การเลี้ยงเป็ดจัดเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้ ในอดีตประเทศไทยเลี้ยงเป็ดรูปแบบเล้าเปิด ด้วยความเชื่อที่ว่าเป็ดเป็นสัตว์ปีกที่ต้องเล่นน้ำ แต่เมื่อการเลี้ยงเป็ดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น วิถีการเลี้ยงย่อมต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันต่อโลก การปรับเปลี่ยนรูปแบบเล้าเป็นแบบระบบอีแวป เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ คุณอาจสงสัยว่าการปรับเปลี่ยนเช่นนี้จะเกิดประโยชน์อย่างไร? เป็ดสายพันธุ์เชอรี่วอลเลย์
การเลี้ยงเป็ด
นิตยสารสัตว์บก ได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับ คุณปิยะ แก้วสมจันทร์ หนึ่งในหุ้นส่วนใหญ่ของ บริษัท บี.เอ็น.ฟาร์ม จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ปีกมากว่า 10 ปี ให้เกียรติเล่าสู่กันฟังถึงการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเลี้ยงเป็ดในระบบอีแวปจนประสบความสำเร็จ และสามารถขยายกิจการได้มากถึง 4 ฟาร์ม
บริษัท บี.เอ็น.ฟาร์ม จำกัด ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2552 โดยมีหัวเรือใหญ่ คือ “คุณบรรณสิทธิ์ ศิรวุฒินานนท์” เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทฯ โดยใช้เงินลงทุนเริ่มต้นสร้างฟาร์มเลี้ยงเป็ดเนื้อแห่งแรกขึ้นที่ อ.เมือง จ.สระแก้ว แต่ด้วยความที่คุณบรรณสิทธิ์นั้นยังไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยง จึงทำให้ผลประกอบการที่ได้ไม่ตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
หลังจากการลองผิดลองถูกด้วยตนเองอยู่ 1 ปี และได้มีโอกาสรู้จักและร่วมพูดคุยกับ “สัตวแพทย์นิรันดร์ มีทรัพย์อนันต์” และ “นายปิยะ แก้วสมจันทร์” เกี่ยวกับการดูแลจัดการฟาร์ม จึงชักชวนให้ทั้ง 2 ท่าน มาร่วมเป็นหุ้นส่วนของบริษัทฯ เพื่อเข้ามาช่วยบริหารในด้านการจัดการ การวางแผนงาน ทั้งรูปแบบการเลี้ยง และแนวทางการตลาด
จนปัจจุบันสามารถขยายธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ปีก ทั้งส่วนเป็ดเนื้อ ซึ่งมีโรงเรือนเลี้ยงกว่า 30 โรงเรือน และโรงเรือนไก่เนื้ออีกกว่า 12 โรงเรือน จำนวนโรงเรือนละ 30,000 ตัว ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี นับได้ว่าเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของบริษัทอย่างแท้จริง
การบริหารจัดการโรงเรือนเป็ด
ปัจจุบัน บี.เอ็น.ฟาร์ม ขยายกิจการการเลี้ยงเป็ดบนเนื้อที่รวมกว่า 180 ไร่ มีจำนวนเป็ดประมาณ 411,000 ตัว ในเขตจังหวัดสระแก้ว มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
