การเลี้ยงโคเนื้อ บราห์มันแท้พรีเมียมเกรดคุณภาพ ขึ้นห้าง และส่งออก

โฆษณา
AP Chemical Thailand

กาลเวลาล่วงเลยผ่านไปครึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 ที่ “ลุงเชาวน์ฟาร์ม” (Loong Chow Farm Suphanburi) ฟาร์มโคเนื้อในพื้นที่ .เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นต้นแบบฟาร์มเลี้ยงโคขุน (โคเนื้อ) และผลิตโคพ่อ-แม่พันธุ์บราห์มันแท้ 100% ที่ได้คุณภาพ จำหน่ายในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นโดย คุณเชาวน์ วัชราไทย ผู้ก่อตั้ง การเลี้ยงโคเนื้อ

จวบจนถึงปัจจุบัน โดยธุรกิจได้สืบสานจากรุ่นสู่รุ่นถึงรุ่นลูก คือ คุณเรวัต วัชราไทย ได้ส่งไม้ต่อให้ ทายาทรุ่นที่ 3 คือ คุณวิรุฬ มะโนมัยวงศ์ และคุณสลิล วัชราไทย (ลูกสาว)  ดูแลในส่วนของโคพ่อ-แม่พันธุ์ และคุณกชกร วัชราไทย หรือคุณปุ้ย (ลูกชาย) ดูแลในส่วนของโคขุน ที่ได้ร่วมปรับปรุงพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อ/โคขุน กระทั่งยกระดับคุณภาพสู่ผลิตภัณฑ์เกรดพรีเมียมจำหน่ายขึ้นห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และร้านอาหารในตลาดระดับสากล

1.คุณกชกร-วัชราไทย
1.คุณกชกร-วัชราไทย

การเลี้ยงโคเนื้อ

นิตยสารสัตว์บก มีโอกาสได้กลับมาเยือน ลุงเชาวน์ฟาร์ม อีกครั้ง หลังจากเคยได้สัมภาษณ์ไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน วันนี้ลุงเชาวน์ฟาร์มได้พัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อก้าวไกลไปอีกหลายขั้น  ภายใต้ฝีมือและแนวคิดการบริหารจัดการของ คุณวิรุฬ, คุณสลิล และคุณกชกร นั่นเอง

ปัจจุบันลุงเชาวน์ฟาร์มมุ่งเน้นปรับปรุงและพัฒนาโคเนื้อเพื่อให้เป็นสินค้าพรีเมียมในตลาดส่งจำหน่ายทั้งในและส่งออกต่างประเทศโดยมีโคขุนจำนวนกว่า 3,000 ตัว และมีโคแม่พันธุ์อีกประมาณ 500-600 ตัว สำหรับโคต้นน้ำก่อนขุนนั้น ทางฟาร์มนำเข้ามาจากเครือข่ายเกษตรกรทางภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ เช่น .สุรินทร์ จ.อุดรธานี และ จ.ศรีสะเกษ เป็นต้น

น้ำหนักโคที่นำมาขุนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 300-400 กก./ตัว ทางฟาร์มจะเลือกเฉพาะโคที่ไม่มีประวัติการใช้สารเร่งเนื้อแดง และต้องใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น เมื่อตรวจสอบคุณภาพของโคจากเกษตรกรเรียบร้อย จึงนำมาขุนต่ออีกประมาณ 5 เดือน ก็จะได้น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 500-550 กก./ตัว ซึ่งเป็นน้ำหนักมาตรฐานของโคที่พร้อมส่งออกไปยังประเทศจีน

2.การเลี้ยงโคเนื้อ-ตัวใหญ่-อ้วนท้วนสมบูรณ์-ได้น้ำหนัก
2.การเลี้ยงโคเนื้อ-ตัวใหญ่-อ้วนท้วนสมบูรณ์-ได้น้ำหนัก

