“ไพรัชฟาร์ม” ฟาร์ม เป็ดบาร์บารี่ ครบวงจร ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดย คุณทิพย์วรรณ ถาวรวิริยะนันท์ หรือคุณป๊อป เป็นเจ้าของ ได้เล่าให้ทีมงานนิตยสารสัตว์บกฟังว่า ก่อนที่จะมาเลี้ยง เป็ดบาร์บารี่ ก็เคยเลี้ยงเป็ดสายพันธุ์เชอรี่วอลเลย์ของบริษัทใหญ่ เริ่มเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2532 แต่ที่จริงแล้วต้องการมูลเป็ดสำหรับใช้ในสวน ทำไปทำมาอาชีพเสริมอย่างการเลี้ยงเป็ดกลับกลายมาเป็นอาชีพหลักในปัจจุบัน
การเลี้ยง เป็ดบาร์บารี่
“ช่วงที่เลี้ยงเป็ดเชอรี่ค่าตอบแทนไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับเรา คุณอ้นก็เลยมาเจอสายพันธุ์บาร์บารี่ของโครงการหลวง เลยลองศึกษาและดูความต้องการของตลาด แล้วพบว่าตลาดแถวๆ ภาคตะวันออกยังเป็นที่ต้องการอยู่ เพราะ เป็ดบาร์บารี่ มีเนื้อแน่น นุ่ม กล้ามเนื้อแดงมาก หนังบาง และไม่มีกลิ่นสาบ จึงตัดสินใจเลี้ยงตั้งแต่ตอนนั้น” คุณป๊อปเปิดเผย
เป็ดบาร์บารี่ (Barbary) มีลักษณะขนสีขาวตลอดลำตัว และมีขนสีดำอยู่กลางหัว ปากสีชมพู เท้าสีเหลืองอ่อน ถ้ามีอายุมากจะมีใบหน้าสีชมพู มีผิวขรุขระนูนเด่น ไม่มีขน แรกเกิดจะมีขนสีขาวอมเหลือง มีจุดสีดำอยู่กลางหัว ปากสีชมพู แข้งสีเหลือง จะเริ่มให้ไข่เมื่ออายุ 28 สัปดาห์ โตเต็มที่ตัวผู้หนัก 5-6 กิโลกรัม ตัวเมียหนัก 2.5-3.5 กิโลกรัม ผลผลิตไข่ปีละ 150-158 ฟอง/แม่ สามารถฟักไข่เองได้
การบริหารจัดการฟาร์มเป็ด
โดยที่ฟาร์มเริ่มเลี้ยงจาก 200-300 ตัว ระหว่างนั้นก็ค่อยๆ หาตลาดไปด้วย จนปัจจุบันนี้เลี้ยงเป็ดทั้งหมด 9 โรงเรือนๆ หนึ่งจะลงเป็ด 2,000-2,500 ตัว รวมทั้งหมดประมาณ 1.5 หมื่นตัว และมีเกษตรกรเครือข่ายอีก 13 ราย เดือนหนึ่งจะได้เป็ดประมาณ 2 หมื่นตัว มีรอบการผลิตประมาณ 6 หมื่นกว่าตัว
ใน 3 เดือน จะเลี้ยงได้ 1 รอบ เพราะ เป็ดบาร์บารี่ เพศเมียจะจับได้ที่ 65 วัน เพศผู้ 80 วัน และถ้ารวมพักเล้าด้วยเท่ากับปีหนึ่งจะเลี้ยงได้ 4 รุ่น จะต่างจากเป็ดเชอรี่ เพราะเป็ดเชอรี่จะเลี้ยงแค่ 45 วัน ก็สามารถจับขายได้แล้ว
ความแตกต่างของเป็ดบาร์บารี่กับเป็ดเชอรี่?
