สลิดแดดเดียว เลื้องเนื้อไม่สาบ แปรรูปเน้นมาตรฐานการส่งออก ปั้นเงินล้าน/เดือน ให้หนุ่มวิศวะ

โฆษณา
AP Chemical Thailand

​“ปลาสลิด” เป็นปลาน้ำจืด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trichogasterpectoralis มีขนาดโดยเฉลี่ย 20-25 เซนติเมตร เป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย นิยมนำมาแปรรูปเป็นปลาแห้ง ปลาเค็ม ปลาแดดเดียว เนื้อปลาทอดกรอบ สลิดแดดเดียว เป็นต้น

1.คุณธนัทธร กาญจนพิศาล หรือคุณนิก
1.คุณธนัทธร กาญจนพิศาล หรือคุณนิก

จุดเริ่มต้นการเลี้ยงปลาสลิด

นิตยสารสัตว์น้ำฉบับนี้พามาทำความรู้จักกับ คุณธนัทธร กาญจนพิศาล หรือคุณนิก หนุ่มวิศวะ ที่ผันตัวมาทำธุรกิจเลี้ยงปลาสลิด มีชื่อทางการค้าว่า “สลิดกัน” ที่ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 8 ปี ภายใต้ บริษัท ผลิตอาหารธรรมชาติ เริ่มจากการเลี้ยงเพื่อขายปลาสลิดสด และต่อยอดสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ สลิดแดดเดียว เนื้อปลาทอดกรอบ และน้ำพริกปลาสลิด มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผลิต ให้ได้คุณภาพที่ดี สะอาด ถูกหลักอนามัย ปลอดภัย ได้การรับรองมาตรฐาน GMP, GAP, HACCP และ อย.

“เริ่มมาคุณพ่อพื้นเพเป็นคนแม่กลอง สมุทรสงคราม บ้านเป็นสวนมะพร้าว เลยชอบการเกษตร และมีแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจนี้มาจากคุณยาย ที่ทุกปีจะหาซื้อปลาสลิดหลายสิบกิโลกรัม เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ไปฝากญาติพี่น้อง เพื่อนๆ ซึ่งต้องขับรถไปถึงแหล่งผลิต เพื่อไปเลือกปลาสลิดด้วยตัวเอง และด้วยความที่คุณยายชอบทานปลาสลิด เพราะปลาสลิดมีเนื้อหอม อร่อย และมีเอกลักษณ์

บวกกับช่วงนั้นคุณพ่ออยากทำอาชีพเกษตรอะไรสักอย่าง เพราะมีเงินทุนอยู่ก้อนหนึ่ง จึงคิดว่าลองเลี้ยงปลาสลิดดู เพราะเป็นปลาที่มีมูลค่าการตลาดที่ทำกำไรได้ และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตนเองด้วย จึงกลายเป็นที่มาของการทำบ่อปลาสลิดเนื้อที่กว่า 50 ไร่ ในปัจจุบัน” คุณนิกได้เผยถึงที่มา

เมื่อตัดสินใจเลี้ยงปลาสลิดแล้ว พ่อคุณนิกได้ทำการปรับที่ดิน ขุดบ่อ และแบ่งออกเป็น 3 บ่อ จากคนที่ไม่เคยทำเกษตรก็ต้องทำการบ้านเยอะหน่อย ทำการศึกษาหาความรู้เรื่องการเลี้ยงจากที่ต่างๆ และลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ ช่วงแรกที่เลี้ยงลองเลี้ยงด้วยระบบออแกนิก ให้ปลากินหญ้าเนเปียร์ผสมกากถั่วและผสมปลาป่น แต่ผลที่ได้กลับไม่ค่อยดี ปลาโตช้า ตัวเล็ก ไม่คุ้มทุน แต่ก็มีการลองผิดลองถูก และพัฒนามาเรื่อยๆ

จนถึงปัจจุบัน “ทุกวันนี้ถ้าในวงการตัวผมถือว่าเป็นหน้าใหม่นะ ยังต้องปรับและพัฒนาการเลี้ยงอยู่ตลอด เพราะมันไม่มีวันจบ เป้าหมายในการพัฒนาการเลี้ยง คือ โตเร็ว แข็งแรง ทรงสวย ได้ไซซ์ เนื้อไม่สาบ และน้ำหนักดี ให้ได้ขนาดตามที่ท้องตลาดต้องการมากที่สุด ควบคู่กับการควบคุมต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุด และคุณภาพของปลาดีที่สุด” คุณนิกกล่าว