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายโค

ในปัจจุบันลุงเชาวน์ฟาร์มส่งออกโคขุนประมาณ 70% ไปยังประเทศ และจำหน่ายภายในประเทศไทยอีกประมาณ 30% โดยกลุ่มตลาดลูกค้าในไทยจะเน้นตลาดพรีเมียม เป็นโคออสเตรเลียนำเข้า จำหน่ายให้บริษัท คอมพานีบี จำกัด เจ้าของร้านชื่อดัง ที่สร้างปรากฏการณ์ อย่าง “เนื้อแท้ By Company B” และ “The Beef Master” บริหารโดย คุณวีรชน ศรัทธายิ่ง (หรือคุณโต อดีตนักร้องนำวงซิลลี่ ฟูลส์) และซีอีโอคู่ใจ คุณตาล นภาศูล รามบุตร ตลอดจนคู่ค้า อย่าง “สำโรงใต้ บีฟ หรือ SRT” ซึ่งใช้โคอายุน้อย สายพันธุ์ยุโรป เลือดสูง สัญชาติไทย มาขุนระยะเวลานาน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ภายใต้ความตั้งใจที่จะผลิต Local Beef คุณภาพสูง ราคาจับต้องได้ เช่นเดียวกับ Mercedes Benz และ BMW ที่ราคาไม่แพง เมื่อจำหน่ายภายในเยอรมันนี ลูกค้าพรีเมียมของฟาร์มจะมีทัศนคติดีต่อกัน และเข้าใจตรงกันในเรื่อง Passion Price หรือ “ราคาที่สมน้ำสมเนื้อกับคุณภาพ ความนิ่ง และความตั้งใจ” ไม่ใช่ราคาตลาดที่ขึ้นๆ ลงๆ เพื่อให้เกิดความเป็นคู่ค้าที่ดีต่อกันในระยะยาว

ในส่วนขั้นตอนขนส่งโคไปประเทศจีนนั้น คุณกชกรกล่าวว่าได้ขนส่งไปที่ชายแดนไทย (จ.เชียงราย) โดยจะมีตัวแทนลูกค้าหรือคนกลางมารับโคแล้วขนส่งต่อไปยังประเทศลาว เพื่อตรวจสอบโค และกักกันโรคต่ออีกประมาณ 45 วัน ก่อนถูกส่งต่อผ่านชายแดนลาวไปยังประเทศจีนต่อไป

3.ให้อาหารโค
3.ให้อาหารโค

การให้อาหารโค

คุณกชกรได้กล่าวถึงอาหารที่ใช้เลี้ยงโคไว้ว่าทางฟาร์มใช้การผสมอาหารเอง โดยเน้นคุณภาพของวัตถุดิบเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มให้พลังงาน อาทิ มันสำปะหลัง ปลายข้าว หรือข้าวโพด และกลุ่มให้โปรตีน/ไขมันดี เช่น ถั่วเหลือง และปาล์มเนื้อใน เป็นต้น ซึ่งได้เลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงที่คัดสรรจากตัวแทนจำหน่ายวัตถุดิบอาหารสัตว์ชั้นนำของประเทศ เพื่อให้โคเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด

“อาหารที่ทางฟาร์มให้กับลูกโคขุนและแม่โคนั้น เราผสมเอง โดยใช้แต่วัตถุดิบคุณภาพสูง ไม่ใช้สารยูเรีย ปลอดสารเร่งเนื้อแดงเด็ดขาด ไม่มีวัตถุดิบที่มาจากสัตว์ เช่น กระดูกป่น และใช้ระบบ TMR ซึ่งมีการนำทั้งหญ้าแห้งคุณภาพสูง หญ้าสด และฟางข้าว มาบดและคลุกเคล้าตามสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่เน้นผสมอาหารให้มีค่าตัวเลขโปรตีนสูง แต่เน้นพลังงาน และโปรตีนที่นำมาใช้ได้ง่าย หรือเน้นอาหารที่โคนำไปใช้ได้จริง”

“ในมุมมองของฟาร์ม การลดต้นทุนแท้จริงแล้วไม่จำเป็นว่าเราจะต้องจ่ายให้ถูกลง แต่มันคือการจ่ายแพงขึ้นเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่า วัตถุดิบที่ดีนอกจากวัวจะโตเร็ว และเนื้อดีแล้ว ยังรวมไปถึงภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น อัตราสูญเสียก็จะน้อยลง การลงทุนกับอาหารดีๆ ไม่ต่างอะไรกับคนที่กล้าลงทุนเรื่องพันธุกรรม เราจะได้วัวที่ตัวโตขึ้นในอายุที่เท่ากัน หรือได้เงินมากขึ้นในเวลาที่เท่ากัน และยังขายง่ายขึ้น เพราะคนที่นำไปขุนต่อ เขาเห็นว่าอัตราเติบโตและแลกเนื้อนั้นดีกว่า… นั่นแหละครับการลดต้นทุน”

