ฉบับนี้ทีมงานเมืองไม้ผลจึงขอแวะชมบ้านสวนนันทบุรี อ.แม่จริม จ.น่าน ของคุณวิศิษกร์ รัศมีวงค์ และ คุณนิติพัฒน์ ชูกล้ากสิกรณ์ เป็นสวนอินทผลัมเจ้าแรกของจังหวัดน่าน และมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่ปลูกอินทผลัมเพื่อเพิ่มรายได้และความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์อินทผลัม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Phoenix dactylifera
ชื่อวงค์ : Palmae (Arecaceae)
ชื่อสามัญ : Date Palm
การกระจายพันธุ์ : ตะวันออกกลาง, อเมริกาใต้เขตร้อน
“ อินทผลัม ” จัดเป็นพืชตระกูลปาล์มชนิดหนึ่ง และมีหลากหลายสายพันธุ์ เป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีในเขตที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้ง อย่าง ทะเลทราย โดยอินทผลัมมีถิ่นกำเนิดในแถบตะวันออกกลาง โดยประเทศที่ผลิตอินทผลัมรายใหญ่ ได้แก่ อียิปต์ ซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน อาหรับ และอัลจีเรีย เป็นต้น
เมื่อเป็นผลไม้เมืองร้อนที่สามารถขึ้นในสภาพภูมิอากาศแบบทะเลทราย ซึ่งมีสภาพอากาศร้อนและแทบไม่มีฝนตก อินทผลัมจึงมีความทนทานต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้งได้เป็นอย่างดี ทำให้คนไทยส่วนมากเข้าใจว่าอินทผลัมเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย แต่ความจริงแล้วไม้ผลชนิดนี้ก็ต้องการน้ำมากเป็นอย่างสูง โดยมีความต้องการน้ำถึงปีละ 2,750 ลิตร/ปี/ต้น โดยประมาณ
ต้น อินทผลัม ลำต้นมีความสูงประมาณ 30 เมตร ขนาดของลำต้น 30-50 เซนติเมตร ลักษณะของใบเป็นแบบขนนกยาวแหลมติดอยู่บนต้นประมาณ 40-60 ก้าน แต่ละใบมีทางยาวประมาณ 3-4 เมตร ใบย่อยจะพุ่งออกแบบหลากหลายทิศทาง และดอกจะออกเป็นช่อ ออกดอกบริเวณโคนกาบใบ และขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการแยกหน่อจากต้นใหญ่ตัวเมีย
ลูก อินทผลัม มีลักษณะเป็นผล ทรงกลมรี ออกเป็นช่อ มีความยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร มีรสหวานฉ่ำ สามารถรับประทานได้ทั้งผลดิบและสุก โดยผลอินทผลัมสดจะมีสีเหลืองไปจนถึงสีส้ม และเมื่อแก่จัดผลจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์) และพัฒนาการของอินทผลัมจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะผลดิบ-ระยะสมบูรณ์-ระยะสุกแก่-ระยะผลแห้ง โดยผลอินทผลัมสุกเราสามารถนำไปตากแห้งเก็บไว้รับประทานได้หลายปี และจะมีรสชาติหวานจัดเหมือนกับการนำไปเชื่อมด้วยน้ำตาล
คุณวิศิษกร์เล่าให้ฟังว่า เดิมทีเขาปลูกยางพาราใกล้จะกรีดน้ำยางได้แล้ว แต่เขากลับโค่นต้นยางพาราทิ้งแล้วนำต้นอินทผลัมมาลงปลูกแทน จึงเป็นไปได้ว่ามีแต่คนว่าเขา “บ้า” แต่หลังจากนั้น 2 ปี ก็มีผลผลิตของลูกอินทผลัมไว้จำหน่าย ซึ่งตลาดมีความต้องการสูง และเรื่องของราคาอยู่ในระดับดีมากทีเดียว
นอกจากมี การปลูกอินทผลัม ที่สวนของตนแล้วยังมีการส่งเสริมให้เกษตรกรรายอื่นได้ปลูกอีกเช่นกัน จึงทดสอบ ปลูก อินทผลัม ไปในหลายพื้นที่ เช่น กาญจนบุรี และราชบุรี เป็นต้น เพราะพืชบางชนิดเหมาะสมกับพื้นที่บางพื้นที่เท่านั้น เช่น ทุเรียน ควรปลูกที่จังหวัดนนทบุรี ถึงมีรสชาติอร่อย เป็นต้น อินทผลัม ถ้าปลูกในพื้นที่ภาคใต้จะไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก เพราะฝนจะเยอะ ถึงจะเป็นพืชที่ต้องการน้ำแต่ก็ไม่ชอบน้ำเยอะเกินไป บริเวณที่มีน้ำขังหรือแฉะมากก็ไม่ดี เพราะถึงต้นจะสมบูรณ์แต่จะไม่ให้ผลผลิตเพราะได้รับน้ำมากเกินไป
[wpdevart_like_box profile_id=”108666299214543″ connections=”show” width=”300″ height=”220″ header=”big” cover_photo=”show” locale=”th_TH”]