-บี.เอ็น.ฟาร์ม ขนาด 14×120 เมตร จำนวน 6 โรงเรือน และขนาด 24×100 เมตร จำนวน 4 โรงเรือน
-บี.เอ็น.ฟาร์ม 2 ขนาด 24×100 เมตร จำนวน 10 โรงเรือน
-บี.เอ็น.ฟาร์ม 3 ขนาด 24×100 เมตร จำนวน 4 โรงเรือน
-บี.เอ็น.ฟาร์ม 4 ขนาด 24×100 เมตร จำนวน 6 โรงเรือน
คุณปิยะเปิดเผยว่า บี.เอ็น.ฟาร์ม เลี้ยงแบบระบบคอนแทรคกับบริษัทใหญ่ เช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ซึ่งการเลือกคอนแทรคก็แล้วแต่รอบการเลี้ยงและผลกำไรที่บริษัทได้รับ แต่ปัจจุบันบี.เอ็น.ฟาร์ม เลี้ยงกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ทั้งหมด โดยทางซีพีจะส่งทีมสัตวแพทย์และสัตวบาลเข้ามาช่วยดูแล เพื่อให้ได้ผลกำไรตามที่บริษัทตั้งเป้าไว้ โดยมีการใช้ลูกเป็ด อาหาร วัคซีน และวิตามินเสริม ตามที่ทีมสัตวแพทย์ของซีพีควบคุมทุกประการ
ด้วยความที่การเลี้ยงในระบบปิดเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และการเลี้ยงในระบบปิดคนเลี้ยงยังสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ทั้งด้านสภาพอากาศ ความชื้น ความเร็วลม และแสง ได้ง่ายขึ้น คุณปิยะและทีมงานจึงมีความคิดริเริ่มที่จะนำนวัตกรรมโรงเรือนระบบปิดเข้ามาปรับในการเลี้ยงเป็ด เพื่อนำมาซึ่งคุณภาพของเนื้อ อัตราการเจริญเติบโตต่อตัวต่อวัน และช่วยย่นระยะเวลาในการเลี้ยงให้สั้นมากขึ้น
“ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน การเลี้ยงเป็ดเป็นแบบเล้าเปิด มีแหล่งน้ำ แต่การพัฒนาของนวัตกรรมทำให้เราต้องปรับตัว และการเลี้ยงในระบบอีแวปทำให้จำนวนตัวต่อพื้นที่เพิ่มขึ้น การเจริญเติบโตนิ่งกว่า น้ำหนักที่ได้เท่ากัน แต่ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้นกว่า จากเดิม 54 วัน เหลือเพียง 40 วัน เท่านั้น สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ง่าย และมีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 30-40 บาท/ตัว ผมคิดว่ามันเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง ถึงแม้การลงทุนจะสูง แต่ผลที่ได้รับกลับมาถือว่าคุ้มค่า” คุณปิยะกล่าวถึงการเลี้ยงเป็ดในระบบปิด
นอกจากนี้การสร้างโรงเรือนเลี้ยงเป็ดในรูปแบบระบบอีแวปของบี.เอ็น.ฟาร์ม ยังมีความแตกต่างจากโรงเรือนอีแวปทั่วไป ตรงที่บริเวณภายในโรงเรือนจะมีร่องน้ำ ซึ่งเป็นพื้นสแลทอยู่บริเวณด้านใต้จุ๊บน้ำ เพื่อรองรับน้ำที่ไหลเกินออกมา ไม่ให้พื้นที่โรยด้วยแกลบเปียกชื้น ป้องกันไม่ให้เกิดความชื้นและความเฉอะแฉะจนเกินไป และปริมาณน้ำที่ไหลออกจากจุ๊บน้ำจะมีปริมาณมากกว่าเล้าไก่
เทคนิคการเลี้ยง เป็ดสายพันธุ์เชอรี่วอลเลย์