โฆษณา
AP Chemical Thailand
2.บ่อเลี้ยงปลาสลิด
2.บ่อเลี้ยงปลาสลิด

ขั้นตอนการเลี้ยงในแบบฉบับ “สลิดกัน”

​ซึ่งมีการทดลองเลี้ยงปลามาหลายรูปแบบ ทั้งเลี้ยงแบบหนาแน่น เลี้ยงแบบบาง จนได้ค้นพบวิธีเลี้ยงแบบพอดีๆ ปลาอยู่สบาย คือ ประมาณ 1-1 ตันครึ่ง ต่อไร่ ในช่วง 3 ปีแรก เลี้ยงเพื่อขายเป็นปลาสดเพียงอย่างเดียว เริ่มมามีการแปรรูปตอนช่วง 4 ปีหลังมานี้ โดยการเลี้ยงของที่ฟาร์มจะแบ่งเลี้ยงทั้งหมด 8 บ่อ ขนาดของแต่ละบ่อไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ขนาด 7-20 ไร่ ต่อบ่อ

ใช้ระยะเวลาในการเตรียมบ่อประมาณ 2 เดือน เดือนแรกเป็นการสร้างระบบนิเวศภายในบ่อ เดือนที่สองเป็นการเตรียมน้ำและตรวจเช็คสภาพน้ำ ตรวจค่าความเป็นกรด-ด่าง เพื่อคุมสภาพน้ำให้เหมาะสม ในการเตรียมบ่อพื้นฐานต้องมีการปรับบ่อ พักบ่อให้หญ้าขึ้น การเลี้ยงปลาสลิดต้องมีหญ้า ต้องมีพืชน้ำ และดินต้องมีความอุดมสมบูรณ์ระดับหนึ่ง อุดมไปด้วยแหล่งอาหารธรรมชาติ

เมื่อบ่อพร้อมก็เริ่มเพาะลูกปลา เน้นการเลี้ยงแบบอิงธรรมชาติ ใช้อาหารสำเร็จรูปในการเลี้ยงปลา ควบคู่กับการให้ต้นพืช และสร้างอาหารธรรมชาติ เลี้ยงนาน 10-11 เดือน ก็จะได้ปลาขนาด 5-10 ตัว/กก จะเริ่มจับผลผลิต ส่วนหนึ่งขายให้แม่ค้าที่มารับซื้อ และอีกส่วนนำมาแปรรูปขายในแบรนด์ “สลิดกัน”

3.นำปลามาตากแดดในโรงเรือน
3.นำปลามาตากแดดในโรงเรือน
ปลาสลิดที่นำมาแปรรูป
ปลาสลิดที่นำมาแปรรูป สลิดแดดเดียว สลิดแดดเดียว สลิดแดดเดียว สลิดแดดเดียว สลิดแดดเดียว สลิดแดดเดียว สลิดแดดเดียว สลิดแดดเดียว

การแปรรูปปลาสลิด เนื้อไม่สาบ

เมื่อปลามีน้ำหนัก 200-250 กรัม หรือประมาณ 4-5 ตัว/กิโลกรัม จะเริ่มนำมาเข้าสู่ขั้นตอนการแปรรูป โดยปลาที่นำขึ้นมาจากบ่อจะนำมาล้างและน็อกในน้ำเย็น สำหรับขั้นตอนการผลิตจะใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยในการ ขอดเกล็ด ตัดหัว และควักไส้ ด้วยเครื่องจักรที่สะอาด มีมาตรฐาน มีการควบคุมอุณหภูมิ และเวลาระหว่างการผลิต จากนั้นนำปลามาล้างน้ำ และดองเกลือพร้อมน้ำแข็ง เพื่อให้ความเย็นรักษาเนื้อปลาให้สด และเพื่อยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรีย ใช้ระยะเวลาดอง 3 วัน เพื่อให้เกลือเข้าถึงเนื้อปลา