เป็ดบาร์บารี่ กับเป็ดเชอรี่แตกต่างกันอย่างไร คุณป๊อปได้ให้ความเห็นว่า “ถ้าราคาปลายทางที่เราทำเป็นซากแล้ว ราคาของ เป็ดบาร์บารี่ จะต่างจากเป็ดเชอรี่ประมาณกิโลกรัมละ 18-20 บาท ส่วนเรื่องรสชาติ เป็ดบาร์บารี่ หนังจะบางกว่า แต่กล้ามเนื้อแดง จะนุ่มแน่นกว่าเป็ดเชอรี่ แต่เป็ดเชอรี่จะเหมาะกับการนำไปย่างมากกว่า เพราะหนังหนากว่า แต่จะมีกล้ามเนื้อแดงน้อยกว่า และมีติดกลิ่นสาบอยู่”
สาเหตุที่ใช้ระยะเวลาเลี้ยงนานกว่าเป็ดเชอรี่ เพราะตามธรรมชาติของสายพันธุ์ ถ้าใช้เวลาเลี้ยงเร็ว โครงสร้างจะไม่ได้ เนื้อจะยังไม่ขึ้น เป็ดรุ่นบาร์บารี่ตัวเมียจะเลี้ยงสุดที่ 65 วัน ส่วนตัวผู้ 80 วัน ถ้าเกินกว่านี้จะส่งผลกระทบกับเนื้อ จะทำให้เนื้อแน่นขึ้น เนื้อแข็ง ซึ่งไม่ตรงตามความต้องการของตลาด
การบำรุงดูแลเป็ด ในแบบฉบับไพรัชฟาร์ม
ทางฟาร์มจะซื้อลูกเป็ดอายุ 3วัน มาจากฟาร์มเครือข่าย มีอัตราการสูญเสียไม่เกิน 2% และนำมากกต่ออีก 7วัน โดยจัดวางหลอดไฟให้ความอบอุ่น เตรียมรางใส่อาหาร รางใส่น้ำ ไว้ในเล้า ให้อาหารเป็ดวันละ 4-5 ครั้ง ให้อุณหภูมิที่เหมาะสมในการกกลูกเป็ด และสังเกตจากปฏิกิริยาของลูกเป็ด
ถ้ามีลูกเป็ดนอนสุมกัน แสดงว่าอุณหภูมิต่ำเกินไป ต้องเพิ่มอุณหภูมิให้ ถ้าลูกเป็ดกระจายอยู่และยืนอ้าปากหอบกางปีก แสดงว่าร้อนเกินไป ต้องลดอุณหภูมิลง ถ้าอุณหภูมิเหมาะสม ลูกเป็ดจะนอนราบกับพื้นกระจายอยู่ทั่วไป เมื่ออายุครบ 21 วัน จะทำวัคซีนกาฬโรคเป็ด (duck plague)โดยใช้วัคซีนของ บริษัท เมเรียล (ประเทศไทย) จำกัด และวัคซีนชนิดอื่นตามโปรแกรมวัคซีนสำหรับเป็ด
ตารางแสดงอุณหภูมิที่เหมาะสมในการกกลูกเป็ดอายุ 0-3 สัปดาห์
อายุ |
อากาศร้อน |
อากาศเย็น |
||
องศา F |
องศา C |
องศา F |
องศา C |
|
1 วัน |
95 |
35 |
95 |
35 |
2-7 วัน |
95-90 |
35-32 |
95-90 |
35-32 |
1-2 สัปดาห์ |
90-80 |
32-26 |
90-80 |
35-26 |
2-3 สัปดาห์ |
หยุดกก |
80-75 |
26-23 |
ที่มา: กรมปศุสัตว์
สภาพพื้นที่เลี้ยงเป็ด
ส่วนการเลี้ยงนั้นจะเลี้ยงในโรงเรือนระบบเปิด ขนาดของโรงเรือนแต่ละเล้าจะแตกต่างกัน เพราะสร้างตามพื้นที่ และมีการคำนวณอัตราส่วนในการลงเป็ด ส่วนการจัดการนั้นไม่ยุ่งยาก แต่ต้องเน้นในเรื่องความสะอาด ภายในโรงเรือนควรแห้งสะอาด ไม่มีน้ำขัง ป้องกันแดดและฝนได้ดี หลังคาต้องสูงโปร่งเพื่อให้อากาศถ่ายเท จัดหาอาหารและน้ำให้เพียงพอ และหมั่นโรยแกลบเพื่อไม่ให้พื้นแฉะ เพื่อลดการเกิดแก๊ส
ในช่วงที่อากาศร้อนเป็ดจะไม่ค่อยกินอาหาร จะกินน้ำมากกว่า ทำให้เป็ดโตช้า ที่ฟาร์มจะมีการเสริมวิตามินของ บริษัท อินโนเว็ทคอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งจะช่วยให้เป็ดเจริญเติมโตได้ดี และมีสุขภาพดี นอกจากผลิตภัณฑ์เสริมที่ดีแล้ว ยังมีสัตวแพทย์มาคอยให้คำแนะนำอยู่ตลอด