เมื่อพูดถึงสายพันธุ์เป็ดเนื้อที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย คงต้องนึกถึง เป็ดสายพันธุ์เชอรี่วอลเลย์ (Cherry Valley) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของเมืองไทย ตัวใหญ่ น้ำหนักดี และโตเร็ว ซึ่งทางบี.เอ็น.ฟาร์ม ก็เลี้ยงเป็ดสายพันธุ์นี้ โดยคุณปิยะยังเปิดเผยถึงเทคนิคการเลี้ยงเป็ดจากประสบการณ์การเลี้ยงเป็ดมากกว่า 8 ปีว่า ช่วงแรกที่ลงลูกเป็ดจะมีการกกไฟที่อุณหภูมิ 30-35ºC เป็นเวลา 2-3 วัน (ขึ้นกับสภาพอากาศ) หากกกไฟนานเกินไปจะทำให้เป็ดอยู่กันอย่างแออัด ส่งผลให้สุขภาพไม่แข็งแรง
อีกหนึ่งจุดที่สำคัญสำหรับการเลี้ยงเป็ด คือ การโรยแกลบในเล้าทุกวัน เหตุผลที่ต้องโรยแกลบเนื่องจากมูลเป็ดจะเหลวกว่ามูลไก่ ทำให้พื้นมีความชื้นสูง เมื่อเป็ดนอนบนพื้นที่เปียกชื้น รวมกับอากาศในโรงเรือนที่เย็น สุขภาพเป็ดจะอ่อนแอ ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย และเหตุผลสำคัญของการโรยแกลบ คือ ป้องกันอุ้งเท้า ไม่ให้เป็ดเท้าดำ เพราะจะทำให้ไม่สามารถส่งออกได้
ครั้งแรกลงแกลบประมาณ 10 ตัน/โรงเรือน ในหนึ่งวันมีการโรยแกลบในโรงเรือน 30 หลัง รวมกว่า 70-80 กระสอบ/วัน
“เป็ดเลี้ยงเช่นเดียวกับไก่ ต่างกันที่รอบการเลี้ยง เป็ดจะมีความแข็งแรงและทนทานต่อโรคมากกว่าไก่ และการเลี้ยงเป็ดต้องมีการโรยแกลบ ดังนั้นการเลี้ยงเป็ดจะมีต้นทุนแกลบที่สูงกว่าไก่ ถึงแม้ไก่จะเลี้ยงแล้วได้ราคาสูง แต่คนที่ได้กำไรกลับเป็นบริษัท ไม่ใช่เกษตรกร” คุณปิยะกล่าวถึงข้อแตกต่างระหว่างการเลี้ยงเป็ดและไก่
การให้อาหารเป็ด
เมื่อถามคุณปิยะถึงการจัดการด้านอาหารเป็ดได้รับคำตอบว่า บี.เอ็น.ฟาร์ม จะแบ่งอาหารเป็ดออกเป็น 3 เบอร์ แต่ละเบอร์แตกต่างกันที่โปรตีนในอาหาร ในส่วนการให้อาหารในช่วงแรกประมาณ 2-3 สัปดาห์ จะให้ลูกเป็ดกินอาหารอย่างเต็มที่ (Full Feed) หลังจากนั้นจะให้ตามสัดส่วนที่สัตวแพทย์กำหนดจนกระทั่งวันจับขาย สารเสริม/วิตามินอื่นก็เป็นไปตามที่สัตวแพทย์แนะนำ ยาปฏิชีวนะไม่มีการใช้โดยเด็ดขาด แต่อาจมีการเสริมพวกสมุนไพร ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานว่าปลอดภัย ไร้สารตกค้างต่อผู้บริโภคแน่นอน
บี.เอ็น.ฟาร์ม ใช้ระบบการจัดการแบบเข้า-ออกหมดทั้งโรงเรือน (All In-All Out) ระยะเวลาที่ใช้ในการเลี้ยงคือ 38-40 วัน โดยน้ำหนักเฉลี่ยต้องไม่เกิน 3 กิโลกรัม/ตัว คุณปิยะยอมรับว่า ถึงแม้จะเป็นระบบปิด แต่สภาพอากาศภายนอกก็ยังมีผลต่อเป็ด คือ หากอากาศร้อนเกินไปเป็ดก็โตช้า อากาศเย็นจะโตได้ดีกว่า แต่หากในหนึ่งวันมีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไปมา หนาวบ้าง ร้อนบ้าง จะทำให้การควบคุมความชื้นภายในโรงเรือนนั้นทำได้ยากมากขึ้น ระยะเวลาพักเล้า คือ 35 วัน