4.โรงเรือนเลี้ยงโค
4.โรงเรือนเลี้ยงโค การเลี้ยงโคเนื้อ การเลี้ยงโคเนื้อ การเลี้ยงโคเนื้อ การเลี้ยงโคเนื้อ การเลี้ยงโคเนื้อ

การบริหารจัดการโค

ด้านการบริหารจัดการลูกโคของลุงเชาวน์ฟาร์ม ยกตัวอย่างเช่น การขายลูกวัว จะมีระยะเวลาการเลี้ยง 5-6 เดือน เพื่อให้หย่านม จึงเริ่มปล่อยขาย โดยจะขายเป็นตัวๆ ซึ่งลุงเชาวน์ฟาร์มเลี้ยงแยกฟาร์ม กล่าวคือ เลี้ยงพันธุ์แท้ (พ่อพันธุ์แม่พันธุ์) ฟาร์มนึง กับเลี้ยงแบบขุน (Feed Lot) อีกที่นึง ซื้อโคจากเครือข่ายเกษตรกรนำมาเลี้ยงขุน เมื่อขุนเสร็จก็จะส่งเป็นโคเชือด

โฆษณา
AP Chemical Thailand

ในส่วนของวัวพันธุ์แท้ (Pure breed) จะเป็นสายพันธุ์บราห์มัน เพราะเป็นโคพื้นฐานที่ดี และเหมาะสมที่สุดในเมืองไทย ใช้ปรับปรุงพันธุ์โคลูกผสมพื้นเมือง ที่มีให้ได้รุ่นลูกที่มีโครงสร้าง และมัดกล้ามที่ดี ในแบบฉบับบราห์มัน และยังสามารถต่อยอดเพื่อสร้างโคลูกผสมยุโรปชั้นดี (Crossbreed) ในรุ่นหลานถัดไป สำหรับผู้ที่ต้องการยกระดับคุณภาพเนื้อขึ้นไปอีกขั้น

ในส่วนของ “วัวพันธุ์” โดยคุณกชกรเผยว่าทางฟาร์มยังคงนำเข้าทั้งพ่อและแม่พันธุ์บราห์มันเลือดร้อยจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงใช้โคที่ฟาร์มพัฒนาขึ้นมาเองด้วย ผ่านขั้นตอนการผสมจริง และผสมเทียม ที่ได้มาตรฐาน ทางฟาร์มมีแม่พันธุ์ประมาณ 500 ตัว ส่วนพ่อพันธุ์มีจำนวนไม่เยอะ เนื่องจากพ่อพันธุ์ 1 ตัว สามารถคุมฝูงได้ถึง 30 ตัว ดังนั้นฟาร์มจึงเก็บตัวผู้ไว้ไม่มากนัก

คุณกชกรกล่าวเสริมว่าส่วนตัวมองว่าถ้าทำลูกผสม  หรือ Commercial crossbreed  ข้อดี คือ เกษตรกรจะได้ทั้งบราห์มัน และยุโรป ควรปรับปรุงพันธุกรรมโดยการใช้พ่อพันธุ์บราห์มันเลือดร้อยแทนพ่อพันธุ์รูปหล่อดูดี แต่ไม่ใช่เลือดร้อย เพื่อให้ได้รุ่นลูกที่เป็นบราห์มันเลือดสูงก่อน ซึ่งดีพอที่จะขายเป็นโคเนื้อคุณภาพในตลาดระดับกลาง เมื่อพันธุกรรมพร้อมแล้วจะสามารถใส่เลือดยุโรปเมื่อไหร่ก็ได้ จะได้โคเนื้อที่ดีมากขึ้นไปอีกอย่างแน่นอน

กล่าวคือ ต้องทำเรื่องคุณภาพของสายพันธุ์ให้นิ่งเสียก่อน เพราะถ้าเกษตรกรใจร้อน เอาสายพันธุ์ยุโรปไปใส่พื้นเมืองที่ไม่ได้คุณภาพ ลูกออกมาก็จะไม่สวย ไม่ได้คุณภาพ ทว่าในความเป็นจริงเมื่อเราไปบอกเกษตรกรว่าอยากจะให้เน้นเรื่อง  Basic การทำพันธุ์ แต่เกษตรกรรายย่อยโดยส่วนใหญ่ก็จะมีแนวคิดและไม่ค่อยอยากจะลงทุนกันสักเท่าไหร่ เพราะติดในเรื่องของต้นทุนสูงนั่นเอง