การให้อาหารเป็ด
ในส่วนของอาหารนั้น ที่ฟาร์มจะใช้อาหารสำเร็จรูปทั้งหมดของ 3 บริษัท มี บริษัท คาร์กิลล์, บริษัท ซันฟีดฯ และ บริษัท ทีเอฟเอ็มเอส จำกัด (สุปรีมฟีดส์) จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมแต่ละสูตร
“แต่ส่วนมากจะใช้ของบริษัท ทีเอฟเอ็มเอส จำกัด (สุปรีมฟีดส์) เยอะสุด เพราะสูตรอาหารจะช่วยในเรื่องของอัตราการแลกเนื้อ เรื่องซากเป็ดที่ได้ และในเรื่องของผิวหนัง เพราะตลาดใหญ่ที่กรุงเทพจะเป็นตลาด Modern Trade พวกโรงแรม และภัตตาคาร ซึ่งเขาจะดูในเรื่องของผิวหนังเป็ดด้วย
และเราจะมีกระจายเองอีกส่วนหนึ่ง ทางภาคตะวันออกจะเป็นระยอง จันทบุรี ตราด ภัตตาคารที่เชียงใหม่ ร้านพะโล้ที่โคราช และมีลูกค้าเปิดสาขาทางใต้ที่ภูเก็ตก็ใช้เป็ดของฟาร์มเราอยู่” คุณป๊อปให้ความเห็น
ปัญหาและอุปสรรคในฟาร์มเป็ด
ส่วนปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงนั้น คุณป๊อปเผยว่าไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเรื่องโรคถ้าเฝ้าระวัง มีการจัดการที่ดี ก็ไม่ค่อยมีปัญหา และมีการป้องกันเชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่ฟาร์ม โดยไม่ให้คนงานออกนอกฟาร์มบ่อย และไม่ให้คนนอกเข้าฟาร์ม ส่วนอัตราการตายจะเจอเฉพาะเป็ดที่อ่อนแอมากๆ
ส่วนมูลเป็ดที่ได้ไม่ได้นำไปขาย หรือทิ้งไปให้เสียเปล่า แต่จะแซะใส่กระสอบนำไปใส่สวนยาง และสวนปาล์ม เพราะขี้เป็ดเป็นปุ๋ยคอกชั้นดี ส่วนสวนยางมีพื้นที่ประมาณ 700 กว่าไร่ สวนปาล์ม 200 กว่าไร่ ตอนแรกที่เลี้ยงเป็ดเพราะคุณป๊อปต้องการมูลมาทำเป็นปุ๋ย แต่ต้องยอมรับว่า ณ ปัจจุบันนี้อาชีพเลี้ยงเป็ดกลายเป็นรายได้หลักไปแล้ว
“การใช้ปุ๋ยคอกชนิดนี้ไม่ยุ่งยาก เพียงหว่านให้ทั่วแปลง แล้วพรวนลงดิน ก็จะปลอดภัยต่อพืช แต่ถ้าจะให้ปลอดภัยโดยสิ้นเชิงแล้ว ควรกองปุ๋ยคอกไว้สักระยะหนึ่งก่อน เพื่อให้เกิดกระบวนการย่อยสลาย ทำให้เศษอาหารในมูลเป็ด มูลไก่ ย่อยสลายไป จนความร้อนภายในกองปุ๋ยหมดลง (เย็นลง) แล้วจึงค่อยนำปุ๋ยที่ได้ไปใช้กับพืชหรือใส่ลงในดิน การหมักกองปุ๋ยไว้ก่อนจะทำให้พืชปลอดภัยขึ้นได้
หรือจะนำปุ๋ยคอกชนิดนี้ไปอัดเม็ดแล้วผ่านขบวนการทำให้แห้ง ก็จะสามารถเก็บไว้ได้นาน และปลอดภัยดี แต่ขบวนการที่จะนำปุ๋ยคอกชนิดนี้ไปอัดเป็นแท่งหรือเป็นเม็ด รวมทั้งการทำให้แห้ง จะทำให้เกิดการสูญเสียไนโตรเจนในรูปแอมโมเนียไปด้วยจำนวนหนึ่ง จำต้องคิดเผื่อเรื่องนี้ด้วย”
ที่มา : ธงชัย มาลา. ปุ๋ยอินทรีย์และชีวภาพ. กรุงเทพฯ : ม.เกษตรศาสตร์, 2546. หน้า 231
ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายเป็ด