ข้อดีของ “แอร์โร่ฟอยล์” แข็งแรง คงทน และลดต้นทุนได้จริง
เหนือสิ่งอื่นใดนอกจากมีการจัดการที่ดีแล้ว วัสดุอุปกรณ์ภายในโรงเรือนก็ย่อมเป็นสิ่งสำคัญ ทางบริษัท บี.เอ็น.ฟาร์ม จำกัด เลือกใช้อุปกรณ์ฟาร์มของบริษัทชั้นนำที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ทั้งสิ้น อาทิ บริษัท ท็อปโปรดักส์ ซัพพลาย จำกัด, บริษัท การุณ บราเธอร์ส จำกัด, บริษัท พี.พี.เอฟ.โฟลทรีอิควิปเม็นท์ จำกัด และบริษัท เดลต้าเวท จำกัด เป็นต้น ซึ่งคุณปิยะยืนยันว่า “ทุกบริษัทเป็นสินค้าที่ดีทั้งหมด อยู่ที่ผู้ใช้ว่าต้องการใช้ของบริษัทใด ราคาถูกประสิทธิภาพของสินค้าก็ต่ำ ราคาสูงหน่อยแต่การใช้งานยาวนานกว่าก็ถือว่าดีกว่า”
อุปกรณ์ฟาร์มตัวล่าสุดที่ทางบริษัทฯ เพิ่งเริ่มทำการติดตั้งไป คือ แอร์โร่ฟอยล์ (Aerofoil) จากบริษัท เด่นใหญ่ จำกัด โดยคุณปิยะรู้จักผลิตภัณฑ์ตัวแอร์โร่ฟอยล์นี้มาจากนิตยสารสัตว์บก และการหาข้อมูลเพิ่มเติมทางอินเตอร์เน็ต ก่อนหน้านี้ทางฟาร์มประสบปัญหาเรื่องอุณหภูมิที่สูงเกินไป ทำให้เกิดการสะสมความร้อนภายในโรงเรือน อุปกรณ์ต่างๆ ทั้งพัดลม และคูลลิ่งแพค ต้องทำงานหนัก ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น
ทีมงานของบริษัทฯ จึงลองติดตั้งแผ่นเมทัลชีท โดยลองติดตั้งไปแล้วกว่า 5 โรงเรือน คุณปิยะยอมรับว่าค่าติดตั้งแผ่นเมทัลชีทมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง และใช้เวลานาน จนมาเจอผลิตภัณฑ์สะท้อนความร้อนของบริษัท เด่นใหญ่ จึงติดต่อผ่านทางเซลล์ขาย เพื่อสอบถามรายละเอียด และลองติดตั้งแผ่นแอร์โร่ฟอยล์ในโรงเรือนหลังที่ 6 แทนแผ่นเมทัลชีท
ทดลองเลี้ยงมาแล้ว 1 รุ่น พบว่า “การติดตั้งแอร์โร่ฟอยล์สามารถเก็บรายละเอียดตามขอบ มุมเหล็กต่าง ๆ ได้ดีกว่าแผ่นเมทัลชีท ราคาถูกกว่า การจัดการง่ายกว่า ใช้ระยะเวลาติดตั้งน้อยกว่า และตัวผ้าแอร์โร่ฟอยล์มีความแข็งแรง คงทน มากกว่าผ้าพีวีซีทั่วไปมากกว่า 5 ปี สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ แผ่นเมทัลชีทมีคุณสมบัติป้องกันรังสีความร้อน แต่แอร์โร่ฟอยล์มีคุณสมบัติป้องกันและสะท้อนรังสีความร้อน ลดการอมความร้อนของโรงเรือนได้” คุณปิยะยืนยันถึงข้อดีในการติดตั้งแอร์โร่ฟอยล์
แอร์โร่ฟอยล์ (Aerofoil) อีกหนึ่งทางเลือกช่วยเกษตรกรเรื่องความร้อน