“ส่วนตัวผมคิดว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในประเทศไทยยังไปไม่ถึงคำว่าคุณภาพจริงๆ เพียงแค่แตะเท่านั้น เพราะยังมีเกษตรกรอีกหลายรายที่ยังขาดเรื่ององค์ความรู้ การขยายพันธุ์ การจัดการ และการลงทุนที่ยังไม่กล้าเสี่ยงมากนัก ซึ่งหากเปรียบเทียบเกษตรกรในต่างประเทศเขาจะรู้ดีว่ายอมลงทุนกับพ่อพันธุ์ดีๆ สักตัว เพื่อให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในระยะยาว ซึ่งถ้าวัวออกมามีคุณภาพที่ดี ก็จะจำหน่ายได้ง่ายขึ้น เพราะทุกวันนี้วัวก็ไม่เพียงพอต่อตลาดอยู่แล้ว แต่ที่เกษตรกรบ่นอุบว่าวัวขายไม่ออก จริงๆ ก็เพราะว่าวัวคุณภาพยังไม่ถึงที่ตลาดต้องการอยากจะได้นั่นเอง”

ด้านการจัดการภายในฟาร์ม คุณกชกรกล่าวต่อว่าพยายามใช้เครื่องจักรให้มากขึ้น ส่วนกำลังคนก็ยังมีอยู่ แต่ทำอย่างไรให้คนเหนื่อยน้อยลง โดยใช้หลักการบริหาร คือ “เหนื่อยกายให้น้อยลง แต่ต้องเหนื่อยสมองมากขึ้น” กล่าวคือ ลงทุนเครื่องจักรใช้ทำงานมากขึ้น แล้วนำกำลังคนที่มีความรู้ ความสามารถ ไปช่วยคิดวางแผนการทำงานในด้านอื่นๆ ต่อไป ให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โฆษณา
AP Chemical Thailand
5.อาหารของโค
5.อาหารของโค การเลี้ยงโคเนื้อ การเลี้ยงโคเนื้อ การเลี้ยงโคเนื้อ การเลี้ยงโคเนื้อ การเลี้ยงโคเนื้อ 

เป้าหมายของการเลี้ยงโค

เมื่อกล่าวถึงเป้าหมายในปี 2563 นี้ คุณกชกรบอกว่ามุ่งเน้นเรื่องการผลิตอาหารที่มีคุณภาพสูง นิ่ง และตรวจสอบได้เป็นหลัก เพื่อต้องการยกระดับคุณภาพเนื้อขึ้นไปอีก เพราะลูกค้าก็พัฒนาตลอด เราจะหยุดนิ่งไม่ได้ เชื่อว่าสิ่งที่ทำลงไป ลูกค้าจะรับรู้ได้อย่างแน่นอน ทุกฝ่ายก็จะทำงานง่ายในทุกวัน

เป็นเหตุจำเป็นให้ต้องขยายโรงงานผลิตอาหารสัตว์ (โกดังอาหารสัตว์) เพื่อเพิ่มกำลังผลิต และรองรับจำนวนโคที่เลี้ยง ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ในพื้นที่ฟาร์มประมาณ 1-2 ไร่ โดยเน้นระบบไลน์ผลิต และการทำงานแบบอัตโนมัติ ซึ่งคุณกชกรเป็นผู้วางแปลนและออกแบบเอง คาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตน่าจะอยู่ประมาณ 50 ตัน/วัน ซึ่งปัจจุบันลุงเชาวน์ฟาร์มใช้อาหารอยู่ที่ 30 ตัน/วัน

คุณกชกรกล่าวถึงตลาดโคในประเทศไทยปัจจุบันว่า ปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงโคส่วนใหญ่ในบ้านเรา คือ เกษตรกรควรจะรู้ตัวเองก่อนว่าตนเองอยู่จุดไหนของตลาด จะอยู่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ หรือจะปลูกหญ้าขายให้คนเลี้ยงโคอีกที ต้องคิดว่า…จะขายสินค้าให้กับตลาดไหน ตัวอย่างเช่น ตลาดเขียงต้องการโคไม่ตอน เป็นบราห์มัน ราคาถูก และไม่เอาสารเร่งเนื้อแดง หรือตลาดส่งออกไปเวียดนาม ต้องการโคตัวใหญ่ๆ น้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 500-600 กก. หรือตลาดส่งออกจีนอีกรูปแบบ ต้องการที่น้ำหนัก 400 กก./ตัวขึ้นไป และต้องการนำไปขุนต่อ หรือตลาดพรีเมียมต้องการเนื้อวัวที่มีไขมันแทรก เพราะตอบโจทย์การนำไปบริโภค เป็นต้น