ในปี 2553 คุณป๊อปได้ใบอนุญาตทำโรงเชือดครบวงจร และเริ่มมีฟาร์มเครือข่ายเข้ามา ในปัจจุบันมีมากถึง 13 ราย ส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณชลบุรี ระยอง และจันทบุรี จำนวนลูกเป็ดที่ลงให้ลูกเล้าแต่ละฟาร์มก็ตามพื้นที่โรงเรือนของลูกเล้า มีเริ่มต้นตั้งแต่ 2,000-12,000 ตัว
ส่วนผลตอบแทนที่ลูกเล้าได้จะคิดราคาจับขายเป็นกิโลกรัม ส่วนลูกเป็ด อาหาร และวัคซีน ทางฟาร์มจะเป็นคนจัดหามาให้ พอเฉลี่ยแล้วเมื่อจับขายจะได้ตัวละประมาณ 45-55 บาท แล้วแต่น้ำหนักที่ได้ด้วย ตัวเมียอยู่ที่ 2.4 กิโลกรัม ส่วนตัวผู้ 4.1 กิโลกรัมขึ้นไป ให้กิโลกรัมละ 6.5 บาท โดยยังไม่หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ในส่วนของโรงเชือดเฉลี่ยแล้วจะเชือดได้ 700-800 ตัว แต่ก็แล้วแต่ช่วง บางครั้งก็ได้ 1,200 ตัว เป็นโรงเชือดที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ จะใช้คนงานทั้งหมด 28 คน ค่าจ้างจะให้เป็นรายตัว ตัวผู้จะให้ตัวละ 12 บาท ตัวเมีย 8 บาท เพราะมีขนาดตัวที่เล็กกว่า
คุณป๊อปได้บอกอีกว่า อยากทำธุรกิจถึงผู้บริโภคได้เลย วางแผนให้รุ่นลูกได้ต่อยอดทำผลผลิตออกมาให้ถึงมือผู้บริโภค เพราะตอนนี้ก็ทำร้านอาหารเกี่ยวกับเป็ด จะมีเมนูต่างๆที่เป็นเนื้อเป็ด เช่น กะเพราเป็ด ก๋วยเตี๋ยวเป็ด ผัดพริกแกงเป็ด ชื่อร้าน “ก๋วยเตี๋ยวเป็ดป้าโชค ณ อ่างศิลา” ตั้งอยู่ที่ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เปิดให้บริการ 7.00-18.00 น. โทร.081-940-6536
นอกจากการขายเป็ดสด เป็ดแช่แข็ง ที่มีคุณภาพสดใหม่ทุกวัน และการทำร้านอาหารโดยนำเนื้อเป็ดจากฟาร์มมาแปรรูปเป็นเมนูต่างๆ แล้ว ในส่วนของขนเป็ดยังรวบรวมส่งไปขายที่ประเทศจีน เพื่อใช้ทำเครื่องนุ่งห่มเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง
ฝากถึงเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงเป็ด
สำหรับเกษตรกรที่สนใจ คุณป๊อปได้ให้ความเห็นว่า “ในมุมมองของพี่ ปัญหาของเกษตรกร คือ เลี้ยงแล้วแต่หาตลาดไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าตลาดมีที่ไหนบ้าง อยากจะฝากว่าเวลาเราจะทำอะไร เราต้องรู้ก่อนว่า เราจะทำอะไร ทำให้ใคร ขายที่ไหน เหมือนที่พี่ทำ พี่มองว่ามันพอไปได้ ตลาดอาจจะเติบโตได้ พี่ก็เลยลงมือทำ เราต้องหาตลาดให้ได้ และผลผลิตที่จะให้มันสมดุลกัน เพื่อให้เกิดความมั่นคง คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไป”
ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณทิพย์วรรณ ถาวรวิริยะนันท์ หรือ “คุณป๊อป”
หากผู้อ่านท่านใดสนใจผลิตภัณฑ์ หรืออยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ ที่อยู่ 150/5 หมู่ 3 ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง 21210, Facebook Fan page : เป็ดบาร์บารี่ ไพรัชฟาร์ม โทร.081-940-6536
อ้างอิง : นิตยสารสัตว์บก ฉบับที่ 326