คุณสมบัติเด่นของผลิตภัณฑ์แอร์โร่ฟอยล์ (Aerofoil) จากบริษัท เด่นใหญ่ จำกัด คือ สามารถสะท้อนความร้อนได้ถึง 95 % ด้วยผ้าโพลีลอนสีดำทึบแสง ที่มีความหนากว่า 4 ชั้น สามารถกันน้ำได้ ไม่ฉีกขาดง่าย ไม่หดตัว 100 % อายุการใช้งานยาวนาน พร้อมใบรับประกันการใช้งานนานกว่า 5 ปี
“แอร์โร่ฟอยล์ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรกร เนื่องด้วยประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อน และตัวผ้าของแอร์โร่ฟอยล์เองถักทอมาแบบพิเศษคล้ายผ้ากระสอบ ทำให้เวลาเกษตรกรทำความสะอาดโรงเรือนสามารถทำได้ง่าย และสามารถระบายความร้อนได้ดี ไม่ก่อให้เกิดการสะสมของคราบแบคทีเรีย ผ้าพีวีซีทั่วไปจะอมความร้อนไว้ แต่ตัวแอร์โร่ฟอยล์ของเราจะเคลือบสารสะท้อนรังสีความร้อนไว้
ในส่วนของเรื่องราคาถูกกว่าการติดตั้งแผ่นเมทัลชีทแน่นอน และสามารถติดได้ง่ายด้วยตนเอง หรือให้ทาง บริษัท เด่นใหญ่ ติดต่อทีมช่าง ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการติดตั้งเฉพาะ พร้อมบริการจักรเย็บฟรี และสามารถติดต่อการให้บริการหลังการขาย หรือหากพบข้อชำรุดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สามารถติดต่อผ่านตัวแทนจำหน่ายที่ให้บริการได้ทันที” คุณวิภาดา ดวงประเสริฐ เจ้าหน้าที่ Sale Executive ของ บริษัท เด่นใหญ่ จำกัด ยืนยันถึงคุณสมบัติของอลูมิเนียมฟอยล์แท้ 100 %
นอกจากนี้ด้วยความเป็นห่วงจากบริษัท เด่นใหญ่ จำกัด อาจมีผลิตภัณฑ์แอร์โร่ฟอยล์ซึ่งเป็นงานที่ผลิตจากประเทศจีน เข้ามาขายเกษตรกรในราคาที่ถูกกว่า แต่ลักษณะเนื้อผ้าแตกต่างกันอย่างชัดเจน และขาดความคงทน ทางบริษัทไม่สามารถบริการเคลมผลิตภัณฑ์ปลอมเหล่านี้ได้ ดังนั้นหากเกษตรกรสนใจผลิตภัณฑ์แอร์โร่ฟอยล์นี้ โปรดติดต่อผ่านทางตัวแทนจำหน่ายที่ทำงานให้บริษัทโดยตรง หรือสามารถโทรสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-805-3616-20
แนวโน้มในอนาคต
ในอนาคต บี.เอ็น.ฟาร์ม จะขยายการติดตั้งแอร์โร่ฟอยล์จนครบทั้งโรงเรือนเป็ด 30 โรงเรือน และโรงเรือนไก่เนื้อ 12 โรงเรือน อาจเป็นการค่อยๆ ขยับขยายอย่างต่อเนื่องจนครบ สามารถเพิ่มกำไรสู่ผลประกอบการได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้อาจต้องมองภาพรวมของระบบเศรษฐกิจของเมืองไทยเป็นหลักสำคัญ
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก
นายบรรณสิทธิ์ ศิรวุฒินานนท์ (ผู้ก่อตั้งบริษัท บี.เอ็น.ฟาร์ม จำกัด)
สัตวแพทย์นิรันดร์ มีทรัพย์อนันต์ (หุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท บี.เอ็น.ฟาร์ม จำกัด)
นายปิยะ แก้วสมจันทร์ (หุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท บี.เอ็น.ฟาร์ม จำกัด)
ที่อยู่ 173 ม. 3 ต.โคกปี่ฆ้อง อ.เมือง จ.สระแก้ว 27000