จริงๆ แล้วตลาดโคมันกว้างมากๆ ปัญหาก็คือ ถ้าผู้ซื้อและผู้ขายไม่พูดคุยกันให้เข้าใจ หรือขับเคลื่อนไปด้วยกัน ก็จะลำบาก เพราะฉะนั้นผู้ขายหรือผู้ผลิตก็ต้องการผู้ซื้อที่ดี มีคุณภาพ และไม่กดราคา แต่ผู้ขายก็ต้องผลิตเนื้อให้ได้คุณภาพในระยะยาวด้วย ไม่ใช่ทำคุณภาพดีในระยะเวลาสั้นๆ แล้วก็กลับมาไม่นิ่งอีก

“ผมมองในเรื่องของความซื่อสัตย์ต่อคู่ค้า โดยไม่ว่าคู่ค้าหรือลูกค้าของเราจะเป็นคนดีหรือไม่ดี แต่เราไม่สามารถตัดสินเขาได้ สิ่งที่ทำได้ คือ ขอให้เราซื่อสัตย์ ทำคุณภาพให้ออกมาดี ผมเชื่อว่าถึงอย่างไรเราก็ยังอยู่ได้ แม้อาจจะต้องใช้เวลาพิสูจน์ แต่ผมเชื่อว่าถ้าคุณทำดี และซื่อสัตย์ สักวันโลกจะต้องเห็นคุณค่า และสิ่งที่คุณทำ”

6.สายพันธุ์โค
6.สายพันธุ์โค การเลี้ยงโคเนื้อ การเลี้ยงโคเนื้อ การเลี้ยงโคเนื้อ การเลี้ยงโคเนื้อ การเลี้ยงโคเนื้อ การเลี้ยงโคเนื้อ

ฝากถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ

ในตอนท้ายคุณกชกรยังกล่าวฝากถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า เรื่องทัศนคติสำคัญมาก เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่มักอ้างว่าไม่มีเงินทุน แต่จริงๆ ทุกคนสามารถแสวงหาสิ่งที่เหมาะสมกับการเลี้ยงโคให้กับตนเองได้ ทั้งนี้ผมจึงย้ำเสมอว่าการที่หลายคนคิดว่าเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ใครๆ ก็เลี้ยงได้นั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่กับทุกคน

โฆษณา
AP Chemical Thailand

โดยการเลี้ยงให้โคหรือวัวอ้วนท้วนสมบูรณ์ เป็นเรื่องที่ใครก็ทำได้ แต่การเลี้ยงให้ได้คุณภาพสม่ำเสมอ ซึ่งมันยากขึ้นไปอีก เพราะต้องใช้เรื่องทัศนคติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งในเรื่องการบริหารจัดการ เทคนิควิธีการต่างๆ เพราะถ้าเกษตรกรรายย่อยรีบขาย เหตุเพราะว่ามีปัญหารายจ่ายในครอบครัว หรืออยากได้เงินเร็วๆ สุดท้ายทำให้โคที่ขายไปก็ไม่ได้คุณภาพเช่นเดิม

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เนื้อวัวที่ดีที่สุด โดยส่วนตัวมองเหมือนกับงานเพลง เช่น ตนเองไม่ชอบฟังเพลงลูกทุ่ง แต่ชอบเพลงร็อค เช่นเดียวกันกับคนอีสานจะนิยมวัวไม่ตอน มีกลิ่นสาปๆ นิดหน่อย  ซึ่งถ้าเอาเนื้อวัววากิลล์ให้คนอีสานกิน คนอีสานก็จะบอกว่ากินไม่อร่อย สุดท้ายแล้วก็อยู่ที่รสนิยมของตลาด และผู้บริโภค สรุปก็คือ คุณไม่สามารถจับได้ทุกตลาดนั่นเอง

“ส่วนตัวผมไม่ได้ต้องการหรือคิดว่า เนื้อวัวของฟาร์มตนเองต้องเจ๋ง หรืออร่อยที่สุด แต่ผมมุ่งเน้นและให้ความสำคัญตรงที่ว่าเนื้อวัวของผมต้องนิ่ง และให้ได้มาตรฐานในระยะยาวมากที่สุด”

สอบถามเพิ่มเติม คุณกชกร วัชราไทย โทร.080-619-4688 ที่อยู่เลขที่ 120/1 หมู่ 2 ตำบลหัวนา อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี หรือที่ Facebook : Loong Chow Farm Suphanburi

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก