาตุเป็นองค์ประกอบอยู่ 4 ธาตุ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ และอาการเจ็บป่วยของคนเราจะขึ้นอยู่กับการเสียสมดุลของธาตุนั้นๆ ซึ่งการเจ็บป่วยในฤดูหนาวมักเกี่ยวกับธาตุน้ำในร่างกายเสียสมดุล ร่างกายจะแสดงอาการที่พบบ่อย คือ อาการเจ็บคอ แสบคอ มีเสมหะ
อาการดังกล่าว คือ กลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ คนไทยเรามีวิธีการดูแลสุขภาพในช่วงฤดูหนาวด้วยการแพทย์แผนไทย นำสมุนไพรมาปรับใช้เพื่อป้องกันหรือแก้หนาว ด้วยสมุนไพรไทยที่หาได้ง่ายตามท้องตลาดหรือบริเวณบ้านที่มีมาก ด้วยการปรับสมดุลของธาตุน้ำ ได้แก่
สมุนไพรป้องกันโรค 8 ชนิด
พริก
พริก chilli พริกมีสารแคพไซซิน (capsaicin) ซึ่งช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดในร่างกาย และทำให้ความรู้สึกหนาวเย็นบริเวณปลายนิ้วมือ-ปลายนิ้วเท้าลดลง
กระเทียม
กระเทียม (garlic) ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของหลอดเลือด โดยเฉพาะที่บริเวณผิวหนัง กระเทียมสามารถรับประทานได้ทั้งสดและเป็นเครื่องปรุงอาหาร
ขิง
ขิง (ginger) มีสารจิงเกอรอล (gingerol) ช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดเลว ทำให้เลือดไม่แข็งตัวหรือจับเป็นลิ่มเลือดง่าย
ข่า
ข่า (galangal) มีสรรพคุณในการบำรุงธาตุไฟ ช่วยย่อยอาหาร แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน ช่วยลดเสมหะ บำรุงร่างกาย ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และต้านมะเร็ง
กระชาย
กระชาย (finger root) เป็นพืชที่มีรสร้อน มีวิตามิน เอ บี 12 และแคลเซียม
สรรพคุณ ช่วยระบบย่อยอาหาร บรรเทาอาการจุกเสียดในกระเพาะอาหาร
กระเพรา
กระเพรา (basil) โดยเฉพาะใบสดมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบด้วย linalool และ methyl chavicol
สรรพคุณ เป็นยาแก้ขับลม แก้อาการจุกเสียด นำใบสดมาคั้นน้ำใช้ขับเสมหะ ขับเหงื่อ หากมีแผลหรือเป็นโรคผิวหนัง นำน้ำคั้นกระเพรามาทาบริเวณผิวหนังซึ่งสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้บางชนิด นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ป้องกันยุงได้นานถึง 2 ชั่วโมง
โหระพา
โหระพา (sweet basil) ใช้ใบคั้นเอาน้ำประมาณ 1 ถ้วย ผสมน้ำผึ้ง จิบแก้ไอ หลอดลมอักเสบ และขับเหงื่อ
สะเดา
สะเดา (neem) มีคุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก เส้นใย เบตาแคโรทีน วิตามินเอ วิตามินบี 1 และ 2 วิตามินซี และไนอาซีน
ประโยชน์และสรรพคุณ บำรุงธาตุไฟ สร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย และแก้ไข้ ช่วยให้อุจจาระละเอียด ขับถ่ายคล่อง และช่วยให้นอนหลับสบาย เรานิยมนำดอกและใบนำมารับประทาน
นอกจากเรื่องการปรับสมดุลของธาตุในร่างกายแล้ว ในฤดูหนาวยังมีปัญหาเรื่องผิวหนังแห้ง ถือเป็นปัญหาที่สร้างความรำคาญแก่เราได้หากไม่ดูแลรักษา เพราะเมื่อผิวหนังแห้งจะทำให้รู้สึกคัน รำคาญ บางคนจะรู้สึกแสบร้อนบริเวณผิวหนังที่คันจนเกิดแผลอักเสบเลือดออก และมีเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเกิดอาการอักเสบ ซึ่งหากมีผิวแห้ง มีข้อแนะนำให้นำน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ทาจะช่วยให้ผิวเกิดความชุ่มชื้นได้นาน หากใช้น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันงาจะช่วยลดอาการอักเสบของผิวหนัง ป้องกันมะเร็งผิวหนังที่เกิดจากแสงแดดได้
เมื่อทราบถึงวิธีการใช้พืชผักสมุนไพรแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่ยาก เพียงแค่เราใส่ใจต่อการรับประทานที่มีส่วนประกอบของพืชผักสมุนไพรเป็นประจำ จะเป็นการป้องกันการเกิดโรคที่มักเกิดขึ้นในฤดูหนาว นอกจากรับประทาน พืชสมุนไพร แล้ว ควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมออีกด้วย เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง มีคำไทยกล่าวว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” ดังนั้นเราควรป้องกันไว้ดีกว่ามาตามแก้ไขภายหลัง.
ขอขอบคุณข้อมูล สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน คุณนิสารัชต์ นิลสว่าง/เรียบเรียง