ต่อมาจะนำปลาเข้าตากแดดในโรงเรือนที่มีการควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม ถ้าฝนตกหรือไม่มีแดดจะมีการใช้ความร้อนจากแก๊ส และสามารถควบคุมอุณหภูมิให้ได้เช่นกัน สำหรับการทำปลาแดดเดียวต้องคอยตรวจเช็คน้ำในตัวปลาให้ลดลงอย่างเหมาะสม ต่อมาจึงนำปลาที่ตากแดดแล้วมาคัดแยกตามขนาดแล้วบรรจุลงถุงพีวีซี ดูดอากาศออกให้ภายในถุงบรรจุเป็นสุญญากาศ  นำปลาเข้าตู้แช่แข็งรอการจัดส่ง  ในส่วนของการตลาดมีตัวแทนจำหน่าย  และขายผ่านช่องทางออนไลน์

4.เนื้อปลาสลิดทอด
4.เนื้อปลาสลิดทอด
น้ำพริกปลาสลิด รสคั่วกลิ้ง
น้ำพริกปลาสลิด รสคั่วกลิ้ง

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่าย สลิดแดดเดียว

“ลูกค้าที่ซื้อปลาของเราไปทานจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ได้กลิ่นโคลนเลย โดยปกติปลาสลิดที่เลี้ยงไม่ดี เนื้อจะมีกลิ่นสาบโคลน ซึ่งของเราไม่พบ เพราะเราเอาใจใส่ทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่เริ่มเลี้ยงยันจับปลามาแปรรูป รวมถึงการตากปลา เราจะตากจนปลาเราแห้งเหมาะสม แต่เนื้อต้องยังนุ่ม เพื่อที่เมื่อผู้บริโภคได้กินแล้วจะสัมผัสได้ว่าปลาของเราจะอร่อย เนื้อนุ่ม เวลาทอดหนังจะกรอบมาก”

โฆษณา
AP Chemical Thailand

นอกจากปลาสลิดแดดเดียวแล้ว ทางบริษัทยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ปลาสลิดแดดเดียว แล่เนื้อเป็นชิ้นพร้อมรับประทาน ปลาสลิดแดดเดียวทอดเป็นตัวและแล่เป็นชิ้น เนื้อปลาสลิดทอดหั่นชิ้น รสดั้งเดิม รสไข่เค็ม รสลาบ รสซีฟู้ด รสสมุนไพร และน้ำพริกปลาสลิด รสคั่วกลิ้ง รสพริกขิง เป็นต้น

5.ผลิตภัณฑ์เนื้อปลาสลิดทอด
5.ผลิตภัณฑ์เนื้อปลาสลิดทอด

การวางแผนการผลิตและแปรรูปปลาสลิด

บริษัทมีการวางแผนการผลิตโดยอิงจากปริมาณการขายสินค้าชนิดนั้น และของที่มีอยู่ในสต็อก โดยจะมีการแบ่งช่วงการผลิต เพราะทางบริษัทไม่ได้ผลิตแบบเดียวกันในทุกๆ วัน จึงต้องมีการวางแผนเพื่อให้มีสินค้าออกมาขายอย่างสม่ำเสมอ เช่น ถ้าวันนี้ทำปลาเค็มตัดหัว อาจจะเว้นไปอีกสองวันจึงจะทำอีกรอบ

นอกจากนี้บริษัทยังรับผลิตปลาสลิดแปรรูปในรูปแบบ OEM อีกด้วย เหมาะสำหรับคนที่ต้องการทำธุรกิจปลาสลิดแปรรูป โดยท่านใดสนใจก็สามารถติดต่อที่คุณนิกได้โดยตรง

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณธนัทธร กาญจนพิศาล หรือคุณนิก ที่อยู่  92 หมู่ที่ 11 ตำบลวัดแก้ว อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี

สำหรับท่านที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือสนใจสั่งซื้อปลาสลิด “สลิดกัน” สามารถติดต่อได้ที่

เบอร์โทร.(091) 835-4616, (084) 074-9499 หรือช่องทางออนไลน์ เฟซบุ๊ก : ปลาสลิด สลิดกัน Salidkhan Thailand และไลน์ : @ Salidkhanthailand

โฆษณา
AP Chemical Thailand

อ้างอิง : นิตยสารสัตว์น้ำ ฉบับที่ 371